ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯชี้“ก้าวไกล”ยังไม่ใช่รัฐบาล ไม่ควรเรียกข้อมูลราชการ-มติ ครม.ชง กกต.เคาะประกันรายได้ชาวสวนปาล์ม

นายกฯชี้“ก้าวไกล”ยังไม่ใช่รัฐบาล ไม่ควรเรียกข้อมูลราชการ-มติ ครม.ชง กกต.เคาะประกันรายได้ชาวสวนปาล์ม

30 พฤษภาคม 2023


เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุม ครม. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯชี้ “ก้าวไกล” ยังไม่ใช่รัฐบาล ไม่ควรเรียกข้อมูลส่วนราชการ
  • ย้ำไม่ใช่รัฐบาล ตาม กม.ยังเรียกส่วนราชการมาหารือไม่ได้
  • ไม่รู้เรื่องดีลลับ “เลสเตอร์” รู้แต่ “อนุทิน” ลาไปประชุม
  • มติ ครม.ชง กกต.เคาะยืม ธ.ก.ส. 3,133 ล้าน จ่ายชาวสวนปาล์ม
  • ผ่อนผันแรงงาน 4 สัญชาติอยู่ไทยต่อไม่เกิน 13 ก.พ.ปี’68
  • กฟน.แจงย้ายสายไฟฟ้าลงดินแล้ว 62 กม.
  • เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    โชว์ผลงานขับเคลื่อนงบลงทุน รสก. 43 แห่ง 9.4 หมื่นล้าน

    พลเอกประยุทธ์ รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ ไตรมาส 1/2566 ว่า ปัจจุบันสภาพการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 อีกทั้งชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.05 หนี้ครัวเรือนชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน และความสามารถชำระหนี้ยังทรงตัว

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลเน้นการลงทุนจากจากต่างประเทศ และจากรัฐวิสาหกิจของไทยเอง โดยข้อมูลเมื่อสิ้นเดือนเมษายน 2566 ระบุว่า มีการลงทุนจากรัฐวิสาหกิจจำนวน 43 แห่ง เป็นเงิน 94,834 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 109 ของการเบิกจ่าย และคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 35 ของกรอบงบดุลทั้งปี

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รายละเอียดคืองบดุล การเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 34 แห่ง ในช่วง 7 เดือนแรก มูลค่า 62,997 ล้านบาท เบิกจ่ายอัตราร้อยละ 107 ของแผนการเบิกจ่าย และเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 51 ของกรอบลงทุนทั้งปี ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 9 แห่ง มูลค่า 31,838 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 113 ของแผนการเบิกจ่าย คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 20 ของกรอบงบลงทุนทั้งปี

    “นี่คือสิ่งที่เราบริหารมาโดยตลอด เรื่องงบลงทุนรวมถึงเรื่องต่างประเทศด้วย วันนี้มีการติดต่อเพื่อประสานความร่วมมือในโครงการต่างๆ ที่จะลงทุนในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ แต่วันนี้ยังไม่ได้สรุปมา” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    อ้าง “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ห่วงความไม่แน่นอนทางการเมือง กระทบงบฯปี’67 ล่าช้า

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า Fitch Ratings ได้รายงานสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการคลัง หลังการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นปัจจัยฉุดรั้งความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะสั้น เพราะมีความล่าช้าเรื่องการทำงบประมาณ

    อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือของไทยได้รับปัจจัยจากสถานการณ์การเงินที่แข็งแกร่ง ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคมีประสิทธิภาพ การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและนักท่องเที่ยว

    “นี่คือสิ่งที่ดีของไทยในปัจจุบัน ทุกอย่างมันดีหมด อัตราเงินบาทก็มีการอ่อนค่าลงนิดหน่อย ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้นเป็น 1,530 จุด ไม่ธรรมดา เพราะในช่วงนี้อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลอะไร ก็แล้วแต่ แต่เราก็ทำมันได้ดี ขอชมเชยส่วนกระทรวงการคลังที่ได้บริหารงานต่างๆ ด้วยความเรียบร้อย ทำให้ทุกอย่างเป็นสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ชี้สภาพอากาศทั่ว ปท.อยู่ในเกณฑ์ดี หลังฝนตก

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับ PM 2.5 โดยวันนี้สภาพอากาศไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง ในกรุงเทพฯ ถือว่าดีมาก เป็นเพราะฝนตก และทุกหน่วยงานช่วยกันกำกับดูแล จนทำให้สภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า จุดความร้อนประเทศไทยเหลืออยู่ 72 จุด จาก 3 จังหวัดแรกที่มีจุดความร้อนมากที่สุดคือกำแพงเพชร ลำปาง และนครสวรรค์

    “ก็เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน คิดว่าหลายอย่างก็น่าจะดีขึ้น ขอให้การเกษตร การจราจรปฏิบัติตามกฎระเบียบ รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปตามยุทธศาสตร์ของเรา คือ การลด PM2.5 พูดอย่างเดียวมันไม่ได้ มันต้องทำด้วย” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    เผยชาวโปแลนด์ชอบ “มวยไทย”

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงความร่วมมือกับต่างประเทศว่า “เอกอัครราชทูตโปแลนด์มาพบผม และยืนยันในความร่วมมือ ชื่นชมในการบริหารงานของรัฐบาลมาโดยตลอดที่เกิดความร่วมมือระหว่างโปแลนด์และไทย และน่ายินดีคือกีฬามวยไทยได้รับความนิยมมากในโปแลนด์ และมีนักศึกษาไทยจำนวนมากไปเรียนแพทย์ที่โปแลนด์ ผมก็วางแผนในการสร้างความร่วมมือตลอดไป”

    ชี้ขับเคลื่อน ศก.ใน EEC อย่างเดียวไม่พอ ต้องพัฒนาสังคมด้วย

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีคณะกรรมการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษระเบียงสังคม (SCC) แม้จะมีเศรษฐกิจ แต่ไม่เพียงพอ เพราะต้องทำให้สังคมปลอดภัย มีความสุข และทำงานโดยสอดคล้องกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนต่างๆ ให้เดินไปด้วยกัน

    ย้ำไม่ใช่รัฐบาล ตาม กม.ยังเรียกส่วนราชการมาหารือไม่ได้

    ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่องค์กรต่างประเทศลงพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น โดยพลเอกประยุทธ์ตอบว่า “ให้ในพื้นที่เขาดูอยู่แล้ว ความจริงมีการติดตามของคณะทำงานมาโดยตลอด เพราะเกรงว่าจะไปขัดแย้งกับสิ่งที่เขาทำในปัจจุบันคือ การแก้ปัญหาทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจสังคมต่างๆ ซึ่งก็ทำอยู่แล้ว คณะทำงานก็มี มีการพูดคุยกันอยู่แล้ว ต้องทำความเข้าใจกันไป และก็ต้องระมัดระวังให้มากที่สุดเพราะมันอ่อนไหว จะไปแก้อะไรต่างๆ โดยเปลี่ยนแปลงทั้งหมดมันน่าจะยาก แต่ก็แล้วแต่”

    ถามต่อว่ามีการเคลื่อนไหว และขอพูดคุยโดยตรงกับ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้) โดยไม่ผ่านหน่วยงานความมั่นคง โดย พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “เมื่อกี้ก็หารือว่าทำได้หรือเปล่า ถ้าเป็นส่วนราชการก็ไม่น่าจะไปคุย ถ้าไม่ใช่ ก็อีกเรื่อง พิจารณากันเอาเองว่าควรหรือไม่ควร แต่ผมคิดว่าในทางกฎหมายเท่าที่หารือ ก็มีการยกประเด็นขึ้นมาว่าไม่น่าจะทำได้ การที่จะยังไม่ใช่รัฐบาลแล้วไปเรียกส่วนราชการคุยเอง ถ้าเป็นหน่วยงานภายนอกที่ไม่ใช่ส่วนราชการ เขาก็ทำได้เหมือนกัน

    ห่วงสถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

    เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสถานการณ์หลังจากเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “เขาก็กังวลอยู่ว่ามันจะออกมารูปแบบไหน อย่างไร เพราะหลายอย่างก็มีคนมาพูดเยอะแยะว่าจะทำตรงนู้นตรงนี้ มันก็ทำให้เขา (นักลงทุน) ต้องทบทวนอีกที ผมก็เป็นกังวลเรื่องนี้”

    “หลายๆ อย่างกำลังดีอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่รัฐบาลทำมาคือ แก้ปัญหาการลงทุนจากภายนอกเพราะไทยเราก็อยู่ในวงจรเราอยู่แล้ว แต่ถ้าเอาต่างประเทศมาลงทุนมันก็ไปไกล เพิ่มจีดีพีขึ้นมา ถ้าเราไม่พูดถึงการลงทุนต่างประเทศ มันจะเข้ามาน้อยเกินไปเลยกลายเป็นน้ำหนักอยู่ตรงนี้ มันก็เป็นภาระเหมือนกันนะ หลายท่านคงฟังที่เขาไปพบปะเยี่ยมเยียนกัน ก็เป็นสิ่งที่เขาคุยได้เพราะไม่ใช่ส่วนราชการ” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรี จะช่วยทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นได้อย่างไร พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ผมไม่เกี่ยวข้องตรงนี้ ผมบอกหลายครั้งแล้วว่าผมไม่เกี่ยวข้อง ผมทำหน้าที่ของผมคือการเป็นรักษาการให้ดีที่สุด เรื่องทางการเมืองก็ว่ากันไปสิ”

    ผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงความมั่นใจนักลงทุนช่วงระหว่างที่ยังไม่ตั้งรัฐบาลใหม่ พลเอกประยุทธ์ ย้ำว่า “ใครจะเป็นรัฐบาลใหม่ก็ต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ด้วยนะ ถ้ามันเสียหายขึ้นมา ก็พ้นหน้าที่ผมไปแล้ว เพราะผมทำไว้แล้ว”

    ไม่รู้เรื่องดีลลับ “เลสเตอร์” รู้แต่ “อนุทิน” ลาไปประชุม

    จากประเด็นความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ผู้สื่อข่าวถามถึง ‘ดีลลับ’ โดย พลเอกประยุทธ์ ตอบทันทีว่า “ไม่รู้เรื่อง ไม่ฟัง ไม่เปิดโซเชียล”

    เมื่อผู้สื่อข่าวพูดว่า ‘ฟุตบอลก็ไม่ดู’ พลเอกประยุทธ์ พูดต่อว่า “ไม่ฟัง ไม่ดู จะดูทำไม งานผมเยอะแยะ ไม่มีเวลาว่างที่จะไปทำอะไรเท่าไร ไม่ใช่ไม่มีงาน หลายคนบอกนายกรัฐมนตรี ไม่มีงาน ไปดูแฟ้มผมสิบนโต๊ะ ส่วนราชการทำงานกันทุกหน่วย แฟ้มเอกสาร 50 – 60 แฟ้มทุกวัน มาบอกผมไม่มีงาน ไม่มีราชการได้ยังไง ไม่เข้าใจ”

    “ให้รู้ว่าการเป็นรัฐบาลเขาทำงานอะไรกันบ้าง ลงพื้นที่ ออกไปเยี่ยมเยียน ติดตามความก้าวหน้า ก็ต้องรันงานเอกสารให้จบด้วย ไม่งั้นมันไปไม่ได้ ทุกกระทรวงเสนอมาเพื่อพิจารณาตั้งเยอะตั้งแยะ แต่เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณใหม่เราทำไม่ได้ตามกติกาของ กกต. ทำอะไรก็ต้องขอเขา โครงการเริ่มต้นใหม่ไม่ได้” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ผู้สื่อข่าวกำลังถามต่อถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แต่ยังไม่ทันจะพูดจบ พลเอกประยุทธ์ แทรกทันทีว่า “ไม่ทราบ ผมทราบแต่เพียงว่าลาไปในตอนแรก อันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน จริงๆ แล้วเขาไปงานประชุมเกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุขด้วย ก็คงแวะไปพักผ่อนของท่าน มีสิทธิอยู่แล้ว”

    เมื่อถามอยากให้สถานการณ์การเมืองจบเร็วไหม พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็ถามประชาชนแล้วกัน ถามผม ผมก็ตอบไม่ได้ ผมบอกแล้วผมไม่ยุ่งเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล การพูดคุยเป็นเรื่องของเขา”

    เตือน “ก้าวไกล” ยังไม่เป็นรัฐบาล ไม่ควรเรียกข้อมูลส่วนราชการ

    ถามว่า พรรคก้าวไกลจะตั้งทรานซีชั่นทีม เพื่อรับงานต่อจากรัฐบาล และขอข้อมูลกับส่วนราชการได้หรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่ควร สถานการณ์ยังอยู่กับรัฐบาลปัจจุบัน วันหน้าเป็นเรื่องของท่าน เขาก็เตรียมข้อมูลส่งมอบให้ ผมก็ย้ำไปแล้ว ทุกกระทรวงต้องมีแผนงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินงานไปแล้ว อะไรยังค้างอยู่ก็ต้องให้รัฐบาลใหม่รับทราบ จะได้ไม่มีปัญหากัน”

    พลเอกประยุทธ์ ตอบคำถามว่ารู้สึกอย่างไรที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีซ้อน เพราะปฏิบัติเหมือนนายกรัฐมนตรี ว่า “ไม่รู้สึก ไม่รู้สึก” จากนั้นผู้สื่อข่าวถามต่อ แต่ยังไม่ทันพูดจบ พลเอกประยุทธ์ รีบย้ำว่า “ไม่รู้สึก”

    เมื่อถามอีกว่า มองอย่างไรที่คุณพิธา แต่ยังไม่ทันจบประโยค พลเอกประยุทธ์ แทรกว่า “ไม่มอง ไม่ได้มอง ผมไม่ไปสร้างความขัดแย้งกับใคร ผมบอกเลย เข้าใจไหม กติกาประชาธิปไตยก็ว่ากันไป”

    สุดท้าย ถามถึง MOU ที่ระบุเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่ทราบ ไม่ทราบ ทำได้-ไม่ได้ ก็แล้วแต่ท่าน ถ้าได้เป็นก็ทำให้ได้ก็แล้วกัน พอแล้ว”

    เผยหนี้ครัวเรือน/GDP ยังทรงตัวอยู่ที่ 86.9%

    ด้านนายอนุชา รายงานว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ นายกรัฐมนตรี พูดถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาส 1/2566 และภาวะสังคมไทยว่า เรื่องการจ้างงานในประเทศว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นที่ 2.4% ตามการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานภาคการเกษตร และนอกภาคการเกษตร ส่วนหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 4/2565 เพิ่มขึ้น 3.5% โดยหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 86.9% ต่อจีดีพี เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ยังทรงตัว

    นอกจากนั้น การเบิกจ่ายเป็นอัตราการเบิกจ่าย ปัจจุบันสิ้นเดือนเมษายน 2566 เป็นจำนวนคิดเป็นอัตรา 109% ของแผนการเบิกจ่าย เป็นส่วนของงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 43 แห่ง อัตราเบิกจ่าย 35% ของกรอบงบลงทุนทั้งปี

    ปลื้มไม่มีจังหวัดไหนมี PM 2.5 เกินมาตรฐาน

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า PM2.5 รัฐบาลมีความยินดีที่ในปัจจุบันไม่มีจังหวัดใดมีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นผลจากฝนตก และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการลดการเผาการเกษตร ตลอดจนการดูแลจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้ทุกคนเข้าใจการดูแลสภาพสิ่งแวดล้อม

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ผ่อนผันแรงงาน 4 สัญชาติอยู่ไทยต่อไม่เกิน 13 ก.พ.ปี’68

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้

    1. เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา และเมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี

    • กลุ่มเป้าหมาย : คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูซา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 ธันวาคม 2565 และที่ครบกำหนด 4 ปี ระหว่างวันที่ 2 มกราคม 2566 – 31 กรกฎาคม 2566
    • แนวทางการดำเนินการ : ผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยใช้หนังสือเดินทาง หรือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ใบอนุญาตทำงาน หรือเอกสารตามที่กรมการจัดหางานกำหนดเป็นหลักฐานแสดงการผ่อนผัน ซึ่งระหว่างการผ่อนผันนี้ ให้นายจ้างรายเดิมหรือรายใหม่ที่ประสงค์ จะจ้างคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมาย ดำเนินการขออนุญาตนำคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายซึ่งได้รับการผ่อนผันเข้ามาทำงานตาม MOU ควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหมดอายุ หรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด สามารถเดินทางกลับประเทศได้ หรือ เมื่อครบกำหนดการผ่อนผันแล้วให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายเดินทางกลับประเทศต้นทางโดยไม่มีความผิด

    2. การขยายระยะเวลาจัดทำหนังสือเดินทาง หรือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราของคนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทาง หรือ เอกสารใช้แทน หนังสือเดินทาง และการตรวจลงตรา ได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

    • กลุ่มเป้าหมาย : คนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทาง หรือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือ ไม่สามารถประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566
    • แนวทางการดำเนินการ : ผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้ใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานฉบับเดิมเป็นหลักฐานการผ่อนผัน และเมื่อได้รับหนังสือเดินทาง หรือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางแล้ว ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตรา และตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ ได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

    อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว ให้กระทรวงแรงงานเสนอเรื่อง เพื่อพิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรี หรือ ปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีต่อไป

    ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวอย่างทั่วถึง และขั้นตอนการดำเนินการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานตามระบบ MOU รวมทั้งการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายคนเข้าเมือง และกฎหมายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สามสัญชาติ กัมพูชา ลาวและเมียนมา เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นการผ่อนผันให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าว กลุ่มเป้าหมาย ที่ต้องการทำงานต่อไป มีระยะเวลดำเนินการจัดทำเอกสารในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน โดยเมื่อคนต่างด้าวเดินทางกลับประเทศต้นทางแล้วจะสามารถเข้ามาทำงานได้ตาม MOU ครั้งใหม่ ทั้งยังเป็นการช่วยสนับสนุนนายจ้าง สถานประกอบการที่ยังต้องการจ้างแรงงานเหล่านั้นต่อ โดยแรงงานยังอยู่ในกำกับและการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับระบบเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลายและกันและยังเป็นประโยชน์เป็นผลให้คนงานต่างด้าวหลับได้รับการทำงานได้รับการจัดงานโดยถูกต้องตามกฎหมายต่อไปโดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการแก้ปัญหาการจัดการแรงงานต่างด้าวครั้งนี้ว่า เป็นไปตามภายใต้กรอบระยะของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

    ชง กกต.เคาะยืม ธ.ก.ส. 3,133 ล้าน จ่ายชาวสวนปาล์ม

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 โดยมีพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น ประธานในการประชุม ได้ทบทวนและพิจารณา และมีมติเห็นชอบดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2566 และโครงการประกันรายได้ เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2565-2566 จากการคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตอาจได้มากกว่าความต้องการใช้ในแต่ละเดือน เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของราคาและกระทบต่อรายได้ สรุปรายละเอียด ดังนี้

    1. โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2566

      (1) วัตถุประสงค์ : เพื่อลดปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกินในประเทศให้เข้าสู่ระดับสมดุล และยกระดับราคาปาล์มทะลายที่เกษตรกรขายให้สูงขึ้น
      (2) การดำเนินโครงการ สนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออกเฉพาะปาล์มน้ำมันดิบ 150,000 ตัน เช่น ค่าขนส่ง ค่าคลังจัดเก็บ และค่าปรับปรุง โดยมีเงื่อนไขการสนับสนุนค่าบริหารจัดการส่งออก เมื่อระดับสต็อก น้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหาร จัดการมีความยืดหยุ่นและทันต่อเหตุการณ์ เห็นควรกำหนดให้ เงื่อนไขระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบขั้นต่ำไว้ที่ 250,000 ตัน และให้คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เป็นผู้มีอํานาจในการพิจารณา
      (3) งบประมาณและแหล่งงบประมาณ : 309 ล้านบาท (งบกลางฯ) แบ่งเป็น ค่าบริหารจัดการให้แก่ผู้ส่งออกตามโครงการ ปริมาณ 150,000 ตัน อัตรากิโลกรัมละ 2 บาท รวมเป็น 300 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของส่วนราชการ 9 ล้านบาท (ไม่เกินร้อยละ 3 ของวงเงินดำเนินการ)
      (4) ระยะเวลาดำเนินการ ระยะเวลาส่งออก ตั้งแต่ได้รับการอนุมัติ-กันยายน 2566 โดยระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ได้รับการอนุมัติ-ธันวาคม 2566

    2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2565-2566

      (1) วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือด้านรายได้ของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากปัญหาผลผลิตล้นตลาด และราคาผลผลิตตกต่ำ
      (2) การดำเนินโครงการ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในกรณีที่ราคาขายปาล์มน้ำมัน ในประเทศตกต่ำผ่านการประกันราคาปาล์มน้ำมัน (ผลปาล์มทะลาย อัตราน้ำมันร้อยละ18) ราคา กก. ละ 4 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ และต้องเป็นพื้นที่ปลูกต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้ว โดยจะจ่ายเงินชดเชย ส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาตลาดอ้างอิงให้แก่เกษตรกร ทุก 30 วัน
      (3) งบประมาณและแหล่งงบประมาณ : 3,133.17 ล้านบาท (ธ.ก.ส. สํารองจ่ายจากแหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. และขอรับจัดสรรงบฯ ประจำปี เพื่อให้รัฐบาลชําระคืนตามที่เกิดขึ้นจริง) แบ่งเป็น วงเงินชดเชยส่วนต่างรายได้ 3,075.00 ล้านบาท และวงเงินบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. 58.17 ล้านบาท
      (4) ระยะเวลาดำเนินการ ระยะเวลาการจ่ายเงิน เดือน กันยายน 2565 – สิงหาคม 2566 โดยระยะเวลาโครงการ เดือน กันยายน 2565 – ธ.ก.ส. ได้รับการชดเชยงบฯ ตามที่ทดรองจ่าย

    ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือ บุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใด ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 รวมถึงพิจารณากรอบวงเงินงบฯ ตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วย

    นอกจากนี้ ที่ประชุม กปน. ยังหารือถึงแนวทางการจัดทำโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพราะเดิมราคาปาล์มน้ำมัน ซึ่งยังไม่มีการกำหนดโครงสร้างราคาที่แน่นอน ใช้อ้างอิงจากราคาของความต้องการในตลาด (Demand-Supply) ซึ่งมีความผันผวนไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ ของราคาน้ำมันปาล์มและรายได้ของเกษตรกร จึงมอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สนับสนุนทุน เพื่อศึกษาสมการโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้ง พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน รวมทั้งให้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ยกร่างคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานร่วมภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรในจำนวนที่เท่าเทียมกัน เสนอประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติพิจารณา

    กฟน.แจงย้ายสายไฟฟ้าลงดินแล้ว 62 กม.

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปี 2565 ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565 โดย กฟน. มีแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ กฟน. ดูแลและรับผิดชอบระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรีและสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กม. กรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2570 สรุปดังนี้

    1. แผนงาน/โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 62.0 กม. ได้แก่

      1.1 แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าฯ โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา (16.2 กม.)
      1.2 แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายไฟฟ้าฯ โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท (24.4 กม.)
      1.3 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินฯ โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) และโครงการนนทรี (14.3 กม.)
      1.4 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ในโครงการรอบพระตําหนักจิตรลดารโหฐาน (7.1 กม.)

    2. แผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 174.1 กิโลเมตร ดังนี้

      2.1 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ระยะทางรวม 25.2 กม. มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2567 ได้แก่ โครงการพระราม 3 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 80.68 จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 82.70
      2.2 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินรัชดาภิเษก ระยะทางรวม 22.5 กม. มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2568 ได้แก่ โครงการรัชดาภิเษก-อโศก และโครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 34.26 จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 44.00

    3. แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะทางรวม 127.3 กม. อยู่ระหว่างดำเนินการ 120.2 กม. มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2568 ได้แก่ (1) โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน (2) โครงการในพื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่าง สถานีไฟฟ้าต้นทาง และ (3) โครงการในพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น ตามแนวรถไฟฟ้า สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีน้ำเงิน สายสีเขียวเหนือ สายสีเขียวใต้ สายสีส้ม สายสีเขียวส่วนต่อขยาย สายสีม่วง โดยอยู่ระหว่าง จัดหาผู้รับจ้าง และการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 43.24 จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 45.49

    4. แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด ระยะทางรวม 20.5 กม. มีกำหนดการแล้วเสร็จ ปี 2570 ได้แก่ (1) โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ.รัตนาธิเบศร์ (ถ.ราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก) (2) โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ.กรุงเทพ-นนทบุรี ถึง ถ. ติวานนท์ และ (3) โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถ. สุขุมวิท (ซ. สุขุมวิท 81 -ซ. สุขุมวิท 107) โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 21.88 จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 24.73

    ทั้งนี้ กฟน. ได้วางแผนการเบิกจ่ายเงินในปี 2565 จำนวนเงิน 4,576.39 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2565 ได้มีการเบิกจ่ายเงินรวม 3,228.44 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70.55 ของแผนการเบิกจ่าย ซึ่งจัดเร่งรัดดำเนินการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือโดยเร็วต่อไป

    อย่างไรก็ตาม กฟน. ได้รายงานปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ ฯ พร้อมแนวทางแก้ไข มีดังนี้

      1. การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดเนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเมือง ซึ่งมีโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคเดิมเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องแก้ไขและเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ จึงทำให้เกิดความล่าช้า
      2. ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีปริมาณมากขึ้น เป็นผลให้ต้องมีการปรับแบบการก่อสร้างเพื่อรองรับ การจ่ายไฟฟ้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น
      3. ปัญหาการจัดชื้อจัดจ้างในการดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคไม่เป็นไปตามแผน

    ทั้งนี้ กฟน. ได้พิจารณาร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อ-ปรับแผนดำเนินการโดยเร่งรัดระยะเวลา ในการก่อสร้างให้เร็วยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน

    รับทราบสัดส่วนหนี้สาธารณะทุกตัวอยู่ในกรอบวินัยการคลัง

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 หนี้สาธารณะมียอดคงค้างอยู่ที่ 10.79 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 61.23% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเอาไว้ไม่เกิน 70% โดยสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะต่อประมาณการรายได้อยู่ที่ 30.91% , หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 1.63% และภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 0.05%

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ได้รายงานว่าจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะสั้น ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้จัดทำงบประมาณปี 2567 เกิดความล่าช้าได้

    เห็นชอบหลักสูตรพัฒนาบุคลากรยุติธรรมในระดับอุดมศึกษา

    น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เสนอ ครม. พิจารณาปรับปรุงมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่องแนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม : การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้มีความรู้ ความสามารถ คุณธรรมและจิตสานึกที่ดีในการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาบุคลากรและเผยแพร่องค์ความรู้ในงานยุติธรรมของแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2558-2561

    น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า หลังจากที่มีมติ ครม. ดังกล่าว สนง.กิจการยุติธรรม ในฐานะฝ่ายเลขาฯ กพยช. ได้ดำเนินการติดตามผลการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ตั้งแต่ปีงบฯ 2561-2564 สรุปได้ว่ามีสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 10 แห่ง จาก 117 แห่ง ที่สามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคหลายประการ โดยสถาบันอุดมศึกษาที่เหลือที่ยังไม่สามารถบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในหมวดวิชาบังคับ (ตามมติ ครม. 4 มกราคม 2560) จึงได้เลือกดำเนินการในรูปแบบอื่น ๆ แทน ต่อมา กพยช. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/65 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 จึงได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถปฏิบัติตามนัยมติ ครม. ดังกล่าวได้ ดังนี้

      1. ให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สามารถเลือกพิจารณาบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมตามมติ ครม. (4 มกราคม 2560) ไว้ในหมวดวิชาบังคับ หมวดวิชาเฉพาะ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป หรือหมวดวิชาเลือกเสรี
      2. นำประมวลรายวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรม ตามมติ ครม. ดังกล่าวไปสอดแทรกในรายวิชาที่มีการเรียนการสอนอยู่แล้วในหมวดวิชาบังคับ หมวดวิชาเฉพาะ หรือหมวดวิชาอื่น ๆ
      3. ให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ประกาศเป็นนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชาดังกล่าวดำเนินการตามมติ ครม. และติดตามผลการดำเนินงาน การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และให้สอบถามความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค การดำเนินงาน
      4. ให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ รายงานความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคของการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้รับทราบทุกปีงบฯ โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. หารือวิธีการรายงานผลการดำเนินงานตามมติ ครม. ดังกล่าวร่วมกับสำนักงานกิจการยุติธรรม

    “การปรับปรุงมติ ครม. (4 มกราคม 2560) จะส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนในสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มีความยืดหยุ่นในการพิจารณาดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรไว้ในหมวดวิชาต่าง ๆ ได้นอกเหนือจาก หมวดวิชาบังคับ โดยยังคงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมติ ครม. ควรให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนในหมวดวิชาดังกล่าว ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในสถาบันการศึกษาทุกแห่งด้วย จึงเห็นควรให้ กพยช. , อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทาง/มาตรการที่จะสามารถเตรียมความพร้อมรองรับการผลิตบุคลากรก่อนเข้าสู่สายงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” น.ส.ทิพานัน กล่าว

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เพิ่มเติม