‘ภูมิธรรม’ สั่งเร่งซ่อมแซมส่วนราชการที่เสียหายจากน้ำท่วม ตีกลับร่าง พ.ร.ฎ.หลักเกณฑ์-ข้อกำหนดจริยธรรมคุมเข้มงานวิจัย ครม.ไฟเขียว 5 มาตรการ สกัดของเถื่อนทะลักเข้าไทย จัดงบ 1,302 ล้าน อุดหนุนเด็กแรกเกิด 2.5 ล้านคน ทุ่ม 3,017 ล้าน ซ่อมถนน 39 จังหวัด ที่เสียหายจากน้ำท่วม จัดงบกลางให้กรมชลฯ พัฒนาแหล่งน้ำ 2,289 ล้าน ซื้ออุโมงค์เอกซเรย์รถเคลื่อนที่ 635 ล้าน ตรวจยาเสพติด
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายภูมิธรรม ไม่ได้แถลงข่าว แต่มอบหมายให้นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
‘ภูมิธรรม’ สั่งเร่งซ่อมแซมส่วนราชการที่เสียหายจากน้ำท่วม
นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ เพื่อตรวจสอบความเสียหาย และเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย รวมทั้ง ให้เร่งซ่อมแซมสถานที่ราชการให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดทำแผนฟื้นฟู เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม และจัดทำมาตรการป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ตีกลับร่าง พ.ร.ฎ.หลักเกณฑ์-ข้อกำหนดจริยธรรมคุมเข้มงานวิจัย
นายศึกษิษฏ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.ให้กระทรวง อว. นำร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยที่ ครม. มติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น นำกลับไปรับฟังความเห็นรอบด้านให้มากขึ้น
“ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นการหาจุดสมดุลระหว่างเสรีภาพทางการวิจัยและงานวิชาการ กับความละเอียดอ่อนต่อหลักศาสนาและประเพณี ไม่มีเจตนารมณ์ในการปิดกั้นการทำวิจัย โดยกระทรวง อว. จะนำไปปรับให้เหมาะสม” นายศึกษิษฏ์ ฯ กล่าว
ขยายขอบเขตความร่วมมือทางไซเบอร์ ‘ไทย – กัมพูชา’
นายศึกษิษฏ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ) ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญ หรือ ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ ดศ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจๆ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ มีรายละเอียดดังนี้
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ นี้เพื่อใช้แทนที่บันทึกความเข้าใจฉบับเดิม (บันทึกความเข้าใจระหว่าง ดศ. แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการไปรษณีย์ และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยความร่วมมือด้านการปราบแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam) ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เนื่องจากบันทึกความเข้าใจฉบับเดิมกำหนดขอบเขตความร่วมมือไว้เพียงเรื่องของการส่งเสริมความร่วมมือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องให้ขยายขอบเขตความร่วมมือให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยเพิ่มเติมในเรื่องของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สินค้าและบริการและกำลังคนทางดิจิทัล เป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 5 ปี ในการนี้ ดศ. จึงขออนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – กัมพูชา ระหว่างวันที่ 10 – 12 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร
ไฟเขียว 5 มาตรการ สกัดของเถื่อนทะลักเข้าไทย
นายศึกษิษฏ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน และธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวน 5 มาตรการหลัก (63 แผนปฏิบัติการ) และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. สืบเนื่องจากมีข้อร้องเรียนจากภาคธุรกิจ และผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจ และสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน เหตุดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้ผลิต และผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจและสินค้าต่างชาติได้ ตลอดจนความห่วงใยที่ผู้บริโภคจะได้รับบริการ และสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานด้วย
2. ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เสนอเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 22 หน่วยงาน และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตรวม 30 กลุ่มธุรกิจ และธุรกิจบริการ (ขนส่งและโลจิสติกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) จำนวน 10 หน่วยงาน เพื่อหารือข้อเสนอแนะ รวมถึงมาตรการ/แนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า และบริการที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย
3. ได้มีการประชุม เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการนำเข้า และจำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ จำนวน 28 หน่วยงาน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) เข้าร่วม เพื่อติดตามการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 และกำหนดมาตรการ/แนวทางที่ปฏิบัติได้จริงในการแก้ไขปัญหา การนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงปัญหาการประกอบธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยที่ประชุมมีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้
การดำเนินการแก้ไขปัญหาจำเป็น ต้องมองภาพรวมทั้งระบบในทุกมิติกับการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งผ่านระบบการค้าออฟไลน์และออนไลน์ ตลอดจนปัญหาการประกอบธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งเหตุดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs และผู้บริโภคในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยเห็นควรกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน และธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย 5 มาตรการหลัก โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตาม 63 แผนปฏิบัติการ
-
(1) ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบ/กฎหมายอย่างเข้นข้น อาทิ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า (Full Container Load) เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือการได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สินค้าตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายออนไลน์ โดยจะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ รวมถึงการตรวจสอบผู้ประกอบการ/ผู้ให้บริการให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย การป้องปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นนอมินี
-
(2) ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต อาทิ กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องจดแจ้งและจัดตั้งนิติบุคคลในประเทศไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศฯ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด “ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย” พร้อมให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคไทย นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเร่งเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับ ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด
-
(3) มาตรการด้านภาษี อาทิ ภาษีศุลกากร ภาษีรายได้นิติบุคคลภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Ant-dumping: AD) ภาษีตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) เป็นต้น และปัจจุบันกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประมวลรัษฎากร สำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ในขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิค กับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวนการใช้มาตรการ AD AC และ SG
-
(4) มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาเสริมความแข็งแกร่งภาคธุรกิจเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าไทยและการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ เช่น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในการผลิต และขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่าน E-Commerce
-
(5) สร้าง/ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เช่น กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการผลักดันสินค้าและบริการไทยผ่าน E-Commerce ต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับ E-Commerce ในระดับภูมิภาค
โดยที่ประชุมมีมติให้ทุกหน่วยต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ทันที โดยให้รายงานผลการดำเนินงานเป็นรายสัปดาห์ และจะมีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวทุก 2 สัปดาห์ หากมีความจำเป็นตามสถานการณ์อาจพิจารณาปรับแผนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวข้างต้นได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับความตกลงทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้า ควบคู่กับการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยอย่างสมดุล ตลอดจนสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่
ประโยชน์และผลกระทบ
การดำเนินการตาม 5 มาตรการหลัก ( 63 แผนปฏิบัติการ) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน ปราบปราม และกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายของผู้ประกอบการต่างประเทศในไทย ส่งผลดีต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจและแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนความปลอดภัยของผู้บริโภคไทยในประเทศที่ได้รับบริการและสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน
จัดงบกลางให้กรมชลฯ พัฒนาแหล่งน้ำ 2,289 ล้าน
นายศึกษิษฏ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 1,072 รายการ วงเงิน 2,289,382,200 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำและเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 1,072 รายการ วงเงิน 2,289,382,200 บาท ดังนี้
1. วัตถุประสงค์
-
(1) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยการกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำในความรับผิดชอบของกรมชลประทานให้สามารถดำเนินภารกิจของกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำ และป้องกันบรรเทาภัยจากน้ำ
(2) เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารและระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และการใช้งานให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หรือมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีสภาพร้อมใช้งานและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้ดีขึ้น สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้
(3) เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยจากน้ำท่วม และน้ำขังในพื้นที่ที่อยู่อาศัยพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
(4) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำด้านอุทกภัย และภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
(5) เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภค – บริโภค และเพื่อกิจกรรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. แผนงานโครงการ ขอใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,289,382,200 บาท เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 1,072 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567)
3. ผลลัพธ์ของโครงการ
กรมชลประทานจะมีอาคารชลประทาน ที่มีสภาพพร้อมใช้งานสำหรับการบริหารจัดการน้ำ ป้องกันบรรเทาภัยจากน้ำ กิจกรรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งในอนาคต
ทุ่ม 3,017 ล้าน ซ่อมถนน 39 จังหวัด ที่เสียหายจากน้ำท่วม
นายศึกษิษฏ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,017.39 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมทางหลวง จำนวน 1,849.55 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบทจำนวน 1,167.84 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทภัยและภัยพิบัติ (จำนวน 39 จังหวัด) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
กระทรวงคมนาคมได้รับรายงานจากกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 3,017.39 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ (จำนวน 39 จังหวัด) สรุปได้ ดังนี้
-
1. ตามที่ได้เกิดอุทกภัย และภัยพิบัติจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านทั่วประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 – มกราคม 2567 ทำให้ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทได้รับความเสียหายสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทาง ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ ซึ่งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และซ่อมแซมเส้นทางเพื่อให้การจราจรผ่านได้ในระยะเร่งด่วนแล้ว
-
2. กรมทางหลวง เสนอขอรับการจัดสรรบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 207 รายการ วงเงิน 3,813.75 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ จำนวน 26 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 7 จังหวัด (เชียงราย เขียงใหม่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสองสอน สุโขทัย) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด (ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครรราชสีมา มหาสารคาม มุกดาหาร สกลนคร สุรินทร์ อุดรธานี อุบลราชธานี) ภาคตะวันตก 1 จังหวัด (ตาก) ภาคตะวันออก 1 จังหวัด (ปราจีนบุรี) และภาคใต้ 7 จังหวัด (นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี) โดยมีความเสียหายที่จะต้องใช้งบประมาณในการบูรณะ/ซ่อมแซ่มให้กลับคืบคืนสู่สภาพเดิมและปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
-
3. กรมทางหลวงชนบท เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 101 รายการ วงเงิน 1,667.25 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ จำนวน 30 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 10 จังหวัด (ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด (ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เลย ยโสธร อุดรธานี หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ นครพนม) ภาคกลาง 7 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี สุโขทัย กำแพงเพชร อุทัยธานี ปราจีนบุรี กาญจนบุรี) และภาคใต้ 4 จังหวัด (ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี) โดยมีความเสียหายที่จะต้องใช้งประมาณในการบูรณะ/ซ่อมแซ่มให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
-
4. กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 308 รายการ วงเงิน 5,481.00 ล้านบาท (กรมทางหลวง จำนวน 207 รายการ วงเงิน 3,813.75 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 101 รายการ วงเงิน 1,667.25 ล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ (จำนวน 41 จังหวัด) ให้สำนักงบประมาณพิจารณาดำเนินการต่อไป
-
5. สำนักงบประมาณได้แจ้งผลการพิจารณาเรื่องตามข้อ 4 โดยสำนักงบประมาณได้นำเรื่องกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในวงเงินทั้งสิ้น 3,017.39 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และภัยพิบัติ ในพื้นที่ 39 จังหวัด ประกอบด้วย กรมทางหลวง จำนวน 137 รายการ วงเงิน 1,849.55 ล้านบาท และ กรมทางหลวงชนบท จำนวน 80 รายการ วงเงิน 1,167.84 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายในงบลงทุน ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ทั้งนี้ เนื่องจากวงเงินที่เห็นควรอนุมัติเกินกว่า 100 ล้านบาท ขอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการนำเรื่องดังกล่าวเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอผ่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือผู้ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับแผนงานบูรณาการกรณีเป็นการดำเนินการภายใต้แผนงานบูรณาการ แล้วแต่กรณี ตามนัยระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 9 (3) และเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขอให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนจ่ายงบประมาณพร้อมทั้งแบบรูปรายการและประมาณการก่อสร้างเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
-
6. กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ขอเสนอขอรับรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 217 รายการ วงเงิน 3,017.39 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ จำนวน 39 จังหวัด ซึ่งได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐ ต้องเสนอพร้อมกับกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินและการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทแล้ว
ประโยชน์และผลกระทบ
เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และภัยพิบัติให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการเส้นทางคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง
จัดงบ 1,302 ล้าน อุดหนุนเด็กแรกเกิด 2.5 ล้านคน
นายศึกษิษฏ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในการจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
-
1. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 เห็นชอบการดำเนินงานโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กแรกเกิดสัญชาติไทยที่บิดา หรือ มารดามีสัญชาติไทย เกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559 และอยู่ในครัวเรือนยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 36,000 บาท ต่อคน ต่อปี โดยอุดหนุนรายละ 400 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 เห็นชอบขยายระยะเวลาการให้เงินอุดหนุนตั้งแต่แรกเกิดจนครบอายุ 3 ปี (36 เดือน) และเพิ่มวงเงินจากรายละ 400 บาท เป็นรายละ 600 บาท
-
2. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี และขยายฐานรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ต่อปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยให้กลุ่มเป้าหมายเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป รายละ 600 บาท โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ทำให้มีจำนวนผู้มาลงทะเบียนขอรับสิทธิเพิ่มมากขึ้น
-
3. สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบอุดหนุนเฉพาะกิจ (เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด) เพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 2,556,723 ราย เป็นเงิน 16,494,605,600 บาท เงินกันเหลื่อมปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี่ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวนเงิน 9,000 บาท รวมเป็นเงิน 16,494,614,600 บาท และชดใช้เงินยืมทดรองราชการ จำนวน 148,731,000 บาท คงเหลือจำนวน 16,345,883,600 บาท
-
4. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1,302,466,400 บาท (หนึ่งพันสามร้อยสองล้านสี่แสนหกหมื่นหกพันสี่ร้อยบาทถ้วน) โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเสนอสำนักงบประมาณ เพื่อขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว
ประโยชน์และผลกระทบ
โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นนโยบายสำคัญระดับชาติ มุ่งเน้นให้เด็กแรกเกิดได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ และมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย เพื่อเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต การได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม และมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย ถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลส่งผ่านพ่อ แม่ หรือผู้ปกครองไปยังเด็กแรกเกิด โดยให้เงินอุดหนุนเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนโดยหากไม่ได้รับเงินอุดหนุนอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ครอบครัวของเด็กแรกเกิดได้รับความเดือดร้อน ส่งผลให้เด็กไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพและเหมาะสมตามวัย
ซื้ออุโมงค์เอกซเรย์รถเคลื่อนที่ 635 ล้าน ตรวจยาเสพติด
นายศึกษิษฏ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนเงิน 635 ล้านบาท สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้อระบบอุโมงค์เอกซเรย์รถแบบเคลื่อนที่ พร้อมยานพาหนะบรรทุกสำหรับเคลื่อนย้าย จำนวน 5 ชุด ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
-
1. นายกรัฐมนตรี มีบัญชา ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ท้ายหนังสือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ 0010.163/3656 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนเงิน 635 ล้านบาท สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้อระบบอุโมงค์เอกซเรย์รถแบบเคลื่อนที่ พร้อมยานพาหนะบรรทุกสำหรับเคลื่อนย้าย จำนวน 5 ชุด และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ตช 0010.163/2902 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2567 แจ้ง สำนักงบประมาณเพื่อทราบ
-
2. หนังสือ สำนักงบประมาณ ด่วนที่สุดที่ นร 0705/9901 ลงวันที่ 3 กันยายน 2567 แจ้งว่า นายกรัฐมนตรี มีบัญชาเห็นชอบให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนเงิน 635 ล้านบาท เพื่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดซื้อระบบอุโมงค์เอกซเรย์รถแบบเคลื่อนที่พร้อมยานพาหนะบรรทุกสำหรับเคลื่อนย้าย จำนวน 5 ชุด โดยให้เบิกจ่ายในงบลงทุนค่าครุภัณฑ์ และขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
อนุมัติ 247 ล้าน เพิ่มทักษะแรงงานท่องเที่ยว
นายศึกษิษฏ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 247 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ความสอดคล้องกับแผนระดับชาติเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 2 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นไปตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570) พัฒนาการท่องเที่ยวไทย ให้เน้นคุณภาพและความยั่งยืนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณค่า มีความสามารถในการปรับตัว และเติบโตอย่างยั่งยืน ยกระดับกรอบสมรรถนะบุคลากรให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียนและสากล พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ที่ทันสมัย เน้น Upskill และ Reskill ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการเรียนรู้
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน ดังนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดทำโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน มุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการ กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานที่ดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาฝีมือแรงงานไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียนและระดับสากล โดยเป้าหมายสุดท้ายของโครงการนี้คือการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ประโยชน์และผลกระทบ
การดำเนินโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะก่อให้เกิดผลประโยชน์และผลกระทบเชิงบวกทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยในระยะยาวหลายประการ อาทิ ยกระดับคุณภาพแรงงาน แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย ยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย ส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สร้างความยั่งยืน เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 3 กันยายน 2567 เพิ่มเติม