ทำไมของเถื่อนเกลื่อนไทย โจทย์ใหญ่จากอดีตนายกฯ ‘เศรษฐา’ ถึง นายกฯ ‘อุ้งอิ้ง’ เมื่อ ‘นายประตู’ ไม่ทำหน้าที่
ปัญหาสินค้าจีนล้นตลาด อาศัยช่องว่างของนโยบายยกเว้นภาษี ส่งสินค้าราคาถูก มูลค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่แต่ละประเทศกำหนด เข้ามาดัมพ์ตลาด ซึ่งแต่ละประเทศกำหนดมูลค่าสินค้านำเข้าที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีไม่เท่ากัน หรือ ที่เรียกว่า “De Minimis” อาทิ ญี่ปุ่น 10,000 เยน สหรัฐอเมริกา 800 ดอลลาร์สหรัฐ สหภาพยุโรป 150 ยูโร สำหรับประเทศไทยกำหนดมูลค่าสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเอาไว้ที่ 1,500 บาท แถมยังไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กลายเป็นช่องทางให้โรงงานผู้ผลิตจากประเทศจีนส่งสินค้าราคาถูก – เกรดต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน มอก. หรือ อย.,ของปลอม , ของเลียนแบบ ไหลทะลักเข้าขายประเทศไทยมีทั้งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และออฟไลน์ วางขายกันในตลาดนัดตามหัวเมืองใหญ่ ๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อ SMEs และผู้ผลิตสินค้าในประเทศที่เสียภาษีถูกต้อง ซึ่งปกติก็มีต้นทุนสูงอยู่แล้ว ขายสินค้าไม่ได้ เพราะราคาแพงกว่า ต้องปิดกิจการกันไป
จนทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการมาสกัดกั้นการไหลบ่าของสินค้าจีน โดยให้กรมสรรพากรไปยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากร เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจ Platform ซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ ทำหน้าที่จัดเก็บ VAT สินค้านำเข้า นำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน แต่ในระหว่างที่กำลังเร่งยกร่างกฎหมายอยู่นั้นได้มอบหมายให้กรมศุลกากรลุยเก็บ VAT สินค้านำเข้าไปก่อน 6 เดือน (เริ่มเก็บ VAT ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2567) หลังจากนั้นกรมสรรพากรก็จะเข้ามารับไม้ต่อ ดำเนินการจัดเก็บ VAT แทนกรมศุลกากรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยมุ่งเน้นไปที่สินค้าที่นำมาโพสต์ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก ส่วนสินค้าราคาถูก – เกรดต่ำ ไม่มีมาตรฐานวางขายกันตามท้องตลาด (Offline) ไม่ได้พูดถึงว่าจะจัดการกับปัญหาดังกล่าวนี้อย่างไร
หลังจากที่กรมศุลกากรเริ่มจัดเก็บ VAT สินค้านำเข้ามาตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ปรากฏว่าแพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ที่ผู้ประกอบกิจการในประเทศไทยหลายราย ยอมออกค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แทนลูกค้า ส่วนกรณีสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย กรณีนี้ผู้ซื้อสินค้าต้องจ่าย VAT ให้บุรุษไปรษณีย์ก่อนรับสินค้า และถ้าหากไม่อยู่บ้าน ต้องนำใบสั่งเก็บเงินไปชำระค่า VAT ให้เรียบร้อย และนำหลักฐานการชำระเงินมาขอรับของได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ภายใน 15 วัน ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา กรมศุลกากรสามารถจัดเก็บ VAT สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทได้ประมาณ 100 ล้านบาท
ขณะที่สินค้าราคาถูก – เกรดต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน มอก. หรือ อย. ของเลียนแบบ ของปลอม ก็ยังขายกันตามปกติทั้งบน Online และ Offline และก่อนนายเศรษฐา ทวีสิน จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีระดม 7 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงการคลัง, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรสหกรณ์, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น ไปหามาตรการสกัดกั้นสินค้าราคาถูก-เกรดต่ำ เสนอที่ประชุม ครม.ภายในเดือนสิงหาคม 2567 ในเบื้องต้นมี 4 มาตรการ รายละเอียดมีดังนี้
-
1. ตรวจสอบการจดทะเบียนธุรกิจการค้า และใบอนุญาตต่างๆ เพื่อดำเนินการกับธุรกิจผิดกฎหมาย หรือ สีเทาจากต่างประเทศ
2. ตรวจสอบสินค้าว่าเป็นไปตามมาตรฐาน เช่น มอก. และ อย. เพื่อปกป้องผู้บริโภค โดยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเจ้าภาพ ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
3. ตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ และ
4. ตรวจสอบใบอนุญาตการตั้งโรงงาน โดยกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม
ขณะที่กรมศุลกากรดำเนินมาตรการป้องกัน และปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งเพิ่มการลาดตระเวน ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ช่องทางการเข้า-ออกของสินค้าตามแนวชายแดน รวมทั้งยังขอหมายศาลตรวจค้นโกดังเก็บสินค้า และเพิ่มอัตราการสุ่มตรวจตู้คอนเทรนเนอร์ จนสามารถตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 ตรวจยึดสินค้าผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศและส่งออกไปนอกประเทศได้รวมทั้งสิ้น 3,611 คดี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,282 ล้านบาท
ถึงแม้กรมศุลกากรในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น “นายประตู” จะดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มงวดกวดขันเพียงใด แต่สินค้าไม่ได้มาตรฐาน มอก., อย., ของปลอม, ของเลียนแบบ ก็ยังวางขายกันเกลื่อนเมืองทั้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ สินค้าเหล่านี้ ถือเป็น “ของต้องห้าม – ของต้องกำกัด” ซึ่งตาม พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 ได้ให้นิยามของคำว่า “ของต้องห้าม” หมายถึง สินค้าที่ห้ามนำเข้ามาในประเทศไทยอย่างเด็ดขาด เช่น ยาเสพติด สินค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้า สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วน “ของต้องกํากัด” หมายถึง การนำเข้าสินค้าที่ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มอก. , อย. กระทรวงเกษตร และมหาดไทย เป็นต้น
ถามว่าทำไมของต้องห้าม – ต้องกำกัดเหล่านี้ยังมีวางขายกันเกลื่อนเมือง ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์
จากข้อมูลต้นเหตุของปัญหาน่าจะมาจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นนายประตู ที่ผ่านมากรมศุลกากรถือเป็นหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์มากเป็นลำดับต้นๆ รวมทั้งมีการวิ่งเต้นโยกย้ายไปอยู่ตามด่านที่มีผลประโยชน์ สอดคล้องกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 ระหว่างมอบนโยบายให้กับผู้บริหารระดับสูงและนายด่านของกรมศุลกากรทั่วประเทศ โดยนายเศรษฐาเคยกล่าวว่า “กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานที่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และมีการวิ่งเต้นเส้นสายกันเยอะมาก จึงขอให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรลดการใช้ดุลพินิจ, การเรียกรับผลประโยชน์ และเพิ่มอัตราการใช้เครื่อง X-Ray สุ่มตรวจสอบตู้คอนเทรนเนอร์ หากเพิ่มเป็น 100% ได้ก็ยิ่งดี และถ้าติดขัดเรื่องงบประมาณก็ให้ทำเรื่องเสนอขึ้นมา” ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบทั้ง Pre Audit และ Post Audit เร่งเชื่อมโยงข้อมูลการขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกสินค้าเข้าสู่ระบบ National Single Window และที่สำคัญนายเศรษฐาขอให้เลิกวิ่งเต้น เพราะต่อจากนี้ไปการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการจะพิจารณาที่ความรู้ ความสามารถ และความอาวุโส เป็นหลัก
แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่อง X- Ray มากมายเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถลดปัญหาดังกล่าวลงได้ ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของกรมศุลกากร เป็นระบบภาษีแบบประเมินตนเอง หรือ ที่เรียกว่า “Self-Assessment” เหมือนกับกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิต โดยให้ผู้ประกอบการสำแดงรายการสินค้านำเข้า ส่วนกรมศุลกากรจะมีหน้าที่ตรวจสอบรายการสินค้าตรงกับที่แจ้งไว้หรือไม่ แต่ที่เป็นปัญหา คือ เจ้าหน้าที่ไม่ตรวจ
ยกตัวอย่าง กรณีนำเข้ารถยนต์หรูสำแดงราคานำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อลดต้นทุนในการเสียภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สำแดงราคานำเข้าคันละ 1 ล้านบาท แต่ไปวางขายที่หน้าโชว์รูมคันละ 10 – 20 ล้านบาท ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจาก คำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547ไปเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่เลือกใช้ดุลพินิจได้ว่าจะ “สงสัย” หรือ “ไม่สงสัย” ว่าผู้นำเข้าสำแดงราคานำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ไม่ติดใจสงสัย ตามคำสั่งกรมศุลกากรฉบับนี้กำหนดให้ยอมรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่สงสัย ต้องตรวจสอบราคา 6 ขั้นตอน ซึ่งในทางปฏิบัติมีความยุ่งยากไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีเครื่องมือ หรือ ข้อมูลที่จะให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานตรวจสอบราคารถยนต์สูงหรือต่ำได้ ปรากฏว่านายตรวจที่ทำหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าทั้งกรมศุลกากรไม่มีใครติดใจสงสัย กรมศุลกากรจึงตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวช้องทั้งหมด 108 ราย ปัจจุบันมี 1 ราย ถูก ปปช.ฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งคดีนี้กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลฎีกา
อีกตัวอย่าง เป็นกรณีของหมูเถื่อน ผู้นำเข้าไปยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าจากกรมประมง (ของต้องกำกัด) โดยแจ้งว่าเป็นปลาชนิดหนึ่ง เพื่อนำหลักฐานมาแสดงต่อศุลกากร แต่เมื่อผ่านการตรวจปล่อยไปแล้วถูกหน่วยงานอื่นจับกุมได้ ปรากฎว่าเป็นชิ้นส่วนของหมู และเมื่อเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบย้อนกลับไปยังกรมศุลกากรประเทศต้นทาง ก็พบว่ามีการสำแดงว่าเป็นชิ้นส่วนของหมู แต่พอมาถึงประเทศไทยกลับแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าเป็นปลา
ส่วนกรณีของสินค้าจีนราคาถูก – เกรดต่ำที่ไหลทะลักเข้ามาขายกันเกลื่อนมีตั้งแต่ราคาทุกอย่าง 20 บาท ไปจนถึงหลักพัน นอกจากแอบลักลอบเข้ามาตามชายแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ บางกรณีแอบซุกซ่อนสินค้าไว้ที่ท้ายตู้คอนเทรนเนอร์ ซึ่งมีแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการรายหนึ่ง กล่าวว่า เนื่องจากสินค้าที่อยู่ภายในตู้คอนเทรนเนอร์เป็นของชิ้นเล็กชิ้นน้อยมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งยากแก่การตรวจสอบ เพื่อความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่และผู้นำเข้า การจัดเก็บภาษีจึงใช้วิธีการ “เหมาตู้” โดยไม่ผ่านช่อง X-Ray ซึ่งกรณีนี้อาจจะมีของห้ามต้องกำกัดปะปนเข้ามาได้
ถามว่าสินค้าเหล่านี้เสีย VAT ได้หรือไม่ แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร ตอบว่า “ของต้องห้าม – ต้องกำกัด” ไม่สามารถนำมาเสียภาษี หรือ วางขายตามท้องตลาดไม่ได้ หากเจ้าหน้าที่ศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ พบเจอที่ไหน ต้องริบ หรือ อายัด ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 166 และ 167 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ
ถ้าแอบลักลอบนำสินค้าเหล่านี้เข้ามาได้ โดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ถือเป็น “ของเถื่อน” หากผู้ที่นำเข้าถูกจับได้ ตามมาตรา 242 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้ารวมค่าอากร หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นด้วย
ส่วนผู้ขาย หรือ ผู้ที่รับซื้อสินค้าดังกล่าว ตามมาตรา 246 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับเป็นเงินตั้งแต่ 0.5 – 4 เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
…แม้บทบัญญัติของกฎหมายจะกำหนดบทลงโทษไว้อย่างรุนแรง แต่ในทางปฏิบัติก็อาจมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คล้ายกับกรณีของสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ปล่อยให้ขายใบละ 100 – 120 บาท กันทั่วประเทศ หากบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียดขาด คนขายก็เดือดร้อน เพราะปล่อยให้ขายกันมานานจนกลายเป็น “อาชีพ”
ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหา ก็ควรมุ่งเน้นไปที่ต้นเหตุ ทุกองค์กรมีทั้งคนดี และไม่ดีคละเคล้ากันไป โทษเจ้าหน้าที่ฝั่งเดียว ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะตบมือข้างเดียวไม่ดัง เมื่อมีผู้เสนอ ก็ต้องมีผู้สนอง และถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่ขยับ เป็นโจทย์ใหญ่จากอดีตนายกฯเศรษฐาฝากไปถึงนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ที่กำลังจะเข้ามาสานต่อนโยบายดังกล่าว…