ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ตลาดหุ้นเวียดนามจ่อขึ้น ‘Emerging Market’ ก.ย. 2568

ASEAN Roundup ตลาดหุ้นเวียดนามจ่อขึ้น ‘Emerging Market’ ก.ย. 2568

8 กันยายน 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 1-7 กันยายน 2567

  • ตลาดหุ้นเวียดนามจ่อขึ้น ‘Emerging Market’ ก.ย. 2568
  • World Bank ชี้ตลาดทุนเวียดนามเติบโตแข็งแกร่งในทศวรรษที่ผ่านมา
  • ยอดใช้เงินลงทุน FDI เวียดนามรอบ 8 เดือนสูงสุดใน 5 ปี
  • SpaceX พร้อมให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ในเวียดนาม
  • กัมพูชาวางแผนสร้างถนนรอบประเทศ 1,300 กม. ใน 10 ปี
  • ลาวความมั่นคงทางอาหารดีขึ้นค่าจ้างต่ำกว่าเงินเฟ้อดันแรงงานออกนอกประเทศ
  • ราคาผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและยาพุ่งทำเงินเฟ้อลาวสิงหาคมสูงขึ้น
  • สิงคโปร์-อินเดียเซ็น MoU ความร่วมมือในเรื่องชิป
  • สิงคโปร์เริ่มสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 5 ของสนามบินชางงีในครึ่งแรกปี 2568

    ตลาดหุ้นเวียดนามจ่อขึ้น ‘Emerging Market’ ก.ย. 2568

    ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/File:Hanoi_Stock_Exchange_(18780216822).jpg
    FTSE Russell ผู้ให้บริการดัชนีระดับโลกอาจยกระดับสถานะตลาดหุ้นของเวียดนามจาก “ตลาดชายขอบหรือ frontier” เป็น “ตลาดเกิดใหม่ emerging market” ในเดือนกันยายน 2568 เป็นผลจากมาตรการที่ดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายให้นักลงทุนต่างประเทศ จากการประเมินของนักวิจัยจากบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ SSI

    กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งรัฐ (State Securities Commission :SSC) ได้เปิดตัวร่างหนังสือเวียนเพื่อแก้ไขกฎระเบียบที่มีอยู่ 4 ข้อ ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนสถาบันต่างประเทศสามารถซื้อหุ้นในเวียดนามได้โดยไม่ต้องมีเงินในบัญชี ณ เวลาที่ซื้อ(non pre-funding solution:NPS) เป็นการขจัดปัญหา Prefunding นอกจากนี้การแก้ไขระเบียบยังจะอำนวยความสะดวกในการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษ

    เพื่อเป็นการขจัดปัญหา Prefunding(การที่มีเงินวางก่อนการลงทุน) ร่างหนังสือเวียนเปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบันต่างประเทศสามารถซื้อหุ้นได้ที่ T+0 และรับเงินจากบริษัทหลักทรัพย์ที่ T+1 และ T+2

    ข้อกำหนดนี้จะสอดคล้องกับการประเมินของ FTSE Russell รวมถึงการส่งมอบและการชำระเงิน (การโอนหุ้น ณ เวลาที่ชำระเงิน) และการจัดการกับธุรกรรมที่ไม่สามารถทำรายการได้ SSI Research ระบุในบทวิเคราะห์ล่าสุด

    ภายใต้แผนงานที่กำหนดโดยหนังสือเวียน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2571 เป็นต้นไป บริษัทมหาชนและบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดจะเผยแพร่ข้อมูลปกติและ “พิเศษ” เป็นภาษาอังกฤษ

    กระบวนการนี้จะขยายการเข้าถึงข้อมูลของนักลงทุนต่างชาติ และเพิ่มความโปร่งใสของตลาด ในขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับเกณฑ์ในลักษณะเดียวกันจาก MSCI ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดัชนีระดับโลกที่มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก

    ทั้งนี้คาดว่าหนังสือเวียนจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนสุดท้ายของปีนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า FTSE Russell จะมีการประเมินเชิงบวกสำหรับเวียดนามในเดือนหน้า และประกาศการยกระดับสถานะตลาดหุ้นของประเทศในเดือนกันยายน 2568

    หากสถานะตลาดหุ้นเวียดนามได้รับการอัปเกรดส กองทุน ETF สามารถลงทุนหุ้นเวียดนามเพิ่มเติมได้สูงสุดถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์ ไม่รวมการไหลเข้าของกองทุนที่ลงทุนอยู่ บทวิเคราะห์ SSI ระบุ

    Ketut Ariadi Kusuma ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอาวุโสของ Finance & Markets Global Practice กลุ่มธนาคารโลก ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยกล่าวว่า กองทุนทั่วโลกอาจเทเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดการเงินของเวียดนาม หากตลาดหุ้นของประเทศได้รับการยกระดับสถานะเป็น “ตลาดเกิดใหม่”

    ก่อนหน้านี้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าจะมีการส่งเงินเพิ่มอีก 5 พันล้านดอลลาร์ไปยังเวียดนาม หากทั้ง MSCI และ FTSE Russell ยกระดับสถานะตลาดหุ้นของประเทศ

    “การไหลเข้าอาจเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2573 หากการขับเคลื่อนการปฏิรูปยังคงแข็งแกร่งและสภาพแวดล้อมการลงทุนทั่วโลกยังคงดี” รายงานระบุ

    ในการทบทวนเมื่อเดือนมิถุนายน MSCI ยังคงจัดให้ตลาดหุ้นของเวียดนามเป็นตลาดชายขอบ แม้ได้ยกระดับการจัดอันดับสำหรับเกณฑ์ความสามารถในการโอนเพิ่มขึ้น สำหรับการทำธุรกรรมนอกตลาดและธุรกรรมในรูปแบบอื่น จากการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ

    MSCI ยอมรับว่าเวียดนามกำลังดำเนินการตามแผนการพัฒนาตลาดเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบางอย่าง เช่น ข้อจำกัดการเป็นเจ้าของสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ข้อกำหนดในการวางเงินให้เพียงพอ และการขาดการเปิดเผยข้อมูลตลาดเป็นภาษาอังกฤษ

    เมื่อต้นปีนี้ นักวิเคราะห์ของ Viet Dragon Securities ชี้ว่า เวียดนามต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์เชิงคุณภาพ 9 ใน 18 ข้อที่กำหนดโดย MSCI เกี่ยวกับการเข้าถึงตลาด

    นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเวียดนามอาจถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจาก MSCI เพื่อการยกระดับระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2567 ถึงมิถุนายน 2568 และอาจะได้รับการยกระดับในปี 2569 หรือ 2570 หากมีการจัดการปัญหาด้านสภาพคล่อง การหักบัญชี และการเปิดเผยข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ

    World Bank ชี้ตลาดทุนเวียดนามเติบโตแข็งแกร่งในทศวรรษที่ผ่านมา

    ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/business/20240827/vietnams-capital-markets-thrive-in-past-decade-world-bank/81656.html
    ด้วยปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง ตลาดทุนของเวียดนามมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากรายงานล่าสุดของธนาคารโลกในหัวข้อ ‘Taking Stock August 2024: Reaching New Heights in Capital Markets’

    รายงานระบุว่า ด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี อัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อต่ำ และเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ตลาดทุนของประเทศมีการพัฒนาให้มีขนาดพอๆ กับคู่แข่งในภูมิภาค โดยมีมูลค่ามากกว่า 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2566 ซึ่งเทียบได้กับอินโดนีเซีย

    ตลาดทุนที่มีทำงานได้ดีมีความสำคัญอย่างมากในการระดมทรัพยากร เป็นส่วนหนึ่งของตลาดการเงินที่ทันสมัย ​​ยืดหยุ่น และครอบคลุม

    เมื่อประเมินผ่านความสำเร็จในด้านการเป็นตัวกลางทางการเงิน ตัวชี้วัดตลาดทุนของเวียดนามแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตต่อไป

    สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาการทำหน้าที่สามด้านของการเป็นตัวกลางทางการเงินที่ตลาดทุนมี ได้แก่ ด้านเงินทุน การออม และการกำหนดราคา

    แม้ว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดจะสูง แต่ปริมาณเงินทุนที่ระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ในเวียดนามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังค่อนข้างน้อย

    การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้บริษัทเอกชน มีความสำคัญค่อนข้างมาก แต่การจัดหาเงินทุนระยะยาวยังคงมีข้อจำกัด และการพัฒนาล่าสุดได้เผยให้เห็นจุดอ่อนในรากฐานของตลาด

    ในแง่ของการออม จำนวนเงินทั้งหมดที่ระดมผ่านนักลงทุนสถาบันยังอยู่ในระดับต่ำ เพียง 19% ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งในภูมิภาคส่วนใหญ่ และเป็นข้อจำกัดเงินทุนสำหรับการลงทุนระยะยาว

    ในด้านราคา ตลาดทุนประสบปัญหาในการสร้างราคาอ้างอิงที่แข็งแกร่ง เนื่องจากมีเกณฑ์มาตรฐานดอกเบี้ยระยะสั้นที่ไม่ชัดเจน ความไร้ประสิทธิภาพของตลาดพันธบัตรรัฐบาล และความผันผวนของราคาหุ้นที่สูง

    รายงานของธนาคารโลกเน้นย้ำถึงความท้าทายเฉพาะเหล่านี้ที่เวียดนามเผชิญ และมีข้อเสนอแนะเพื่อช่วยปลดล็อกศักยภาพของตลาดทุน

    “ปัญหาพื้นฐานในเวียดนามคือฐานนักลงทุนสถาบันที่มีการพัฒนาน้อย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเวียดนาม (VSS) ไม่มากพอ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุน” รายงานระบุ

    การขาดนักลงทุนสถาบันจำนวนมากในหลักทรัพย์บริษัท ได้นำไปสู่การครอบงำโดยนักลงทุนรายบุคคล ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผันผวนเนื่องจากพฤติกรรมการทำตามของคนส่วนใหญ่(herd behavior)

    พลวัตนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในตลาดตราสารหนี้องค์กร และเป็นอุปสรรคต่อความสามารถของตลาดตราสารทุนในการสนับสนุนทางการเงินของภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

    การเสนอขายพันธบัตรรัฐบาลแบบเจาะจงแทบจะเป็นรายเดียวให้กับพอร์ตโฟลิโอ VSS จำกัดผลตอบแทนจากการลงทุน ก่อให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพด้านราคา และส่งผลเสียต่อการพัฒนาภาคการเงิน

    VSS บริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอที่มีขนาดเทียบเท่ากับ 10% ของ GDP ถือเป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ซึ่งใหญ่กว่านักลงทุนสถาบันในประเทศอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย สินทรัพย์ VSS จึงกระจุกตัวอยู่ในพันธบัตรรัฐบาลอย่างมาก VSS กลายเป็นผู้ลงทุนหลักในพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนในการประมูลต่ำเกินจริง และบิดเบือนการกำหนดราคาของตลาดพันธบัตรรัฐบาล

    การกระจายการลงทุนของ VSS จะช่วยเร่งการยกระดับระบบการเงินของเวียดนามให้ทันสมัยในหลายๆ ด้าน และทำให้พ้นจากการเป็นนักลงทุนหลักในตลาดพันธบัตรรัฐบาล ลดการบิดเบือนของตลาด และยกระดับการกำหนดราคา

    นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นว่าการกระจายการลงทุนเข้าสู่หลักทรัพย์ของบริษัท ทั้งหุ้นและพันธบัตร จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดผ่านความหลากหลายของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อเสถียรภาพของตลาดจากการเป็นนักลงทุนระยะยาว

    หากดำเนินการในขนาดเล็กและค่อยเป็นค่อยไป การกระจายความเสี่ยงดังกล่าวอาจช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน VSS ในระยะยาว

    ผู้ลงทุนสถาบันรายอื่นควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภาคธุรกิจ

    บริษัทประกันชีวิตมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่ก็กระจุกตัวอยู่ในพันธบัตรรัฐบาลและเงินฝากธนาคารเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าหลักทรัพย์ของบริษัทถูกครอบงำโดยนักลงทุนที่ไม่ใช่มืออาชีพ มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเลียนแบบและเสี่ยงต่อการขายผิดและการละเมิด ขณะที่ผู้ออกตราสารที่มีคุณภาพสูงกว่าในทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจไม่กล้าที่จะเข้าไปในตลาด เนื่องจากโอกาสในการระดมทุนระยะยาวนั้นมีจำกัด

    ความดำเนินการร่วมกันในการพัฒนาตลาดทุนควรเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ตลาดทุนที่เติบโตดีจะสร้างผลกระทบภายนอกเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวม ด้วยการส่งเสริมการจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

    เวียดนามจะยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ไม่เพียงจากการใช้ทรัพยากรภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังมาจากการใช้ประโยชน์จากเงินทุนจากตลาดต่างประเทศอีกด้วย

    กระแสเงินทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะสนับสนุนประเทศในการบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงที่วางไว้

    สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามนั้น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 GDP ของเวียดนามขยายตัว 6.4% เมื่อเทียบรายปีหลังจากที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง %5 ในปี 2566 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริโภคและการลงทุนที่สูงขึ้น

    การค้าสินค้าแข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายนอกที่แข็งแกร่ง โดยการส่งออกและการนำเข้าเติบโตที่ 16.9% และ 17% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ

    แม้ว่าสัดส่วนการส่งออกสุทธิต่อ GDP ยังคงไม่มากนัก แต่การค้าที่เพิ่มขึ้นมายังมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยงการลงทุนและการบริโภคเติบโต 6.7% และ 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ

    ในด้านการผลิต ภาคการผลิต การบริการที่มุ่งเน้นการส่งออก และการท่องเที่ยว มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งมีส่วนทำให้ GDP เพิ่มขึ้นถึง 1 หนึ่งใน 4 ขณะเดียวกัน ภาคบริการซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ภาคบริการที่เน้นการส่งออก (การขนส่งและคลังสินค้า) ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการบริการ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติพุ่งแตะ 8.8 ล้านคนในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด

    การมีส่วนร่วมของภาคเกษตรกรรมยังคงทรงตัวที่ 0.4%

    ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคแม้จะฟื้นตัว แต่ยังคงต่ำกว่าก่อนเกิดโรคระบาด ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 8.8%ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 โดยได้แรงหนุนจากการขายสินค้าที่มีแนวโน้มต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโรคระบาดที่ 11.6% ความต้องการสินค้าและบริการที่คงทนและไม่จำเป็น เช่น ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า วันหยุด และการปรับปรุงบ้าน ยังคงอ่อนแอ

    การลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นแต่ยังต่ำช่วงก่อนโควิด การฟื้นตัวของการส่งออกภาคอุตสาหกรรมช่วยเพิ่มการลงทุน โดยการลงทุนทั้งหมดเพิ่มขึ้น 6.8% จาก 4.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แม้จะยังต่ำกว่า 7.1%ค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิด

    การลงทุนภาคเอกชนในประเทศมีส่วนหนุนการเติบโต 3.9% ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่การลงทุนภาครัฐชะลอตัวลงเหลือ 4% ลดลงจาก 20.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

    แนวโน้มทางเศรษฐกิจของเวียดนามเป็นบวก โดยมีความเสี่ยงที่สมดุลในวงกว้าง เศรษฐกิจของเวียดนามคาดว่าจะเติบโต 6.1% ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 6.5% ในช่วงปี 2568-2569

    โดยคาดการณ์ว่า การส่งออกภาคอุตสาหกรรมจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากที่ฟื้นตัวขึ้น 16.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี เพราะคาดว่าความต้องการทั่วโลกจะลดลงในปี 2567 โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม จะเป็นปัจจัยหลัก

    ตลาดอสังหาริมทรัพย์ส่งสัญญาณของการฟื้นตัวและคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2567 และปี 2568 โดยได้แรงหนุนจากตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ดีขึ้นจากที่ชะงักงัน และการบังคับใช้กฎหมายที่ดินฉบับใหม่ในปีนี้

    การส่งออกที่เติบโตต่อเนื่องและการฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า จะส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศแข็งแกร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคดีขึ้น

    ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะคงเกินดุลเล็กน้อย ขณะที่รัฐบาลจะกลับมาปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุลอีกครั้ง อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะชะลอตัวลงเป็น 3.5% ภายในปี 2569 จากร 4.5% ​​ในปี 2567

    อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงด้านลบ รวมถึงการเติบโตทั่วโลกที่ช้ากว่าคาด โดยเฉพาะจากคู่ค้ารายใหญ่ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกภาคการผลิตของเวียดนามและการเติบโตโดยรวม

    ด้านภาวะภายในประเทศ เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคที่ถดถอยอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุน

    การฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจใช้เวลานานกว่าคาดและอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน และหากคุณภาพสินทรัพย์ของภาคการเงินด้อยลง จะกระทบต่อความสามารถในการปล่อยกู้ของธนาคาร

    ความเปราะบางของเวียดนามต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังก่อให้เกิดความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อาจส่งผลกระทบในทางลบ

    ในทางกลับกัน การพัฒนาที่มีศักยภาพรวมถึงการเติบโตทั่วโลกที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งอาจผลักดันให้ภาคการส่งออกของเวียดนามฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

    นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นโดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วหลักๆ รวมถึงการดำเนินการล่าสุดโดยธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษ พร้อมด้วยการที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ อาจสามารถรองรับอุปสงค์ในประเทศพัฒนาแล้วและกระตุ้นการส่งออกของเวียดนาม

    นอกจากนี้ยังสามารถลดต้นทุนทางการเงินทั่วโลกและลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเงินด่องเวียดนามและดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อภาคการธนาคารและการเงินของเวียดนาม

    ยอดใช้เงินลงทุน FDI เวียดนามรอบ 8 เดือนสูงสุดใน 5 ปี

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/companies/double-digit-rise-predicted-in-industrial-land-prices-4485897.html
    ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคมได้มีการเบิกเงินลงทุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDIเป็นมูลค่าประมาณ 14.15 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเป็นระดับสูงสุดของรอบ 8 เดือนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

    ในช่วงเวลาดังกล่าว เวียดนามมีเงินทุน FDI จดทะเบียนรวม 20.52 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากการเปิดเผยของสำนักงานการลงทุนต่างประเทศ สังกัดใต้กระทรวงการวางแผนและการลงทุน

    จากยอดทั้งหมด มีการใช้เงินเกือบ 12 พันล้านดอลลาร์สำหรับโครงการใหม่ 2,247 โครงการ เพิ่มขึ้น 27% ในแง่มูลค่า และ 8.5% ในแง่จำนวนโครงการ การใส่เงินทุนเพิ่มสำหรับโครงการเดิมที่มีอยู่ 926 โครงการมีมูลค่า 5.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.9% และ 14.8% ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน การลงทุนจากต่างประเทศผ่านการบริจาคเงินทุนและการซื้อหุ้นของบริษัทในประเทศลดลง 40.9% เหลือราว 2.81 พันล้านดอลลาร์

    นักลงทุนต่างชาติใส่เงินเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจของประเทศ 18 ภาคจาก 21 ภาค ซึ่งเงินลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปมีมูลค่าเกือบ 14.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 69% ของเงินลงทุนทั้งหมด และเพิ่มขึ้น 7.4% จากปีก่อนหน้า ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์ (3.36 พันล้านดอลลาร์) และภาคการค้าส่งและการค้าปลีก (844.9 ล้านดอลลาร์)

    ในบรรดา 94 ประเทศและเขตปกครองที่ลงทุนในเวียดนามในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมนั้น สิงคโปร์มีมูลค่ามากกว่า 6.79 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ฮ่องกง (จีน) อยู่อันดับที่สองด้วยมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 75.5% และ 43.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ

    จังหวัดบั๊กนิญทางตอนเหนือเป็นผู้รับ FDI รายใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่าเกือบ 3.47 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 16.9% ของทั้งหมด และเพิ่มขึ้น 2.94 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามมาด้วยจังหวัดทางตอนเหนืออย่างกว๋างนิงห์ และนครโฮจิมินห์ ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 1.78 พันล้านดอลลาร์ และมากกว่า 1.76 พันล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

    ณ วันที่ 31 สิงหาคม มีโครงการ FDI ที่ยังดำเนินการ 41,142 โครงการ มูลค่า 491.39 พันล้านดอลลาร์ในเวียดนาม โดยมีการเบิกจ่ายเงินลงทุนไปแล้วประมาณ 311.33 พันล้านดอลลาร์

    SpaceX พร้อมให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ในเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://en.baochinhphu.vn/spacex-willing-to-provide-starlink-satellite-internet-services-in-viet-nam-111240907083734281.htm
    SpaceX พร้อมที่จะลงทุนและให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ในเวียดนาม ครอบคลุมหลายภาคส่วน เช่น การศึกษาและการฝึกอบรม และการป้องกันภัยพิบัติ

    ทิม ฮิวจ์ส รองประธานอาวุโสฝ่ายธุรกิจระดับโลกและกิจการภาครัฐของ SpaceX เปิดเผยในระหว่างการพบปะกับนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์จิ๋งห์ ในกรุงฮานอยเมื่อวันที่ 6 กันยายน

    ฮิวจ์ส ชื่นชมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนาม โดยเสนอแนะให้เวียดนามเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดของบริการ Startlink โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตครอบคลุมประชากรทั้งหมด

    นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์จิ๋งห์ ยกย่องแนวคิดของบริษัทและข้อเสนอการลงทุน และหวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นจริงในไม่เร็วๆนี้ และย้ำว่าเวียดนามสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับธุรกิจอเมริกันในการเริ่มต้นการดำเนินงานด้วยความสำเร็จในประเทศด้วยจิตวิญญาณของ “การประสานผลประโยชน์ร่วมกัน แบ่งปันความเสี่ยง”

    เวียดนามได้พยายามสร้างรัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล และพลเมืองดิจิทัล ผู้นำเวียดนามกล่าว พร้อมแสดงความปรารถนาที่จะให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี รวมถึง SpaceX เข้ามาลงทุนในประเทศ

    นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ SpaceX ทำงานร่วมกับกระทรวง ภาคส่วน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนาม เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการลงทุนสอดคล้องกับกฎหมายของเวียดนาม และคงความมั่นคงและความปลอดภัยของเครือข่าย อีกทั้งเรียกร้องให้ SpaceX ช่วยเหลือเวียดนามในการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ และความเชี่ยวชาญด้านการจัดการ

    นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ SpaceX ยกระดับความร่วมมือกับพันธมิตรของเวียดนาม โดยเฉพาะการมุ่งเน้นที่การเพิ่มเนื้อหาของเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงและสีเขียว การพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และการให้บริการรองเพื่อช่วยให้เวียดนามบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกอลึกขึ้น

    กัมพูชาวางแผนสร้างถนนรอบประเทศ 1,300 กม. ใน 10 ปี

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501553873/cambodia-to-complete-over-1300-km-of-road-along-the-border/
    วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ยืนยันว่ากัมพูชาได้สร้างโครงข่ายถนนชายแดนระหว่างกัมพูชากับประเทศเพื่อนบ้านระยะทาง 2,660 กิโลเมตรเสร็จเรียบร้อยแล้วประมาณ 50%

    ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่นักศึกษากฎหมายและผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้านกฎหมายของเนติบัณฑิตยสภาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (BAKC) นายฮุน มาเนต ประกาศว่าถนนที่เหลืออีก 1,300 กิโลเมตรจะแล้วเสร็จภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยมีมูลค่าลงทุนประมาณ 200 ล้านดอลลาร์

    นายกรัฐมนตรียังแสดงความขอบคุณผู้ที่บริจาคให้กับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชายแดนซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ และย้ำว่ากองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและความสามัคคีไม่ใช่เพราะรัฐบาลขาดเงินทุน

    “ขณะนี้ เรามีประชาชนเกือบ 400,000 คนที่เข้าร่วม และในแต่ละวันมีผู้บริจาคระหว่าง 13,000 ถึง 17,000 คน เรายังคงเปิดรับบริจาคอยู่ และข้าพเจ้าขอบคุณมาก”

    นอกจากนี้ นายฮุน มาเน็ต ยังสั่งการให้กระทรวงสารสนเทศ จัดการเดินทางโดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เพื่อเยี่ยมชมจุดตรวจชายแดนและชมการพัฒนาใน 4 จังหวัดที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สามเหลี่ยมพัฒนากัมพูชา-ลาว-เวียดนาม (Cambodia-Laos-Vietnam Development Triangle Area:CLV-DTA)

    โดยกระทรวงได้ประกาศรายชื่อ 200 คนที่ได้เข้าร่วมทัวร์ในวันที่ 7 กันยายน นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมทัวร์แล้วกว่า 1,000 คน กระทรวงฯ ระบุ

    “ทีมงานที่รับผิดชอบได้เตรียมจัดกิจกรรมสำคัญนี้แล้ว โดยมอบประสบการณ์ที่สนุกสนานและมีคุณค่าแก่ประชาชน ทัวร์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความสามัคคีในชาติ เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ย้ำที่ตั้งของจุดตรวจชายแดน และตอกย้ำอธิปไตยของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดน ขณะเดียวกันก็ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ” กระทรวงระบุ

    ลาวความมั่นคงทางอาหารดีขึ้นค่าจ้างต่ำกว่าเงินเฟ้อดันแรงงานออกนอกประเทศ

    ที่มาภาพ: https://www.rfa.org/english/news/laos/laosinflation40-03082023141918.html
    อัตราเงินเฟ้อที่สูงใน สปป. ลาว กำลังกัดกร่อนมาตรฐานการครองชีพ ส่งผลต่อกำลังแรงงาน และผลักดันให้แรงงานจำนวนมากออกไปหางานทำในต่างประเทศ จากการสำรวจครัวเรือนของธนาคารโลก(World Bank Household Monitoring Survey)ครั้งล่าสุด

    การสำรวจ Rapid Monitoring Phone Surveys รอบที่ 9 ของธนาคารโลก ซึ่งดำเนินการทั่วประเทศลาวในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 และเผยแพร่ในวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยจำปาสัก แสดงให้เห็นว่า ขณะที่การจ้างงานยังคงแข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามไม่ถึง 1% ที่ตอบว่า เป็นผู้ว่างงาน ค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8% ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ 26% อย่างมีนัยสำคัญ

    ส่งผลให้สัดส่วนของครัวเรือนที่ตอบว่าได้รับผลกระทบด้านลบอย่างมีนัยสำคัญจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจาก 53% ในเดือนมกราคมเป็น 58% ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนลดลงจาก 62% ในเดือนธันวาคม 2566 เป็น 56% ในเดือนพฤษภาคม 2567

    อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูง ได้ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐาน โดยขณะนี้จำนวนแรงงานอพยพชาวลาวในประเทศไทยคาดว่าจะเกินระดับก่อนการระบาดของโควิด-19

    ในบรรดาแรงานย้ายถิ่นฐาน ผู้ที่กล่าวว่าค่าจ้างที่สูงขึ้นและโอกาสการจ้างงานที่ดีขึ้นคือสาเหตุหลักในการออกจากลาวนั้น เพิ่มขึ้นจาก 73% ในปี 2566 เป็น 93% ในปี 2567 ในบรรดาแรงงานอพยพจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 88% เป็น 99%

    ภายในประเทศลาว อัตราเงินเฟ้อที่สูง ค่าเงินที่อ่อนค่า และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นช้า ยังคงมีผลให้คนเปลี่ยนมาทำงานที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ออกจากอุตสาหกรรมบริการไปทำงานในภาคเกษตรกรรมและการผลิต และออกจากงานที่ได้ค่าจ้างหรืองานครอบครัวที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนมาประกอบอาชีพอิสระ ในขณะเดียวกัน มีผู้หญิงเข้ามาทำงานมากขึ้น

    การเพิ่มการผลิตอาหารของตนเองยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ครอบครัวต่างๆ นำมาใช้กันมากที่สุดในการรับมือกับราคาอาหารที่สูงขึ้น โดยครัวเรือนต่างๆ ก็เริ่มพึ่งพากิจกรรมการหาอาหารมากขึ้นเช่นกัน ครัวเรือนที่หางานพิเศษหรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินมีจำนวนน้อยลง ครัวเรือนน้อยกว่า 3% บอกว่าได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ช่วยพวกเขาในการรับมือ

    “ในขณะที่เราเห็นข่าวดีจากการสำรวจครั้งล่าสุดนี้ เช่น จำนวนครอบครัวที่ลดการบริโภคอาหารหรือการรับประทานอาหารราคาถูกนั้น น้อยลง แต่ก็ยังพบย้อที่น่ากังวลเช่นกัน” อเล็กซ์ เครเมอร์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศ สปป. ลาว กล่าว “ประมาณ 63% ของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยยังคงบอกว่าลดการบริโภคอาหาร และเกือบทุกครอบครัวที่สำรวจบอกว่าพวกเขากำลังลดการบริโภคเนื้อสัตว์และปลา การลดการบริโภคโปรตีนนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นอุปกสรรคต่อความก้าวหน้าในด้านโภชนาการและพัฒนาการของเด็กทั่วประเทศลาว”

    แม้ความมั่นคงทางอาหารจะดีขึ้นทั่วประเทศ แต่เกือบ 1 ใน 3 ของครัวเรือนยังคงไม่มั่นคงด้านอาหาร ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารก็เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่มีต่อการศึกษาและสุขภาพคลายตัวลง แต่ยังคงมีนัยสำคัญ โดย 31% และ 34% ของครัวเรือนบอกว่าการใช้จ่ายด้านการศึกษาและการดูแลสุขภาพลดลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ในเดือนมิถุนายน 2567 เด็กวัยเรียน 8% ต้องออกจากโรงเรียน โดยตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 11% ในกลุ่มเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย และประมาณ 82% ของครัวเรือนรายงานว่าลดเงินออมลง โดยเพิ่มขึ้น 0.12% จากเดือนมกราคม 2567

    ธนาคารโลกเริ่มการสำรวจทางโทรศัพท์เพื่อสำรวจสถานะครัวเรือนใน สปป. ลาว ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อติดตามสวัสดิการ การสำรวจครั้งแรกดำเนินการในช่วงกลางปี ​​2563 ข้อมูลที่รวบรวมมาเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่มีต่อความเป็นอยู่ที่ดีของครัวเรือน การสำรวจได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียและสหภาพยุโรป ผ่านโครงการปฏิรูปการจัดการทางการเงินสาธารณะครั้งที่สามของ สปป. ลาว

    ราคาผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและยาพุ่งทำเงินเฟ้อลาวสิงหาคมสูงขึ้น

    ที่มาภาพ:เพจ Saysaath Pharmacy

    ลาวยังคงเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

    อัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบเดือนต่อเดือนอยู่ที่ 2.2% ในเดือนกรกฎาคมและ 1.1% ในเดือนสิงหาคม ขณะที่ตัวเลขเมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ 26.10% ในเดือนกรกฎาคมและ 24.3% ในเดือนสิงหาคม จากข้อมูลอัปเดตล่าสุดบนเว็บไซต์ของสำนักงานสถิติลาว

    ดัชนีผู้บริโภครายเดือนเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 239.80 ซึ่งต่ำกว่า 242.5 ในเดือนสิงหาคมเล็กน้อย

    หมวดสินค้าที่มีส่วนทำให้เงินเฟ้อ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและยา ซึ่งมีราคาเพิ่มขึ้น 37.6% รองลงมาคือที่พัก น้ำประปา ไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 34.9%

    ค่าใช้จ่ายในหมวดร้านอาหารและโรงแรมเพิ่มขึ้น 33.2% หมวดเครื่องใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 31.6% และหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 22.5%

    เมื่อเทียบเป็นรายเดือนกับเดือนกรกฎาคม อัตราเงินเฟ้อลดลง 1.1% ในเดือนสิงหาคม หมวดสินค้าที่เปลี่ยนแปลงมากคือหมวดร้านอาหารและโรงแรมซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้น 2.9% และที่โดดเด่นที่สุดคือราคาข้าวเปียก(คล้ายก๋วยจั๊บเวียดนาม)เพิ่มขึ้น 6.2% ในขณะที่ราคาเบียร์เพิ่มขึ้น 6% และไก่ย่างเพิ่มขึ้น 4.1%

    ส่วนในหมวดการศึกษาเพิ่มขึ้น 2.3% โดยเฉพาะค่าเครื่องแบบนักเรียนที่เพิ่มขึ้น 4% หนังสือเรียนเพิ่มขึ้น 3.6% และค่าเล่าเรียนสำหรับเรียนพิเศษเพิ่มขึ้น 2.4%

    ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาผักชีฝรั่งเพิ่มขึ้น 19.8% ใบสะระแหน่ 18.8% พริกเขียว 17.9% ไข่ไก่ 5.9% และเนื้อหมู 3%
    ราคาเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเพิ่มขึ้น 2.2% ราคาเตียงเพิ่มขึ้น 8% เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น 5.9% ผงซักฟอกเพิ่มขึ้น 4.3% และหลอดไฟเพิ่มขึ้น 9%

    อัตราเงินเฟ้อในประเทศลาวยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากการผลิตในประเทศยังคงอ่อนแอ ทางการต้องใช้เวลามากขึ้นในการส่งเสริมการผลิตในประเทศในขณะเดียวกันก็จัดการกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน

    รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นเพื่อติดตามและหาแนวทางแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการจัดการราคาสินค้าที่สูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้ออย่างมีประสิทธิภาพ

    รัฐบาลยังสนับสนุนให้ประชาชนร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการใช้เงินกีบลาว และแนะนำให้ผู้ถือสกุลเงินต่างประเทศแลกเปลี่ยนเงินกับธนาคารที่ได้รับอนุญาต

    สิงคโปร์-อินเดียเซ็น MoU ความร่วมมือในเรื่องชิป

    นายนเรนทราโมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียและนายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้เยี่ยมชมบริษัท AEM บริษัทเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ วันที่ 4 กันยายน 2567 ระหว่างเยือนสิงคโปร์ 2 วันของนายกรัฐมนตรีอินเดีย ที่มาภาพ:เพจFB Lawrence Wong

    เมื่อวันพฤหัสบดี(5 ก.ย.) อินเดียและสิงคโปร์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือในประเด็นสำคัญหลายประการ ซึ่งรวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาทักษะ และด้านเฮลธ์แคร์

    ข้อตกลงได้มีการประกาศระหว่างที่นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายนเรนทรา โมดี เยือนสิงคโปร์เป็นเวลา 2 วัน ซึ่งเริ่มในวันพุธหลังจากการเยือนบรูไน

    “สิงคโปร์และอินเดียได้สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับความร่วมมือที่ยั่งยืน ระยะต่อไปของความเป็นหุ้นส่วนสิงคโปร์-อินเดียมีอนาคตอย่างมาก” เฮง สวี เคียต รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวในการประชุมสิงคโปร์-อินเดีย ซึ่งจัดโดยมูลนิธิหุ้นส่วนสิงคโปร์-อินเดีย สถาบันการศึกษาเอเชียใต้ และสหพันธ์ธุรกิจสิงคโปร์

    “สิงคโปร์ อินเดีย และส่วนอื่นๆ ของเอเชียจะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเชื่อมต่อและการบูรณาการทางเศรษฐกิจต่อไป เพื่อให้เงินทุน แนวคิด และความสามารถสามารถค้นพบประโยชน์สูงสุดของพวกเขา” เขากล่าว

    “สิงคโปร์ อินเดีย และที่อื่นๆ ของเอเชียจะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเชื่อมโยงและการบูรณาการทางเศรษฐกิจต่อไป เพื่อให้เงินทุน แนวคิด และความสามารถ ได้เกิดประโยชน์สูงสุด”

    แม้เอเชียใต้ยังคงเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และอินเดียเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก แต่ภูมิภาคนี้ยังตามหลังในแง่ของ GDP ต่อหัว

    ปัจจุบัน GDP ต่อหัวของอินเดียอยู่ที่ 2,730 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าของสหรัฐอเมริกา (85,370 ดอลลาร์) จีน (13,140 ดอลลาร์) เยอรมนี (54,290 ดอลลาร์) และญี่ปุ่น (33,140 ดอลลาร์) อย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศแสดงให้เห็น ทั้งสี่ประเทศนั้นก็เป็นประเทศที่เอเชียใต้ตะวันออกเฉียงใต้ตามหลังอยู่ในแง่ของ GDP โดยรวม

    “สิงคโปร์ไม่ได้เป็นเพียงหุ้นส่วน แต่เป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกประเทศกำลังพัฒนา เราต้องการสร้างกลุ่มชาวสิงคโปร์ในอินเดีย” โมดีกล่าวในการพบปะกับนายกรัฐมนตรีลอร์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์

    เมื่อวันพุธที่ผ่านมานายโมดีและนายหว่องได้เยี่ยมชมบริษัท AEM บริษัทเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสัญญาณถึงความตั้งใจของสองประเทศที่จะร่วมมือในด้านชิปมากขึ้น

    นายเฮง ย้ำกว่า ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นยังสามารถช่วยให้ทั้งสองประเทศเอาชนะ “ความท้าทายร่วมกัน” เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชากรสูงวัย และการสาธารณสุข

    ในโพสต์บน X นายโมดีบอกว่า นายหว่องคือเพื่อนและกล่าวว่า “เราทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า”

    สิงคโปร์เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับหกของอินเดีย โดยมีส่วนแบ่ง 3.2% ในการค้าโดยรวมของอินเดีย การนำเข้าจากสิงคโปร์ในปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่า 21.2 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกมีมูลค่ารวม 14.4 พันล้านดอลลาร์

    สิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียยังเป็นแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียอีกด้วย การไหลเข้าของ FDI สะสมจากสิงคโปร์ไปยังอินเดียมีมูลค่าเกือบ 160 พันล้านดอลลาร์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2543 ถึงเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของ FDI ทั้งหมดที่ไหลเข้าอินเดีย

    ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองให้ความเห็นกับ CNBC ก่อนที่โมดีจะมาเยือนว่ามีบทเรียนมากมายที่อินเดียสามารถเรียนรู้จากสิงคโปร์ได้ เนื่องจากมีความมุ่งมั่นที่จะพลิกโฉมไปสู่ศูนย์กลางการออกแบบและการผลิตระดับโลก

    “แม้จีนจะมา แต่อินเดียก็ไม่ได้เสียอะไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสาธารณูปโภคสำคัญที่ได้รับจากสิงคโปร์ในช่วงทศวรรษ 1980 ถึง 1990 และบางทีอาจจะจนถึงทุกวันนี้ด้วยซ้ำ” อานิท มูเคอร์จี อาจารย์อาวุโสของคิงส์คอลเลจลอนดอน กล่าวกับ CNBC อินเดีย

    สิงคโปร์ได้รับการยกย่องมายาวนานในเรื่องโรงงานผลิตที่ล้ำสมัย ซึ่งดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและเภสัชกรรมระดับโลก

    สิงคโปร์มีสัดส่วน 10% ของชิปที่ผลิตทั่วโลกและประมาณ 20% ของการผลิตอุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก จากรายงานของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์

    ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาแอปเปิ้ล ประกาศว่าจะลงทุนมากกว่า 250 ล้านดอลลาร์เพื่อขยายแคมปัส Ang Mo Kio ในสิงคโปร์ โดยซีอีโอทิม คุก กล่าวว่าสิงคโปร์ เป็น “สถานที่ไม่เหมือนใครอย่างแท้จริง” ต่อมาอีกหนึ่งเดือน บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ระดับโลก AstraZeneca
    ประกาศแผนการสร้างโรงงานผลิตมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ในสิงคโปร์

    อุตสาหกรรมการผลิตของอินเดียมีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดย Foxconn ซัพพลายเออร์ของ Apple มุ่งมั่นที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศ ขณะที่ Micron Technology จะพัฒนาชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตในอินเดียตัวแรกภายในต้นปี 2568

    อย่างไรก็ตาม อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกยังคงมีเส้นทางอีกยาวไกล

    “เมื่อคุณใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ มีหลายเรื่องที่ต้องจัดการ ดังนั้นนี่จึงเป็นเวลาสำหรับอินเดียที่จะเรียนรู้จากแผนงานที่ประสบความสำเร็จของสิงคโปร์” ซามีร์ กาปาเดีย ซีอีโอของ India Index และผู้บริหารระดับสูงของ Vogel Group กล่าว

    ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้เปิดศูนย์พัฒนาทักษะในรัฐต่างๆ ของอินเดีย เช่น นิวเดลี และเมืองกูวาฮาติทางตะวันออกเฉียงเหนือ

    “นี่ไม่ใช่แค่การสร้างแรงจูงใจในการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น แต่ยังเรียนรู้วิธีจัดการแผนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และการริเริ่มสิ่งจูงใจ” กาปาเดีย กล่าว

    สิงคโปร์เริ่มสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 5 ของสนามบินชางงีในครึ่งแรกปี 2568

    ที่มาภาพ: https://www.airport-technology.com/news/changi-airport-t5/
    นายกรัฐมนตรี ลอว์เรนซ์ หว่อง เปิดเผยว่า การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 5 ของสนามบินชางงี จะเริ่มในช่วงครึ่งแรกของปี 2568

    อาคารผู้โดยสารขนาดใหญ่จะเปิดให้บริการ ในช่วงกลางทศวรรษ 2030 สิงคโปร์ก็จะมีการเชื่อมโยงทางอากาศไปยังเมืองต่างๆ มากกว่า 200 เมือง เพิ่มขึ้นจากเกือบ 150 เมืองในปัจจุบัน

    ในงานเลี้ยงอาหารค่ำเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสิงคโปร์ (CAAS) เมื่อวันที่ 6 กันยายน นายหว่องกล่าวว่าสิงคโปร์จะต้องเพิ่มพูนความได้เปรียบทางการแข่งขัน ท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในภาคการขนส่งทางอากาศ

    ประเทศในภูมิภาคและประเทศอื่นๆ กำลังลงทุนครั้งสำคัญเพื่อขยายและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสนามบินของตน เพื่อรองรับการจราจรที่มากขึ้น นายกรัฐมนตรีหว่อง กล่าว “บางประเทศได้ประกาศแผนสร้างสนามบินขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 100 ล้านคนต่อปี ดังนั้นกำลังลดช่องว่างกับสิงคโปร์ให้แคบลง

    “สายการบินหลายรายกำลังขยายฝูงบินและเครือข่ายอย่างรวดเร็ว รวมถึงให้บริการเส้นทางบินตรงมากขึ้น เที่ยวบินที่อาจไม่จำเป็นต้องผ่านชางงีอีกต่อไป

    “เราไม่สามารถอาศัยเชื่อเสียงของเราได้” นายหว่องกล่าวกับผู้ร่วมงาน 800 คนที่โรงแรมแชงกรี-ลา สิงคโปร์ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำในอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ CAAS ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ

    นายกรัฐมนตรีหว่อง กล่าวว่า สนามบินของสิงคโปร์มีการเชื่อมต่อที่ดีอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมีการเชื่อมโยงไปยังเมืองต่างๆ เกือบ 150 แห่ง แต่เป้าหมายคือการเติบโตต่อไป ซึ่งจะนำผู้โดยสารมายังสิงคโปร์มากขึ้น และสร้างอุปสงค์สำหรับอุตสาหกรรมการบินในวงกว้างในสิงคโปร์
    อาคารผู้โดยสารหลังที่ 5 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 50 ล้านคนต่อปี นอกเหนือจากความจุของสนามบินชางงีในปัจจุบันที่ 90 ล้านคน ที่จะช่วยให้มีการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น เปลี่ยนประสบการณ์ของผู้โดยสาร และสร้างงานใหม่

    นายหว่องกล่าวอีกว่า รัฐบาลยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อเปิดเสรีข้อตกลงการบริการทางอากาศของสิงคโปร์ เพื่อให้สายการบินต่างๆ สามารถเพิ่มเที่ยวบินระหว่างสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ได้มากขึ้น

    เฉพาะในปี 2567 เพียงปีเดียว สิงคโปร์ได้ลงนามในข้อตกลงการบริการทางอากาศฉบับใหม่กับยูเครน และยกระดับข้อตกลงที่มีอยู่กับฟิลิปปินส์และซาอุดีอาระเบีย

    ในปี 2562 ก่อนที่โรคโควิด-19 จะระบาด สิงคโปร์มีการเชื่อมโยงมากถึง 175 เมืองด้วยสายการบิน 87 แห่ง แต่ลดลงเหลือระดับต่ำสุดที่ 60 เมืองในช่วงที่มีการแพร่ระบาดหนัก ก่อนที่จะดีดตัวขึ้นเป็นกว่า 140 ในเดือนมีนาคม 2566 ขณะที่สนามบินชางงีและสายการบินต่างๆ ได้กลับมาดำเนินการมากขึ้น

    ในสุนทรพจน์ของเขา นายกรัฐมนตรีหว่อง ได้สรุปแนวทางหลายประการที่สิงคโปร์สามารถก้าวนำหน้าต่อไปได้

    ประการแรกคือการยกระดับนวัตกรรม โดยนายหว่องชี้ไปที่งานที่ได้ทำไปแล้วในด้านการจัดการน่านฟ้าเพื่อลดเวลาการบินและการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เช่นเดียวกับการทดลองยานพาหนะขนสัมภาระอัตโนมัติที่สนามบินชางงี

    นอกจากนี้ยังอ้างถึงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการการบินระหว่างประเทศแห่งใหม่ซึ่งจะช่วยหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการจัดการกับเครื่องบิน ผู้โดยสาร และสัมภาระ

    “นี่เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานการบิน ผู้บริหารสนามบิน สายการบิน และผู้ผลิตเครื่องบินมาร่วมกัน นี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่า สิงคโปร์สามารถรวบรวมพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ และทำหน้าที่เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการบินระดับโลก”

    ด้วยปริมาณผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในปี 2583 นายกรัฐมนตรีหว่องกล่าวว่ าภาคการบินของสิงคโปร์จะต้องเติบโตอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายต่อการดำเนินการด้านสภาพอากาศ

    นายหว่องยกย่องการจัดแผนแม่บท Sustainable Air Hub ที่ ซึ่ง CAAS เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกล่าวว่า

    สุดท้ายนี้ นายหว่งอกล่าวว่า สิงคโปร์จะต้องมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในภาคส่วนการบินในเวทีระหว่างประเทศ โดยชี้ไปที่การยกระดับ Singapore Aviation Academy ด้วยเงินมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์ ซึ่งช่วยฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการบินมากกว่า 160,000 คนจากกว่า 200 ประเทศ

    “ที่เราทำเพราะเราต้องการส่งต่อ ในสมัยแรกๆ สิงคโปร์ได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมดังกล่าวจากประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ตอนนี้ถึงเวลาที่เราต้องทำหน้าที่ในส่วนของเราแล้ว”

    นายกรัฐมนตรี หว่อง กล่าวว่า การแพร่ระบาดครั้งตอกย้ำความสำคัญของภาคการบินต่อสิงคโปร์ แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของสนามบินชางงีและสายการบินแห่งชาติสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ก็ตาม

    แต่เนื่องจากความพยายามของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม ภาคส่วนนี้จึงได้ผ่านพ้นไปได้และกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยจำนวนพนักงานด้านการบินเกินระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด และปริมาณผู้โดยสารที่สนามบินชางงีในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ฟื้นตัวเกือบเต็มที่

    มองไปข้างหน้า นายหว่องกล่าวว่า ความสำเร็จของแผนภาคการบินของสิงคโปร์ จะเป็นประโยชน์ต่อชาวสิงคโปร์ทุกคน และจะมีการจัดนิทรรศการสาธารณะในปี 2568 เกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมการบินของสิงคโปร์