ThaiPublica > เกาะกระแส > Fitch Ratings ลดเรตติ้งสหรัฐมาที่ AA+ แนวโน้มการคลังถดถอย ธรรมาภิบาลเสื่อม ‘เยลเลน’ ไม่เห็นด้วย

Fitch Ratings ลดเรตติ้งสหรัฐมาที่ AA+ แนวโน้มการคลังถดถอย ธรรมาภิบาลเสื่อม ‘เยลเลน’ ไม่เห็นด้วย

2 สิงหาคม 2023


ฟิทช์ เรทติ้งส์(Fitch Ratings) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ(Foreign Currency Long-Term Issuer Default Rating-IDR ) ของสหรัฐอเมริกาเป็น ‘AA+’ จาก ‘AAA’ โดยมุมมองที่มีเสถียรภาพ(Stable Outlook) จากเดิมที่มีเครดิตพินิจเป็นลบ(Rating Watch Negative) และคงระดับเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) ไว้ที่ ‘AAA’

ฟิทช์ เรทติ้งส์ให้รายละเอียดของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อไว้ดังนี้

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ

การปรับลดอันดับเครดิต: การปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐฯ สะท้อนการคาดการณ์ถึงการถดถอยทางการคลังไว้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ภาระหนี้ภาครัฐโดยรวมที่สูงและเพิ่มมากขึ้น และธรรมาภิบาลที่ถูกกัดกร่อนเมื่อเทียบกับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ ‘AA’ และ ‘AAA’ ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดจากความขัดแย้งด้านเพดานหนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกและมีการแก้ปัญหาในนาทีสุดท้าย

ธรรมาภิบาลเสื่อม: ในมุมมองของฟิทช์ มาตรฐานธรรมาภิบาลเสื่อมลงอย่างต่อเนื่องในในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงประเด็นทางการคลังและหนี้สิน แม้จะมีข้อตกลงสองฝ่ายในเดือนมิถุนายนที่จะระงับวงเงินหนี้จนถึงเดือนมกราคม 2568 ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำซากและการลงมติในนาทีสุดท้ายได้บั่นทอนความเชื่อมั่นในการบริหารการคลัง นอกจากนี้ รัฐบาลยังขาดกรอบการคลังระยะกลาง ซึ่งต่างจากประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ และมีกระบวนการจัดทำงบประมาณที่ซับซ้อน ปัจจัยเหล่านี้ เมื่อประกอบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจหลายอย่าง ตลอดจนการลดภาษีและการริเริ่มการใช้จ่ายใหม่ๆ มีส่วนทำให้หนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความคืบหน้าในการจัดการกับความท้าทายระยะกลางที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายประกันสังคมและค่าประกันสุขภาพของรัฐบาลมีจำกัด เป็นผลจากประชากรสูงอายุ

การขาดดุลของภาครัฐบาลเพิ่มขึ้น: “เราคาดว่าการขาดดุลของภาครัฐบาล (General government-GG) จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.3% ของ GDP ในปี 2566 จาก 3.7% ในปี 2565 ซึ่งสะท้อนถึงรายได้ของรัฐบาลกลางที่ลดลงตามวัฏจักร การริเริ่มการใช้จ่ายใหม่ และภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลระดับรัฐและท้องถิ่นคาดว่าจะขาดดุลโดยรวมที่ 0.6% ของ GDP ในปีนี้ หลังจากที่เกินดุลเล็กน้อยที่ 0.2% ของ GDP ในปี 2565 การปรับลดการใช้จ่ายในโครงการต่างๆที่ไม่ใช่รายจ่ายประจำและไม่ใช่เพื่อการป้องกันประเทศ(15% ของการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางทั้งหมด) ตามที่ตกลงกัน ในพ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางการคลัง (Fiscal Responsibility Act) มีผลให้แนวโน้มการคลังระยะกลางดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีเงินออมสะสม 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (3.9% ของ GDP) ภายในปี 2576 ตามรายงานของสำนักงานงบประมาณแห่งชาติสหรัฐฯ(Congressional Budget Office-CBO) ผลกระทบในระยะสั้นของกฎหมายนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 70 พันล้านเหรียญสหรัฐ (0.3% ของ GDP) ในปี 2567 และ 112 พันล้านเหรียญสหรัฐ (0.4% ของ GDP) ในปี 2568 ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังอย่างจริงจังเพิ่มเติมก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2567”

ฟิทช์คาดการณ์ว่าภาครัฐบาลจะขาดดุล 6.6% ของ GDP ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 6.9% ของ GDP ในปี 2568 การขาดดุลที่สูงขึ้นจะมาจาก GDP ที่เติบโตน้อยลงในปี 2567 ภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการขาดดุลของรัฐบาลระดับรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นที่มากขึ้นเป็น 1.2% ของ GDP ในปี 2567-2568 (สอดคล้องกับค่าเฉลี่ย 20 ปีย้อนหลัง) สัดส่วนดอกเบี้ยต่อรายได้คาดว่าจะสูงถึง 10% ภายในปี 2568 (เทียบกับ 2.8% สำหรับค่ามัธยฐานของอันดับความน่าเชื่อถือระดับ ‘AA’ และ 1% สำหรับค่ามัธยฐานของอันดับความน่าเชื่อถือระดับ ‘AAA’) เป็นผลจากระดับหนี้ที่สูงขึ้นรวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับระดับก่อนการระบาด

หนี้ภาครัฐจะเพิ่มขึ้น: การขาดดุลที่ลดลงและ GDP ที่เติบโตสูงทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ลดลงในช่วงสองปีที่ผ่านมาจากการระบาดของโรคที่สูงถึง 122.3% ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ที่ 112.9% ในปีนี้ยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2562 ที่ 100.1% สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของภาครัฐบาลคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาคาดการณ์ โดยสูงถึง 118.4% ภายในปี 2568 สัดส่วนหนี้สินสูงกว่าค่ามัธยฐานของอันดับความน่าเชื่อถือระดับ ‘AAA’ ที่ 39.3% ของ GDP ถึง 2 เท่าครึ่ง และสูงกว่าค่ามัธยฐานของอันดับความน่าเชื่อถือระดับ ‘ AA’ ที่ 44.7% ของ GDP การคาดการณ์ระยะยาวของ Fitch มองว่าหนี้ต่อ GDP จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของฐานะการคลังของสหรัฐฯ จากภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (Economic Shock)ในอนาคต

ความท้าทายทางการคลังระยะกลางที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข: ในทศวรรษหน้า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและหนี้คงค้างที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มภาระการชำระดอกเบี้ย ในขณะที่ประชากรสูงอายุและค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นจะทำให้การใช้จ่ายสำหรับผู้สูงอายุสูงขึ้น จากการที่ไม่มีการปฏิรูปนโยบายการคลัง CBO คาดการณ์ว่าต้นทุนดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2576 เป็น 3.6% ของ GDP และ CBO ยังประเมินว่าการใช้จ่ายที่ถูกกำหนดไว้แล้วโดยกฎหมายด้านสุขภาพและประกันสังคมจะเพิ่มขึ้น 1.5% ของ GDP ในช่วงเวลาเดียวกัน CBO คาดการณ์ว่ากองทุนประกันสังคมจะหมดลงภายในปี 2576 และกองทุน Hospital Insurance Trust Fund จะหมดลงภายในปี 2578 ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ก่อให้เกิดความท้าทายเพิ่มเติมสำหรับแนวโน้มทางการคลัง เว้นแต่จะมีมาตรการดำเนินการแก้ไขอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ การลดภาษีในปี 2560 มีกำหนดจะสิ้นสุดลงในปี 2568 แต่มีแนวโน้มว่าจะมีแรงกดดันทางการเมืองให้ลดภาษีอย่างถาวรดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ส่งผลให้ประมาณการการขาดดุลสูงขึ้น

จุดแข็งที่โดดเด่นหนุนอันดับ: จุดแข็งเชิงโครงสร้างหลายอย่างสนับสนุนการจัดอันดับของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีความก้าวหน้า มีความหลากหลายและเป็นประเทศรายได้สูง ซึ่งเป็นผลจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่ง ที่สำคัญเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินสำรองที่สำคัญของโลก ซึ่งทำให้รัฐบาลมีความยืดหยุ่นทางการเงินเป็นพิเศษ

เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย: จากการคาดการณ์ของฟิทช์ การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น การลงทุนของธุรกิจที่ลดลง และการบริโภคที่ชะลอตัวจะผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อยในไตรมาส 4 ปี 2566 และ ไตรมาส 1 ปี 2567 และยังมองว่าการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงประจำปีของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงเหลือ 1.2% ในปีนี้จาก 2.1% ในปี 2565 และมีการเติบโตโดยรวมเพียง 0.5% ในปี 2567 ตำแหน่งงานว่างยังคงสูงขึ้น และอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ซึ่งอาจส่งผลลบต่อศักยภาพการเติบโตในระยะกลาง

นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด: เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม และกรกฎาคม 2566 ฟิทช์คาดว่าจะปรับขึ้นอีกหนึ่งครั้งเป็น 5.5% ถึง 5.75% ภายในเดือนกันยายน ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานทำให้เป้าหมายของเฟดที่จะดึงอัตราเงินเฟ้อลงไปอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2% ยากกว่าเดิม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเหลือ 3% ในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อ PCE พื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดที่เฟดให้ความสำคัญยังคงอยู่ที่ 4.1% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงิน Fed Funn Rate จนถึงเดือนมีนาคม 2567 นอกจากนี้ เฟดยังคงเดินหน้าลดการถือครองตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นหลักประกันการจำนอง(mortgage backed-securities) และพันธบัตรกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งยิ่งทำให้ภาวะการเงินตึงตัวยิ่งขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม สินทรัพย์เหล่านี้ในงบดุลของเฟดได้ลดลงกว่า 500 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566

ESG – Governance: สหรัฐอเมริกาได้คะแนน ESG Relevance Score (RS) ‘5’ สำหรับเสถียรภาพและสิทธิทางการเมือง และได้ ‘5[+]’ สำหรับหลักนิติธรรม สถาบันและคุณภาพของการควบคุม และการควบคุมปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ คะแนนเหล่านี้สะท้อนถึงน้ำหนักที่สูงของดัชนีชี้วัดธรรมาภิบาลของธนาคารโลก (World Bank Governance Indicators – WBGI) ที่อยู่ในแบบจำลองอันดับเครดิตองค์กรของฟิทช์ สหรัฐอเมริกามีอันดับ WBGI สูงที่ 79 ซึ่งสะท้อนถึงสิทธิที่เป็นที่ยอมรับในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง ความสามารถทางสถาบันที่แข็งแกร่ง หลักนิติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และการคอร์รัปชันในระดับต่ำ

เพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ

เพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศสำหรับสหรัฐอเมริกาคือ ‘AAA’ ซึ่งสูงกว่า IDR สกุลเงินต่างประเทศระยะยาว 1 ขั้น และอยู่ที่ระดับบนสุดของการประเมินคะแนน ฟิทช์มองว่าการลดความเสี่ยงของการแลกเปลี่ยนและการควบคุมเงินทุนที่ใช้อยู่ จะป้องกันหรือชะลอภาคเอกชนอย่างมาก ในการแปลงสกุลเงินท้องถิ่นเป็นสกุลเงินต่างประเทศและโอนเงินที่ได้รับไปยังเจ้าหนี้ที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเพื่อชำระหนี้ แบบจำลอง Country Ceiling Model ของฟิทช์ให้ผลว่ามีจุดเริ่มต้น 1 ขั้นเหนือ IDR และคณะกรรมการจัดอันดับของฟิทช์ไม่ได้ใช้การปรับเชิงคุณภาพกับผลลัพธ์ของแบบจำลอง

สถาบันจัดอันดับรายที่สองที่ลดเรทติ้ง

ในเดือนพฤษภาคมฟิทช์ระบุความเป็นไปได้ของการปรับลดอันดับเครดิตเป็นครั้งแรก จากนั้นได้คงสถานะเดิมในเดือนมิถุนายนหลังจากวิกฤติเพดานหนี้ได้รับการแก้ไข โดยกล่าวว่าบริษัทตั้งใจที่จะสรุปผลการพิจารณาในไตรมาสที่สามของปีนี้

จากการปรับลดอันดับครั้งนี้ บริษัทจึงเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลักแห่งที่สองรองจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส( Standard & Poor’s) ที่ถอดเรทติ้ง AAA ของสหรัฐฯออก

การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของฟิทช์มีขึ้น 2 เดือนหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตและสภาผู้แทนราษฎรที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก บรรลุข้อตกลงเพดานหนี้ที่ขยายวงเงินกู้ยืมของรัฐบาลที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ และยุติปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาหลายเดือน

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ที่มาภาพ:https://www.insurancejournal.com/news/national/2023/08/01/732976.htm

เยลเลนไม่เห็นด้วย

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดอันดับเครดิตของฟิทช์ ในแถลงการณ์ระบุว่าการปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าวว่า “การตัดสินอย่างไร้เหตุผลและอ้างอิงจากข้อมูลที่ล้าสมัย”

นางเยลเลน ออกแถลงการณ์โดยมีข้อความว่า

“ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของฟิทช์ เรทติ้งส์ การปรับเปลี่ยนโดยฟิทช์ เรทติ้งส์ ที่ประกาศในวันนี้ เป็นการปรับเปลี่ยนโดยไร้เหตุผลและอิงข้อมูลที่ล้าสมัย โมเดลการให้คะแนนเชิงปริมาณของฟิทช์ ลดลงอย่างชัดเจนระหว่างปี 2561-2563 และถึงกระนั้นฟิทช์ ก็ยังประกาศการปรับเปลี่ยนในช่วงนี้ แม้เราจะมีความคืบหน้าในตัวบ่งชี้หลายตัวที่ฟิทช์ใช้ในการพิจารณาก็ตาม มาตรการเหล่านี้หลายมาตรการ รวมทั้งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาล ได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ดีขึ้นตลอดมาตามที่คณะบริหารชุดนี้ทำหน้าที่ ด้วยการผ่านกฎหมายของสองฝ่ายเพื่อจัดการกับวงเงินกู้ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และลงทุนอื่น ๆ เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอเมริกา

การตัดสินใจของฟิทช์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ชาวอเมริกัน นักลงทุน และผู้คนทั่วโลกทราบดีอยู่แล้วว่า พันธบัตรของรัฐบาลยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเศรษฐกิจของอเมริกามีความแข็งแกร่งโดยพื้นฐาน

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วเป็นประวัติการณ์จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก ปัจจุบันอัตราว่างงานใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างมากตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว และรายงาน GDP ของสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจอเมริกันยังคงเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและมีพลวัตมากที่สุดในโลก โดยมีตลาดการเงินที่ลึกที่สุดและมีสภาพคล่องมากที่สุดในโลก ในการต่อยอดจากสิ่งนี้ ประธานาธิบดีไบเดนและข้าพเจ้าได้มุ่งเน้นไปที่การลงทุนที่สำคัญ ในจุดแข็งหลักทางเศรษฐกิจและความสามารถในการผลิตของประเทศของเรา”

“ประธานาธิบดีไบเดนและข้าพเจ้ามุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนทางการคลัง กฎหมายเพดานหนี้ฉบับล่าสุดรวมถึงการลดการขาดดุลกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์และยกระดับแนวโน้มทางการคลังของเรา มองไปข้างหน้า ประธานาธิบดีไบเดนได้เสนองบประมาณที่จะลดการขาดดุลลง 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้าผ่านแนวทางที่สมดุลซึ่งจะสนับสนุนการลงทุนในระยะยาว”

จุดอ่อนชื่อเสียงเรื่องงัดข้อเพดานหนี้

บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของฟิทช์แสดงให้เห็นถึงผลต่อชื่อเสียงของสหรัฐฯ จากการโต้เถียงถกเถียงกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับเพดานหนี้ ซึ่งผลักดันให้ประเทศเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระในเดือนพฤษภาคม

สตีเวน ริกชิวโท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Mizuho Securities USA กล่าวว่า “การลดอันดับนี้บอกโดยทั่วไปว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นปัญหา”

ไมเคิล ชูลแมน ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Running Point Capital Advisors กล่าวว่า “ภาพรวมของสหรัฐจะถูกมองว่าแข็งแกร่ง แต่ผมคิดว่าเกราะกำบังของเรายังมีช่องโหว่อยู่เล็กน้อย”

“มันเป็นจุดอ่อนต่อชื่อเสียงและจุดยืนของสหรัฐฯ”

เจสัน แวร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Albion Financial Group กล่าวว่า “ไม่คิดว่าจะนักลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีกลยุทธ์การลงทุนระยะยาวบอกว่าควรขายหุ้น เพราะฟิทช์ปรับลดจาก AAA เป็น AA+”

นักลงทุนใช้อันดับเครดิตเพื่อประเมินความเสี่ยงของบริษัทและรัฐบาลเมื่อพวกเขาระดมเงินทุนในตลาดตราสารหนี้ โดยทั่วไป ยิ่งผู้กู้มีคะแนนต่ำเท่าใด ต้นทุนทางการเงินก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น

คีธ เลอร์เนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนร่วมของ Truist Advisory Services ในแอตแลนตากล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง สำหรับผลกระทบต่อตลาด ตอนนี้ยังไม่แน่นอน ตลาดอยู่ในจุดที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อข่าวร้าย”

ผลกระทบจำกัด

ในวิกฤติเพดานหนี้ครั้งก่อนในปี 2554 บริษัทสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ได้ลดอันดับเครดิตสูงสุด “AAA” ลงหนึ่งขั้นภายในไม่กี่วันหลังจากบรรลุข้อตกลงเพดานหนี้ โดยชี้ถึงการแบ่งขั้วทางการเมืองและการดำเนินการที่ไม่มากพอที่จะปรับแนวโน้มทางการคลังของประเทศ การจัดอันดับยังคงเป็น “AA+” ซึ่งสูงเป็นอันดับสอง

หลังจากการปรับลดอันดับดังกล่าว หุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงและผลกระทบของการปรับลดอันดับเครดิตนั้นรับรู้ได้ทั่วทั้งตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งกำลังเผชิญภาวะวิกฤติทางการเงินของยูโรโซน

ในเดือนพฤษภาคม ฟิทช์จัดอันดับเครดิตหนี้ภาครัฐของสหรัฐฯ ที่ “AAA” และระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่่อถือ โดยอ้างถึงความเสี่ยงด้านต่ำ ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงสูงทางการเมืองและภาระหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น

รายงานของ Moody’s Analytics ในเดือนพฤษภาคมกล่าวว่า การปรับลดอันดับหนี้พันธบัตรรัฐบาลจะทำให้เกิดผลกระทบด้านเครดิตและการปรับลดอันดับหนี้จากสถาบันอื่นๆ หลายแห่ง

นักวิเคราะห์คนอื่นๆ ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับอีกครั้ง โดยสถาบันจัดอันดับรายใหญ่อาจส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนที่ถือหลักทรัพย์ที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุด

อย่างไรก็ตาม เอ็ด มิลลส์ นักวิเคราะห์ของ Raymond James กล่าวเมื่อวันอังคารว่า ไม่ได้คาดหวังว่าตลาดจะตอบสนองต่อข่าวดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

“ตามที่ผมเข้าใจคือ หลังจากการปรับลดของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ตราสารหนี้จำนวนมากได้รับการปรับใหม่เป็น ‘ระดับ A’ หรือ ‘การรับประกันโดยรัฐบาล’ ดังนั้นการรับประกันของรัฐบาลจึงมีความสำคัญมากกว่าการจัดอันดับของฟิทช์”