ThaiPublica > เกาะกระแส > จากดีบุก ยางพารา และปาล์มน้ำมัน สู่ Data Center “สงครามการค้า” คือ “โอกาสทอง” ของมาเลเซีย

จากดีบุก ยางพารา และปาล์มน้ำมัน สู่ Data Center “สงครามการค้า” คือ “โอกาสทอง” ของมาเลเซีย

30 พฤศจิกายน 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

สะพานข้ามแดนสิงคโปร์กับยะฮอร์ ที่มาภาพ: wikipedia.org

ในบทความชื่อ Malaysia’s Structural Economic Change นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Jeffrey Sachs เขียนไว้ว่า นับจากปี 1900 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน หรือนานกว่า 100 ปีมาแล้ว บนเส้นทางการพัฒนา ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของมาเลเซีย อาจแบ่งออกเป็นกว้างๆ ได้ 5 ช่วงระยะเวลาด้วยกัน

กว่า 100 ปีบนเส้นทางการพัฒนา

ช่วงที่ 1 ปี 1900–1945 ครึ่งแรกศตวรรษที่ 20 สมัยอาณานิคม การเติบโตเศรษฐกิจอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ มาเลเซียได้ประโยชน์จากที่ตั้งภูมิศาสตร์ เช่น มีอากาศเขตร้อน ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ และอยู่ใกล้เส้นทางการค้ายุโรปกับตะวันออกไกล

แต่มาเลเซียสร้างผลกำไรอย่างมากแก่นักลงทุนเอกชนของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ที่ลงทุนเหมืองแร่ดีบุกและยางพารา เศรษฐกิจช่วงนี้ การผลิตโตเฉลี่ย 3.7% แต่รายได้และการบริโภคคนท้องถิ่นโตแค่ 1% ส่วนต่างนี้สะท้อนกำไรมหาศาลของนักลงทุนอังกฤษ ที่ไม่ได้กระจายรายได้สู่คนท้องถิ่น นอกจากนี้ อังกฤษยังนำเอาแรงงานจากจีนและอินเดียเข้ามาทำงานในเหมืองแร่ เพื่อเป็นแรงกดดันไม่ให้ค่าแรงคนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น

ช่วงที่ 2 ปี 1946–1970 มาเลเซียได้เอกราชปี 1957 ปี 1964 ก่อรูประบบการเมืองที่เรียกว่า “มาเลเซีย” มาเลเซียเกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปการสร้างชาติโดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานทำให้มาตรฐานชีวิตประชาชนสูงขึ้น และลดความยากจนในหมู่คนมาเลย์ที่อยู่ในชนบท

ช่วงที่ 3 ปี 1970–2000 เป็นช่วงเศรษฐกิจกระจายออกจากดีบุกและยางพารา มาสู่น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปาล์มน้ำมัน เวลาเดียวกัน การลงทุนจากบริษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพื่อส่งออก ก็มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น มาเลเซียประสบความสำเร็จในการกระจายการผลิตในหลายด้าน แต่จุดอ่อนคือยังพึ่งพิงการส่งออกสินค้าไม่กี่ชนิด คือ น้ำมันกับก๊าซ ปาล์มน้ำมัน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มาเลเซียไม่ประสบความสำเร็จในขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจจากภายในประเทศ ที่อาศัยนวัตกรรม

ช่วงที่ 4 ปี 2000–2014 จุดอ่อนทางเศรษฐกิจของมาเลเซียปรากฏขึ้นมาชัดเจน เมื่อจีนก้าวพุ่งขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สร้างแรงกดดันด้านการแข่งขันอย่างมากต่อมาเลเซีย ส่งผลให้เกิดเพดานที่เป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ การจ้างงาน และรายได้จากอุตสาหกรรม “เทคโนโลยีระดับกลาง” ของมาเลเซีย ต้นทุนต่อสภาพแวดล้อมก็ปรากฏชัดเจนจากเศรษฐกิจที่อิงทรัพยากร เช่น การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน การทำลายป่า และอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่ทำผลิตภัณฑ์ไม้ส่งออกไปจีน ความหลากหลายทางชีวภาพในหลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย

ช่วงที่ 5 ปี 2015 ถึงปัจจุบัน ในยุคการตื่นตัวเรื่องโลกร้อน การที่มาเลเซียยังพึ่งพามากกับพลังงานจากฟอสซิล เหมือนเป็นการชูป้ายสัญญาณอันตรายให้นานาชาติรับรู้ มาเลเซียเข้าสู่ยุคการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงปัจจุบันนี้ ในบริบทที่สมาชิกสหประชาชาติยอมรับการพัฒนายั่งยืน (SDGs) ที่ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย ความหมายสำคัญคือการเปลี่ยนจาก “การพัฒนาเศรษฐกิจ” ที่ส่วนใหญ่หมายถึงการเติบโตของรายได้ต่อคน มาสู่ “การเติบโตอย่างยั่งยืน”

ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจ ปัญหาเร่งด่วนของมาเลเซียคือ การยกระดับการศึกษาและความสามารถด้านนวัตกรรม กุญแจสำคัญที่จะเอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง” เพื่อก้าวสู่ประเทศรายได้สูง มาเลเซียไม่มีปัญหาการเข้าถึงระบบการศึกษา แต่คุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ยังต่ำกว่าประเทศที่เป็นผู้นำในด้านนี้ รวมทั้งรายได้ประชาชาติที่จัดสรรเพื่อการวิจัยและพัฒนา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานสำคัญ ที่จะทำให้มาเลเซียบรรลุเป้าหมาย SDG 9 คือการมีเศรษฐกิจบนพื้นฐานนวัตกรรม

ที่มาภาพ : Wikipedia.org

“โอกาสทอง” มาจากสงครามการค้า

ส่วนบทความของ The New York Times (NYT) เรื่อง World Fears a Wider Trade War. Malasia Sees an Opportunity เขียนถึงโอกาสทองของมาเลเซีย ที่มาจากแนวโน้มสงครามการค้า ที่จะขยายตัวกว้างมากขึ้นว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในรัฐบาลสมัยแรกของโดนัลด์ ทรัมป์ มาเลเซียเดิมพันกับทั้งสองฝ่าย โดยพยายามดึงการลงทุนจากบริษัทอเมริกันและจีน

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ผล เกิดการลงทุนเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์จากบริษัทอเมริกัน เช่น Texas Instruments และ Lam Research ส่วนบริษัทจากจีนได้แก่ Alibaba และ Geely เมื่อทรัมป์กลับมามีอำนาจในทำเนียบขาวอีกครั้งหนึ่ง และขู่ที่จะใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าครั้งใหม่ ที่จะกระทบต่อการค้าโลก มาเลเซียหวังว่าจะยังอาศัยยุทธศาสตร์เดิม โดยเปลี่ยนพื้นที่ทางใต้ของประเทศให้เป็น “ศูนย์กลาง” สำหรับบริษัทข้ามชาติที่มองหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย

ศูนย์กลางดังกล่าวจะมาจากการทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ โดยจะมีการจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษมาเลเซีย” บริษัทต่างประเทศที่ตั้งในสิงคโปร์จะได้รับสิทธิพิเศษทางการเงินในการขยายการผลิต โดยสร้างโรงงานขึ้นในเขตเศรษฐกิจมาเลเซีย วันที่ 8–9 ธันวาคม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและสิงคโปร์จะลงนามในความตกลงทางเศรษฐกิจนี้

จังหวะเวลาดำเนินการดังกล่าวของมาเลเซีย สอดคล้องกับช่วงเวลาของสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะบริษัทอเมริกันเริ่มใช้แผนงานที่ลดการผูกพันกับจีน ส่วนบริษัทจีนก็หันมาจับมือกับมาเลเซียมากขึ้น การลงทุนจากบริษัทสหรัฐฯ และจีนที่หลั่งไหลเข้ามามาเลเซีย ทำให้มาเลเซียกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลาง data center (ศูนย์ข้อมูล) ที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด มาเลเซียยังเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลก

เขตเศรษฐกิจพิเศษมาเลเซีย มีเป้าหมายดึงการลงทุนจากสหรัฐฯ และจีน ขณะเดียวกัน ก็ได้ประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจเศรษฐกิจของโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก Lee Ting Han เจ้าหน้าที่รัฐยะโฮร์ ที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกล่าวกับ NYT ว่า “หากมีแนวโน้มสู่การกีดกันการค้ามากขึ้น จะช่วยให้เกิดโอกาสมากขึ้นกับประเทศเป็นกลางอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่จะใช้ประโยชน์เต็มที่จากความได้เปรียบตามธรรมชาติของเรา”

Data Center ที่รัฐยะโฮร์ ที่มาภาพ : restofthe world.org

จนถึงขณะนี้ มาเลเซียได้รับเงินการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์จากบริษัทอเมริกัน เช่น Nvidia, Microsoft และ Google ที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ บริษัท Nomura คาดว่า ในปีที่ผ่านมา เงินลงทุนในมาเลเซียจากบริษัทไฮเทคอเมริกันมีมากถึง 5.5% ของ GDP มาเลเซีย นอกจากนี้ มาเลเซียยังพยายามดังการลงทุนจากบริษัทจีน เช่น ByteDance เจ้าของ TikTok ทางการมาเลเซียคาดว่า การลงทุนทั้งหมดจะสร้างงานมากกว่า 100,000 งาน

หนึ่งในเป้าหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษรัฐยะโฮร์คือ การปรับปรุงการเคลื่อนย้ายของประชาชนในการข้ามพรมแดนระหว่างสิงคโปร์กับยะโฮร์ เพื่อให้บริษัทและคนที่ทำงานในสิงคโปร์มีช่องทางขยายการผลิตและพักอาศัยในต้นทุนที่ถูกลง ในแต่ละวันจะมีคนข้ามพรมแดนหลายแสนคน เขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้การข้ามแดนสะดวกขึ้น เพราะใช้ระบบ QR Code แทนหนังสือเดินทาง ในปี 2027 รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสิงคโปร์กับยะโฮร์จะเปิดดำเนินงาน

ในบทความของ Jeffrey Sachs กล่าวสรุปว่า มาเลเซียมีบทเรียนกว่า 100 ปี ในด้านการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่มาเลเซียควรภาคภูมิใจ และเอามาใช้ประโยชน์ในการก้าวเดินไปสู่อนาคตข้างหน้า ที่เป็นยุคของการพัฒนาที่ยั่งยืน แน่นอน รวมทั้งปัญหาท้าทายจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

เอกสารประกอบ
Malaysia’s Structural Economic Chance: Past, Present and Future, Jeffrey Sachs, www.ehm.my
World Fears a Wider Trade War. Malaysia Sees an Opportunity, NOV 15, 2024, nytimes.com