ประสาท มีแต้ม
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 โครงการ Copernicus ของสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกรายงานประจำปีชื่อ “สถานการณ์ของมหาสมุทร ฉบับที่ 8 (Ocean State Report 8, OSR8)” เพื่อรายงานถึงสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของมหาสมุทรซึ่งถือว่าเป็นตัวกำกับหลักของระบบภูมิอากาศของโลกเรา ตัวรายงานฉบับเต็มหนา 272 หน้า แต่มีฉบับสรุปหนา 8 หน้า ผมจะเลือกเฉพาะส่วนที่ผมสนใจและเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านมานำเสนอในบทความนี้
แต่ก่อนอื่นขออนุญาตกล่าวถึงชื่อที่เป็นชื่อ “โครงการ Copernicus” สักเล็กน้อย เขาตั้งเพื่อให้เกียรติกับ Nicolaus Copernicus (ค.ศ.1473- 1543) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ ผู้เสนอทฤษฎีที่มีชื่อเสียงและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ทฤษฎีกล่าวว่า “ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกตามที่เคยเชื่อกันมา” จนได้รับการยกย่องว่า “เป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงมุมมองของชาวโลกและเป็นการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์” (อ้างโดย Stanford Encyclopedia of Philosophy)
สิ่งที่ผมประทับใจต่อรายงานฉบับนี้(OSR8-ฉบับสรุป) คือการนำเสนอด้วยรูปภาพที่ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น ทำให้ผมนำไปคิดต่อจนเกิดความรู้สึก “หนาว” ซึ่งผมจะนำเสนอดังต่อไปนี้ครับ
ทำไมโลกจึงร้อนขึ้นและความร้อนดังกล่าวกระจายตัวไปอยู่ที่ส่วนไหนของโลกบ้าง
ขอเรียนอีกครั้งว่า ผมทราบความจริงเกี่ยวข้อมูลนี้มานานแล้ว แต่พอได้เห็นภาพข้างล่างนี้แล้ว มันทำให้ผมเกิดความคิดตั้งคำถามต่อไปอีก จะเป็นสาระหรือไม่ ตามมาดูกันครับ
ขอเริ่มด้วยการอธิบายภาพทางขวามือก่อนซึ่งมี 2 ประเด็น
เราทราบกันดีแล้วว่า ความร้อนมาพร้อมกับแสงแดด เมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงลงมาถึงชั้นบรรยากาศ(ยังไม่ถึงพื้นผิวโลก) ก็จะพบกับอากาศ ไอน้ำ เมฆ รวมทั้งก๊าซเรือนกระจก(ซึ่งประมาณ 75% เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยมนุษย์เรานี่เอง) สำหรับแสงแดดที่ส่องถึงพื้นผิวโลกแล้วส่วนหนึ่งก็จะสะท้อนกลับออกไป แต่ก็จะถูกก๊าซเรือนกระจกขวางไว้อีกและดูดซับความร้อนเก็บไว้ที่ก๊าซเหล่านั้นด้วย โลกจึงร้อนขึ้น
ในช่วงเวลาที่ความหนาแน่นของก๊าซกระจกยังไม่มากนัก (ซึ่งเปรียบเหมือนความหนาของผ้าห่มโลกยังบางอยู่) ปริมาณความร้อนที่เข้ามาสู่บรรยากาศโลกกับประมาณความร้อนที่ถูกสะท้อนกลับออกไปจะเกือบเท่ากัน (หรือเรียกว่าสมดุล) ต่อมาเมื่อมนุษย์ใช้พลังงานฟอสซิลมากขึ้น ความหนาแน่นของก๊าซเรือนกระจกก็เพิ่มขึ้น ปริมาณความร้อนที่ถูกสะสมอยู่ในบรรยากาศโลกจึงมากขึ้นๆ นักวิทยาศาสตร์เรียกสภาพที่ความร้อนไม่สมดุลนี้ว่า สภาพไม่สมดุลของพลังงานโลก (Earth’s Energy Imbalance หรือ EEI)
รายงานฉบับนี้ได้ให้รายละเอียดว่า นับตั้งแต่ปี 1970 (พ.ศ.2513) เป็นต้นมา ค่า EEI ได้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในช่วงปี 2005 ถึง 2025 ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าตัว เมื่อค้นข้อมูลที่เกี่ยวกับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมาประกอบก็พบว่า เพิ่มขึ้นจาก 380 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ในปี 2005 เป็น 425 ppm ในปี 2024
ศาสตราจารย์ Johan Rockstrom นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนได้ให้ข้อมูลใน TED Talk เรื่อง The Tipping Points of Climate Change-and Where We Stand ว่า ในปัจจุบัน ในแต่ละปีค่า EEI (หรือปริมาณพลังงานที่ถูกกักไว้ในบรรยากาศโลก) มีค่าประมาณ 300 เท่าของพลังงานไฟฟ้าที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ทั้งปี
ข้อมูลในภาพข้างต้นได้ระบุชัดเจนว่า ร้อยละ 90 ของพลังงานที่ถูกกักไว้ในโลก (หรือ EEI) จะอยู่บนแผ่นดินร้อยละ 5 มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ ด้วยเหตุนี้ผมจึงคิดว่า มนุษย์เราโชคดีมากนะที่ความร้อนที่เกินมา(และเกิดจากฝีมือมนุษย์) ถึง 90% ไปอยู่ในมหาสมุทรซึ่งค่อนข้างห่างไกลจากตัวเรา มิฉะนั้นเราจะรู้สึกร้อนมากกว่านี้มาก หรือไม่ก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ในโลกนี้ได้แล้ว
นอกจากความร้อนจาก EEI ถึง 90% ไปอยู่ในมหาสมุทรแล้ว อุณหภูมิของมหาสมุทรยังต่ำกว่าอุณหภูมิอากาศบนบกด้วย (หมายเหตุ ปี 2019 อุณหภูมิของมหาสมุทรเท่ากับ 0.95 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิของอากาศบนบกเท่ากับ 1.43 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม) ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าความร้อนจำเพาะ (Specific Heat Capacity) ของน้ำมากกว่าความร้อนจำเพาะของดิน (ความร้อนจำเพาะหมายถึงปริมาณความร้อนที่ทำให้สสารที่มีมวล 1 หน่วยมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นหนึ่งองศาเคลวิน
ผมขออนุญาตขยายความเรื่องความร้อนจำเพาะสักนิดครับ ท่านที่ทำกับข้าวคงเคยมีประสบการณ์กับตนเองมาบ้างว่า น้ำกะทิเดือดจนล้นหม้อได้เร็วกว่าน้ำธรรมดา ทั้งนี้เพราะว่าน้ำกะทิมีค่าความความร้อนจำเพาะน้อยกว่าน้ำธรรมดา ซึ่งหมายความว่าในการทำให้อุณหภูมิของน้ำทั้ง 2 ชนิดนี้ที่มีมวลเท่ากันและมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเท่ากัน น้ำกะทิจะใช้พลังงานความร้อนน้อยกว่าน้ำธรรมดา นั่นคือน้ำกะทิจะเดือดก่อนน้ำธรรมดา
ในอนาคต ภายใต้สถานการณ์โลกร้อนนี้ ผมเองไม่ทราบว่าคุณสมบัติของน้ำทะเลจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ถ้าเปลี่ยนไปในทางที่ทำให้น้ำทะเลมีความร้อนจำเพาะลดลงแล้วละก็ มนุษย์เราคงจะรู้สึก “หนาว” แน่
ผลกระทบจากอุณหภูมิอากาศโลกสูงขึ้น
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า การที่อุณหภูมิอากาศโลกสูงขึ้น ไม่ได้แค่ทำให้เรารู้สึกร้อนขึ้นเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่
เอากันง่ายๆ เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงขึ้น น้ำระเหยก็มากขึ้น ฝนตกมากขึ้น แต่จะไปตกที่ไหนและกระจายการตกอย่างไรนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆมาเสริมอีก รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอภาพประกอบที่นอกจากดูแล้วเพลิดเพลินดีแล้ว ยังมีบางประเด็นสำคัญที่เราไม่ได้คิดอีกหลายเรื่อง (ดูรูปประกอบ)
เหตุการณ์น้ำท่วมและดินโคลนถล่มในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ก็มีปัจจัยโลกร้อนร่วมเป็นหลักอยู่ด้วยทั้งนั้น
ขอเพิ่มเติมข้อมูลทั่วไปที่ผมได้มาจากผลงานวิจัยชิ้นอื่นๆ นั่นคือ ทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่อุณหภูมิอากาศโลกสูงขึ้นจะทำให้มีน้ำฝนเพิ่มขึ้น 7% แต่จะไปตกที่ไหน ตกอย่างไร และแล้งที่ไหนนั้นมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง
เรามีข้อมูลว่าอุณหภูมิอากาศโลกสูงขึ้นเท่านั้น เท่านี้ แต่ผมเองไม่ค่อยพบข้อมูลของประเทศไทยแบบจะจะเลย คราวนี้ผมพบโดยบังเอิญ ตั้งแต่ปี 1940 จนถึงเดือนสิงหาคม 2567 จึงขอนำมาให้ดูกันครับ
ผมเขียนบรรยายเอาไว้ในภาพว่า อุณหภูมิอากาศของประเทศไทยเคยเย็นสบาย แต่…
ในเดือนพฤษภาคม 1950 อุณหภูมิอากาศของประเทศไทยเท่ากับ 25 องศาเซลเซียส แต่ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 28 องศาเซลเซียสในเดือนเดียวกันของปี 2024 โดยมีอัตราการเพิ่มมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ตรงนี้ก็หนาว!
ใครอยากเข้าไปดูเองพร้อมข้อมูลอื่นๆที่น่าสนใจก็เชิญครับเพลิดเพลินดี ที่นี่ https://ourworldindata.org/grapher/average-monthly-surface-temperature?tab=chart&country=~THA
ขออนุญาตไม่สรุปอะไร นอกจากคำว่า เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วจะรู้สึกหนาว เราจึงควรช่วยกันแก้ปัญหานี้ซึ่งสามารถแก้ได้จริงๆ หากเราเปลี่ยนมุมมองแบบเดียวที่ Copernicus เคยมอง นั่นคือเลิกใช้พลังงานฟอสซิลที่ทำให้โลกของเรามีแผลยับเยินไปทั่วทุกมิติและทำให้คนหยิบมือเดียวร่ำรวย แล้วหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งปัจจุบันนี้มีราคาถูกกว่ากันเยอะเลยและกระจายตัวอยู่ทั่วทุกครัวเรือนนี่คือมุมมองใหม่ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน