สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2567 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด โดยมีการนำเสนอผลการศึกษา และทิศทางด้านนโยบายและมาตรการในการเตรียมปรับประเทศไทย ให้ไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศ
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ชี้ โลกร้อน โลกรวน ทำไทยเสี่ยงสูญเสียผลผลิตการเกษตรเป็นอันดับ 3 จาก 48 ประเทศทั่วโลก เร่งปรับตัวเป็น “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ” แนะเพิ่มงบวิจัยเพิ่ม 1% ของจีดีพี พัฒนาพันธุ์พืช ทนร้อน ทนแล้ง ทนท่วม และระบบส่งเสริมเกษตรให้มีนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอในหัวข้อ “เร่งภาคการผลิตปรับตัว…รับมือโลกรวน” ว่า ภาวะโลกรวนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบและสูญเสียผลผลิตเป็นอันดับ 3 จาก 48 ประเทศ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวและสมรรถภาพของแรงงานได้รับผลกระทบเป็นอันดับหนึ่งจาก 48 ประเทศ
“การปรับตัว (adaptation) จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยภาษาจีนบอกไว้ว่า ต้นไม้ที่หยั่งรากลึกใบเขียวชอุ่มเคลื่อนไหวตามลม และพลิ้วสะบัด หยั่งรากลึกแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพ การคลื่อนไหวตามลมคือการปรับตัว ส่วนการพลิ้วสะบัดคือ resilience ปรับตัวยืดหยุ่นได้ คำกล่าวนี้จึงเป็นแนวคิดที่สำคัญมากของการปรับตัว เพราะการปรับตัวต้องการคนที่มีศักยภาพ”
ดร.นิพนธ์กล่าวว่า หากประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตร คาดว่าใน 20 ถึง 25 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงของปริมาณฝนและอุณหภูมิที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ผลผลิตของพืชลดลงจำนวนมาก โดยผลผลิตอ้อยลดลงประมาณ 14% ผลผลิตข้าวจะลดลงไปเกือบ 22% ขณะที่มันสำปะหลังจะลดลงไป 30%
“ไม่เพียงผลผลิตพืชและข้าวที่จะลดลง แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังกระทบต่อราคาที่ดิน โดยคาดการณ์ว่าใน 20 ปีข้างหน้า ราคาที่ดินจะลดลงจาก 2,700 เหรียญต่อไร่ เหลือ 165 ถึง 635 เหรียญต่อไร่ เนื่องจากสภาพที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น แนวคิดที่สำคัญในการปรับตัวครั้งนี้จึงต้องทำ 3 อย่างไปพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ถ้าทำสำเร็จเราก็จะสามารถอยู่รอดกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น”
ชูแนวคิด “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ”
ภาคเกษตรจะต้องปรับตัวโดยยึดแนวคิด “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ” แนวคิดนี้เกิดขึ้นประมาณเกือบ 20 ปีแล้ว การทำเกษตรแบบเท่าทันภูมิอากาศจะเป็นการปฏิวัติเขียวครั้งใหม่ เป็นการปฏิวัติภาคเกษตรอย่างแท้จริง ถือเป็นทางออกในการปรับตัวสู้กับโลกรวนได้
นอกจากการปรับตัวแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือการลดก๊าซเรือนกระจก เพราะภาคเกษตรถือเป็นภาคที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 3 นับจากภาคพลังงานและขนส่ง ขณะที่ต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และต้องหาผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งกับต่างประเทศได้
“ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวเพื่อสู้โลกรวน การลดก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ถือเป็น 3 โจทย์ต้องทำควบคู่กัน ซึ่งถือว่ายากมาก แต่ถ้าเราทำสำเร็จเราจะตอบโจทย์ใหม่ของระบบเกษตรและอาหารของโลกได้ เราจะตอบโจทย์สุขภาพ เราจะตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร เราจะตอบโจทย์เรื่องความยืดหยุ่นและความยั่งยืนได้”
ดร.นิพนธ์กล่าวว่า องค์ประกอบการทำงานเพื่อให้สามารถสร้างการปฏิวัติใหม่ของภาคเกษตรมีองค์ประกอบและต้องทำหลายเรื่องไปพร้อมๆ กัน เช่น การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการดิน การพัฒนาพันธุ์พืชทนแล้งทนน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพ และการฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะที่ผ่านมาเราทำเกษตรแบบทำลายระบบนิเวศมาโดยตลอดเวลา นี่คือโจทย์สำคัญในการปรับตัวภาคเกษตร
แนะ 7 วิธีภาคเกษตรกร-ภาครัฐต้องปรับตัว
ดร.นิพนธ์กล่าวว่า การปรับตัวของภาคเกษตรต้องใช้ 7 วิธีการ คือ
1. ทำเกษตรผสมผสาน ที่ผ่านมาเกษตรกรเริ่มทำไปบ้างแล้ว โดยการกระจายปลูกพืชผล หรือการทำเกษตรสวนผสมเพื่อลดความเสี่ยง จากการจดทะเบียนเกษตรกร 33% ของเกษตรกรได้ทำเกษตรแบบผสมผสานไปแล้ว
2. ปรับปฏิทินการเพาะปลูก เพราะฤดูฝนได้เปลี่ยนแปลงไป อากาศร้อนขึ้น การทำปฏิทินเพื่อการเพาะปลูกตามสภาพอากาศจึงเป็นเรื่องสำคัญ
3. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยมีเกษตรกรใช้น้ำหยดจากท่อส่งน้ำ เช่น ที่จังหวัดระยอง การปลูกทุเรียนใช้การส่งน้ำทางท่อเข้ามาที่สวนเกษตรกร โดยเกษตรกรจ่ายค่าน้ำ
4. นโยบายการปรับปรุงพันธุ์ ทนแล้ง ทนท่วม
5. นโยบายประกันพืชผลด้วยดัชนีอากาศ เพราะความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้เกิดผลกระทบ เช่น ฝนแล้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อาจจะไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้น การประกันภัยพืชผลด้วยดัชนีภูมิอากาศจึงเป็นทางออกทางหนึ่ง
6 การเปลี่ยนแปลงการทำเกษตร ที่ผ่านมามีการปรับตัว โดยอากาศบนภูเขาแปรปรวนมาก ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระให้เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่มาปลูกไม้ยืนต้น
7. ต้องเพิ่มรายได้จากภาคเกษตร
ดร.นิพนธ์ได้ยกตัวอย่างการทำเกษตรผสมผสาน การกระจายปลูกพืชผลให้หลากหลายชนิด สามารถลดความเสี่ยงได้เพิ่มรายได้ เช่น อุดรออร์แกนิคฟาร์ม พื้นที่ 100 ไร่ ที่ จ.อุดรธานี เจ้าของเป็นลูกครึ่งจบวิศวกรรมศาสตร์ด้านเครื่องมือแพทย์ แต่กลับมาทำการเกษตร มีความรู้วิทยาศาสตร์ การจัดการ การตลาด และมีพื้นที่ดินจำนวนมากพร้อมทั้งแหล่งน้ำ ทำให้มีรายได้มากกว่าเกษตรกรที่ทำอย่างเดียว และยังคงมีความมั่นคง
ตัวอย่างที่สอง การทำปฏิทินการเพาะปลูก เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ จังหวัดสุพรรณบุรี นำข้อมูลจากกรมการข้าวมาจัดทำปฏิทินเพื่อแนะนำให้เกษตรกรเพาะปลูก เรียกว่า “ปฏิทินเฮียไฮ้” โดยปฏิทินจะบอกว่า วันไหนไม่ควรเพาะปลูก วันไหนควรเพาะปลูก ซึ่งผลของการทำปฏิทินเพาะปลูกทำให้สามารถหลีกเลี่ยงช่วงที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก ทำให้ได้ผลผลิตมากเกิน 1 เกวียนต่อไร่ ส่วนคนที่ไม่ทำตามปฏิทินเพาะปลูกมีผลผลิตตกลงไปถึง 700 กิโลกรัมต่อไร่
“มีบริษัทสตาร์ทอัปที่ชื่อว่า บริษัท Riclt เริ่มเข้ามาทำเรื่องการพยากรณ์อากาศแล้วไปแนะนำเกษตรกร โดยเทียบกันระหว่างเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดตามประสบการณ์เดิม กับปลูกตามคำแนะนำของบริษัท คือ การปลูกพืชผลและพยากรณ์อากาศไปพร้อมกัน ทำให้ผลผลิตต่างกันมาก แต่เรื่องนี้ยังมีข้อจำกัดเพราะการพยากรณ์อากาศยังไม่แม่นยำมากนัก”
ส่วนเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การใช้น้ำหยดและการใช้ท่อส่งน้ำ ซึ่งมีการทำวิจัยและพบว่าการใช้น้ำหยดในไร่อ้อยและไร่มันสำปะหลัง ทำให้ผลผลิตอ้อยสูงขึ้น 3 ตันต่อต่อไร่ ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 0.8 ตันต่อไร่
ด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ประเทศไทยมีความก้าวหน้ามาก เพราะมีการเลี้ยงด้วยระบบปิด หรือระบบอีแวป (EVAP) มีการควบคุมอุณหภูมิทำให้สัตว์อยู่สบาย และต่อไปการทำแปลงผักในโรงเรือนต้องมีการควบคุมความชื้น ควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้ผลผลิตออกมาตามวันเวลาที่ต้องการได้
ส่วนการปรับปรุงพันธุ์ ประเทศไทยทำเรื่องนี้มาค่อนข้างมาก เรามีข้าวพันธุ์ทนน้ำท่วมออกมาจำนวนมาก และผ่านการรับรองไปแล้ว 5 พันธุ์ รอขึ้นทะเบียนอีก 9 พันธุ์ มีการปรับปรุงพันธุ์ทนแล้ง แต่น่าเสียดายยังไม่มีการรับรองข้าวพันธุ์ทนแล้ง แต่สิ่งที่ประเทศไทยยังไม่ได้ทำเลยขณะที่อุณหภูมิร้อนขึ้น คือข้าวพันธุ์ที่ทนอุณหภูมิสูง ซึ่งในต่างประเทศเริ่มทำเรื่องนี้กันแล้ว
“สิ่งที่ประเทศไทยยังไม่ได้ทำ คือการเข้าร่วมทำวิจัยกับโครงการ C4 Rice ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิเกตส์ และยังไม่มีการทำวิจัยเรื่องการตัดต่อพันธุกรรม โดยเขาเริ่มมีการทำวิจัยกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชกลางคืนที่ทนแล้ง เช่น เอายีนกล้วยไม้เข้าไปใส่ในยีนข้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ขณะที่ประเทศจีนเริ่มมีการทดลองและพัฒนาพันธุ์ข้าวทนแล้งจำนวนมาก โดยได้นำพันธุ์ข้าวไปทดลองปลูกในพื้นพื้นที่ต่างๆ ว่าทนแล้ง ทนน้ำท่วม และทนหนาวได้หรือไม่ เพื่อนำผลการทดลองดังกล่าวไปให้เกษตรกร อันนี้คือโจทย์สำคัญที่สุดของประเทศไทยที่จะต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้”
ต้องทำอะไร เพื่อรับมือโลกร้อน
ดร.นิพนธ์กล่าวว่า กลยุทธ์ในการปรับตัวต้องใช้หลายวิธีควบคู่กัน เพราะไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีเสื้อโหล แต่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคใหญ่มี 5 เรื่อง คือ 1. จากการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรภาคกลาง คือวิธีคิดที่บอกว่าน้ำท่วม ฝนแล้ง เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย จึงไม่ต้องปรับตัว 2. เกษตรกรมักจะบอกว่า ลงทุนแล้วไม่คุ้ม 3. ขาดความรู้ 4. ไม่มีที่ดินของตัวเอง 5. ขาดทุนและขาดแรงจูงใจในการปรับตัว เช่น การประหยัดน้ำเพราะใช้น้ำฟรี ขณะที่ภาครัฐมีเงินอุดหนุนไม่มีเงื่อนไขจ่ายให้ภาคเกษตรปีละแสนล้าน เกษตรกรไม่ต้องทำอะไรก็สามารถอยู่รอดได้
ส่วนข้อเสนอแนะว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า เกษตรกรไทยมีความจำเป็นต้องมุ่งพัฒนาให้ไปสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพรวมทั้งเกษตรกรรายใหญ่ หรือรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่สามารถจัดการเชิงธุรกิจได้ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่เก่งด้านการตลาด และภาควิชาการ ส่วนเกษตรกรรายเล็กที่ยังเปราะบาง มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวหารายได้นอกภาคเกษตร ดังนั้น นโยบายที่สำคัญจะต้องมีการจ้างงานนอกภาคเกษตรรองรับ รวมทั้งเร่งฝึกทักษะใหม่ๆ ส่วนการให้เงินอุดหนุนเกษตรกรนั้น จะต้องจูงใจให้เกษตรกรใช้นวัตกรรมเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ
“ระบบการส่งเสริมเกษตรจะต้องเลิกทำแบบเสื้อโหล ต้องคำนึงถึงความต้องการที่แตกต่างของเกษตรกรและสภาพภูมิประเทศ มีวิธีการปรับตัวควบคู่กันหลายวิธี ซึ่งจะต้องอาศัยการคิดระบบส่งเสริมแบบ 4 ประสาน คือ เกษตรกร เอกชน วิชาการ และรัฐ ขณะเดียวกัน ควรลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับระบบข้อมูลเกษตรและลงทุนปรับปรุงระบบพยากรณ์อากาศ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร”
ดร.นิพนธ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือการลงทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเท่าทันภูมิอากาศ โดยเสนอให้งบประมาณวิจัยเพิ่มเป็น 1% ของจีดีพี เริ่มทำการวิจัยข้าวก่อน เนื่องจากจีดีพีข้าว มากถึง 2 แสนล้านบาท ของบวิจัยเพียง 2,000 ล้านบาท เพราะขณะนี้กรมการข้าวได้งบประมาณงบวิจัยแค่ 180 ล้านบาทเท่านั้น
นอกจากนี้ ต้องจัดสรรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องสร้างกลไกและมาตรการการใช้น้ำ โดยเฉพาะน้ำชลประทาน ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยสนับสนุนให้ชุมชนพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก และพัฒนาสถาบันวิจัยที่ทำเรื่องแบบจำลองอากาศให้แม่นยำเพื่อใช้ในการพยากรณ์อากาศ เป็นประโยชน์ในการทำประกันภัยพืชผล และเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรในการวางแผนเพาะปลูก
สุดท้าย คือเรื่องของการช่วยเหลือเกษตรกรรายเล็กที่มีรายได้น้อยและเปราะบาง ในระยะสั้น หากเกิดผลกระทบทางด้านโลกร้อน มีความจำเป็นต้องเยียวยาและประสิทธิภาพในการจ่ายเงินเยียวยา ควรร่วมมือกับเอกชนสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมทำงานนอกภาคเกษตร เนื่องจากเกษตรกรรายเล็กยังต้องพึ่งรายได้นอกภาคเกษตร และต้องสร้างงานในทุกจังหวัด เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องอพยพมาทำงานที่กรุงเทพฯ