เปิดรายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ของประเทศไทย แนวโน้มอุณหภูมิประเทศไทยสูงขึ้น – ฝนตกรุนแรง แต่ทิ้งช่วง ขณะที่ภาคพลังงาน -อุตสาหกรรม -ภาคเกษตร ต้องปรับตัวลดก๊าซเรือนกระจก เสนอมาตรการภาษีคาร์บอนจูงใจลดโลกร้อน
วันที่ 4 กันยายน ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ครั้งที่ 2 เพื่อรายงานสถานการณ์และความก้าวหน้าของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างรายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย” ที่จัดทำขึ้นโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
การจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยองค์ความรู้และการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ของสาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า รายงานฉบับนี้จัดทำให้อ่านง่าย ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น ไม่ต้องการให้เป็นวิชาการมากเกินไป เพราะนับจากวันนี้เป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จะเกิดความไม่แน่อนมากขึ้น และยังไม่รู้ว่าจะเดินไปในทิศทางใดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประชาชนจึงต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เนื่องจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี ค.ศ. 1940-2100 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีส่งผลกระทบต่อ การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล พายุฝนตกรุนแรง น้ำท่วม ภาวะแล้ง การเกิดคลื่นความร้อน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ
ดร.อดิศร์กล่าวว่า ที่ผ่านมามาตรการการลดอุณหภูมิของโลก จะมาจากการลงสัตยาบันในพิธีสารเกียวโต แต่ตอนนี้การลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่เวทีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย Climate Change หรือ COP เพื่อกำหนดกฎกติกาและแนวทางในการจัดการปัญหา Climate Change ปัจจุบัน เจรจาถึง COP28 ( ปี 2566)
“การลดอุณหภูมิโลกจะขึ้นอยู่กับผู้นำแต่ละประเทศในการประกาศในเวที COP ซึ่งแต่ละประเทศค้านึงถึงเป้าหมายการรักษาระดับไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และการแสดงเจตจำนงร่วมกันเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซฯ และ กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซฯในระยะยาวของแต่ละประเทศ ทั้ง เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality และการปล่อยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emission ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายในการลดคาร์บอนในปี 2030 ลดลงประมาณ 30-40 %” ดร.อดิศร์กล่าว
สำหรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในไทยพบว่า ส่งผลกระทบต่อ 6 สาขาหลักคือ 1.เรื่องของทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม 2. ภาคเกษตร ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและการผลิต 3. การตั้งถิ่นฐาน ซึ่งจะเกิดปัญหาน้ำท่วมเมืองต้องย้ายถิ่นฐาน 4. สาธารณสุข การแพร่กระจายของโรคและ ปัญหาสุขภาพที่มาจากสภาพอากาศ 5. การท่องเที่ยว ความเสียหายของทรัพยากร จำนวนวันที่หนาวลดลง 6. ทรัพยากรธรรมชาติที่จะเกิดความเสียหายมากขึ้น
“ประเทศไทยจะมีวันที่อุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้น ขณะที่ฝนตกรุนแรงรวมแต่ทิ้งช่วงมากขึ้น และมีพายุแรงเพิ่มขึ้นด้วย” ดร.อดิศร์กล่าว
ขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังแนวโน้มการปล่อยมากขึ้นในภาคพลังงาน และภาคอุตสาหกรรม ราว 80 % ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งหมด แต่จากการคาดการณ์พบว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ในปี 2065 หากภาคพลังงานปรับตัวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนมาก ขณะที่ภาคเกษตรอาจจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน
ดร.อดิศร์เสนอว่า ไทยจะต้องมีมาตรการในการจูงใจให้ลดก๊าซเรือนกระจก เพราะในต่างประเทศเริ่มมีมาตรการทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น การเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) การเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มี คาร์บอนต่ำ ฯลฯ
“ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีภาษีคาร์บอน เพื่อให้เราเดินไปถึงเป้าหมายในปี 2050 ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ ปี 2065 การปล่อยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งอาจต้องใช้ภาษีคาร์บอนเป็นแรงจูงใจ ขณะที่ภาคเกษตรมีแนวโน้มลดก๊าซได้ แต่ให้จูงใจจากสินเชื่อ ธกส. เช่น การส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ การออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม (Green Bond) หรือมีการติดตั้งการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ สร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้า หรือ ปลูกข้าวลดโลกร้อนด้วยวิธีการทำนาแบบ “เปียกสลับแห้ง” ลดการเผาในพื้นที่นาข้าว” ดร.อดิศร์กล่าว
ด้าน นางสาวนารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อํานวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายการลดคาร์บอนให้ได้ 30-40% ในปี 2030 แต่ลดได้เพียง 1 ใน 3 ของเป้าหมายเท่านั้น จึงยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกจำนวนมากเพื่อเดินให้ถึงเป้าหมาย
“ดิฉันอยากให้รายงานฉบับนี้ ช่วยให้ความรู้ว่าจะต้องลดและปรับตัวได้อย่างไร เพราะว่าการลดก๊าซเรือนกระจกแค่บรรเทาปัญหาเท่านั้น เพราะสุดท้ายอุณหภูมิโลกยังร้อนขึ้นอยู่ดี แต่สิ่งที่ต้องทำคือเราต้องปรับตัวอยู่กับมันให้ได้เพราะโลกร้อนขึ้นแน่ๆ ดังนั้นประชาชนต้องมองเรื่องการโลกร้อนไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการลดขยะ แต่เป็นปัญหาร่วมกันที่จะลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน” นางสาวนารีรัตน์กล่าว
สำหรับ ร่างรายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งยังไม่เสร็จสมบูรณ์อยู่ระหว่างการจัดรับฟังความคิดเห็น โดยรายงานประกอบด้วยเนื้อหา 5 บท ประกอบด้วย บทที่ 1 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก บทที่ 2 เรื่องการปรับตัวและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสถาพภูมิอากาศ บทที่ 3 เรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก บทที่ 4 การดำเนิน นโยบายและมาตรการของรัฐ
และบทที่ 5 แนวทางในอนาคต โดยในแต่ละบทจะให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องโลกร้อนเพื่อให้คนไทยมีความทัดเทียมในสิ่งที่จะเกิดขึ้นและมีการปรับวิธีการดำเนินธุรกิจหรือกิจการให้ทันกับโลกในอนาคต มิฉะนั้นแล้วการขาดความรู้เกี่ยวกับโลกร้อนที่ถูกต้อง อาจทําให้คนไทยต้องยอมรับสภาพของความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับรายละเอียดเนื้อหาในรายงาน เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ระบุว่าแนวโน้มอุณหภูมิพื้นผิวโลกที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อระบบภูมิอากาศที่ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme Events)
เช่น การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกหรือธารน้ำแข็ง (glaciers) พายุฝนตกรุนแรง น้ำท่วมหนัก ภาวะแล้ง การเกิดคลื่นความร้อน ไฟป่า เป็นต้น รวมถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบในหลายภูมิภาคของโลกที่มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นและสร้างความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สิน และความเป็นอยู่ของมนุษย์รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ
ที่ผ่านมามีการเกิดพายุ ฝนตกรุนแรง และน้ำท่วมหนักในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน การเกิดหิมะตกติดต่อกันหลายชั่วโมงในหลายพื้นที่ของประเทศอาร์เจนตินา และ การเกิดคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ทางตอนใต้ของยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย เป็นต้น
ส่วนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่จำนวนวันและคืนที่หนาวเย็นลดลง หรือจำนวนวันและคืนที่ร้อนเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในช่วงระยะเวลา 12 ปี หลังในช่วงปี 2549-2561 (ค.ศ. 2006 –2018) มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงถึง 3.7 มิลลิเมตรต่อปี รวมทั้งความเสียหายต่อระบบนิเวศบนพื้นดิน การเปลี่ยนแปลงของระบบอุทกวิทยาธารน้ำแข็ง ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
ส่วนสถานการณ์อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น จากผลการศึกษาแบบจําลองภูมิอากาศพบว่ามีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี ค.ศ. 1940-2100 เพิ่มสูงขึ้น เมื่อพิจารณาภายใต้สถานการณ์จําลองต่าง ๆ ได้แก่
1.สถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงและสูงมาก มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ภายในปี ค.ศ. 2100 ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.4 องศาเซลเซียสในช่วงปี ค.ศ. 2081-2100 ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีการแข่งขันระดับภูมิภาคซึ่งมุ่งเน้นความมั่นคงของประเทศและภูมิภาค
2.สถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใกล้เคียงกับปัจจุบันจนถึงปี ค.ศ. 2050 ทําให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส
3.สถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำและต่ำมาก มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2070 จากการมีการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ ทําให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.4 องศาเซลเซียสในช่วงปี ค.ศ. 2050
อย่างไรก็ตาม รายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นและยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยหลังจากนี้จะมีการเปิดรายงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้วอีกครั้งหนึ่ง และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ