ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามบนเส้นทางสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

ASEAN Roundup เวียดนามบนเส้นทางสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

24 กันยายน 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 17-23 กันยายน 2566

  • เวียดนามบนเส้นทางสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก
  • สิงคโปร์แซงฮ่องกงขึ้นที่หนึ่งโลกเสรีภาพทางเศรษฐกิจ
  • สนามบินชางงีสิงคโปร์ใช้ข้อมูลชีวภาพแทนพาสปอร์ต ปี 2567
  • กัมพูชา-ไทยเห็นพ้องร่วมมือด้านการจ้างงานและการฝึกอบรมสายอาชีพ
  • อาเซียน-จีนเจรจายกระดับ FTA
  • ธนาคาร Acleda เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิเงินบาทมูลค่าเงิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯในไทย
  • VinFast สร้างโรงงานมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯในอินโดนีเซีย
  • เวียดนามบนเส้นทางสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-signs-semiconductor-memorandums-with-us-companies-4655443.html

    เมื่อวันอังคาร(19 ก.ย.) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาเป็น 6 วันก่อนเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 78 ของนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนาม หน่วยงานรัฐบาลเวียดนามได้ลงนามบันทึกข้อตกลง 3 ฉบับกับธุรกิจของสหรัฐฯ เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และฝึกอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรม

    โดยมีนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายมาร์ค แนปเปอร์เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนาม และนายจอห์น นูเฟอร์ ประธานและซีอีโอของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐ เข้าร่วม

    ศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ(National Innovation Center) ของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน เวียดนาม ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับ Cadence Design Systems เกี่ยวกับการออกแบบและการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

    กระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรมลงนามบันทึกข้อตกลงกับ Intel เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลสำหรับภาคธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูง

    นายเหงียน จี ดุง รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม กล่าวว่า การลงนามในข้อตกลงจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบริษัทสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และพันธมิตรในเวียดนาม

    สหรัฐฯ เป็นประเทศชั้นนำในภาคส่วนนี้ และเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม และระบบการเมืองที่มั่นคง

    เวียดนามมีเป้าหมายที่จะฝึกอบรมวิศวกร 50,000 คนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในปี 2573 และรัฐบาลมีความสนใจอย่างมาที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้

    เวียดนามยังได้จัดตั้งหน่วยวิจัยในภาคเซมิคอนดักเตอร์ และบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศก็มีทรัพยากรและเต็มใจที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ กล่าวว่า เวียดนามและสหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเสาหลักใหม่ในความสัมพันธ์ตามข้อตกลงเพื่อสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุม และเรียกร้องให้บริษัทสหรัฐฯ ลงทุนในเวียดนามมากขึ้น ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิต และการฝึกอบรม โดยหน่วยงานรัฐบาลของเวียดนามจะสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยุติธรรมสำหรับบริษัทสหรัฐฯ

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-s-path-to-multibillion-dollar-semiconductor-industry-4653653.html

    เวียดนามมีระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีช่องทางในการยกระดับสถานะของประเทศในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

    ในการประกาศร่วมกันเกี่ยวกับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม ทั้งสองประเทศระบุถึงศักยภาพมหาศาลของเวียดนามในการเป็นประเทศสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และ สนับสนุนการเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม

    ประกาศความร่วมมือยังระบุถึงความคิดริเริ่มในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยสหรัฐฯ จะจัดสรรเงินทุนเริ่มต้นจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะมีการลงทุนจากรัฐบาลเวียดนามและภาคเอกชนในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเวียดนามกำลังขับเคลื่อนครั้งใหม่ในเส้นทางที่เข้าสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกพื้นที่ทั่วโลก

    ข้อมูลจากสำนักงาน Census Bureau ของสหรัฐฯพบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์การนำเข้าชิปจากเวียดนามเพิ่มขึ้น 75% เป็น 562.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 321.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปีก่อนหน้า และมีส่วนแบ่งตลาด 11.6%

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-s-path-to-multibillion-dollar-semiconductor-industry-4653653.html

    ส่งผลให้เวียดนามอยู่ในอันดับต้นๆ ของเอเชียในแง่ของการเติบโต ตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการมีส่วนร่วมของเวียดนามยังคงน้อยเมื่อพิจารณาห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด

    การผลิตชิปมีองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ข้อ ได้แก่ การออกแบบ(design) บริษัทรับผลิตชิป(Foundry) และการแพ็กเกจชิป(packaging)

    จากการที่มีโรงงาน Intel ในโฮจิมินห์ซิตี้เป็นผู้ผลิตหลัก เวียดนามจึงเข้าร่วมในช่วงสุดท้ายก่อนที่ชิปจะเข้าสู่ตลาดเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีมูลค่าต่ำสุดในห่วงโซ่อุปทาน โดยสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ( Semiconductor Industry Association:SIA) ระบุว่า การแพ็กเกจมีสัดส่วนเพียง 6% ของมูลค่าชิป

    “ปัจจุบันเวียดนามกำลังมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก แต่มุ่งเน้นไปที่การประกอบ การทดสอบ และการแพ็กเกจ” ไอแวน ลัม นักวิเคราะห์ จาก Counterpoint Research ให้ความเห็น และกล่าวว่า เวียดนามขาดความสามารถในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ

    เวียดนามเคยมีโรงงานประกอบชิ้นส่วน โดยมีการตั้งบริษัทรับผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ Z181 ในปี 1979 ซึ่งผลิตและส่งออกไดโอดและทรานซิสเตอร์ ซึ่งคนในวงการมองว่า เป็นจุดกำเนิดของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม แต่โรงงานได้หยุดการผลิตไปในช่วงทศวรรษ 1990

    ในปี 2547-2548 บริษัทต่างชาติ เช่น RVC และ Active Semi ได้จัดตั้งศูนย์การออกแบบ และ มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและการศึกษาการออกแบบวงจรรวม(Integrated Circuit)ในเวียดนาม หนึ่งปีต่อมา Intel ลงทุนในเวียดนาม สร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค(Hi-Tech Park) ในไซง่อน และเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เวียดนามเข้าร่วมในการแพ็กเกจชิป

    หลังจากที่เติบโตอย่างขลุกขลักมาระยะหนึ่ง อุตสาหกรรมชิปก็ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2551 แต่เมื่อฟื้นตัวได้ในปี 2556-2557 บริษัทท้องถิ่น เช่น Viettel และ FPT ก็เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้

    ปัจจุบันเวียดนามมีวิศวกรออกแบบชิปมากกว่า 5,500 คน ตามข้อมูลของ Vietnam Microchip Community

    ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-s-path-to-multibillion-dollar-semiconductor-industry-4653653.html

    โรงงาน Intel ในโฮจิมินห์ซิตี้ได้จัดส่งชิปไปแล้วมากกว่าสามพันล้านชิป ระบบนิเวศกำลังค่อยๆก่อตัวขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ

    บริษัทออกแบบชิปของเกาหลีใต้กำลังเดินตามรอยของ Samsung และก่อตั้งโรงงานในเวียดนาม ทั้ง CoAsia ในฮานอยและ Amkor ในจังหวัด บั๊กนิญ

    จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ตลาดชิปทั่วโลกมีมูลค่า 556 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ที่สำคัญก็คือ การใช้ชิปกระจายในวงกว้างตั้งแต่คอมพิวเตอร์ไปจนถึงจรวดและเครื่องซักผ้า และเป็นแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังภาคการผลิตระหว่างประเทศที่มีมูลค่านับสิบล้านล้านดอลลาร์

    ศักยภาพมหาศาลของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นเป้าหมายที่น่าดึงดูดสำหรับประเทศต่างๆ แต่ความยุ่งยากเบื้องหลังการผลิตชิปทำให้แทบไม่มีประเทศใดสามารถผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ได้ด้วยตัวเอง

    วงจรรวม (IC) ขนาดประมาณหนึ่งตารางนิ้ว ประกอบด้วยทรานซิสเตอร์หลายล้านหรือหลายพันล้านตัว ในการผลิตผลิตภัณฑ์นี้ผู้ผลิตต้องใช้เวลา 4 ถึง 6 เดือนและเกี่ยวข้องกับขั้นตอนมากกว่า 500 ขั้นตอนที่แยกจากกันตั้งแต่การออกแบบซอฟต์แวร์เฉพาะไปจนถึงการสร้างและการประกอบที่บริษัทรับผลิตและการทดสอบที่โรงงานเฉพาะทาง

    บริษัทที่ปรึกษา Accenture ประมาณการว่า ส่วนประกอบในการสร้างชิปจะต้องเดินทางข้ามประเทศประมาณ 70 ครั้งก่อนที่ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจะถึงมือผู้ใช้ปลายทาง จึงเป็นโอกาสสำหรับตลาดใหม่อย่าง เวียดนามในการเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานระดับโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์นี้ยังคงเป็นเป้าหมายที่ไกลเกินไป เนื่องจากเวียดนามมีวิศวกรเพียง 5,000 คน

    เวียดนามมีสองทางเลือกในการเติบโต คือ ขยายภาคการผลิต หรือปรับปรุงทักษะและมูลค่าในขั้นตอนการออกแบบและการแพ็กเกจ ซึ่งในความเห็นผู้เชี่ยวชาญ เวียดนามกำลังเลือกอย่างหลัง

    ในการประชุมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสองแห่งเมื่อวันที่ 6 กันยายน รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร นายเหงียน มานห์ ฮุง กล่าวว่า เวียดนามมีข้อได้เปรียบในการออกแบบชิป ดังนั้นจะให้ความสำคัญด้านนี้

    โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับการออกแบบชิป และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องมีการลงทุนของรัฐบาล คือ เครือข่ายของศูนย์วิจัยที่ล้ำสมัย

    นายเหงียน ทันห์ เยน ผู้ดูแล Vietnam Microchip Community กล่าวว่า จากการที่ได้ติดตามตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ก็เห็นการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบเป็นเส้นทางที่ควรจะไป

    “วิศวกรห้าพันคนไม่จัดว่าน้อยหรือมาก และพวกเขามีบทบาทสำคัญในการฝึกอบรมวิศวกรรุ่นต่อไป ในอุตสาหกรรมชิป วิศวกรออกแบบมีความสำคัญมากที่สุดเนื่องจากพวกเขารู้ทุกส่วนของการออกแบบ หากเวียดนามมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวิศวกร เราก็จะเห็นผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า”

    ในการประชุมสุดยอดนวัตกรรมและการลงทุนของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน นายเจือง ซา บินห์ ประธานบริษัท FPT Corporation ได้เรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนในการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์จำนวน 30,000-50,000 คน

    มหาวิทยาลัย FPT ประกาศว่า ได้เปิดสาขาเซมิคอนดักเตอร์และวงจรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูงในประเทศ โดยจะเปิดรับสมัครนักศึกษากลุ่มแรกในปี 2567 และให้การฝึกอบรมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการออกแบบ IC และทำการวิจัยเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์

    บริษัทเวียดนามสามารถใช้โมเดลตามบริษัทผู้ออกแบบ เช่น Nvidia, ARM และ Qualcomm โดยออกแบบชิปและดำเนินธุรกิจ แต่ไม่ใช่การผลิตชิป ซึ่งเป็นรูปแบบที่ FPT ดำเนินการในเวียดนาม

    กระบวนการผลิตต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลเนื่องจากเวียดนามแทบไม่มีระบบนิเวศเลย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การขาดแคลนบุคลากรเป็นอุปสรรคต่อความมุ่งหวังของเวียดนามในการเพิ่มมูลค่าของห่วงโซ่อุปทานชิป

    ในการประชุมกับมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 กันยายน นายเหงียน มานห์ ฮุง กล่าวว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะต้องผลิตวิศวกรได้ 10,000 คนทุกปี แต่ปัจจุบันผลิตได้ไม่ถึง 20%

    ตามรายงานของ Vietnam Microchip Community ในความเป็นจริง จำนวนวิศวกรเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 500 คนต่อปี และวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามส่วนใหญ่ทำงานกับบริษัทต่างชาติ รวมถึงผู้ที่มีทักษะสูง แต่โดยทั่วไปจะอยู่ในขั้นตอนหรือกระบวนการเฉพาะ และมีเพียงไม่กี่คนที่อยู่ในระดับหัวหน้าวิศวกร

    “จุดยืนของเราในตอนนี้คือการเป็นซัพพลายเออร์ที่สามารถจัดการขั้นตอนเฉพาะในกระบวนการออกแบบชิป และไม่สรุปการออกแบบหรือทำการตลาดชิป”

    นอกจากนี้ อุตสาหกรรมนี้มีลักษณะ “ปลอดภัยและรอบคอบ” และให้ความสำคัญกับประสบการณ์เป็นหลัก

    ในด้านไอที ซอฟต์แวร์ที่ผิดพลาดสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็วและทำเสริมเพิ่มได้ แต่ชิปที่ผิดพลาดอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายล้านเหรียญสหรัฐฯและหลายปีในการซ่อมแซม ดังนั้นโดยปกติแล้วนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จบใหม่จะไม่ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานสำคัญๆ

    “การขาดแคลนแรงงานไม่ได้เกิดจากการขาดคนใหม่ แต่เกิดจากการที่บริษัทต่างๆ ยังไม่มีวิธีใช้นักศึกษาจบใหม่”

    ผู้เชี่ยวชาญยังเรียกร้องให้รัฐบาลเสนอการลดหย่อนภาษีเงินได้เพื่อชักจูงผู้เชี่ยวชาญชาวเวียดนามที่ทำงานในต่างประเทศ

    ในอีก 5-7 ปีข้างหน้า เวียดนามต้องมีบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ ในประเทศที่มีฐานที่มั่นคงในตลาด

    ไอแวน ลัม นักวิเคราะห์ของ Counterpoint Research กล่าวว่า เวียดนามตามหลังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย แม้ว่าบริษัทอย่าง Viettel และ FPT จะพัฒนาการวิจัยและพัฒนาและชิปเซ็ตของตนเองก็ตาม

    “การลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านการศึกษา การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการสั่งสมทรัพย์สินทางปัญญา มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเอาชนะอุปสรรคนี้” ไอแวน กล่าว และว่า “ด้วยความพยายามของรัฐบาล การมีส่วนร่วมของธุรกิจในท้องถิ่น และความร่วมมือจากผู้ผลิตชิประดับโลก อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศจึงมีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว”

    สิงคโปร์แซงฮ่องกงขึ้นที่หนึ่งโลกเสรีภาพทางเศรษฐกิจ

    ที่มาภาพ:https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/places-to-see/marina-bay-area
    รายงาน Economic Freedom of the World ประจำปี 2023 ของสถาบันเฟรเซอร์(Fraser Institute) ที่เผยแพร่ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ระบุว่า ประเทศที่ขึ้นสู่อันดับหนึ่งในดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้แก่ สิงคโปร์ ที่เบียดฮ่องกงที่ครองอันดับหนึ่งมา 53 ปีให้ลงไปอยู่ในอันดับสอง ตามมาด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ เดนมาร์ก ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และแคนาดา

    รายงานระบุว่า เป็นครั้งแรกที่ฮ่องกงไม่ครองอันดับหนึ่งด้านเสรีภาพทางเศรษฐกิจและคาดว่าจะลดลงอีกในปีต่อๆ ไป

    “ปีนี้เป็นปีแรกที่ฮ่องกงไม่ติดอันดับหนึ่งในดัชนีนับตั้งแต่มีการเริ่มใช้ดัชนี และคาดการณ์ว่าอันดับจะลดลงอีก เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงตวบคุมเสรีภาพทุกด้าน” เฟรด แม็คมาฮอน ดร. ไมเคิล เอง วอลเกอร์ ประธานวิจัยด้านเสรีภาพทางเศรษฐกิจ สถาบันเฟรเซอร์

    รายงานนี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจของบุคคล ได้แก่ความสามารถในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของตนเอง โดยการวิเคราะห์นโยบายและสถาบันในเขตอธิปไตย 165 แห่ง นโยบายที่นำมาวิเคราะห์มี 5 ด้านได้แก่ กฎระเบียบ(Regulation) เสรีภาพในการค้าระหว่างประเทศ(Freedom to Trade Internationally) ขนาดของรัฐบาล(Size of Government) ระบบกฎหมายและสิทธิในทรัพย์สิน(Legal System and Property Rights) และฐานะการเงิน(Sound Money)

    รายงานปี 2023 อิงตามข้อมูลจากปี 2021 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีสถิติที่เทียบเคียงได้ในเขตปกครอง

    การเลื่อนอันดับของสิงคโปร์มาจากคะแนนรวมที่สูงขึ้นเป็น 8.56 สูงจาก 8.50 ในปี 2020 โดยได้คะแนนที่เพิ่มสูงขึ้นในด้านขนาดของรัฐบาล(7.26) กฎระเบียบ(8.74) และระบบกฎหมายและสิทธิในทรัพย์สิน(8.43)

    ส่วนประเทศอื่นในอาเซียน มาเลเซียติดอันดับ 56 ตกลงจาก 53 ด้วยคะแนน 7.19 คะแนนจาก 7.28 คะแนนในครั้งก่อน ตามมาด้วยไทยติดอันดับ 64 เลื่อขึ้นจากอันดับ 72 ในการประเมินครั้งก่อน ด้วยคะแนน 7.07 ดีขึ้นจาก 6.95 ฟิลิปปินส์อยู่ที่อันดับ 70 ด้วยคะแนน 7.01 คะแนนลดลงเล็กน้อยจาก 7.02 คะแนนแต่อันดับตกลงจาก 67

    อินโดนีเซียอยู่ที่อันดับ 74 ด้วยคะแนน 6.93 คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 6.88 คะแนน และอันดับดีขึ้นจาก 75 กัมพูชาอยู่ที่อันดับ 78 ตกลงจาก 75 ด้วยคะแนน 6.82 คะแนนลดลงจาก 6.88 เวียดนามอยู่ที่อันดับ 106 ด้วยคะแนน 6.26 คะแนนดีขึ้นจากอันดับ 110 และคะแนน 6.19 ในครั้งก่อน
    ลาวอยู่ที่อันดับ 107 ด้วยคะแนน 6.25 คะแนนลดลงจาก 6.30 คะแนนแต่ดีขึ้นจากอันดับ 108 ในครั้งก่อน และเมียนมาอยู่ที่อันดับ 150 ด้วยคะแนน 5.33 คะแนน ตกลงจากอันดับ 140 ซึ่งมี 5.66 คะแนน 5.66

    จากรายงานของปีนี้ ฮ่องกงหลุดจากตำแหน่งสูงสุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการจัดทำรายงาน อุปสรรคด้านกฎระเบียบใหม่ในการเข้าตลาด การจำกัดการจ้างงานแรงงานต่างชาติ และต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้องค์ประกอบเสรีภาพด้านกฎระเบียบลดลง ขณะเดียวกัน การแทรกแซงทางทหารที่เพิ่มขึ้นต่อหลักนิติธรรมและความเชื่อมั่นในความเป็นอิสระของตุลาการและความเป็นกลางของศาลที่ลดลง ส่งผลให้ระบบกฎหมายและสิทธิในทรัพย์สินเสื่อมถอยลง

    “การพลิกผันครั้งล่าสุดของฮ่องกงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เสรีภาพทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเสรีภาพของพลเมืองและการเมือง เป้าหมายของรัฐบาลจีนคือการปราบปรามความขัดแย้งทางการเมืองและการต่อต้านขัดขืนของพลเมือง การกดขี่เหล่านี้บวกกับความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมภาคเอกชน ส่งผลให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความเจริญรุ่งเรืองของฮ่องกง แมทธิว มิทเชลล์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันเฟรเซอร์กล่าว

    สำหรับประเทศอื่นๆที่ติดอันดับโดดเด่น ได้แก่ ญี่ปุ่น (อันดับที่ 20) เยอรมนี (อันดับที่ 23) ฝรั่งเศส (อันดับที่ 47) และรัสเซีย (อันดับที่ 104)
    เวเนซุเอลาติดอันดับสุดท้ายอีกครั้ง ประเทศเผด็จการบางประเทศ เช่น เกาหลีเหนือ และคิวบา ไม่สามารถจัดอันดับได้เนื่องจากขาดข้อมูล

    สถาบันเฟรเซอร์จัดทำรายงานEconomic Freedom of the World ประจำปี โดยร่วมกับ Economic Freedom Network ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันวิจัยและการศึกษาอิสระในเกือบ 100 ประเทศและเขตปกครอง เป็นตัวชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลก

    รายงานนี้จัดทำโดยศาสตราจารย์ James Gwartney จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดา และศาสตราจารย์ Robert A. Lawson และ Ryan Murphy จาก Southern Methodist University

    สนามบินชางงีสิงคโปร์ใช้ข้อมูลชีวภาพแทนพาสปอร์ต ปี 2567

    jewel changi airport ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/content/dam/desktop/global/tourism-editorials/virtual-backgrounds/jewel-changi-airport.jpg
    ตั้งแต่ปีหน้า สนามบินชางงีของสิงคโปร์จะไม่ใช้หนังสือเดินทางอีกต่อไป แต่จะใช้ข้อมูลทางชีวภาพ หรือ biometrics (ลายนิ้วมือ และการสแกนใบหน้า) แทนในการตรวจตราผู้โดยสาร ณ จุดต่างๆ เมื่อเดินทางออกนอกประเทศ

    รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ นางสาวโจเซฟีน เตียว ได้ประกาศในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากมีการแก้ไขกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของสิงคโปร์ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ที่สนามบินได้ง่ายขึ้น

    โดยมีเป้าหมายคือการทำให้ประสบการณ์การเดินทางที่สนามบินชางงีราบรื่นยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องแสดงหนังสือเดินทางที่จุดตรวจตราในสนามบิน ระบบจะใช้ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ในจุดต่างๆ ในกระบวนการเดินทางออก ตั้งแต่การโหลดกระเป๋าไปจนถึงการผ่านด่านตรวจคนเข้ามเือง(ตม.)และการขึ้นเครื่อง แทนที่จะเป็นหนังสือเดินทาง

    สนามบินชางงีเป็นที่รู้จักมายาวนานว่าเป็นหนึ่งในสนามบินที่ดีที่สุดทั่วโลก รวมถึงการได้รับเลือกให้เป็นสนามบินนานาชาติยอดนิยมโดยผู้อ่าน Travel + Leisure ได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในช่องทางตรวจคนเข้าเมืองแบบอัตโนมัติแล้ว การประกาศในสัปดาห์นี้จะขยายการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไปยังจุดตรวจตราอื่นๆ

    “ระบบนี้จะช่วยลดความจำเป็นที่ผู้โดยสารจะต้องแสดงเอกสารการเดินทางซ้ำๆ ที่จุดตรวตราเหล่านี้ ช่วยให้การประมวลผลราบรื่นและสะดวกสบายยิ่งขึ้น” นางสาวโจเซฟีน เตียว กล่าวและว่า การปรับเปลี่ยนจะทำให้ชางงีเป็นหนึ่งในสนามบินแห่งแรกๆ ของโลกที่หันมาใช้ระบบไบโอเมตริกซ์มากขนาดนี้

    กัมพูชา-ไทยเห็นพ้องร่วมมือด้านการจ้างงานและการฝึกอบรมสายอาชีพ

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501364972/cambodia-thailand-agree-to-further-strengthen-cooperation-in-employment-and-vocational-training/
    นายเฮง ซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพกัมพูชา และนายเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูตไทยประจำราชอาณาจักรกัมพูชา ได้เห็นพ้องที่จะสานต่อความร่วมมือด้านการจ้างงานและการฝึกอาชีพระหว่างทั้งสองประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของพลเมืองทั้งสองประเทศ

    ในระหว่างการพบปะของทั้งสองฝ่ายที่กระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพกัมพูชาเมื่อวันที่ 21 กันยายน นายเฮง ซอร์ ในนามของรัฐบาลกัมพูชา กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยสำหรับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านแรงงาน โดยให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวก ปัจจุบันมีแรงงานชาวกัมพูชา 1.2 ล้านคนที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย

    ทางด้านไทย เอกอัครราชทูตไทย ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลกัมพูชา สำหรับความร่วมมือและความเอาใจใส่ต่อผู้เชี่ยวชาญชาวไทยแลชาวไทยที่ทำงานและพำนักอยู่ในกัมพูชา

    นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำว่า ด้วยความร่วมมือที่มีอยู่ในด้านแรงงานจะทำให้นายจ้างไทยรับแรงงานกัมพูชาได้ง่ายขึ้น และแรงงานกัมพูชาก็สามารถไปทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมายซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

    ในขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศเห็นพ้องในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกต่อต้านการค้ามนุษย์ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบันทึกความเข้าใจที่มีอยู่เพื่อเคารพต่อสิทธิของพลเมือง ทั้งกัมพูชาและไทยต่างมองเห็นผลกระทบด้านลบจากการค้ามนุษย์

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพและเอกอัครราชทูตไทยยังเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านการฝึกอบรมสายอาชีพต่อไป ซึ่งทั้งสองประเทศได้มีความร่วมมือกันมาแล้วในอดีต ในการร่วมกันจัดหากำลังแรงงานที่มีทักษะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งมีความต้องการสูง

    อาเซียน-จีนเจรจายกระดับ FTA

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501363163/china-asean-fta-talks-resumes/
    ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมตัวกันที่เมืองหนานหนิง ประเทศจีน เพื่อหารือเกี่ยวกับการยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน(ACFTA) เวอร์ชัน 3.0 และการยกระดับความร่วมมือแบบเปิดระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

    FTA เวอร์ชัน 3.0 จะครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และการเชื่อมต่อของห่วงโซ่อุปทาน

    การหารือในเวอร์ชัน 3.0 เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 และการหารือครั้งล่าสุดจัดขึ้นในวันอาทิตย์(18 ก.ย.) รอบนอกของงาน China-ASEAN Expo

    งาน China-ASEAN Expo จัดขึ้นในแนวคิด “Institutional opening-up for new regional economic growth” โดยกระทรวงพาณิชย์ของจีนและรัฐบาลประชาชนเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยมีคณะผู้แทนจากจีน ได้แก่ นายหลี่ เฟย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน นายหลี่หนิง เลขาธิการคณะกรรมการพรรคเขตกว่างวีจ้วง ประธานคณะกรรมการถาวรของ สภาประชาชนแห่งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการสภาประชาชนแห่งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

    ในบรรดาผู้ที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในประเทศจีน กลุ่มประเทศอาเซียน ติมอร์-เลสเต หัวหน้าสถานกงสุลจีนในกลุ่มประเทศอาเซียน และสถานกงสุลกลุ่มประเทศอาเซียนในจีน หัวหน้าองค์กรระหว่างประเทศ รวมไปถึงผู้บริหารสถาบันการเงิน การพาณิชย์ หน่วยงานกำกับดูแล และการกำหนดมาตรฐาน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ

    ผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาเปิดเผยว่า ที่ประชุมเน้นการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมบรรทัดฐานร่วมกันของกฎหมายการค้าจีน-อาเซียน และ

    เสริมว่างานดังกล่าวจะสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลและการยอมรับร่วมกันในบรรทัดฐานทางเทคโนโลยีสำหรับการบูรณาการระเบียงการค้าและมาตรฐานเทคโนโลยีอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน

    ผู้เข้าร่วมหารือถึงความจำเป็นในการขยายความร่วมมือแบบเปิดระดับภูมิภาคในด้านกฎ ข้อบังคับ การจัดการ มาตรฐาน ธุรกิจ และความร่วมมือสถาบันแบบเปิดอื่น ๆ ในยุคใหม่ ขยายผลของการเปิดกว้างของสถาบันให้ลึกยิ่งขึ้น สร้างแพลตฟอร์มพลังงานแบบเปิดระดับสูง และส่งเสริมการก่อสร้าง ของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนเวอร์ชัน 3.0 และส่งเสริมการสร้างรูปแบบใหม่ของการพัฒนาภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง

    ในการประชุมได้จัดพิธีเปิดตัว “ศูนย์ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนมาตรฐานแห่งชาติอาเซียน” ASEAN National Standardisation Cooperation and Exchange Centr

    ศูนย์แห่งนี้มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างการวิจัยและความร่วมมือด้านมาตรฐานและการแลกเปลี่ยนกับประเทศในอาเซียน สร้างช่องทางสำหรับการเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลการกำหนดมาตรฐานจีน-อาเซียน และสร้างกลไกของการฝึกอบรมร่วมกันและการแลกเปลี่ยนสองทางของบุคคลากรที่มีความสามารถด้านมาตรฐานสากลเพื่อส่งเสริมมความร่วมมือที่เปิดกว้างระหว่างจีนและอาเซียให้มากขึ้น กว้างขึ้น และลึกขึ้น

    ดร.เกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียกล่าวเปิดงานด้วยการยืนยันถึงความสำเร็จที่สำคัญของงาน China-ASEAN Expo ในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และสาขาอื่น ๆ ระหว่างอาเซียนและจีนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

    Global Times รายงานโดยอ้างคำพูดของนายหลี่ เฟย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน ว่า จีนจะลดรายการรายการที่ไม่เปิดเสรี (negative list) สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างสมเหตุสมผล พร้อมด้วยมาตรการอื่นๆ เพื่อยกระดับการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน

    นายหลี่ เฟยกล่าวว่า จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อเร่งการเจรจา FTA จีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0 และมุ่งมั่นที่จะบรรลุข้อสรุปตั้งแต่เนิ่นๆ ขณะเดียวกันก็ร่วมกันดำเนินการตามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และเริ่มกระบวนการภาคยานุวัติสำหรับสมาชิกใหม่ในเร็วๆนี้

    การประชุมรอบนอกนี้มุ่งเน้นไปที่การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการเปิดกว้างของสถาบันในด้านกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ การจัดการ มาตรฐาน และด้านอื่น ๆ ของภูมิภาคในยุคใหม่ด้วยภูมิทัศน์ใหม่ ซึ่งเอื้อต่อการส่งเสริมทุกฝ่ายในภูมิภาคให้เป็นมาตรฐานในทางการค้าและกฎเกณฑ์การลงทุนระหว่างประเทศ และรวมตัวกันเพื่อเปิดกว้างของสถาบันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

    รวมทั้งเสริมสร้างฉันทามติเกี่ยวกับการพัฒนาแบบเปิดสถาบันในบริบทของการเร่งสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนเวอร์ชัน 3.0 และการดำเนินการตาม RCEP อย่างรอบด้าน ยกระดับการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และส่งเสริมการสร้างรูปแบบใหม่ ของความร่วมมือเปิดกว้างระหว่างจีน-อาเซียน เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียนให้ดียิ่งขึ้น

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภายใต้เบื้องหลังของการเร่งรัดการจัดทำเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และการดำเนินการตาม RCEP อย่างรอบด้าน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและอาเซียนได้รับการยกระดับ และสถานะของคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดระหว่างกัน ได้แน่นแฟ้นมากขึ้นต่อเนื่องโดยอาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน และจีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเป็นเวลา 14 ปีติดต่อกัน

    การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกว่างซีจ้วงและอาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่อง และความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนก็ลึกขึ้น ภายในปี 2565 อาเซียนยังคงรักษาสถานะเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของกว่างซีจ้วงเป็นเวลา 23 ปีติดต่อกัน

    ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ปริมาณการนำเข้าและส่งออกของกว่างซีจ้วงไปอาเซียนอยู่ที่ 25.79 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 71.6% ตามคำแถลงของจีนที่เผยแพร่ภายหลังงาน

    ธนาคาร Acleda เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิเงินบาทมูลค่าเงิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯในไทย

    ธนาคารเอซีลีดา (Acleda Bank Plc) ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนแห่งแรกของกัมพูชา ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501363158/acleda-bank-to-borrow-100m-from-thailand/
    ธนาคารเอซีลีดา (Acleda Bank Plc) ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนแห่งแรกของกัมพูชา ประกาศว่า ธนาคารได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (National Bank of Cambodia :NBC) ให้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันสกุลเงินบาท ในมูลค่าสูงสุด 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะเวลา 7 ปีในประเทศไทย

    แถลงการณ์ของธนาคารลงวันที่ 15 กันยายน 2566 ที่เผยแพร่ผ่านตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) เมื่อวันจันทร์(18 ก.ย.) ระบุว่าธนาคารยังคงอยู่ระหว่างการเตรียมขั้นตอนและปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ ข้อกำหนดและเงื่อนไขของทางการไทยและฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการออก หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันสกุลเงินบาท

    แม้แถลงการณ์ไม่ได้ระบุชื่อของตลาดหลักทรัพย์ที่ Acleda Bank จะจดทะเบียนตราสารหนี้ แต่มาร์ อมราม รองประธานบริหารอาวุโสและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของกลุ่มธนาคาร เปิดเผยกับ Khmer Times ว่า ตราสารหนี้ระยะยาวจะจดทะเบียนในสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ในประเทศไทย

    “ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องการขยายการดำเนินงานหรือดำเนินการตามแผน เราต้องการเงินทุนมากขึ้น ดังนั้นเราจึงไม่เพียงระดมทุนจากการออกตราสารทุนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงตราสารหนี้เพื่อกู้ยืมเงินจากแหล่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินเหล่านั้น” อมรากล่าว

    VinFast สร้างโรงงานมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯในอินโดนีเซีย

    ที่มาภาพ: https://vinfastauto.us/newsroom
    โรงงานประกอบรถยนต์ของ VinFast ในอินโดนีเซียจะเริ่มดำเนินการในปี 2569 และสามารถผลิตรถยนต์ได้มากถึง 50,000 คันต่อปี

    VinFast ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติสิงคโปร์-เวียดนาม วางแผนที่จะลงทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในอินโดนีเซีย ซึ่งจะผลิตรถยนต์ได้ระหว่าง 30,000 ถึง 50,000 คันต่อปี บริษัทระบุในรายงานที่แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ

    การลงทุนที่ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของ VinFast ที่จะลงทุน 1.2 พันล้านดอลลาร์ในตลาดอินโดนีเซียในระยะยาว โดยวางแผนที่จะขยายตลาดในเอเชียเพิ่มเติมอีก 7 แห่ง รวมถึงอินเดียและมาเลเซีย

    “เราวางแผนที่จะเริ่มส่งมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของเราในอินโดนีเซียในปี 2567 ด้วยรุ่นพวงมาลัยขวา VF e34 และ VF 5 และจะตามมาด้วย VF 6 และ VF 7 ” บริษัทระบุกล่าวในแถลงการณ์ “เรายังมองว่า ในกลุ่มตลาดใหม่ 7 แห่งของเรา อินโดนีเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำคัญสำหรับการจัดตั้งโรงงานผลิตสำหรับ EV และแบตเตอรี่ของเรา เนื่องจากต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำและความพร้อมของวัตถุดิบในประเทศ”