ประสาท มีแต้ม
ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ ทีวีหลายช่องได้นำเสนอข่าวน้ำท่วมอย่างรุนแรงและน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัดของภาคเหนือ รวมทั้งดินถล่มจากภูเขาลูกหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ได้นำความสูญเสียทั้งทรัพย์สินจำนวนมากและมีผู้เสียชีวิต 13 คนในกรณีหลัง แม้ยังไม่ได้มีการสรุปสาเหตุอย่างเป็นทางการว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่คนทั่วไปก็เชื่อได้ว่า สาเหตุสำคัญหนึ่ง(จากหลายสาเหตุ)เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เราเรียกันว่า “โลกร้อน” หรือ “โลกเดือด” ตามคำเรียกของท่านเลขาธิการองค์การสหประชาชนซึ่งได้รณรงค์ในเรื่องนี้มานานหลายสิบปี แต่สถานการณ์ภัยพิบัติซึ่งเป็นผลลัพธ์ของเรื่องดังกล่าวกลับเกิดบ่อยขึ้น รุนแรงเพิ่มขึ้นและกินขึ้นพื้นที่กว้างมากขึ้นเกือบทั่วทั้งโลก
ก่อนหน้านี้เพียง 2 สัปดาห์ ผมได้มีโอกาสไปร่วมเวทีเสวนาปัญหาโลกร้อนที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับทราบข้อมูลว่าชาวบ้านแห่งหนึ่งได้รับเงินจากการขาย “คาร์บอนเครดิต” จำนวน 11 ล้านบาท ผมได้ตั้งคำถามทันทีในวันนั้นว่า มันจะคุ้มกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหรือ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้งและคลื่นความร้อน รวมทั้ง PM2.5 ที่เกิดจากทั้งไฟป่าที่มีต้นเหตุมาจากโลกร้อน
ผมขอแบ่งบทความนี้ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ครับ
ส่วนที่หนึ่ง สถานการณ์อุณหภูมิอากาศโลก
ผมได้สรุปสถานการณ์ล่าสุดไว้ดังแสดงในรูป และขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้
1)ภาพใหญ่ซ้ายมือแสดงถึงอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยรายปีของโลกตั้งแต่ ค.ศ.1850 จนถึง 2023 เมื่อเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 1901-2000 (หรือในศตวรรษที่ 20) จากกราฟพบว่า ในช่วงแรก (1850-1936) อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศในแต่ละปี เกือบทุกปีมีค่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 1901-2000 (ซึ่งครึ่งหลังเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคอุตสาหกรรม โดยระบายด้วยโทนสีฟ้าๆ) หลังจากนั้นมีการสลับเป็นมากกว่า(ระบายโทนสีแดง)บ้าง น้อยกว่าบ้าง แต่หลังจากปี 1976 จนถึงปี 2023 อุณหภูมิอากาศโลกมากกว่าค่าเฉลี่ยติดต่อกัน 48 ปีแล้ว และมีแนวโน้มมากขึ้นกว่าปีก่อนๆเกือบจะทุกปี โดยที่ปี 2023 สูงที่สุดซึ่งเท่ากับ 1.18 องศาเซลเซียส
2)ภาพทางขวามือ(บน)เป็นการขยายภาพในข้อ (1) ในช่วง 2010-2023 พร้อมกับผมได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2016 เป็นปีที่มีปรากฎการณ์เอลนีโญ(ระดับรุนแรงมาก) ซึ่งทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย จึงส่งผลให้อุณหภูมิอากาศในปีดังกล่าวสูงขึ้นอย่างชัดเจน ในทางตรงกันข้าม ปี 2022 ได้เกิดปรากฏการณ์ลานีญา(ซึ่งทำให้เย็นลง) อุณหภูมิจึงสูงขึ้นเพียงนิดเดียวเมื่อเทียบกับปีก่อนนั้น
3)ภาพทางขวามือ(ล่าง) แสดงอุณหภูมิอากาศประจำเดือนกรกฎาคมของปีต่างๆในช่วง 2010 ถึง 2024 พบว่าอุณหภูมิอากาศโลกเดือนกรกฎาคมปี 2024 สูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกในช่วง 174 ปีที่ผ่านมา คือเท่ากับ 1.21 องศาเซลเซียส ทั้ง ๆที่ปรากฏการณ์เอลนีโญได้จบไปแล้วเมื่อ 2 เดือนก่อน(โดยมีดัชนี ONI, Oceanic Nino Index เท่ากับ 0.4 และ 0.2) โดยเฉือนเอาชนะของเดือนกรกฎาคมปี 2023 (มีปรากฎการณ์เอลนีโญ ONI เท่ากับ 1.1 และ 1.3) ซึ่งเท่ากับ 1.18 องศาเซลเซียส
นี่คือประเด็นสำคัญที่ผมจะอธิบายในส่วนที่สองว่า ทำไมอุณหภูมิของโลกเดือนกรกฎาคม 2024 ซึ่งไม่มีเอลนีโญ จึงสูงกว่าของเดือนเดียวกันปี 2023 ซึ่งมีเอลนีโญ
ส่วนที่สอง สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้แล้วว่า สาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นนั้นเกิดจากก๊าซเรือนกระจกจำนวน 5-6 ชนิดที่ลอยขึ้นไปห่อหุ้มผิวโลกในชั้นบรรยากาศเอาไว้ ทำให้แสงที่สองมาจากดวงอาทิตย์(ซึ่งมีทั้งความร้อนและแสงที่ช่วยให้เรามองเห็น) สามารถผ่านเข้าถึงพื้นผิวโลกได้ แต่จะสะท้อนกลับออกไปสู่นอกโลกได้ค่อนข้างลำบาก ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจึงทำหน้าที่แบบเดียวกับผ้าห่มที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันนั่นเอง ถ้าเราไม่มีผ้าห่มหรือผ้าห่มบางเกินไป เราก็จะรู้สึกหนาว แต่ถ้าผ้าห่มหนาเกินไปเราก็จะรู้สึกร้อน
ในบรรดาก๊าซเรือนกระจกทั้งหลายเหล่านี้ ประมาณร้อยละ 75 คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งก็คือ ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั่นเอง
โปรดย้อนไปดูข้อมูลอุณหภูมิของโลกจากรูปแรกอีกครั้ง ในช่วงแรกซึ่งมนุษย์ยังใช้พลังงานฟอสซิลไม่มากนัก ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงมีน้อย เหมือนกับความหนาของผ้าห่มยังบางอยู่ อุณหภูมิของอากาศโลกจึงต่ำ แต่ในช่วงหลังๆ อุณหภูมิเฉลี่ยอากาศโลกได้สูงขึ้นกว่าเดิมเพราะมนุษย์เผาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น
เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ผมได้นำข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) และความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกในช่วง 1958-2023 พร้อมทั้งเอาอุณหภูมิอากาศโลกมาแสดงไว้ในภาพเดียวด้านล่างนี้
จากข้อมูลในรูปพบว่า ในช่วง 1958-2022 มนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากจำนวน 8.42 พันล้านตัน เป็น 37,15 พันล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี ลดลงเพียงปีเดียวคือ 2020 ที่เกิดการระบาดโควิด-19 เท่านั้นเอง ทั้ง ๆที่มีการรณรงค์ตามข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 แล้วด้วย
ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(ซึ่งได้มาจากการวัดจริง) ก็เพิ่มขึ้น 32% สำหรับอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยรายปีของโลกได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.125 องศาเซลเซียสต่อ 10 ปี แต่นับจากปี 2010 เป็นต้นมา อุณหภูมิของโลกได้เพิ่มขึ้นเป็น 0.27 องศาเซลเซียสต่อ 10 ปีแล้ว นี่คือสัญญาณที่น่ากลัวกว่าที่คิด
อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหมาะสม(ไม่ทำให้หนาวหรือร้อนเกินไป) ควรจะอยู่ที่ 350 พีพีเอ็ม(ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งเราได้ผ่านจุดนั้นไปแล้วตั้งแต่ประมาณปี 1985 ล่าสุดในเดือนกรกฎาคมปีนี้เท่ากับ 426 พีพีเอ็ม
อ่านมาถึงตรงนี้ ผมได้กล่าวถึง 2 เรื่องสำคัญที่ทำให้เกิดโลกร้อน คือ (1) ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยมนุษย์ และ (2) ปรากฎการณ์เอลนีโญซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติที่เกิดมาก่อนที่จะมีเรื่องโลกร้อนแล้ว แต่หลังจากเกิดโลกร้อนแล้วนักวิทยาศาสตร์พบว่า ความรุนแรงของเอลนีโญและลานีญาได้เพิ่มขึ้นและระยะเวลาการเกิดก็คาดการณ์ได้ยากขึ้น
นอกจาก 2 เรื่องดังกล่าวนี้แล้ว ยังมีกเรื่องหนึ่งคือคลื่นความร้อน(Heat Wave) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์แล้วว่าเป็นผลมาจากโลกร้อน คลื่นความร้อนเกิดจากความกดอากาศสูงก่อตัวขึ้นในลักษณะคล้ายกับฝาชีครอบพื้นดินแต่บางครั้งมีขนาดเท่ากับทวีปอเมริกา ไม่เพียงทำให้อุณหภูมิอากาศในบริเวณนั้นสูงขึ้นกว่าปกติ 5-10 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่บางครั้งทำให้เกิดพายุ ฝนตกหนัก หิมะละลาย น้ำท่วม สร้างความเสียหายต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
จากรายงานของ Climate Central (องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านการวิเคราะห์ข่าวที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ-ก่อตั้งปี 2008) พบว่าในเดือนมิถุนายนปีนี้ ประชากรโลกเกือบ 5 พันล้านคนได้รับความเดือดร้อนจากสภาพอากาศสุดขั้วที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลสภาพอากาศนานกว่า 9 วัน
ส่วนที่สาม ความสูญเสียและความเสียหาย
ดังที่ผมได้ตั้งคำถามไว้ในตอนต้นว่า รายได้ที่ชาวบ้านในชุมชนได้รับจากการขายคาร์บอนเครดิตได้นั้น จะคุ้มกับความเสียหายที่ตนได้รับหรือไม่ เรายังไม่มีผลการศึกษาในเรื่องนี้ในบ้านเรา
แต่มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในระดับโลกหลายชิ้น ได้พบข้อมูลที่ใกล้เคียงกันบ้าง แตกต่างกันมากบ้าง ผมจะหยิบมานำเสนอบางส่วนโดยย่อในที่นี้เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ แล้วลองวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผลกันเองนะครับ
“โลกร้อนทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโลกระหว่าง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1992 และ 29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013” (อ้างถึงวารสาร Nature) แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ “ทำให้รายได้ประชาชาติของประเทศที่มีรายได้ต่ำลดลง 6.7% ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงจะมีรายได้ลดลงเพียง 1.5% เท่านั้น”
เมื่อ 17 เมษายน 2024 สำนักข่าว Reuters พาดหัวว่า “ความเสียหายจากโลกร้อนน่าจะสูงถึงปีละ 38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2050” (อ้างถึงผลงานวิจัยที่รัฐบาลเยอรมนีสนับสนุน, หมายเหตุ จีดีพีโลกปี 2022 เท่ากับ 139.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สรุป
จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้วพอสรุปได้ 2 ประการ คือ (1) ปัญหาโลกร้อนไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว นับเฉพาะที่พอจะรู้สึกได้ก็แค่ประมาณ 40 ปีมานี้เอง (2) ความรุนแรงของปัญหาและความสูญเสียเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง หากไม่รีบแก้ปัญหาในทันที ปัญหาจะรุนแรงขึ้นจนแก้ได้ยากและใช้เงินจำนวนมาก คล้ายกับปัญหาดินถล่มหรือสิ่งของไถลลงจากที่สูง ยิ่งนานไปความเร็วของสิ่งนั้นจะเร็วขึ้น ๆ จนไม่สามารถหยุดยั้งมันได้
เนื้อหาที่ผมสรุปมานี้ สอดคล้องกับที่บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้กล่าวในเวที COP21 เมื่อปี 2015 โดยอ้างถึงคำพูดที่คมคายและเข้าใจได้ง่ายของอดีตผู้ว่าการรัฐคนหนึ่งว่า “เราเป็นคนรุ่นแรกที่รู้สึกได้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ เราก็เป็นคนรุ่นสุดท้ายที่สามารถทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้”
และตามที่ผมได้ย้ำมาตลอดในบทความอื่นว่า การแก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้ทำให้ต้นทุนพลังงานแพงขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับมีราคาถูกลงกว่า 2 เท่าตัว คุณภาพชีวิตของมนุษย์ก็จะดีกว่าเดิม ปัญหาสำคัญคือความตื่นรู้ของประชาชนที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐบาลให้จงได้
ที่สำคัญสุดๆคือ คนรุ่นเราเท่านั้นที่จะทำได้สำเร็จ จะรอคนรุ่นใหม่ไม่ได้