ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Adaptation รับมือโลกเดือด > ‘สุเมธ องกิตติกุล’ ทีดีอาร์ไอ ชี้ไทยขาดแผน Adaptation รับโลกรวน ต้อง ‘สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ

‘สุเมธ องกิตติกุล’ ทีดีอาร์ไอ ชี้ไทยขาดแผน Adaptation รับโลกรวน ต้อง ‘สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ

12 พฤศจิกายน 2024


ดร.สุเมธ องกิตติกุล เตือนเมืองใหญ่ของไทยขาดความพร้อมรับมือภัยความร้อน-ท่วม-น้ำทะเลกัดเซาะ เสนอ เร่งวางแผนพร้อมลงทุนระยะยาว เน้นทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมปรับเมืองให้ยืดหยุ่น มุ่งตั้งรับความเสี่ยง – สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 

ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2567 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด”  โดยมีการนำเสนอผลการศึกษา และทิศทางด้านนโยบายและมาตรการในการเตรียมปรับประเทศไทยให้ไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศ

ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ กล่าวในหัวข้อ “สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ”  ว่า ภาวะโลกร้อน โลกรวน สร้างความเสี่ยงต่อเมืองใหญ่ทั่วโลก เพราะเมืองเป็นพื้นที่กระจุกตัวของประชากรและเศรษฐกิจ ทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้หลายเมืองทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น  เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ในประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกับภัยจากความร้อน น้ำท่วม และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง อย่างรุนแรงมากขึ้น

“ปัจจุบันเมืองใหญ่มีแนวโน้มประชากรสูงขึ้น และประมาณ 56% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเมือง มีการขยายตัวของเมืองสูงขึ้น และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของเศรษฐกิจ พบว่ากว่า 80% ของจีดีพีโลกมาจากเมือง ฉะนั้นเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่เมืองในปัจจุบันประสบภัยเรื่องโลกรวน หลากหลายประเภทมาก บางเมืองเจอพายุ ภัยร้อนและน้ำท่วม บางเมืองเจอภัยพิบัติมากกว่า 2 ชนิดทั้ง น้ำท่วมและภัยร้อน ตัวอย่าง เช่น  เมืองลอนดอนของอังกฤษ ในปี 2024 เจอคลื่นความร้อน และในปีเดียวกันเจอน้ำท่วม เช่นเดียวกับเมืองดูไบ เจอทั้งภัยร้อนและน้ำท่วมในปีเดียวกัน”

ส่วนประเทศไทยเจอภัยพิบัติจากปัญหาโลกรวนหลากหลายรูปแบบ เช่น กรุงเทพมหานคร ทั้งเรื่องภัยความร้อน และเรื่องน้ำท่วม  รวมไปถึงน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง จากรายงานการศึกษาพบว่าในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.26 องศา มีปัญหาน้ำท่วมขังกว่า 737 แห่ง

ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์

กรุงเทพฯขาดแผน “การปรับตัว” รับโลกรวน

ส่วนปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะพบว่าในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา เขตบางขุนเทียนถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนผืนดินหายไปถึง 2,735 ไร่  และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเมืองในหลายจังหวัดต้องเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรง มีพื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 1 แสนไร่  แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาแต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร

“เมืองต้องมีการ “ปรับตัว” กับปัญหาโลกรวน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ แต่รวมไปถึงเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เช่น จ.เชียงใหม่มีปัญหาเรื่องภัยความร้อน และน้ำท่วม โดยในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 องศา และในปี2024 มีพื้นที่น้ำท่วมขัง 3,504 ไร่ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เมืองในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกรวนค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับตัวตั้งรับกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น”

ดร.สุเมธกล่าวว่าปัญหาที่เมืองใหญ่ของไทยต้องเผชิญ มีอยู่ 3 ความเสี่ยง คือภัยร้อน น้ำท่วม กัดเซาะชายฝั่ง โดยเรื่องภัยความร้อน ข้อมูลจากกรมควบคุมโลกพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากภัยร้อนในปี 2018 จำนวน18 คน และเพิ่มขึ้นในปี 2024 กว่า 62 คน ขณะที่ภัยความร้อนจะเพิ่มสูงขึ้น โดยอุณหภูมิที่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.56 องศา ซึ่งความร้อนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว กระทบกับกลุ่มเปราะบางค่อนข้างมาก เช่น คนทำงานกลางแจ้ง,ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

กลุ่มเปราะบางที่อาศัยในขตเมืองจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยที่ผ่านมากรุงเทพฯได้เริ่ม มีมาตรการแก้ไขและรับมือความเสี่ยงดังกล่าวบ้างแล้ว เช่น การเก็บข้อมูลกลุ่มเปราะบาง เพื่อส่งความช่วยเหลือ,เฝ้าระวังผู้ป่วยจากความร้อน และประชาสัมพันธ์การรับมือ แต่ยังไม่มีมาตรการที่จะทำให้กรุงเทพเย็นลงได้

“ที่ผ่านมาเราเห็นกรุงเทพฯ เริ่มมีมาตรการในการรับมือโลกรวนบ้างแล้ว แต่ยังไม่เห็นการแก้ไขในระยะยาวที่จะทำให้กรุงเทพฯเย็นลง เช่น การปรับปรุงอาคารให้เป็นอาคารเขียวเพื่อลดร้อน หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และวางแผนลงทุนตั้งรับในระยะยาว”

กรุงเทพฯเผชิญกับปัญน้ำท่วมรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเนื่องจากฝนตกหนัก รถติดเกิดความล่าช้าจากการเดินทาง โดยการสำรวจการเดินทางในวันที่ฝนตก 16 แยก พบว่ารถติดประชาชนต้องมานั่งอยู่ในรถประมาณ 2 ชั่วโมง ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างอื่นฯไม่ได้เลย

“การแก้ปัญหาน้ำท่วม กรุงเทพฯเริ่มทำแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการก่อสร้าง เช่น สร้างคันกั้นน้ำ การทำระบบเตือนภัยล่วงหน้า แต่ยังไม่มีการแก้ไขที่การแก้ไขระยะยาว เช่น การจัดการทั้งลุ่มน้ำ หรือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม มีการดำเนินการเชิงระบบนิเวศ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่รับน้ำ และการวางแผนลงทุนอย่างเป็นระบบ”

ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์

กำแพงกั้นน้ำ สร้างปัญหาใหม่

ดร.สุเมธกล่าวว่า การแก้ปัญหาในเรื่องน้ำทะเลกัดเซาะซึ่งเป็นปัญหามาก โดยพบว่า 26% ของชายฝั่งมีปัญหาการเซาะ และตลอด 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งราว 100,000 ไร่ แม้ภาครัฐมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะแต่ยังไม่ได้ผล คือการสร้างโครงสร้างถาวร หรือ กำแพงกั้นน้ำ ผ่านคณะกรรมการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งจังหวัด แต่การสร้างกำแพงกันน้ำ มีแนวโน้มว่าจะเป็นการปรับตัวที่สร้างปัญหาใหม่ เพราะไปสร้างปัญหากัดเซาะในพื้นที่อื่น

“การสร้างกำแพงกั้นคลื่น คือการป้องกันอีกพื้นที่หนึ่งแต่ไปสร้างปัญหาอีกพื้นที่หนึ่ง เช่น การสร้างกำแพงกันคลื่น ที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และกำแพงกั้นคลื่นที่หาดแสงจันทร์ อ.เมือง  จ.ระยอง แก้ปัญหากัดเซาะไม่ได้กลายเป็นพื้นที่แหว่งและเว้าเข้าไปในพื้นที่ใหม่ สุดท้ายปัญหากัดเซาะก็ยังมีอยู่”

  • แนวปะการังเทียมไม่เพียงช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแต่กลาโหมสหรัฐฯ ยังมุ่งพัฒนาเพื่อลดความรุนแรงของพายุ
  • ทีดีอาร์ไอ จัดเวที Adaptation to Climate Change… “ปรับประเทศไทยให้อยู่รอดในยุคโลกเดือด”
  • “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” เตือน!! ต้อง Adaptation… “ปรับประเทศไทย ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ”
  • “นิพนธ์ พัวพงศกร” แนะการปรับตัว “ไม่มีสูตรสำเร็จ-ไม่มีเสื้อโหล” สร้าง “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ” รับมือโลกรวน
  • ทีดีอาร์ไอ แนะภาคผลิต-บริการ adaptation รับโลกรวน “จัดโซนนิ่ง-ย้ายโรงงาน-ท่องเที่ยวไม่อิงฤดูกาล”
  • การสร้างกำแพงกันคลื่นในประเทศไทย ยังมีปัญหาการออกแบบที่ไม่มีการบูรณาการเรื่องของระบบนิเวศให้ครบวงจร  จึงสร้างปัญหาใหม่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประเทศไทยยังไม่ทำ หรือยังทำไม่พอ คือการกำหนดมาตรการการสร้างกำแพงกั้นคลื่น โดยพิจารณาระบบนิเวศชายฝั่ง การใช้มาตรการเชิงนิเวศเข้ามาช่วย เช่น การฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน การวางแผนศึกษา และลงทุนปรับตัวในระยะยาว

    “ปัจจัยของการทำงานส่วนหนึ่ง คือการพัฒนาโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา แม้จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ แต่ก็จะประเมินผลประโยชน์ที่ได้คุ้มค่าเกินความเป็นจริง ขณะที่การรายงานผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เป็นการทำเพื่อให้โครงการผ่านเฉยๆ ซึ่งส่วนใหญ่โครงการผ่านหมด  ซึ่งทั้งสองปัญหาส่งผลต่อคุณภาพของโครงการ”

    ดร.สุเมธกล่าวต่อว่า มี 4 ปัญหาหลักของการประเมินวิเคราะห์โครงการ คือ หนึ่งบริษัทผู้ศึกษาโครงการรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และความเป็นไปได้โครงการ ขาดความเป็นอิสระ เพราะเจ้าของโครงการเป็นผู้จ้างศึกษา ทำให้ทุกโครงการต้องผ่านจนสามารถดำเนินการได้ สองขาดการพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น โครงการสร้างกำแพงกั้นคลื่น ขาดโมเดลการเปลี่ยนแปลงน้ำหรือแบบจำลองต่างๆที่เหมาะสม  สาม โครงการขาดกลไกการตรวจสอบตามเงื่อนไขของอีไอเอ และสี่การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้เกิดขึ้นจริงหรือเกิดขึ้นแต่รับฟังไม่มากพอ

    ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์

    ต่างประเทศปรับ “เมือง” อย่างไร

    เมืองในต่างประเทศ มีวิธีปรับตัวเพื่อรับโลกรวนแบบไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ดำเนินการหลายองค์ประกอบ โดยยังคงเป็นมาตรการหลักคือเรื่องของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยการใช้คอนกรีตยังมีความจำเป็น ไม่สามารถยกเลิกหรือไม่ใช้งานได้ แต่ต้องมาเสริมองค์ประกอบสีเขียว และสิ่งที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือพื้นที่รับน้ำ  พร้อมทั้งต้องมีการกำหนดพื้นที่ถอยร่นลดความเสี่ยง หรือการกำหนดพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงน้อย

    “ทุกมาตรการต้องคำนึงถึงการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยต้องการการวิจัย องค์ความรู้ของท้องถิ่น และกระบวนการมีส่วนร่วม รวมถึงการปรับพฤติกรรมของคนเมือง โดยเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานคอนกรีต ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานของอาคารให้ลดความร้อนได้มีการถ่ายเทลมที่ดี  เรื่องน้ำท่วมอาจจะต้องมีเครื่องสูบน้ำ คันกั้นน้ำ และระบบอุโมงค์ระบายน้ำ   ส่วนการกัดเซาะชายฝั่ง ต้องมีเขื่อนกั้นคลื่นนอกชายฝั่ง และเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด โดยทุกมาตรการต้องยืดหยุ่นผสมผสานกัน”

    ดร.สุเมธ  กล่าวว่า ส่วนที่เมืองต้องเสริม คือโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เช่น การพื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้า สวนป่าในเมือง และในเรื่องปัญหาน้ำท่วม ต้องสวนดูดซับน้ำ และการกัดเซาะชายฝั่ง ต้องใช้ไม้ไผ่กันตะกอนชายหาด และระบบนิเวศป่าชายเลน ส่วนสุดท้าย คือ พื้นที่รับน้ำมีหลายรูปแบบ เช่น พื้นที่รับน้ำชั่วคราวเฉพาะช่วงฝนตก และเรื่องของ white measure หรือพื้นที่สีขาว ถ้ามีปัญหาน้ำท่วมก็ต้องมีการกำหนดพื้นที่เสี่ยง การโยกย้ายสิ่งปลูกสร้าง และกิจกรรมที่ต้องถอยร่นออกมา

    สำหรับตัวอย่างการจัดการเมืองในต่างประเทศเพื่อรับมือกับโลกรวน เช่นเมือง phoenix ได้เริ่มจัดมาตรการบรรเทาภัยให้กลุ่มเปราะบาง ที่มักจะเผชิญความร้อนเกิน 38 องศา โดยในปี 2022 มีผู้เสียชีวิตสูงสุดถึง 425 ราย มีคนไร้บ้านในเขตเมือง 42% ที่ได้รับผลกระทบจากภัยความร้อน

    “สีงที่เมือง phoenix  ทำคือการเก็บข้อมูลคนไร้บ้านที่มีความเสี่ยงสูง และพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตจากความร้อย และใช้ข้อมูลดังกล่าวมาทำศูนย์หลบร้อนที่ติดแอร์ เพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงสามารถเข้ามาหลบภัยได้ นอกจากศูนย์ติดแอร์แล้ว เขาสร้างศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อให้กลุ่มเปราะบางเข้าไปอยู่อาศัย และตั้งตู้บริการน้ำดื่ม ที่กลุ่มคนเหล่านี้สามารถ ไปใช้ได้ พร้อมทั้งพัฒนาระบบเตือนภัยแจ้งเตือนภัยร้อน”

    ขณะที่ เมืองใหญ่อย่างลอนดอน เริ่มมีมาตรการลดความร้อนในอาคาร โดยการสร้างอาคารเขียว รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนในการปรับอาคาร และมีข้อกำหนดมาตรฐานที่สร้างความร่วมมือรัฐกับภาคเอกชนเพื่อดำเนินการ และสร้างระบบตรวจสอบอาคารให้มีความเขียว ใช้พลังงานน้อย เพื่อสร้างความเย็นให้กับเมือง

    ส่วนการแก้ปัญหา กัดเซาะชายฝั่ง ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งการแก้ไขปัญหาด้วยนวัตกรรม เนื่องจากเป็นประเทศที่แผ่นดินต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และหนึ่งในสามของ เนเธอร์แลนด์ อยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเล โดยพื้นที่จุดต่ำที่สุดอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 6 เมตรกว่า  ดังนั้น เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศ ที่อยู่กับน้ำมาเป็น100 ๆ ปี มีความเชี่ยวชาญความชำนาญในการจัดการน้ำ การสร้างเขื่อนสร้างกำแพง และประตูน้ำ

    อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ทำให้เนเธอร์แลนด์กลับมาปรับตัวรับมือกับน้ำท่วมมากขึ้น คือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 1953  ซึ่งทำให้คนเนเธอร์แลนด์เสียชีวิตกว่า 1,800 คน มีพื้นที่ 9% ของประเทศจมน้ำ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีผสมผสานในการสร้างกำแพง เพื่อลดกระทบกับระบบนิเวศ และการใช้ชีวิตของประชาชนชายฝั่ง มีการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่  และสร้างเขื่อนที่เปิดและปิดทำให้ประชากรบริเวณชายฝั่งสามารถทำประมงได้ และไม่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศและไปสร้างปัญหาใหม่ในพื้นที่อื่น

    ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์

    เสนอสร้างเมืองยืดหยุ่นรับมือโลกรวน

    ดร.สุเมธ กล่าวว่า หลายเมืองในประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการตั้งรับปรับตัวกับภัยเหล่านี้ เพราะขาดการวางแผนระยะยาวที่คำนึงถึงความเสี่ยงในอนาคต รวมทั้งขาดการประเมินโครงการที่ใช้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน อีกทั้งการลงทุนในการตั้งรับปรับตัวยังไม่มากพอ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาการปรับตัวของเมืองต่างๆ ในต่างประเทศ พบว่ามีแนวคิดที่สามารถนำมาปรับใช้กับเมืองในประเทศไทยได้ โดยหัวใจสำคัญคือ การวางแผน ประเมิน และลงทุนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป และให้ความสำคัญกับมาตรการที่สร้างผลประโยชน์ร่วมด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

    “มาตรการที่ต้องมีในอนาคตจะต้องไม่ได้มุ่งจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติเท่านั้น แต่ควรมุ่งสร้างผลประโยชน์ร่วม เชิงเศษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชิงวิศวกรรม การก่อสร้างที่ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ การเพิ่มสัดส่วนการใช้โครงสร้างพื้นฐานเชิงระบบนิเวศ เช่น พื้นที่สีเขียว และมุ่งสร้าง “เมืองฟองน้ำ” ที่มุ่งเน้นการจัดการน้ำท่วม โดยใช้บางพื้นที่ช่วยดูดซับและเก็บน้ำฝน  รวมทั้งการกำหนดแนวถอยร่นและโยกย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยทั้งหมดนี้ต้องดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน บนพื้นฐานของความเข้าใจบริบทเฉพาะของเมือง กลุ่มเปราะบางในเมือง และความสามารถของเมืองในการตั้งรับปรับตัว”

    นอกจากนี้ ดร.สุเมธ กล่าวว่า ประเมินโครงการควรต้องมีการทบทวน โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษาความเป็นไปได้ และ กระบวนการจัดทำ รยงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยพิจารณาผลกระทบในภาพใหญ่มากกว่าในระดับโครงการ

    ส่วนผู้บริหารเมืองควรมีการตั้งรับและปรับตัว โดยประเมินการลงทุนโครงการ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานคอนกรีต และโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และกำหนดพื้นที่ถอยร่นเพื่อลดความเสี่ยง รวมไปถึงต้องมุ่งใช้นวัตกรรม เปลี่ยนพื้นที่รกร้างในเมืองเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยใช้มาตรการภาษีจูงใจ และส่งเสริมการปรับปรุงอาคารเก่าในเมืองให้เข้าเกณฑ์อาคารสีเขียวเริ่มต้นจากอาคารของรัฐ  พร้อมจำกัด การพัฒนา และย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมีการชดเชยที่เป็นธรรม