ASEAN Roundup ประจำวันที่ 3-9 พฤศจิกายน 2567
กัมพูชาดึงจีนลงทุนสีหนุวิลล์พลิกสู่เซินเจิ้น 2 ขึ้นแท่นหนึ่งในเมืองใหญ่สุดในอาเซียน
กัมพูชาต้องการดึงดูดนักลงทุนชาวจีนมายังจังหวัดพระสีหนุมากขึ้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพสูง เนื่องจากกัมพูชาจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอเนกประสงค์ภายในปี 2581“เราต้องการดึงดูดนักลงทุนจากประเทศจีนและประเทศอื่นๆ มายังพระสีหนุ … และทำให้จังหวัดพระสีหนุเป็นเซินเจิ้นแบบจีนที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรม” นายพัน พัลลา ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการเงินของกัมพูชา กล่าวโดยชี้ไปที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ในมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน
นายพัน ซึ่งเป็นรองประธานคณะทำงานส่งเสริมการลงทุนจังหวัดพระสีหนุด้วยบอกกับสื่อของจีน China Daily ว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนจังหวัดพระสีหนุซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวของกัมพูชา ให้กลายเป็นท่าเรือทางเศรษฐกิจสำคัญที่จะกระตุ้นการเติบโตในจังหวัดใกล้เคียง
คณะทำงานได้ทำการโรดโชว์สองเมืองในจีน คือ ในเมืองเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เพื่อเน้นย้ำถึงข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของพระสีหนุ โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และความคิดริเริ่มที่สนับสนุนของรัฐบาล
ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนา จังหวัดพระสีหนุจะกลายเป็นประตูสู่นานาชาติ โดยการพัฒนาสีหนุวิลล์ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับโลกที่สำคัญ และผันตัวให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างประเทศและศูนย์กลางทางการเงิน
จังหวัดนี้จะกลายเป็นเสาพัฒนาระดับชาติที่มีจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก วิสัยทัศน์ระยะยาวคือการพัฒนาสีหนุวิลล์ให้เป็นเมืองอัจฉริยะนำร่องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จังหวัดนี้จะกลายเป็นเสาหลักการพัฒนาระดับชาติ ที่เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก วิสัยทัศน์ระยะยาวคือ การพัฒนาสีหนุวิลล์ให้เป็นเมืองอัจฉริยะนำร่องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายพันกล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่กัมพูชาจัดแคมเปญส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศสำหรับจังหวัดหนึ่งจังหวัด และพอใจกับผลตอบรับ โดยชี้ว่ามีนักลงทุนเข้าร่วมอย่างมาก
“เราได้นำเสนอโครงการการลงทุนพิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้ไปที่นั่น (พระสีหนุ)” นายพันกล่าวและว่า สิทธิประโยชน์จูงใจมีมากกว่าที่ระบุไว้ในกฎหมายการลงทุนของกัมพูชา ตัวอย่างเช่น นักลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม นอกเหนือจากการได้รับยกเว้นภาษีกำไร 3 ปีแล้ว ยังสามารถได้รับการยกเว้นต่ออีก 3 ปีหากลงทุนในพระสีหนุภายในสิ้นปีหน้า
นายเจีย ก๊ก ฮอง ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการแผนแม่บท กล่าวว่า จังหวัดมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 11 แห่ง และแผนแม่บทใหม่จะเปลี่ยนทั้งจังหวัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะมีโซนต่างๆ ที่ปรับให้เหมาะกับอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน
รัฐบาลยังจะจัดสรรการลงทุนเพิ่มเติมในโครงสร้างพื้นฐาน อุดหนุนการฝึกอบรมแรงงาน และให้บริการแบบครบวงจร เพื่อช่วยให้บริษัทต่างๆ ย้ายที่ตั้งไปที่จังหวัดพระสีหนุ
นายเจียกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือ และปรับปรุงเครือข่ายสนามบินและทางรถไฟ และชี้ว่าทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ซึ่งได้รับทุนจากการลงทุนของจีน ได้ยกระดับการขนส่งและการค้าในกัมพูชาอย่างมีนัยสำคัญ
นายพันกล่าวว่า เขตเศรษฐกิจขนาด 11 ตารางกิโลเมตรปัจจุบันรองรับบริษัทประมาณ 190 แห่งจากประเทศและภูมิภาคต่างๆ ทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 30,000 ตำแหน่งสำหรับคนในท้องถิ่น “นี่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับกัมพูชา”
รัฐบาลกัมพูชากำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการร่างแผนแม่บทพัฒนา ซึ่งจะพลิกจังหวัดพระสีหนุให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอเนกประสงค์ในสองระยะ โดยคาดการณ์ว่าจังหวัดจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินอัจฉริยะ และเมืองสีเขียวภายในปี 2581
การจัดทำแผนแม่บทยังไม่เสร็จ แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนและหารือโดยสมาชิกของคณะกรรมการประสานงานระหว่างกระทรวง นำโดย นายอัน พรมณีโรธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง คณะกรรมการได้ประชุมกันเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ตามรายงานของกระทรวงการคลัง
แผนแม่บทมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนจังหวัดให้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษอเนกประสงค์ต้นแบบ” คาดว่าจะส่งให้รัฐบาลอนุมัติเร็วๆ นี้
แผนแม่บทซึ่งเป็นเข็มทิศในการพัฒนาจังหวัด ให้เป็นขั้วเศรษฐกิจที่สำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม
ตามแผนดังกล่าว พระสีหนุจะกลายเป็นประตูเชื่อมต่อระหว่างประเทศของกัมพูชา ที่มีศูนย์กลางโลจิสติกส์หลายรูปแบบ รวมทั้งศูนย์ธุรกิจ และศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ จังหวัดนี้จะกลายเป็นเสาหลักการพัฒนาระดับชาติที่มีจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก รวมถึงชายหาดและหมู่เกาะระดับโลก นอกจากนี้ ยังวางวิสัยทัศน์ให้จังหวัดนี้เป็นศูนย์กลางแห่งชาติด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
ตามที่กระทรวงระบุ จังหวัดสีหนุจะกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีชื่อเสียงในฐานะเมืองต้นแบบ “สีเขียว ยั่งยืน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นเมืองอัจฉริยะ”
เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์นี้ แผนแม่บทจึงแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกมีกำหนดจะเริ่มตั้งแต่ปี 2568 ถึง 2571 จะมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการของจังหวัดเข้ากับระบบการค้าระดับภูมิภาค ระยะที่สอง ตั้งแต่ปี 2572 ถึง 2581 จะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของจังหวัดในฐานะประตูระดับชาติ และศูนย์กลางระดับภูมิภาคในด้านการเงินและการค้า ตลอดจนเมืองสีเขียวอัจฉริยะและมีรายได้สูง
นายยง กิมเอ็ง ประธานศูนย์ประชาชนเพื่อการพัฒนาและสันติภาพ (People’s Centre for Development and Peace หรือ PDP) มองว่า จังหวัดพระสีหนุ และโดยเฉพาะสีหนุวิลล์ เป็นสถานที่สำคัญสำหรับกัมพูชาในด้านการค้าและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ก็ชี้ว่าจังหวัดนี้ดูเหมือนจะขาดกฎเกณฑ์การรักษาความสงบเรียบร้อยสาธารณะ และการก่อสร้างอาคารสูงดูเหมือนจะซบเซานับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19
นายกิมเอ็งเชื่อว่า เพื่อให้การพัฒนาจังหวัดต่อเนื่องได้ รัฐบาลต้องผลักดันการก่อสร้างอาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จให้แล้วเสร็จ รวมทั้งควรมีแผนพัฒนาเมืองที่ชัดเจน ซึ่งจะไม่กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของจังหวัด
นอกจากนี้ ยังต้องการเห็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ โครงสร้างพื้นฐานของถนนที่ทันสมัย และที่จอดรถกว้างขวาง นายกิมเอ็งย้ำว่า ในความเห็นของเขา การรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับประเด็นด้านความปลอดภัยยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดต่อการพัฒนาของพระสีหนุ
กัมพูชามีโรงงานที่จีนลงทุน 1,273 แห่ง มูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์
กัมพูชามีโรงงานที่นักลงทุนชาวจีนลงทุนทั้งหมด 1,273 แห่ง มูลค่ารวม 9.08 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือนตุลาคม 2567 ซึ่งคิดเป็น 45.49% ของเงินลงทุนทั้งหมดของประเทศ จากการให้ข้อมูลของนายเฮม แวนน์ดี รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระ หว่างการพบปะกับนายหวัง เหวินปิน เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา เมื่อวันจันทร์ (4 พ.ย.2567)
นายแวนน์ดีกล่าวว่า กัมพูชาและจีนมีมิตรภาพที่ยาวนาน และความร่วมมือในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีได้เป็นเสาหลักสำคัญของ “ความร่วมมือระดับเพชร (diamond cooperation)” ระหว่างทั้งสองประเทศ
ความร่วมมือระดับเพชรหมายถึงความร่วมมือ 6 ด้านสำคัญระหว่างสองประเทศ ได้แก่ การเมือง กำลังผลิต การเกษตร พลังงาน ความมั่นคง และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน
“จีนเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ด้านการผลิตของกัมพูชา ซึ่งเป็นภาคส่วนที่จะเป็นผู้นำการเติบโตของกัมพูชาต่อไปในอนาคต” นายแวนน์ดีกล่าว
ในขณะที่กัมพูชาเตรียมการออกจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในปี 2572 ก็ตั้งตารอที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตวัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่กวดขันเรื่องระเบียบมากขึ้น รัฐมนตรีกล่าวเสริม
นายแวนน์ดียังเสนอให้มีการยกระดับความร่วมมือในด้านสำคัญๆ เช่น การกำหนดมาตรฐาน มาตรวิทยา การบริการห้องปฏิบัติการ และการจัดหาน้ำ
ด้านเอกอัครราชทูตจีนชื่นชมความสำเร็จของความร่วมมือเหล่านี้
นายหวังขอบคุณกัมพูชาที่สนับสนุนความคิดริเริ่มระดับนานาชาติของจีน และเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมที่จีนเป็นเจ้าภาพ รวมถึงการประชุม Mekong-Lancang Innovation Corridor และการประชุม AI ในปี 2568
“เราคาดหวังว่าในอนาคต หมุดหมายใหม่ของความร่วมมือระหว่างจีนและกัมพูชาจะมีมากขึ้น และความสัมพันธ์มิตรภาพที่แข็งแกร่งระหว่างทั้งสองประเทศจะยังคงมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” นายหวังกล่าว
นายลิม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชากล่าวว่า ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (Cambodia-China Free Trade Agreement หรือ CCFTA) และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ได้สร้างแรงผลักดันมากขึ้นในการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีน ซึ่งดึงดูดการลงทุนใหม่
“ภายใต้เขตการค้าเสรีกัมพูชา-จีนและ RCEP นักลงทุนชาวจีนและนักลงทุนต่างชาติอื่นๆ พิจารณาว่ากัมพูชาเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่มีศักยภาพสำหรับการส่งออก” นายเฮงกล่าวกับสำนักข่าว Khmer Times
นายเนก จันดาริธ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (Cambodia 21st Century Maritime Silk Road Research Center) ของกัมพูชา กล่าวว่า กิจการที่จีนลงทุนมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของกัมพูชา และยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศ
“โครงการที่จีนลงทุนภายใต้โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ สนามบินนานาชาติเสียมเรียบอังกอร์ ถนนและสะพาน และอื่นๆ อีกมากมาย มีบทบาทและจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไปในการสนับสนุนเศรษฐกิจของราชอาณาจักร” นายเนกกล่าวกับสำนักข่าว Xinhua
เวียดนามตั้งเป้าติด 1 ใน 3 ของอาเซียนด้านความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม
เวียดนามคาดว่าจะเป็น 1 ใน 3 ประเทศชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ของความสามารถด้านการแข่งขันทางอุตสาหกรรมภายในสิ้นทศวรรษนี้ ตามแนวทางที่วางบไว้ในโครงการปฏิบัติการที่ประกาศโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT)โครงการดังกล่าวจัดทำตามมติเลขที่ 29 ของคณะกรรมการกลางพรรคชุดที่ 13 ว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัยของประเทศจนถึงปี 2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2588
ตามแผนงาน ตั้งเป้าหมายสัดส่วนภาคอุตสาหกรรมใน GDP ควรมากกว่า 40% โดยอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปเพียงอย่างเดียวคิดเป็นประมาณ 30% ของ GDP
มูลค่าเพิ่มเฉลี่ยต่อหัวในอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปต่อหัวคาดว่าจะสูงถึงกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าสัดส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการจะเกิน 70%
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ เวียดนามจะจัดตั้งบริษัทและองค์กรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง ที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติในอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆ และอุตสาหกรรมสำคัญ นอกจากนี้ ยังวางแผนที่จะสร้างและพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในประเทศหลายแห่ง ที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ และคุมห่วงโซ่คุณค่าการผลิตบางประเภท
นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดส่งออกสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยเฉพาะตลาดหลัก โดยการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามได้ลงนาม สนับสนุนผู้ส่งออกในการก้าวข้ามอุปสรรคทางเทคนิคในตลาดนำเข้า และค่อยๆ ส่งเสริมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมแปรรูปไปยังช่องทางใหม่ๆ
รวมไปถึงการให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รถยนต์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องกลและระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมไฮเทค ตลอดจนการใช้มาตรการการจัดการการนำเข้าตามข้อผูกพันที่เวียดนามได้ทำไว้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ
ขณะเดียวกัน เวียดนามจะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกรอบกฎหมายให้ดีขึ้น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ เช่น โลหะวิทยา วิศวกรรมเครื่องกล เคมี พลังงาน และเทคโนโลยีดิจิทัล นอกเหนือจากการพัฒนาด้านวัตถุดิบสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า
สำนักงานสถิติทั่วไป ได้ประกาศในรายงานรายเดือนว่า ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ของเวียดนามเพิ่มขึ้น 8.6% เมื่อเทียบรายปีในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง
การเติบโตของ IIP ในช่วง 9 เดือนได้รับแรงหนุนจากภาคการผลิต (เพิ่มขึ้น 9.8%) การผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้า (เพิ่มขึ้น 11.1%) และการจัดหาน้ำและการบำบัดน้ำเสีย (เพิ่มขึ้น 9.9%) ขณะเดียวกันภาคเหมืองแร่ลดลง 6.4%
อุตสาหกรรมสำคัญบางหมวดที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วง 9 เดือน ได้แก่ เหล็ก เพิ่มขึ้น 27% น้ำมันและก๊าซ (20%) สิ่งทอ (16%) ปุ๋ย NPK (13%) และการผลิตรถยนต์ (12%)
GSO ชี้ว่าจำนวนคนงานในสถานประกอบการอุตสาหกรรม ณ วันที่ 1 กันยายน เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบรายเดือน และ 5.2% เมื่อเทียบเรายปี
ณ วันที่ 30 กันยายน ดัชนีสินค้าคงคลังสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปและการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และ 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
รัฐบาลเวียดนามเร่ง GDP ไตรมาสที่สี่ 7.5%
นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนาม เรียกร้องในการเปิดการประชุมคณะรัฐมนตรีที่กรุงฮานอยเมื่อวันเสาร์ (9 พ.ย. 2567) ให้เพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่าเพื่อเร่งการเติบโตของ GDP เป็น 7.5% ในไตรมาสที่สี่ของปีนี้สำนักงานสถิติทั่วไประบุว่า เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว 7.4% ในไตรมาสที่สาม เทียบกับ 6.93% และ 5.66% ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองตามลำดับ
GSO ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าสู่เวียดนามมีมูลค่า 27.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี และการเบิกจ่ายของ FDI เพิ่มขึ้นประมาณ 19.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
มูลค่าการค้าของเวียดนามกับประเทศต่างๆ ในโลกอยู่ที่ประมาณ 69.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนตุลาคม และ 647.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม เพิ่มขึ้น 11.8% และ 15.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
เวียดนามมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกว่า 14.1 ล้านคนเดินทางเข้าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ เพิ่มขึ้น 41.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามรายงานของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT)
เมื่อพิจารณาตัวเลขเชิงบวกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ HSBC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเวียดนามจะเติบโต 7% ในปี 2567 กลายเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียนและสร้าง GDP ใหม่ได้มากเท่ากับเนเธอร์แลนด์
เวียดนามจี้คมนาคมเร่งก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมกับจีนปีหน้า
นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนาม ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่กรุงฮานอย (เสาร์ 9 พ.ย. 2567) ขอให้กระทรวงคมนาคมเริ่มการก่อสร้างทางรถไฟสายหล่าวกาย-ฮานอย-ไฮฟอง เชื่อมโยงกับมณฑลยูนนานของจีนเส้นทางรถไฟที่ทอดยาวกว่า 417 กิโลเมตร ผ่าน 9 เมืองและจังหวัด ได้แก่ จังหวัดหล่าวกาย เอียนบ๊าย ฟู้เถาะ หวิญฟุ้ก ฮานอย บั๊กนิญ ฮึงเอียน หายเซือง และไฮฟอง
เส้นทางดังกล่าวจะมีทั้งหมด 36 สถานี โดยมีสถานีหล่าวกายเป็นสถานีต้นทางและจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศ
ขณะนี้ กระทรวงคมนาคมกำลังเตรียมรายงานความเป็นไปได้เบื้องต้นสำหรับโครงการนี้ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ในการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ และประธานบริษัท China Railway Construction Corporation (CRCC) นายไต่ เหอเกิน ผู้นำรัฐบาลเวียดนามได้กล่าวว่าโครงการนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมทางรถไฟที่สำคัญระหว่างเวียดนามและจีน เพื่อพัฒนาโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
“โครงการนี้จะช่วยให้ยูนนานเข้าถึงทะเลได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และการขจัดความยากจนในจังหวัดชายแดนทางตอนเหนือของเวียดนาม” นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ กล่าว
นอกจากเส้นทางหล่าวกาย-ฮานอย-ไฮฟองแล้ว นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ยังเสนอห้ CRCC สำรวจความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอื่นๆ ในเวียดนาม เช่น ทางรถไฟฮานอย-หล่างเซิน, ทางรถไฟมองก๊าย-ฮาลอง-ไฮฟอง และรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ-ใต้ และโครงการทางด่วนเชื่อมจังหวัดชายแดนกับจีน
Foxconn เตรียมลงทุน 80 ล้านดอลลาร์ขยายการผลิตชิปในเวียดนาม
บริษัท Shunsin Technology Vietnam Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Foxconn ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของไต้หวัน กำลังยื่นขอใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการผลิตชิปมูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจังหวัดบั๊กซางทางตอนเหนือโครงการนี้จะครอบคลุมพื้นที่ตามแผนทั้งหมด 44,343.8 ตารางเมตร ภายในนิคมอุตสาหกรรม Quang Chau
โรงงานแห่งสร้างขึ้นเพื่อผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรรวม โดยมีกำลังการผลิต 4.5 ล้านชิ้นต่อปี ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะถูกส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน Shunsin จะใส่เงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการนี้ ขณะที่ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 75% ของการลงทุนจะมาจากเงินกู้และการระดมทุน
Shunsin ตั้งเป้าหมายที่จะได้ใบอนุญาต รวมถึงการอนุมัติการก่อสร้างภายในเดือนธันวาคม ตามด้วยการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและการติดตั้งอุปกรณ์จนถึงเดือนพฤษภาคม 2569
โครงการนี้จะเริ่มทดลองเครื่องในเดือนมิถุนายน 2569 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนธันวาคม 2569
บริษัทระบุว่าจะใช้เทคโนโลยีระบบปิดขั้นสูง ซึ่งได้มีการใช้แล้วที่โรงงานของบริษัทในประเทศจีน สายการผลิตจะมีระบบอัตโนมัติในระดับสูง เทคโนโลยีขั้นสูง และมาตรการความปลอดภัยสูงสุดสำหรับพนักงาน เพื่อให้มั่นใจถึงเสถียรภาพในการปฏิบัติงานในระยะยาวและเพิ่มผลผลิต
หากเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต โครงการนี้จะต้องมีพนักงานประมาณ 1,450 คน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ 35 คน
Foxconn ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ Apple ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี กำลังขยายการลงทุนในเวียดนาม ได้เริ่มเข้ามาดำเนินการในเวียดนามในเดือนมีนาคม 2550 โดยมีโรงงานเริ่มแรกในบั๊กนิญและบั๊กซาง และต่อมาได้ขยายไปยังเมืองกว๋างนิญ
ลาวตั้งเป้าก้าวสู่ผู้นำโปแตชของเอเชียผ่านการส่งออกทางรถไฟไปยังจีน
ลาวเปิดเผยแผนการพัฒนา เพื่อเปลี่ยนประเทศให้เป็นซัพพลายเออร์โปแตชชั้นนำของเอเชีย โดยการสร้างโรงงานผลิตใหม่ ขยายการดำเนินการเหมืองแร่ และใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงทางรถไฟโดยตรงไปยังจีน
นายชานสะแหวง บึงนอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและบ่องแร่ นำเสนอแผนดังกล่าวในการประชุมการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกลือโปแตชจีน ประจำปี 2567 (2024 China Potash Salt Industry Chain Development Conference) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน
นายชานสะแหวงกล่าวว่า รัฐบาลตั้งใจที่จะก่อตั้งโรงงานปุ๋ย NPK (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม) สามแห่ง หนึ่งแห่งในนครหลวงเวียงจันทน์ และอีกสองแห่งในแขวงคำม่วน แผนดังกล่าวยังรวมถึงการสร้างโรงงานสกัดเกลือโบรมีนอย่างน้อยสองแห่ง เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับความสามารถในการแปรรูปแร่ของลาว
เพื่อสนับสนุนความคิดริเริ่มเหล่านี้ รัฐบาลได้ให้สิทธิในการสำรวจ การขุด และการแปรรูปแก่บริษัท 18 แห่ง บนพื้นที่ 162,260 เฮกตาร์ในภูมิภาคสำคัญๆ รวมถึงนครหลวงเวียงจันทน์ แขวงเวียงจันทน์ คำม่วน และสะหวันนะเขต พื้นที่เหล่านี้อุดมไปด้วยแร่โปแตช ซึ่งเป็นแกนหลักในการขยายอุตสาหกรรมปุ๋ยของประเทศ
ประเด็นสำคัญของแผนพัฒนาคือ การมุ่งเน้นที่ความยั่งยืน นายชานสะแหวงเน้นย้ำว่า ลาวมีเป้าหมายที่จะสร้างอุตสาหกรรมโปแตชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยวางตำแหน่งประเทศให้เป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนในตลาดปุ๋ยโลก
สิ่งสำคัญของแผนดังกล่าวคือ รถไฟลาว-จีน ซึ่งเป็นทางรถไฟพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการผงาดขึ้นมาของลาวในฐานะซัพพลายเออร์แร่โปแตช
ด้วยการลดต้นทุนการขนส่งลงอย่างมาก ทางรถไฟจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงตลาดสำคัญของลาว โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคแร่โปแตชรายใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก เส้นทางการขนส่งที่มีประสิทธิภาพนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของลาว และทำให้ผลิตภัณฑ์โปแตชสามารถส่งถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ได้มากขึ้น
ในปี 2566 จีนใช้ปุ๋ยโปแตชเกือบ 1.88 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าเนื่องจากการผลิตในประเทศที่จำกัด ความต้องการต่อปีของภูมิภาคคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 60-70 ล้านตัน ทำให้เป็นตลาดที่แข็งแกร่งสำหรับซัพพลายเออร์โปแตช
ด้วยปริมาณแร่โปแตชสำรองจำนวนมหาศาล โดยมีโพแทสเซียมคลอไรด์ประมาณ 133.62 พันล้านตัน ลาวจึงอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ หากประสบความสำเร็จ ลาวก็อาจก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดหาแร่โปแตชรายใหญ่อันดับสามของโลก รองจากรัสเซียและแคนาดา