ThaiPublica > คอลัมน์ > No Way Out : the Roulette คดีข่มขืนในเกาหลีใต้

No Way Out : the Roulette คดีข่มขืนในเกาหลีใต้

25 สิงหาคม 2024


1721955

เพิ่งอวสานลงไปเมื่อพุธที่ผ่านมานี้เอง สำหรับซีรีส์อาชญากรรมสุดระทึก 8 EP จบ No Way Out: the Roulette ที่ช่วงแรกทำท่าเหมือนจะไปในแนวแบบ Killing Vote (2023), Squid Game (2021) หรือไม่ก็ Liar Game (2014) ที่มีชายสวมหน้ากากชวนให้เล่นเกมอะไรบางอย่าง ซึ่งโจทย์สำหรับเรื่องนี้คือ การหมุนรูเล็ตต์ที่มีรายชื่ออาชญากรในคดีต่าง ๆ พร้อมกับบทลงโทษ เพื่อแลกกับเงินมหาศาล

(จากซ้าย) No Way Out, Liar Game, Squid Game, Killing Vote

แต่ในที่สุดกลับไม่ได้ดำเนินไปในทางนั้น ทำให้เราคลายสงสัยว่าทำไมซีรีส์แนวนี้ ถึงต้องระดมทัพนักแสดงยอดฝีมือมาป๊ะกันฮึ่มขนาดนี้ เพราะซีรีส์ไม่ได้เดินตามเกมแบบเรื่องอื่น ๆ แต่กลับเลือกจะหันไปเสียดสีสังคมในทุกแวดวงแทน ไม่ว่าจะตำรวจ คุก ศาล อัยการ ทนาย โรงพยาบาล รัฐสภา ส.ส. โรงเรียน ศาสนา แก๊งอันธพาล และชาวบ้านทั่วไปที่ล้วนถูกปั่นหัวให้คลั่งได้ง่าย ความสนุกของซีรีส์มันมาถึงจุดที่ยังจะมีความบ้าคลั่งอะไรอีกที่จะถูกนำเสนออกมา แล้วเรื่องจะพาไปคลี่คลายอย่างไร เมื่อทุกอย่างพัวพันกันยุ่งนุงนังวินาศสันตะโร

[เล่าก่อนแล้วกันว่า เดิมทีนี่จะเป็นซีรีส์เรื่องสุดท้ายของ อีซอนคยุน ผู้แสดงบทพ่อฝั่งบ้านคนรวยในหนังรางวัลออสการ์และคานส์ Parasite (2019) ซึ่งเวลานั้นนายอีถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับยาเสพติดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2023 ในขณะที่ซีรีส์เรื่องนี้เพิ่งเปิดกล้องถ่ายทำไปได้ไม่กี่วัน ทำให้นายอีขอถอนตัวออกจากซีรีส์เรื่องนี้ (กับอีก 5 โปรเจกต์ยักษ์ทั้งหนังและซีรีส์) แม้จะไม่มีหลักฐานประกอบใดใดเลยว่าเขาเสพยา เป็นเพียงการตั้งข้อหาจากสถานีตำรวจอินชอน

จากนั้นนายอีถูกสอบสวนในวันที่ 28 ตุลาคม พร้อมกับถูกห้ามออกนอกประเทศ ซึ่งหลังจากการตรวจเส้นผมและเส้นขนจากรักแร้ของนายอี พบว่าผลเป็นลบ แปลว่า ไม่พบสารเสพติด หรือมีสารเสพติดในปริมาณน้อยกว่า 1,000 นาโนกรัม/มิลลิลิตร แต่ตำรวจก็ยังจะยืนยันที่จะตรวจสอบเพิ่มเติมในเดือนพฤศจิกายน

โดยระหว่างนั้นนายอีได้เรียกร้องให้ตำรวจสอบสวนเขาด้วยเครื่องจับเท็จ เนื่องจากคำร้องไม่มีหลักฐาน และมาจากคำให้การของผู้กล่าวหาเพียงรายเดียว โดยนายอียอมรับว่าเขาได้ยาชนิดหนึ่งมาจากพนักงานสาวในบาร์หรูแห่งหนึ่ง ซึ่งเขายอมรับว่ามีเพศสัมพันธ์กับเธอ แต่เขาไม่เคยรู้เลยว่านั่นเป็นยาเสพติด รวมถึงเป็นไปได้ว่าเขาอาจถูกจัดฉากแบล็คเมล์

อย่างไรก็ตามอย่างที่รู้กันว่าสังคมเกาหลีมีความบ้าคลั่งอย่างหนัก และชาวเนตเกาหลีก็ขึ้นชื่อว่าชั่วร้ายที่สุดในสามโลก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ่อย ไม่ว่าจะกรณีดาราไอดอลอย่าง กูฮารา วงKara, ซอลลี วง f(x), จงฮยอน วง SHINee ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดจบลงด้วยการฆ่าตัวตายเพราะแรงกดดันโจมตีอย่างหนักจากชาวเนต…และสื่อ

ในด้านของ อี ผู้มีภาพลักษณ์เป็นคุณพ่อลูกสอง อยู่กินกับเมียอย่างไม่เคยมีข่าวฉาวใด บวกกับสังคมเกาหลีใต้มีความคาดหวังทางศีลธรรมสูงต่อบุคคลสาธารณะ และชาวเนตเกาหลีจะรับไม่ได้อย่างรุนแรงในเรื่องการนอกใจหรือการเสพยา ซึ่งคดีนี้มีทั้งสองอย่าง ขณะที่สื่อต่างก็ประโคมละเลงรุมทึ้งข่าวของ อี อย่างสนุกมือ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2023 เวลา 10:30 น. อี ถูกพบว่าเสียชีวิตด้วยวัย 48 ปีภายในรถของเขาที่ลานจอดริมถนนใกล้สวนสาธารณะวารยอง ใจกลางกรุงโซล ในที่นั่งผู้โดยสารมีถ่านไม้ที่ใช้ฆ่าตัวตายด้วยพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ ก่อนหน้านี้ตำรวจได้รับรายงานจากภรรยาของเขาว่า อี ออกจากบ้านหลังจาก “เขียนบันทึกที่คล้ายกับจดหมายลาตาย”

(จากซ้าย) พัคโซจุง, พัคอุ้มลูกก่อนขึ้นศาล, คิมนัมฮี, ตำรวจอินชอนยศใหญ่

หลังการเสียชีวิตของอี นักแสดงประกอบหญิงรายหนึ่ง พัคโซจุง ถูกจับกุมในวันที่ 28 ธันวาคมหนึ่งวันหลังจากนายอีเสียชีวิต หลังจากพบว่าเธอคือผู้แบล็คเมล์นายอีด้วยจำนวนเงิน 50 ล้านวอน เธอปรากฏตัวต่อหน้าสื่อด้วยการอุ้มลูกเรียกคะแนนสงสาร แล้วสื่อก็เริ่มขุดคุ้ยว่าเธอเคยติดคุกคดีฉ้อโกงมาก่อน ส่วนอีกคนคือ คิมนัมฮี พนักงานหญิงในบาร์หรูตามที่อีเคยให้การไว้ ทั้งนางพัคและนางคิมรู้จักกันในเรือนจำและเช่าบ้านอยู่ในอาคารเดียวกัน

จากนั้นยังมีตำรวจระดับสูงสำนักตำรวจอินชอนไม่เปิดเผยชื่ออีกราย ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคมปีนี้ โทษฐานเป็นต้นตอของการปล่อยข่าวให้หลุดไปถึงสื่อ ในระหว่างนั้นยังมีอีกอย่างน้อย 22 สื่อเกาหลีได้รับโทษเตือนจากคณะกรรมการจริยธรรม ตำรวจใหญ่รายนั้นถูกยกฟ้อง กรมตำรวจแถลงว่าสิ่งที่ทำไปเป็นไปตามกระบวนการอย่างถูกต้อง ไม่มีสื่อใดออกมาขอโทษ ส่วนพัคโซจุงและคิมนัมฮีต่างก็ปฏิเสธข้อกล่าวหา]

[ในช่วงที่ อีซอนคยุน เป็นข่าวฉาว หนังและซีรีส์ของเขาหลายเรื่องถูกดองหมด และระหว่างที่ซีรีส์นี้กำลังออนแอร์ หนังเรื่องสุดท้ายของเขา Land of Happiness ที่เคยโดนดองก็เพิ่งจะเข้าโรงในเกาหลีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ด้วย]

ที่เราลากประเด็นอีซอนคยุนเข้ามาเอี่ยวด้วย เพราะมันแทบจะเป็นโลกคู่ขนานกับเหตุการณ์ในซีรีส์เรื่องนี้ No Way Out: the Roulette เมื่อชายสวมหน้ากากไลฟ์สดว่าในอีกสามวันข้างหน้า ฆาตกรจอมข่มขืน คิมกุกโฮ วัย 49 ปีกำลังจะถูกปล่อยตัว แล้วหากใครสามารถฆ่าเขาได้ จะได้รับเงินสดไปวางไว้หน้าบ้านทันทีเหนาะ ๆ สองหมื่นล้านวอน (ราวห้าร้อยล้านบาท)

จากนั้นทั้งสังคมก็เริ่มเป็นบ้า สื่อทีวีและสื่อโซเชียลต่างเล่นข่าวนี้ ผู้คนแห่แหนกันไปดักรอหน้าเรือนจำ นักการเมืองเห็นช่องทางที่จะเอาข่าวดังนี้มากลบข่าวฉาวฉ้อโกงของตนเอง ทนายอีกคนสบช่องในการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ลูกเมียของฆาตกรถูกเกลียดชังทั้งในโรงเรียน…ที่ทำงาน…และถูกคนแปลกหน้าขู่ฆ่า ครอบครัวเหยื่อวางแผนแก้แค้นฆาตกรสมควรตายรายนี้ และชาวเมืองต่างขับไล่ให้ย้ายเขาออกไปอยู่ถิ่นอื่น…หรือไม่ก็ประหารเขาเสีย

พระเอกที่มาเสียบแทน อีซอนคยุน เป็นสุดยอดพระเอกหนังที่น้อยครั้งมากจะมาโผล่ในซีรีส์ เพราะส่วนใหญ่เขาคร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ที่มีเครดิตในหนังทั้งสิ้น 48 เรื่อง แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้เขามีบทรับเชิญในซีรีส์ The Good Bad Mother (2023) และ Entourage (2016) ก็จริง แต่ซีรีส์ที่เขาแสดงเต็ม ๆ ก่อนเรื่องนี้คือเมื่อปี 2016 นู่นเลย และเรื่องนั้นดังมาก ๆ ดังขนาดมีเวอร์ชั่นญี่ปุ่น จีน และไทย (ฉบับไทยรีเมคโดยผู้กำกับสืบสันดาน ในชื่อใหม่ว่า 23:23 สัญญาสัญญาณ) แล้วซีรีส์เรื่องที่ว่านั่นก็คือ Signal (2016) ส่วนพระเอกที่เราหมายถึงก็คือ โจจินอุง จาก Dead Man (2024), The Devil’s Deal (2023) และหนังคานส์ชื่อดังของปาร์คชานอุ๊ค The Handmaiden

บทฆาตกรจอมข่มขืน แสดงโดยนักแสดงเจ้าบทบาทที่เล่นบทชั่วก็ชั่วจนน่าขยะแขยง เล่นเป็นคนดีก็เฟี้ยวสุดเท่ นั่นก็คือ ยูแจมยอง ที่บ้านเราน่าจะจำตัวร้ายยอดชั่วที่เขาแสดงไว้ดีมากได้ใน Itaewon Class (2020) ส่วนผู้รับบทลูกชายของฆาตกร แสดงโดย ซังยูบิน หนุ่มน้อยมากฝีมือที่แสดงหนังตั้งแต่ 11 ขวบ จนมีเครดิตในหนังตอนนี้ทั้งสิ้น 24 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ The Witch: Part 2. The Other One (2022)

รวมถึงบท ส.ส.หญิงจอมสร้างภาพ ก็แสดงโดย ยอมจองอา นักแสดงยอดฝีมืออีกคนที่บทดราม่าก็เชือดเฉือนสุดฤทธิ์ บทฮาก็น่ารักน่าหยิก หลายคนน่าจะจำเธอได้จากซีรีส์สุดฮิต SKY Castle (2018) และ Cleaning Up (2022) และที่เด็ดสุดคือซีรีส์นี้มีดาราอิมพอร์ตจากไต้หวัน เกรก ซู/สวี่กว่างฮั่น พระเอกจากหนังวายโกยรายได้ Marry My Dead Body (2022) และหนังรักสุดซึ้งที่เพิ่งลาโรงบ้านเราไป 18×2 Beyond Youthful Days (รักเรายังคิดถึง 2024) ซึ่งซีรีส์นี้เขามาในบทนักฆ่าสุดเท่ มิสเตอร์สไมล์

ที่เราพยายามจะบอกก็คือ ไม่ใช่แค่พวกเขาเป็นดาราดัง แต่ยังเป็นยอดฝีมือระดับกิ้งก่าเปลี่ยนสีทุกคน และทุกคนไม่ใช่แค่นักแสดงซีรีส์ แต่เป็นนักแสดงระดับหนังรางวัลโกยรายได้เบอร์ต้น ๆ รวมถึงผู้กำกับ ชเวกุกฮี ที่แม้จะโดดลงมากำกับซีรีส์นี้เป็นเรื่องแรก แต่เขาก็เคยมีผลงานหนังเด่น ๆ อาทิ Split (2016 หนังคว้ารางวัลหนังเรื่องแรกยอดเยี่ยมจากเทศกาล Fantasia คานาดา), Default (2018) และLife is Beautiful (2022)

จึงไม่น่าแปลกใจที่ซีรีส์อาชญากรรมสุดระทึกและแอบตลกร้ายเบา ๆ เรื่องนี้จะระดมนักแสดงยอดฝีมือมากันครึ่งวงการ เพราะแกนของมันคือดราม่าที่ถูกเขียนบทมาอย่างมีชั้นเชิง ด้วยผลงานเขียนบทของ อีซูจิน ผู้กำกับและเขียนบท เจ้าของรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเวทีใหญ่บลูดราก้อน และรางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ ในเรื่อง Han Gong-Ju (2014) หนังที่ตีแผ่คดีข่มขืนอันอื้อฉาวเกี่ยวกับนักเรียนหญิงที่ถูกข่มขืนโดยกลุ่มผู้ชายจำนวนมาก

คดีข่มขืนหมู่ ณ เมืองมีรยัง

หนัง Han Gong-Ju (2014) รวมถึงซีรีส์ Signal (2016) ที่มีอยู่ช่วงหนึ่งเล่าถึงคดีสมมติที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน ทั้งสองเรื่องนี้อิงมาจากคดีจริงที่เรียกว่า “Miryang gang rape” บอกก่อนว่าเหยื่อจริงในคดีนี้ไม่ได้มีชื่อ “ฮันกงจู” อย่างในหนัง แต่กงจูในที่นี้แปลว่า “ลูกสาว” ส่วนฮัน เป็นคำที่ชาวเกาหลีเรียกตนเอง อันเป็นวิถีแห่งฮันที่รุ่งโรจน์มาจนทุกวันนี้ได้เพราะความคับแค้นใจจากการถูกกดขี่ที่หล่อหลอมพวกเขาตามวิถีฮัน ดังนั้นการใช้ชื่อ ฮันกงจู ในหนัง นอกจากจะเพื่อปิดบังตัวตนของเหยื่อแล้ว ยังเป็นการสื่อด้วยว่า “เธอคือลูกสาวของชาวเกาหลี” อันหมายความว่าทุกคนในสังคมเกาหลีมีส่วนรับผิดชอบต่อคดีเลวร้ายนี้

  • อ่านเกี่ยวกับวิถีแห่งฮัน ได้ในบทความนี้
  • เหตุเกิดขึ้น ณ เมืองมีรยัง จังหวัดคย็องซังนัม เมื่อปี 2004 นักเรียนชายมัธยมปลาย (คาดว่าน่าจะมากถึง 120 คน) รุมข่มขืนเด็กหญิงมัธยมต้นและมัธยมปลายหลายคน (คาดว่าเด็กหญิงมีทั้งหมด 5 รายหรือมากกว่านั้น หนึ่งในนั้นพยายามกินยาฆ่าตัวตาย) ด้วยการล่อลวงทางเว็บนัดบอดโดยพวกเธอมาจากเมืองข้างเคียง เป็นช่วงเวลานานถึง 11 เดือน ซึ่งสาเหตุที่ล่วงเลยมาอย่างยาวนานก็เนื่องจากมีการถ่ายคลิปข่มขู่เหยื่อ

    เรื่องแดงขึ้นมาหลังจากมีคลิปเผยแพร่ในเนต แล้วกระจายข้ามไปถึงญี่ปุ่น จีน อเมริกา ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่เห็นหน้าเหยื่อชัดเจน กลายเป็นคดีร้ายแรงที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักนับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากตำรวจปฏิบัติต่อเหยื่ออย่างไม่เหมาะสม และจัดการกับผู้กระทำผิดอย่างผ่อนปรน ในปัจจุบันมีการเสาะข้อมูลพบด้วยว่ามีตำรวจที่ทำคดีคราวนั้นเป็นรุ่นพี่โรงเรียนเดียวกับผู้กระทำผิดอีกด้วย
    เมื่อเรื่องแดงขึ้นป้าของเด็กหญิงรายหนึ่งก็เข้าแจ้งความตำรวจ จากนั้นก็เริ่มมีการจับเด็กชายจำนวน 44 คน (ภายหลังมีเพิ่มอีก 70 คน) ส่วนฝ่ายโจทก์มีเพียงเด็กหญิงสองคนเท่านั้นที่ยอมแสดงตัว ในระหว่างนั้นครอบครัวของผู้ต้องหาเริ่มข่มขู่เหยื่อ แล้วไปให้สัมภาษณ์ทางทีวีว่า

    “ทำไมเราต้องเสียใจกับครอบครัวของอีนังร่านนั่นด้วย คุณไม่นึกถึงความทุกข์ทรมานของฝั่งเราบ้างหรือ ผู้ชายที่ไหนจะทนต่อผู้หญิงไร้ยางอายชอบยั่วผู้ชาย มาแบให้เอาถึงที่ได้ขนาดนี้ พวกคุณควรไปด่าฝ่ายนั้นบ้างสิว่าเลี้ยงลูกออกมายังไง…ให้โดนผู้ชายครึ่งเมืองข่มขืน”

    ช่วงเวลาเดียวกันมีกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 150 คนจุดเทียนสนับสนุนเหยื่อ เพื่อเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างเป็นธรรม ร้องขอให้เปลี่ยนเป็นตำรวจหญิงเข้าสอบสวน แต่คำร้องกลับถูกเพิกเฉย ตำรวจรายหนึ่งถามเหยื่อว่า “เธอยั่วยวนพวกผู้ชายก่อนใช่ไหม” “เธอทำลายชื่อเสียงของเมืองเราอยู่นะ…รู้ตัวไว้ด้วย” “เด็กผู้ชายที่จะเป็นอนาคตของเมืองนี้ต้องมาถูกจับเข้าคุกก็เพราะเธอคนเดียว”…”ฉันกลัวจริง ๆ ว่าลูกสาวฉันจะโตมาร่านเหมือนเธอ”

    ขณะเดียวกันตำรวจชั่วยังจงใจปูดรายชื่อของเหยื่อเพื่อให้ชาวเมืองระบุตัวตนของเหยื่อได้ นอกจากนี้กระบวนการระบุตัวผู้กระทำผิดยังเป็นแบบเผชิญหน้ากันระหว่างเหยื่อกับจำเลย แทนที่จะเป็นการชี้ตัวผ่านกระจกแบบเห็นได้ฝั่งเดียว บางรายถูกตำรวจชายถามด้วยว่า “เขาสอดใส่มันเข้าไปในจิ๋มเธอหรือเปล่า” จนถึงขนาดเหยื่อต้องเข้ารักษาทางจิตเวช

    ผ่านไปนานจนถึงสิงหาคม 2007 ศาลสูงกรุงโซลเพิ่งจะตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีรยังเลินเล่อในการปกป้องเหยื่อ สั่งให้จ่ายค่าปรับรวมเป็นเงิน 50 ล้าน (ราวล้านสองแสนบาท) ให้กับเหยื่อสองราย คำตัดสินดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากศาลฎีกาในเดือนมิถุนายน 2008 ซึ่งเปลี่ยนค่าชดเชยเป็น 70 ล้านวอน (ราวล้านแปดแสนบาท)

    ส่วนจำเลยส่วนหนึ่งอัยการส่งขึ้นศาลเยาวชน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกถอนข้อกล่าวหา มีเพียง 10 รายเท่านั้นที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ ได้รับโทษจำคุก 2-4 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี (แปลว่าในระหว่าง 3 ปีนี้จำเลยต้องไม่กระทำผิดซ้ำอีก ไม่เช่นนั้นจะโดนคุกทันที ในทางกลับกันแปลว่าไม่มีใครต้องเข้าคุกจากคดีนี้เลย) ด้วยข้ออ้างว่าจำเลยเหล่านี้ยังเป็นเยาวชน ทั้งที่ความจริงแล้วในบรรดานี้มีหลายคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือทำงานแล้ว และผู้ชายทั้งหมดอายุเกิน 18 ปี ขณะที่เหยื่อมีอายุระหว่าง 14-17 ปี

    นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยคือพ่อของเหยื่อรายหนึ่งได้ทำข้อตกลงกับฝ่ายจำเลยบางคน เพื่อแลกกับเงินจำนวนมาก เป็นพ่อขี้เหล้าตบตีเมียและหย่ากับแม่ของเหยื่อเมื่อสามปีก่อน แต่ลูกสาวยังต้องทนอยู่กับพ่อเฮงซวยเนื่องจากกฎหมายเกาหลีโง่ ๆ ที่เรียกว่า “โฮจูเจ” (เราจะอธิบายในช่วงต่อไป) อย่างไรก็ตามคดีนี้นำไปสู่การยกเลิกโฮจูเจ เมื่อเดือนมกราคม 2008 ในปีเดียวกันนั้นเอง ท้ายที่สุดมีจำเลยเพียง 5 รายเท่านั้นที่ถูกส่งตัวไปยังศูนย์กักกันเยาวชน แต่ไม่มีใครเลยที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา

    ควันหลง

    ในปี 2012 แฟนสาวของฝ่ายผู้กระทำผิดรายหนึ่งได้โตมาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองมีรยัง แล้วเผยแพร่คำดูหมิ่นถากถางเหยื่อในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง แต่ในที่สุดก็ถูกลบในเวลาต่อมา

    ผ่านไป 20 ปีคดีนี้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายนในปี 2024 ปีนี้เอง เมื่อมีบัญชียูทูบรายหนึ่งโพสต์วิดีโอระบุตัวตนของผู้กระทำผิดบางราย จากนั้นมียูทูเบอร์อีกหลายรายเข้าร่วมสนับสนุนในการเปิดเผยตัวผู้กระทำผิดมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือนายพัคเจ้าของร้านอาหารที่แต่งงานมีลูกสาว เปิดร้านอาหารดังในเมืองมีรยัง ถึงขนาดมีนักชิมชื่อดังอย่าง แบคจองวอน เคยไปชิม แล้วปรากฏใบหน้าผ่านคลิปชิมอาหารในร้านดังนั้น

    อีกรายนามสกุลชินทำงานในบริษัทขายรถยนต์ต่อมาหลังจากคลิปนั้นถูกเผยแพร่ นายชินก็ถูกไล่ออกสังเวยคลิปแฉ รายที่สามถูกแฉว่าเคยติดคุก 8 เดือนคดีฉ้อโกงในปี 2018 และอีกหลายรายมีการงานมั่นคง มีครอบครัวมีลูก บางคนมีลูกสาว สร้างความโกรธแค้นอย่างหนักในสื่อโซเชียล ยิ่งเมื่อรู้ว่าชายเหล่านี้มีชีวิตที่ดีและไม่เคยถูกลงโทษเลย

    กระทั่งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมเมื่อเดือนที่ผ่านมานี้เอง หนึ่งในผู้กระทำผิดได้ออกมาโพสต์ขอโทษหลังจากที่ตัวตนของเขาถูกเปิดเผยในโซเชียล “ผมขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อเหยื่อที่ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความเจ็บปวด อย่างไม่อาจจินตนาการได้มาตั้งแต่ปี 2004 ผมรู้ว่าไม่มีคำขอโทษใดที่จะทำให้เธออภัยให้ผม แต่ผมก็ยังอยากจะขอโทษอย่างจริงใจ” ชายนามสกุล อี รายนี้กล่าวในคลิปยูทูป 3 นาทีของเขา ลงท้ายคลิปตามสูตรคนเกาหลีว่า “ผมจะไม่ลืมความผิดที่เคยกระทำลงไป และจะใช้ชีวิตที่เหลือด้วยความสำนึกผิด”

    ชาวเนตต่างก็จวกว่าถ้าตัวตนของเขาไม่ถูกเปิดเผยก็คงไม่ออกมาโพสต์ขอโทษ อย่างไรก็ตามนี่เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายจำเลยออกมากล่าวขอโทษในที่สาธารณะ ล่าสุดช่องยูทูบดังกล่าวยังคงเดินหน้าแฉระบุตัวตนของคนผิดเหล่านี้โดยประกาศว่าจะลากมาทั้งหมดจนครบทั้ง 44 ราย หรืออาจจะทั้งหมด 120 ราย

    อีกวันถัดมา นายยุน จำเลยอีกหนึ่งรายได้ออกมาโพสต์ขอโทษด้วยเช่นกัน แล้วหลังจากเมืองนี้กลายเป็นขี้ปากฉาวโฉ่อีกรอบ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนปีนี้เอง ที่ผู้นำชุมชนฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองมีรยัง รวมถึงพระและนักการเมืองท้องถิ่น ได้ออกมาแถลงโค้งคำนับขอโทษต่อสาธารณชนในความล่าช้าที่มีต่อเหยื่อ (ก็ช้าไปแค่ยี่สิบปีเองเนาะ) โดยกล่าวว่า “ความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมนี้ ไม่ใช่แค่เป็นของคนหนึ่งคนใด แต่เป็นของสมาชิกทุกคนในชุมชนของเรา”

    ความพยายามในการปฏิรูป

    “นัมจอนยอบี” (ชายควรได้รับเกียรติ หญิงควรเจียมตน) เป็นค่านิยมปิตาธิปไตยแบบขงจื้อที่ฝังรากลึกในสังคมเกาหลี ที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังและการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงควบคู่ไปกับการต่อต้านสตรีนิยมที่เพิ่มขึ้นด้วย แม้จะมีความพยายามอย่างหนักจากกระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัว (MOGEF) มาตั้งแต่การก่อตั้งกระทรวงนี้เมื่อปี 2001 เพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในสังคมเกาหลีใต้

    หนึ่งในนั้นคือความพยายามในการยกเลิกระบบทะเบียนราษฎร์สุดคร่ำครึ “โฮจูเจ” แต่กลับถูกรัฐสภาแห่งชาติระงับไว้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2005 ระบบโฮจูเจเป็นระบบที่หัวหน้าครอบครัวจะต้องเป็นเพศชายเท่านั้น (มีมาตั้งแต่ปี 1953) โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพการสมรสของพวกเขา แปลว่าเด็ก ๆ จะต้องได้รับการจดทะเบียนภายใต้การดูแลของบิดา และสิทธิในการดูแลไม่สามารถเป็นของมารดาได้ ในกรณีหย่าร้าง บุตรจะอยู่ใต้การปกครองของบิดาเสมอ อย่างไรก็ตามในที่สุดระบบนี้ก็ถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2008 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ (ที่หัวก้าวหน้าไปไกลกว่าศาลรัฐธรรมนูญแบบไทย ๆ) ประกาศว่า “โฮจูเจ” ไม่สอดคล้องกับหลักการภายใต้รัฐธรรมนูญ

    ในปี 2021 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศแผนการปฏิรูปเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศ เช่น การเพิ่มบทลงโทษสูงสุดสำหรับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ และการแนะนำกลไกการคุ้มครองใหม่ ๆ สำหรับเหยื่อ ด้วยโครงการนิติบัญญัติใหม่นี้ ซึ่งประกอบด้วยการแก้ไขคำจำกัดความทางกฎหมายของการข่มขืนให้รวมความสัมพันธ์ทางเพศ “โดยไม่ได้รับความยินยอม” ในกฎหมายเกาหลี โดยกระทรวง MOGEF มุ่งหวังที่จะให้การดูแลที่ดีขึ้นสำหรับผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ

    แต่กลายเป็นว่า ควอนซองดง ตัวแทนพรรคพลังประชาชน (PPP พรรคอนุรักษ์นิยม พรรคเดียวกันกับประธานาธิบดียุนซ็อกยอล) ของรัฐบาล เน้นย้ำว่าการแก้ไขครั้งนี้มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งทางเพศในสังคมเกาหลีรุนแรงขึ้นเท่านั้น และมีการข่มขู่ว่าจะยกเลิกกระทรวงนี้ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ยุนซ็อกยอล ในระหว่างการเลือกตั้งเขาได้หาเสียงด้วยว่า “กระทรวง MOGEF ปฏิบัติต่อผู้ชายทุกคนในแบบ ‘อาชญากรทางเพศ’” และคนแบบนี้ชนะการเลือกตั้ง มีอำนาจเป็นประธานาธิบดีคุมเกาหลีใต้อยู่ตอนนี้

    สถิติคดีข่มขืนในเกาหลีใต้

    แกนของซีรีส์ No Way Out วนอยู่รอบตัวนักโทษจอมข่มขืนต่อเนื่องที่เผลอทำเหยื่อรายสุดท้ายเสียชีวิตจนต้องติดคุก 15 ปี แต่ได้รับการลดโทษเหลือ 13 ปี อีกทั้งอันที่จริงซีรีส์นี้ไม่ได้เอ่ยถึงคดีข่มขืนแค่คดีเดียว ซึ่งเราพบว่าหลาย ๆ อย่างในเรื่องนี้ประกอบขึ้นจากหลากหลายคดีที่เคยเกิดขึ้นจริง และเรากำลังจะเล่าในช่วงต่อ ๆ ไป รวมถึงการตัดสินของศาลในซีรีส์ที่อาจจะทำให้คนไทยอย่างเรา…อิหยังวะ!…ว่าทำไมคดีอุกฉกรรจ์ขนาดนี้ถึงมีบทลงโทษแสนจะปวกเปียก ซึ่งเราอยากจะบอกว่าการตัดสินแบบในซีรีส์เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้ว

    บทความนี้จึงอยากจะเจาะลึกเกี่ยวกับคดีข่มขืนในเกาหลีใต้ ซึ่งจากข้อมูลของเว็บรวบรวมสถิติ Statista รายงานว่า ‘ในปี 2022 จำนวนการจับกุมคดีล่วงละเมิดทางเพศในเกาหลีใต้พุ่งสูงถึง 21,200 คดี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีการผันผวนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

    แม้ว่าเกาหลีใต้จะมีคะแนนค่อนข้างดีในดัชนีความมั่นคงและลำดับการจับกุมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ตัวเลขการจับกุมในปัจจุบันก็แสดงให้เห็นถึงการผันผวน การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญของอาชญากรรมทางเพศนั้นดูน่ากังวลเป็นพิเศษ

    ผู้หญิงเกาหลีจำนวนมากมองว่าความรุนแรงทางเพศเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุด แต่บทลงโทษผู้กระทำความผิดทางเพศนั้นค่อนข้างผ่อนปรน ชาวเกาหลีใต้เกือบครึ่งหนึ่งคิดว่านโยบายของรัฐบาลในการป้องกันอาชญากรรมนั้นดี แต่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าอาชญากรรมทางเพศควรได้รับการลงโทษที่รุนแรงกว่านี้ จำนวนอาชญากรรมทางเพศที่เพิ่มขึ้นสูง เป็นความท้าทายของตำรวจ ฝ่ายการเมือง และกระบวนการยุติธรรมในสังคมเกาหลีใต้ ไม่เพียงแต่ในแง่ของการป้องกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการป้องปรามและการดำเนินคดีด้วย’

    ฆาตกรต่อเนื่องฮวาซอง

    ด้วยความอื้อฉาวและเคยเป็นคดีปิดไม่ลงมาอย่างยาวนาน ทำให้คดีนี้ถูกดัดแปลงเป็นหนังและซีรีส์เกาหลี 10 เรื่อง คือ Memories of Murder (2003), Confession of Murder (2012), Gap-dong (2014), Signal (2016), Tunnel (2017), Criminal Minds (2017), Partners for Justice (2018), Unknown Number (2019), Flower of Evil (2020), Taxi Driver (2021)

    อีชุนแจ เป็นฆาตกรต่อเนื่องในช่วงปี 1986-1994 ข่มขืนและฆาตกรรมเด็กและผู้หญิงเท่าที่ระบุได้มีอยู่ 15 ราย (คาดว่าน่าจะมีอีกอย่างน้อย 30 รายหรือทั้งหมดไม่น้อยกว่า 45 ราย) ส่วนใหญ่อยู่ในเขตฮวาซอง จังหวัดคยองกี คดีนี้ไม่เคยถูกคลี่คลายลงเลย คนร้ายตัวจริงไม่เคยถูกจับได้เลยเป็นเวลานานกว่า 33 ปีนับจากคดีแรก

    แล้วที่ไม่สามารถระบุตัวคนร้ายได้ก็เพราะตัวนายอีชุนแจติดคุกตลอดชีวิตอยู่ที่เมืองปูซานมาตั้งแต่ปี 1994 ด้วยคดีฆ่าพี่สะใภ้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับคดีฆ่าต่อเนื่องเลย ทว่าการระบุตัวตนนายอีได้เป็นความบังเอิญจากการตรวจดีเอ็นเอที่ตกอยู่ในชุดชั้นในของเหยื่อรายหนึ่งในปี 2019 ซึ่งคดีฆ่าต่อเนื่องได้หมดอายุความไปแล้ว

    สรุปคือนายอีติดคุกตลอดชีวิตจากคดีอื่น หนำซ้ำคดีนั้นตามกฎหมายเกาหลีแล้วเขายังสามารถได้รับการพิจารณาปล่อยตัวได้ด้วย หากว่าถูกจำคุกไปแล้ว 20 ปีนับจากปี 1994 (คือในปี 2015 นายอีสามารถขอทัณฑ์บนเพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว แต่เขาไม่เคยขอ) ส่วนคดีฆ่าต่อเนื่องไม่สามารถเอาผิดนายอีได้ เพราะหมดอายุความไปแล้วหลังจากคดีแรกผ่านไป 30 ปีเมื่อปี 2016 ซึ่งกว่าจะระบุตัวตนของเขาได้คือในปี 2019 ที่คดีฆ่าต่อเนื่องจะไม่มีผลกับนายอีอีกต่อไป

    ตลอดช่วง 33 ปีนั้นมีการระดมเจ้าหน้าที่ทั้งหมดกว่าสองล้านนายเข้ามาเกี่ยวข้อง และสอบสวนผู้ต้องสงสัยกว่า 21,000 ราย เกิดดราม่าขึ้นมากมาย ทั้งการจับกุม นายยุนซองยอ ผู้บริสุทธิ์ไปขังคุกนานถึง 20 ปี ไปจนถึงการปรากฎตัวของพวกหิวแสงที่อ้างว่าเป็นฆาตกรฮวาซอง และข่าวลือใส่ร้ายให้เข้าใจผิดต่อผู้คนอีกมากมาย ฯลฯ

    กลุ่มผู้สนับสนุน #MeToo และกลุ่มต่อต้าน

    แนวคิดของเกาหลีใต้เกี่ยวกับการข่มขืน

    สถาบันเพศภูมิรัฐศาสตร์ (GGI) ในฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการข่มขืนในเกาหลีใต้เมื่อเมษายนปีที่ผ่านมาว่า ‘ในยุคของขบวนการ #MeToo มหาอำนาจทางเศรษฐกิจลำดับที่ 12 ของโลกยังคงเป็นสังคมปิตาธิปไตยอยู่อย่างลึกซึ้ง ซึ่งซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังอาคารล้ำสมัยและมีชีวิตชีวา ในปี 2016 การฆาตกรรมหญิงวัย 23 ปีกลางกรุงโซลโดยชายที่ประกาศว่า “เกลียดผู้หญิง” กลับยิ่งปลุกกระแสชายเป็นใหญ่ นับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสายอนุรักษ์นิยม ยุนซ็อกยอล ผู้เป็นอดีตอัยการที่สนับสนุนการต่อต้านสตรีนิยม ได้กลับมาอุบัติขึ้นอีกครั้งในสังคมเกาหลีใต้’

    [คดีฆาตกรรมสถานีกังนัม เกิดขึ้นอย่างอุกอาจในห้องน้ำสาธารณะของบาร์คาราโอเกะ ย่านซอโชดง เขตกังนัม เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2016 เมื่อนายคิมซองมิน (34ปี) ใช้มีดสุ่มแทงหญิงรายหนึ่งจนตาย เมื่อเขาถูกจับ เขาให้สัมภาษณ์ว่า “ผมถูกหญิงเมินใส่ ถูกหยาม เลยฆ่าเพราะทนผู้หญิงพวกนี้ไม่ได้แล้ว” ทำให้หลายฝ่ายมองว่าน่าจะเป็นผลมาจากความเกลียดชังผู้หญิงที่มีมากขึ้นในสังคมชายเป็นใหญ่แบบเกาหลี เมื่อช่วงหลัง ๆ มานี้ได้เกิดกระแสเรียกร้องจากฝ่ายสตรีนิยมมากจนเกินพอดี ทว่าศาลประกาศว่าไม่ใช่เพราะความเกลียดชังหญิงดังที่กล่าวอ้าง แต่เป็นอาการป่วยจิตและขาดยา แล้วตัดสินโทษจำคุกชายคนนี้ 30 ปี ต่อมานักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมเข้ามาร่วมสนับสนุนและชูประเด็น “สตรีนิยมที่มากเกินพอดี” ในการหาเสียงจนชนะการเลือกตั้ง]

    GGI เสริมว่า ‘ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้เมื่อเดือนมกราคมปี 2023 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวง MOGEF ได้เสนอกฎหมายใหม่เพื่อแก้ไขคำจำกัดความของ “การข่มขืน” ให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่กลายเป็นว่าภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกลับออกมาปฏิเสธแนวคิดนี้อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางปรากฎการณ์ด้านความรุนแรงทางเพศที่แพร่หลายในเกาหลีใต้

    ในปี 2019 สายด่วนสำหรับผู้หญิง ได้คาดว่ามีผู้หญิงถูกฆาตกรรมในทุก ๆ 1.8 วันในเกาหลีใต้ และ 98% ของเหยื่อฆาตกรรมเป็นหญิง ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 80% ยอมรับว่าเคยใช้ความรุนแรงกับคู่รัก การวิจัยนี้อิงคำตอบจากผู้ชายทั่วเกาหลีใต้ 2,000 คน พบว่า 1,593 คน หรือ 79.7% เคยทำร้ายคู่รักตนเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทว่ามีเหยื่อเพียงไม่กี่รายที่ออกมาแสดงตัว เนื่องด้วยความอับอาย การถูกตีตรา ขาดความยุติธรรม หรือแม้แต่การกล่าวโทษตนเองว่าเป็นฝ่ายผิด’

    “ความยินยอม” คำจำกัดความของการข่มขืน

    ในปี 2021 รายงานของสหประชาชาติเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่รัฐบาลของประเทศสมาชิกจะต้องประสานกฎหมายกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศ และเน้นว่า “การที่เหยื่อคดีข่มขืน ‘ไม่ได้ยินยอม’ ควรเป็นแก่นแท้ของคำจำกัดความของการถูกข่มขืน” ดูบราฟกา ซีโมนิก ผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความรุนแรงต่อสตรี เธอกล่าวว่า “ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติจะต้องจัดการกับการไม่ต้องรับโทษอย่างกว้างขวางของผู้ข่มขืนและการขาดความยุติธรรมสำหรับเหยื่อ และทำให้กฎหมายอาญาสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน กฎหมายอาญา และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ”

    การข่มขืนได้รับการยอมรับในกฎหมายระหว่างประเทศว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิงรูปแบบหนึ่งที่เทียบได้กับการทรมาน และประเทศสมาชิกจะต้องบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดให้การข่มขืนเป็นการก่ออาชญากรรม และรับประกันว่าผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดี

    แม้ว่าประเทศสมาชิกของสหประชาชาติส่วนใหญ่จะมีบทลงโทษในคดีข่มขืน แต่ก็กระทำในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อบกพร่องเหล่านี้มีสาเหตุหลายประการ อาทิ คำจำกัดความของการข่มขืน ระยะเวลาที่เหยื่อรายงานอาชญากรรม ความล้มเหลวในการตัดสินให้การข่มขืนคู่สมรสเป็นความผิดทางอาญา การขาดความเท่าเทียมทางเพศ ฯลฯ เกาหลีใต้กำลังพยายามแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้ แต่กระบวนการนี้พิสูจน์ได้ยาก

    ตามที่นางอีอึนเอ ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านความรุนแรงทางเพศ กล่าวว่า “การไม่มีแนวคิดเรื่อง ‘ความยินยอม’ ในคำจำกัดความของการข่มขืนในกฎหมายเกาหลีใต้ถือเป็นข้อบกพร่องสำคัญในระบบกฎหมาย” กล่าวคือมาตรา 297 ของประมวลกฎหมายอาญาของเกาหลีใต้ กำหนดให้การข่มขืนเป็นการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ “กำลังหรือการข่มขู่” โดยไม่กล่าวถึงการยินยอมเลย ดังนั้นแม้ว่าในคดีข่มขืนหลายคดี ผู้เสียหายจะแสดงสัญญาณของการไม่ยินยอมทั้งทางวาจาและทางกาย แต่ผู้กระทำความผิดกลับหลบหนีการพิพากษาลงโทษไปได้เนื่องจากไม่มีหลักฐานความรุนแรงหรือการข่มขู่”

    ในการสอบสวนโดยศูนย์ช่วยเหลือความรุนแรงทางเพศแห่งเกาหลีปี 2019 สถิติแสดงให้เห็นว่ามากกว่าสองในสามของคดีข่มขืน เหยื่อไม่ได้สัมผัสถึงความรุนแรงหรือการคุกคามโดยตรง การศึกษาโดยคณะลูกขุนและทนายความชาวเกาหลีใต้พบว่า ศาลมีแนวโน้มที่จะตีความกฎหมายอย่างจำกัดอย่างยิ่ง ดังนั้นการจะถูกเรียกว่าถูกข่มขืน ต้องเป็นการกระทำที่รุนแรงหรือข่มขู่ แต่การที่เหยื่อไม่สามารถต่อต้าน ศาลยังพิจารณาการบรรเทาสถานการณ์เมื่อกำหนดโทษ เช่น การที่ผู้กระทำความผิดไม่เคยมีความผิดอื่นใดมาก่อน หรือผู้กระทำผิดมีจิตใจ “อ่อนแอ” ในขณะที่ก่ออาชญากรรม

    ในปี 2018 คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ แสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศและโทษจำคุกแบบผ่อนปรนในเกาหลีใต้ในอัตราที่ต่ำ แม้ว่าจะมีรายงานคดีเพิ่มขึ้นก็ตาม กว่า 63% ของคดีไม่ส่งผลให้ถูกดำเนินคดี

    เหยื่อมักคร่ำครวญร้องขอในประเด็นว่า “ไม่มีผู้หญิงในกระบวนการทางกฎหมาย” เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกีดกันเหยื่อจากการยื่นเรื่องร้องเรียน ด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับหรือไม่ก็กล่าวหาเหยื่อว่ากล่าวหาเท็จอย่างไม่มีหลักฐาน อดีตประธานาธิบดีมุนแจอิน แห่งเกาหลีใต้เคยให้คำมั่นที่จะเพิ่มจำนวนผู้หญิงในกองกำลังตำรวจเป็น 15% ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง และเพิ่มโทษสำหรับผู้กระทำผิดในอาชญากรรมทางเพศ

    ทำให้มีการจัดตั้งทีมตำรวจชุดใหม่เพื่อปรับปรุงกระบวนการทางกฎหมายสำหรับเหยื่อ ภายในทีมตำรวจแปดนายจะต้องมีผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคนในแต่ละทีม อย่างไรก็ตามจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงในเกาหลีใต้มีน้อยจนยากต่อการจัดตั้งทีมใหม่ การปฏิรูปมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเป็น 15% ของจำนวนชาย 130,000 คนในปี 2020 แปลว่าจะต้องมีจำนวนตำรวจหญิงมากถึง 19,500 คน ซึ่งเป็นไปได้ยาก

    Human Rights Watch รวบรวมคำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงในระหว่างการสอบสวนในปี 2022 พวกเธอสารภาพว่ารู้สึก “โดดเดี่ยว และถูกเพิกเฉยต่อการขึ้นเงินเดือน” ในสาขาที่มีผู้ชายเป็นใหญ่เป็นส่วนใหญ่ ในระหว่างการประท้วงในปี 2018 ระหว่างการเคลื่อนไหว #MeToo พวกผู้หญิงต่างร้องตะโกนว่า “เราต้องการให้มีตำรวจหญิง”

    ปัญหาอีกประการหนึ่งที่เหยื่อต้องเผชิญคือความล่าช้าของกระบวนการทางกฎหมาย ตามที่ โกอีกยอง ทนายความและนักเคลื่อนไหวเพื่อสตรีกล่าวว่า “คดีในศาลอาจใช้เวลานานกว่าหนึ่งปี” เธอวิพากษ์วิจารณ์ถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของเหยื่ออาชญากรรม ที่ดำเนินไปได้ยากในระหว่างการรอพิจารณาคดีเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะถูกกดดัน ข่มขู่ ทั้งจากผู้กระทำผิด และสังคมรอบด้านที่มีแนวคิดบกพร่องอันเนื่องมาจากปิตาธิปไตยที่หยั่งรากลึกในสังคมเกาหลี

    (ซ้าย) อีแจร็อก (ขวา) จองมยองซ็อก

    ศิษยาภิบาลนักข่มขืนและอ้างว่าสาวก ‘ยินยอม’

    ในช่วงท้ายของซีรีส์ No Way Out มีการเอ่ยถึงศิษยาภิบาลในโบสถ์ดังที่ข่มขืนสาวกตนเอง ซึ่งคล้ายกับคดีสุดฉาว 2 คดีในเกาหลีใต้ คดีแรกคือนายอีแจร็อก ผู้ก่อตั้งโบสถ์มานมินในกรุงโซล ด้วยผลพวงจากขบวนการเคลื่อนไหว #MeToo ทำให้มีเหยื่อเปิดเผยตัว และนายอีถูกศาลตัดสินจำคุก 15 ปีด้วยข้อหาล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนสมาชิกโบสถ์รวมความผิด 42 กระทง เมื่อปี 2018 แปลว่าเขาจะพ้นโทษในปี 2033 ทว่าเขาเสียชีวิตลงด้วยวัย 80 ปี เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2023 อย่างไรก็ตามมีเพียง 8 คนที่เปิดเผยตัว ส่วนที่เหลือบรรดาสาวกอ้างว่าพวกเธอ ‘ยินยอม’

    ส่วนอีกรายคือนายจองมยองซ็อก ผู้ก่อตั้งขบวนการทางศาสนาคริสต์แนวใหม่เรียกว่า “พรอวิเดนซ์” หรือรู้จักกันในชื่อ Jesus Morning Star ในย่านวอลมยองดง จังหวัดชุงชองใต้ ก่อนที่จะขยายไปยังไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และออสเตรเลีย นายจองอ้างตนว่าเป็นเมสสิยาห์ (พระผู้ช่วยให้รอด-คล้ายความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์) เขาเคยต้องโทษด้วยข้อหาข่มขืนมาก่อนแล้ว ซึ่งเหยื่อเป็นสาวกต่างชาติ 5 คน (มาเลเซีย ฮ่องกง และจีน) ตอนนั้นศาลฎีกาสั่งจำคุก 10 ปีในช่วง 2008-2018

    อย่างไรก็ตามเขายังคงมีสาวกติดตามอย่างเหนียวแน่น ด้วยข้ออ้างว่า “พระเมสสิยาห์ต้องจำทนทุกข์ต่อเหตุการณ์เลวร้ายทั้งปวงในโลกใบนี้” ต่อมาเขาถูกฟ้องซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2022 ด้วยขอหาล่วงละเมิดทางเพศสาวกวัยเยาว์ 2 รายซึ่งเป็นชาวฮ่องกงและออสเตรเลียในช่วง 2018-2022 ทำให้ในเบื้องแรกนายจองถูกพิจารณาจำคุก 23 ปี แต่คดียังไม่สิ้นสุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์จากในคุกเป็นรอบที่ 6 อย่างไรก็ตามก่อนที่เขาจะถูกลากคอเข้าตาราง ยังมีสาวกอีกหลายคนที่ยินยอมถวายตัวให้นายจอง ด้วยหลงเชื่อว่าเขาเป็นพระเจ้าในร่างมนุษย์

    ยุนซ็อกยอลประธานาธิบดีผู้ต่อต้านสตรีนิยม

    การต่อต้านสตรีนิยมเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ยุนซ็อกยอลขึ้นสู่อำนาจ

    แม้ประเด็น #MeToo จะกลายเป็นหัวข้อสำคัญในปี 2018 แต่สังคมเกาหลีกลับมีความแตกแยกในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง กระทั่งในสมัยประธานาธิบดีปัจจุบัน ยุนซ็อกยอล การขับเคลื่อนของกลุ่มต่อต้านสตรีนิยมมีเพิ่มสูงขึ้นมากในเกาหลีใต้ นายยุนสร้างเครดิตให้ตัวเองจากแถลงการณ์ต่อต้านสตรีนิยมและต่อต้านกลุ่ม LGBT รวมถึงคัดค้านการจัดตั้งกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ เขาอ้างว่า “ไม่มีการเลือกปฏิบัติเชิงโครงสร้างต่อสตรี…การเลือกปฏิบัติเป็นเพียงคำโบราณที่กล่าวหาว่าเพศชายได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่า และหญิงไม่ได้รับความเท่าเทียมในสังคมเกาหลี…สิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่จริงในสังคมปัจจุบัน”

    ปัจจุบันกลุ่มสตรีนิยมหรือเฟมินิสม์ ในเกาหลีใต้กลายเป็นเหยื่อของการถูกคุกคาม เยาะเย้ย ถากถางทางสังคมออนไลน์ กลุ่มต่อต้านเฟมินิสม์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีผู้หญิงอยู่ในกลุ่มด้วย นางแบอินกี โฆษกกลุ่มต่อต้านสตรีนิยม “Solidarité masculine” มักให้ความเห็นผ่านช่องยูทูบของเธอที่มีผู้ติดตามหลายพันคน กลุ่มเหล่านี้เคลื่อนไหวอย่างหนักบนโลกโซเชียลและเปิดตัวแคมเปญใหม่ ๆ ในการต่อต้านเฟมินิสม์เป็นประจำ ทำให้พวกเขา(และเธอ)ได้รับอิทธิพลอย่างมากบนเวทีการเมือง

    ด้วยเหตุนี้ในระหว่างหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีล่าสุด นายยุนจึงพุ่งเป้าไปอ้อนคะแนนเสียงจากกลุ่มเหล่านี้ อันเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เขาได้รับชัยชนะ เนื่องจากชายเกาหลีอายุต่ำกว่า 30 ปีส่วนใหญ่ที่สนับสนุนการต่อต้านเฟมินิสม์ต่างก็สนับสนุนนายยุนด้วยอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็เป็นชัยชนะในแบบปริ่มน้ำในปี 2022 จึงกลายเป็นการเลือกตั้งที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ (ยุนซ็อกยอล พรรคพลังประชาชน ได้ไป 16,394,815 โหวต หรือ 48.56% ส่วนนายอีแจมยอง พรรคประชาธิปไตย คู่แข่ง ได้ไป 16,147,738 โหวต หรือ 47.83%)

    คดีโจดูซอน

    คดีนี้มีหลายเหตุการณ์คล้ายกับสิ่งที่เกิดในซีรีส์ No Way Out ผู้ก่อเหตุในคดีจริงคือนายโจดูซอนเป็นชาวเมืองอันซาน เกิดเมื่อปี 1952 เคยก่ออาชญากรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งลักทรัพย์ ทะเลาะวิวาทมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งในปี 1983 ตอนเขาอายุ 31 ปี เขาได้ข่มขืนทุบตีหญิงอายุ 19 ในละแวกบ้าน ทำให้นายโจถูกจำคุกอยู่ 3 ปี ก่อนจะปล่อยตัวแล้วก่อเรื่องวิวาทอีกหลายครั้ง จนในปี 1995 เขาต้องกลับเข้าคุกอีกสองปี เนื่องจากเมาแล้วทำร้ายชายแก่วัย 60 รายหนึ่งจนถึงแก่ชีวิต

    แต่คดีที่ทำให้โจกลายเป็นนักโทษดังเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 ขณะที่นายโจอายุ 56 ปี ด้วยการลักพาตัวเด็กหญิง 8 ขวบรายหนึ่งขณะที่เขาเมาจัด แล้วลากเธอไปข่มขืนในห้องน้ำของโบสถ์ ทุบตีทำร้ายเด็กหญิงแปดขวบนั้นอย่างสาหัส ทั้งกัดแก้ม รัดคอเธอ กดหัวเธอจมน้ำ ก่อนจะทิ้งร่างของเหยื่อวัย 8 ขวบเอาไว้ในที่เกิดเหตุอันหนาวเย็น ภายหลังนายโจถูกจับตัวไปขึ้นศาล

    เหยื่อทุพพลภาพในช่องท้องและกระดูกเชิงกรานอย่างถาวร ต้องรักษานานกว่า 8 เดือน ต้องเทียวไปกลับจากอันซานไปรักษาตัวในโซลทุกสัปดาห์ และต้องผ่าตัดเพื่อใช้ทวารหนักเทียม รวมถึงต้องเผชิญภาวะซึมเศร้าจากการถูกซักถามในศาล

    เดิมทีนายโจอาจได้รับโทษตลอดชีวิต แต่เมื่อเหยื่อรายงานว่าได้กลิ่นเหล้าบนตัวนายโจ กลายเป็นว่าศาลตัดสินให้นายโจจำคุกเพียงแค่ 12 ปีเนื่องจากขาดสติมึนเมาขณะก่ออาชญากรรม [ตามคำอธิบายของสำนักข่าว BBC ระบุว่า ‘ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 10(2) ของเกาหลีใต้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ซิม ซิน มี ยัก” บัญญัติไว้ว่า ศาลอาจลดโทษจำคุกลงได้เมื่อคนที่มีสภาพจิตใจบกพร่องก่ออาชญากรรม ขณะที่กฎหมาย “จู ชี กัม ฮยอง” บัญญัติว่า “การใช้สารใด ๆ ในทางที่ผิด” ทำให้สภาพจิตใจของคนบกพร่อง’ ช่องโหว่นี้เป็นสาเหตุให้มีการหย่อนโทษในคดีนี้]

    อย่างไรก็ตามภายหลังในปี 2011 มีการขุดคุ้ยคดีนี้ขึ้นมาด่าในโลกโซเชียลถึงการตัดสินของศาลอย่างไม่เป็นธรรม กดดันไปถึงทำเนียบบลูเฮาส์ให้รื้อคดีนี้กลับมาตัดสินใหม่ สุดท้ายจบลงด้วยการที่รัฐบาลยอมจ่าย 13 ล้านวอน (ราวสามแสนบาท) ให้กับเหยื่อ 8 ขวบรายนี้

    ต่อมามีหนังสือและภาพยนตร์ชื่อ Hope ถูกสร้างขึ้นในปี 2013 แม้ว่าจะได้รับรางวัลมากมาย แต่ก็ถูกชาวเนตเกาหลีวิจารณ์อื้ออึงว่าทำกำไรจากโศกนาฎกรรม และดึงดูดความสนใจไปยังเหยื่อผู้ต้องการใช้ชีวิตอย่างสงบ

    มีความพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จะผ่านร่างกฎหมายแยกนักโทษออกจากสังคมอย่างถาวรหลังจากได้รับการปล่อยตัว แต่กฎหมายดังกล่าวถูกตีตกไปเนื่องจากถูกวิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดสิทธิของนักโทษ รวมถึงขณะที่นายโจกำลังจะถูกปล่อยตัวได้เกิดกลุ่มผู้ประท้วงล่าลายชื่อ 876,000 ลายเซ็น เพื่อร้องขอให้ยกเลิกกฎหมายลดโทษผู้ต้องหาขณะมึนเมาระหว่างก่ออาชญากรรม แต่คำร้องถูกตีตกไป

    นายโจได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2020 โดยมีสื่อและยูทูเบอร์จำนวนมากรุมล้อมและกระทืบรถของเจ้าหน้าที่ที่มีนายโจนั่งอยู่ เขากลับไปอันซานอยู่กับภรรยาในบ้านที่ห่างจากเหยื่อไม่ถึง 1 กิโลเมตร ทำให้นายโจต้องสวมกำไลอีเอ็มไว้ที่ข้อเท้า มีการติดกล้องวงจรปิดเพิ่ม 71 ตัวในละแวกบ้านของนายโจ และเจ้าหน้าที่จะแวะเวียนไปสุ่มตรวจนายโจเป็นระยะ ๆ ที่นอกจากจะกลัวว่านายโจจะออกจากบ้านไปก่อเหตุอีก ยังกลัวว่ากลุ่มยูทูเบอร์บ้าคลั่งบางรายจะบุกไปทำร้ายนายโจถึงบ้านด้วย

    ทว่าในวันที่ 20 พฤษภาคม 2020 กระทรวงยุติธรรม และเทศบาลเมืองอันซานได้ประกาศว่าการติดตามตัวนายโจ เฉพาะในช่วงสี่เดือนแรกก็ผลาญงบประมาณไปแล้วกว่า 200 ล้านวอน (ราวห้าล้านบาท) และวันที่ 20 มีนาคม ปีนี้ นายโจถูกจำคุกอีก 3 เดือนฐานออกนอกพื้นที่หลังเคอร์ฟิวในเวลาสามทุ่มเป็นเวลา 40 นาทีเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เนื่องจากวิวาทกับภรรยาที่อยู่กินกันมานาน แต่นางทนแรงกดดันจากชาวบ้านไม่ไหวอีกต่อไปและขอหย่าขาดจากนายโจ

    คดีฆ่าข่มขืนล่าสุด

    17 สิงหาคม 2023 ชเวยุนจง อายุ 30 ปี ก่อเหตุข่มขืนแล้วฆ่าครูสาวรายหนึ่ง ในเส้นทางเดินป่าบนเนินเขาในเขตซิลลิม ทางตอนใต้ของโซล เหยื่อเป็นครูประถมวัย 30 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในอีกสองวันต่อมา แพทย์นิติวิทยาศาสตร์ระบุว่าเธอเสียชีวิตจากการถูกรัดคออย่างหนัก นายชเวอ้างว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าเธอ เพียงต้องการจะปิดปากเหยื่อเท่านั้นด้วยการใช้แขนโอบรอบคอของเธออย่างรุนแรงราว 4-6 นาที

    ต่อมาในเดือนมกราคม 2024 ศาลกรุงโซลตัดสินให้เขาถูกจำคุกตลอดชีวิต ศาลกล่าวว่า “ไม่มีทางที่จะชดใช้ความเสียหายหลังจากชีวิตผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียไป และครอบครัวของผู้เสียชีวิตต้องผ่านความเจ็บปวดอย่างไม่อาจเยียวยาได้ ศาลขอเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการป้องกันอาชญากรรมที่มุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงแบบสุ่ม ในช่วงกลางวันแสก ๆ ณ สถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสาธารณะประโยชน์ (แบบเดียวกับคดีสถานีกังนัม) ไม่ควรเกิดเหตุทำนองนี้ขึ้นอีก”

    อัยการเรียกร้องให้ประหารชีวิต แต่ศาลยกข้อกล่าวหาโดยระบุว่าควรได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน ด้วยเหตุว่า “ผู้ต้องหาเป็นพวกเก็บตัว และใช้ชีวิตสันโดษมาหลายปี และไม่เคยได้รับการรักษาภาวะซึมเศร้าและความผิดปกติทางบุคลิกภาพ”อันหมายความว่าจำเลยกระทำไปด้วยแรงผลักดันของอาการโรค จึงเห็นสมควรที่จะได้รับการผ่อนปรน

    อย่างไรก็ตามศาลระบุเพิ่มด้วยว่า “การต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต แปลว่า หากจำเลยจำคุกไปแล้ว 20 ปี ในปีที่ 21 เขาจะมีโอกาสขอทัณฑ์บนให้ออกจากคุกได้ ภายใต้พรบ.กฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน แต่ศาลขอเสนอแนะว่ากรณีนี้ ไม่ควรจะได้รับโอกาสนั้นเนื่องจากสร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อสาธารณชน”

    โทษประหารในเกาหลีใต้

    จากข้อมูลของแอมเนสตี้ระบุว่า “ในประเทศเกาหลีใต้ วาทกรรมที่สนับสนุนการประหารชีวิตกลายเป็นประเด็นสำคัญในบางประเทศ หลังเกิดอาชญากรรมที่ได้รับความสนใจหรือก่อนการเลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการลงโทษเช่นนี้มีผล ในการป้องปรามอย่างชัดเจนก็ตาม หลังจากเกิดคดีที่ได้รับความสนใจหลายคดี เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2023 รัฐสภาเกาหลีใต้ได้รับรองการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อรวมโทษประหารชีวิตเป็นบทลงโทษสูงสุดสำหรับการฆาตกรรมหรือการทอดทิ้งทารกแรกเกิด โทษประหารชีวิตยังถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ รวมถึงในไต้หวันและสหรัฐฯ”

    ส่วนตัวผู้เขียนไม่สนับสนุนโทษประหารชีวิต เพราะเท่ากับเราตอบโต้การฆ่าด้วยการฆ่า การฆ่ามนุษย์ด้วยกันไม่ว่าด้วยเหตุผลใด…ไม่ควรได้รับความชอบธรรม และโทษประหารคือรูปแบบหนึ่งของการฆ่ามนุษย์ที่เราอ้างเหตุผลว่าเพราะ “มันเลว…มันสมควรตาย” อีกทั้งในไทยยังมีอีกหลายกรณีที่มีการจับแพะ หรือคดีทางการเมือง การคงโทษประหารไว้เป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งในการฆ่าผิดตัว

    ในส่วนของแอมเนสตี้อธิบายว่า “ปัจจุบันเมื่อเกิดคดีอาชญากรรมร้ายแรง สังคมมักเรียกร้องให้มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตอย่างจริงจังต่อผู้กระทำความผิด โดยเชื่อไปเองว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะฆาตกรได้ตายไปแล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอยืนยันว่าได้ให้ความเคารพต่อทุก ๆ ข้อคิดเห็นเหล่านั้นเสมอมาในฐานะที่เราต่างอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งความเป็นประชาธิปไตย แม้ในความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย อาชญากรรมและความรุนแรงยังคงมีอยู่เพียงแค่เปลี่ยนตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้นเอง

    การที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พยายามสื่อสารกับสาธารณะในประเด็นโทษประหารชีวิต เพราะต้องการจะให้เกิดการสร้างระบบการป้องกันที่มีมาตรฐาน เพื่อลดความรุนแรงและอาชญากรรมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีกต่างหาก หาใช่เป็นการช่วยเหลือฆาตกรแต่อย่างใดตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ หรือพยายามโจมตีแนวทางการทำงานของแอมเนสตี้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

    นอกจากนั้นการลงโทษประหารชีวิตยังเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดสำหรับบุคคล นั่นคือ เป็นการละเมิด “สิทธิในการมีชีวิต” ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โทษประหารชีวิตเป็นการสังหารบุคคลโดยรัฐเป็นผู้ลงมืออย่างเลือดเย็นและมีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และที่น่าหวาดหวั่นที่สุด คือ การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรูปแบบนี้ ถูกกระทำในนามของ “ความยุติธรรม”

    แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม”

    หากสนใจกรณียกเลิกโทษประหารสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.amnesty.or.th/our-work/death-penalty/

    เกาหลีใต้ยกเลิกโทษประหารไปแล้ว “ในทางปฏิบัติ”

    อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ ในเดือนพฤษภาคม 2023 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้จัดประเภทเกาหลีใต้ให้เป็น “ยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ” ด้วยเกาหลีใต้มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มมากขึ้น

    ข้อมูลล่าสุดมีเพียง 20 ประเทศเท่านั้นที่ยังมีโทษประหารในปี 2022 ทว่าประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ประหารนักโทษประหารทุกราย กล่าวคือในความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ประหารชีวิตนักโทษประหารทุกราย ได้แก่ จีน อิหร่าน และซาอุดิอาระเบีย อีกทั้งในปี 2023 มี 112 ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

    สำหรับประเทศไทยยังคงมีโทษประหารอยู่ นักโทษประหารที่ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยารายล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2018 คือคดีของนายธีรศักดิ์ หลงจิ ที่ยังคงเป็นข้อกังขาว่าอาจจับผิดตัว หรืออาจมีผู้เกี่ยวข้องรายอื่น รวมถึงมีผู้ตั้งคำถามมากมายว่าเหตุใดคนร้ายรายอื่นที่ก่อคดีร้ายแรงกว่านายธีรศักดิ์จึงไม่ต้องถูกประหาร

    ในส่วนของเกาหลีใต้ สำนักข่าวยอนฮัป รายงานผลสำรวจ 511 คนทั่วประเทศโดยสำนักสถิติเรียลมิเตอร์ว่า ร้อยละ 52.8 ต้องการให้มีการประหารจริง ๆ ร้อยละ 42.8 คัดค้าน และ 32.6 ของฝั่งคัดค้าน แนะว่าควรคงโทษประหารไว้ แต่ไม่ควรประหารจริง มีเพียงร้อยละ 9.6 เห็นว่าควรยกเลิกโทษประหาร

    ส่วนในแง่มุมทางการเมืองพบว่า ร้อยละ 66.2 ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมสนับสนุนให้คงโทษประหาร ร้อยละ 54.2 ที่สนับสนุนเป็นพวกสายกลาง ส่วนฝั่งก้าวหน้ามี 39.4 ที่เห็นด้วยกับการยังคงโทษประหารไว้

    อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งตามที่ Korea Herald รายงานว่า ‘แม้ปัจจุบันเกาหลีใต้จะมีผู้ต้องโทษประหารทั้งสิ้น 63 รายก็จริง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เกาหลีใต้ไม่เคยประหารใครเลยมานับตั้งแต่ปี 1997 ซึ่งในปีนั้นมีการประหารชีวิตสูงถึง 23 ราย

    กล่าวคือนับตั้งแต่เกาหลีใต้แยกตัวจากเกาหลีเหนือมาตั้งแต่ปี 1945 เกาหลีใต้ประหารชีวิตไปแล้ว 920 ราย ทว่าหากรวมคดีในศาลทหารแล้วจะมีผู้ที่ถูกประหารชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น 1,300 ราย ซึ่งต้องยอมรับว่าเกาหลีในช่วงเวลาดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร
    แต่ความจริงแล้วนับตั้งแต่ปี 1998 ในสมัยของประธานาธิบดี ผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตย คิมแดจุง เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโลก ได้ประกาศให้มีการเลื่อนการประหารชีวิต หรือในทางปฏิบัติก็คือไม่มีการประหารชีวิตจริง ๆ แม้ว่าจะยังคงมีโทษประหารอยู่ก็ตาม’

    สำนักข่าว Hankyoreh ระบุว่า ‘จนถึงปัจจุบันเกาหลีใต้มีนักโทษประหาร 63 ราย ในบรรดานี้มีอยู่ 10 รายที่เสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือการฆ่าตัวตาย และถึงแม้ว่าในจำนวนทั้ง 63 รายนี้จะเคยคร่าชีวิตผู้คนรวมกันมากถึง 209 คนไปแล้วก็จริง แต่ยังไม่มีนักโทษประหารคนใดเลยที่ถูกประหารชีวิตจริง ๆ นับตั้งแต่ยุคสมัยของนายคิมแดจุง เมื่อปี 1998’

    ครั้งหนึ่งระหว่างคิมแดจุงขณะลี้ภัยการเมืองในช่วงเผด็จการทหารไปยังโตเกียวเมื่อปี 1973 เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “มนุษย์ไม่ควรฆ่ามนุษย์…ประเด็นของโทษประหารชีวิตเป็นหนึ่งในปัญหาร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์ต้องเผชิญ และผมหวังว่าหากเป็นไปได้ ประเทศในเอเชียจะเป็นตัวอย่างในการจัดการกับปัญหานี้”