ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > Fitch Ratings:ปัจจัยทางการเมืองและการคลังยังคงเป็นความเสี่ยงด้านเครดิตสำคัญของไทย

Fitch Ratings:ปัจจัยทางการเมืองและการคลังยังคงเป็นความเสี่ยงด้านเครดิตสำคัญของไทย

26 สิงหาคม 2023


เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์เรทติ้งส์(Fitch Ratings) ฮ่องกงเผยแพร่บทวิเคราะห์ว่า การให้ความเห็นชอบของรัฐสภาและพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทยได้ขจัดความไม่แน่นอนทางการเมืองในด้านหนึ่งออกไป แต่…

รัฐบาลผสมชุดใหม่จะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงทางการเมืองด้านอื่นๆ แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 กำลังอ่อนตัวลงท่ามกลางอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาครัฐ ทำให้เกิดความท้าทายสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ ในขณะที่การประกาศกรอบนโยบายที่จะมีการใช้จ่ายเงินของพรรคเพื่อไทยอาจทำให้การปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล (fiscal consolidation)ทำได้ยาก

รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทยมาจาก 11 พรรค โดยมีที่นั่งรวมกัน 314 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 คนในสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมรัฐบาลนี้มีมุมมองทางการเมืองที่กว้างและหลากหลาย รวมทั้งมีพรรคอนุรักษ์นิยมหลายพรรค เช่น พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลผสมที่กำลังจะสิ้นสุดการทำหน้าที่ ซึ่งมีความขัดแย้งและมีการเผชิญหน้ากับพรรคเพื่อไทย

การรวมพรรคต่างๆ เข้าด้วยกัน จะมีส่วนช่วยในการกำหนดนโยบายที่เห็นชอบร่วมกัน และลดความเสี่ยงของความท้าทายต่อการบริหารงานจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตาม…

การให้ความสำคัญที่แตกต่างกันระหว่างพรรคที่อยู่ในรัฐบาลผสมอาจทำให้การกำหนดนโยบายยุ่งยากเช่นกัน การรักษาสมดุลระหว่างกลุ่มกำลังที่หลากหลายภายในรัฐบาลผสมอาจต้องแลกมาด้วยประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบาย

พรรคก้าวไกล ถูกตัดออกจากการเข้าร่วมรัฐบาลผสม แม้ว่าจะคว้าที่นั่งมากกว่าพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ก็ตาม “การคาดการณ์ในกรณีฐานของเรามองว่าการประท้วงจากผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลหรือพรรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล จะเป็นการประท้วงขนาดเล็กและจะไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ” เช่น ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว หรือทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง

ในการคงอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ ‘BBB+’/มีเสถียรภาพเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ฟิทช์ เรทติ้งส์ระบุว่า การชะงักงันทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นในระดับที่มากพอที่จะกระทบประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทย และแนวโน้มการเติบโตของประเทศไทยอาจเป็นปัจจัยต่อการปรับลดอันดับเครดิต

การมีรัฐบาลใหม่น่าจะช่วยให้กฎหมายเศรษฐกิจที่สำคัญมีความคืบหน้า อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดทำงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2567 สิ้นสุดเดือนกันยายน 2567 อาจมีความล่าช้าบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายบริหารจะใช้เวลานานแค่ไหนในการเข้ารับตำแหน่งและทบทวนงบประมาณปี 2567 ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีชุดก่อนในเดือนมกราคม 2566 ความล่าช้าอย่างมีนัยสำคัญอาจมีผลให้ชะลอการเบิกจ่ายเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนใหม่ แม้ฟิทช์เรทติ้งส์เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในงบประมาณปัจจุบันน้อยก็ตาม

“เราคาดว่าค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมและมาตรการอื่นๆ ที่พรรคเพื่อไทย และพันธมิตรแนวร่วมสนับสนุนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล”

พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะแจกเงินสดดิจิทัลในวงกว้าง โดยมีค่าใช้จ่ายครั้งเดียวจำนวน 560 พันล้านบาท (ประมาณ 2.9% ของ GDP) การใช้จ่ายด้านสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุมูลค่า 300 พันล้านบาท (1.6% ของ GDP) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมาตรการเพื่อเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและ รายได้เกษตรกรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ประเทศไทยเติบโต 5% ต่อปี

ฟิทช์ไม่ได้นำกรอบนโยบายที่ได้ประกาศในการหาเสียงทั้งหมด มาใช้ในการคาดการณ์การใช้จ่ายของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 และปีต่อๆ ไป การดำเนินการดังกล่าวอาจสร้างแรงกดดันต่ออัตราส่วนหนี้สาธารณะโดยรวมต่อ GDP ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหากการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เร่งตัวตามแผนที่วางไว้

กรณีฐานของเราคาดว่าอัตราส่วนหนี้สาธารณะจะทรงตัวในระยะกลาง แต่ฐานะการคลังที่แย่ลงยืดเยื้อเป็นเวลานาน อาจเป็นแรงกดดันต่ออันดับเครดิตของประเทศให้ลดลงได้ในที่สุด

การใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นสามารถชดเชยอุปสรรคบางประการที่เศรษฐกิจเผชิญในระยะสั้น ในการคงอันดับเครดิตของประเทศไทยเดือนกรกฎาคม เราคาดการณ์ว่าการเติบโตจะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.7% ในปี 2566 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง แต่ความเสี่ยงด้านลบของการคาดการณ์กลับเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องน่าจะสนับสนุนการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 และปี 2567 ต่อไป