ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ติดอันดับ 1 ประเทศยอมรับคริปโทเคอร์เรนซี

ASEAN Roundup สิงคโปร์ติดอันดับ 1 ประเทศยอมรับคริปโทเคอร์เรนซี

1 กันยายน 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 25-31 สิงหาคม 2567

  • สิงคโปร์ติดอันดับ 1 ประเทศยอมรับคริปโทเคอร์เรนซี
  • สิงคโปร์เล็งให้อำนาจตำรวจควบคุมการทำธุรกรรมผ่านแบงก์ป้องกันภัยแก๊งส์คอลล์เซ็นเตอร์
  • เหยื่อภัยออนไลน์ในสิงคโปร์สูญเงิน 385.6 ล้านเหรียญสหรัฐครึ่งแรกปี 2567
  • ฟอร์ติเน็ตจับมือหน่วยงานในสิงคโปร์สนับสนุนความปลอดภัยทางไซเบอร์
  • กูเกิ้ลเตรียมลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์แบบไฮเปอร์สเกลในเวียดนาม

    สิงคโปร์ติดอันดับ 1 ประเทศยอมรับคริปโทเคอร์เรนซี

    ที่มาภาพ: https://www.henleyglobal.com/publications/henley-crypto-adoption-index
    สิงคโปร์ติดอันดับหนึ่งของดัชนีประเทศที่มีการยอมรับคริปโทเคอร์เรนซีมากที่สุดในโลก ใน Henley Crypto Adoption Index 2024 จากการจัดอันดับของ Henley & Partners ด้วยคะแนน 45.7 จากคะแนนเต็ม 60 โดยเป็นผู้นำในด้านการปรับสภาพแวดล้อมทางการเงิน ธุรกิจ และกฎระเบียบที่ส่งเสริมการนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้ จากการมีระบบธนาคารที่รองรับ การลงทุนที่สำคัญ กฎระเบียบที่ครอบคลุม เช่น กฎหมายบริการการชำระเงิน(Payment Services Act) แซนด์บ็อกซ์ด้านกฎระเบียบ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

    สำหรับวิธีการจัดอันดับ Henley Crypto Adoption Index 2024 ได้ประเมินและจัดอันดับประเทศที่เป็นยอมรับคริปโท ซึ่งมีโครงการสนับสนุนการย้ายการลงทุน โดยพิจารณาจากการยอมรับและการบูรณาการสกุลเงินดิจิทัลและบล็อกเชน รวมถึงแหล่งข้อมูลมากกว่า 670 จุด
    ภายใต้ 6 ตัวชี้วัดหลักซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อย 16 ตัวและตัวบ่งชี้ 24 ตัว ดัชนีนี้จะให้ภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับขอบเขตที่ประเทศเหล่านี้เปิดรับเทคโนโลยีเกิดใหม่นี้

    ตัวชี้วัดหลัก 6 ตัว ได้แก่ การยอมรับโดยสาธารณะ การมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และนโยบายด้านภาษี

    การจัดอันดับในปีนี้ ได้มีการรวบรวมข้อมูลสำหรับ 28 ประเทศที่เป็นมีโครงการสนับสนุนการย้ายการการลงทุนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2567 โดยใช้ข้อมูลสาธารณะล่าสุดที่มี และรวมถึงประเทศที่ได้รับการประเมินก่อนหน้านี้และเพิ่มเติมใหม่ที่สะท้อนถึงแนวโน้มของตลาดในปัจจุบัน

    การประเมินมีเกณฑ์คะแนนมาตรฐานในระดับ 0-1 โดยที่ 0 คือค่าต่ำสุดและ 1 คือค่าสูงสุด จากนั้นจัดกลุ่มตัวบ่งชี้ออกเป็นพารามิเตอร์ย่อยเฉพาะด้าน คำนวณคะแนนโดยการรวมตัวบ่งชี้ที่ถ่วงน้ำหนักเท่ากัน และให้คะแนนตัวชี้วัดหลัก 6 ตัว (สูงสุด 10 คะแนนแต่ละตัว) โดยรวมตัวชีวัดย่อยที่มีน้ำหนักเท่ากัน

    คะแนนรวมของประเทศ (สูงสุด 60) จะรวมปัจจัย 6 ประการเหล่านี้เข้าด้วยกัน ได้แก่ การยอมรับโดยสาธารณะ(Public adoption) การมีครงสร้างพื้นฐานรองรับ(Infrastructure adoption) นวัตกรรมและเทคโนโลยี(Innovation and technology) สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ(Regulatory environment) ปัจจัยทางเศรษฐกิจ(Economic factors) และนโยบายภาษี(Tax-friendliness)

    หลังจากการให้คะแนน ก็ได้ 23 ประเทศที่ติด 20 อันดับแรก และ 23 ประเทศนี้เป็นแกนหลักของการวิเคราะห์ของ Henley Crypto Adoption Index 2024

    ในตัวชี้วัดแรกการยอมรับโดยสาธารณะ สิงคโปร์ได้ 4.6 คะแนน การมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับได้ 6.8 คะแนน นวัตกรรมและเทคโนโลยี 9.5 คะแนน สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ 8.3 คะแนน ปัจจัยทางเศรษฐกิจ 9.1 คะแนน และนโยบายภาษี 7.4 คะแนน

    การที่สิงคโปร์ได้อันดับสูงสุดใน Henley Crypto Adoption Index ปี 2024 ยิ่งตอกย้ำสถานะสิงคโปร์ในฐานะผู้นำนวัตรกรรมทางการเงินระดับโลก และกำลังโดดเด่นในด้านดิจิทัล

    สกุลเงินดิจิทัลของสิงคโปร์ไม่ได้เริ่มต้นจาก Bitcoin แต่ด้วยความมองการณ์ไกลของผู้นำที่ตระหนักถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมานานก่อนที่บล็อกเชนจะเกิด ในช่วงทศวรรษ 1980 ประเทศส่วนใหญ่ขวนขวายเพื่อที่จะได้ใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน สิงคโปร์ได้วางรากฐานสำหรับแผนแม่บท IT2000 แล้ว โดยมีวิสัยทัศน์ไปที่ “เกาะอัจฉริยะ” ที่เชื่อมต่อกันสำหรับอนาคต

    ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างวรวดเร็วของสิงคโปร์ต่อคริปโทเคอร์เรนซี่และเทคโนโลยีบล็อกเชน ในขณะที่กระแสคริปดท เริ่มขยายตัวทั่วโลกในช่วงกลางปี ​​2553 หน่วยงานกำกับดูแลของสิงคโปร์ไม่ได้ถอยหลังกลับด้วยความกลัวหรือเร่งรีบที่จะควบคุม แต่มองเห็นโอกาสในการตอกย้ำสถานะของประเทศที่เป็นแนวหน้าด้านนวัตกรรมทางการเงิน

    ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore:MAS) มีทัศนคติที่เปิดกว้าง แม้ว่ากฎเรื่องคริปโทของสิงคโปร์ไม่สามารถพูดได้ว่าหละหลวม (หรือสิงคโปร์เองก็ไม่สามารถอธิบายได้) แต่กฎระเบียบก็มีความชัดเจนภายใต้กฎหมายบริการการชำระเงินปี 2562 กฎระเบียบคริปโทมีความชัดเจนมากกว่า และเป็นที่คาดหวังหากมาจากเขตปกครองอื่นๆ เกือบทั้งหมด นอกจากนี้ MAS เองยังมีส่วนร่วมในโครงการ CBDC (Central Bank Digital Currency สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง)

    แนวทางนี้ทำให้สิงคโปร์สามารถสร้างสมดุลได้อย่างดี โดยสามารถส่งเสริมนวัตกรรมในขณะที่คงมาตรฐานที่เข้มงวด ซึ่งทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่เชื่อถือได้

    บริษัทคริปโทแห่เข้าสิงคโปร์ จากการที่เปิดกว้างส่งผลที่น่าสนใจ ภายในปี 2561 สิงคโปร์ได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดสตาร์ทอัพด้านคริปโทและผู้เล่นที่เป็นที่ยอมรับ บริษัทต่างๆ ตั้งแต่ Binance ไปจนถึง Crypto.com ได้จัดตั้งสำนักงานขึ้น เป็นผลจากกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจนและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบัน Crunchbase มีรายชื่อบริษัทบล็อกเชนเกือบ 1,000 แห่งในสิงคโปร์

    ชื่อเสียงของประเทศในด้านคอร์รัปชันที่ต่ำและหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง ซึ่งได้รับการปลูกฝังมานานหลายทศวรรษของการกำกับดูแลที่เข้มงวด ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีคุณค่าในอุตสาหกรรมคริปโทเช่นเดียวกับในด้านการเงินแบบดั้งเดิม

    แต่เส้นทางของสกุลเงินดิจิทัลของสิงคโปร์ไม่ได้ราบรื่นตลอด การล่มสลายของ Terra/Luna ในปี 25652 ส่งผลให้สกุลเงินดิจิทัล สะเทือนไปทั่วโลก และสิงคโปร์ก็ได้รับผลรุนแรง มีเสียงวิจารณ์ตั้งคำถามว่าสิงคโปร์อนุญาตมากเกินไปหรือไม่ และกระตือรือร้นที่จะยอมรับโลกแห่งสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผันผวนมากเกินไปหรือไม่

    อย่างไรก็ตาม การรับมือของสิงคโปร์นั้น แทนที่จะปราบปรามอย่างเด็ดขาด หน่วยงานกำกับดูแลเพิ่มการกำกับดูแลพร้อมทั้งยืนยันความมุ่งมั่นต่อนวัตกรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสม กระชับการกำกับดูแลโดยไม่ขัดขวางการเติบโต เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเน้นการปฏิบัติที่เป็นจุดเด่นของสิงคโปร์มายาวนาน

    สิงคโปร์มีกลไกการเติบโตมากมาย ด้วยความเข้าใจว่าระบบนิเวศคริปโทที่เจริญรุ่งเรืองนั้น ต้องการมีมากกว่าแค่กฎระเบียบที่ดี สิงคโปร์จึงลงทุนอย่างมากในด้านการศึกษาและการวิจัย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์เปิดตัวหลักสูตรบล็อคเชน ในขณะที่โพลีเทคนิคได้นำโมดูลสกุลเงินดิจิทัลเข้าบรรจุในหลักสูตร การมุ่งเน้นไปที่การดูแลบุคคลที่มีความสามารถในประเทศ ทำให้มั่นใจได้ว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของสกุลเงินดิจิทัลของสิงคโปร์ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ

    ศูนย์กลางนวัตกรรม เช่น BLOCK71 กลายเป็นเบ้าหลอมสตาร์ทอัพบล็อกเชน โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ นักวิชาการ และนักลงทุน รัฐบาลยังได้เปิดตัวโครงการนวัตกรรมบล็อคเชนอีกด้วย

    ในขณะที่ความสนใจส่วนใหญ่ทุ่งไปที่สกุลเงินดิจิทัลและแอปพลิเคชันทางการเงิน การนำบล็อกเชนไปใช้ของสิงคโปร์นั้นขยายไปไกลกว่านั้น ตั้งแต่การจัดการห่วงโซ่อุปทานไปจนถึงระบบข้อมูลประจำตัวดิจิทัล เทคโนโลยีกำลังผนวกรวมเป็นโครงสร้างของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

    Project Ubin ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ใช้เวลาหลายปีระหว่าง MAS และพันธมิตรในอุตสาหกรรม สำรวจการใช้บล็อกเชนในการหักบัญชีและชำระเงินและหลักทรัพย์ ความคิดริเริ่มนี้ไม่เพียงแต่ทำให้สิงคโปร์อยู่ในระดับแนวหน้าของการวิจัยสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบล็อคเชนในการปฏิวัติระบบการเงินแบบดั้งเดิมอีกด้วย

    สำหรับประเทศไทยติดอันดับที่ 10 ใน Henley Crypto Adoption Index 2024 ด้วยคะแนนรวม 31.9 มาเลเซียติดอันดับ 8 ด้วยคะแนน 34.1

    สิงคโปร์เล็งให้อำนาจตำรวจควบคุมการทำธุรกรรมผ่านแบงก์ป้องกันภัยแก๊งส์คอลล์เซ็นเตอร์

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/more-than-550-suspects-investigated-for-scams-involving-over-14-million
    กระทรวงกิจการภายในของสิงคโปร์อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นสาธารณะเกี่ยวการออกกฎหมาย ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมธุรกรรมผ่านธนาคารซึ่งตกเป็นเป้าหมายของการหลอกลวงเป็นการชั่วคราว เพื่อคุ้มครองผู้ที่ไม่ยอมจะเชื่อว่ากำลังถูกโกง โดยที่การระงับธุรกรรมนี้ใช้กับการหลอกลวงผ่านช่องทางดิจิทัลหรือโทรคมนาคมเท่านั้น

    ในการเอกสารข่าวที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (30 ส.ค.) กระทรวงฯระบุว่า ตำรวจจะมีอำนาจบังคับใช้กับผู้ที่ไม่ยอมเชื่อว่า ตัวเองถูกหลอกลวง

    ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองจากการหลอกลวง ซึ่งจะนำมาใช้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกคำสั่งควบคุม (restriction orders :ROs) เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงที่ดำเนินการผ่านช่องทางดิจิทัลหรือโทรคมนาคม เช่น การโทร การส่ง SMS และการสื่อสารออนไลน์

    แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่มีอำนาจในการจัดการในกรณีที่เป็นการหลอกลวงแบบเจอตัว ซึ่งหมายถึงการโกงแบบดั้งเดิม เช่น การโอนเงินไปยังผู้รับเหมาซ่อมแซมที่ขี้โกง หรือครอบครัวและเพื่อนฝูง จะไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้ร่างกฎหมายที่เสนอใหม่

    กระทรวงฯระบุว่า “คำสั่งควบคุมจะออกมา ก็ต่อเมื่อตำรวจมีเหตุผลที่จะเชื่อว่าบุคคลนั้นตกเป็นเป้าหมายของผู้หลอกลวงและอาจทำการโอนไปยังผู้หลอกลวงภายในเวลาไม่นาน และหลังจากการใช้ทางเลือกอื่นๆในการโน้มน้าวเหยื่อนั้นไม่ได้ผลแรงและ ล้มเหลว”

    คำสั่งควบคุมจะครอบคลุมบริการด้านการธนาคาร เช่น การโอนเงินออกจากบัญชีธนาคารของเหยื่อและวงเงินสินเชื่อทั้งหมด

    เหยื่อที่ได้รับคำสั่งควบคุม จะไม่สามารถทำธุรกรรมทางธนาคารออนไลน์ ธนาคารทางมือถือ หรือทำธุรกรรมผ่านเคาน์เตอร์ด้วยตนเองได้

    กระทรวงฯ เสริมว่าจะมีกลไกสำหรับบุคคลที่ได้รับคำสั่งควบคุม ให้ยื่นคำร้องต่อตำรวจเพื่อให้สามารถเข้าถึงเงินของตนเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะเดียวกันจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงธุรกรรมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

    “แนวทางนี้เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่มิจฉาชีพหลอกลวงเหยื่อ ให้สมัครขอวงเงินเครดิตหรือสินเชื่อในนามของมิจฉาชีพ” กระทรวงฯระบุ

    กระทรวงฯยังระบุอีกว่า คำสั่งควบคุมจะออกไปถึงธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศทั้ง 7 แห่งในสิงคโปร์ ในกรณีที่เหยื่อมีบัญชีกับธนาคารมากกว่าหนึ่งแห่ง

    นอกจากนี้ คำสั่งควบคุมจะมีการออกเป็นระยะเวลา 28 วันในระยะแรก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีเวลาในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม

    มาตรการเหล่านี้รวมถึงการมีส่วนร่วมของบุคคลและญาติที่ใกล้ชิด การรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อโน้มน้าวบุคคลนั้น และโน้มน้าวให้บุคคลนั้นใช้มาตรการป้องกันทางธนาคารที่จำเป็นเพื่อหยุดการหลอกลวงที่กำลังหลอกอยู่

    คำสั่งควบคุมสามารถต่ออายุได้สูงสุดครั้งละ 28 วัน หากบุคคลนั้นยังได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง แต่ผู้ที่ได้รับคำสั่งควบคุมสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้ และการตัดสินใจของรัฐมนตรีถือเป็นที่สิ้นสุด

    กระทรวงฯชี้ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นั้น 86% ของการรายงานกลโกงเป็นผลมาจากการโอนที่ทำด้วยตัวเอง การหลอกลวงลักษณะนี้ผู้หลอกไม่ได้เข้าถึงบัญชีของเหยื่อโดยตรง แต่ชักจูงให้เหยื่อโอนเงินให้แทน

    “ในบางกรณี เหยื่อได้รับคำเตือนจากตำรวจ ธนาคาร หรือครอบครัวว่าพวกเขาถูกหลอกลวง แต่ก็ยังไม่ยอมจะเชื่อว่ากำลังถูกหลอก” กระทรวงฯกล่าวและว่า เหยื่อกลุ่มนี้รวมถึงเหยื่อที่ถูกหลอกเรื่องหาคู่ และจากการแอบอ้างว่าเป็นหน่วยงานรัฐ

    เหยื่อภัยออนไลน์ในสิงคโปร์สูญเงิน 385.6 ล้านเหรียญสหรัฐครึ่งแรกปี 2567

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/scam-victims-in-s-pore-lost-3856m-in-first-half-of-2024-as-number-of-cases-hit-high-of-26587
    สถานการณ์ภัยหลอกลวงในสิงคโปร์รุนแรงขึ้น โดยจำนวนคดีเพิ่มขึ้น 16.3% และเหยื่อสูญเสียเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 385.6 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 และหากแนวโน้มยังคงต่อเนื่อง ความสูญเสียจากการหลอกลวงอาจทะลุ 770 ล้านเหรียญสหรัฐภายในสิ้นปี 2567

    สถิติความสูญเสียของปี 2565 มีจำนวน 660.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

    จากข้อมูลสถิติการหลอกลวงกลางปีและอาชญากรรมไซเบอร์ของตำรวจที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม จำนวนคดีในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 16.3% เป็น 26,587 ราย ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์จาก 22,853 รายในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

    ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในปี 2567 สูญเสียเงินมากกว่า 385.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.6% เมื่อเทียบกับความสูญเสีย 309.4 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

    สัดส่วนของคดี 86% ภัยหลอกลวง ผู้หลอกไม่ได้เข้าถึงบัญชีของเหยื่อโดยตรง แต่หลอกให้เหยื่อโอนเงินให้แทน

    ในการแถลงข่าว ซุน ซือหลิง รัฐมนตรีกระทรวงกิจการมหาดไทย กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวน่ากังวล “มีคดีหลอกลวงจำนวนมากที่เกิดจากการโอนเงินด้วยตนเองจากเหยื่อ และนี่เป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากแสดงให้เห็นว่าเหยื่อจำนวนมากถูกชักจูงให้โอนเงินเข้าบัญชีมิจฉาชีพ

    ซุนกล่าวว่า การหลอกให้ลงทุนและการหลอกด้วยการแอบอ้างเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นพิเศษ

    แม้คดีหลอกลวงด้านการลงทุนจำนวน 3,330 คดีคิดเป็นเพียง 12.5% ของจำนวนคดีหลอกลวงทั้งหมดในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 แต่เหยื่อก็สูญเสียเงินจำนวน 133.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินสูงสุดที่สูญเสียไปจากการหลอกลวงทั้งหมด โดยเฉลี่ยแล้วเหยื่อจะสูญเสียเงินประมาณ 40,000 เหรียญสหรัฐในแต่ละคดีหลอกลวงด้านการลงทุน

    จำนวนเงินโดยเฉลี่ยที่เหยื่อสูญเสีย จากการหลอกลวงในลักษณะแอบอ้างเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นสูงกว่าเกือบ 3 เท่า

    ในคดีหลอกลวงดังกล่าว 580 กรณีในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เหยื่อสูญเสียเงิน 67.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉลี่ยแล้วสูญเสียไปมากกว่า 116,500 ดอลลาร์ต่อกรณี

    จำนวนกรณีการโทรหลอกว่าเป็นเพื่อนลดลง 38.2% เป็น 2,368 ราย จาก 3,832 รายในปี 2566 จำนวนเงินที่สูญเสียก็ลดลงจาก 12.9 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เหลือประมาณ 8.1 ล้านเหรียญศหรีฐในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567

    ภัยหลอกลวงที่ใช้มัลแวร์ลดลง 86.2% เหลือเพียง 95 รายในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ลดลงจาก 687 รายในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 จำนวนเงินที่สูญเสียไปลดลง 96.8% จาก 9.1 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 เหลือ 295,000 เหรียญสหรัฐในปี 2567

    การหลอกลวงลักษณะนี้ มาในรูปแบบแอปโทรศัพท์ปลอม สำหรับซื้ออาหาร ทำความสะอาดบ้าน หรือบริการตัดแต่งขนสัตว์เลี้ยง ถือเป็นอีกภัยหนึ่งในปี 2566

    ไอลีน แยป ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองบัญชาการตำรวจต่อต้านการหลอกลวง และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจกล่าวว่า มาตรการป้องกันมัลแวร์สำหรับแอปธนาคารและฟีเจอร์การป้องกันที่มีการปรับปรุงสำหรับโทรศัพท์แอนดรอยด์ โดยหน่วยงานรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของสิงคโปร์และ Google ช่วยแก้ไขปัญหา โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ตำรวจได้ทำงานร่วมกับธนาคารและป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการหลอกลวงเป็นจำนวนเงินกว่า 204 ล้านเหรียญสหรัฐ

    ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจกล่าวว่า การที่พนักงานจาก Carousell และ Shopee ได้ร่วมงานกันที่การกองบัญชาการตำรวจต่อต้านการหลอกลวง ทำให้สามารถจัดการกับบัญชีมิจฉาชีพ 2,700 บัญชี และถอดโฆษณาที่น่าสงสัยออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2567

    ในขณะเดียวกันเมตา ซึ่งเป็นเจ้าของ Facebook, Instagram และ WhatsApp ดูเหมือนจะให้ความร่วมมือมากขึ้นในการต่อสู้กับกลโกง หลังจากที่ซุน ซือหลิง รัฐมนตรีกระทรวงกิจการมหาดไทย เรียกร้องผ่านสาธารณะในเดือนกุมภาพันธ์

    โครงการนำร่องในการตรวจสอบตัวตนของผู้ขายที่มีความเสี่ยงบน Facebook Marketplace และผู้ลงโฆษณาที่มีความเสี่ยงบน Facebook เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน โปรแกรมนี้จะมีการประเมินโดยกระทรวงกิตการภายใน และเชื่อกันว่าเป็นโครงการแรกทั่วโลก

    กระทรวงกิจการภายใน จะประเมินประสิทธิผลของมาตรการบน Facebook Marketplace ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน ถึง 30 พฤศจิกายน และบนโฆษณาบน Facebook ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม หากจำนวนการหลอกลวงทางอีคอมเมิร์ซที่รายงานบน Facebook Marketplace ไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทรวงฯจะกำหนดให้ Facebook ต้องยืนยันตัวตนของผู้ขายทั้งหมดใน Marketplace ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2568

    ในทำนองเดียวกัน หากจำนวนรายงานกลโกงที่เกิดจากโฆษณาบน Facebook ไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทรวงฯจะกำหนดให้ Facebook ตรวจสอบตัวตนของผู้ลงโฆษณาทั้งหมดภายในวันที่ 1 เมษายน 2568

    เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าจะมีการให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนำร่องดังกล่าวเมื่อสิ้นสุดโครงการในปลายปี 2567 และว่า ในหมู่แพลตฟอร์มที่มิจฉาชีพใช้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นั้น มีการใช้ Facebook, Instagram และ WhatsApp อย่างมาก

    ในจำนวน 7,737 คดีที่มิจฉาชีพติดต่อเหยื่อผ่านโซเชียลมีเดียนั้น มีการใช้ Facebook ถึง 64.4% และ Instagram คิดเป็น 18.6%

    ใน 8,336 คดีที่มิจฉาชีพเข้าถึงเหยื่อผ่านแพลตฟอร์มส่งข้อความ มีการใช้ WhatsApp ถึง 50.2% และ Telegram ในสัดส่วน 45%

    เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า จำนวนคดีที่กระทำผิดบน Telegram เพิ่มขึ้นประมาณ 137.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 โดยส่วนใหญ่เป็นการหลอกลงทุน

    โดยประมาณ 74.2% ของเหยื่อทั้งหมดเป็นเยาวชน คนหนุ่มสาว และผู้ใหญ่ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี โดยส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อการฉ้อโกงทางอีคอมเมิร์ซ

    ผู้สูงอายุซึ่งหมายถึงผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็น 7.2% ของเหยื่อภัยกลโกง แต่ตำรวจกล่าวว่า มีความกังวลเป็นพิเศษต่อกลุ่มนี้ เพราะพวกเขาอาจสูญเสียเงินออมสำหรับการดำรงชีวิต และไม่น่าจะได้เงินคืน

    การสำรวจที่จัดทำโดยทางการพบว่า 3 ใน 5 คนหรือ 64.1% มั่นใจในความสามารถของตนเองที่จะปลอดภัยจากการหลอกลวง 2 ใน 5หรือ 40% กล่าวว่า พวกเขาจะไม่มีวันตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง

    อย่างไรก็ตาม ตำรวจเตือนว่าความมั่นใจมากเกินไปนี้น่ากังวล โดยกล่าวว่า “ความคิดที่ว่าเราสามารถต้านทานการหลอกลวงได้นั้นเป็นอันตราย คนมักจะประเมินพัฒนาการภัยหลอกลวง และกลยุทธ์ที่หลากหลายและซับซ้อนที่มิจฉาชีพใช้นั้นต่ำไป

    “มันสร้างความคิดผิดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยและวางใจ ทำให้คนระมัดระวังน้อยลงต่อการรับมือภัยหลอกลวงในแต่ละวัน และไม่ได้ใช้มาตรการป้องกันที่เพียงพอในการปกป้องตนเอง การสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่า ขณะที่คนจำนวนมากตระหนักถึงมาตรการที่สามารถทำได้เพื่อปกป้องตนเอง แต่มักจะไม่นำมาตรการดังกล่าวไปใช้ หรือเพียงนำมาใช้เพื่อความสะดวก โดยคิดว่าเพียงพอแล้วในการป้องกันพวกเขาจากการหลอกลวง”

    ในการเปิดตัวรายงานกลางปี ยังได้มีการเปิดตัวแอป ScamShield ที่ปรับปรุง แอปใหม่ที่ติดตั้ง AI สามารถระบุและแจ้งเตือนผู้ใช้ถึงภัยคุกคามหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้นใน WhatsApp, Telegram และเว็บลิงก์ แอปนี้เปิดตัวครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2563 ก่อนหน้านี้ใช้งานได้กับการโทรและการส่ง SMS เท่านั้น

    จากการที่ใช้ AI แอปจะแจ้งให้ผู้ใช้ทราบว่า ข้อความที่ได้รับนั้นเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงหรือไม่ เมื่ออัปโหลดภาพหน้าจอของข้อความ Telegram หรือ WhatsApp

    ScamShield พัฒนาโดย Open Government Products โดยความร่วมมือกับตำรวจและสภาป้องกันอาชญากรรมแห่งชาติ แอปนี้มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 950,000 ครั้ง และบล็อกมิจฉาชีพกว่า 178,000 รายที่ใช้การโทรหลอกหรือ ส่ง SMS

    นายเดวิด ชิว ผู้อำนวยการ สำนักงานพาณิชย์กล่าวว่า แอปที่ปรับปรุงใหม่ช่วยให้ผู้ใช้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่รวบรวมมา เพื่อหยุดยั้งการหลอกลวงได้ ซึ่งสิ่จะช่วยลดโอกาสที่มิจฉาชีพจะติดต่อกับเหยื่อที่เป็นเป้าหมาย

    ฟอร์ติเน็ตจับมือหน่วยงานในสิงคโปร์สนับสนุนความปลอดภัยทางไซเบอร์

    ที่มาภาพ: https://cybersecurityasia.net/fortinet-csa-strengthen-singapore-defences/
    ฟอร์ติเน็ต(Fortinet)ได้ร่วมเป็นพันธมิตรผ่าน บันทึกความร่วมมือ หรือ Memorandum of Collaboration (MoC)กับ สำนักความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติสิงคโปร์ หรือ Cyber ​​Security Agency of Singapore (CSA) เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และเพิ่มขีดความสามารถด้านประมวลภัยคุกคามเพื่อปกป้องด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสิงคโปร์

    โดยมีประเด็นสำคัญสามประการในการทำงานร่วมกัน

    ประการแรก ในการแบ่งปันข่าวกรองภัยคุกคามทางไซเบอร์ ฟอร์ติเน็ตจะส่งข่าวกรองภัยคุกคามที่สำคัญแก่ CSA รวมถึงการเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับช่องโหว่ใหม่และภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่ การแบ่งปันเชิงรุกนี้จะช่วยให้ CSA ยกระดับสถานะความปลอดภัยทางไซเบอร์ของสิงคโปร์ และตอบสนองต่อภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

    ประการที่สอง กระบวนการตรวจจับและการตามล่าภัยคุกคาม ฟอร์ติเน็ต และ CSA จะประสานความร่วมมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสิงคโปร์ในด้านกระบวนการตรวจจับและการตามล่าภัยคุกคาม

    และประการที่สาม ข้อมูลเชิงลึกด้านภาพรวมภัยคุกคาม ฟอร์ติเน็ต จะแบ่งปันข้อมูลทางสถิติที่รวบรวมและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภูมิทัศน์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่ CSA เพื่อดำเนินการที่จำเป็นในการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่สำคัญ และเสริมสร้างการป้องกันทางไซเบอร์ของประเทศ

    ด้วยการผนึกความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ครอบคลุมของฟอร์นิเน็ต กับบทบาทที่สำคัญของ CSA ในการปกป้องด้านไซเบอร์ของสิงคโปร์ ความร่วมมือนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินการปรับปรุงศักยภาพความสามารถของประเทศ ในการตอบสนองและบรรเทาภัยคุกคามทางไซเบอร์

    Dan Yock Hau ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ CSA กล่าวว่า เนื่องจากภัยคุกคามทางไซเบอร์มีการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะก้าวนำหน้าด้วยการสร้างขีดความสามารถและรวบรวมและแบ่งปันข่าวกรองด้านภัยคุกคาม

    วิศัก รามัน รองประธานฝ่ายขายประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดอื่นๆ ของ ฟอร์ติเน็ตกล่าวว่า สิงคโปร์ยังคงเผชิญกับการโจมตีทางไซเบอร์จำนวนมากที่มุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ภาคการเงิน และข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมือง

    “ด้วยโอกาสมากขึ้นในการแบ่งปันข่าวกรองเกี่ยวกับภัยคุกคามและยกระดับความสามารถในการตรวจจับและการตอบสนองของเรา เรามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างการป้องกันของสิงคโปร์และเพิ่มขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของสิงคโปร์” รามันกล่าว

    กูเกิ้ลเตรียมลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์แบบไฮเปอร์สเกลในเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://www.datacenterdynamics.com/en/news/google-launches-third-data-center-in-singapore/
    กูเกิ้ล (Google) เตรียมสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ในเวียดนาม ซึ่งจะเป็นการลงทุนครั้งแรกโดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการเปิดเผยของแหล่งข่าว

    ดาต้า เซ็นเตอร์ระดับ ‘ไฮเปอร์สเกล’ ที่กำลังพิจารณาจะอยู่ใกล้กับเมืองโฮจิมินห์ โดยยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีกำลังเจรจาเพื่อเปิดใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ในปี 2570

    แผนนี้เกิดขึ้นหลังจากแผนงานในการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์นอกกรุงดับลินของกูเกิ้ล ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาไอริช

    การเคลื่อนไหวล่าสุดโดยกูเกิ้ลในเวียดนาม เชื่อว่าได้รับแรงจูงใจที่มีลูกค้าบริการคลาวด์ในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากในเวียดนาม และเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังขยายตัวของประเทศ

    แม้ว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดสำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น YouTube ของกูเกิ้ล แต่ก่อนหน้านี้เวียดนามก็ประสบปัญหาในการดึงดูดเงินทุนหลักจากต่างประเทศในดาต้า เซ็นเตอร์ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานกระจายเป็นหย่อมๆ

    นักลงทุนต่างชาติในภาคส่วนนี้ส่วนใหญ่ไม่มองเวียดนาม เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานเป็นครั้งคราว แรงจูงใจในการลงทุนที่น่าดึงดูดน้อยลง และโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่อ่อนแอซึ่งต้องอาศัยสายเคเบิลใต้ทะเลจำนวนหนึ่งที่เก่าแก่

    ดาต้าเซ็นเตอร์ไฮเปอร์สเกลที่มีกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์อาจมีราคาระหว่าง 300 ล้านถึง 65 ล้านดอลลาร์ โดยที่ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่มักจะใช้พลังงานมากเท่ากับเมืองใหญ่

    ผู้ดำเนินการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำในเวียดนาม ได้แก่บริษัทการลงทุนด้านอุตสาหกรรม IDC Becamex และบริษัทโทรคมนาคม VNPT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของเวียดนามทั้งสองแห่ง

    ในเวียดนามมีกฎความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มงวด และเวียดนามได้ขัดแย้งกับบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลในประเทศมานานแล้ว ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เวียดนามไม่ได้บังคับใช้เป็นประจำ

    อย่างไรก็ตามกูเกิ้ลกำลังเปิดสำนักงานตัวแทนในเวียดนาม และกำลังรับสมัครวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ อีกหลายสิบคน

    “ตอนนี้เรามีทีมงานที่พร้อมจะให้บริการลูกค้าโฆษณาในเวียดนามได้ดียิ่งขึ้น และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศ” โฆษกของกูเกิ้ล กล่าวกับรอยเตอร์