ThaiPublica > คอลัมน์ > Black Out คดีจับแพะ

Black Out คดีจับแพะ

9 กันยายน 2024


1721955

กลายเป็นธรรมเนียมช่วงครึ่งปีหลังไปเสียแล้วที่เกาหลีจะมีซีรีส์กระหน่ำมาแข่งกันให้ดูไม่หวาดไม่ไหว และหนึ่งในซีรีส์แนวอาชญากรรมระทึกขวัญที่เราไม่อยากให้พลาดก็คือ Black Out ซีรีส์ 14 ตอนจบจากค่าย MBC ที่ตอนนี้ดำเนินมาถึงครึ่งหลังพอดี ครึ่งหลังที่นอกจากจะเปลี่ยนไตเติลปะหัวซีรีส์แบบใหม่แล้ว ยังหันไปเล่าอีกมุมมองที่ซีรีส์ไม่เคยเล่ามาก่อนเลย อันเป็นจุดพลิกผันที่ยิ่งทำให้ซีรีส์เรื่องนี้มีความซับซ้อนเข้มข้นขึ้นเป็นอย่างมาก Black Out ดัดแปลงมาจากนิยายสืบสวนเล่มดังของเยอรมัน Schneewittchen muss sterben โดยนักเขียนหญิง เนเล นอยเฮาซ์ ฉบับแปลไทยโดย สรวงอัปสร กสิกรานันท์ ของสำนักพิมพ์สันกฤต ในชื่อ สโนว์ไวท์ต้องตาย (Snow White Must Die)

นิยายเล่มนี้อยู่ในลำดับที่ 4 ของซีรีส์นิยายชุด Bodenstein & Kirchoff Series อันเป็นคดีที่คลี่คลายโดยคู่หูนักสืบชายหญิง โอลิแวร์ ฟอน บอเดนชไตน์ กับปิอา เคิร์ชฮอฟฟ์ ที่มีทั้งหมด 10 เล่ม คือ 1. An Unpopular Woman (2019) 2. Murder Friends (2019) 3. The Ice Queen / Deep Wounds (2019) 4. Snow White Must Die (2010) 5. Who Sows the Wind (2012) 6. Bad Wolf / Big Bad Wolf (2013) 7. I Am Your Judge / To Catch a Killer / The Living and the Dead (2015) 8. In The Forest (2017) 9. Mother’s Day (2019) 10. Eternal Friendship (2021)

นิยายทั้ง 10 เล่มนี้เคยถูกทำเป็นภาพยนตร์ทางช่องทีวีเยอรมันที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 13 ตอน (บางเรื่องแบ่งเป็น 2 ตอนจบ) ตอนละ 90 นาทีมาตั้งแต่ปี 2013 เรื่อยมาจนเล่มล่าสุดจะออนแอร์ปลายปีนี้ ในชื่อชุด Der Taunuskrimi (2013-2024) โดยไม่ได้ลำดับตามนิยาย แต่นำเอาเล่ม 4 คือ Snow White Must Die ขึ้นมาเป็นเรื่องแรกและจบในตอนเดียว

ส่วนของเกาหลีเองก็มีการแปลและตีพิมพ์ครบทั้งสิบเล่ม และเล่มที่ระทึกสุดดังสุดขายดีที่สุดก็คือ Snow White Must Die นี้ด้วยเช่นกันที่ถูกแปลงมาเป็นซีรีส์ Black Out ทว่าซีรีส์นี้มีความแตกต่างอย่างมากทั้งจากตัวนิยายดั้งเดิมและตัวภาพยนตร์ทีวีฉบับเยอรมัน ที่เห็นได้ชัดคือ ในนิยายเดิมทีเป็นคู่หูนักสืบชายหญิง แต่ในซีรีส์เกาหลีได้ตัดนักสืบหญิงออกไป แล้วเปลี่ยนเป็นตำรวจสายสืบชายเพียงคนเดียว แถมยังเกรี้ยวกราดอย่างมาก ขณะที่ฉบับนิยายตัวละครนี้มาดนิ่งสุขุม

ส่วนตัวเราตอนแรกงงมากว่าการหยิบนิยายเล่มดังขนาดนี้ขึ้นมาทำเป็นซีรีส์ถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะยิ่งนิยายเรื่องนี้ขายดีมากเท่าไหร่ แปลว่าคนเกาหลีส่วนใหญ่ย่อมรู้อยู่แล้วว่าจุดจบของเรื่องจะเป็นอย่างไร แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อมีโอกาสได้ย้อนกลับไปดูฉบับเยอรมันแล้ว เราพบว่าฉบับเกาหลีสนุกกว่ามาก

การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างยิ่งทำให้โครงเรื่องหนักแน่นกลมกล่อมสมเหตุสมผลขึ้น จนนึกไม่ถึงเลยว่านี่จะเป็นซีรีส์ที่ถูกดัดแปลงมาจากของฝรั่งต่างวัฒนธรรม โดยเฉพาะยิ่งการที่มันถูกดำเนินเรื่องในเกาหลีที่เคยเกิดคดีจับแพะอันอื้อฉาวมาอย่างซ้ำซ้อนครั้งแล้วครั้งเล่า ยิ่งพลิกผันให้ซีรีส์นี้นอกจากจะคาดเดาไม่ได้แล้ว ยังดึงดราม่าให้ผู้คนยิ่งอินไปกันใหญ่เมื่อนำไปผูกโยงกับคดีที่เคยเกิดขึ้นจริงในเกาหลีด้วย

ในฉบับซีรีส์เกาหลีเปิดฉากขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนขณะที่โกจองอู (บยอนโยฮัน จากซีรีส์ Misaeng: Incomplete Life-2014, Mr. Sunshine -2018, Uncle Samsik-2024) ถูกตำรวจปลุกขึ้นลากคอไปสอบสวนทำแผนแล้วขึ้นศาลในข้อหาฆาตกรรมเพื่อนหญิงรายหนึ่ง และต้องสงสัยว่าฆ่าเพื่อนหญิงอีกรายหนึ่งด้วยในเวลาเดียวกันแต่รายหลังหาศพไม่พบ ก่อนจะปิดคดีลงอย่างรวดเร็วด้วยคำตัดสินจำคุกสิบปี โดยโกจองอูให้การว่าเขาเกิดอาการสติวูบดับ (black out) ทำให้จำช่วงเวลาเกิดเหตุไม่ได้เลย ขณะที่สามัญสำนึกตลอดมาเขาเชื่อว่าตัวเองไม่ใช่ผู้กระทำผิด และน่าจะไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วยซ้ำไป แต่ไม่มีใครเลยที่จะรับฟังเขา

ผ่านไปสิบปี ชเวนากย็อม (โกโบกึล จากซีรีส์ Arthdal Chronicles-2019, The Heavenly Idol -2023) เพื่อนหญิงคนหนึ่งในกลุ่ม เธอคอยเทียวมาเยี่ยมจองอูตลอดสิบปีที่ผ่านมา จากอดีตสมัยเด็กลุคทอมบอยบัดนี้เธอกลายเป็นสาวสวยสะพรั่งและเป็นดารานางแบบดังมารับจองอูถึงหน้าประตูคุก ทั้งที่ไม่เคยมีใครมาเยี่ยมจองอูเลยตลอดสิบปีที่ผ่านมา แถมพ่อของเขายังมาฆ่าตัวตายจากไปอีก ส่วนแม่ก็ถูกคนทั้งหมู่บ้านจ้องจะเล่นงานอยู่ตลอดเวลา ทำให้จองอูเหลืออดเมื่อพบว่าแม่ถูกกลั่นแกล้ง เขาจึงพยายามจะขออยู่ในหมู่บ้านนี้เพื่อปกป้องแม่ ทว่าแม่กลับตอบจองอูว่า

แม่ : แกอยู่ที่นี่ไม่ได้หรอก ถึงติดคุกแล้วก็ใช่ว่าจะพอชดใช้บาปกรรมของแกได้
จองอู : ผมผิดไปแล้วครับ
แม่ : ชั่วชีวิตอย่าได้ลืมคำนี้เด็ดขาด ส่วนฉันจะอยู่ที่นี่จนตาย เพราะลูกชายของฉันเป็นคนบาป วินาทีที่แกกลายเป็นฆาตกร… แกก็ไม่ใช่ลูกของฉันอีกต่อไปแล้ว

ในอีกฟากหนึ่ง สายสืบเลือดเดือดโนซังชอล (โกจุน จาก Oh My Baby-2020, Cheat On Me If You Can-2020-2021) ถูกย้ายตัวชั่วคราวจากโซลมายังสถานีตำรวจในหมู่บ้านห่างไกลแห่งนี้เนื่องจากใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ แม้เขาจะเป็นพวกใช้กำลังอารมณ์ฉุนเฉียว แต่ก็ขึ้นชื่อว่ามีไหวพริบ ช่างสังเกต และเคยมีผลงานในคดีใหญ่ๆ มาหลายครั้งแล้ว

ตัวละครสโนว์ไวท์ต้องตายที่ถูกเอ่ยถึงในทุกเวอร์ชันเป็นผู้หญิงผมดำขลับดวงตากลมโตปากแดงผิวขาว ซึ่งอันที่จริงสโนไวท์ในที่นี้มีนัยถึงตัวละครสองตัว ที่คนหนึ่งเราคงยังบอกไม่ได้ต้องรอลุ้นกันเอาเองในซีรีส์ แต่อีกคนหนึ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นเธอตั้งแต่อีพีแรกคือตัวละครที่ชื่อฮาซอล (คิมโบรา จาก SKY Castle-2018-2019, Touch-2020, Like Flowers in Sand-2023-2024) เธอผิดหวังจากเมืองใหญ่เลยย้ายมาหาจ๊อบเล็กๆ น้อยๆ ที่หมู่บ้านนี้ ทำงานครัวเป็นผู้ช่วยแม่ของจองอูในร้านอาหาร ที่อดีตเคยเป็นสมบัติของครอบครัวจองอูมาก่อน

ใช่แล้ว สมัยมัธยมครอบครัวของจองอูเป็นที่น่าอิจฉาของคนทั้งหมู่บ้าน เพราะนอกจากจะเรียนเก่งแล้ว จองอูยังอนาคตไกลสอบติดหมอ แต่แล้วอนาคตของเขาก็มีอันแบล็กเอาต์ดับวูบลงไปหมด เมื่อจองอูถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร… ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขาเป็นแพะในคดีนี้ เพราะถ้าย้อนความไปตั้งแต่ต้น ไม่มีความเป็นไปได้เลยที่เขาจะสามารถฆ่าคนตายสองรายซ้อนในเวลาเดียวกัน… ในขณะที่ทั้งสองศพอยู่ห่างไกลกันมาก

ทว่า เมื่อสิบปีก่อนไม่มีใครรู้ว่าอีกศพซ่อนอยู่ที่ไหน จนเมื่ออีกศพที่หายไปนั้นถูกพบเจอขึ้นมา ก็ทำให้สายสืบโนซังชอลมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าจองอูไม่ใช่ฆาตกรตัวจริง ก่อนที่สายสืบจะพบความผิดปรกติในขั้นตอนการสืบสำนวน… แต่ใครกันที่ลงมืออย่างโหดเหี้ยมเช่นนี้ แล้วอะไรเป็นแรงจูงใจให้ฆาตกรก่อคดีร้ายแรงนี้

ทุกคนในเรื่องนี้เป็นฆาตกรได้ทั้งนั้น แม้ว่าจะมาในคราบนักบุญผู้เข้ามาช่วยเหลือ หรือเพื่อนใกล้ชิดผู้หวังดีก็ตาม… ไม่แน่ว่าพวกเขาอาจจะร่วมมือกันก็ดูจะมีความเป็นไปได้ไม่น้อย

สิ่งที่เป็นหัวใจของบทความชิ้นนี้คือ “คดีแพะ” อันถูกเน้นย้ำมาตลอดเรื่องในซีรีส์นี้ เมื่อปรากฏว่าจองอูเป็นตัวละครที่เราคนดูจะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าเขาคือแพะ และความผิดที่เขาไม่ได้ก่อขึ้นนี้ส่งผลมหาศาลต่อครอบครัวและตัวเขาเอง ที่ไม่อาจจะรื้อฟื้นเรียกร้องเอาอะไรกลับคืนมาได้เลย

จองอูถูกนักโทษคนอื่นๆ รุมทำร้ายในคุก พ่อฆ่าตัวตาย แม่ถูกทำร้าย คนทั้งหมู่บ้านรุมสาป สังคมตราหน้าว่าเป็นฆาตกร ทรัพย์สมบัติทุกสิ่งอันรวมถึงอนาคตอันยาวไกลดับวูบหายวับไปหมดภายในพริบตา

เรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่แต่ในนิยายหรือซีรีส์เท่านั้น แต่มันยังเคยเกิดขึ้นจริงมาแล้วและหลายครั้งด้วยในสังคมเกาหลี บทความนี้เราจะยกตัวอย่าง 3 คดีจับแพะสุดช็อก ได้แก่

คดีฆาตกรรมสี่แยกยักชอน-สิบปีที่ถูกตราหน้าว่าเป็นฆาตกร

“ท่านผู้พิพากษาครับ กระผมมีข้อโต้แย้ง และหวังว่าการพิจารณาคดีจะดำเนินไปตามหลักการ! นี่เป็นคดีที่ตำรวจใส่ร้ายเด็กชายอายุ 15 ปีในข้อหาฆาตกรรม ด้วยการซ้อมทรมานและวิธีสืบสวนที่ผิดกฎหมาย ลูกความของผมต้องอยู่ในฐานะพยาน… ไม่ใช่คนร้ายครับ!” – ทนายความพัคจุนยอง

เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปี 2000 เวลาประมาณตีสอง บริเวณสี่แยกยักชอน เมืองอิกซาน ผู้เสียชีวิตคือนายยู คนขับแท็กซี่อายุ 42 ปี ถูกแทง 12 จุด ผู้อยู่ในเหตุการณ์คือนายชเว อายุ 15 ปี พนักงานร้านกาแฟ ให้การว่าเห็นคนร้ายหลบหนีไป ต่อมานายชเวถูกเรียกมาสอบปากคำอีกครั้ง ก่อนที่ตำรวจสถานีอิกซานจะส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาเพื่อยื่นฟ้องนายชเวในข้อหาฆาตกรรม แม้ว่านายชเวจะยืนกรานว่าตนบริสุทธิ์ แต่ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกนายชเว 15 ปี ทนายความของนายชเวในขณะนั้นชี้นำให้เขายอมสารภาพผิดเพื่อลดโทษ ที่สุดศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุกนายชเว 10 ปี

หลังพ้นโทษสิบปีจากคุก นายชเวยังถูกบริษัทสวัสดิการแรงงานฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน 140 ล้านวอน (ราว 3.5 ล้านบาท) เป็นดอกเบี้ยเงินประกันการเสียชีวิตของคนขับแท็กซี่ ทำให้ในปี 2013 นายชเวได้ยื่นฟ้องต่อศาลให้รื้อการพิจารณาคดีของเขาใหม่

ย้อนความ

อันที่จริงในปี 2003 สามปีหลังเหตุฆาตกรรม สถานีตำรวจกุนซานซึ่งไม่ใช่ผู้รับผิดชอบคดีสี่แยกยักชอนได้รับข้อมูลว่า “ฆาตกรตัวจริงไม่ใช่นายชเว” จึงเรียกนายคิมและนายอิมมาสอบปากคำเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2003 คำให้การของพวกเขามีรายละเอียดที่คนทั่วไปไม่รู้ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่านายคิม (อายุ 19 ในปีที่เกิดเหตุ) น่าจะเป็นฆาตกรตัวจริง

นายคิมให้การว่าได้ขึ้นแท็กซี่เพื่อก่ออาชญากรรม ขณะที่รถกำลังจะถึงสี่แยกยักชอน จู่ๆ นายคิมก็ชักมีดจากเบาะหลังขู่นายยูคนขับแท็กซี่เพื่อปล้น แต่เพราะนายยูขัดขืนนายคิมจึงคว้าไหล่ซ้ายคนขับแล้วจ้วงแทงนายยู ก่อนจะหลบหนีไปด้วยความตกใจ จากนั้นนายคิมก็โทรหานายอิมเพื่อนของเขาจากตู้สาธารณะใกล้เคียง ก่อนจะวิ่งไปยังบ้านนายอิม แล้วซ่อนมีดไว้ใต้ที่นอนบ้านนายอิม ซึ่งนายอิมให้การว่าต่อมาไม่นานเขาได้ย้ายออกจากบ้านนั้นและมีดยังคงอยู่ที่เดิม

นอกจากนี้ ร่องรอยบาดแผลของศพยังตรงกับลักษณะของมีดตามคำสารภาพของนายคิมและนายอิม ทว่าอัยการผู้รับผิดชอบคดีนี้กลับปฏิเสธคำร้องขอหมายจับ ต่อมาตำรวจสายสืบฮวาง จากสน.กุนซานผู้รับผิดชอบคดีในปี 2003 พยายามยื่นขอหมายค้นแต่กลับถูกปฏิเสธ

ขณะเดียวกัน หลังจากนายคิมได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากกฎหมายสามารถกักตัวผู้ต้องสงสัยได้เพียง 48 ชั่วโมง นายคิมถูกอัยการส่งตัวไปโรงพยาบาลจิตเวช ก่อนที่จะอัยการจะสรุปว่า “นายคิมให้การเท็จเนื่องจากสภาพร่างกายและจิตใจอ่อนแอ”

หลังจากนั้น แม้สายสืบฮวางจะพยายามยื่นขอหมายค้นครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี แต่สุดท้ายสายสืบฮวางกลับถูกย้ายออกจากพื้นที่ ทำให้ทีมสอบสวนในปีนั้นถูกยุบไปทันที ส่วนนายอิมต่อมาในปี 2012 พบว่าเขาฆ่าตัวตาย หลายฝ่ายเชื่อว่าอาจเพราะนายอิมรู้สึกผิดที่ช่วยเหลือเพื่อน

รื้อคดี

หลังจากนายชเวมีความพยายามจะรื้อคดีนี้ใหม่ในปี 2013 เขาถูกอัยการสกัดอยู่หลายรอบ เนื่องจากคำให้การของนายชเวสะเทือนวงการตำรวจและอัยการอย่างกว้างขวาง รวมถึงการที่นายชเวติดคุกไปแล้วอย่างยาวนานถึงสิบปียิ่งทำให้ตำรวจเหม็นโฉ่ไปใหญ่

นายชเวระบุว่า ระหว่างการสอบสวนในปี 2000 เขาถูกตำรวจอิกซานซ้อมทรมาน โดยแทนที่จะพาตัวเขาไป สน. กลับนำเขาไปยังโมเตลแห่งหนึ่ง แล้วใช้สมุดโทรศัพท์เล่มหนาๆ ฟาดเข้าที่แก้มและตีท้ายทอย ถูกกระทืบด้วยฝ่าเท้าและฟาดด้วยกระบองตำรวจ ไปจนถึงบังคับให้เขานอนคว่ำหน้าแล้วตีช่วงก้นถึงต้นขา บังคับให้เหนื่อยล้าอดนอนสามวันสามคืนทำให้เขาต้องยอมจำนนต่อข้อกล่าวหา อีกทั้งยังไม่เคยพบลายนิ้วมือของนายชเวบนรถแท็กซี่เลย รวมถึงไม่พบปฏิกิริยาลูมินอลหรือคราบเลือดบนอาวุธที่ตำรวจอ้างว่าเป็นของคนร้ายเลย

คำให้การของนายชเวนี้ต่อมาทำให้เจ้าหน้าที่สืบสวนพัค หนึ่งในทีมสอบสวนที่อายุน้อยที่สุดใน สน.อิกซาน ขึ้นให้การเป็นพยานฝั่งนายชเวแล้วยอมรับว่าเป็นคนนำตัวนายชเวไปยังโมเตลตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่สืบสวนอาวุโส… ทว่า ต่อมาเจ้าหน้าที่พัคฆ่าตัวตาย ส่วนเจ้าหน้าที่อาวุโสคนผิดตัวจริงยังไม่เคยออกมาขอโทษนายชเวเลย อีกทั้งผลจากคดีเมื่อปี 2000 ยังทำให้ตำรวจนายนี้ได้เลื่อนขั้นยศใหญ่กว่าเดิมด้วย

คำตัดสินสุดท้าย

17 พฤศจิกายน 2016 หลังการต่อสู้ในชั้นศาลอย่างยาวนาน ศาลตัดสินให้นายชเวไร้มลทินจากโทษที่เคยถูกจำคุกไปแล้วนานถึงสิบปี ส่วนนายคิมคนร้ายตัวจริง ศาลมีคำตัดสินในเดือนพฤษภาคม 2017 ให้นายคิมต้องโทษจำคุกทันที 15 ปี

ต่อมา 13 มกราคม 2021 ศาลมีคำสั่งบังคับให้รัฐบาลจ่ายเงินค่าชดเชยแก่นายชเว ที่ต้องถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมมาอย่างยาวนาน (โดนจับตั้งแต่อายุ 15 กว่าจะได้เงินชดเชยคือเมื่อนายชเวอายุ 36 ยาวนานกว่ายี่สิบปี) รัฐต้องชดใช้เป็นเงิน 1.3 พันล้านวอน (ราว 33 ล้านบาท) ให้แก่นายชเว และอีก 300 ล้านวอน (ราว 7.6 ล้านบาท) ให้แก่ครอบครัวของนายชเว (ให้แม่ 250 ล้านและน้องชายอีก 50 ล้าน) ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจอิกซานและอัยการที่สั่งฟ้องคดีนายชเว ต้องร่วมกันรับผิดชอบเงินจำนวน 20% ของเงินชดเชยทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเจ้าหน้าที่สืบสวนอีผู้ลงมือซ้อมทรมานและบัดนี้เป็นตำรวจยศใหญ่ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสิน ส่วนนายตำรวจคนอื่นๆ ในทีมได้กล่าวขอโทษนายชเวอย่างเป็นทางการเมื่อสิงหาคม 2021 ทว่าอัยการผู้นำตัวนายชเวขึ้นสู่ศาล… ยังไม่เคยกล่าวขอโทษต่อนายชเวเลย

8 กันยายน 2021 พัคจุนยอง ทนายความของนายชเว ได้กล่าวต่อสื่อว่า “ขณะนี้นายชเวได้รับเงินไปแล้ว 840 ล้านวอน และเขาประสงค์จะแบ่งเงินนี้ 10% ออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้กับกลุ่มช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และอีกส่วนหนึ่งให้กับทีมตำรวจ สน.กุนซานที่ช่วยจับอาชญากรตัวจริง อย่างไรก็ตาม พบว่าเงินชดเชยที่ได้มาจากทาง สน.อิกซานผู้กระทำผิด เป็นเงินที่ได้มาจากการฉ้อโกง”

“รัฐไม่สามารถปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้ การซ้อมทรมานสอบสวนผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไม่สามารถแก้ไขได้แก่พลเมืองผู้บริสุทธิ์ และไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่แท้จริงได้ การกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยสถาบันของรัฐและสมาชิกของพวกเขา จำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้ว่า… สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก” – ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาสุดท้ายในคดีนี้

คดีซูเปอร์มาร์เกตเมืองซัมรเย-ความยุติธรรมที่ล่าช้าไป 17 ปี

เช้าตรู่ของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1999 เกิดคดีชิงทรัพย์ในซูเปอร์มาร์เกตแห่งหนึ่ง ณ เมืองซัมรเย เหยื่อทั้งสามเป็นเจ้าของซูเปอร์มาร์เกตแห่งนี้ คือนายพัค นางชเว คู่สามีภรรยา และนางยู แม่ยาย ถูกจับมัดในระหว่างนอนหลับ คดีปล้นทรัพย์นี้กลายเป็นคดีฆาตกรรมเนื่องจากนางยูผู้เป็นหญิงชราวัย 77 ปีได้เสียชีวิตลงเพราะขาดอากาศหายใจ ส่วนคนร้ายทั้งสามหลังจากปล้นเงินได้แล้วก็วิ่งหนีไป

9 วันหลังเหตุการณ์ตำรวจจับกุมชายหนุ่ม 3 คน (หนึ่งในนี้มีความบกพร่องทางสติปัญญา) อายุระหว่าง 19-20 ปีที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ก่อนจะนำตัวไปทำแผนประกอบคำสารภาพผิด แล้วนำส่งศาลที่จบลงในชั้นฎีกาให้จำคุก 11 ปี คดีปิดลงอย่างรวดเร็ว

คดีพลิก

ผู้ต้องหาทั้งสามพยายามอ้างมาตลอดสิบปีหลังจากนั้นว่า “สารภาพผิดเนื่องจากถูกตำรวจทำร้ายร่างกายระหว่างสอบสวน” แต่ไม่เคยมีใครฟัง บุคคลแรกที่เห็นความผิดปกติของคดีนี้คือนางพัคยองฮี สมาชิกคณะกรรมการปฏิรูปนิยายคาทอลิกผู้ทำงานให้คำปรึกษาในเรือนจำจอนจู ได้คุยกับนายอิม หนึ่งในสามผู้ต้องหานี้ นางพัคพยายามร้องขอให้สอบสวนใหม่อยู่หลายรอบแต่กลับถูกเพิกเฉย

แม้ภายหลังทั้งสามคนจะพ้นคุกมาแล้วก็ยังคงถูกตราหน้าว่าเป็นฆาตกร แต่แล้วจู่ๆ คดีก็พลิกผันอย่างรวดเร็วเมื่อผ่านไปนานถึง 17 ปี ในเดือนมกราคม 2016 มีผู้มาสารภาพว่าเขาคือหนึ่งในคนร้ายตัวจริง และยื่นคำร้องขอให้ผู้ที่เคยถูกลงโทษจำคุกทั้งสามรายนั้นไร้มลทิน การสารภาพผิดชายคนร้ายตัวจริงนี้เกิดจากความสำนึกหลังจากเมื่อปลายปี 2015 เพื่อนอีกคนในกลุ่มคนร้ายตัวจริงได้ฆ่าตัวตายลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งปฏิเสธข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม คดีนี้ได้สิ้นอายุความไปแล้ว


คลิปทำแผนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 1999

ทนายความพัคจุนยองยื่นมือเข้ามารับผิดชอบคดีนี้ และร้องขอให้พิจารณาใหม่ในปี 2015 โดยสิ่งที่เป็นหลักฐานสำคัญที่ตำรวจไม่อาจโต้แย้งได้คือวิดีโอที่ถ่ายโดยลูกเขยของเหยื่อเอง ในขณะกำลังทำแผนประกอบคำรับสารภาพที่พบว่า มีนายตำรวจคอยจัดฉากและขู่บังคับผู้ที่ถูกใส่ความทั้งสามซึ่งยังอยู่ในภาวะหวาดกลัว จึงจำต้องลานลานทำตามที่ตำรวจบงการ

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนร้ายตัวจริงถึงกับฆ่าตัวตาย คือ เมื่อทนายความพัคจุนยองนำเสนอเรื่องราวของสามคนที่ถูกใส่ความออกเผยแพร่ทางเว็บ Story Funding ทำให้ชาวเนตให้ความสนใจอย่างแพร่หลาย รวมถึงหนึ่งในคนร้ายตัวจริงถึงกับฆ่าตัวตาย บทความนี้ต่อมาถูกรวมเล่มตีพิมพ์ในชื่อ “ความยุติธรรมที่ล่าช้า”

วันที่ 28 ตุลาคม 2016 ณ แผนกอาญาที่ 1 ศาลแขวงจอนจู บุคคลทั้งสามที่เคยถูกจำคุกในข้อหาปล้นทรัพย์และฆ่าคนตายถูกตัดสินใหม่อีกครั้งว่าไร้มลทินมัวหมอง และอัยการยืนยันไม่คัดค้านคำตัดสินใหม่ของศาล

อย่างไรก็ตาม คำตัดสินอื้อฉาวนี้ส่งผลกระทบต่อ สส.พัคบอมกเย จากพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี (พรรคคู่แข่งคะแนนสูสีกับพรรคพลังประชาชนของนายยุนซ็อกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน) เนื่องจากย้อนไปในปี 1999 เขาเป็นหนึ่งในผู้พิพากษาสมทบในเวลานั้น ทำให้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก และทนายพัคจุนยองได้เรียกร้องทีมผู้พิพากษาทั้งหมดกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม มีเพียง สส.พัคบอมกเยเพียงคนเดียว ที่เชื้อเชิญผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนไปยังสมัชชาแห่งชาติเพื่อคำนับขอโทษอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2017 และให้คำมั่นว่าจะออกกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก

ต่อมา 9 มิถุนายน 2017 แผนกคดีอาญาที่ 2 ศาลเขตจอนจู ตัดสินให้รัฐจ่ายเงินรวม 1.1 พันล้านวอน (ราว 27 ล้านบาท) ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม คือ 484 ล้านวอนให้นายอิมมยองซอน, 308 ล้านวอนให้นายชเวแดยอล และอีก 354 ล้านวอนให้นายอินกูคาง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 มีการสอบสวนภายในสำนักอัยการสูงสุดได้ข้อสรุปว่า อัยการในคดีเมื่อปี 1999 ไม่ต้องรับผิดชอบต่อคดีนี้ ทว่าผ่านไปอีกหลายปีเมื่อเรื่องซาลงในวันที่ 17 เมษายน 2022 ทนายความชเวผู้เป็นอัยการสูงสุดในคดีดังกล่าว ได้นัดหมายเหยื่อทั้งหมดเพื่อคำนับขอโทษอย่างเป็นทางการ

คดีฆาตกรรมต่อเนื่องสุดอื้อฉาว-แพะที่ถูกขังคุกนาน 20 ปี!

ยุนซองยอถูกตัดสินจำคุกในคดีที่เขาไม่ได้ก่อ วันที่เขาล้างมลทินตนเองได้สำเร็จ… เขาติดคุกไปแล้ว 20 ปี ซึ่งถ้าคนร้ายตัวจริงไม่ถูกระบุตัวได้เสียก่อน นายยุนซองยออาจต้องติดคุกไปตลอดชีวิต

นายยุนติดคุกจากคดีอื้อฉาวและยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลี เป็นคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่ใช้กำลังพลมากกว่าสองล้านนายแต่ไม่อาจจับคนร้ายตัวจริงได้… นอกจากแพะอย่างนายยุนที่ถูกตำรวจจับยัดคุกแทน

นายยุนซองยอเพิ่งพ้นข้อกล่าวหาในปี 2020 ด้วยวัย 53 ปี จากผลของคำตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในปี 1989 ด้วยข้อหาฆาตกรรมเด็กหญิงวัย 13 ปี หนึ่งในเหยื่อฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซอง หลังจากคนร้ายตัวจริง อีชุนแจ ถูกระบุตัวได้เมื่อปี 2019

นายยุนถูกปล่อยตัวชั่วคราวในปี 2009 หลังจากติดคุกไปแล้วสองทศวรรษ แต่กว่าเขาจะพ้นมลทินคือในปี 2019 แปลว่าเขาต้องใช้เวลานานถึง 30 ปีจึงจะพ้นข้อกล่าวหา อันเป็นตลอดสามสิบปีที่นายยุนถูกตราหน้าว่าเป็นฆาตกรฆ่าข่มขืนเด็กหญิง… ในคดีที่นายยุนไม่ได้กระทำ

  • อ่านเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซอง
  • นายพัคจองแจ ผู้พิพากษาศาลแขวงแห่งเมืองซูวอนทางตอนใต้ของกรุงโซล กล่าวในคำตัดสินคดีของนายยุนเมื่อปี 2020 ว่า “คำตัดสินดังกล่าวมีข้อผิดพลาดอันเนื่องมาจากการสอบสวนที่ผิดพลาด” เขากล่าวเสริมว่า “ในฐานะสมาชิกของฝ่ายตุลาการ ผมขอโทษต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ฝ่ายตุลาการไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเหมาะสมในฐานะด่านสุดท้ายเพื่อสิทธิมนุษยชน” ข้างฝ่ายนายยุนหลังจากพ้นมลทินเขาให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า “ผมหวังว่าจะไม่มีใครถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมเหมือนอย่างผมอีก”

    คดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองสร้างความหวาดผวาเป็นอย่างมากตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เหยื่อคาดว่ามีมากกว่า 30 รายทั้งหมดมีอายุตั้งแต่ 7-71 ปี ส่วนใหญ่มักจะถูกบีบคอจนเสียชีวิตหลังจากถูกข่มขืน ศพของพวกเขามักจะถูกถุงน่อง เสื้อชั้นใน หรือถุงเท้ายัดปาก บางศพมีการทุบทำลายด้วยร่ม ส้อม หรือไม่ก็ใบมีดโกน

    นายอีชุนแจฆาตกรตัวจริงโผล่ขึ้นให้การในชั้นศาลขณะรื้อคดีใหม่ในฐานะพยานให้กับนายยุนซองยอ นายอีกล่าวว่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงทำแบบนั้นลงไปได้… ผมไม่ได้คิดหรือวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า ผมฆ่าพวกเธอเหมือนกับแมลงเม่าที่ถูกดึงดูดเข้าไปหากองไฟ”

    ในระหว่างการพิจารณาคดีใหม่ของนายยุน หนึ่งในอดีตตำรวจสายสืบที่ทำการสืบสวนคดีนี้ได้สารภาพว่า นายยุนถูกทุบตีและอดนอนเป็นเวลาสามวันเนื่องจากถูกบังคับให้สารภาพเท็จ สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2020 และนายแบยองจู ผู้บัญชาการตำรวจได้กล่าวโค้งคำนับขอโทษว่า “เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อการตีตราชายผู้บริสุทธิ์ว่าเป็นฆาตกร เราขอโทษต่อเขาและครอบครัว”

    ข้ออ้างในการจับแพะ

    การสืบสวนของตำรวจเมื่อปี 1989 นั้นไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง ตอนนั้นตำรวจกล่าวโทษว่านายยุนเข้าไปในบ้านของเด็กหญิงที่ถูกฆ่าด้วยการปีนกำแพง แต่เมื่อพวกเขาพานายยุนไปยังที่เกิดเหตุเพื่อทำแผนประกอบคำสารภาพ นายยุนที่ป่วยเป็นโรคโปลิโอตั้งแต่กำเนิดและเดินกะเผลกมาทั้งชีวิตจึงไม่สามารถปีนกำแพงได้ ส่วนข้อโต้แย้งของนายยุนที่ว่าเขาถูกซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพเท็จนั้น กลับถูกปัดตกไปในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งแรก และเนื่องจากคดีฆ่าต่อเนื่องฮวาซองเป็นคดีสะเทือนขวัญอย่างมาก ทางการจึงถูกกดดันอย่างหนัก ทำให้ต้องหาแพะสักรายมาลงโทษให้ได้

    ด้านนายอีฆาตกรตัวจริงให้สัมภาษณ์ว่า “ผมยังไม่เข้าใจเลยว่าทำไมพวกเขาถึงใช้เวลานานมากขนาดนี้ในการจับตัวผม” นายอีที่มีอายุ 57 ปีในปี 2020 กล่าวเพิ่มเติมว่า “จริงๆ แล้วตอนนั้นผมถูกตำรวจสืบสวนซักถามหลายครั้ง แต่พวกเขากลับเอาแต่ถามถึงเพื่อนผมบ้าง ไม่ก็เพื่อนบ้านผม… แต่ไม่เคยถามเกี่ยวกับตัวผมอย่างจริงจังเลย… แล้วจู่ๆ พวกเขาก็ปล่อยตัวผมไปหน้าตาเฉย”

    การระบุตัวคนร้ายได้เกิดจากพัฒนาการของเทคโนโลยีการตรวจดีเอ็นเอ ทว่าตอนที่ตำรวจรู้ว่านายอีเป็นคนร้ายตัวจริง คดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองก็สิ้นอายุความไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตอนนี้นายอีจะรับโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ก็ไม่ใช่จากความผิดในคดีฮวาซอง แต่เป็นความผิดฐานฆ่าพี่สะใภ้ในเมืองปูซาน นายอีให้ความเห็นว่า “ผมขออยู่ในคุกยังดีกว่าจะถูกปล่อยตัวตอนนี้นะ ดูอย่างคดีของโจดูซอน ที่ต้องโทษข่มขืนเด็กหญิงแปดขวบสิ พอพ้นโทษก็โดนขู่ฆ่าทุกวัน… นั่นแค่คดีข่มขืนนะ… ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าถ้าผมถูกปล่อยตัวขึ้นมาจริงๆ จะโดนอะไรบ้าง”

    เงินชดเชยคุ้มหรือไม่กับชีวิตที่หายไป 20 ปี

    10 มีนาคม 2021 ศาลแผนกคดีอาญาที่ 5 เขตซูวอนตัดสินใจจ่ายเงินชดเชยจำนวน 2.517 พันล้านวอน (ราว 63.5 ล้านบาท) ให้แก่นายยุนซองยอ ศาลระบุว่า “โจทก์ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมเป็นเวลา 7,326 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 1989 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2009 คำร้องของคดีนี้ถูกยื่นภายใต้พระราชบัญญัติการชดเชยทางอาญาและเกียรติยศ นายยุนซองยอจะได้รับเงินชดเชย 2.517 พันล้านวอนจากการถูกคุมขัง 20 ปีอย่างไม่เป็นธรรม”

    พระราชบัญญัติค่าสินไหมทดแทนอาญาฉบับปัจจุบันระบุว่า จำนวนเงินที่ต่ำที่สุดจะเท่ากับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำภายใต้พระราชบัญญัติค่าจ้างขั้นต่ำในปีที่เกิดกรณีเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และสามารถเรียกร้องได้มากกว่านั้นแต่ต้องไม่เกิน 5 เท่าของแรงงานขั้นต่ำ แล้วนำไปคูณกับจำนวนวันที่ถูกคุมขัง เพื่อเยียวยาความเจ็บปวดทางจิตใจ และชดเชยเวลาที่สูญเสียไป

    แต่คำถามที่ตามมาคือ เงินจำนวนนี้คุ้มค่าหรือไม่กับชีวิตที่สูญหายไปยี่สิบปี อันเป็นตลอดยี่สิบปีที่นายยุนถูกตราหน้าว่าเป็นฆาตกร… อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยก็ยังดีกว่าในประเทศไทย เพราะไม่มีทางที่แพะในไทยคนไหนจะได้รับเงินเยียวยาเป็นจำนวนมหาศาลขนาดนี้อย่างแน่นอน!

    พัคจุนยองทนายคดีแพะ

    คนสำคัญที่คืนความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับแพะทั้งสามคดีที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด คือ พัคจุนยอง ตรงนี้เรานำบทสัมภาษณ์บางส่วนในหนังสือพิมพ์ The Korea Herald ที่ทนายพัคเล่าว่า

    “แม้ว่าการรื้อคดีของนายยุนซองยอที่ถูกใส่ร้าย จะไม่ทำให้นายอีชุนแจฆาตกรตัวจริงได้รับการลงโทษจากคดีนี้อีกต่อไป เนื่องจากสิ้นอายุความไปแล้ว แต่การพิจารณาคดีนี้ใหม่อีกครั้งจะทำให้นายอีมีโอกาสสารภาพความผิดต่อหน้าสาธารณชน และเขาบอกกับอัยการว่าเขาตั้งใจจะขึ้นเป็นพยาน ซึ่งอาจจะเป็นเพียงการกระทำตามมโนสำนึกเพียงไม่กี่อย่างของเขาที่ยังคงทำได้ในเวลานี้”

    “ผมจะไม่มีวันรับทำคดีของนายยุนเลยหากผมไม่เชื่อว่าเขาบริสุทธิ์จริง แล้วเมื่อย้อนกลับไปดูการพิจารณาคดีเมื่อสองทศวรรษก่อนผมก็เห็นความคลุมเครืออย่างมาก ตัวอย่างเช่น นายยุนแทบจะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลย แต่คำให้การที่เขายื่นต่อตำรวจนั้นกลับเขียนออกมาอย่างไพเราะจนน่าประหลาดใจ แถมบันทึกของศาลยังเผยให้เห็นว่านายยุนถูกเพิกถอนสิทธิ์ในการขอคำปรึกษาอีกด้วย”

    “ยุนเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่ยังเล็กและต้องออกจากโรงเรียน เขาใช้ชีวิตวัยรุ่นส่วนใหญ่แบบคนไร้บ้านและต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดทั้งๆ ที่ขาซ้ายพิการเดินกะเผลกอย่างถาวร การถูกยัดคุกเป็นแพะแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเขารวย มีเงินจ้างทนายและมีครอบครัวที่คอยช่วยเหลือเขา… แต่เขาไม่มีอะไรเลย”

    “อย่างไรก็ตาม คุณต้องเข้าใจด้วยว่าสภาพเมื่อสามสิบปีก่อนพวกตำรวจไม่มีเทคโนโลยีนิติเวช ไม่มีแม้แต่กล้องวงจรปิดทันสมัยแบบทุกวันนี้… แต่ในทางกลับกัน นั่นก็เป็นช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้ตำรวจสามารถจับตาสีตาสามาเป็นแพะได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน”

    ทนายไร้การศึกษา

    ทนายพัคจุนยอง ปัจจุบันอายุ 49 ปี เป็นทนายความจากสำนักงานกฎหมายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ของสมาคมเนติบัณฑิตเกาหลี เขาเคยได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลที่ปรึกษาเยาวชนเกาหลี (2010), รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัว (2011), รางวัลสันติภาพโนกุนรีครั้งที่ 8 รางวัลสิทธิมนุษยชน (2015), รางวัลทนายความเพื่อสาธารณประโยชน์ครั้งที่ 3 (2015), การยกย่องเป็นตัวแทนสาธารณะที่เป็นแบบอย่างจากศาลรัฐธรรมนูญ (2016), รางวัลอาซานสำหรับอาสาสมัครบริการ (2017), รางวัลพิเศษกฎหมายสาธารณรัฐเกาหลีครั้งที่ 1 (2018), รางวัลกฎหมายและวัฒนธรรมเมืองยงซาน ครั้งที่ 15 (2023)

    ทว่าตลอดมาทนายพัคมักจะถูกแซะว่าการศึกษาต่ำ เพราะหลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมปลายโนฮวาแล้ว เขาได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติมกโพ ในแผนกวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ลาออกหลังจากเรียนได้เพียงเทอมเดียว กล่าวอีกนัยหนึ่ง เขาเป็นหนึ่งในทนายความไม่กี่คนเท่านั้นในเกาหลีใต้ ที่สามารถสอบเป็นทนายความได้ทั้งที่จบการศึกษาแค่ระดับมัธยมปลาย

    แม้สมัยประถมและมัธยมต้นเขาจะเป็นเด็กดี แต่หลังจากแม่เสียชีวิตเขาก็กลายเป็นเด็กมีปัญหา เคยหนีออกจากบ้าน แต่กำลังใจจากพ่อของเขาเป็นแรงฮึดสู้จนสามารถเรียนจบระดับมัธยมได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากปลดประจำการทหาร เขาก็ลาออกจากมหาวิทยาลัยแล้วหันเหไปมุ่งมั่นกับการสอบเนติบัณฑิตแทน เขาผ่านการสอบในครั้งที่สอง เมื่อปี 2002 และสำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิจัยและฝึกอบรมตุลาการในปี 2006 หลังจากนั้นก็ไปเปิดสำนักงานกฎหมายในเมืองซูวอน

    ทนายหน้าใหม่

    ในปี 2007 หลังจากเปิดสำนักทนายความได้เพียงปีเดียว ขณะที่รับเป็นทนายความสาธารณะ เขาก็ได้รับคดีใหญ่ในเหตุฆาตกรรมเด็กหญิงไร้บ้านในเมืองซูวอน ซึ่งเขายอมรับว่าเขารับงานนี้เพราะต้องการมีชื่อเสียง แล้วอาจช่วยให้เขาได้ทำคดีอื่นๆ คดีที่ซูวอนเป็นคดีที่ไม่มีโอกาสจะชนะได้เลย ทำให้เขาท้อและไม่จริงจัง แต่คดีนี้ก็ทำให้ทัศนคติของเขาเปลี่ยนไป แล้วกลายเป็นพลิกให้เขาชนะคดีได้ด้วย

    ระหว่างนั้นเขาเริ่มไปเยี่ยมผู้ต้องขัง และพูดคุยอย่างจริงจังจนพบว่ามีหลายคดีที่คนร้ายเป็นแพะที่ถูกตำรวจและอัยการจัดฉาก เขาเล่าว่า “หัวใจของผมเจ็บปวดทุกครั้ง น้ำตาไหลออกมาไม่รู้ตัวเลย เมื่อได้ยินเรื่องราวจากปากของพวกเขาที่ถูกตราหน้าว่าเป็นฆาตกร”

    แต่เนื่องจากคดีที่เขารับทำส่วนใหญ่จะเป็นคดีที่ต้องการพิจารณาใหม่ และพวกเขามักจะไม่มีอำนาจและเงินไม่พอ หลายคนไม่มีปัญญาแม้แต่จะจ่ายค่าธรรมเนียมทนายความด้วยซ้ำ อีกทั้งยังต้องทำงานอย่างหนักในการเตรียมข้อมูลที่มักจะถูกขัดขวาง ทำให้ทนายพัคไม่มีเวลาในการทำงานอย่างอื่นที่สามารถจะแสวงหาผลกำไรได้เลย เขาเล่าว่า “มีคดีมากมาย แต่ถึงตอนนั้นผมก็ไม่มีปัญญาแม้แต่จะจ้างพนักงานได้เลยสักคน… เป็นสัญญาณว่าสำนักทนายความของผมกำลังจะล้มละลาย”

    ทนายล้มละลายไร้ศักดิ์ศรี

    ในที่สุดเดือนสิงหาคม 2016 สำนักทนายความของพัคจุนยองก็ประกาศล้มละลายโดยพฤตินัย พัคเล่าว่า “ตอนนั้นผมขอร้องให้นักข่าวพัคซังคยู เพื่อนของผมให้ช่วยเปิดระดมทุนผ่านทางเว็บ Story Funding พวกเราช่วยกันเขียนเรื่องราวจากคดีอยุตติธรรมต่างๆ ที่มีแพะมากหลายต้องการความช่วยเหลือ” การระดมทุนนี้ตั้งเป้าเอาไว้ 100 ล้านวอน (ราว 2.5 ล้านบาท) แต่กลายเป็นว่าบทความของเขาได้รับความนิยมทะลุ 300 ล้านวอนในเวลาอันรวดเร็ว จนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการระดมทุนกลายเป็นว่าเขาได้รับเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 560 ล้านวอน (ราว 14 ล้านบาท)

    เงินจำนวนนี้ทำให้เขาตัดสินใจที่จะไม่รับเงินจากคนยากไร้ที่มาขอให้ช่วยในคดีต่างๆ เลย เขาเลือกข้างที่จะช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นคนไร้อำนาจและขาดแคลนเงินทุนในการสู้คดีความ อย่างไรก็ตาม การกระทำของเขาก็มีคนส่วนหนึ่งที่กล่าวหาว่าเขาเป็นทนายไม่มีศักดิ์ศรี เพราะนอกจากจะเรี่ยไรเงินแล้วยังทำแต่คดีช่วยเหลืออาชญากร

    ทนายคนดัง

    บทความของเขาในเว็บ Story Funding (ปัจจุบันเว็บนี้ปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายน 2019) ต่อมาถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือ Delayed Justice (2017) ระหว่างนั้นเขากลายเป็นคนดังที่ถูกเรียกตัวไปเป็นผู้บรรยายบ้าง ออกช่องทีวีบ้างไม่ต่ำกว่า 20 ครั้งต่อเดือน ภายหลังหนังสือเล่มนี้ถูกสร้างเป็นซีรีส์ Delayed Justice (2020-2021) ที่เล่าเรื่องของทนายล้มละลายและจบแค่ ม.ปลายกับคู่หูนักข่าว


    Delayed Justice (2020-2021)

    ไม่เพียงเท่านั้นเรื่องราวของพัคจุนยองยังปรากฏในหนังอีกสองเรื่องคือ New Trial (2017) และ The Boys (2023) เรื่องแรกดัดแปลงจากคดีสี่แยกยักชอน ส่วนเรื่องหลังมาจากคดีปล้นซูเปอร์มาร์เกตเมืองซัมรเย


    New Trial (2017)

    The Boys (2023)

    กฎหมายไทย

    ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมระบุโดยอ้างอิงข้อกฎหมายดังต่อไปนี้ พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 มาตรา 6 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 21 และมาตรา 22 รวมถึงกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราในการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลย ในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ได้ระบุว่า

    1. กรณีที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกาย หรือจิตใจจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้น มีเหตุอันสมควรที่ผู้เสียหายจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ผู้เสียหายที่มีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจ ดังนั้น หากผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดก็จะไม่มีสิทธิขอรับค่าตอบแทนนี้

    แต่ต้องเป็นความผิดตามรายการที่ระบุไว้ท้าย พ.ร.บ. กล่าวคือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ความผิด ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ (มาตรา 276 – มาตรา 287) ลักษณะ 10, ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย หมวด 1, ความผิดต่อชีวิต (มาตรา 288 – มาตรา 294) หมวด 2, ความผิดต่อร่างกาย (มาตรา 295 – มาตรา 300) หมวด 3, ความผิดฐานทำให้แท้งลูก (มาตรา 301 – มาตรา 305) และหมวด 4 ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บหรือคนชรา (มาตรา 306 – มาตรา 308) เท่านั้น

    ผู้เสียหายในความผิดฐานอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้วหามีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนไม่

    ค่าตอบแทนที่ผู้เสียหายจะขอรับได้นั้น มี 4 ประเภท ได้แก่
    1. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ
    2. ค่าตอบแทนในกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย
    3. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
    4. ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

    ทั้งนี้ค่าตอบแทนที่ผู้เสียหายจะได้รับมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ และความร้ายแรงของการกระทำความผิดและสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายพึงได้รับ รวมทั้งโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่นด้วย

    ส่วนจำนวนค่าตอบแทนที่ผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธิจะได้รับจากรัฐมีดังนี้
    1. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท (รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้องและค่าอาหาร วันละไม่เกิน 600 บาท)
    2. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท (รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้องและค่าอาหาร วันละไม่เกิน 600 บาท)
    3. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติให้ จ่ายในอัตราวันละไม่เกิน 200 บาท แต่ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
    4. ค่าตอบแทนความเสียหายอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วให้จ่ายตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

    ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายจะได้รับค่าตอบแทน ดังนี้
    1. ค่าตอบแทน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
    2. ค่าจัดการศพ 20,000 บาท
    3. ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูไม่เกิน 30,000 บาท
    4. ค่าเสียหายอื่นนอกจาก 1-3 ให้จ่ายตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

    ค่าตอบแทนตามที่กล่าวมานี้ หากปรากฏในภายหลังว่า เหตุตามที่อ้างมาขอรับนั้นไม่เป็นความผิดอาญาหรือไม่ได้มีการกระทำตามที่กล่าวอ้าง ผู้เสียหายจะต้องคืนค่าตอบแทนที่รับไปแก่กระทรวงยุติธรรมทั้งหมด

    2. สิทธิของจำเลยในคดีอาญาในการที่จะได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายจากรัฐ “จำเลย” คือบุคคลที่ถูกฟ้องคดีต่อศาลว่าได้เป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งจำเลยที่จะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายจากรัฐจะต้องเป็นผู้ที่ถูกดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลว่าได้เป็นผู้กระทำความผิดอาญาโดยพนักงานอัยการ และถูกคุมขังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำเลยจึงจะมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายจากรัฐ และการที่จำเลยได้รับค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่ายจากรัฐไปแล้วก็ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่จำเลยจะพึงได้ตามกฎหมายอื่นอีก

    สิทธินี้มีได้เฉพาะในกรณีที่จำเลยถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการเท่านั้น

    สำหรับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายที่จำเลยจะขอรับได้นั้นมี 6 ประเภท ดังนี้

    1. ค่าทดแทนการถูกคุมขัง โดยคำนวณจากจำนวนวันที่ถูกคุมขัง ในอัตราวันละ 200 บาท
    2. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ หากว่าความเจ็บป่วยของจำเลยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี
    3. ค่าทดแทนในกรณีที่จำเลยถึงแก่ความตาย และความตายนั้นเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี
    4. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี
    5. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี
    6. ค่าทดแทนกรณีขอให้ศาลคืนสิทธิที่เสียไปอันเป็นผลโดยตรงจากคำพิพากษาแต่ไม่สามารถคืนสิทธินั้นได้

    ทั้งนี้ กฎหมายได้กำหนดอัตราการจ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลย ดังนี้

    1. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท
    2. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
    3. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี ให้จ่ายในอัตราวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
    4. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี ได้แก่ ค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นในการดำเนินคดี ซึ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นในการดำเนินคดีให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนค่าทนายความนั้นให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง

    แต่ขึ้นอยู่กับอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ และต้องอยู่ภายในกรอบอัตราที่กำหนดไว้ในตารางท้ายกฎกระทรวง ดังนี้คือ

    (1) คดีที่มีโทษประหารชีวิต ให้จ่ายในอัตราขั้นต่ำเรื่องละ 4,000 บาท แต่ไม่เกินเรื่องละ 100,000 บาท
    (2) คดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึงโทษประหารชีวิตรวมทั้งคดีอาญา ที่มีความผิดหลายกรรมหลายกระทงซึ่งแต่ละกระทงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกเกินกว่า 10 ปี ให้จ่ายอัตราขั้นต่ำเรื่องละ 3,000 บาท แต่ไม่เกินเรื่องละ 75,000 บาท
    (3) คดีอย่างอื่นนอกจากใน (1) และ (2) ให้จ่ายในอัตราขั้นต่ำเรื่องละ 2,000 บาท แต่ไม่เกินเรื่องละ 50,000 บาท

    ในกรณีที่จำเลยถึงแก่ความตายให้จ่ายค่าทดแทนแก่จำเลย ดังนี้

    1. ค่าทดแทนจ่ายเป็นเงินจำนวน 1000,000 บาท
    2. ค่าจัดการศพจ่าย 20,000 บาท
    3. ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูให้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท
    4. ค่าเสียหายอื่นนอกจาก 1, 2 และ 3 ให้จ่ายตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

    ผู้เขียนลองคำนวณเล่นๆ ต่อกรณีของนายยุนซองยอที่ได้รับเงินเยียวยาชดเชยราว 63.5 ล้านบาท เนื่องจากถูกยัดคุกเป็นแพะทั้งหมด 7,326 วัน หากคดีของนายยุนเกิดขึ้นในประเทศไทย นายยุนควรจะได้รับเงินชดเชยราว 1.4 ล้านบาท

    ทว่ากฎหมายไทยมีระบุด้วยว่า (1) คดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึงโทษประหารชีวิตรวมทั้งคดีอาญา ที่มีความผิดหลายกรรมหลายกระทงซึ่งแต่ละกระทงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกเกินกว่า 10 ปี ให้จ่ายอัตราขั้นต่ำเรื่องละ 30,000 บาท แต่ไม่เกินเรื่องละ 75,000 บาท

    หากคำนึงถึงในวงเล็บนี้แล้วก็มีความเป็นไปได้ว่า นายยุนแห่งราชอาณาจักรไทยน่าจะได้รับเงินเยียวยาไม่ถึงแสน เผลอๆ อาจจะไม่ได้เลย แถมยังต้องสำนึกบุญคุณล้นพ้นท่วมหัวแล้วที่รอดคุกพ้นความผิดบาปเวรกรรมมหันต์ที่ตนเองมิได้ก่อ…ไปยันชาติหน้าอีกก็เป็นได้!?

    ป้ายคำ :