ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > มลพิษข้ามพรมแดน…แนวโน้มที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น

มลพิษข้ามพรมแดน…แนวโน้มที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น

19 พฤษภาคม 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

สภาพแม่น้ำสายที่ขุ่นคลั่กเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 จนการประปาส่วนภูมิภาคแม่สายไม่กล้านำใช้เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำประปาป้อนแก่ชุมชน ที่มาภาพ : เพจการประปาส่วนภูมิภาคแม่สาย

การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด การเร่งเพิ่มผลผลิตด้วยกระบวนการที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อขยายตลาดขององค์กรธุรกิจ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ในประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศบนภาคพื้นทวีปอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เพียงสร้างปัญหาแก่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ยังส่งมลพิษข้ามพรมแดนไปยังประเทศข้างเคียงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

……

เวลา 19.45 น. วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เพจทางการของ “การประปาส่วนภูมิภาคแม่สาย” อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โพสต์ภาพและข้อความ มีเนื้อหาดังนี้

“ขออนุญาตเรียนแจ้งลูกค้าผู้ใช้บริการน้ำประปาทุกท่าน ในขณะนี้คุณภาพน้ำดิบ(แม่น้ำสายและแม่น้ำรวก) มีความขุ่นสูงคาดว่าจะถึงประมาณ 10,000 NTU จึงขอประกาศให้ผู้ใช้น้ำประปาในอำเภอแม่สายทุกท่าน โปรดสำรองการใช้น้ำกรณีฉุกเฉิน สถานการณ์ในขณะนี้เริ่มลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง จึงกราบขออภัยสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้

การประปาฯ จะพยายามควบคุมสถานการณ์ให้ประชาชนผู้ใช้น้ำได้ใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง และจะพยายามอย่างเต็มความสามารถ ขอให้ทุกท่านได้โปรดติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องผ่านทางเพจการประปาส่วนภูมิภาคสาขาแม่สาย ครับ”…

NTU(Nephelometric Turbidity Units) เป็นหน่วยวัดความขุ่น(formazin)ของน้ำ ข้อมูลจากเว็บไซตกองมาตรฐานน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า

“1 NTU เท่ากับความขุ่น 1 มิลลิกรัม ในน้ำ 1ลิตร ความขุ่นของน้ำเกิดจากสารแขวนลอยในน้ำ ในรูปสารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ หรือคอลลอยด์ สิ่งเหล่านี้จะบดบังทำให้ลำแสงหักเหเมื่อส่องผ่าน ทำให้มองเห็นความขุ่นในน้ำ ความขุ่นของน้ำจึงขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณของสารแขวนลอย การกระจัดกระจาย และความสามารถในการดูดซับแสงของสารแขวนลอยเหล่านั้น

ความขุ่นของน้ำเป็นดัชนีคุณภาพน้ำที่สังเกตเห็นได้ง่ายที่สุด ค่าความขุ่นจึงมีความสำคัญต่อทัศนคติในการเลือกอุปโภค บริโภคของผู้ใช้น้ำ ค่าความขุ่นยังมีผลต่อต่อปริมาณสารเคมีในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และประสิทธิภาพของเครื่องกรองน้ำ ถ้าน้ำมีค่าความขุ่นสูงจะทำให้สิ้นเปลืองสารเคมีในการลดความขุ่น และทำให้เครื่องกรองอุดตันเร็ว มีอายุการใช้งานสั้นลง น้ำที่มีความขุ่นสูงจะทำให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคลดลง โดยจุลินทรีย์บางส่วนอาจอาศัยหลบซ่อนอยู่ตามอนุภาคแขวนลอย ทำให้โอกาศที่สัมผัสกับสารเคมีที่ฆ่าเชื้อโรคน้อยลง”…

ที่มาภาพ : เพจการประปาส่วนภูมิภาคแม่สาย

แม่น้ำสายเป็นแหล่งน้ำดิบหลักสำหรับนำไปใช้ผลิตเป็นน้ำประปาป้อนให้กับประชาชนในอำเภอแม่สายได้ใช้บริโภค

แม่สายเป็นอำเภอชายแดนของไทยที่มีพื้นที่ติดกับภาคตะวันออกของรัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ฝั่งตรงข้ามแม่สายคืออำเภอท่าขี้เหล็ก จังหวัดท่าขี้เหล็ก

หลังโพสต์แรกถูกเผยแพร่ออกไปได้ไม่นาน รุ่งขึ้น วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เพจการประปาส่วนภูมิภาคแม่สาย ได้โพสต์ถึงเรื่องนี้อีกครั้งในเวลา 10.52 น. ว่า

“ขอเรียนแจ้งลูกค้าผู้ใช้บริการน้ำประปาในเขตอำเภอแม่สายทุกท่าน การประปาส่วนภูมิภาคสาขาแม่สาย สามารถผลิตน้ำได้อย่างต่อเนื่องแล้ว แต่สีของน้ำประปาส่งจ่ายไปยังบ้านของลูกค้าอาจจะไม่ได้ใสเหมือนช่วงก่อนที่จะเกิดน้ำขุ่นสูง แต่สีของน้ำประปา(คุณภาพ)ยังอยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐานของ กปภ. หากน้ำที่บ้านบ้านของลูกค้ามีความขุ่นดำ อาจเกิดจากน้ำขุ่นที่ยังคงค้างในเส้นท่อ จึงขอความอนุเคราะห์ให้ลูกค้าโปรดแจ้งข้อมูลมาที่เพจการประปาส่วนภูมิภาคสาขาแม่สาย หรือโทร.แจ้งที่ 053-731010 เพื่อจะให้ช่างเข้าไปให้บริการโบว์ลน้ำบริเวณหน้าบ้านของลูกค้า โดยลูกค้าไม่ต้องเปิดน้ำทิ้งเองเพื่อป้องกันการจ่ายค่าน้ำสูงผิดปกติครับ กปภ.แม่สายขออภัยลูกค้าทุกท่านในความไม่สะดวกครับ”

ต้นทางของแม่น้ำสายอยู่ในเขตอำเภอเมืองสาต จังหวัดเมืองสาต รัฐฉาน ห่างจากตัวเมืองท่าขี้เหล็กไปทางทิศตะวันตกประมาณ 90 กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามเมืองสาต เป็นอำเภอแม่อาย อำเภอฝาง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นแม่น้ำสายได้ไหลไปทางทิศตะวันออกจนบรรจบกับแม่น้ำรวก ก่อนลงสู่แม่น้ำโขงที่สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน

แม่น้ำสายยาวประมาณ 30 กิโลเมตร อยู่ในเขตประเทศไทย 15 กิโลเมตร และถูกใช้เป็นเส้นกั้นพรมแดนธรรมชาติระหว่างอำเภอแม่สาย กับเมืองท่าขี้เหล็ก จังหวัดท่าขี้เหล็ก

Infographic ของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน ยืนยันสาเหตุที่ทำให้แม่น้ำสายขุ่น เกิดจากการขยายเหมืองทองคำในพื้นที่จังหวัดเมืองสาต รัฐฉานตะวันออก

วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา(TBC) ให้สัมภาษณ์ว่า การขุ่นของแม่น้ำสาย มีสาเหตุมาจากการทำเหมืองทองคำในพื้นที่รัฐฉาน ด้วยวิธีฉีดอัดน้ำแรงดันสูงไปยังหน้าดิน ให้สินแร่ไหลปนออกมากับดินก่อนคัดแยก ทำให้มีตะกอนดินไหลตามน้ำลงไปยังแม่น้ำสาย จนเกิดเป็นน้ำขุ่นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายแล้ว ไม่พบว่ามีสารอันตรายปนเปื้อนมาด้วย ทำให้ยังสามารถนำน้ำมาผลิตเป็นน้ำประปาได้เหมือนเดิม และเรื่องนี้ TBC ฝั่งไทยได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง TBC ฝั่งเมียนมาแล้ว…

สภาพขุ่นคลั่กของแม่น้ำสาย มิได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก 3 เดือนก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2567 น้ำในแม่น้ำสายเกิดมีลักษณะขาวขุ่นต่อเนื่องนานกว่า 1 สัปดาห์ หน่วยราชการไทยได้มีการประชุมและสรุปสาเหตุเบื้องต้นว่า เกิดจากการทำเหมืองทองคำกับเหมืองแร่แมงกานีส ในพื้นที่บ้านแม่โจ๊ก และบ้านนายาว ในเขตเมืองสาต เหมืองทั้ง 2 แห่ง ใช้วิธีสูบน้ำจากแม่น้ำพ่นชะหน้าดิน ให้ดินไหลตกลงในตะแกรงเพื่อร่อนหาแร่ ส่วนน้ำที่พ่นไปแล้วทั้งหมด จะถูกปล่อยให้ไหลกลับลงในแม่น้ำโดยไม่มีบ่อพักหรือบ่อบำบัด

นอกจากนี้ ที่บ้านเมืองไฮ เขตเมืองสาตเช่นกัน ยังมีเหมืองแร่แมงกานีสกับเหมือสังกะสีของนักลงทุนชาวจีนอีก 2 เหมือง ตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำปุงหรือน้ำพุ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาย เหมืองทั้ง 4 แห่ง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 โดยไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปภายในพื้นที่ทำเหมืองโดยเด็ดขาด

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา TBC ฝั่งไทย ได้ทำหนังสือประท้วงไปยัง TBC ฝั่งเมียนมา จากนั้นไม่นาน สภาพของแม่น้ำสายก็กลับคืนสู่สภาพปกติ…

จังหวัดเมืองสาตแม้อยู่ในรัฐฉาน แต่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ปกครองตนเองของกองทัพสหรัฐว้า(UWSA) โดย UWSA ได้เริ่มโยกย้ายชาวบ้านที่เป็นชนชาติพันธุ์ว้านับแสนคน จากเมืองป๋างซางและเมืองอื่นๆในเขตปกครองตนเองชนชาติว้า ติดชายแดนจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ให้ลงมาปักหลักทำมาหากินในเขตอำเภอเมืองโต๋นและเมืองสาต จังหวัดเมืองสาต ตั้งแต่ปี 2542 และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงมีชาวว้าที่ทยอยเดินทางจากตอนเหนือลงมาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดเมืองสาตเพิ่มอยู่เรื่อยๆ

วันที่ 8 มีนาคม 2567 มูลนิธิสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน เผยแพร่ข้อมูลในรูปของ Infographic 4 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาพม่า ภาษาไทใหญ่ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ยืนยันว่าปัญหามลพิษที่เกิดกับแม่น้ำสาย มีต้นเหตุจากการขยายเหมืองทองคำในเขตเมืองสาต ข้อมูลที่เขียนไว้ใน Infographic ภาษาไทย มีรายละเอียดดังนี้(ดูภาพประกอบ)

-แม่โจ๊ก : ในปี 2564 กลุ่มทหารบ้านที่สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า อนุญาตให้คนงานเหมืองของจีน เริ่มทำเหมืองโดยใช้เครื่องจักรกลที่ด้านบนเขา ทางตะวันออกของบ้านแม่โจ๊ก น้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากเหมืองทองคำ และหนองน้ำที่ใช้สกัดแร่ ไม่ได้ผ่านการบำบัด และไหลไปรวมกับแม่น้ำสาย

สารเคมีที่เป็นพิษ รวมทั้งไซยาไนด์ มักถูกใช้เพื่อการสกัดแร่ทองคำจากการทำเหมือง

-เมืองกาน และนายาว : ช่วงปลายปี 2565 กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) อนุญาตให้คนงานเหมืองของจีนหลายพันคนเริ่มทำเหมืองโดยใช้เครื่องจักรกลตามริมฝั่งแม่น้ำสายในเมืองกาน มีการสกัดภูเขาและมีการปรับสภาพดินผืนใหญ่ให้กลายเป็นหนองน้ำเพื่อสกัดแร่ทองคำ ปล่อยให้น้ำเสียไหลลงสู่แม่น้ำโดยตรง ช่วงปลายปี 2566 ได้มีการขยายการทำเหมืองทองไปยังต้นน้ำแม่สายใกล้เขตนายาว และช่วงเดือนธันวาคม 2566 มีผู้พบเห็นคาราวานรถบรรทุกหกล้อขนส่งคนงานจีนชุดใหม่กว่า 1,000 คน จากท่าขี้เหล็ก ไปยังพื้นที่เหมืองทองคำตอนกลางคืน

……

มลพิษข้ามพรมแดนในอำเภอแม่สาย ไม่ได้เกิดเฉพาะปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายเพียงอย่างเดียว ย้อนกลับไปประมาณกลางปี 2565 ชาวบ้านหลายพื้นที่ในอำเภอแม่สายเริ่มได้กลิ่นเหม็นแปลกๆในช่วงกลางคืน เป็นกลิ่นสารเคมีคล้ายๆแก๊สไข่เน่า โดยกลิ่นจะเริ่มลอยเข้าจมูกช่วงประมาณ 19.00-20.00 น. และเหม็นรุนแรงขึ้นในตอนดึก

ชาวบ้านหลายคนร้องเรียนไปยังนายอำเภอแม่สาย ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ พบว่ามีกลิ่นเหม็นจริง แต่ยังไม่รู้ถึงที่มาหรือต้นตอของกลิ่น จึงทำได้เพียงแนะนำให้ชาวบ้านปิดหน้าต่างบ้านไว้ในช่วงกลางคืน และประสานงานผ่านทาง TBC ของไทยกับเมียนมา และนายอำเภอท่าขี้เหล็ก

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย มีหนังสือประทับตราด่วนที่สุด เลขที่ ชร 1018.3/ว 5122 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากกลิ่นที่เกิดจากการเผาไหม้ในเวลากลางคืน ส่งถึงกำนันตำบลแม่สาย และผู้ใหญ่บ้านในเขตพื้นที่ตำบลแม่สาย มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

ปล่องระบายควันจากโรงงานผลิตปูนขาวของนักลงทุนชาวจีนในท่าขี้เหล็ก ที่เชื่อว่าเป็นต้นตอให้เกิดกลิ่นเหม็นคลุ้งในตอนกลางคืน ที่มาภาพ : เพจ Maesaipress

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 อำเภอแม่สายและอีกหลายหน่วยงาน ร่วมกันตรวจสอบกลิ่นในพื้นที่ตำบลแม่สาย รวม 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านเหมืองแดงใต้ บ้านเวียงหอม บ้านสันทราย และบ้านสันทรายใหม่ ผลการตรวจสอบพบว่า กลิ่นที่เกิดจากการเผาไหม้ในเวลากลางคืน เป็นกลิ่นของสารไฮโดรเจนไซยาไนด์(Hydeogen cyanide : HCN) ผลการวัดค่าจากเครื่อง multi RAE ได้ 0.5 ppm จากค่าปกติ 0.0 ppm จะมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1(เชียงใหม่) จึงได้ประสานการแก้ไขปัญหา ดังนี้

1.จัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน(Emergency Operations Center : EOC) เพื่อเป็นช่องทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

2.พัฒนาระบบแจ้งเตือนฝุ่นควันอัตโนมัติในระดับตำบล และจัดทำห้องปลอดฝุ่นในศูนย์เด็กเล็ก เพื่อสื่อสารความเสี่ยงให้กับประชาชนในพื้นที่และป้องกันการป่วย

3.ประสานการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกับนายอำเภอท่าขี้เหล็ก และคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น เมียนมา-ไทย(TBC ฝ่ายเมียนมา จังหวัดท่าขี้เหล็ก) ผ่านหน่วยประสานงานชายแดนไทย-เมียนมา ประจำพื้นที่ 1 (TBC ไทย)

4.กรมอนามัยจะนำเครื่องตรวจวัดขนาดใหญ่ มาดำเนินการตรวจวัดกลิ่นในพื้นที่อีกครั้ง ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2565

5.ขอให้ท่านประชาสัมพันธ์แนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และให้งดเปิดหน้าต่างในช่วงเวลากลางคืน พร้อมทั้งแนวทางปฏิบัติในการดูแลตนเองหากมีอาการ

แม้ในหนังสือของนายอำเภอแม่สาย ไม่มีการระบุถึงต้นตอหรือที่มาของกลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้น แต่ทางฝั่งท่าขี้เหล็ก ผู้ว่าการจังหวัดท่าขี้เหล็กได้มีคำสั่งให้ปิดโรงงานผลิตปูนขาวที่ชื่อบริษัทอิฐลม 999 โดยทันที

โรงงานแห่งนี้เป็นของนักลงทุนชาวจีน ตั้งอยู่ที่บ้านดอยสะโถ่งบน-ล่าง ห่างจากด่านศุลกากรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาข้ามแม่น้ำสาย แห่งที่ 2 ขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 6 กิโลเมตร

เพจข่าว Maesaipress รายงานว่าโรงงานแห่งนี้ใช้การเผาลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นจากการเผาแพร่กระจายไปทั่ว ทั้งในฝั่งท่าขี้เหล็กและฝั่งอำเภอแม่สาย

หลังโรงงานผลิตปูนขาวแห่งนี้ถูกสั่งปิด กลิ่นที่เคยเหม็นคละคลุ้งข้ามพรมแดนไปทั่วทั้ง 2 ฝั่ง รัฐฉาน-ไทย ก็หายไป

……

ประกาศจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำจากแม่น้ำสาย และห้ามอุปโภคบริโภคน้ำจากแม่น้ำสาย

ความทุกข์ยากของชาวแม่สายที่ต้องรับผลจากการลงทุนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของประเทศที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ในช่วง 2 ปีมานี้ เป็นเพียงกรณีตัวอย่างเล็กๆของปัญหามลพิษข้ามพรมแดนที่นับวันจะมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ยังคงอุดมไปด้วยทรัพยากรมีค่าหลากหลาย ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มทุน ทั้งทุนท้องถิ่น ทุนขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ไปจนถึงทุนขนาดยักษ์จากบริษัทข้ามชาติระดับโลก

กิจกรรมของกลุ่มทุนเหล่านี้มักก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากควันจากการเผาป่า เผานา เผาไร่ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงไปจากการสร้างเขื่อนจนชาวบ้านริมน้ำไม่สามารถคาดคะเนหรือวางแผนการผลิตได้ ภัยพิบัติจากน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าไม้ฯลฯ

ถึงเวลาหรือยังที่ “อาเซียน” ซึ่งมีการประชุมกันทุกปี ในทุกแขนงการ ทุกระดับชั้น ต้องหยิบยกปัญหามลพิษข้ามพรมแดนขึ้นเป็นประเด็นสำคัญ มองปัญหาแบบองค์รวมเพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกัน

มิใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของแต่ละท้องถิ่น ของสมาชิกแต่ละประเทศ ไปหาทางจัดการกันเองเป็นกรณีๆไปแบบทุกวันนี้…