ThaiPublica > เกาะกระแส > “ชวลิต จันทรรัตน์” เปิดแผนศึกษาลงทุน 9 โครงการผันน้ำทั่วประเทศ-จัดการน้ำครบฉบับสมบูรณ์

“ชวลิต จันทรรัตน์” เปิดแผนศึกษาลงทุน 9 โครงการผันน้ำทั่วประเทศ-จัดการน้ำครบฉบับสมบูรณ์

30 มีนาคม 2024


“ชวลิต จันทรรัตน์” ทีมกรุ๊ป ระบุแผนบริหารจัดการน้ำประเทศ มีกม.-ข้อมูลพร้อม แต่ขาดการบังคับใช้ ชี้นำร่องทดลองทำนาเปียกสลับแห้ง 10,000 ไร่ เพื่อลดการใช้น้ำ 20 % แนะปรับพฤติกรรมใช้น้ำ ก่อนลงทุน 9 โครงการผันน้ำพลิกระบบชลประทานประเทศ

อาจารย์ชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการ ทีม กรุ๊ป และผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำ

มีคำถามเสมอว่า ทำไมการเพิ่มพื้นที่ชลประทานของประเทศไทยถึงคืบหน้าล่าช้า ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาน้ำฝน โดยมีพื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 128 ล้านไร่ หรือ 80 % ของพื้นที่การทำเกษตรกรรมทั้งประเทศ

ขณะที่พื้นที่ในเขตชลประทานมีเพียง 30.97 ล้านไร่ แยกเป็นโครงการขนาดใหญ่ 17.96 ล้านไร่ โครงการชลประทานขนาดกลาง 6.80 ล้านไร่ โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก 6.20 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามกรมชลประทานได้กำหนดเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ภายในปี 2579 จะเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ 13.24 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 17.4 ล้านไร่

เป้าหมายดังกล่าวเป็นไปได้หรือไม่ และการจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด มีอุปสรรค ปัญหาอะไรหรือไม่ รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่เพื่อบริหารจัดการน้ำยังสามารถทำได้หรือไม่

ต่อประเด็นดังกล่าวนายชวลิต จันทรรัตน์  ที่ปรึกษาบริษัททีม กรุ๊ป และผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำกล่าวถึงการจัดการน้ำของประเทศ โดยยอมรับว่าโครงสร้างการจัดการน้ำ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อาจจะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป และคงไม่สามารถทำได้แล้ว เนื่องจากไม่มีพื้นที่ให้ก่อสร้าง ขณะที่ชาวบ้านคัดค้านเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กยังสามารถทำได้เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทาน และแก้ปัญหาการจัดการน้ำแล้งน้ำท่วม

แต่อย่างไรก็ตามหากไล่เลียงปัญหาการจัดการน้ำ การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน หรือ บริหารน้ำท่วม น้ำแล้ง ในปัจจุบันได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เอาไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะแผนบริหารจัดการน้ำซึ่งมีข้อมูลความต้องการน้ำทั่วประเทศ

นายชวลิตกล่าวว่าไทยมีความพร้อมของการวางแผนการจัดการน้ำค่อนข้างสมบูรณ์ มีทั้งแผนการจัดการน้ำ  มีกฎหมายทรัพยากรน้ำ มีคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพราะฉะนั้นในเชิงข้อมูลและโครงสร้างความรับผิดชอบมีความสมบูรณ์แล้ว

“แผนการจัดการน้ำภาพรวมกรมชลประทานและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช) ได้ศึกษาข้อมูลวางแผนการจัดการน้ำทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว  โดยแผนการจัดการน้ำในระยะยาว ได้มีการศึกษาข้อมูลออกมาเป็นแผนผังการจัดการน้ำของแต่ละพื้นที่ หรือ ผังน้ำคล้ายๆฮับผังเมือง ซึ่งมีรายละเอียดเรื่องความต้องการใช้น้ำ พื้นที่แก้มลิง พื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ทั่วประเทศ”

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยังขาดหลังจากมีแผนการจัดการน้ำคือการบังคับใช้ ซึ่งแม้ว่า สทนช.จัดผังน้ำออกมาชัดเจนว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่เสี่ยง ภัยแล้ง หรือ น้ำท่วม รวมไปถึงการกำหนดพื้นที่แก้มลิง และพื้นที่ลุ่มต่ำที่เป็นเส้นทางการไหลของน้ำ แต่น่าเสียดาย ยังไม่มีการนำมาใช้ประกอบกับการวาผังเมืองเพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการอนุญาตก่อสร้างโครงการต่างๆ

“อยากให้มีการใช้ผังน้ำร่วมกับผังเมือง ในการอนุญาตก่อสร้างต่างๆ  เพราะผังน้ำมีรายละเอียดพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือ เส้นทางน้ำไหล รวมไปถึง พื้นที่แก้มลิง ทำให้การอนุญาตก่อสร้าง ไม่ไปสร้างปัญหากับการจัดการน้ำในอนาคต ซึ่งขณะนี้ทั้งผังน้ำและผังสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยแล้วรอการบังคับใช้ร่วมกันกับผังเมือง”

นอกจากข้อมูลการจัดการน้ำแล้ว ภายใต้กฎหมายทรัพยากรน้ำ ยังระบุถึงการตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ ครบทุกพื้นที่ลุ่มน้ำทั่วประเทศแล้วเช่นกัน

“ผมคิดว่าเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมาย คณะกรรมการลุ่มน้ำที่พร้อมจะเสนอปัญหาและทางออกแต่ละลุ่มน้ำก็พร้อมในการบริหารจัดการน้ำ เหลือ เพียงแค่การบังคับใช้กันอย่างจริงจังเท่านั้น”

นายชวลิตยังเห็นว่าต้องเพิ่มความเข็มแข็งให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ ทำหน้าที่ที่สามารถสะท้อนปัญหาความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำถูกต้อง เพราะส่วนกลางจะไม่รู้ถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่เท่ากับคณะกรรมการลุ่มน้ำที่อยู่ในพื้นที่เอง

อาจารย์ชวลิต จันทรรัตน์ ที่ปรึกษาบริษัททีม กรุ๊ป และผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำ

ปรับวิธีการทำนา- เปลี่ยนพฤติกรรมใช้น้ำประหยัด

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องปรับครั้งใหญ่ไม่ใช่แค่เรื่องเชิงโครงสร้างหน้าที่ความรับผิดชอบ  ข้อมูลและแผนในการจัดการจะครบสมบูรณ์ แต่สิ่งขาดและเป็นปัญหามากในปัจจุบัน คือ การปรับพฤติกรรมเพื่อลดการใช้น้ำ หรือ การใช้น้ำอย่างประหยัดของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม และน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค

“ทุกคนต้องเลิกโทษคนอื่น แล้วหันมาปรับพฤติกรรมตัวเอง สำรวจตัวเองว่าลดการใช้น้ำในชีวิตประจำวันหรือยัง การรดน้ำต้นไม้อย่างไรให้ประหยัด ใช้น้ำจากการล้างรถมาลดได้หรือไม่ ทุกคนต้องช่วยกันประหยัดน้ำเพราะน้ำมีต้นทุนในการบริหารจัดการ”

หากภาคครัวเรือนต้องหันมาประหยัดและลดการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย จะช่วยให้มีน้ำเพียงพอในการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง ขณะที่ภาคเกษตรกรรมเองต้องปรับวิธีการเพาะปลูกที่ลดการใช้น้ำ และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่

นายชวลิตย้ำว่า ถึงเวลาที่ชาวนาต้องเปลี่ยนวิธีการทำนา ที่ใช้น้ำจำนวนมากมาเป็นการทำนาแบบเปียก สลับแห้งที่ใช้น้ำน้อยกว่า และได้ผลผลิตมากกว่า โดยมีผลงานวิจัยรองรับว่าการทำนาเปียกสลับแห้งลดการใช้น้ำจากการทำนาแบบเดิม 20 % เพิ่มผลผลิตได้ 17 %

“ควรจะเริ่มส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งได้แล้ว เพราะการทำนาแบบปล่อยให้น้ำขังใช้น้ำมากกว่า และปล่อยก๊าซมีเทนที่อาจจะเป็นปัญหาต่อโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวได้ในอนาคต”

นายชวลิตเห็นว่าควรจะเริ่มจากการส่งเสริมเป็นพื้นที่นำร่องของชาวนาในเขตชลประทานก่อนประมาณ 10,000 ไร่ เช่น พื้นที่เขื่อนน้ำพอง เขื่อนลำปาว หรือ  พื้นที่เกษตรในลุ่มเจ้าพระยา โดยมาตรการเยียวยาหากไม่ได้ผลตามเป้าหมาย เพื่อจูงใจให้ชาวนาเปลี่ยนวิธีการทำนาใหม่

“เริ่มทดลองทำนาเปียกสลับแห้ง โดยหน่วยงานราชการ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน มาหารือกันว่าจะผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไร ซึ่งอาจจะเสนอเป็นนโยบายของรัฐบาลโดยเริ่มจากพื้นที่ตัวอย่าง 3 พื้นที่ไปก่อนเพื่อจัดงบประมาณในการดำเนินการ  ถ้าได้ผลก็ขยายเพิ่มพื้นที่ออกไปอีกได้”

นอกจากการเปลี่ยนวิธีการทำนาแล้ว อาจจะต้องพิจารณาเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับดินและน้ำ โดยไม่ใช้พื้นที่ทั้งหมดปลูกข้าว เนื่องจากสภาพที่ดินดอนบางแห่งไม่เหมาะกับการนาก็เปลี่ยนไปใช้ พืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเหลืองหรือพืชอื่น ๆ ที่ใช้น้ำน้อย

กรมส่งเสริมการเกษตร  กรมพัฒนาที่ดินอาจต้องเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนา พันธุ์พืช หรือส่งเสริมการปลูกพืชที่เหมาะสม รวมไปถึงการสนับสนุนการตลาดเพื่อจูงใจให้เกษตรลดการปลูกข้าวและหันมาปลูกพืชอื่น ๆ ที่ใช้น้ำน้อยลง

นายชวลิตกล่าวว่าหน่วยงานรัฐต้องส่งเสริม สนับสนุนเริ่มจากพื้นที่นำร้อง 5 หมื่นไร่ เปลี่ยนปลูกข้าวไปปลูกพืชอย่างอื่น แล้วส่งเสริมการตลาดไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกษตรเห็นโอกาสว่าสามารถลดการปลูกข้าวและปลูกพืชอื่นทดแทนได้ แต่สิ่งสำคัญคือหน่วยงานรัฐต้องเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้

“เราต้องทุ่มเทจริงจัง ผมคิดว่าข้าราชการ เขาอยากทำอยู่แล้ว ดำเนินการให้ครบวงจร มีตลาดหรือประกันราคาให้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าถ้าเขาไม่ปลูกข้าวแต่ปลูกพืชอื่น หากไม่ได้ผล มีการรับซื้อ หรือประกันราคา  รับซื้อผลผลิต ช่วยเหลือเรื่องเงินกู้ และการตลาด”

เริ่มประหยัดได้ก่อน …ลงทุนโครงการผันน้ำ

นายชวลิตกล่าวว่าแม้จะประหยัดและลดการใช้น้ำรวมถึงเปลี่ยนวิธีการทำนาปลูกพืชให้เหมาะสม แต่ในหลายพื้นที่ยังคงจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำ เช่น โครงการผันน้ำ หรือการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก

ทั้งนี้โครงการผันน้ำ ยังจำเป็นต้องดำเนินการแม้ว่าจะมีต้นทุนสูง แต่ช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานและบริหารจัดการน้ำในประเทศ ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการจัดการน้ำในประเทศ

อย่างไรก็ตามก่อนจะมีการลงทุนผันน้ำที่ใช้ต้นทุนสูงต้องหันมาปรับพฤติกรรมใช้น้ำแบบไม่ประหยัด มาเป็นประหยัดน้ำเพื่อให้คุ้มกับงบประมาณที่ลงทุนไป และหากต้องมีโครงการผันน้ำอาจต้องมีการเก็บค่าน้ำ เพื่อให้รู้คุณค่าของการใช้น้ำ

“ผมถามว่าประหยัดน้ำหรือยัง ทำนาเปียกสลับแห้งหรือยัง  พื้นที่ดอนปรับพืชในการปลูกที่เหมาะสมหรือยัง ถ้ายังไม่ทำ อย่าเอาโครงการผันน้ำมาเลย เพราะมันแพงมาก”

นายชวลิตบอกว่าการสร้างเขื่อนขนาดกลางยังมีความจำเป็นต้องสร้าง เพราะมีพื้นที่จำนวนมากที่มีความต้องการน้ำ แต่ไม่มีอ่างเก็บน้ำ แม้ว่าหลายแห่งชาวบ้านคัดค้านก็ต้องเจรจา และชดเชยให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทาน และการจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง ส่วนโครงการผันน้ำ ถือเป็นโครงสร้างระยะยาวที่หลายพื้นที่ยังคงมีความจำเป็นเช่นกัน

“ผมคิดว่าการผันน้ำเป็นโครงสร้างระยะยาว  ถามว่าจำเป็นมั้ย มันมีพื้นที่จำเป็นต้องทำ แต่ต้องถามก่อนว่าเราประหยัดน้ำจากการทำนาเปียกสลับแห้งหรือยัง ประหยัดน้ำให้ได้ 20 % ก่อน ได้มั้ยค่อยมาเริ่มผันน้ำกัน”

เปิด 9 โครงการผันน้ำทั่วประเทศ

สำหรับโครงการผันน้ำซึ่งเป็นแผนการจัดการน้ำในระยะยาว ได้มีการศึกษาและวางแผนเอาไว้ทั่วประเทศตั้งแต่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง+ตะวันออก และภาคใต้

ภาคอีสานมีโครงการผันน้ำแบ่งออกเป็น 3 ระยะ เนื่องจากเป็นพื้นที่มีความต้องการใช้น้ำสูงมีพื้นที่เกษตรกนอกเขตชลประทานมีจำนวนมาก โดยพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด  104 ล้านไร่  แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 70 ล้านไร่  พื้นที่ในเขตชลประทานแค้ 8 ล้านไร่  หรือ 11 %ของพื้นที่เกษตร  แต่มีพื้นที่นอกเขตชลประทาน 62 ล้านไร่ หรือ 89 % ของพื้นที่เกษตร

ขณะที่แหล่งน้ำต้นทุนและความต้องการใช้น้ำในลุ่มน้ำภาคอีสานมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่พึ่งพาฝน โดยพบว่าภาคอีสานมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,348 มม./ ปี ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 60,790  ล้าน ลบ.ม. ต่อปี  ฤดูฝนมีน้ำท่า 89 %   ส่วนฤดูแล้ง  11 %

สำหรับโครงการแหล่งน้ำที่ใช้กักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้งมี 7,295  โครงการ ความจุกักเก็บรวม 14,916 ล้าน ลบ.ม. หรือ 25 %  ของปริมาณน้ำท่า ส่งผลให้ภาคอีสานมีความต้องการในช่วงฤดูแล้งจำนวนมาก

นายชวลิตบอกว่า โครงการผันน้ำในภาคอีสานจึงมีความจำเป็นในบางพื้นที่ โดยจากการศึกษาโครงการผันน้ำสามารถดำเนินการได้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกคือ โครงการผันน้ำ ห้วยหลวง-ลำปาว  เป็นโครงการผันน้ำที่ใช้น้ำตุ้นทุนในประเทศโดยผันน้ำจากห้วยหลวง  ไปที่สถานีสูบน้ำบ้านนาคำ-หนองหาน-กุมภาวาป จ.อุดรธานี  ไปเก็บไว้ที่เขื่อนลำปาว

โครงการผันน้ำห้วยหลวง-ลำปาว ระยะแรก

ขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการโครงการผันน้ำระยะแรกแล้วเสร็จ โดยก่อสร้างประตูรับน้ำห้วยหลวง กว้าง 11 เมตร จำนวน 3 ช่องทางทำให้มีอัตราการระบายน้ำสูงสุด 990 ลบ.ม.ต่อวินาที และเพิ่มความจุเขื่อนลำปาว จาก 1,300 ล้าน ลบ.ม. เป็น 1,880 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการคือ การสร้าง สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง 150 ลบ.ม./วินาที

อย่างไรก็ตาม โครงการผันน้ำห้วยหลวง-ลำปาว เป็นโครงการผันน้ำที่ใช้น้ำต้นทุนในประเทศ จากห้วยหลวง ผันโดยใช้สถานีสูบน้ำบ้านนาคำ สูบน้ำได้สูงสุด 105 ลบ.ม./ วินาที และ ผันน้ำโดยใช้คลองผันน้ำ จากบ้านนาคำไปที่หนองหาน อ.กุมภวาปี  จ.อุดรธานี  ไปยังเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ คลองผันน้ำความจุยู่ที่ 10 ลบ.ม./วินาที  สามารถเพิ่มพื้นที่ภาคเกษตรที่รับประโยชน์จากการผันน้ำ ท้ายเขื่อนลำปาว 7 แสนไร่ ระยะเวลาก่อสร้าง 7 ปี ราคาก่อสร้าง 7,000 ล้านบาท ราคาค่าน้ำ 2 บาท/ ลบ.ม. มีระยะเวลาคืนทุน 14 ปี

โครงการผันน้ำโขง-ห้วยหลวง-ลำปาว(ระยะ2)

ส่วนโครงการผันน้ำระยะที่สอง คือ โครงการผันน้ำโขง -ห้วยหลวง- ลำปาว  ซึ่งโครงการผันน้ำระยะที่สองต้องใช้น้ำจากนอกประเทศคือผันน้ำจากแม่น้ำโขงปริมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม./ปี มีน้ำใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตร 400 ล้าน ลบ.ม. สำหรับประชาชนรอบพื้นที่ห้วยหลวง จะมีน้ำใช้ 1,600 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่เกษตรท้ายเขื่อนลำปาวได้ประโยชน์ 2.2 ล้านไร่  แต่ต้นทุนค่าน้ำ 0.75 บาทต่อ ลบ.ม. ระยะเวลาคืนทุน 14 ปี

โครงการผันน้ำ โขง-ชี-มูล ระยะ3

สำหรับโครงการผันน้ำเพื่อเติมน้ำในลุ่มน้ำภาคอีสานระยะที่ 3  คือ โครงการโขง-ชี-มูล โดยผันน้ำน้ำโขง บริเวณ จ.เลย -แม่น้ำชี -แม่น้ำมูล โดยขณะนี้กำลังศึกษาแนวทางการผันน้ำเพื่อลงไปเก็บที่เขื่อนอุบลรัตน์

“กำลังศึกษาว่าทำอะไรได้บ้างในการผันน้ำลงไปที่เขื่อนอุบลรัตน์ โดยพิจารณาว่าบางจุดใช้เครื่องสูบน้ำ บางจุดอาจต้องเจาะอุโมงค์ ซึ่งต้องสำรวจให้ละเอียด ซึ่งหากเจาะอุโมงค์ผันน้ำก็ไม่ต้องเสียค่าสูบน้ำที่ต้องจ่ายตลอดไป ทั้งหมดอยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้”

โครงการผันน้ำ โขง -ชี- มูล ระยะแรกมีงบประมาณลงทุน 158,068 ล้านบาท  (ราคา ปี2560 )  ปริมาณน้ำผัน 1,894 ล้าน  ลบ.ม./ ปี ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี โดยก่อสร้างแนวอุโมงค์ 1 แถว  โดยผันนำจากแม่น้ำโขง เข้าแม่น้ำ ชี้และแม่น้ำมูล พื้นที่ชลประทาน 1.69 ล้านไร่ ค่าน้ำ 11.0 บาท/ ลบ.ม. ระยะวลาคืนทุน 16 ปี

อย่างไรก็ตามหากก่อสร้างโครงการผันน้ำ โขง-ชี-มูล แบบเต็มศักยภาพก่อสร้างแนวอุโมงค์ 11 แถว  พื้นที่ชลประทาน 20.93 ล้านไร่ ต้องลงทุน 1,249,921 ล้านบาท ปริมาณน้ำผัน 18,630 ล้าน ลบ.ม./ปี ระยะเวลาก่อสร้าง 17 ปี  มีต้นทุน ค่าน้ำ 16.75 บาท/ ลบ.ม. ระยะเวลาคืนทุน 12 ปี

นายชวลิตเสนอว่าในช่วงแรกควรจะพัฒนาโครงการผันน้ำ ห้วยหลวง-ลำปาว ระยะที่ 1 ผันน้ำไปเติมเขื่อนลำปาว 600 ล้าน ลบ.ม./ ปี รวมค่าก่อสร้าง 7,000 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่เกษตร 7 แสนไร่

ส่วนโครงการผันน้ำระยะที่สองที่ต้องใช้น้ำต้นทุนจากต่างประเทศต้องมีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องการผันน้ำโขง  ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ ปัจจุบันมีการพัฒนาสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง จ.หนองคาย สามารถนำมาเติมเขื่อนลำปาวได้ 1,600 ล้าน ลม.ม./ ปี เพิ่มพื้นที่เกษตร 2.2 ล้านไร่

ทั้งนี้หากพัฒนาโครงการผันน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน  ระยะที่ 1 ห้วยหลวง- ลำปาว  ระยะ2 น้ำโขง- ห้วยหลวง -ลำปาว และ ระยะที่ 3  โขง (เลย)-ชี-มูล ระยะแรก จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานจาก 8 ล้านไร่เป็น 14.24 ล้านไร่  แต่หากพัฒนาโครงการ โขง (เลย) -ชี-มูล  เต็มศักยภาพ จะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 20.93 ล้านไร่

โครงการจัดสรรน้ำ ภาคตะวันออก

สำหรับโครงการจัดสรรน้ำในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี  นายชวลิต กล่าวว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกส่วนใหญ่การจัดสรรน้ำใช้ระบบท่อทั้งหมด โดยจะผันน้ำจากอ่างคลองวังโตนด จ. จันทบุรี มาไว้ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยองเพื่อให้มีน้ำเพียงพอทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และน้ำอุปโภค บริโภค

“ตอนนี้โครงการผันน้ำจากอ่างคลองวังโตนด ยังสร้างไม่ได้เพราะติดว่าผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติบางส่วน มีการคัดค้าน แต่แผนการผันน้ำในภาคตะวันออกในอนาคต จะผันน้ำจากแม่น้ำจันทบุรี มาเติมที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ และ ผันน้ำจาก จ.ตาด มาเติมที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ และในอนาคตจะขอผันน้ำจากโครงการสตึงนัม กัมพูชา เพื่อมาเติมน้ำให้กับภาคตะวันออก ”

โครงการผันน้ำลุ่มเจ้าพระยา

โครงการผันน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อเติมเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำครอบคลุมพื้นที่เกษตรเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ลุ่มเจ้าพระยามีพื้นที่เกษตรทั้งหมด 47 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ในเขตชลประทาน 21 ล้านไร่ หรือ 45 % ของพื้นที่เกษตร มีพื้นที่นอกเขตชลประทาร 26 ล้านไร่ หรือ 55 %

ดังนั้นโครงการผันน้ำยวม -เขื่อนภูมิพล ระยะที่ 1 จะดำเนินการสร้างอุโมงค์ผันน้ำความยาว 61.52 ราคาก่อสร้าง 58,647 ล้านบาท ปริมาณน้ำที่ผัน 715 ล้าน ลบ.ม./ ปีระยะเวลาก่อสราง 7 ปี ค่าน้ำ 15.75 บาทระยะเวลา คืนทุน 16 ปี

หลังจากนั้นจะพัฒนาโครงการผันน้ำยวม เขื่อนภูมิพล แบบเต็มศักยภาพใช้งบประมาณ  45,880  ล้านบาท ปริมาณน้ำผันรวม 1,795 ล้าน ลบ.ม/ปี ระยะเวลาก่อสร้าง 7 ปี  ค่าน้ำ 5.75 บาท/ลบ.ม. ระยะเวลาคืนทุน 16 ปี

ในระยะถัดไป นายชวลิตบอกว่า มีแผนที่จะผันน้ำจากแม่น้ำโขงคือ โครงการผันน้ำโขง (เขื่อนไซยะบุรี)-เขื่อนสิริกิติ์  ต้องสร้างอุโมงค์ผันน้ำจาก เขื่อนไชยบุรี ประเทศลาว ความยาว 127 กิโลเมตร ราคาก่อสร้าง 100,907 ล้านบาท ปริมาณน้ำผัน 1,944 ล้าน ลบ.ม./ปี  ระยะเวลาก่อสร้าง 7 ปี ต้นทุนค่าน้ำ 6.50 บาท/ ลบ.ม. ระยะเวลาคืนทุน 16 ปี

ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือมี โครงการผันน้ำกก-อิงขน่าน ลงมาเก็บน้ำที่เขื่อนสิริกิติ์  ซึ่งโครงการนี้ใช้บประมาณ 4 หมื่นล้าน และมีการศึกษามานานแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ

ขณะที่ พื้นที่ภาคใต้มีโครงการผันน้ำตาปี-สิชล ปริมาณน้ำ 130 ล้าน ลบ.ม. งบประมาณ 2,100 ล้านบาท และโครงการผันน้ำเขื่อนรัชชประภา  สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต เพื่อการท่องเที่ยว ปริมาณน้ำ 180 ล้าน ลบ.ม. งบประมาณ 7,200 ล้านบาท

“ถึงเราจะลงทุนโครงการผันน้ำ อาจจะยังเพิ่มพื้นที่เกษตรในเขตชลประทานได้ไม่ทั้งหมด เพราะบางพื้นที่การจัดสรรน้ำอาจจะไปไม่ถึง จึงต้องทำควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมดินและน้ำให้มากที่สุด”

นายชวลิตเห็นว่าโครงการผันน้ำเป็นโครงการที่มีต้นทุนสูง ดังนั้นหากมีการลงทุนอาจต้องมีการเก็บค่าน้ำ ควบคู่กันไป สำหรับผู้ใช้น้ำทั้งหมดรวมทั้งภาคเกษตร เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและสะท้อนต้นทุนในการจัดสรรน้ำอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการลงทุนผันน้ำ จะต้องพยายามส่งเสริมการประหยัดน้ำ การเปลี่ยนพฤติกรรม และวิธีการทำนา และปรับการปลูกพืชที่เหมาะสมกับดินและน้ำในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การลงทุนผันน้ำเกิดประโยชน์สูงสุดคุ้มค่ากับการลงทุนอย่างแท้จริง