ทีดีอาร์ไอ เสนอภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสู้ภัยพิบัติ จัดโซนนิ่ง หนุนย้ายโรงงานออกนอกพื้นที่เสี่ยง แนะ EEC แก้ปมขาดน้ำด้วยน้ำรีไซเคิล–ขึ้นราคาน้ำดิบ ด้านภาคท่องเที่ยวควรใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์สร้างกิจกรรมท่องเที่ยวใหม่ ไม่อิงฤดูกาล
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2567 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด โดยมีการนำเสนอผลการศึกษา และทิศทางด้านนโยบายและมาตรการในการเตรียมปรับประเทศไทยให้ไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศ
ดร.นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ นำเสนองานวิจัย ในหัวข้อ “ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง”โดยกล่าวถึง ภาคอุตสาหกรรมของไทยที่กำลังเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า ภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงทั้งภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ที่ผ่านมาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 กระทบเศรษฐกิจไทยมาถึง 1.4 ล้านล้านบาท โดยกว่า 70% เป็นภาคการผลิต ที่ได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สินกว่า 5.1 แสนล้านบาท และความสูญเสียต่อโอกาสทางเศรษฐกิจกว่า 4.93 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้ลดลงและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
“น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คืออยุธยาและปทุมธานี โดยโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าได้รับผลกระทบต้องทำสายการผลิตรถยนต์ผลิตใหม่กว่า 1,000 คัน ขณะที่โรงงานโตโยต้าอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมน้ำท่วม แต่ก็ต้องปิดโรงงานเนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนต้นน้ำ นอกจากนี้ยังกระทบต่ออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ทั่วโลก เนื่องจากขาดแคลนฮาร์ดดิสก์ เพราะไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ของโลก รวมไปถึงผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะมาลงทุนในประเทศไทย”
นอกจากปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังพบว่ามีปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC โดยในปัจจุบันถือว่าเป็นหนึ่งในฐานการผลิตหลักของประเทศ มีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ทั้งหมด 30 แห่ง สร้างจีดีพีให้กับประเทศสูงถึง 33% หรือมูลค่า 19 ล้านล้านบาท
ดร.นพรุจ กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น จากแผนการพัฒนาในอนาคต โดยภายในปี 2560 เพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมสูงถึง 64% ทำให้มีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 28 % และเพิ่มสูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในปี 2560 อยู่ที่ 2,419 ล้าน ลูกบาศเมตรเพิ่มเป็น 2,539 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนของแต่ละปี นั่นหมายความว่า ถ้าเป็นปีที่มีภัยแล้งจะมีความลำบากและความท้าทายในด้านของการบริหารจัดการน้ำมาก
“ภาวะโลกรวนอาจจะทำให้เกิดผลกระทบหนักขึ้น ซึ่งจากแบบจำลอง IPCC RCP 4.5 พบว่าภายใน 20 ถึง 30 ปีข้างหน้า ภาคกลางมีความเสี่ยงที่จะน้ำท่วมสูงขึ้นจากปริมาณน้ำฝนสูงสุดในรอบ 5 วัน โดยอยุธยาจะมีปริมาณฝนเพิ่ม +38% ส่วนปทุมธานี เพิ่ม +26% และส่วนในพื้นที่ EEC จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งมากขึ้น”
ความน่ากังวลของผลกระทบจากภาวะโลกรวน คือ การกระจุกตัวของอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล อยุธยาและEEC มากถึง 55% และสัดส่วนจีดีพีอุตสาหกรรมมากถึง 71% นั่นหมายถึง เรากำลังปล่อยให้ภาคอุตสาหกรรมเผชิญกับความเสี่ยงในอนาคตที่อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศอย่างหนักเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี2554
“แม้ว่าผลกระทบเหล่านี้จะมีมาตรการรับมือในปัจจุบัน แต่ไม่เพียงพอต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น มาตรการการสร้างกำแพงป้องกันน้ำในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งในปัจจุบันได้สร้างกำแพงรอบนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหาย แต่ต้องยอมรับว่า การป้องกันผลกระทบดังกล่าว ส่งผลต่อการขนส่งสินค้าหรือการเดินทางของพนักงาน กลายเป็นว่าการปรับตัวได้ สร้างปัญหาใหม่ หรือ Maladaptation คือ การก่อสร้างกำแพงเพื่อป้องกันพื้นที่ของตัวเอง แต่ทำให้เกิดภาระกับพื้นที่อื่น”
ดร.นพรุจ กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ EEC มีมาตรการเพื่อมารองรับความต้องการน้ำที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยมีมาตรการก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ และจัดระบบท่อส่งน้ำเพื่อเชื่อมโยงน้ำจากจังหวัดข้างเคียงมาใช้ประโยชน์ แม้ว่าจะเป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเวลาปกติ แต่มาตรการดังกล่าวไม่เพียงพอ ถ้าหากเกิดภัยแล้งขึ้นในอนาคต นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวจะสร้างปัญหาที่เรียกว่า climate justice หรือการแย่งชิงน้ำจากพื้นที่อื่น และจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ในอนาคต
บริหารจัดการน้ำ Zero Discharge
ดร.นพรุจ เห็นว่าการบริหารจัดการน้ำมีความจำเป็น โดยเฉพาะการลดความต้องการการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ตัวอย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ที่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ดี โดยมีมาตรการทำ zero discharge concept หรือ การปล่อยน้ำทิ้งให้เหลือศูนย์ โดยนำน้ำเสียจากโรงงานมาบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ สามารถนำน้ำกลับไปใช้ในการผลิตได้ 52 % โดยใช้ในระบบหล่อเย็น 29 % สนามกอล์ฟ 19% ส่วนที่เหลือใช้ในระบบอื่นๆ ทำให้สามารถประหยัดค่าน้ำของนิคมอมตะได้มากถึง 79 ล้านบาทต่อปี และลดการใช้น้ำเหลือ 60% ของความต้องการน้ำทั้งหมด
ส่วนอีกตัวอย่าง คือการจัดการน้ำในระดับโรงงาน เช่น โรงงานไทยยูเนี่ยน จัดทำระบบ zero discharge concept โดยเริ่มจากการปรับกระบวนการผลิตลดการใช้น้ำตั้งแต่ต้นทาง และนำน้ำเสียจากโรงงานเข้าสู่บ่อบำบัดน้ำเสียให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนดจากนั้นนำน้ำที่ได้มาตรฐานเข้าสู่การทำ ultra filtration เพื่อใช้ในการซักน้ำ และน้ำอีกส่วนหนึ่งเข้าสู่ระบบ reverse osmosis เพื่อบำบัดน้ำให้ได้คุณภาพเทียบเท่าน้ำประปาและนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ ทำให้ไม่เหลือน้ำทิ้ง และสามารถรีไซเคิลน้ำเหลือต้นทุนเพียง 11 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ถูกกว่าน้ำประปาที่มีราคาอยู่ที่ 23 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และสามารถลดการใช้น้ำประปาได้ 43% ลดต้นทุนโรงงานได้ 27.8 ล้านบาทต่อปี
กระจายความเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรม
ดร.นพรุจกล่าวว่าในภาวะโลกรวน โลกร้อน ต้องเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการและกระจายความเสี่ยงด้านพื้นที่อุตสาหกรรม เริ่มจากปัญหาน้ำท่วมในภาคกลาง จะเห็นว่าในแผนที่น้ำท่วมซ้ำซาก จังหวัดที่น้ำท่วมมากที่สุดคืออยุธยา ปทุมธานี หรือพื้นที่ภาคกลางตอนบนอื่นๆ เพราะมันอยู่ในทิศทางของน้ำ ดังนั้นต้องพิจารณาความเสี่ยงของพื้นที่ดังกล่าวและหามาตรการในการปรับตัวเพื่อรับมือ
“ทีดีอาร์ไอเสนอว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดขนาดอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก โดยการกำหนดโซนนิ่งอุตสาหกรรม ห้ามตั้งโรงงานใหม่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และที่สำคัญคือการสนับสนุนการย้ายฐานอุตสาหกรรม ลดความกระชับตัวในพื้นที่ภาคกลาง และ EEC ดึงดูดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในพื้นที่ใหม่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมการผลิตคาร์บอนต่ำ จากปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 ไม่ใช่แค่โรงงานที่ย้ายฐานออกจากพื้นที่น้ำท่วม แต่มีหลายโรงงานย้ายออกจากประเทศ ดังนั้นเราสามารถกระจายการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อลดการกระจุกตัวในพื้นที่ภาคกลางและEEC”
ส่วนเรื่องของการจัดการน้ำ เสนอมาตรการลดความต้องการน้ำดิบ ผ่านการปรับโครงสร้างทางราคา โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ต้องมุ่งเน้นลดความต้องการน้ำให้มากขึ้นเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในอนาคต สามารถนำกลไกราคามาใช้ เนื่องจากปัจจุบันอัตราค่าใช้น้ำยังไม่จูงใจให้ภาคเอกชนลดการใช้น้ำดิบ เพราะน้ำดิบจากแหล่งน้ำมีราคาถูกแค่ 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร และนำมาขายให้กับนิคมอุตสาหกรรมอยู่ที่ราคา 11 ถึง 12 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
“ราคาน้ำดิบเพียง 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าต้นทุนน้ำชลประทาน ซึ่งอยู่ที่ 1.26 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเพิ่มอัตราค่าใช้น้ำเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนลดการใช้น้ำ และเพิ่มการใช้น้ำรีไซเคิลมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน เพราะฉะนั้นควรกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านการขึ้นราคาค่าน้ำ อย่างค่อยเป็นค่อยไป สนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยี รีไซเคิล และส่งเสริมความรู้ในการปรับกระบวนการผลิตเพื่อประหยัดน้ำ”
ดร.นพรุจกล่าวเพิ่มเติมว่า สุดท้ายภาครัฐควรจะมีมาตรการแก้ไขโครงสร้างการผูกขาดเพื่อผลกำไรส่วนเกินที่ตกอยู่กับผู้ให้บริการส่งน้ำ ซึ่งอยู่ในภาค EEC มีเพียงรายเดียวในปัจจุบัน
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องปรับตัว
ปัญหาโลกรวนกำลังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของทั่วโลก จากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้รูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป ประเทศที่มีอากาศหนาวอยู่แล้ว จะได้รับผลกระทบในเชิงบวก เพราะนักท่องเที่ยวเลือกที่จะเดินทางไปยังประเทศเหล่านี้มากขึ้น ส่วนประเทศที่อยู่ในเขตร้อน โดยเฉพาะประเทศไทยจะได้รับผลกระทบในเชิงลบ และอาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคาดว่าในปี 2593 อาจจะสูญเสียรายได้มากถึง 6.2 หมื่นล้านบาทต่อปี
ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีหลากหลาย ทั้งจากภัยพิบัติที่มีความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง และความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของน้ำทะเล หรือ ภัยความร้อน
การเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลหนุนขึ้นสูง ทำให้ทรัพยากรทางทะเลของไทยมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะสูญหายไปในอนาคต มีการคาดการณ์ ว่าภายในปลายศตวรรษนี้พื้นที่ชายหาดไทยมีความเสี่ยงจะลดลง 55% และอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งความเป็นกรดของน้ำทะเลทำให้แนวปะการังมีโอกาสสูญหายไป ความร้อนของน้ำทะเลทำให้ปะการังฟอกขาวและสูญหายไป โดยพบว่าพื้นที่ปะการัง 149,182 ไร่ ใน 17 จังหวัด จะมี 11 จังหวัดที่ปะการังที่เสียชีวิตไปเกินครึ่ง
ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของ IPCC พบว่าเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 องศา พื้นที่แนวปะการังทั่วโลกอาจสูญหายไปกว่า 99% นั่นหมายถึงรายได้จากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักดำน้ำจากทั่วโลกที่ต้องการมาดูปะการังจะหายไปด้วยเช่นกัน
ภัยความร้อน กระทบท่องเที่ยวไทย
ดร.นพรุจ ยกตัวอย่างพื้นที่ภาคเหนือซึ่งจะได้รับผลกระทบจากภัยร้อน เช่น จังหวัดเชียงใหม่มีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะเสน่ห์ของเชียงใหม่ คืออากาศเย็น แต่เชียงใหม่กำลังมีความเสี่ยงที่จะมีฤดูหนาวลดลงและหนาวน้อยลง มีช่วงอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศา ลดลง 16% และอุณหภูมิน้อยกว่า 20 องศา ลดลง 17 %
“ช่วงที่เป็นไฮซีซั่นของเชียงใหม่เป็นช่วงฤดูหนาวที่มีรายได้ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่มากถึง 2.5 แสนคน และลดลงในช่วงหน้าร้อนเหลือเพียงไม่กี่หมื่นคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของเชียงใหม่ มีความเปราะบาง และมีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้นภาคท่องเที่ยวจึงมีความจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อหาทางออก”
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน พบว่าภาคท่องเที่ยวเริ่มมีการปรับตัว เพื่อรับมือกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นในหลายวิธี เช่น การติดสปริงเกอร์น้ำเพื่อคลายความร้อน การอนุรักษ์แนวปะการัง หรือการเติมทรายในชายฝั่ง แต่ต้องยอมรับว่า มาตราการเหล่านี้ไม่ใช่ทางออกในระยะยาว หากเทียบกับมาตรการปรับตัวของแหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศ เช่น โคลอสเซียม กรุงโรม เริ่มเปิดให้เที่ยวยามค่ำคืน หรือการขยายเวลาการให้บริการแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของดูไบ
ดร.นพรุจ เสนอว่าภาคท่องเที่ยวถือเป็นอีกภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอันดับ 1 จาก 48 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นและเกิดคลื่นความร้อน นอกจากนี้ยังจะมีการเสื่อมสภาพของทรัพยากรทางทะเล ซึ่งพื้นที่ชายหาดและแนวปะการังของไทยจะลดลงอย่างมากในอนาคต ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ใน 2 รูปแบบ โดยปรับเวลาท่องเที่ยว ขยายกิจกรรมสู่ช่วงเวลากลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัด และปรับกิจกรรมท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลลดลง เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการใช้ศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของพื้นที่ และมุ่งสร้างตลาดดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจไมซ์ (MICE) หรือ การท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะขององค์กรต่างๆ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ตลอดปี