วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์ เรทติ้งส์(Fitch Ratings) ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลไทย(Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating-IDR) ไว้ที่’BBB+ โดยมุมมองที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการคงอันดับความน่าเชื่อถือ
ภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่งและข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง: อันดับเครดิตของประเทศไทยสมดุลระหว่างความแข็งแกร่งของภาคการเงินต่างประเทศที่ยั่งยืนและกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง กับลักษณะโครงสร้างที่อ่อนแอกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคู้เทียบอื่นที่ได้อันดับเครดิตอื่นในระดับ ‘BBB’ เช่น รายได้ต่อหัวและคะแนนด้านธรรมาภิบาลของธนาคารโลกที่ต่ำกว่า
ในกรณีฐานของฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดว่า ตัวชี้วัดหนี้ภาครัฐของประเทศไทยจะค่อยๆ มีเสถียรภาพในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของคู่เทียบ หลังจากที่มีการถดถอยลงในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา โดยมีสมมติฐานว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามแผนปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล(fiscal consolidation)ภายหลังปีงบประมาณนี้สิ้นสุดเดือนกันยายน 2568 (ปีงบประมาณ 2568) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไปอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อแนวโน้มการคลังระยะกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยเผชิญกับอุปสรรคด้านโครงสร้างประชากรอยู่แล้ว
การเติบโตคาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้น: ฟิทช์คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.1% ในปี 2568 จากประมาณการที่ 2.6% ในปี 2567 แนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจะได้รับแรงผลักดันจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้น เราคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในปี 2568 จะกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่จนถึงระดับก่อนเกิดโรคระบาด โดยได้รับแรงหนุนจากนโยบายริเริ่มที่สนับสนุน การปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2568 และการปรับการเบิกจ่ายงบประมาณด้านการลงทุนให้เป็นปกติหลังจากที่มีความล่าช้าอย่างมีนัยสำคัญในปีงบประมาณ 2567 จะส่งผลบวกสำหรับอุปสงค์ในประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น
ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่: เราคาดว่าการเติบโตจากการแจกเงินสดจำนวน 145 พันล้านบาท (0.8% ของ GDP) จากรัฐบาลครั้งแรกให้กับกลุ่มเปราะบาง จะบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งล่าสุดในภาคเหนือของประเทศไทย จำนวนนักท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนที่แข็งแกร่งกว่าสมมติฐานพื้นฐานของเรา ซึ่งอาจมาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มากขึ้นและความผันผวนทางการเมืองที่ลดลง อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตได้ ความเสี่ยงด้านลบ ได้แก่ อุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลง เช่น การชะลอตัวอย่างรวดเร็วของคู่ค้ารายใหญ่ของไทย ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางการค้าหลังการเลือกตั้งของสหรัฐฯ
ความต่อเนื่องของนโยบายในวงกว้าง: การที่รัฐสภาอนุมัตินายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างรวดเร็วและได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยพรรคเพื่อไทยยังคงเป็นพรรคที่มีอำนาจเหนือพรรคอื่นๆในรัฐบาลผสมท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ไม่นานมานี้ จะช่วยคงความต่อเนื่องทางนโยบายในวงกว้างไว้ เราคาดว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนโดยมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มผลผลิตเป็นลำดับต้นๆ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนตัวผู้นำเน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ที่ความผันผวนทางการเมืองจะส่งผลต่อประสิทธิผลของการกำหนดนโยบายและความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนต่างชาติและธุรกิจในประเทศ
การขาดดุลทางการคลังที่สูงขึ้น: ฟิทช์คาดการณ์ว่าการขาดดุลของรัฐบาลโดยทั่วไป (จากฐานการประมวลผลสถิติการคลัง) จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 (ค่าเฉลี่ยของคู่เทียบในกลุ่ม BBB: 3.2%) จากประมาณการที่ 3.8% ในปีงบประมาณ 2567 เรามองว่ารัฐบาลจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายในกรอบการคลังที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้จะมีความไม่แน่นอนอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการแจกเงินสดที่เหลือซึ่งสูงถึง 1.6% ของ GDP แต่เราเชื่อว่ารัฐบาลจะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังภายใต้งบประมาณปี 2568 ที่ได้รับความเห็นชอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ
รัดเข็มขัดทางการคลังได้เล็กน้อย: เราคาดการณ์ว่าหนี้ภาครัฐโดยรวม (General Government Gross Debt-GGGD) จะเพิ่มขึ้นเป็น 61.2% ในปีงบประมาณ 2569 (ค่าเฉลี่ยของคู่เทียบในกลุ่ม BBB: 59.1%) จากประมาณ 58.3% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2567 ประมาณการในกรณีฐานของเรา อัตราส่วน GGGD/GDP จะทรงตัวที่ประมาณ 61.5% ภายในปีงบประมาณ 2571 ซึ่งสะท้อนถึงการคาดการณ์ของเราที่ว่าจะมีการปรับลดงบประมาณรายจ่ายหลังจากปีงบประมาณ 2568 ซึ่งมากกว่าเป้าหมายการขาดดุลของรัฐบาลในกรอบการคลังระยะปานกลาง (MTFF)ได้เล็กน้อย
รัฐบาลเตรียมที่จะปรับกรอบการคลังระยะปานกลาง อีกครั้งในปลายปี 2567 อาจมีแรงกดดันทางการเมืองต่อมาตรการการใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกเหนือจากปีงบประมาณ 2568 ซึ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับแนวโน้มการรัดเข็มขัดทางการคลังและการชำระหนี้ภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น มากกว่าที่จะจัดการกับอุปสรรคในการเติบโตเชิงโครงสร้าง
ความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะจำกัด: เราเชื่อว่าความเสี่ยงจากหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ซึ่งยังคงอ่อนไหวต่อสมมติฐานการเติบโต จะถูกจำกัดจากการเข้าถึงตลาดทุนภายในประเทศที่มีความลึกของรัฐบาล ผ่านรอบและความสามารถในการจัดหาทางการเงินที่แข็งแกร่ง เห็นได้จากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินของคู่เทียบอื่นๆ ในหมวด ‘BBB’ และประมาณการของเราเกี่ยวกับอัตราส่วนดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาลทั่วไปที่ประมาณ 6% ในปีงบประมาณ 2567 (ค่าเฉลี่ยของคู่เทียบในกลุ่ม BBB: 9%) โครงสร้างหนี้ภาครัฐที่ดีซึ่งมีระยะเวลาครบกำหนดโดยเฉลี่ยที่นานและส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินในประเทศสนับสนุนความยั่งยืนทางการคลังในระยะกลาง
ภาคการเงินต่างประเทศแข็งแกร่งยั่งยืน: ภาคการเงินต่างประเทศมีความแข็งแกร่ง แม้ว่าประเทศไทยจะมีผลงานทางเศรษฐกิจหลังการระบาดที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็ตาม เราคาดการณ์ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ของ GDP ในปี 2568 (2567: 2.1%) จากการฟื้นตัวของดุลบริการอย่างต่อเนื่อง และเงินทุนสำรองต่างประเทศที่รอรงรับการนำเข้าประมาณ 7.4 เดือน (ค่าเฉลี่ยของคู่เทียบในกลุ่ม BBB คาดการณ์: 5.6 เดือน) เราคาดการณ์สถานะเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิขนาดใหญ่ที่ 36.9% และ 43.0% ของ GDP ในแง่ประเทศและทั่วทั้งเศรษฐกิจ ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2568 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้สำหรับคู่เทียบในหมวด ‘BBB’ และ ‘A’
หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น: อัตราส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศไทยลดลงเหลือต่ำกว่า 90% ภายในสิ้นไตรมาส 2/2567 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี แต่อัตราส่วนดังกล่าวยังคงสูงกว่าคู่เทียบในภูมิภาค ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะบั่นทอนประสิทธิผลของนโยบายที่มุ่งกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ฟิทช์มีมุมมองที่เป็นกลางต่อกลุ่มธนาคารไทย ความเสี่ยงด้านลบต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารส่วนใหญ่อยู่ที่หนี้ของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและ SMEs ที่ประสบปัญหา อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าเงินกองทุนที่แท้จริง(core capital)ของธนาคารที่มั่นคง การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่ง และสถานะสภาพคล่องที่มั่นคงน่าจะช่วยรักษาเสถียรภาพได้
ESG – ธรรมาภิบาล: ประเทศไทยมีคะแนนESG Relevance Score อยู่ที่ ‘5’ ด้านเสถียรภาพทางการเมืองและสิทธิ และได้ ‘5[+]’ สำหรับหลักนิติธรรม คุณภาพสถาบันและกฎระเบียบ และการควบคุมการทุจริต คะแนนเหล่านี้สะท้อนถึงน้ำหนักที่สูงที่ตัวชี้วัดการกำกับดูแลธนาคารโลกมีในโมเดลการจัดอันดับ Sovereign Rating (SRM) ของฟิทช์ ประเทศไทยได้คะแนนดัชนีธรรมาภิบาลของธนาคารโลก(orld Bank Governance Indicators)ในระดับปานกลาง ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 47 ซึ่งสะท้อนว่าขีดความสามารถของสถาบันและคุณภาพด้านกฎระเบียบที่ดี และหลักนิติธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับนั้น ถูกหักล้างด้วยความผันผวนทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่
ปัจจัยที่จะมีผลต่ออันดับเครดิต
ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย ได้แก่
ฐานะการคลัง: ความสามารถในการลดการขาดดุลการคลังและรักษาอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะปานกลางให้มีเสถียรภาพนั้น ลดลง
ปัจจัยเชิงโครงสร้าง: การชะงักงันทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นในระดับที่มากพอ ที่จะมีผลกระทบต่อประสิทธิผลในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศและแนวโน้มการเติบโตของประเทศไทย หรือส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย ได้แก่
เศรษฐกิจมหภาค: แนวโน้มการเติบโตในระยะกลางที่ดีขึ้น โดยที่หนี้ภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(non-bank)ไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ฐานะการคลัง: การลดลงอย่างมากของอัตราส่วนหนี้รัฐบาล/GDP เช่น จากการขาดดุลทางการคลังที่ลดลง และ/หรือการยกระดับศักยภาพการเติบโตในระยะปานกลาง