ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Adaptation รับมือโลกเดือด > “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” เตือน!! ต้อง Adaptation… “ปรับประเทศไทย ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ”

“สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” เตือน!! ต้อง Adaptation… “ปรับประเทศไทย ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ”

7 พฤศจิกายน 2024


ดร.สมเกียรติ เตือน “เราจะอยู่ในโลกที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน” ห่วงภาวะโลกรวนทำไทยประสบ 4 ภัยพิบัติ ท่วมแรง-แล้งหนัก-ร้อนจัด-ทะเลกัดเซาะ ระบุไทยได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เสนอ 4 ปรับเพื่อรับมือ-สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2567 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” มีการนำเสนอผลการศึกษา รวมทั้งทิศทางด้านนโยบายและมาตรการในการเตรียมปรับประเทศไทย ให้ไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศ

  • ทีดีอาร์ไอ จัดเวที Adaptation to Climate Change…”ปรับประเทศไทยให้อยู่รอดในยุคโลกเดือด”
  • ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ” กล่าวว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเวลานี้หากเราเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นและมองไปที่ภูเขาฟูจิจะเริ่มเห็นหิมะเกาะที่ภูเขาฟูจิจำนวนมาก แต่ปีนี้ถือเป็นปีแรกในรอบ 130 ปี ที่แม้ถึงเวลานี้แล้วยังไม่มีหิมะบนภูเขาฟูจิ นี่คือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงในโลก ซึ่งชี้บอกว่าโลกใหม่ที่เรากำลังเผชิญอยู่จะไม่เหมือนเดิม หิมะหายไป น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย

    “โลกกำลังเปลี่ยนไปขนาดไหน ผมขอเล่าตัวอย่าง ที่ไซบีเรีย ซึ่งเดิมเคยเป็นดินแดนหนาวเหน็บเอาไว้ขังนักโทษการเมือง ตอนนี้ไซบีเรียเกิดธุรกิจใหม่คือการขุดงาช้างแมมมอธ ซึ่งแต่เดิมงาช้างแมมมอธเหล่านี้ถูกฝังในใต้ชั้นน้ำแข็งที่ลึกมากจนไม่มีใครรู้ว่ามีอยู่ จนกระทั่งน้ำแข็งละลาย ขณะเดียวกัน ประเทศจีนซึ่งเคยนำเข้างาช้างจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำเข้างาช้างแบบเดิมได้ เพราะอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศที่ว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าสัญญาไซเตส จีนจึงนำเข้างาช้างแมมมอธจากไซบีเรียแทน”

    นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ซีกโลกเหนือ บริเวณเกาะกรีนแลนด์ เป็นดินแดนของน้ำแข็ง และไม่มีอุตสาหกรรมใดๆ นอกจากการทำประมง แต่ตอนนี้ กรีนแลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์ก กำลังมีธุรกิจใหม่คือการทำเหมืองแร่ เช่น ยูเรเนียม เพราะน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลาย ทำให้สามารถเข้าไปขุดแร่ได้ และเมื่อกรีนแลนด์มีรายได้จากเหมืองแร่ ทำให้กรีนแลนด์ประกาศอิสรภาพออกจากเดนมาร์กเป็นเรียบร้อยแล้ว เพราะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ

    “นี่คือตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงหลังจากน้ำแข็งละลาย ขณะนี้ได้เกิดเส้นทางเดินเรือใหม่ผ่านขั้วโลกเหนือในฤดูร้อน จากเดิมที่เกาหลีใต้เคยส่งเรือพาณิชย์ผ่านเส้นทางเดินเรือเมอส์กไปทางยุโรป แต่ขณะนี้ใช้เส้นทางขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นเส้นทางใหม่มีระยะทางสั้นลง การเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินเรือใหม่ไม่ได้กระทบต่อการค้าอย่างเดียว แต่มีผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ของโลกด้วย เพราะใครคุมซีกขั้วโลกเหนือได้ คุมเส้นทางนั้นได้ ก็จะคุมยุทธศาสตร์โลกได้ และนี่คือการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เพียงแค่น้ำแข็งละลายก็เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย”

    ดร.สมเกียรติยังได้ยกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงจากน้ำแข็งละลาย ส่งผลทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น และเมื่อน้ำทะเลสูงขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย เช่น หมู่เกาะโซโลมอนเคยมีหมู่เกาะเล็กๆ มากมาย เมื่อน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้หมู่เกาะถูกแบ่งกลายเป็น 2 เกาะ ส่งผลให้คนที่เคยอยู่เป็นครอบครัว เป็นชุมชนเดียวกัน จะไปมาหาสู่กันต้องพายเรือไปมาหากัน และบ้านเรือนที่เคยอยู่ในจุดที่น้ำทะเลขึ้นสูงก็ถูกทำลายไป

    เช่นเดียวกับที่อินโดนีเซีย เริ่มมีแนวคิดเรื่องการย้ายเมืองหลวงออกจากเมืองจาการ์ตา เนื่องจากปัญหาการขุดน้ำบาดาลทำให้เมืองทรุดลงและน้ำทะเลกำลังสูงขึ้น ทำให้อินโดนีเซียเห็นว่า การแก้ปัญหาอย่างที่เป็นอยู่อาจจะไปไม่ได้แล้ว เขาจึงมีแนวคิดว่าจะย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองนูซันตารา เกาะบอร์เนียว

    ส่วนอีกประเทศหนึ่งที่เป็นเกาะ ดูวาลู ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังจะจมทะเลและจะหายไปทั้งประเทศ ไม่มีพื้นที่ให้ย้ายไปไหน ทำให้พวกเขาย้ายเมืองไปที่เมตาเวิร์ส หรือไปอยู่ในโลกออนไลน์ เพื่อประกาศว่าประเทศของเขายังมีตัวตนอยู่ ยังมีสิทธิในการจับปลา แสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในน่านน้ำทะเล

    “นี่คือตัวอย่างที่ชี้ให้เราเห็นว่า โลกที่เรากำลังอยู่ทุกวันนี้ และจะอยู่ต่อไปในอนาคต มันอาจจะไม่ใช่โลกเดิมที่เรารู้จักกัน สำหรับผู้ที่ชอบดื่มไวน์ ขณะนี้คงทราบแล้วว่าไวน์ที่ดีได้รับรางวัลไม่ได้มาจากประเทศที่เคยผลิตไวน์เลย เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี เพราะการผลิตไวน์ได้ขยับขึ้นไปทางเหนือ เช่นเดียวกับซีกโลกใต้ เกิดปากฏการณ์คล้ายๆ กัน คือ ประเทศที่ผลิตไวน์อย่างชิลี ต้องมุ่งไปทางขั้วโลกใต้เนื่องจากอุณหภูมิร้อนขึ้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ได้ทำลายอุตสาหกรรมเดิม ขณะเดียวกันมันก็เปิดโอกาสใหม่ๆ ซึ่งพวกเราอาจจะไม่เคยคิดถึง และนี่คือโลกใหม่ที่คนไทยและคนทั้งโลกต้องเผชิญกัน”

    ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ

    เตรียมอยู่ในโลกที่ร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศา

    “เราจะอยู่อย่างไรในโลกใหม่ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาอย่างน้อยในปี 2100” ดร.สมเกียรติบอกว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 2 องศาอาจจะเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะแม้จะมีข้อตกลงปารีสบอกว่าเราจะพยายามลดการปล่อยก๊าซ เพื่อไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อปฏิวัติอุตสาหกรรม คือไม่เกิน 2 องศา แต่ถ้าจะดีอย่าให้เกิน 1.5 องศา แต่ตอนนี้ความหวังว่าจะลดให้ได้ 1.5 องศาแทบจะไม่มีความเป็นไปได้เลย หรือแม้แต่การลดลง 2 องศาเองก็ดูจะยากมากเช่นกัน”

    แต่สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด หากเราใช้เป็นกรณีฐาน IPCC RCP 4.5 กำหนดให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เริ่มลดลงประมาณปี 2045 และให้ถึงประมาณครึ่งหนึ่งในปี 2050 ภายในปี 2100 หรือโดยสรุปก็คือในปี 2100 อุณหภูมิโลกตามการประเมินนี้จะสูงขึ้น 2.7–3.1 องศา และจากการประเมินล่าสุดของสหประชาชาติก็บอกว่า การประมินดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นจริง

    ดร.สมเกียรติบอกว่า ถ้าเรายังปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปโดยไม่มีมาตรการลดลง อุณหภูมิโลกอาจจะสูงขึ้น 4.1–4.8 องศาในปี 2100 ซึ่งถือว่าเป็นกรณีเลวร้าย เพราะฉะนั้น เราจะยังไม่ไปไกลถึงปี 2100 แต่เราจะคุยกันในโลกอนาคตประมาณ 20–25 ปีข้างหน้า อะไรคือกรณีที่ดีที่สุดของโลก และอะไรคือความเปลี่ยนแปลงที่เลวร้ายที่สุดของโลก

    โลกยิ่งร้อน ยิ่งรวน ยิ่งเสี่ยง

    ดร.สมเกียรติบอกว่า ถ้ากล่าวถึงผลกระทบที่เกิดจากโลกร้อน จะเห็นว่าเมื่อโลกอุณหูภูมิสูงขึ้น 2 องศาจะมีปัญหาตามมา เช่น การผลิตอาหาร ถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจะทำให้ปศุสัตว์เกิดความเสียหายประมาณ 10% แต่ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 3 องศา คนในโลก 400 ล้านคนจะมีความเสี่ยงด้านอาหาร ส่วนเรื่องของสิ่งแวดล้อมพบว่าถ้าอุณหภูมิ 2 องศา โลกจะสูญเสียความหลากหลายทางชีภาพ สิ่งมีชีวิตลดลง แมลงหายไป 8% พืชหายไป 16% สัตว์ที่มีกระดูกสันหลังหายไป 8% และถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่ม 3 องศา ทำให้ไวรัส จุลินทรีย์ในชั้นใต้ดิน และป่าฝน เสียหายหนัก

    ส่วนเรื่องของน้ำ หากอุณหภูมิเพิ่ม 2 องศาจะทำให้ความถี่ของฝนที่ตกรุนแรงเหนือพื้นดินเพิ่มขึ้น 36% และหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 3 องศาจะทำให้มีแห้งแล้งยาวนาน 10 เดือน ขณะที่ผลกระทบต่อเมือง ถ้าอุณหภูมิสูง 2 องศา เมืองจะเกิดความเสียหายจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่ถ้าอุณหภูมิเพิ่ม 3 องศา น้ำทะเลสูงขึ้น 1 เมตร ในปี 2080 ส่วนผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน จะได้รับความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยและโครงสร้างอื่น ที่รุนแรงจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกร้อนที่ขึ้นทุก 1 องศา

    สำหรับผลกระทบต่อเรื่องของภัยพิบัติ จะพบว่าหากอุณหภูมิโลกเพิ่ม 2 องศา จะมีภัยพิบัติสูงขึ้นกว่าก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยคนในโลกประมาณ 54% จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากความร้อนที่ยาวนานเกินกว่า 20 วันได้ แต่ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 3 องศาจะมีคนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 74%

    “นี่คือโลกใหม่ที่ดูแล้วน่ากลัวอย่างยิ่ง โลกร้อนจึงนำมาซึ่งโลกรวน และทำให้ชีวิตของคนต้องรวนไปด้วย เพราะจำนวนวันที่อุณหภูมิจะเกินกว่า 35 องศาในแต่ละปีจะเพิ่มมากขึ้น เช่น กรณีประเทศไทยจะมีวันที่ร้อนมากประมาณ 15–16 วัน แต่วันไหนที่มีความร้อนสูงเกินค่าเฉลี่ย 35 องศาเข้าขั้น 40 องศาหรือ 45 องศา เหมือนปีก่อนหน้านี้ ที่มีบางบริเวณของโลกอุณหภูมิสูงใกล้ๆ 50 องศา ซึ่งทำให้เกิดอันตรายถึงเสียชีวิตได้”

    อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น ยังกระทบและเป็นอันตรายต่อคนทำงานกลางแจ้ง เช่น คนทำงานในภาคเกษตร คนทำงานก่อสร้าง คนขับไรเดอร์ ที่ต้องทำงานตากแดด ในอนาคตการทำงานในลักษณะนี้จะไม่สามารถทำได้ หรืออาจต้องปรับเปลี่ยนปรับลดเวลาทำงานลง เพราะแม้ความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นจะไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่อาจจะทำให้นอนไม่หลับ อารมณ์เสียง่าย นักกีฬาจะมีสมรรถภาพลดลง และอาจส่งผลให้การจัดโอลิมปิกไม่สามารถทำได้ในฤดูร้อน ต้องย้ายเวลาไปจัดในฤดูใบไม้ผลิต

    “ผลการศึกษา The Heat will Kill you First ระบุว่า เราอาจจะเสียชีวิตจากความร้อนมากขึ้น และการเกิดโลกร้อนนำมาซึ่งโลกรวน ทำให้ปีนี้ประเทศไทยมีน้ำท่วมภาคเหนือ ในสหรัฐเกิดพายุเฮอริเคนมิลตัน เป็นพายุลูกใหญ่ เกิดไฟป่าไหม้ป่าแคลิฟอร์เนีย 2.5 ล้านไร่ และถ้าดูย้อนไปดูภาพรวมของหลายปีที่ผ่านมามีคนตายจากคลื่นความร้อนเกือบ 5 แสนคน ในรอบ 20 ปี”

    โลกที่ร้อนขึ้นทำให้การผลิตอาหารแปรปรวน ผลผลิตลดลง โดยในปีนี้คนญี่ปุ่นที่เคยภูมิใจกับพันธุ์ข้าวโคชิ ฮิการี ของเมืองนีงาตะ แต่ตอนนี้มีปัญหา ไม่ได้ผลผลิตดีแบบเดิม ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับการผลิตข้าวโพด ถั่วเหลือง จนส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร เพราะฉะนั้น โลกมาถึงจุดที่เราต้องปรับครั้งใหญ่

    ปรับตัวอย่างไร กับโลกใหม่ที่ร้อนขึ้น

    ดร.สมเกียรติบอกว่า การปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ โดยปีที่แล้วงานสัมมนาใหญ่ของทีดีอาร์ไอได้พูดคุยเรื่องของการปรับลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ mitigation เป็นความพยายามของคนทั้งโลกที่อยากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ทำให้ประเทศต่างๆ พยายามกดดันให้บริษัทขนาดใหญ่มีมาตรการในการลดลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ภาคเอกชนไทยรับรู้ว่า ถ้าส่งสินค้าไปที่ยุโรปจะมีมาตรการที่เรียกว่า CBAM

    “โลกต่างกดดันให้ประเทศอื่นปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้มีความตื่นตัวสูงในการปรับลดก๊าซเรือนกระจกลง แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องการปรับตัวให้อยู่กับโลกที่ร้อนขึ้นอย่างน้อย 2 องศา หรือที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดคือ 3 องศา แต่การปรับตัวกับเรื่องดังกล่าวกลับถูกให้ความสำคัญน้อย หรือเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงน้อยกว่า”

    สาเหตุที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้อยู่กับโลกที่ร้อนขึ้นหรือที่เรียกว่า adaptation น้อยกว่า เพราะว่าในอดีตเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าพูดถึง adaptation แปลว่ายอมแพ้ ว่าเราจะไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ ทำให้แต่ละประเทศจึงไม่พยายามพูดถึงเรื่องนี้ แต่ถึงตอนนี้ไม่พูดถึงไม่ได้แล้วเพราะโลกร้อนขึ้นอย่างหยุดไม่อยู่

    นอกจากนี้ การที่เรื่องของ adaptation ถูกพูดถึงน้อย เพราะการพูดถึงเรื่องนี้จะทำให้กลายเป็นปัญหาของท้องถิ่น หรือกลายเป็นปัญหาของประเทศใครประเทศมัน เช่น ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมภาคเหนือคนสหรัฐฯ ก็ไม่เดือดร้อน แต่การพูดถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ทั่วโลกรับรู้ร่วมกันถึงความเดือดร้อนและผลกระทบที่เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น เรื่อง adaptation จะกลายเป็นปัญหาท้องถิ่นที่ลึกลงไป เป็นปัญหาในจังหวัด หรือเป็นปัญหาในพื้นที่ ซึ่งจะไม่มีแรงกดดันจากโลกภายนอก แต่เป็นเรื่องที่เราต้องคิดเอง ตระหนักว่ามันสำคัญ และต้องปรับตัวเองเพื่อรับกับความเสี่ยงในระยะะยาว

  • กรมการข้าวปรับตัวรับมือโลกร้อน มั่นใจอีก 2 ปีได้พันธุ์ข้าว “ทนแล้ง-น้ำท่วม”-เริ่มแล้วปลูกเปียกสลับแห้ง
  • Adaptation รับมือโลกรวนอย่างไร

    ดร.สมเกียรติบอกว่า การปรับตัวเป็นเรื่องที่ซับซ้อน จึงนำเอากรอบความคิดในการปรับตัวจากสมการความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงจากสภาพอากาศร้อนเรียกว่าเป็นความเสี่ยงจากภัยภูมิอากาศ คนที่จะรับความเสี่ยงต้องสัมผัสกับภัยภูมิอากาศ คนที่มีความเปราะบางจะได้รับผลกระทบกับความเสี่ยงดังกล่าวมากที่สุด แต่คนที่มีความสามารถในการปรับตัวหรือมี adaptability จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า

    “ผมจะทำให้เห็น สมการความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม โดยจำลองเหตุการณ์ที่ชายหาด ซึ่งมีคน 3 คน คนแรก A คือ คนที่นอนหลับอาบแดดโดยไม่มีการป้องกัน ทำให้ร่างกายสัมผัสกับภัยภูมิอากาศที่ร้อนมาก จนทำให้ A ผิวไหม้และหมดสติไป ส่วน B และ C อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน แต่มีระบบป้องกัน คือมีร่มทำให้ได้รับผลกระทบไม่มาก และความเดือดร้อนจากความเสี่ยงที่ได้รับไม่เท่า ขณะที่ B และ C ก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน เพราะ B อายุมากกว่า สุขภาพไม่ดีทำให้มีความเสี่ยงมากกว่า C ดังนั้น จากตัวอย่างดังกล่าวจะพบว่าภัยภูมิอากาศเป็นเรื่องที่เราลดไม่ได้ แต่เราลดการสัมผัสได้ และเพิ่มความสามารถในการปรับตัวได้”

    ดร.สมเกียรติบอกอีกว่า ในเรื่องของภัยภูมิอากาศ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก แม้ว่าเราจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 1% แต่ประเทศไทยติดอันดับที่ 9 ของความเสี่ยงจากภาวะโลกรวน ถ้าย้อนไปในช่วง 20 ปีที่ผ่าน พบว่าประเทศไทยมีอากาศวิปริต 146 ครั้ง และมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อปี 7.7 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.6 แสนล้านต่อปี โดยในปีที่เสียหายมากที่สุดคือ น้ำท่วมภาคกลางปี 2011 และในปีนี้ เราเกิดภัยจากภูมิอากาศอีกครั้งคือน้ำท่วมภาคเหนือ

    ภัยภูมิอากาศที่ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงมีทั้งหมด 4 เรื่อง คือ 1. ทะเลสูงแผ่นดินต่ำ 2. น้ำท่วมแรง 3. แห้งแล้ง 4. วิบัติคลื่นร้อน

    ความเสี่ยงที่ 1 ทะเลสูงแผ่นดินต่ำ มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม และมีการพยากรณ์ไปข้างหน้าอีกไม่เกิน 30 ปี กรุงเทพฯ อาจจะจมอยู่ใต้ทะเลและในระยะเวลาประมาณ 25 ปี ส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลางตอนล่างบริเวณ หัว ก.ไก่ อาจจะจมอยู่ใต้ทะเลถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่มีมาตรการอะไรรองรับ

    “ในเรื่องนี้ไม่ใช่การพยากรณ์โดยไม่มีข้อเท็จจริง โดยเราจะพบว่ามีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ บริเวณวัดขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2519 หรือประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา วัดแห่งนี้อยู่ในแผ่นดิน แต่ตอนนี้เวลาผ่านไป 50 ปี ทะเลได้กัดเซาะเข้ามาไปถึง 3 กิโลเมตรทำให้วัดนี้กลายเป็นวัดที่อยู่ในน้ำและได้เป็นเกาะไปเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับที่บางขุนเทียน เราจะเห็นเสาไฟฟ้าอยู่ในน้ำเพราะน้ำทะเลกัดเซาะ ซึ่งทั้งสองตัวอย่างคือรูปธรรมที่จะบอกว่าการพยากรณ์ว่า กรุงเทพฯ ในอีก 25-30 ปีอาจจะจมน้ำไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด”

    ความเสี่ยงที่ 2 น้ำท่วมรุนแรง เราได้ศึกษาและคาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปี ประเทศไทยมีโอกาสเกิดน้ำท่วมมากขึ้นขนาดไหน โดยปัญหาน้ำท่วมจะสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝน ซึ่งเราพบว่าปริมาณฝนที่ตกสูงสุดในรอบ 5 วันเกิดขึ้นในบางจังหวัด เช่น จังหวัดเพชรบุรีที่จะมีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในรอบ 5 วัน โดยจะมีปริมาณฝนถึง 487 มิลลิเมตร ปริมาณฝนตกหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 90 มิลลิเมตร แต่ถ้าฝนตกหนักมากตลอด 5 วัน จนทำให้มีระดับน้ำสูงขนาดนั้น ถือเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดน้ำท่วม

    ความเสี่ยงที่ 3 เรื่องความแห้งแล้ง เราพบว่าจะมีปัญหาความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาค และฝนจะไม่ตกต่อเนื่อง จนอาจเกิดปัญหาภัยแล้ง โดยพื้นที่มีความเสี่ยงคือเกาะพีพีและจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะได้รับผลกระทบมากกว่าจังหวัดอื่น ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีบางปีที่มีฝนไม่ตกถึง 118 วัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้

    ความเสี่ยงที่ 4 ปัญหาคลื่นความร้อน หรือวิบัติคลื่นความร้อน เราพบว่าจะมีวันที่มีอุณหภูมิเกินกว่า 35 องศาเพิ่มขึ้น ขณะนี้มีประมาณ 50 วัน แต่ก็จะเพิ่มเป็น 60 วัน หรือ 70 กว่าวัน และเมื่อไปดูรายละเอียดจะพบว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 45 องศา เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะเกิดผลกระทบและความเสียหาย โดยอาจจะเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากอากาศร้อนมากขึ้น

    ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ

    โลกร้อนขึ้น 2 องศา GDP ลด 20 %

    ดร.สมเกียรติกล่าวอีกว่า โลกรวนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระดับสูงที่น่าตกใจก็คือ สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากการศึกษาของ Swiss Re Institute ระบุว่า ไทยจะได้รับผลกระทบผลกระทบจากอากาศร้อน โดยปี 2050 ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาทำให้ GDP ลดลงประมาณ 20% หากเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ไม่มีภูมิภาคไหนที่มีความเสี่ยงสูงเท่ากับไทย โดยเฉพาะภาคเกษตรของไทยจะสูญเสียผลผลิตเป็นอันดับ 3 จาก 48 ประเทศ ภาคแรงงานจะสูญเสียสภาพแรงงานเป็นอันดับ 1 จาก 40 ประเทศ ขณะที่ท่องเที่ยวจะสูญเสียรายได้จากภาคท่องเที่ยวอันดับ 1 จาก 48 ประเทศ”

    เพราะฉะนั้น ปัญหาโลกร้อนจึงเป็นเรื่องของการปรับตัว และเป็นเรื่องที่สำคัญมากและถือเป็นวิกฤติของประเทศ เราต้องมองปัญหานี้ด้วยความรู้สึกที่จริงจังมากขึ้น

    และต้องตั้งคำถามแล้วว่า เราจะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดได้ในโลกที่เป็นอีกโลกหนึ่ง ซึ่งก็มี 3 วิธี คือ 1. ลดและป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุ 2. เมื่อกำลังจะเกิดเหตุต้องเตรียมและตอบสนองอย่างไร 3. เมื่อเกิดเหตุแล้วจะกู้คืนและฟื้นฟูอย่างไร

    “เราต้องลดความเสี่ยง และป้องกันไม่ให้ภัยเหล่านั้นกระทบเรา ต้องทำหลายเรื่อง เช่น เราต้องมีการวิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ที่ทนแล้งและน้ำท่วม ต้องปรับปรุงอาคารโครงสร้างพื้นฐานให้มีการระบายอากาศดีขึ้น ทนทานได้มากขึ้น ปรับแบบแผนการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินใกล้ทะเลที่ถูกทะเลกัดเซาะจนเกิดความเสียหาย ต้องปรับใช้ทางเลือกของธรรมชาติเข้าเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว”

    ส่วนเมื่อกำลังจะเกิดเหตุต้องเตรียม และตอบสนองต่อเรื่องของการเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งจะเห็นว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงราย เชียงใหม่ ระบบการเตือนภัยของเราล้มเหลว จนทำให้เกิดความสูญเสียโดยไม่จำเป็น และเมื่อเกิดเหตุแล้วก็ต้องกู้คืนและฟื้นอย่างรวดเร็ว โดยจะมีเรื่องของประกันภัย เข้ามาช่วย และถ้าโครงสร้างพื้นฐานพังทลายไปควรต้องสร้างใหม่ให้ดีขึ้น

    Adaptation โจทย์ที่ประเทศไทยต้องช่วยกันคิด

    ดร.สมเกียรติตั้งคำถามว่า โจทย์ของไทยคือ จะแปลงวิกฤติเป็นโอกาส และอยู่รอดจากการปรับตัวได้อย่างไร แนวคิดที่สำคัญในการปรับตัวคือ การปรับตัวที่ดีต้องไม่สร้างปัญหามากขึ้น หรือเรียกว่า maladaption ตัวอย่างการปรับตัวที่สร้างปัญหามากขึ้น เช่น หากเมืองมีอากาศร้อนมาก แต่ละคนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือการติดแอร์ แต่การติดแอร์จะก่อให้เกิดความร้อนในเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้เมืองปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น คนที่ไม่ติดแอร์ก็จะเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น การปรับตัวที่ดีในเรื่องนี้คือ การปลูกต้นไม้มากขึ้นเพื่อลดความร้อนของเมืองลง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องห้ามติดแอร์เลย

    ส่วนการปรับตัวในธุรกิจท่องเที่ยว ต้องเริ่มคิดใหม่ เช่น ปรับเวลาเที่ยว แทนที่จะเที่ยวกลางวันที่มีอากาศร้อนก็มาเที่ยวกลางคืน นอกจากนี้ การปรับตัวกับน้ำท่วม ในหลายประเทศเริ่มคิดถึงการสร้างกำแพงกั้นน้ำ การสร้างกำแพงกั้นน้ำก็มีทั้งตัวอย่างที่ดีและตัวอย่างที่สร้างปัญหามากขึ้น เช่น ที่ไนจีเรีย สร้างกำแพงกั้นน้ำในพื้นที่คนรวยอาศัย แต่ไปเกิดคลื่นกัดเซาะกับพื้นที่คนมีรายได้น้อย แตกต่างจากเนเธอร์แลนด์ ที่มีการสร้างกำแพงกั้นน้ำ แต่มีกระบวนการคิด ปรึกษาหารือ และรอบคอบ ไม่ส่งผลกระทบตามมาและสามารถแก้ปัญหาได้

    “การปรับตัวที่ไม่เหมาะสมมักจะมีลักษณะร่วมกัน ก็คือไม่ได้ลดความเสี่ยงจริง เป็นการย้ายความเสี่ยงจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง หรือบางครั้งไปเพิ่มความเสี่ยงให้กลุ่มเปราะบาง และเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น นี่คือโจทย์ที่ประเทศไทยต้องคิดเช่นกัน เพราะเราพูดถึงกำแพงป้องกันกรุงเทพฯ โดยไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ที่เหมาะสมและไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราต้องระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้”

    แผนการปรับตัวของไทยยังไปไกลไม่พอ

    ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า เมื่อกลับมาดูการวางแผนในการปรับตัว ประเทศไทยยังไปได้ไม่ไกลพอ โดยวิเคราะห์จากเอกสาร 2 ฉบับ คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และเอกสารรายงาน Thailand’s National Adaptation Plan เพื่อยื่นต่อสหประชาชาติ แนวคิดโดยรวมดี แต่ยังมีวิธีคิดในการแก้ปัญหาแบบเดิมมากเกินไป ไม่สามารถรองรับโลกที่จะเปลี่ยนได้

    “แนวคิดในการแก้ปัญหายังเป็นแบบเดิม คือ การตั้งกรรมการ มีระบบการดำเนินการแบบเดิม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าแก้ปัญหาไม่ได้ และในเอกสารไม่มีการระบุเลยว่าต้องแก้กฎระเบียบอะไรเพื่อเปลี่ยนผ่านให้สำเร็จให้ได้ ไม่ได้การกำหนดงบประมาณ ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร และต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่ และมีการใช้เครื่องมือใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ น้อยเกินไป แต่ทั้งหมดนี้ผมยังต้องให้เครดิตผู้จัดทำ เพราะประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากยังไม่ได้จัดทำรายงาน หรือแม้จะตั้งแผนในลักษณะนี้เลย จึงอยากสนับสนุนให้คิดต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติให้ได้”

    ดร.สมเกียรติยกตัวอย่าง 4 ประเทศที่ดำเนินการปรับตัวได้ดี เช่น ในเรื่องของทะเลสูงแผ่นดินต่ำ ประเทศเนเธอร์แลนด์ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างกำแพงกั้นทะเล ที่มีการศึกษาสิ่งแวดล้อม ใช้เทคนิคต่างๆ ผสมผสานกัน และเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการทบทวนโครงสร้างอย่างรอบคอบก่อนดำเนินการ

    อีกตัวอย่างเรื่องของน้ำท่วมรุนแรง ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศเจอกับน้ำท่วมรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง ทำให้ญี่ปุ่นเตรียมตัวในการป้องกันได้ดีมาก โดยเมืองต่างๆในญี่ปุ่นมีโซลูชันที่เรียกว่า digital twin คือการทำเมตาเวิร์สในอินเทอร์เน็ตเพื่อให้สามารถพยากรณ์ว่า หากฝนตกปริมาณเท่านี้จะเกิดน้ำท่วมที่จุดไหน ต้องอพยพไปจุดใดบ้าง

    ส่วนตัวอย่างเรื่องของความแห้งแล้ง ประเทศอิสราเอลเป็นตัวอย่างหนึ่งเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ เพราะประเทศอยู่ในแถบทะเลทราย ทำให้อิสราเอลสามารถวางท่อน้ำท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่เกษตร และมีกลไกคิดราคาน้ำ มีกลไกประหยัดน้ำ จนกระทั่งทำให้อิสราเอลเป็นประเทศที่สามารถส่งออกพืชเกษตรไปยังต่างประเทศ ส่วนอีกประเทศคือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร และเมืองมีความร้อนมาก แต่สิงคโปร์มีวิธีสร้างพื้นที่สีเขียวลดความร้อนของเมืองได้

    “เราต้องลงทุนในการปรับตัวต่างๆ มากมาย แต่เราจะเลือกลงทุนอย่างไร ซึ่งผลการศึกษาของประเทศได้ลงทุนเรื่องนี้ไปแล้วพบว่า การลงทุนดังกล่าวอาจจะคุ้มเป็น 10 เท่าโดยเฉพาะการลงทุนเรื่องการเสริมสร้างระบบเตือนภัย ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ และให้ได้ผลตอบแทน 10 เท่า”

    ดร.สมเกียรติได้กล่าวอีกว่า ต้องมีการลงทุนเรื่องการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ต้องไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นคอนกรีตอย่างเดียว แต่ต้องมีการผสมผสานให้เกิดความยืดหยุ่นเพื่อรองรับปัญหาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น และต้องลงทุนปรับปรุงการทำเกษตรในเขตแห้งแล้งโดยสร้างระบบจัดการน้ำ การลงทุนเหล่านี้จะสร้างผลตอบแทนกลับมาอย่างคุ้มค่า

    “ในแต่ละปีเราสูญเสียจากภัยธรรมชาติ 2.6 แสนล้านบาท และในอนาคตความสูญเสียดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากความรุนแรงของภัยธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นมากขึ้น เพราะฉะนั้น การลงทุนเพื่อปรับตัว การหลีกเลี่ยงความสูญเสียก็จะเกิดขึ้น ก็ได้ผลตอบแทนกลับมามากกว่าหลายเท่า”

    ตัวอย่างการลงทุนที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนเรื่องระบบอุตุนิยมวิทยาที่มีการเตือนภัยแม่นยำ สามารถใช้ในทางธุรกิจได้มากมายในการวางแผนทำกิจกรรมหรือจัดการท่องเที่ยว หรือเราลงทุนเรื่องการปกป้องป่าชายเลน นอกจากลดความเสี่ยงจากน้ำทะเลกัดเซาะลดลง ยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก ทำให้เกิดการประมงที่ดีขึ้น เป็นแหล่งที่ควรไปพักผ่อนหย่อนใจ เพราะฉะนั้น การลงทุนเพื่อการปรับตัวจึงมีความคุ้มค่ามาก”

    แล้วจะเอาเงินที่ไหน

    ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า การลงทุนเพื่อสร้างการปรับตัวเราต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่เราจะเอาเงินลงทุนมาจากไหน เพราะถ้าลงไปดูหนี้ครัวเรือนจะพบว่าครัวเรือนไทยมีหนี้สูงถึง 90% และเมื่อเกิดวิกฤติหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้นทุกครั้ง เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วมปี 2011 และเมื่อเกิดวิกฤติโควิด หนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นกัน

    ส่วนเงินลงทุนภาครัฐก็มีหนี้สาธารณะที่สูงถึงประมาณ 64% ของจีดีพี และต้องมีการปรับเพดานขึ้นไปเป็น 70% เพราะฉะนั้น ทุก 100 บาทของงบประมาณจะถูกนำใช้กับการจ่ายเงินต้นหรือจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 10 บาท ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะไม่มีเงินในการลงทุนเพื่อการปรับตัว

    อย่างไรก็ตาม ทีดีอาร์ไอเสนอให้ตั้งกองทุน Green Transition & Adaptation fund เพื่อใช้ในการปรับตัว และช่วยเหลือในการทำ mitigation ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเวลา การลงทุนเหล่านี้คือจุดสำคัญของประเทศไทย เพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้

    ดร.สมเกียรติระบุว่า เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ประเทศไทยจะต้องเตรียมการ 4 เรื่องที่สำคัญ คือ

  • หนึ่ง การสร้างงานใหม่ทดแทนงานกลางแจ้ง ซึ่งจะไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นงานเกษตรกรรม การก่อสร้าง การขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง
  • สอง การปรับปรุงสภาพของเมือง เพื่อลดความร้อนและความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย ตลอดจนการรับมือกับน้ำทะเลสูงขึ้นในเมืองริมชายฝั่ง
  • สาม การพัฒนาระบบจัดการภัยธรรมชาติที่มีประสิทธิผล ซึ่งสามารถป้องกันและลดความเสียหาย
  • สี่ การเตรียมเงินทุนเพื่อการปรับตัว โดยทั้งหมดนี้จะต้องคำนึงถึงคนกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษด้วย
  • “เมื่อเราอยู่ในโลกที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เราจะไม่สามารถคิดแบบเดิม ดังนั้น เราควรใช้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระตุ้นให้เราทำสิ่งที่ควรทำมานาน เช่น ปรับนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม อาทิ ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงระบบพยากรณ์อากาศและปรับแบบแผนในการใช้ที่ดิน ที่สำคัญคือปรับระบบบริหารประเทศ ซึ่งต้องกระจายอำนาจ ทำงานแบบบูรณาการในการแก้ปัญหา และลงทุนในการพัฒนาความสามารถในการปรับตัวของคนไทย หากประเทศไทยสามารถปรับตัวได้สำเร็จ เราจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นซึ่งปรับตัวได้ดีไม่เท่า ทั้งในด้านการผลิตอาหารซึ่งใช้น้ำน้อยแต่สามารถเพิ่มผลิตผลได้ การสร้างซัพพลายเชนของสินค้าอุตสาหกรรมที่มีความยืดหยุ่นและปล่อยคาร์บอนต่ำ ตลอดจนการพัฒนาท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ซึ่งยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น”

    ดร.สมเกียรติกล่าวย้ำว่า เราต้องลงทุนวันนี้ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยเราจะไม่รอด เพราะโลกรวนทำไทยเสี่ยงสูญเสียผลผลิตการเกษตรมากเป็นอันดับ 3 เราต้องสนับสนุนปรับตัวภายใต้แนวคิด “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ” พร้อมอัปเกรดระบบส่งเสริมเกษตร สร้างงานนอกภาคเกษตร รองรับเกษตรรายเล็กกลุ่มเปราะบาง