ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

Yagi(ยางิ) เป็นพายุไต้ฝุ่นกำลังแรงมากที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่เกาะไหหลำของจีน ภาคเหนือของเวียดนาม ลาว ไทย และภาคตะวันออกของรัฐฉาน นับแต่พายุลูกนี้เคลื่อนขึ้นฝั่งเมื่อต้นเดือนกันยายน 2567
อิทธิพลของ Yagi ต่อพื้นที่ตามแนวแม่น้ำโขงตอนบน เริ่มปรากฏให้เห็นหลังจากพายุลูกนี้เคลื่อนผ่านเวียดนามตั้งแต่วันเสาร์ที่ 7 กันยายน และส่งผลกระทบที่ชัดเจนในวันจันทร์ที่ 9 กันยายน
วันที่ 10 กันยายน 2567 มวลน้ำและดินโคลนจากอิทธิพลของพายุ Yagi ไหลบ่าเข้าท่วมอำเภอแม่สาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ภาคตะวันออกของรัฐฉาน โดยเฉพาะเมืองท่าขี้เหล็ก รวมถึงแขวงหลวงน้ำทา ของลาว เป็น “มหามวลน้ำ” ก้อนใหญ่ ที่หลากลงมาจากทุกสารทิศโดยมีปลายทางเดียวกันคือแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังหลายจังหวัดของประเทศไทยที่อยู่ตามแนวแม่น้ำโขง ตั้งแต่ภาคเหนือลงไปถึงภาคอิสาน เกิดน้ำท่วมหนักจากน้ำโขงที่เอ่อล้นตลิ่งในอีกไม่กี่วันถัดมา
ข้อมูล ข่าวสาร ที่หลั่งไหลออกมาตลอด 1 สัปดาห์ เกี่ยวกับต้นทางของมหามวลน้ำอันเกิดจากพายุ Yagi มีหลากหลาย ทั้งข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อมูลจากการคาดเดา การค้นหาและรวบรวมข้อมูลลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงอย่างเป็นระบบจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะลำน้ำหลายสายไม่ได้มีต้นทางหรือจุดกำเนิดอยู่ในประเทศไทย…บางสายอยู่ห่างจากชายแดนไทยไปนับร้อยกิโลเมตร!
เพื่อให้เห็นภาพและทำความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และมีโอกาสเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงขอนำข้อมูลบางส่วนที่ได้รวบรวมไว้เกี่ยวกับสายน้ำและสภาพพื้นที่อันเป็นต้นทางของมหามวลน้ำที่เพิ่งไหลผ่านมาเสนอ
เบื้องต้น ได้ตีกรอบการนำเสนอเฉพาะพื้นที่ตามแนวแม่น้ำโขงตอนบน ช่วงที่ไหลออกจากดินแดนจีนลงมายังจุดบรรจบของพรมแดนไทย ลาว และเมียนมา ซึ่งเป็นต้นทางของมวลน้ำที่ไหลต่อลงไปท่วมจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ลำน้ำสายสำคัญที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงช่วงนี้ ประกอบด้วย…
แม่น้ำหลวย
เป็นลำน้ำขนาดใหญ่สายแรกๆที่ไหลจากภาคตะวันออกของรัฐฉานมาลงแม่น้ำโขงที่สบหลวย เมืองยอง ห่างจากตัวเมืองท่าขี้เหล็กขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 180 กิโลเมตร เป็นช่วงที่แม่น้ำโขงถูกใช้เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างเมียนมากับลาว ฝั่งตรงข้ามสบหลวยเป็นเมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา
แม่น้ำหลวยเป็นสายน้ำที่ยาวพอสมควร ต้นทางของแม่น้ำหลวยอยู่บริเวณชายแดนรัฐฉาน-จีน ตรงบ้านผาต้า เมืองป๊อก ห่างจากตัวเมืองป๊อกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 30 กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติไต ว้า และลาหู่ เมิ่งเหลียน หรือชื่อในภาษาไตเรียกว่า”เมืองแลม” จังหวัดผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน มีด่าน Mangxin เป็นจุดผ่านแดน

หากยึดตามการแบ่งเขตการปกครองของรัฐฉานแล้ว เมืองป๊อกเป็นเมืองระดับตำบลที่ขึ้นกับอำเภอเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง แต่ในทางพฤตินัยแล้ว เมืองป๊อกถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นพิเศษหมายเลข 2 เขตปกครองตนเองชนชาติว้า และถูกปกครองโดยกองทัพสหรัฐว้า(UWSA) มาหลายปีแล้ว เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับเมือง”ป๋างซาง”หรืออีกชื่อหนึ่งคือเมือง”ปางคำ” เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองชนชาติว้า
ในเมืองป๊อกมีนักธุรกิจชาวจีนและชาวว้าเข้าไปลงทุนอยู่มาก ทำให้ไม่กี่ปีมานี้ ตัวเมืองป๊อกมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากที่เคยเป็นเพียงชุมชนในชนบท มีการก่อสร้างอาคารสูงหลายชั้นเกิดขึ้นหลายแห่ง และเมืองป๊อกกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งแก๊งจีนเทาเข้าไปใช้เป็นฐานก่ออาชญากรรมทางออนไลน์หรือคอลเซ็นเตอร์ มีคนไทยหลายร้อยคนถูกหลอกไปทำงานให้กับแก๊งเหล่านี้ในเมืองป๊อก
เมื่อดูใน Google Maps ผู้อ่านอาจสับสน เพราะมีการบันทึกชื่อแม่น้ำหลวยตลอดแนวลำน้ำเอาไว้ว่า Mekong River
จากจุดต้นน้ำที่ชายแดนจีน-รัฐฉาน แม่น้ำหลวยไหลคดเคี้ยวลงมาทางทิศใต้ผ่านเมืองขาก จากนั้นเบนแนวมาทางทิศตะวันออก บรรจบกับแม่น้ำขืนซึ่งไหลขึ้นมาจากเมืองเชียงตุงบริเวณบ้านตาเปิม และไหลต่อผ่านสะพานท่าปิง จุดเชื่อมระห่างเมืองเชียงตุงกับเมืองลา ก่อนวกลงใต้เข้าสู่เขตเมืองยุ ซึ่งเป็นปลายทางที่แม่น้ำหลวยไหลลงสู่แม่น้ำโขง
เมืองยุขึ้นกับเมืองยอง ทั้ง 2 เมืองเป็นดินแดนของคนชาติพันธุ์ลื้อ ในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เพื่อฟื้นฟูล้านนาเมื่อ 200 กว่าปีก่อน คนลื้อจากลุ่มแม่น้ำหลวยได้โยกย้ายมาอยู่บริเวณที่เป็นอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน เพื่อตั้งถิ่นฐานตรงลุ่มแม่น้ำออน และได้ตั้งชื่อชุมชนของพวกเขาว่า”ออนหลวย” เพื่อบ่งบอกที่มาว่าเป็นชาวลื้อจากลุ่มแม่น้ำหลวยที่ย้ายมาอยู่ลุ่มแม่น้ำออน
ทุกวันนี้ ออนหลวยมีฐานะเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 9-10 กันยายน 2567 เพจ Wa News Land เผยแพร่คลิปมวลน้ำขนาดใหญ่กำลังหลากท่วมหลายพื้นที่ในเมืองป๊อก เนื่องจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่เช้าวันที่ 9 กันยายน จากพายุ Yagi จนข้ามมาวันที่ 10 กันยายนแล้วก็ยังไม่หยุด กองทัพสหรัฐว้าต้องระดมกำลังตำรวจมาช่วยเหลือชาวบ้านที่ติดอยู่ตามอาคารต่างๆ
เนื้อข่าวของ Wa News Land ระบุว่า ช่วงวันที่ 9-10 กันยายน ทุกเมืองในรัฐฉานภาคตะวันออก ตั้งแต่เมืองสาต เมืองโต๋น เมืองยอน เมืองก๊ก ท่าขี้เหล็ก ท่าเดื่อ พยาก เชียงตุง เมืองเปง เมืองลา เมืองขาก เมืองยาง เมืองป๊อก ขึ้นไปถึงเมืองป๋างซาง ในเขตว้า ล้วนต้องเผชิญกับพายุฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างหนักติดต่อกันตลอด 2 วัน ทำให้ทุกเมืองต่างเจอกับปัญหาน้ำท่วมขังสูง น้ำป่าไหลหลาก เหมือนกันหมด…
แม่น้ำสาย
มวลน้ำและดินโคลนจากแม่น้ำสายที่ไหลบ่าลงมาท่วมอำเภอแม่สายและตัวเมืองท่าขี้เหล็ก เมื่อวันที่ 10 กันยายน ได้สร้างความตื่นตกใจแก่ทุกคนที่ได้เห็นภาพและคลิปข่าว!
ก่อนการเข้ามาของพายุ Yagi เฉพาะช่วงฤดูฝนปีนี้ แม่น้ำสายเคยได้ล้นท่วมพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนไทย-รัฐฉาน มาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งที่เกิดจากพายุ Yagi ถือรุนแรงและยาวนานที่สุด
แม่น้ำสายเป็นลำน้ำสายสั้นๆยาวประมาณ 30 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดอยู่ฝั่งตะวันตกของดอยต่อคำ แนวเทือกเขาสูงในฝั่งรัฐฉานที่เชื่อมต่อมาถึงดอยนางนอนของจังหวัดเชียงราย ต้นน้ำสายอยู่ห่างจากตัวเมืองท่าขี้เหล็กไปทางทิศตะวันตกประมาณ 20 กิโลเมตร และเป็นช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัดท่าขี้เหล็กกับจังหวัดเมืองสาต

จังหวัดเมืองสาตอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพสหรัฐว้า(UWSA) ถูกจัดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองตนเองชนชาติว้า คนในรัฐฉานเรียกพื้นที่นี้ว่าเป็นเขตว้าใต้
ตามข้อมูลของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน(Shan Human Rights Foundation) ระบุว่าลำน้ำย่อยที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำสาย มีต้นทางมาจากหลายพื้นที่ในเมืองสาต เช่น จากบ้านแม่โจ๊ก บ้านนายาว บ้านเมืองกาน
เมื่อลำน้ำเหล่านี้รวมกันเป็นแม่น้ำสายได้ไหลคดเคี้ยวไปทางทิศตะวันออกจนบรรจบกับเขตแดนไทยที่ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย และถูกใช้เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างไทยกับเมียนมาเป็นระยะทางยาว 15 กิโลเมตร โดยไหลผ่านตัวเมืองแม่สาย ท่าขี้เหล็ก ด่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และ 2 จนไปรวมกับแม่น้ำรวกที่ไหลลงมาจากทางทิศเหนือที่บริเวณหมู่บ้านป่าแดงหลวง ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย
จากจุดนี้ แม่น้ำรวกถูกใช้เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างไทยกับเมียนมาต่อไปอีกประมาณ 44 กิโลเมตร จนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่สบรวก อำเภอเชียงแสน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม”สามเหลี่ยมทองคำ”
เช่นเดียวกับแม่น้ำหลวย เพราะหากเข้าไปดูใน Google Maps อาจเกิดความสับสน เพราะใน Google Maps ได้บันทึกชื่อแม่น้ำสายไว้ตลอดแนวลำน้ำว่าเป็นแม่น้ำรวก
วันที่ 8 มีนาคม 2567 มูลนิธิสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำสายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า มีสาเหตุหลักมาจากการขยายการทำเหมืองทองคำ เหมืองสังกะสี และเหมืองแร่แมงกานีส ในเขตเมืองสาต เนื่องจากตั้งแต่แต่ปี 2564 ทหารว้าและทหารพม่าที่ดูแลพื้นที่ ได้เปิดให้นักลงทุนจากจีนเข้าไปทำเหมืองทองคำหลายแห่งในบริเวณซึ่งเป็นต้นแม่น้ำสาย และลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาย เช่น น้ำปุง น้ำพุ เหมืองเหล่านี้เป็นเหมืองฉีด มีการนำเครื่องจักรหนักเข้าไปสกัดภูเขา เปิดหน้าดิน ปรับสภาพผืนดินให้เป็นหนองน้ำเพื่อสกัดสินแร่ออกมา น้ำเสียที่ฉีดขึ้นไปเพื่อเซาะกร่อนสินแร่จากดินถูกปล่อยเป็นดินโคลนลงสู่สายน้ำ
การทำเหมืองฉีดส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและลักษณะของสายน้ำโดยตรง ทำให้ในลำน้ำสายมีดินโคลนและตะกอนเพิ่มมากขึ้น…

แม่น้ำรวก
ตามข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจ The Surveyor เมื่อปี 2558 ระบุว่า แม่น้ำรวกมีต้นกำเนิดจากดอยผาเลง ทางตอนใต้ของเมืองเชียงตุง จากนั้นไหลลงมาทางทิศใต้ บรรจบกับแม่น้ำสาย และถูกใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับรัฐฉาน จนลงไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่สบรวก สามเหลี่ยมทองคำ
ในบทความเรื่อง”เลียบ ลัด เลาะ เจาะอดีต “แม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก” : ประวัติศาสตร์การปักปันเส้นเขตแดนไทย-เมียนมา” ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ Lanner เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ระบุว่า จากต้นกำเนิดที่ดอยผาเลง ทางทิศใต้ของเมืองเชียงตุง แม่น้ำรวกได้ไหลผ่านหมู่บ้านแม่ฮวก หรือแม่รวก ซึ่งเป็นชุมชนคนพลัดถิ่น ก่อนที่จะไหลลงมาเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา

เมื่อดูจาก Google Maps ต้นกำเนิดของแม่น้ำรวกอยู่บนดอยทางทิศเหนือของเมืองไฮ ห่างจากตัวเมืองท่าขี้เหล็กขึ้นไปประมาณ 40 กิโลเมตร
ตามแนวแม่น้ำรวกมีการลงทุนในกิจการเหมืองแร่อยู่เช่นกัน และเมื่อเดือนกันยายน 2564 เคยมีข่าวการตรวจพบสารแมงกานีสปนเปื้อนจากน้ำในแม่น้ำรวกที่การประปาส่วนภูมิภาคแม่สายนำมาใช้เป็นน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาป้อนให้กับอำเภอแม่สาย เนื่องจากกองทัพสหรัฐว้าได้ตั้งเขตอุตสาหกรรมขึ้นริมแม่น้ำรวก บริเวณบ้านห้องลึก ท่าขี้เหล็ก และได้สร้างโรงงานยางพาราแผ่น และโรงงานแต่งแร่แมงกานิสไว้ในเขตอุตสาหกรรมแห่งนี้…
แม่น้ำกก
เป็นลำน้ำที่ใหญ่และยาวอีกสายหนึ่ง ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่าแม่น้ำกกยาว 285 กิโลเมตร เป็นความยาวเฉพาะในประเทศไทย 130 กิโลเมตร
จุดเริ่มต้นของแม่น้ำกกอยู่บนเทือกเขาทางตอนเหนือของเมืองก๊ก จังหวัดเมืองสาต จากนั้นไหลคดเคี้ยวลงมาทางทิศใต้ ผ่านตัวเมืองก๊ก วกมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้าสู่ตัวเมืองสาต ต่อลงมาทางทิศใต้เข้าสู่ประเทศไทยที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
จากท่าตอน แม่น้ำกกเบนมาทางทิศตะวันออก เข้าสู่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย ผ่านตัวเมืองเชียงรายแล้ววกกลับขึ้นไปทางทิศเหนือจนไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านสบกก อำเภอเชียงแสน ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2
เมืองก๊กซึ่งเป็นต้นทางของแม่น้ำกก อยู่ห่างจากชายแดนไทยที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 50 กิโลเมตร เป็นแหล่งถ่านหินประเภทลิกไนต์ขนาดใหญ่ ปริมาณสำรองของถ่านลิกไนต์ที่แหล่งนี้มีอยู่ประมาณ 120 ล้านตัน

เมื่อปี 2551 บริษัทสระบุรีถ่านหิน ในเครืออิตัลไทย ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลทหารพม่าให้เข้าไปทำเหมืองถ่านหินที่เมืองก๊ก เป็นเวลา 30 ปี บริษัทสระบุรีถ่านหินมีแผนนำถ่านหินจากเมืองก๊กเข้าสู่ประเทศไทยด้วยการขนส่งทางรถบรรทุกผ่านช่องทางชายแดนหมู่บ้านม้งเก้าหลัง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จากนั้นขนผ่านป่าแม่ฟ้าหลวง ไปยังตัวเมืองเชียงราย และลำเลียงต่อลงไปตามถนนพหลโยธินจนถึงจังหวัดสระบุรี

ปรากฏว่า แผนการของบริษัทสระบุรีถ่านหินถูกคัดค้านอย่างหนักจากประชาคมชาวเชียงราย จนในที่สุดต้องพับโครงการไป
ปี 2562 บริษัทสหกลอิควิปเม้นท์ ได้สัมปทานจากรัฐบาลเมียนมาให้ทำเหมืองลิกไนต์และโรงไฟฟ้าจากถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่เมืองก๊ก แต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 และการรัฐประหารในปี 2564 ทำให้จนถึงขณะนี้ โครงการทั้งหมดยังไม่ได้เริ่ม…
แม่น้ำทา
วิกิพีเดียภาคภาษาลาวระบุว่าแม่น้ำทายาว 325 กิโลเมตร ต้นกำเนิดอยู่บนเทือกเขาบ่อเต็น บริเวณชายแดนลาว-จีน ห่างจากตัวเมืองหลวงน้ำทาขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร ฝั่งลาวเป็นเขตเมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นเมืองหล้า เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน
จากเทือกเขาบ่อเต็น แม่น้ำทาไหลลงมาทางทิศใต้ จากนั้นไหลคดเคี้ยวคู่ขนานไปกับถนนหมายเลข 17A (หลวงน้ำทา-เมืองสิง) จนถึงตัวเมืองหลวงน้ำทา แต่ก่อนจะถึงตัวเมืองหลวงน้ำทาประมาณ 3 กิโลเมตร มีเขื่อนขนาดเล็กชื่อว่า”เขื่อนน้ำทา 3″ ถูกสร้างกั้นแม่น้ำทาเอาไว้ เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับเมืองหลวงน้ำทา

เมื่อลงมาถึงตัวเมืองหลวงน้ำทา แม่น้ำทาเบนจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อย จากนั้นไหลต่อลงมาทางทิศใต้และถูกใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างแขวงหลวงน้ำทากับแขวงอุดมไซประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร จึงมุ่งหน้าต่อลงใต้มายังเมืองนาแล ผ่านเมืองนาแลแล้วแม่น้ำทามุ่งหน้าต่อทางทิศใต้เข้าพื้นที่แขวงบ่อแก้ว
ในแขวงบ่อแก้ว แม่น้ำทาเบนมาทางทิศตะวันตก ผ่านเขื่อนผลิตไฟฟ้า”น้ำทา 1″ เขตเมืองผาอุดม วกลงทางทิศใต้ผ่านเขื่อนผลิตไฟฟ้า”น้ำทา 2″ และวกกลับไปทางทิศตะวันตกอีกครั้งเพื่อลงสู่แม่น้ำโขงที่เมืองปากทา
เมืองปากทา แขวงบ่อแก้ว เป็นช่วงที่แม่น้ำโขงไหลผ่านแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายมาแล้ว และได้เข้าสู่ดินแดนลาวอย่างเต็มตัว จากจุดนี้ แม่น้ำโขงไหลมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ และไหลต่อไปยังแขวงหลวงพระบาง แขวงไซยะบูลี แขวงเวียงจันทน์ ก่อนจะกลับมาเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยและลาวอีกครั้ง ที่เมืองซะนะคาม ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

แขวงหลวงน้ำทาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุ Yagi ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาท่วมเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม ต้นทางรถไฟลาว-จีน นอกจากนี้ ปริมาณน้ำฝนยังทำให้แม่น้ำทาเอ่อล้นฝั่งลามเข้าไปท่วมตัวเมืองหลวงน้ำทาเป็นบริเวณกว้าง มวลน้ำก้อนใหญ่ยังได้หลากเข้าท่วมสนามบินหลวงน้ำทา ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของตัวเมือง ทำให้สนามบินแปรสภาพเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่
ตามข้อมูลจากเพจ AEROLAOS สนามบินหลวงน้ำทา ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 5,249 ฟุต รันเวย์ยาว 1,600 เมตร มีเที่ยวบินของสายการบินลาวและลาวสกายเวย์ บินจากสนามบินนานาชาติวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ มาลงยังสนามบินหลวงน้ำทา วันละ 4 เที่ยว หลังน้ำท่วมสนามบิน ทุกสายการบินต่างประกาศยกเลิกเที่ยวบินที่จะไปยังหลวงน้ำทาอย่างไม่มีกำหนดในวันที่ 10 กันยายน

วันที่ 10 กันยายน มวลน้ำจากต้นน้ำทาได้หลากลงมาจนล้นสันเขื่อนไฟฟ้าน้ำทา 3 และมวลน้ำยังส่งผลไปถึงเขื่อนไฟฟ้าน้ำทา 1 ให้ต้องเร่งระบายน้ำ เพราะน้ำจากเหนือที่เข้าไหลเข้ามายังอ่างเก็บน้ำมีปริมาณมาก
……
ลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ยกตัวอย่างมาทั้ง 5 สาย มีที่มาจากหลากทิศหลายทาง แต่ละสายเป็นลำน้ำใหญ่และยาว เมื่อได้รับน้ำฝนปริมาณมากในจังหวะเวลาเดียวกัน ย่อมสามารถสร้างมวลน้ำก้อนใหญ่ได้ไม่ต่างจากอ่างเก็บน้ำยักษ์ที่สันเขื่อนแตก!
