ThaiPublica > สัมมนาเด่น > ประเทศไทยในกระแส AEC: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย

ประเทศไทยในกระแส AEC: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย

28 พฤศจิกายน 2012


ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งปัจจุบันพบว่า สังคมไทยได้ให้ความสำคัญกับกระแสการเข้าสู่การเป็น AEC จำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกัน จากกระแสดังกล่าว ยังคงพบว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจดังกล่าวอยู่มากเช่นกัน

งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 เรื่อง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้ายทาย” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จึงได้ถูกจัดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง ที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ตลอดจนนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับโอกาส และความท้าทายของประเทศไทย ในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจดังกล่าว

ในบทความวิชาการเรื่อง “ประเทศไทยในกระแส AEC: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย” ที่มีผู้วิจัยคือ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู และคณะ ได้พบความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือ “มายาคติ” (myth) ของคนไทยต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้คนไทยตื่นตระหนก หรือถูกเบี่ยงเบนความสนใจไปผิดทิศทาง ซึ่งอาจทำให้เราไม่สามารถแปลงโอกาสที่มากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้

โดยมายาคติที่ได้มีการพูดถึง และมีการนำเสนอความเป็นจริงเพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่ได้มีการพูดถึงในบทความนี้มี 4 ข้อคือ

1. ในปี 2558 ประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข้อเท็จจริงคือ ในปี 2558 จะยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ต่อประเทศไทย เนื่องจากการเปิดเสรีการค้าสินค้าในปัจจุบันมีการลดภาษีศุลกากรให้เป็น 0% (เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 ตามกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน AFTA-CEPT) ไปแล้วถึง 99.5% ซึ่งถือว่าเสร็จสิ้นเกือบสมบูรณ์แล้ว เมื่อเกิด AEC ในปี 2558 จึงแทบไม่มีการเปลี่ยนปลงในเรื่องนี้ และเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนยังคงไม่มีความคืบหน้ามาก เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกฎหมายภายในประเทศของไทย

2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานทุกประเภทโดยเสรี
ข้อเท็จจริงคือ จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเกี่ยวข้องเฉพาะวิชาชีพ 8 สาขา ภายใต้ข้อตกลงการยอมรับร่วมกัน (MRAs) เท่านั้น ในข้อตกลงระบุว่า แรงงานจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักวิชาชีพอาเซียน และผู้ที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ จะต้องผ่านการสอบความรู้และมาตรฐานวิชาชีพที่เป็นภาษาไทย ทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยจึงยังไม่เกิดขึ้นทันที ขณะที่การจดทะเบียนวิศวกรอาเซียนกลับพบว่า ประเทศไทยยังไม่มีวิศวกรคนใดเลยที่ไปจดทะเบียนเป็นวิศวกรอาเซียนตามข้อตกลง

3. AEC จะทำให้นักลงทุนอาเซียนสามารถลงทุนในธุรกิจบริการได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อจำกัด ตั้งแต่ปี 2558

ข้อเท็จจริงคือ ในปี 2558 ชาติอาเซียนจะถือหุ้นในธุรกิจบริการได้อย่างน้อย 70% โดยการเปิดเสรีขึ้นกับกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งพบข้อเท็จจริงว่า ไม่มีข้อกำหนดของ AEC ที่บังคับให้สมาชิกประชาคมต้องแก้กฎหมายให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจได้ 100% ส่งผลให้กรอบการเปิดเสรีภาคบริการภายใต้ AEC ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจของประเทศสมาชิกยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 49 ในธุรกิจบริการ ดังนั้น การเปิดเสรีภาคบริการของไทยภายใต้ AEC จึงอยู่ในระดับที่จำกัดมาก

4. การรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนคล้ายกับสหภาพยุโรป (European Union: EU) จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน

ข้อเท็จจริงคือ ระดับการบูรณาการทางเศรษฐกิจของ AEC แตกต่างจากสหภาพยุโรปมาก เพราะสหภาพยุโรปเป็น Economic Union ซึ่งมีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจเหนือรัฐ แต่ประชาคมอาเซียนเป็น Free Trade Area ที่มีการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานเสรีจำกัดมาก โดยแต่ละประเทศยังคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย การตัดสินใจดำเนินการใดๆ ของอาเซียนจึงต้องได้รับความยินยอมจากประเทศสมาชิกทั้งหมด ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินนโยบายต่างๆ ร่วมกัน

ความเข้าใจผิดต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการเสียโอกาส ในบทความนี้จึงได้นำเสนอ ภาพ “ความเป็นจริง” (reality) เกี่ยวกับการรวมกลุ่ม AEC แม้ว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะยังไม่บรรลุเป้าหมายการเป็นตลาดเดียวอย่างแท้จริงในปี 2558 ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนในความเป็นจริงได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน

ด้านการค้า

พบว่าการลดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างประเทศอาเซียนเดิมส่วนใหญ่ลดลงเหลือร้อยละ 0 แล้ว โดยมูลค่าการค้าของไทยกับประเทศกลุ่มอาเซียนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ที่เพิ่มสูงกว่ามาก

ด้านการลงทุน

พบว่าในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจไทยไปลงทุนในอาเซียนมากกว่าที่อาเซียนมาลงทุนในไทย โดยมุ่งไปที่กลุ่มพลังงาน สาธารณูปโภค วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ ซึ่งการลงทุนของไทยในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยอาเซียนถือเป็นแหล่งทุนโดยตรงที่สำคัญของไทย และอาเซียนเป็นผู้ลงทุนโดยตรงอันดับต้นๆ ของไทยรองจากญี่ปุ่น

ด้านแรงงาน

พบว่าในปี 2553 มีแรงงานต่างด้าวในไทยที่ได้รับอนุญาตมากกว่า 1.35 ล้านคน และในจำนวนนี้กว่า 1.18 ล้านคน มาจากอาเซียน โดยส่วนใหญ่มาจากกัมพูชา ลาว และพม่า ในจำนวนนี้มีแรงงานจากกัมพูชา ลาว และพม่า ที่ทำงานกรรมกรและงานรับใช้ในบ้านในประเทศไทยกว่า 1.14 ล้านคน

จากความจริงที่พบจึงสรุปได้ว่า ในความเป็นจริง เศรษฐกิจไทยได้ผนวกเข้ากับเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งในด้านการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนโดยตรง และการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือ ทำให้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์สูง และยังคงมีโอกาสต่อประเทศไทยอีกมากในอนาคต

โอกาสที่ว่านี้ ในบทความได้มองเห็นถึงโอกาสของ AEC ที่สำคัญ 3 ประการต่อประเทศไทยคือ

1. โอกาสจากการใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิตประเทศไทยสามารถใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ทั้งการขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการขาดที่ตั้งของอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้น เช่น เหล็กต้นน้ำและปิโตรเคมี

โดยปัญหาในภาคแรงงานไทย เกิดจากการที่ประเทศไทยประสบภาวะแรงงานตึงตัว และแรงงานสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น เกิดปัญหาค่าจ้างแรงงานในประเทศสูง ทำให้เกิดโอกาสจากแรงงานในอาเซียนที่มีค่าจ้างแรงงาน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งที่ถูกกว่าไทยมาก

ขณะที่ปัญหาความจำกัดและไม่เพียงพอของการผลิตพลังงานในไทย ทำให้ไทยต้องพึ่งพาพลังงานจากประเทศเพื่อบ้านสูง เช่น ก๊าซธรรมชาติจากพม่า (19.3% ของก๊าซทั้งหมด) ถ่านหินจากอินโดนีเซีย (34.7%) และปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยได้มาจากประเทศลาวกว่า 7.2% จากศักยภาพด้านพลังงานของอาเซียน จึงเป็นโอกาสต่อประเทศไทย

2. โอกาสจากการที่อาเซียนจะรวมกันเป็นตลาดเดียว (single market) ในอนาคต
การรวมกลุ่มในอาเซียนเป็นตลาดเดียวในอนาคต จะทำให้เกิดตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าตลาดในประเทศ ซึ่งมีผลในการช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยและอาเซียนมากขึ้น และขนาดตลาดในอาเซียนยังจะใหญ่ขึ้นไปอีกในอนาคต เนื่องจากการมีประชากรและคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น

3. โอกาสจากการใช้อาเซียนเป็นเวที (platform) ในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ขยายต่อเนื่องไปอีก อาเซียนยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในด้านการเป็นเวที (platform) ในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต เช่น อาเซียน+3 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และ RCEP ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หากการรวมกลุ่มดังกล่าวประสบความสำเร็จ ขนาดของตลาดก็จะยิ่งขยายใหญ่ขึ้นหลายเท่า เช่น RCEP จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

และประเทศไทยยังจะได้รับโอกาสเฉพาะสำหรับประเทศไทยจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในอาเซียน เนื่องจากการมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลาง (hub) ของการเชื่อมต่อในภูมิภาค กล่าวคือ ประเทศไทยมี 33 จังหวัด ซึ่งติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การขนส่งทางบกเกิดขึ้นได้โดยง่าย ดังจะเห็นว่าระเบียงเศรษฐกิจ (economic corridors) ในภูมิภาคที่สำคัญล้วนต้องผ่านประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น East-West Corridor (เชื่อมพม่า ไทย ลาว เวียดนาม) North-South Corridor (เชื่อมจีนตอนใต้พม่า ไทย ลาว เวียดนาม) และ Southern Corridor (เชื่อมท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่า แหลมฉบังของไทย และกัมพูชา)

และในส่วนสุดท้ายของบทความ ที่ได้พูดถึงความท้าทายของประเทศไทยว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากโอกาสที่มากับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่เกิดขึ้น โดยระบุถึงความท้าทาย 3 ข้อ คือ

1. การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ สร้างสมดุลระหว่างภาคส่งออกและภาคบริการ และเพิ่มผลิตภาพของภาคการผลิต

2. การปฏิรูปกฎระเบียบและการดำเนินการของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. การปรับทัศนคติของธุรกิจ ประชาชน และภาครัฐ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ในบทความจึงได้เสนอประเด็นที่ไทยควรตระหนัก คือ การได้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มในภูมิภาคไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ต้องอาศัยการกำหนดนโยบายและมาตรการของภาครัฐ และการดำเนินการของธุรกิจที่เหมาะสม โดยภาครัฐ ธุรกิจเอกชน ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย ควรมีท่าทีและแนวทางดำเนินการใน 3 ด้าน คือ

1. การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและกฎระเบียบ (structural and regulatory reform) ที่รัฐควรจะให้มีการเปิดเสรีการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยลดอุปสรรคการค้าจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (NTM) การผ่อนคลายกฎแหล่งกำเนิดสินค้า เปิดเสรีการค้าบริการสำหรับธุรกิจที่ยังผูกขาด มีการอำนวยความสะดวกทางการค้า (trade facilitation) การปรับปรุงพิธีการศุลกากรให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบชำระเงิน มีการอำนวยความสะดวกทางการลงทุน (investment facilitation) ปรับปรุงการคืนภาษีให้ดีขึ้น การสนับสนุนให้มีทุนเพียงพอกับธุรกิจไทยในการลงทุนในต่างประเทศ การจัดตั้งหน่วยงาน one-stop service ให้ข้อมูลคำปรึกษาอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจเพื่อการลงทุน และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงาน

2. การกระจายประโยชน์จากการรวมกลุ่มในภูมิภาคอย่างเป็นธรรม ที่ไทยควรให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศเพื่อนบ้านในด้านโครงสร้างพื้นฐานและสังคม เช่น ถนน การศึกษา การสาธารณสุข และควรคุ้มครองแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยอย่างเป็นธรรม ควรส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศเพื่อนบ้าน และควรร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาข้ามพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด การค้ามนุษย์

3. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและประชาชนไทยมีความเป็นสากลมากขึ้น คนไทยควรปรับเลิกทัศนคติที่ว่าเพื่อนบ้านเป็นศัตรูตามประวัติศาสตร์ และความเชื่อที่ว่าคนไทยเหนือกว่า ขณะเดียวกัน คนไทยควรปรับระดับการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียนให้ดีกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้ จากการสำรวจคะแนนสอบวัดภาษาอังกฤษ TOEFL ปรากฏว่า คนไทยอยู่ลำดับสุดท้ายในอาเซียน และควรมีการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมอาเซียนด้วย

ดังนั้น ความท้าทายที่แท้จริงของการรวมกลุ่มในภูมิภาคก็คือ การที่ภาครัฐจะต้องเอาชนะกลุ่มผลประโยชน์ในภาคธุรกิจบางส่วน ที่ได้ประโยชน์จากการผูกขาดในสาขาบริการ และระบบราชการบางส่วนที่ได้รับประโยชน์จากความไม่โปร่งใสในระบบศุลกากร การตรวจสินค้าผ่านแดน และการบังคับใช้กฎหมายต่อแรงงานต่างด้าว ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และการที่ผู้ประกอบการและประชาชนไทยจะต้องปรับทัศนคติต่อประเทศเพื่อนบ้านให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ข้อมูลเพิ่มเติม:
1. บทความฉบับเต็ม “ประเทศไทยในกระแส AEC: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย”
2. เอกสารประกอบการสัมมนา
3. TDRI Factsheet

ปฏิบัติการยึดหัวหาดรับ AEC อย่าปล่อยให้โอกาสลอยนวล

ว่ากันว่า “กลุ่มประเทศอาเซียน” คือพื้นที่ที่น่าลงทุนที่สุดในสายตาชาวโลก

เพราะนอกจากจะมีปัจจัยเกื้อหนุนในด้านแรงงานและทรัพยากรแล้ว อัตราการเจริญเติบโตของกลุ่มอาเซียนยังแตะอันดับกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุด

หลายคนบอกว่าถ้ากลุ่มประเทศอาเซียนเติบโตโดยเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อย่างต่อเนื่องไปอีก 40 ปี อาเซียนจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

คำถามที่เกิดขึ้นตามมา ธุรกิจไทยที่อยู่ในอาเซียนเองควรจะกำหนดกลยุทธ์อย่างไรเพื่อให้ “โอกาส” นั้นเป็นของเรา?

“โอกาสสำหรับธุรกิจไทยในอาเซียนและเอเชีย” เป็นหนึ่งในหัวข้องานสัมมนา “ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2556 กลยุทธ์ธุรกิจไทยฝ่าภัยเศรษฐกิจโลก” ที่จัดขึ้นโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา

โดยมี “3กูรู” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการโกอินเตอร์ของธุรกิจไทยมาร่วมพูดคุย ประกอบด้วย “อนนต์ สิริแสงทักษิณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. PTT Global Chemical “มาณพ เสงี่ยมบุตร” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยมี “ดร.วิรไท สันติประภพ” รองผู้จัดการสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

“ปี 2558 คนจะเข้าใจผิดว่าวันนั้นคือวันสำคัญ เหมือนกับว่าเราคิดว่าวันแต่งงานคือวันสำคัญ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ที่สำคัญกว่าวันแต่งงานคือวันที่หลังจากแต่งงานกันแล้ว ว่าเราจะอยู่กันอย่างไรไปอีก 50 หรือ 40 ปี อันนั้นคือหัวใจ ที่ทุกคนเข้าใจก็คือว่า การที่เออีซีมารวมกัน เราตั้งใจจะก็อปปี้ยุโรปเพื่อให้มารวมๆ กันจะได้เดินอย่างเขาเป็น ใกล้ชิดการค้า การลงทุน ทรัพยากรต่างๆ รวมถึงทำวีซ่าเดียว ทำศุลกากรเดียวกัน สารพัดอย่างที่เราจะเปลี่ยนแปลงไปวันข้างหน้า” ดร.กอบศักดิ์ระบุ

ดังนั้น “เออีซี” จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการกลับมา “ผงาด” อีกครั้งของอาเซียน

ดร.กอบศักดิ์มองว่า ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การมาเยือนไทยและประเทศในภูมิภาคนี้ของผู้นำสหรัฐและจีนเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะทั้งสองมหาอำนาจมองเห็นว่าอาเซียนเป็นจุดได้เปรียบที่สำคัญในจังหวะที่โลกกำลังเซ

“สถานการณ์เศรษฐกิจวันนี้ในเอเชียยังดูดี แต่ในเอเซียที่ดูดีแล้ว อาเซียนดูดีที่สุด เพราะจีนและอินเดียมีหนี้เสียเยอะพอสมควร ขณะที่อาเซียนยังไม่ได้เริ่มลงทุน และเป็นโอกาสการลงทุน ซึ่งถ้าเริ่มลงทุนแล้วก็จะทำให้เกิดดอกเกิดผลรายได้ที่ดี และผลประโยชน์ที่น่าพอใจ”

กับคำถามที่ว่า เราจะฉกฉวยโอกาสจากเออีซีนี้อย่างไร? ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่าง 3 ลักษณะของการก้าวไปนอกประเทศของธุรกิจไทย คือ 1. การก้าวออกไปในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติในต่างประเทศของ ปตท. และบ้านปู เกี่ยวกับแก๊สธรรมชาติ และถ่านหิน

2. ออกไปเพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกิจในช่วงต่อไป เพราะต้นทุนทางธุรกิจของไทยแพงขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันหากเทียบค่าแรงไทยกับอินโดนีเซียจะพบว่า เมืองไทยแพงกว่า 2 เท่า กับเวียดนามจะเพิ่มเป็น 3 เท่า ขณะที่ความแตกต่างในเรื่องของค่าแรงไทย-กัมพูชาอยู่ที่ 4-5 เท่า ยังไม่นับประเทศพม่าที่เพิ่งเปิดประเทศซึ่งค่าแรงจะห่างกว่านี้ จึงมีหลายธุรกิจคิดว่าจะออกไปข้างนอกเพื่อลดต้นทุนตัวเอง และให้ตัวเองมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

แต่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องแรงงานอย่างเดียวเท่านั้น อย่างบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้เข้าไปเช่าที่ดินที่ประเทศลาวเป็นระยะเวลา 99 ปี เพื่อทำไร่อ้อย เพราะในขณะนี้ประเทศไทยทำการเกษตรแบบเป็นอุตสาหกรรมได้ยาก

3. การออกไปเพื่อขยายตลาด เช่น บริษัทอะไหล่รถจักรยานยนต์ขนาดเอสเอ็มอีของไทย ไปขยายตลาดที่ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากตลาดอะไหล่รถจักรยานยนต์ในประเทศหยุดโต แม้ว่าจะใช้เวลาในการไปแต่เมื่อไปได้แล้วกำไรรอบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับที่ประเทศฟิลิปปินส์ที่ธุรกิจไทยดูตลาดแล้วพบว่า เทคโนโลยีที่นั่นตามหลังไทยกว่า 15-20 ปี ซึ่งธุรกิจไทยตั้งเป้าว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดฟิลิปปินส์

นี่คือธุรกิจไทยที่ “ดร.กอบศักดิ์” ยกตัวอย่างว่าจะนำไปสู่กระบวนการวางหลักปักฐานยึด “หัวหาด” หลังจากเข้าสู่เออีซี!

“เรามีความได้เปรียบเป็นอย่างยิ่ง หากเทียบกับคู่แข่งเราตัวต่อตัว มีมาเลเซียและสิงคโปร์ที่เทียบเท่ากับเรา แต่ประเทศอื่นๆ ตามเมืองไทยทั้งนั้น ที่สำคัญกว่านั้น เราต้องออกไปตอนนี้ ถ้าไม่ออกไปตอนนี้เราจะเสียโอกาสในการเปิดช่องให้ประเทศเขามีผู้เล่นของเขาขึ้นมาเอง และขณะเดียวกัน คู่แข่งก็เข้าไปคว้าโอกาสก่อนเราเข้าไป”

แม้ว่า “โอกาส” จะเข้าทางประเทศไทย แต่การออกไปสู่ภูมิภาคก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะหลายครั้งที่ธุรกิจไทยประสบความล้มเหลวในการออกไปสู่ภูมิภาค เนื่องจากไม่เข้าใจเรื่องสายสัมพันธ์ (connection) ภาษา หรือแรงงาน

ดังนั้น ธุรกิจไทยเองจะต้องมีการเตรียมการที่ดีในการ “ฉกฉวย” โอกาสนั้น หนึ่งในวิธีที่ “ดร.กอบศักดิ์” แนะนำ คือ การเดินทางไปดูลู่ทางหลายๆ ครั้งเพื่อทำความเข้าใจบริบทของประเทศนั้นและประเมินศักยภาพว่าสามารถแข่งขันได้จริงหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการเตรียมการที่ดีและมีที่ปรึกษาที่ดี จะทำให้โอกาสที่ประสบความสำเร็จมีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับธุรกิจไทยคือ ประเทศไทยไม่มี “องค์กร” ที่จะช่วยเรื่องต่างๆ เหล่านี้เหมือนในประเทศญี่ปุ่นที่มี “เจโทร” หรือ “องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น” ที่สนับสนุนธุรกิจญี่ปุ่นให้ไปลงทุนในต่างประเทศ โดย “เจโทร”จะให้ข้อมูลด้านสายสัมพันธ์และข้อจำกัดต่างๆ ของประเทศนั้นๆ ซึ่งขณะนี้ในประเทศที่หลายๆ ธุรกิจอยากจะเข้าไปอย่างประเทศพม่า ปัจจุบัน “เจโทร” ได้เข้าไปเปิดออฟฟิศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ถ้าเราปรับหัวหาดดีรอบนี้ เราจะกินไปยาวนาน กินไปได้หลายๆ ปี แค่ถ้าเราไม่ปรับรอบนี้ และทำให้โอกาสที่ดีๆ ผ่านหลุดลอยไป ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชนเองก็ไม่ยอมก้าวออกไป ผมบอกได้เลยครับว่าเราจะทุกข์หนักยาวนานเช่นเดียวกัน เพราะว่าคู่แข่งของเรา เขามากันหมดแล้ว แต่ในขณะที่เราอยู่ใกล้ที่สุดกลับเดินช้าๆ”ดร.กอบศักดิ์ระบุ

ที่มา : http://my.opera.com

ขณะที่พี่ใหญ่ธุรกิจไทยที่โกอินเตอร์อย่าง บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล นั้น “อนนต์ สิริแสงทักษิณ” ระบุว่า กลุ่ม ปตท. มองเห็นโอกาสของธุรกิจไทยในเรื่องพลังงานในแถบอินโดจีนมานาน โดยเริ่มต้นจากประเทศพม่าที่ ปตท. ไปลงทุนในพม่ามากกว่า 20 ปีแล้วในการสำรวจขุดเจาะและพัฒนาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซที่มาจากพม่าสูงถึง 25-30 เปอร์เซ็นต์

“อนนต์” มองว่า ขณะนี้อินโดจีนมีการเติบโตไม่มาก แต่โอกาสในการที่จะเข้าไปพัฒนาในเรื่องของทรัพยากรและนำมาป้อนให้ประเทศไทย ซึ่งอยู่ในช่วงการเติบโตและเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของเอเชียและของโลกยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี นอกจากนี้ ควรสร้างความได้เปรียบกับประเทศในเรื่องของการสร้างท่าเรือทวาย นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศพม่า ซึ่งจะเป็นประตูออกไปสู่ตะวันตก

“เรามาดูว่ากลุ่มไหนบ้างที่ยังมีศักยภาพรองรับให้กับเรา มีการเติบโต มีกำลังซื้อสูง เรามองไปที่เวียดนาม ซึ่งมีประชากร 90 ล้านคน อินโดนีเซีย 200 ล้านคน มีการเติบโตที่สูงมาก และธุรกิจที่เรามองสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจที่เรามีขีดความสามารถ ถ้าดูในกลุ่มของ ปตท. เองเป็นธุรกิจเคมิคอล 30 ปีที่ผ่านมาเติบโตจากไม่มีอะไรเลย นำแก๊สธรรมชาติจากอ่าวไทยมาต่อยอด แต่วันนี้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่หลังจากเรามีการเชื่อมโยงควบรวมธุรกิจเป็นบริษัท พีทีที โกลบอล อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ผมกำลังจะพูดให้เห็นว่าภาพเหล่านี้เป็นภาพที่เรามองตัวเองภายใต้กรอบความเข้มแข็ง กรอบความสามารถ”

“อนนต์” กล่าวว่า สิ่งที่เราจะเดินต่อไป ไม่ได้เอาแรงงานมาใช้ในการเติบโตของธุรกิจ เพราะหนีไม่พ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ดังนั้น จะต้องเข้าไปในธุรกิจที่สามารถพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ โดยอุตสาหกรรมเทรนด์ใหม่ที่จะมีการเติบโตสูง ทั้ง Automatic Industrial, Construction Industry, Electrical and Electronics Industry

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นอีกเทรนด์สำคัญคือกระแสเรื่อง “Green” ซึ่ง ปตท. กำลังจะผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา โดยจับมือกับพาร์ทเนอร์ในสหรัฐอเมริกา นำข้าวโพดมาทำผลิตภัณฑ์พลาสติกแทนปิโตรเคมี

“อนนต์” ทิ้งท้ายว่า จากประสบการณ์ที่เดินมาทั้งหมดไม่มีสูตรสำเร็จ มีสูตรเฉพาะตัวของมัน แต่ไม่ว่าจะทำธุรกิจในพื้นที่ใด สิ่งที่สำคัญที่จะต้องใช้ตลอดคือ Relationship

นอกจากประเทศในอาเซียนแล้ว ท่าทีของ “พี่ใหญ่เอเชีย” อย่างจีนก็มีความสำคัญกับโอกาสของธุรกิจไทยเช่นกัน นับตั้งแต่ที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในจีนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในไม่ช้า

“มาณพ เสงี่ยมบุตร” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า พรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศจีนมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายของประเทศจีน เพราะมีสมาชิกถึง 80 ล้านคน และเป็นเจ้าของที่ดินแทบทุกตารางเมตร ที่สำคัญ เป็นผู้ที่สามารถควบคุมธนาคารพาณิชย์ของจีนเกือบทุกแห่งได้

ดังนั้น การเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ของพรรคจึงมีนัยยะที่สำคัญ

โดยเฉพาะ 2 คีย์แมนหลักในพรรคคอมมิวนิสต์อย่าง “สี จิ้นผิง” เลขาธิการพรรคที่ถูกวางตัวเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคและประธานาธิบดีต่อจาก “หู จิ่นเทา” และ “หลี่ เค่อเฉียง” รองนายกรัฐมนตรี ที่จะขยับขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม 2556

พื้นเพของ “สี จิ้นผิง” และ “หลี่ เค่อเฉียง” มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของประเทศจีน

“มาณพ” วิเคราะห์ว่า การวางผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสองแสดงให้เห็นว่า จีนต้องการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างนโยบายการลงทุนและนโยบายเชิงสังคม แต่ถ้าไปมององค์ประกอบของคณะกรรมการประจำกรมการเมืองทั้ง 7 คนพบว่า มีคณะกรรมการที่มีพื้นเพการศึกษาทางสังคมมากกว่าคณะกรรมการชุดที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นชัดว่าจีนในอนาคตจะเน้นการปรับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม

“การดำเนินนโยบายต่อไปของจีนจะมีความมั่นคงและมีความชัดเจนมากขึ้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมีการผ่อนคลายลง จากเดิมที่เติบโตอยู่ที่ 9-10 % ลดลงมาเหลือ 7.7 %”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในประเทศจีนกำลังเกิดปัญหาเรื่อง “แรงงาน” กำลังจะขาดแคลน เพราะการดำเนินนโยบาย “ลูกคนเดียว”

“ในโครงการต่างๆ ที่มีการก่อสร้างในเขตจังหวัดทางภาคตะวันออกหรือภาคกลางจะพบว่า แรงงานที่ใช้ในการก่อสร้างจะเป็นแรงงานดูมีอายุมากๆ ประกอบกับการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมของจีนมีการขยายโรงงานไปตั้งในต่างจังหวัด ทำให้แรงงานเลือกที่จะทำงานในบ้านเกิดมากกว่าการทำงานต่างเมือง จึงเป็นที่มาของอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ อย่างไอทีหรือการสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อแก้ปัญหาประชาชนที่มีการแก่ตัวลง”

“มาณพ” มองว่า นักธุรกิจไทยที่จะเข้าไปทำธุรกิจในจีนนั้นจะต้องเกาะติดกระแส เพราะหากเป็นธุรกิจน้ำมัน เหล็ก ปูนซีเมนต์ หรือปิโตรเคมีขนาดใหญ่ อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมแนวใหม่ที่เน้นเรื่องการบริโภคจะได้รับการสนับสนุนมากกว่า หรือเข้าไปรองรับการเติบโตของจีนและการดึงนักลงทุนเข้ามาในไทย

ทั้ง 3กูรู พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเข้าสู่เออีซีในอีก 3 ปีข้างหน้าถือเป็น “โอกาส” ที่ดีที่สุด แต่ถ้าไม่เตรียมความพร้อม โอกาสที่เห็นข้างหน้าก็อาจจะหลุดมือไป!