ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจดิจิทัล 20% ของ GDP ในปี 2568

ASEAN Roundup เวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจดิจิทัล 20% ของ GDP ในปี 2568

24 พฤศจิกายน 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 17-23 พฤศจิกายน 2567

  • เวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจดิจิทัล 20% ของ GDP ในปี 2568
  • ความครอบคลุม 5G มาเลเซียทะลุ 80% อินเทอร์เน็ตเกือบ 100%
  • กัมพูชาตั้งเป้าพลังงานสะอาด 70% ภายในปี 2573
  • ลาวเสริมมาตรการเข้มคุมเงินเฟ้อ
  • สปป.ลาวคาด GDP โต 4.6% ในปี 2567
  • ภาคการผลิตเมียนมาดึง FDI ได้ 81 ล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ

    เวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจดิจิทัล 20% ของ GDP ในปี 2568

    ที่มาภาพ: https://en.vneconomy.vn/transforming-challenges-into-opportunities-a-blueprint-for-business-development-in-vietnam-in-2024.htm
    เจือง ฮวา บินห์ รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ลงนามในคำสั่งเปิดแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลปี 2567-2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาสังคมดิจิทัลจนถึงปี 2568 โดยมีเป้าหมายสู่ปี 2573

    แผนดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเป็นรากฐานในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

    รัฐบาลมีเป้าหมายในการส่งเสริมความพร้อม การบูรณาการ และแบ่งปันฐานข้อมูลคุณภาพสูง ส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลและการกำกับดูแลดิจิทัลในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น

    ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับอนุมัติในปี 2565 รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP เป็น 20% และสัดส่วนของแต่ละอุตสาหกรรมอย่างน้อย 10% ต่อ GDP ภายในปี 2568

    สัดส่วนของอีคอมเมิร์ซในยอดค้าปลีกทั้งหมดคาดว่าจะสูงถึงกว่า 10% สัดส่วนของสถานประกอบการที่ใช้สัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์(e-contracts) สูงกว่า 80% สัดส่วนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมากกว่า 50% และเปอร์เซ็นต์ของผู้ทำงานในเศรษฐกิจดิจิทัลมากกว่า 2% ของกำลังแรงงาน

    รายงาน e-Conomy SEA ฉบับที่ 9 ในหัวข้อ Profits on the Rise, Harnessing SEA’s Advantage ที่เผยแพร่โดย Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) 16% แตะ 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2567 โดยอีคอมเมิร์ซและการเดินทางออนไลน์เป็นตัวหลักขับเคลื่อนการเติบโต

    จากรายงาน เวียดนามเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการเติบโตของสื่อออนไลน์ โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการขายรวม หรือ Gross Merchandise Value (GMV) จะสูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2567 (หรือ CAGR ที่ 14%) และคาดว่าจะสูงถึง 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐOภายในปี 2573

    การเดินทางออนไลน์เพียงอย่างเดียวคาดว่าจะเติบโต 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐOในปี 2567 ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อ GMV โดยรวม

    ตลาดบริการเรียกรถในเวียดนามมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อบริษัทท้องถิ่นและตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เกิดขึ้น GMV ในด้านการขนส่งและการจัดส่งอาหารคาดว่าจะสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐOในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้น 12% จากปีที่แล้ว

    มาร์ค วู กรรมการผู้จัดการของ Google เวียดนามและเอเชียแปซิฟิกประจำเวียดนามกล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามมีการเติบโตที่แข็งแกร่งและมั่นคง และในปี 2567 ก็ยังคงตอกย้ำถึงศักยภาพในการเติบโต

    ผู้ใช้ชาวเวียดนามยังให้ความสนใจอย่างมากต่อด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในปีนี้ และเป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับภาคส่วนนี้ มาร์ค วูกล่าว

    รายงานยังชี้ถึงความสนใจและความต้องการ AI ที่สูงในใจกลางเมืองของเวียดนาม โดยเฉพาะนครโฮจิมินห์และดานัง ซึ่งเป็นผู้นำของประเทศในด้านความสนใจที่เกี่ยวข้องกับ AI ภาคการศึกษา การตลาด และการดูแลสุขภาพผลักดันให้มีปริมาณการค้นหา AI สูงสุดในเวียดนาม

    รายงานคาดการณ์ว่าในปี 2567 เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าสูงถึง 263 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อวัดจาก GMV ซึ่งเพิ่มขึ้น 15% จากปีที่แล้ว รายได้เติบโตขึ้น 14% และคาดว่าจะสูงถึง 89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐOในปี 2567

    ความครอบคลุม 5G มาเลเซียทะลุ 80% อินเทอร์เน็ตเกือบ 100%

    ที่มาภาพ: https://themalaysianreserve.com/2023/06/07/5g-network-reaches-62-1-coverage-as-of-end-may-2023-fahmi/#google_vignette
    ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567 ความครอบคลุม 5G ของมาเลเซียในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นสูงถึง 82.1% เพิ่มขึ้นจาก 80.2% ในปีที่แล้ว ในขณะที่การครอบคลุมอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นอยู่ที่ 98.38% เทียบกับ 97.07% ในปีที่แล้ว

    ความคืบหน้าที่เป็นหมุดหมายสำคัญนี้ เปิดเผยโดยกระทรวงการสื่อสารร่วมกับโครงการTwo Years of Madani Government Programme (2TM) และNational Convention of Public Service Reform ปี 2024 ผ่านทางเพจ Facebook อย่างเป็นทางการ

    กระทรวงฯเน้นย้ำถึงความสำเร็จที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ การส่งเสริมความภาคภูมิใจของชาติ การยกระดับการบริการสาธารณะและการสื่อสารเนื้อหา การสนับสนุนการพัฒนาเนื้อหาในประเทศที่มีพลวัตร และการสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อ

    นอกจากนี้ มีผู้ประกอบการจดทะเบียนกับศูนย์เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Centres-PEDi) แล้ว 9,104 ราย และจัดตั้งศูนย์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแห่งชาติ (National Information Dissemination Centres-NADI) 1,008 แห่ง

    แพ็คเกจ Rahmah 5G ที่นำเสนอตัวเลือกอินเทอร์เน็ตราคาไม่แพง มีสมาชิกเพิ่มขึ้น 873,806 คน

    การเชื่อมต่อแบบดิจิทัลได้ขยายไปยังโรงเรียน 4,323 แห่งและพื้นที่อุตสาหกรรม 45 แห่ง ควบคู่ไปกับโครงการ Points of Presence (PoP) 1,463 โครงการเพื่อยกระดับการเข้าถึงเครือข่ายให้ดียิ่งขึ้น

    กัมพูชาตั้งเป้าพลังงานสะอาด 70% ภายในปี 2573

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501311118/potential-of-renewable-energy-sources-in-cambodias-growing-market/
    กัมพูชาตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 70% ภายในปี 2573 จากกว่า 62% ในปัจจุบัน รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน แก้ว รัตนาค เปิดเผยในการประชุมประจำปีของกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานเมื่อเร็วๆนี้ และกล่าวว่างานก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าใหม่ 13 โครงการที่มีกำลังการผลิตรวม 1,275 เมกะวัตต์ (MW) อยู่ระหว่างดำเนินการ

    “ยิ่งไปกว่านั้น เราได้วางแผนโครงการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 23 โครงการที่มีกำลังการผลิตรวม 5,950 เมกะวัตต์ในปี 2568-2572 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนพลังงานสะอาด 70% ภายในปี 2573”

    แหล่งพลังงานหมุนเวียนหลักในกัมพูชา ได้แก่ ไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล

    จากข้อมูลของกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน จีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำในกัมพูชา

    ปัจจุบัน หมู่บ้านในกัมพูชา 99.15% มีไฟฟ้าใช้ และครัวเรือน 95.24% หรือ 3.66 ล้านหลังในกัมพูชาเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ

    “หมู่บ้านในกัมพูชาจะสามารถเข้าถึงไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติได้ทั้งหมด 100% ในอนาคตอันใกล้นี้”

    ลาวเสริมมาตรการเข้มคุมเงินเฟ้อ

    ที่มาภาพ: https://www.rfa.org/english/news/laos/laosinflation40-03082023141918.html
    รัฐบาลสปป.ลาวได้เพิ่มความพยายามในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น นายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน รายงานในการนำเสนอการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุดในการประชุมสามัญครั้งที่ 8 ของสมัชชาแห่งชาติชุดที่ 9 ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน

    ในการชีแจง นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำมาตรการหลายประการที่มุ่งควบคุมอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น กลไกการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้นเพื่อป้องกันความผันผวน และความริเริ่มในการควบคุมกระแสเงินตราต่างประเทศให้เข้าสู่ระบบธนาคาร รัฐบาลยังได้นำระบบควบคุมราคามาใช้และใช้นโยบายการค้าเพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ยานพาหนะที่มีมูลค่า 50,000 ดอลลาร์ขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อต่อสู้กับการค้าที่ผิดกฎหมาย

    ความพยายามเหล่านี้ให้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างมาก อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนในปี 2567 อยู่ที่ 24.4% โดยคาดว่าจะลดลงต่ำกว่า 20% ภายในสิ้นปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 31.23% ในปี 2566 อย่างมีนัยสำคัญ เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนก็ดีขึ้นเช่นกัน

    เพื่อควบคุมปริมาณเงิน โดยเฉพาะในส่วนของเงินกีบ (M2) รัฐบาลได้มุ่งเน้นไปที่การรักษาระดับสภาพคล่องที่เหมาะสม ซึ่งประสบความสำเร็จโดยการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง การออกพันธบัตร ของธนาคารแห่ง สปป. ลาว และการรวมศูนย์บัญชีพันธบัตรที่ธนาคารแห่ง สปป. ลาว ดังนั้นการเติบโตของ M2 จึงชะลอตัวลงเป็น 22.13% ในเดือนตุลาคม 2567 และคาดว่าจะยังคงอยู่ต่ำกว่า 25% ภายในสิ้นปี

    รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องโอนรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศไปยังธนาคารแห่ง สปป. ลาว จนถึงขณะนี้ ธุรกิจนำเข้าและส่งออกได้จดทะเบียนเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบแล้ว 4,012 แห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทนำเข้า 733 แห่ง บริษัทส่งออก 528 แห่ง บริษัทนำเข้าและส่งออก 2,523 แห่ง และบริษัทผู้ให้บริการ 228 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งระบบการชำระเงินข้ามพรมแดน เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้จากแรงงานและการท่องเที่ยว โดยรายได้จากการส่งออกมากกว่า 70% ถูกส่งผ่านระบบธนาคารแล้ว

    ปัจจุบันยอดเงินฝากธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 98.60% ของ GDP เกินเป้าหมาย 85% ของสมัชชาแห่งชาติ ในขณะเดียวกัน ยอดสินเชื่อของภาคธนาคารอยู่ที่ 64.18% ของ GDP ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย 65% ภายในสิ้นปี 2567 ที่วางไว้

    นายกรัฐมนตรีสอนไซ ให้รายละเอียด 3 กลยุทธ์หลักในการรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ได้แก่ การยกระดับกลไกการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน การจัดตั้งตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีสภาพคล่อง ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารแห่ง สปป. ลาว กับธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง และการเสริมสร้างกรอบการกำกับดูแลสำหรับธนาคารทองคำ โลหะมีค่า ร้านค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    มาตรการเหล่านี้คาดว่าจะทำให้การอ่อนค่าของเงินกีบเทียบกับดอลลาร์ชะลอตัวลงจาก 23.46% ในปี 2566 เหลือ 13% ในปี 2567 นอกจากนี้ส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคารพาณิชย์และตลาดนอกระบบซึ่งเกินกว่า 10% ในต้นปี 2567 ได้แคบลงเหลือ ต่ำกว่า 3% ตั้งแต่เดือนกันยายน

    เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและกระจายเงินทุนอย่างเท่าเทียมกัน รัฐบาลจึงเน้นนโยบายสินเชื่อที่ตรงเป้าหมาย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา มีโครงการ 44 โครงการได้รับการสนับสนุนสินเชื่อ ซึ่งเป็นโครงการด้านการเกษตรและป่าไม้ 15 โครงการ การท่องเที่ยวและการบริการทางการค้า 20 โครงการ และโครงการอุตสาหกรรมและหัตถกรรม 9 โครงการ โดยมีเงินกู้รวมมูลค่า 4.53 ล้านล้านกีบ นอกจากนี้ โครงการ 419 โครงการใน 18 จังหวัดได้รับการอนุมัติให้จัดสรรทุนแล้ว โดย 77.65% ของสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 587.59 พันล้านกีบ

    สปป.ลาวคาด GDP โต 4.6% ในปี 2567

    ที่มาภาพ: https://www.expreso.info/noticias/internacional/96057_conexiones_regionales_hacen_mas_facil_el_viaje_laos
    รัฐบาลลาวคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศจะเติบโต 4.6% ในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย 4.5% ที่ได้รับอนุมัติจากสมัชชาแห่งชาติ โดยได้รับแรงหนุนจากภาคบริการ การขนส่ง และภาคการค้าส่งและค้าปลีก

    นายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอน นำเสนอการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุดในการประชุมสามัญสมัยสามัญครั้งที่ 8 ของสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน

    นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แผนงบประมาณของรัฐ และแผนการเงินปี 2567 โดยเน้นว่าเป้าหมายในแผนเหล่านี้สอดคล้องกับวาระแห่งชาติในการจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเงิน

    แม้จะมีความท้าทายที่สำคัญในปีที่ผ่านมา ทั้งอัตราเงินเฟ้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ภาระหนี้ต่างประเทศ และน้ำท่วมรุนแรงในแขวงหลวงน้ำทาและหัวพัน แต่รัฐบาลก็สามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ ภายใต้การนำที่เข้มแข็งของคณะกรรมการกลางพรรค ด้วยการกำกับดูแลของสมัชชาแห่งชาติ และความพยายามร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม รัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่นได้มุ่งเน้นไปที่การจัดการกับความท้าทายในระดับชาติ

    แนวทางนี้ช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤติหนี้และช่วยให้เศรษฐกิจมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง การจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ขณะเดียวกันยังคงรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมที่สงบสุข

    รัฐบาลมุ่งความสนใจไปที่การดำเนินการตามเป้าหมายและมาตรการที่ระบุไว้ในมติสมัชชาแห่งชาติและสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญในปี 2567 โดยเฉพาะในการจัดการกับประเด็นทางเศรษฐกิจและการเงิน

    โดยรวมแล้วภาคเศรษฐกิจบรรลุผลสำเร็จ 10 ข้อจาก 11 ตัวชี้วัดหลัก การผลิตข้าวเปลือกประจำปีคาดว่าจะสูงถึง 3.64 ล้านตัน หรือ 94% ของเป้าหมาย (3.86 ล้านตัน) โดยที่ขาดไปนั้นเกิดจากความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วงฤดูฝน

    ภาคส่วนสำคัญที่มีส่วนร่วมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคบริการ การขนส่ง และการค้าส่งและการค้าปลีก ควบคู่ไปกับการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนและการเปิดตัว Visit Laos Year ซึ่งได้กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศและระหว่างประเทศ ตั้งแต่ต้นปีนี้ ลาวให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 5 ล้านคน สร้างรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการท่องเที่ยวภายในประเทศเกินเป้าหมายของทั้งปีถึง 127%

    นอกจากนี้ ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมแปรรูป และการก่อสร้างยังมีการเติบโตที่โดดเด่น การผลิตอาหารมีมูลค่าถึง 3.18 ล้านล้านกีบหรือ 74.66% ของเป้าหมายทั้งปี ขณะที่การผลิตแร่เกินความคาดหมาย โดยมีมูลค่ามากกว่า 34 ล้านล้านกีบหรือ 127.52% ของแผนงาน

    ในด้านการลงทุน มีการดำเนินการถึง 69.11 ล้านล้านกีบในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเกินเป้าหมาย 22% ในจำนวนนี้ การลงทุนจากงบประมาณของรัฐมีมูลค่ารวม 4.01 ล้านล้านกีบ (80% ของแผน) ขณะที่การลงทุนจากภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศมีมูลค่า 2.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 56.13 ล้านล้านกีบ หรือ 173% ของเป้าหมาย

    ภาคการผลิตเมียนมาดึง FDI ได้ 81 ล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ

    ที่มาภาพ: https://www.gnlm.com.mm/myanmars-manufacturing-attracts-fdi-of-81m-in-h1-this-fy/
    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 81.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลเข้าสู่ภาคการผลิตของเมียนมาจาก 25 องค์กรในช่วงครึ่งแรกของปีการเงินปัจจุบัน 2567-2568 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จากสถิติที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการลงทุนและการจัดตั้งบริษัท(Directorate of Investment and Company Administration -DICA)

    ในภาคการผลิตมีบริษัทจีนลงทุนเป็นหลัก สถานประกอบการผลิตที่ต้องการกำลังแรงงานจำนวนมาก จะได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนในประเทศ

    คณะกรรมการการลงทุนเมียนมาได้อนุมัติโครงการต่างประเทศ 30 โครงการจาก 7 ประเทศ (จีนแผ่นดินใหญ่ จีน(ไต้หวัน) เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย) ที่จะลงทุนรวมเป็นมูลค่า 223 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และการเพิ่มทุนเพิ่มของโครงการเดิม

    ภาคการขนส่งและการสื่อสารดึงเงินได้ 87.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการเพิ่มทุน 82.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีงบประมาณนี้ ภาคการผลิตดึงเงินลงทุนได้ 81.225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาคบริการได้รับเงินลงทุน 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภาคพลังงานได้รับ FDI มูลค่า 8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การลงทุนไหลเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมน้อยกว่า 1 ล้าน

    สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมา โดยมีมูลค่าลงทุนโดยตรง 87.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน ตามมาด้วยไทยและจีน

    ภาคการผลิตของเมียนมากระจุกตัวอยู่ในเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ ที่ผลิตแบบ CMP (Cutting, Making, and Packaging) และมีส่วนช่วย GDP ของประเทศในระดับหนึ่ง

    ในแถลงการณ์ ของ สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมียนมา (Myanmar Garment Manufacturers Association -MGMA) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 นั้น สมาคมฯมุ่งมั่นที่จะเร่งดำเนินการในการพัฒนาภาคเสื้อผ้าของเมียนมา โดยร่วมมือกับแบรนด์และพันธมิตรต่างประเทศ นอกจากนี้สมาคมฯยังเปิดสอนหลักสูตรการจัดการทรัพยากรบุคคล หลักสูตรความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OSH) และการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานจักรเย็บผ้าขั้นพื้นฐานและขั้นสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของพนักงาน

    ณ เดือนกันยายน 2567 มีโรงงานที่ดำเนินงานอยู่ 548 แห่งภายใต้สมาคมฯ ซึ่งประกอบด้วยโรงงานในจีน 323 แห่ง เกาหลีใต้ 56 แห่ง ญี่ปุ่น 17 แห่ง ประเทศอื่น 16 แห่ง โรงงานในประเทศ 63 แห่ง และกิจการร่วมค้า 25 แห่ง ขณะนี้ 48 แห่งปิดชั่วคราว