ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อแม่น้ำ (โขง) ถูกรุมกินโต๊ะ (1)

เมื่อแม่น้ำ (โขง) ถูกรุมกินโต๊ะ (1)

14 มกราคม 2013


รายงานโดย: เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)

ที่มาภาพ: เอื้อเฟื้อภาพโดย เด่นชัย คิม
ที่มาภาพ: เอื้อเฟื้อภาพโดย เด่นชัย คิม

ต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง

ว่ากันว่า “แม่น้ำโขง” เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่มีความยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก คือยาวประมาณ 4,909 กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่ในมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน ไทลื้อเรียกว่า “แม่น้ำลานช้าง” คนจีนทั่วไปเรียก “แม่น้ำหลานซาง” แม้คนต้นน้ำจะให้ความหมายว่า เป็นแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากน่าเกรงขาม แต่สำหรับคนไทยทั้งเหนือและอีสาน และพี่น้องฝั่งซ้ายเรียกว่า “น้ำของ” เราหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ การเชื่อมโยงความรู้สึกร่วมกันของทั้งสองฝั่ง

แม้สถานะจะเป็นแม่น้ำสากลหรือแม่น้ำนานาชาติ แต่ทั้งหมดทั้งมวลมีนัยยะที่ส่อให้เห็นถึงการพึ่งพาของคนสายน้ำ ทั้งเรื่องวิถีการทำมาหากิน ประเพณี ความเชื่อ การเคารพ และความเป็นมิตรที่ได้ใช้แม่น้ำสายนี้ร่วมกันของคน 6 ประเทศ ทั้งจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ก่อนแยกกันออกเป็น 9 สาย ไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ซึ่งคนเวียดนามเรียกว่า “9 มังกร” สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เป็นที่สะสมตะกอนดิน ปุ๋ยธรรมชาติชั้นดี แหล่งปลูกข้าวคุณภาพเยี่ยมแห่งใหญ่ของโลก และนอกจากปลาบึก ปลาเจ้าถิ่นแห่งลุ่มน้ำโขงที่จักกันดีแล้ว ณ คุ้งน้ำดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta) แห่งนี้ยังมี “ปลาหูช้าง” อันลือชื่อที่คอยดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมเมืองหมีทอ (My Tho) ในจังหวัดเตียนซาง (Tien Giang) ประเทศเวียดนาม ให้หลงใหลบรรยากาศการล่องเรือไปตามลำน้ำกับสองฝากฝั่งที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความเขียวชอุ่มของพันธุ์ไม้ โดยมีฝีพายท้องถิ่นที่แต่งตัวสไตล์เวียดนามแท้ใส่หมวกน๊อนล้า (Non La) ย้ำเสน่ห์อย่างญวน

จากแม่น้ำสาขาสายเล็กสายน้อยกว่า 10 สาย ที่ล้วนแล้วสำคัญต่อสายนทีที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำอิง แม่น้ำกก ในภาคเหนือ แม่น้ำเลย แม่น้ำพอง แม่น้ำชี แม่น้ำมูน แม่น้ำสงคราม ในภาคอีสาน แม่น้ำงึม แม่น้ำเทิน แม่น้ำเซกอง ใน สปป.ลาว ทะเลสาบโตนเลสาปของกัมพูชา และแม่น้ำเซซานในเวียดนาม ทำให้แม่น้ำโขงมีความหลากหลายของพันธุ์ปลามากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากแม่น้ำแอมะซอนในอเมริกาใต้ ด้วยความยาวที่พาดผ่านภูมินิเวศที่หลากหลาย ทำให้แม่น้ำโขงเป็นแหล่งทำมาหากินของคนสองฟากฝั่งกว่า 100 ชนเผ่า กว่า 60 ล้านคน ปลา โปรตีนราคาถูก พืชผักริมโขง การท่องเที่ยว ร่องรอยอารยธรรมทั้งหลายแหล่ที่บรรยายไม่รู้จบ

เมื่อ “แม่น้ำของ” เปลี่ยนไป

12 สิงหาคม 2551 สิ่งที่ชาวลุ่มน้ำโขงยังจำกันได้ดี เมื่อแม่น้ำโขงได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนในเขตจังหวัดริมฝั่งโขง ตั้งแต่เหนือยันอีสาน ทั้งที่ฝนในพื้นที่ตกน้อยมาก พวกเราไม่ได้รับการเตือนภัยจากหน่วยงานใดๆ มาก่อน สาเหตุที่ผู้เขียนจำได้ดี เพราะเป็น “วันแม่” และได้มีโอกาสต้อนรับผู้เชี่ยวชาญชาวเวียดนามลงพื้นที่บ้านวังน้ำมอก ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย พื้นที่ที่คนหลายชาติหลายภาษาอยากไปชื่นชมรูปธรรมของ “ความสุข” ที่ใช้ “เงิน” น้อยมาก ราวๆ 1 ทุ่ม ที่น้ำโขงไหลทะลักเข้าท่วมตัวเมืองศรีเชียงใหม่เกือบล้อรถยนต์ ในคืนนั้น พื้นที่ริมโขงของหนองคายและอีก 6 จังหวัดริมโขงก็กลายเป็นเมืองบาดาลแบบไม่ได้มีการเตือนภัย ข้าวของ เทือกสวนไร่นา เสียหายโดยถ้วนทั่ว

ช่วงตุลาคมปี 2552 น้ำโขงน่าจะนองเต็มตลิ่ง กลับเห็นระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องและแห้งขอดแบบชนิดที่คนเฒ่าคนแก่บอกว่า กว่า 60 ปีที่แม่น้ำแห่งนี้ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ แต่วันนี้ “แม่น้ำของเปลี่ยนไป” สื่อมวลชนได้กระพือข่าว ผู้คนต่างตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น พี่น้องเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้เฝ้าสังเกตการณ์และเริ่มตั้งคำถาม เริ่มศึกษาโลกกว้าง เราพบว่ามีข้อมูลที่ชัดเจนที่ระบุว่า “เขื่อนจีน” ปล่อยน้ำมา

ค้นหาคำตอบว่า “ธรรมชาติหรือเงื้อมมือมนุษย์?”

แม่โขงถูกรุมกินโต๊ะ-4

ในห้วงเวลานั้น พี่น้องเครือข่ายฯ ทั้ง 7 จังหวัดภาคอีสาน ก็ยังไม่ได้ปักใจเชื่อข้อมูลที่ได้รับ และได้เพียรพยายามที่จะเรียนรู้เรื่องราวทั้งหมดจากกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย และองค์กรที่มีข้อมูลเรื่องนี้ แกนนำเริ่มการสืบค้นข้อมูลด้วยตนเองในโลกไซเบอร์ เข้าร่วมงานเวทีวิชาการจากทุกค่าย ทุกสังกัด เราเริ่มรู้รายละเอียด เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ทั้งที่ก่อสร้างไปแล้วและกำลังก่อสร้าง และมีแผนที่จะก่อสร้าง เราเริ่มทบทวนอดีต เริ่มคาดเดาอนาคต กำหนดทิศทางในปัจจุบันว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ใครบ้าง หน่วยงานใดบ้างที่จะตอบคำถามเราได้ และใครจะรับผิดชอบชีวิตพวกเรา คำถาม ข้อกังวลสารพัดที่ผุดกันขึ้นมาท่ามกลางวงเสวนาของเครือข่ายฯ การทำหนังสือร้องเรียน ทวงถาม ขอข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มต้น ณ ตอนนั้น

“ไม่มีสัญญาณตอบรับใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พี่จีนปฏิเสธ น้องไทยใบ้กิน ประชาชนท้ายน้ำรับชะตากรรม”

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งท่วม ทั้งแล้ง ส่งผลให้เครือข่ายฯ ต้องทำการบ้านมากขึ้น คำถามที่ไร้คำตอบ ไร้ความรับผิดชอบ เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ดีที่บอกเราชาวลุ่มน้ำโขงว่า อนาคตแขวนบนเส้นด้าย พ่อค้าแม่ค้าริมโขงที่เคยมีรายได้จากการขายสินค้า อาหารและเครื่องดื่มในเทศกาลสงกรานต์ ต้องชีช้ำกะหล่ำปลี ขาดทุนย่อยยับอีกครั้ง เมื่อสงกรานต์ปี 2553 แม่น้ำโขงดันทะลึ่งโผล่มา เครือข่ายฯ ฟันธง 100% และเราจะเถียงหัวชนฝาอีกครั้งว่าเงื้อมมือมนุษย์แท้ๆ ไม่ใช่ภาวะโลกร้อน

สมาชิกเครือข่ายหลายคนเริ่มหาคำตอบเรื่องกฎหมาย หรือระเบียบร่วมในความเป็นแม่น้ำสากลของแม่น้ำโขง จีนซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำใช้ประโยชน์จากน้ำได้ แต่ข้อปฏิบัติระหว่างประเทศที่ไม่มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดกับประเทศที่อยู่ทางปลายน้ำเช่นนี้ จีนก็ดูเหมือนจะลืมวาทะกรรมของผู้นำประเทศของจีนเองภายใต้หลักการที่เป็นแนวทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค หลักปัญจศีลของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล และบัณฑิตเนห์รู จึงตกอันดับเป็นเพียงหลักการลับลวงพราง!

“เมื่อน้ำ ปลา ไฟฟ้า เป็นคนละเรื่องเดียวกัน”

ที่มาภาพ:  จากเพจ “หยุด เขื่อนไซยะบุรี”
ที่มาภาพ: จากเพจ “หยุด เขื่อนไซยะบุรี”

เครือข่ายฯ ได้เริ่มหารือเรื่องการจัดเก็บข้อมูลความเสียหาย ทั้งท่วม ทั้งแล้ง เพื่อใช้ประกอบการหาแนวทางแก้ไข กิจกรรมรณรงค์ได้เริ่มต้นทุกรูปแบบภายใต้สันติวิธี แสวงหาภาคีพันธมิตร สำรวจข้อมูลผลกระทบทั้งในเรื่องวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป อาชีพประมง เกษตรริมโขง การท่องเที่ยว การค้าชายแดน ตลิ่งพัง ฯลฯ ทั้งในภาพรวมและพื้นที่นำร่อง พร้อมๆ กับการเรียนรู้ทางสองแพร่งของการพัฒนา

“เมื่อรัฐเลือกธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า แต่ชาวประชาเลือกข้าวปลาอาหาร”

คนลุ่มน้ำโขงมีทางเลือกอย่างไรบ้างที่ต้องป่าวประกาศให้คนในสังคมได้รับรู้ ระหว่างทางเราพบองค์กรแม่น้ำเพื่อชีวิต มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ International Rivers ซึ่งเป็นองค์กรสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนที่ทำงานใน 4 ทวีปใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และอีกหลายองค์กรที่ช่วยเป็นพี่เลี้ยงหลักในการดำเนินงาน

“ผีซ้ำด้ำพลอย เมื่อความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เขื่อนจีนไม่จบ เขื่อนลาวสัญชาติไทยจ่อซ้ำ”

แม่โขงถูกรุมกินโต๊ะ-2

การพัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรี ใน สปป.ลาวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เขื่อนแห่งนี้มีกำลังติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ คิดเป็นเกือบ 2 เท่าของกำลังการผลิตของเขื่อนภูมิพล หรือ 10 เท่าของเขื่อนปากมูลในประเทศไทย ตัวเขื่อนถูกสร้างขึ้นใน สปป.ลาว แต่เกี่ยวข้องกับไทยโดยตรง เนื่องจากมีเหตุผลหลัก 3 ข้อ คือ

1. ผู้ร่วมลงทุนโครงการเขื่อนไซยะบุรีประกอบด้วย 4 บริษัทจากไทย โดยได้จัดตั้ง บริษัท ไฟฟ้าไซยะบุรี จำกัด ขึ้นมาดำเนินการ มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 57.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (บริษัทลูกของ ปตท.) ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.) ถือหุ้น 12.5% และ บริษัท พี.ที.คอนสตรัคชั่นแอนด์อิริเกชั่น จำกัด ถือหุ้น 5%

2. แหล่งเงินกู้ของโครงการมูลค่า 115,000 ล้านบาท มาจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในประเทศไทย อาทิ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงไทย กรุงเทพฯ และ

3. ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนไซยะบุรี 95% จะส่งกลับมาขายยังประเทศไทยตลอดอายุโครงการ 25 ปี โดยในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2554 กฟผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการกับบริษัท ช.การช่าง และได้บรรจุเขื่อนไซยะบุรีเข้าไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP) ของประเทศไทย และในวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2555 ครม. อนุมัติโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี บริเวณจังหวัดเลยหนองบัวลำภู และขอนแก่น วงเงินลงทุนรวม 12,060 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความเชื่อมโยงเหล่านี้เพียงพอที่จะบอกสาธารณะว่า “เขื่อนแห่งนี้เป็นของประเทศไทย เพียงแต่ไปเช่าแม่น้ำโขงในประเทศลาวสร้างเขื่อน และจ่ายค่าสัมปทานให้กับเขาเท่านั้น” เข้าข่าย “ไทยลงทุน ไทยทำ ไทยใช้ ไทยได้รับผลกระทบ”

ในขณะที่พวกเรามัวประณามถามความรับผิดชอบจากประเทศต้นน้ำถึงผลกระทบข้ามพรมแดน ประเทศไทยได้ชิงตำแหน่งเป็นจำเลยแทนจีนไปแล้ว! มหกรรมค้านเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทั้งหมดจึงเกิดขึ้น

และอีกเช่นเคย ที่ “คนลุ่มน้ำโขง” ไม่เคยได้รับคำตอบใดๆ ที่ชัดเจนที่ทำให้เราคลายกังวลได้ สารพัดคำถามทั้งที่ถามในเวทีสัมมนา งานวิชาการ ถามเป็นลายลักษณ์อักษร ยื่นทวงถามกับหน่วยงานและผู้นำประเทศ คำตอบที่ได้รับคือ “เป็นสิทธิ์ของลาว สร้างที่ลาว เรายุ่งไม่ได้” คำตอบที่ตบตาประชาชนทั่วไป และเริ่มกล่าวหาประชาชนชาวลุ่มน้ำโขงว่า “ขัดขวางงานพัฒนา ค้านไม่มีเหตุผล มีไม่กี่คนที่ไม่เข้าใจที่ค้านเขื่อน ด้อยการศึกษา ถูกคนอื่นชักจูง” สารพัดลูกไม้เดิมๆ ของคนอยากสร้างเขื่อนที่จะกล่าวอ้าง แม้พวกเราจะมีงานวิจัยไทบ้านที่เดินหน้าเต็มพิกัด ศึกษาภายใต้โครงการ “เขื่อนแม่น้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและศักยภาพการปรับตัวของชุมชนแม่น้ำโขง” ร่วมกับมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เรามีอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ที่มาภาพ :                         เนชั่นสุดสัปดาห์ 9 พ.ย. 2555
ที่มาภาพ:
เนชั่นสุดสัปดาห์ 9 พ.ย. 2555

“เมื่อแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาถูกรุมกินโต๊ะ”

ผลจากการท่องโลกกว้าง ทำให้เครือข่ายฯ ค้นพบข้อมูลจาก WWF และมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ที่ช่วยเสริมหนุนงานวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำโขงระบุว่า ขณะนี้มีการวางแผนสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำโขง 11 โครงการ และยังมีแผนก่อสร้างอีก 77 เขื่อน บริเวณลุ่มน้ำโขงภายในปี 2573 ในการศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า หากมีการสร้างเขื่อนทั้ง 11 แห่ง เกิดขึ้นจริงตามแผนที่วางไว้ จำนวนปลาที่มีอยู่จะลดลงไปร้อยละ 16 และมีการประเมินว่าจะสร้างความสูญเสียด้านเศรษฐกิจปีละกว่า 14,000 ล้านบาท (476 ล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ถ้าหากมีการสร้างเขื่อนทั้ง 88 แห่งจริง จำนวนปลาจะลดลงไปถึงร้อยละ 37.8 (มติชน 27 สิงหาคม 2555)ซึ่งสอดคล้องกับ CPWF โครงการเพื่อการพัฒนาน้ำและอาหาร ระบุผลกระทบที่คาดเดาได้ยาก แม้จะมีเทคโนโลยี การจัดการบริหาร และเครื่องมือทางนิเวศวิทยาที่สามารถบรรเทาความสูญเสียทางการประมงได้บ้าง แต่ไม่สามารถฟื้นฟูสภาพความสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขงให้กลับมาดังเดิมได้เหมือนเมื่อครั้งยังไม่มีการสร้างเขื่อน (STATE of KNOWLEDGE,กันยายน 2555)

ในขณะที่พวกเราชาวลุ่มน้ำโขงกำลังตั้งคำถามกับเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักกว่า 10 โครงการจาก 50-70 แห่ง ในแผน 10-20 ปีข้างหน้า เรื่องเขื่อนในลาวกลับเล็กลงถนัดตา เมื่อประชาชนชาวกัมพูชา ประเทศท้ายน้ำของเวียตดนาม ได้รับผลกระทบจากเขื่อนยาลีในประเทศเวียดนามที่ปล่อยน้ำโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ภาพการเสียชีวิตของผู้คนและสัตว์เลี้ยง เรือกสวนไร่นา ช่วยตอกย้ำเรื่องราวข้อกังวลของพวกเราหนักขึ้น และผลการสืบค้นพบว่า เพื่อนบ้านทางตะวันออกของไทยเองมีแผนสร้างเขื่อนใหญ่น้อยผุดขึ้นมากกว่า 200 แห่ง ลำน้ำบางสายกำลังจะมีเขื่อนขนาดใหญ่นับ 10 แห่ง (ผู้จัดการรายสัปดาห์ 12 พ.ย.2552)

แม่โขงถูกรุมกินโต๊ะ

นอกจากการมองแม่น้ำสายนี้ในมิติแหล่งผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวนั้น สิ่งที่เป็นผลพวงของการพัฒนาที่เริ่มส่งผลกระทบไม่แพ้กันต่อการลดลงของพันธุ์ปลา และระบบนิเวศที่ชาวลุ่มน้ำโขงจะไม่สามารถเยียวยากลับคืนได้ คือ การปล่อยของเสีย กากสารเคมีจากการทำเหมืองแร่ทั้งจากฝั่งไทยผ่านลำน้ำสายเล็กสายน้อยลงแม่น้ำเลย สู่แม่น้ำโขงบริเวณอำเภอท่าลี่ อำเภอเชียงคาน และแม่น้ำเซกองในแขวงเซกอง สปป.ลาว เป็นที่น่าสนใจว่า 240 เหมือง ในฝั่งไทย และอีก 268 โครงการ ที่ล้วนแล้วแต่ใช้น้ำจากแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงในลาว จะส่งผลเช่นไรต่ออนาคตแม่น้ำโขง เป็นสิ่งที่พวกเราชาวลุ่มน้ำโขงคาดเดาได้ยากจริงๆ

โปรดติดตามเส้นทางการเดินหน้าหาอนาคตของคนลุ่มน้ำโขงในประเทศท้ายน้ำใน “เมื่อแม่น้ำ (โขง) ถูกรุมกินโต๊ะ (2)” เร็วๆ นี้