ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯจี้ ‘ภูมิธรรม’ ชงแผนสกัดสินค้าเถื่อนเข้า ครม.เดือนนี้-มติ ครม.เปิดขาย ‘กองทุนรวมวายุภักษ์’ 1.5 แสนล้าน

นายกฯจี้ ‘ภูมิธรรม’ ชงแผนสกัดสินค้าเถื่อนเข้า ครม.เดือนนี้-มติ ครม.เปิดขาย ‘กองทุนรวมวายุภักษ์’ 1.5 แสนล้าน

13 สิงหาคม 2024


เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • จี้ ‘ภูมิธรรม’ ชงมาตรการสกัดสินค้าเถื่อนเสนอ ครม.ในเดือนนี้
  • แย้ม พณ.เตรียมไว้ 3 มาตรการ
  • ปัดหารือ ‘วิษณุ’ กรณีศาลวินิจฉัยพ้นจากตำแหน่ง
  • ยันไม่มีแผนสำรอง “หากไม่ได้ไปต่อ-ค่อยว่ากัน”
  • ไม่ปรับ ครม.ก่อนศาลตัดสิน-ชี้ไม่เหมาะสม
  • แจงสื่อ ‘หน้าเศร้า’ เพราะเพิ่งเสียแม่ไป
  • มติ ครม.เปิดขาย ‘กองทุนรวมวายุภักษ์’ 1.5 แสนล้าน ก.ย.นี้
  • ตั้ง ‘NaCGA’ ยกเครื่องระบบค้ำประกันสินเชื่อไทย
  • โยก ‘นัทรียา’ นั่งปลัดท่องเที่ยว – ‘บุญสงค์’ ปลัดแรงงาน
  • จัดงบฯ 9,187 ล้าน บริหารน้ำช่วงฤดูฝน 3,032 รายการ
  • เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐามอบหมายให้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำ
    นักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    จี้ ‘ภูมิธรรม’ ชงมาตรการสกัดสินค้าเถื่อนเสนอ ครม.ในเดือนนี้

    นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพในการหามาตรการป้องกัน และปราบปรามธุรกิจขายสินค้าต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย เช่น การตรวจสอบการจดทะเบียนธุรกิจการค้า และใบอนุญาตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ใบอนุญาตการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ เพื่อหาทางสนับสนุน และพัฒนาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถปรับตัว และแข่งขันได้ในตลาดสินค้าออฟไลน์และออนไลน์ โดยให้เสนอมาตรการให้ ครม.ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

    สั่ง กษ.-พณ.แก้โรคใบด่างในมันสำปะหลัง

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนสั่งการให้กระทรวงเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ เร่งแก้ปัญหาโรคใบด่างของมันสำปะหลังโดยด่วน โดยเร่งตัดวงจรการระบาดของโรค และเร่งวิจัยท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ทนทาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผลผลิตมัน

    “ผมเข้าใจว่ากระทรวงเกษตรฯ ได้พัฒนาพันธุ์แล้ว แต่ปัจจุบันตอต่างๆ ที่ถูกส่งให้เกษตรกรยังไม่เพียงพอ ซึ่งโรคใบด่างทำให้ผลผลิตแป้งต่ำ ทำให้ราคามันไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะมันสำปะหลังเป็นพืชหลักของเกษตรกรไทย” นายเศรษฐา กล่าว

    ตั้ง ‘NaCGA’ ค้ำประกันหนี้ SMEs โดยตรง

    นายเศรษฐา รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามหลักการที่กระทรวงการคลังเสนอการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ ‘NaCGA’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ยกระดับการค้ำประกันของไทย มีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee) โดย NaCGA เป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ และเป็นผู้รับผิดชอบขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ำประกันทั้งหมด ทำให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น

    เข้าร่วมประชุม “แม่โขง-ล้านช้าง” ที่เชียงใหม่ 16 ส.ค.นี้

    นายเศรษฐา รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 จัดขึ้นวันที่ 16 สิงหาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่

    “ผมจะไปร่วมประชุมในตอนเช้า ธรรมดาแล้วนายกฯ เขาไม่ไป แต่ครั้งนี้มีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การท่องเที่ยว การบินพลเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามยาเสพติด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าแหล่งผลิตอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเยอะ ตลอดจนยับยั้งการฉ้อโกงทางออนไลน์ เรื่อง Call Center” นายเศรษฐา กล่าว

    “ผมไปมาเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว เป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลต้องการผลักดันต่อ และผมเองก็จะลงพื้นที่เพิ่มเติมในอาทิตย์ต่อมาเพื่อติดตามผลงาน พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

    สั่ง กต.ลุยเปิดตลาดการค้า ประเทศที่ลงท้ายด้วย ‘สถาน’

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอเรื่องความตกลงร่วมมือกันระหว่างราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลคาซัคสถาน โดยวันนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลาประชุม ครม. เพื่อเดินทางไปประเทศคาซัคสถาน เพื่อทำความร่วมมือการค้าเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระยะยาว ผ่านการส่งเสริมให้มีการร่วมการค้าต่างๆ เช่น การแสดงสินค้า การจับคู่ธุรกิจ การสัมมนาที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นภาษีอากรและภาษีตามกฎหมายภายใน และพันธะกรณีระหว่างประเทศของสินค้าประเทศภาคีเป็นการชั่วคราว

    “คาซัคสถานเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง มีน้ำมัน มีกำลังซื้อสูง และเป็นประเทศที่ทำการค้ากับประเทศไทยเยอะ และมีนักท่องเที่ยวเยอะ แต่ไม่ใช่แค่คาซัคสถานอย่างเดียว ประเทศที่ลงท้ายด้วย ‘สถาน’ ผมก็มีการขอไปที่รัฐมนตรีว่าใครมีการเปิดการค้าเพิ่มเติมกับประเทศที่ลงท้ายด้วย ‘สถาน’ ให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ประสาน และสนับสนุนให้มีการค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว

    ทุ่ม 429 ล้าน รักษา ‘โรคลัมปี สกิน’ ในโค-กระบือ

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 หรือ งบกลาง เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease Virus) ในโค-กระบือ วงเงิน 429.76 ล้านบาท เพื่อฉีดให้โค-กระบือ 7.85 ล้านตัว ใน 70 จังหวัด หรือประมาณร้อยละ 64 ของโค-กระบือทั่วประเทศ

    จัดงบฯ 9,167 ล้าน บริหารน้ำ 3,032 โครงการ

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 หรืองบกลาง เพื่อดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำงบกลางในช่วงฤดูฝน และส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค วงเงิน 9,167.44 ล้านบาท ผ่านกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3,032 โครงการ

    ปัดหารือ ‘วิษณุ’ กรณีศาลวินิจฉัยพ้นจากตำแหน่ง

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีการพูดคุยและให้กำลังใจกรณีที่ศาลจะวินิจฉัยในวันพรุ่งนี้ (14 ส.ค. 67) หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้ครับ”

    นายเศรษบา กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ที่ได้เตรียมข้อมูลกับ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จากวันนั้นจนวันนี้ ไม่ได้มีการพูดคุยกันอีกในเรื่องนี้

    ถามต่อว่า นายวิษณุระบุว่าหากนายกฯ ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง ยังสามารถกลับมาเป็นนายกฯ ได้ แต่ต้องฟังจากคำวินิจฉัยว่าผิดมาตราใด ทำให้นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมไม่ได้คุยเรื่องนี้เลยครับ ผมไม่ทราบ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย อย่างที่บอก 2 อาทิตย์ที่แล้วผมส่ง Closing Statements (คำแถลงปิดคดี) ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีการพูดคุยอีกเลย”

    ถามอีกว่า พรรคเพื่อไทยได้เตรียมการอย่างไร นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ทราบ”

    ยันไม่มีแผนสำรอง “หากไม่ได้ไปต่อ-ค่อยว่ากัน”

    เมื่อถามถึงภารกิจในวันพรุ่งนี้ นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมมอบหมายให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปรับฟังแทน ซึ่งตอนบ่าย ผมมีภารกิจตอนบ่ายเต็มเอี้ยดเลยครับ”

    ถามต่อว่ามีภารกิจนอกทำเนียบหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “เข้าใจว่าอยู่ในทำเนียบครับ”

    ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า จะมีการตั้งวอร์รูมฟังคำวินิจฉัยของศาลหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่มีวอร์รูมครับ เพราะมันจบแล้ว ตั้งแต่ทำ Closing Statements ถือว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราเต็มที่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม”

    ถามต่อว่า พรุ่งนี้นายกฯ จะมีเวลานั่งติดตามฟังคำวินิจฉัยหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมมีประชุมอยู่แล้ว แต่เป็นการประชุมภายในกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้ามีผลคำวินิจฉัยเชื่อว่าทีมงานคงเข้ามาบอก ผมก็ประชุมไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ใช่การเซ็ตการประชุมอย่างเป็นทางการ”

    เมื่อถามถึงแผนสำรองหากไม่ได้เป็นนายกฯ ต่อ นายเศรษฐา ตอบทันทีว่า “ไม่ได้คิด” และบอกว่า “ให้มันเกิดขึ้นก่อนและค่อยว่ากัน”

    แจงสื่อ ‘หน้าเศร้า’ เพราะเพิ่งเสียแม่ไป

    ถามต่อว่า นายกฯ ดูมีความมั่นใจพอสมควรในสิ่งที่ผ่านมา ทำให้นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่หรอกครับ ผมมีหน้าที่ที่ผมต้องปฏิบัติเรื่องต่างๆ ที่สำนักข่าวหลายสำนักไปวิจารณ์ บางข่าวบอกผมหน้าเศร้าบ้าง อะไรบ้าง แม่ผมเพิ่งเสียไปผมก็หน้าเศร้าเป็นธรรมดา บางคนก็บอก แหม มั่นใจมากไปเซ็ตอัพการประชุม ออกตารางเพียบถึงสิ้นเดือน มันเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องบริหารราชการแผ่นดิน มีการเตรียมงานความเดือดร้อนของประชาชน ผมก็เตรียมไป”

    “ถ้าผลออกมาเป็นบวก ผมก็เดินหน้าทำงานต่อไป แต่ถ้าผลเป็นลบ รักษาการนายกรัฐมนตรี ก็เอาแผนงานที่ผมเซ็ตไว้ไปพิจารณา และปรับปรุงตามความเหมาะสมของท่านเอง เป็นเรื่องของการทำงานทั่วไปมากกว่า ไม่ได้เป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจหรือไม่มั่นใจ เราทำดีที่สุดแล้ว เราทำ Closing Statements แล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม” นายเศรษฐา ขยายความ

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า “ผมเซ็ตอัพงานไม่ใช่ตามความประสงค์ของผม ผมเซ็ตอัพตามปัญหาของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้น แน่นอนถ้าเกิดว่าต้องหลุด ต้องมีรักษาการรองนายกฯ มาดู ท่านก็คงพิจารณาตามลำดับความสำคัญที่ท่านเห็นว่าเหมาะสม แต่อย่างน้อยถ้าท่านเข้ามาก็ได้รับทราบว่าเราแพลนอะไรไปแล้วบ้าง”

    ถามต่อว่า หากผลคำวินิจฉัยออกมาเป็นลบจะมีผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนที่นายกฯ ไปเดินสายไว้ โดยนายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ทราบครับ”

    ไม่ปรับ ครม.ก่อนศาลตัดสิน-ชี้ไม่เหมาะสม

    เมื่อถามถึงการหารือระหว่างนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับบรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวานนี้ (12 ส.ค. 2567) นายเศรษฐา ตอบว่า ไม่ได้มีการพูดถึงการปรับคณะรัฐมนตรี

    ถามต่อว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ส่งเรื่องปรับ ครม. มาให้นายกรัฐมนตรีหรือยัง นายเศรษฐา ตอบว่า “ส่งจดหมายมาแล้ว แต่อย่างที่ผมเรียน เดือนนี้มีเรื่องเยอะ ก็ต้องให้เกิดก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพรุ่งนี้ (คดี สว. ยื่นชื่อถอดถอนนายกฯ) ถ้าผมไปปรับ ครม. ก่อน ผมคิดว่าความเหมาะสมมันไม่มี”

    ถามต่อว่า การปรับ ครม. ยังคงเป็นช่วงหลังเดือนสิงหาคม 2567 หรือไม่ หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ครับ เป็นอะไรที่ต้องพูดคุยกันอีกที มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาในอดีตว่ามี รัฐมนตรีบางท่านน้อยใจและลาออกไป และถ้าเข้ามาอยู่ตรงไหน และจะเกิดปัญหาเดิมหรือเปล่า เราอยู่ด้วยกันก็ต้องพูดคุยกัน”

    ไม่ทราบ ‘Tesla’ พับแผนลงทุนในไทย

    ผู้สื่อข่าวถามถึงการพับแผนการลงทุนในประเทศไทยของเทสลา (Tesla) โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ทราบ” และกล่าวต่อว่า “ทางทีมงานยังคุยอยู่ ปัจจุบันเรื่องความอ่อนไหวเรื่องตลาดรถ EV ก็มีสูง ผมเข้าใจว่าตอนนั้นที่คุยอยู่ ก็ดูอินเดียอยู่ อินเดียเขาไปแน่นอน เพราะมี Local Demand สูงมาก อีกประเทศนี้เขาดูคือประเทศไทย ถ้าเขาจะสร้างก็สร้างที่ประเทศไทย ผมทราบอยู่แค่นี้”

    แย้ม พณ.เตรียม 3 มาตรการ สกัดสินค้าจีนทะลัก

    ด้านนายชัย รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่องมาตรการป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศว่า สืบเนื่องจากข้อร้องเรียนจากภาคเอกชนไทย เกี่ยวกับธุรกิจขายสินค้าทางออนไลน์และออฟไลน์จากต่างประเทศได้เข้ามาค้าขายอย่างผิดปกติในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการทำธุรกิจของคนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากการค้าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) โดยปี 2566 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมูลค่าการค้า 1.53 ล้านล้านบาท และเมื่อนายกฯ ได้รับรายงาน จึงไม่นิ่งนอนใจ

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพเร่งหารือให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์กระทรวงเกษตรสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกำหนดมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ดังนี้

      1. การตรวจสอบการจดทะเบียนธุรกิจการค้าและใบอนุญาตต่างๆ เพื่อดำเนินการกับธุรกิจผิดกฎหมาย หรือ สีเทาจากต่างประเทศ
      2. การตรวจสอบสินค้าว่าเป็นไปตามมาตรฐาน เช่น มอก. และ อย. เพื่อปกป้องผู้บริโภค โดยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเจ้าภาพ ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
      3. การตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ
      4. การตรวจสอบใบอนุญาตการตั้งโรงงาน โดยกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม

    ทั้งนี้ นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ย้ำว่า การตรวจสอบต้องคำนึงถึงข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ และดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการอย่างสมดุล รวมทั้งหาทางสนับสนุนและพัฒนาให้ผู้ประกอบการ SME ไทยสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ และให้สรุปข้อหารือ เพื่อนำเสนอต่อ ครม. ภายในเดือนนี้

    “เราไม่ได้เสียอย่างเดียว บางด้านเราก็ได้ประโยชน์เยอะ โดยเฉพาะประเทศจีน ทุเรียนอย่างเดียว เราส่งออกปีหนึ่งเป็นแสนล้าน พูดง่ายๆ ดูแลทั้งธุรกิจไทย แต่ก็อย่าให้สุดขั้วเกิน ให้มันได้สมดุลในการสร้างความยุติธรรมให้กับนักธุรกิจไทย” นายชัย กล่าว

    นอกจากนี้ นายชัย เสริมว่า “ยังมีมาตรการบางอย่าง ผมได้รับทราบจากกระทรวงพาณิชย์ว่ากำลังพิจารณา แต่ยังไม่เคาะ เช่น มาตรการที่จีน ก็ใช้ในประเทศของเขา เวลาใครจะทำอีคอมเมิร์ซขายของส่งไปจีน จีนก็ทำแบบนี้คือ 1. ใครจะนำเข้าสินค้าที่สั่งออนไลน์ต้องไปขึ้นทะเบียน 2. จำกัดจำนวนชิ้นสินค้าที่จะนำเข้าต่อปีว่าคนหนึ่งนำเข้าได้เท่าไร 3. จำกัดมูลค่าซื้อสินค้าออนไลน์…ผมได้ยินว่ากระทรวงพาณิชย์ของไทยกำลังพิจารณาว่าอาจจะต้องนำมาใช้หรือไม่ แต่ตอนนี้ยังไม่เคาะ”

    จี้ กษ.เร่งพัฒนามันสำปะหลังสายพันธุ์ใหม่ ต้านทาน ‘โรคใบด่าง’

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ เร่งแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังในทุกพื้นที่โดยด่วน โดยเร่งตัดวงจรการระบาดของโรคให้ได้ และเร่งวิจัยท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ทนทานต่อระบบได้ เนื่องจากปัจจุบันโลกใบด่างของมันสำปะหลังได้แพร่ระบาดในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตเป็นอย่างมาก

    ทั้งนี้ นายชัย ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังประมาณ 8 – 10 ล้านไร่ โดยปี 2566 มีพื้นที่ 9 ล้านไร่ ผลผลิต 30.6 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 3,300 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่างไม่น้อยกว่า 3 ล้านไร่ สร้างผลกระทบเสียหายให้เกษตรกร 11,000 ล้านบาทต่อปี

    “นายกฯ บอกว่าปล่อยให้เกษตรกรเดือดร้อนไม่ได้ นายกฯ สั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหามันด่างมันสำปะหลังโดยด่วน โดยให้เร่งตัดวงจรการระบาดของโรค โดยเฉพาะการพัฒนาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังรุ่นใหม่ที่มีความทนทาน ต้านทานต่อโรค แม้กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการพัฒนาท่อนพันธุ์ใหม่แล้ว แต่การกระจายไปพื้นที่ทั่วประเทศยังไม่รวดเร็วทันใจ นายกฯ จึงกำชับเป็นกรณีพิเศษ” นายชัย กล่าว

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    จัดงบฯ 9,187 ล้าน บริหารน้ำช่วงฤดูฝน 3,032 รายการ

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนากยรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายใต้กรอบวงเงิน 9,187.4462 ล้านบาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน และการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 3,032 รายการ โดยรายละเอียดของแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.)

    โฆษกประจำสำนักนากยรัฐมนตรีกล่าวว่า สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินโครงการฯ สำหรับเตรียมความพร้อมรองรับสภาวะลานีญาในช่วงฤดูฝนปี 2567 โดยแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสนอแผนงานโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และสอดดล้องกับโครงการฯ ซึ่ง สทนช. ได้ดำเนินการรวบรวม ตรวจสอบ และกลั่นกรองแผนงานโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด พบว่ามีแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการ จำนวน 24,928 รายการ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 64,983.1969 ล้านบาท ประกอบกับที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567

    สงป. ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยนายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในหลักการให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามโครงการและรายการตามที่ สทนช. เสนอ จำนวน 3,032 รายการ ภายในกรอบวงเงิน 9,187.4462 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ดังนี้

      1) กระทรวงมหาดไทย 2,143 รายการ วงเงิน 5,616.0499 ล้านบาท
      2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) 669 รายการ วงเงิน 2,566.0029 ล้านบาท
      3) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 220 รายการ วงเงิน 1,005.3934 ล้านบาท

    รวม 3,032 รายการ วงเงิน 9,187.4462 ล้านบาท และให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

    • ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเสนอ ขอรับจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ให้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
    • ให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และให้เร่งรัดดำเนินการก่อหนี้ภายในเดือนกันยายน 2567 และเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับ สงป. ตามขั้นต่อไป
    • ให้ สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนช. ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการเพื่อรายงานผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย

    จัดซื้อวัคซีนรักษา ‘โรคลัมปี สกิน’ ในโค-กระบือ 429 ล้าน

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ พร้อมขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ในวงเงินงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 429,757,831 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ดังนี้

    1. ค่าจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปี สกิน ชนิดเชื้อเป็น จำนวน 7,850,000 โด๊ส เป็นเงิน 421,020,000 บาท ประกอบด้วย

      1.1 วัคซีนโรคลัมปี สกิน สำหรับโค-กระบือ ขนาดบรรจุไม่เกิน 10 โด๊ส/ขวด จำนวน 5,000,000 โด๊ส เป็นเงิน 315,000,000 บาท
      1.2 วัคซีนโรคลัมปี สกิน สำหรับโค – กระบือ ขนาดบรรจุไม่เกิน 25 โด๊ส/ขวด จำนวน 2,850,000 โด๊ส เป็นเงิน 106,020,000 บาท

    2. ค่าจัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์สำหรับฉีดวัคซีนและการรักษา จำนวน 8,737,831 บาท จำนวนวัคซีนดังกล่าวสามารถฉีดให้โค-กระบือได้ 7.85 ล้านตัว กระจาย 70 จังหวัด หรือประมาณร้อยละ 64 ของจำนวนโคกระบือทั่วประเทศ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การใช้วัคซีนลัมปี สกินสำหรับป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทย
    (1) ปีงบประมาณ 2564 – 2565 วัคซีนชนิดเชื้อเป็น จำนวน 6,032,000 โด๊ส แยกเป็น

    • กรมปศุสัตว์จัดซื้อจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 (งบกลาง) รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ จำนวน 5,000,000 โด๊ส ซึ่งสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับโค กระบือในพื้นที่ได้ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 99.74 ของจำนวนวัคซีน
    • กรมปศุสัตว์จัดซื้อจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 360,000 โด๊ส และมีการดำเนินงานฉีดวัคซีนให้กับโค กระบือในพื้นที่ได้ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 99.50 ของจำนวนวัคซีน
    • เอกชนบริจาค จำนวน 672,000 โด๊ส

    (2) ปีงบประมาณ 2566

    • วัคซีนชนิดเชื้อเป็น จำนวน 6,300,000 โด๊ส จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 (งบกลาง) รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ ซึ่งมีผลการดำเนินงานฉีดวัคซีนให้กับโค กระบือในพื้นที่จำนวนทั้งหมดร้อยละ 99.52 ของจำนวนวัคซีน
    • วัคซีนชนิดเชื้อตาย ผลิตโดยสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 136,500 โด๊ส โดยวัคซีนชนิดเชื้อตายใช้ฉีดเพื่อป้องกันโรคปีละ 2 ครั้ง ดังนั้นสามารถใช้ฉีดในโค กระบือได้จำนวน 68,250 ตัว

    (3) ปีงบประมาณ 2567 ได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับจัดซื้อวัคซีนชนิดเชื้อตาย จำนวน 1,500,000 โด๊ส โดยวัคซีนชนิดเชื้อตายใช้ฉีดเพื่อป้องกันโรค ปีละ 2 ครั้ง ดังนั้น สามารถใช้ฉีดในโค กระบือได้จำนวน 750,000 ตัว การดำเนินการควบคุมป้องกันโรคลัมปี สกินในประเทศโดยใช้วัคซีนเป็นมาตรการหลัก ซึ่งตามแผนการใช้วัคซีนในสัตว์จะต้องฉีดวัคซีนต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี และมีข้อแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินในสัตว์ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้วจำเป็นจะต้องได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกปี ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การเข้มงวดควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ การควบคุมแมลงพาหะนำโรค รวมทั้ง การเฝ้าระวังและการรายงานการเกิดโรคที่รวดเร็ว ทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพบมีรายงานโคป่วยตาย ซึ่งส่วนใหญ่พบการเกิดโรคในกลุ่มลูกโคที่เกิดใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในแนวทางการควบคุมป้องกันโรคลัมปี สกินในประเทศไทยต่อไป กรมปศุสัตว์ จึงได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่งมีข้อพิจารณาให้มีการกำหนดแนวทางการใช้วัคซีนในการป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าวต่อไป ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ ได้แก่ การควบคุมการเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวด เป็นต้น ด้วย

    เห็นชอบกรอบความร่วมมือ ‘แม่โขง-ล้านช้าง’ 4 ฉบับ

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 จำนวน 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนากยรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่

      1. ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 9 มีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การปราบปรามยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ การท่องเที่ยว และการบินพลเรือน

      2. ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อริเริ่มอากาศสะอาดแม่โขง – ล้านช้าง มีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมความตระหนักรู้ของสาธารณะและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการกับมลพิษทางอากาศในภูมิภาค รวมทั้งเน้นย้ำบทบาทของหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหา

      3. ร่างข้อริเริ่มว่าด้วยการกระชับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง – แม่โขง มีสาระสำคัญเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และ

      4. ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง มีสาระสำคัญเป็นการให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้ายาเสพติด ตลอดจนยับยั้งการฉ้อโกงผ่านช่องทางออนไลน์ และการพนันออนไลน์ รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศสมาชิกให้มีการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง

    การดำเนินการตามร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 4 ฉบับ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือ MLC ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยและตอบโจทย์การพัฒนาในบริบทความท้าทายปัจจุบันของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ การแลกเลี่ยนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 4 ฉบับไม่เป็นหนังสือสัญญาตาม ม.178 ของ รธน.

    ไฟเขียวมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีออกนอกระบบ

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ มีความคล่องตัว และมีธรรมา ภิบาล สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการปฏิรูปการอุดมศึกษา และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง ที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

    นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญเป็นการปรับเปลี่ยนการสถานะของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จากเดิมที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการ มาเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ โดยได้กำหนดกลไกการบริหารมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนดังกล่าว เช่น กำหนดหน้าที่และอำนาจของมหาวิทยาลัยในเรื่องต่าง ๆ ให้มีความชัดเจน เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ได้อย่างคล่องตัวการแก้ไขเกี่ยวกับการจัดตั้งและยุบเลิกส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้เอง การกำหนดหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในการกำกับมหาวิทยาลัย เป็นต้น รวมทั้งกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา เช่น การกำหนดให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษาและการประเมินผลการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าว จะส่งผลให้การบริหารจัดการการศึกษาของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพ และมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น มีธรรมาภิบาล มีความเป็นเลิศทางวิชาการ รวมทั้งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการปฏิรูปการอุดมศึกษา

    ประกาศผังเมืองรวมชุมชนบ้านประกอบ จ.สงขลา

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบ้านประกอบ จังหวัดสงขลา พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในท้องที่ ตำบลทับช้าง และตำบลประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคม และการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายและมาตรการในการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเป็นด่านถาวรที่มีมาตรฐานสากลและพัฒนาชุมชนชายแดนให้เป็นชุมชนน่าอยู่ ส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสอดคล้องกับบทบาทชุมชนชายแดนบ้านประกอบ รวมทั้งการรักษาพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้

    เห็นชอบบังคับผังเมืองรวมชุมชนฉลุง จ.สตูล

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนฉลุง จังหวัดสตูล พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการวางแผนและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนฉลุง จัวหัดสตูล ซึ่งเป็นผังเมืองรวมชุมชนเปิดใหม่ มีพื้นที่วางผังประมาณ 131.82 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลฉลุง ตำบลเกตรี และตำบลบ้านควน จังหวัดสตูล จังหวัดสตูล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา การดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะและสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แล้ว และคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติเห็นชอบแล้ว

    รับทราบข้อสังเกต กมธ.แก้ กม.แพ่งฯเกี่ยวกับครอบครัว

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญเป็นการการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับครอบครัว เพื่อให้บุคคล 2 ท่าน ไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งยังคงหลักการสำคัญเรื่องชาย หญิง โดยกำเนิดและความเป็นสามีภริยาระหว่างชายและหญิงในปัจจุบันไว้และได้เพิ่มเนื้อหาโดยมีเจตนารมณ์สำคัญ ที่ต้องการให้การก่อตั้งครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูและความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ตามกฎหมายของชาย หญิง และบุคคลทีมีความหลากหลายทางเพศในฐานะที่เป็นสามี ภริยา หรือคู่สมรส โดยมีเนื้อหาที่กว้างขวางและครอบคลุมเพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวของบุคคลดังกล่าวในฐานะที่เป็นสามี ภริยา คู่สมรส บิดา มารดา และบุตร ให้มีความเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงวิถีเพศ อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศของบุคคล และไม่ให้นำเอาความแตกต่างทางเพศดังกล่าวมาเป็นข้อจำกัดในทางกฎหมาย ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและอยู่ระหว่างการดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาฎิไธย และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

    คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสภาผู้แทนราษฎร เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติฯ บางประการ และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ศึกษา และทบทวนการออกกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเรื่องอื่นใดเกี่ยวกับเด็กที่เกี่ยวข้องกับคู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การสร้าง “ครอบครัว” รวมทั้งการดูแลและอุปการะเลี้ยงดู “เด็ก” ซึ่งเป็นบุตรของผู้ทีมีความหลากหลายทางเพศ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เพื่อให้ครอบคลุมถึงผู้มีมีความหลากหลายทางเพศ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศในประมาลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น เพื่อให้ครอบคลุมบุคคลทุกเพศ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จดการอบรม เผยแพร่ความรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้แก่บุคลากรของตน รวมทั้งการจัดให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสและครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้

    โดยให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำเหตุผลของร่างฯ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

    ตั้ง ‘NaCGA’ ยกเครื่องระบบค้ำประกันสินเชื่อไทย

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบหลักการการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ NaCGA เพื่อให้กระทรวงการคลัง (กค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายจัดตั้ง NaCGA และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กค. รายงานว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และยาวนานและนำไปสู่ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจจากความเสี่ยงด้านเครดิตในระบบการเงินที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตในภาวะวิกฤตได้อย่างทันการณ์ เพียงพอและครอบคลุมภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และเพื่อให้ระบบการเงินทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการต่อไปได้ ภาครัฐจึงพัฒนาแนวทางการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านกลไกการค้ำประกันเครดิตที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนทางการคลังตามร่างแนวคิดการจัดตั้ง NaCGA ซึ่งสอดคล้องกับกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ 8 การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงระบบการเงินที่มีต้นทุนต่ำและทำธุรกิจได้เร็วขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ Thailand vision “Ignite Thailand” ของนายกรัฐมนตรี

    ร่างแนวคิดการจัดตั้ง NaCGA มีสาระสำคัญ เช่น NaCGA มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน และจะทำหน้าที่หลักในการค้ำประกันสินเชื่อและธุรกรรมต่างๆ ของสถาบันการเงินและ Non-Banks รวมถึงค้ำประกันหลักทรัพย์และการออกหลักทรัพย์ ให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและรวดเร็ว วิธีและรูปแบบการค้ำประกันจะเน้นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee) โดย NaCGA เป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้และเป็นผู้รับผิดชอบขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ำประกันทั้งหมด

    สำหรับแหล่งเงินทุนของ NaCGA ประกอบด้วย (1) เงินสมทบจากรัฐบาล (2) เงินสมทบจากผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ และ (3) ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/เห็นชอบ/เห็นชอบในหลักการ โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น ให้กระทรวงการคลังวางแผนการดำเนินการ โดยแสดงแหล่งเงินทุนที่จะใช้สำหรับการดำเนินการของ NaCGA ให้ครอบคลุมและเหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในอนาคต และ (2) กรณีที่กระทรวงการคลังจะจัดทำและนำร่างกฎหมายเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปนั้น เห็นควรต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยควรคำนึงถึงความซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่นของรัฐและหลักความจำเป็นในการตรากฎหมาย เป็นต้น

  • ครม. เห็นชอบตั้ง NaCGA สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ ยกเครื่องใหญ่ระบบค้ำประกันไทย
  • กำหนดพื้นที่วิจัย ‘ฝิ่น-เห็ดขี้ควาย’ เพื่อการศึกษา

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นและพืชเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยธ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารจากพืชฝิ่นและพืชเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบดังกล่าว ยธ. จึงยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกาตามที่ สศก. ตรวจพิจารณาแล้วต่อไป

    ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ มีสาระสำคัญสำคัญเป็นการกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่นและเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบการเพาะปลูกและสารสำคัญจากพืชดังกล่าว ดังนี้

      1. การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสารสำคัญที่ได้จากฝิ่น ได้แก่ กำหนดให้พื้นที่บางส่วนของวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกพืชฝิ่นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และกำหนดให้พื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม เช่น อาคารฝ่ายวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม อาคารฝ่ายสมุนไพรและเภสัชเคมีภัณฑ์ เป็นพื้นที่ทดลองสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย

      2. การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดจากสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย ได้แก่ กำหนดให้พื้นที่บางส่วนของวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกพืชเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย กำหนดให้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาคารสุขประชา วาจานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พื้นที่และโรงเรือนของหมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ห้อง MD 346 ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย

      3. การกำหนดมาตรการการควบคุมการเพาะปลูกฝิ่น โดยกำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมการดำเนินการทดลองเพาะปลูกฝิ่น เพื่อส่งต่อให้องค์การเภสัชกรรมสกัดสารสำคัญ เพื่อประโยชน์ทางการวิจัย ในเขตพื้นที่ที่กำหนด โดยต้องมีมาตรการควบคุม เช่น ที่มาของพืชฝิ่นที่จะเพาะปลูก ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติด สถานที่เพาะปลูกต้องจัดให้มีป้ายแสดงไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย การรักษาความปลอดภัย ต้องมีการติดกล้อง CCTV และจัดเก็บข้อมูลเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน

      4. การกำหนดมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชเห็ดขี้ควาย โดยกำหนดให้นำมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชฝิ่น มาใช้บังคับการควบคุมการเพาะปลูกเห็ดขี้ควายด้วยโดยอนุโลม

      5. การกำหนดมาตรการควบคุมการสกัดสารสำคัญจากฝิ่น กำหนดมาตรการควบคุมการสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นในเรื่องต่างๆ เช่น สถานที่สกัดต้องจัดทำป้ายระบุว่าเป็นสถานที่สกัดพืชฝุ่นตามพระราชกฤษฎีกานี้ แสดงแบบแปลนอาคาร จัดให้มีประตูเข้าออกที่มีความมั่นคงแข็งแรง การรักษาความปลอดภัย ต้องมีการติดตั้งกล้อง CCTV และจัดเก็บข้อมูลไว้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน เป็นต้น

      6. มาตรการควบคุมการเพาะปลูกและสารสกัดจากพืชเห็ดขี้ควายของสถาบันการศึกษา กำหนดให้อธิการบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุม การทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย และให้นำมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชฝิ่น และมาตรการควบคุมการดำเนินการสกัดสารสำคัญ มาใช้บังคับกับการควบคุมการเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายด้วยโดยอนุโลม

    เห็นชอบปฏิญญาความมั่นคง APEC ครั้งที่ 9

    1. ร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค ตลอดจนลดและป้องกันการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร และ

    2. ร่างเอกสารหลักการการป้องกันและการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารในภูมิภาคเอเปค เป็นเอกสารที่นำเสนอหลักการสำคัญให้เขตเศรษฐกิจเอเปคยึดถือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร พ.ศ. 2573

    และโดยที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ องค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันไทยจึงเข้าข่ายที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัยมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วไม่มีขัดข้อง/เห็นชอบด้วย รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงเอเปค ครั้งที่ 9 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น จึงเห็นควรนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

    จัดงบฯ 867 ล้าน ซ่อมอาคารชลประทาน 227 รายการ

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทาน ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 867,812,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากอุทกภัย ปี พ.ศ. 2567 รวม 227 รายการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันภาคใต้ และอ่าวไทย ในช่วงปีพ.ศ. 2566 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งส่งผลกระทบให้อาคารชลประทานต่างๆ ในความรับผิดชอบของกรมชลประทานได้รับความเสียหาย ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เกษตรกรประชาชนได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศในด้านภาคการเกษตร ภาคอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ก.ช.ภ.จ.) ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนของจังหวัด เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ในส่วนของกรมชลประทาน คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ก.ช.ภ.จ.) ได้มีมติรับรองความเสียหายของอาคารชลประทาน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สุราษฎร์ธานี พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการซ่อมแซมควบคุมอาคาร และระบบชลประทานโดยเร่งด่วน

    กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความจำเป็นต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปี พ.ศ. 2567 จำนวน 227 รายการ วงเงิน 867,812,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามนัยข้อ 9 (3) ของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562

      (1) เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคาร และระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และการใช้ให้กับคืนสุขภาพเดิม หรือมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีสภาพพร้อมใช้งานและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้ดีขึ้น สามารถรองรับปริมาณน้ำหลักได้

      (2) เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อกิจกรรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    โดยแผนงานโครงการ ขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 867,812,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ผลลัพธ์ของโครงการ กรมชลประทาน จะมีอาคารชลประทาน จำนวน 227 รายการที่มีสภาพพร้อมใช้งาน สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    จัดเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 จ.พิษณุโลก 15 ก.ย.นี้

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. …. เนื่องจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (5) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงาน กกต. เสนอว่า

    1. เนื่องด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย กรณี กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบ พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ดังนี้

      1.1 ให้ยุบพรรคก้าวไกลลามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)

      1.2 เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคก้าวไกล มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล

      1.3 ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล

    2. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคเป็นธรรม และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลในช่วงเวลาดังกล่าว และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามข้อ 1.2 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (5)

    3. ดังนั้น เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของบุคคลดังกล่าวสิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง และต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 โดยให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ 7 สิงหาคม 2567

    4. ในการนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลกเขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จึงได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. …. ขึ้น เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง (ภายในวันที่ 20 กันยายน 2567) และจัดทำร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยจะประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง (ภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2567) ซึ่ง กกต. คาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 15 กันยายน 2567 จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

    สรุปมาตรการแก้น้ำท่วม-เยียวยา รายงานสภาฯ

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สทนช. ได้เสนอผลการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยสรุปผลการพิจารณาว่า สทนช. ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดจากปัญหาอุทกภัยที่อาจส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่ง ครม. เห็นชอบกับมาตรการดังกล่าวด้วยแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 และได้มีการจัดทำมาตรการรองรับสถานการณ์เอลนีโญ แผนการป้องกันการเกิดโรคระบาดจากภัยพิบัติด้านน้ำ การเตรียมแผนสำรองในพื้นที่ภัยพิบัติด้านสาธารณสุขและการจัดการสุขาภิบาลระหว่างเกิดภัยพิบัติและภายหลังภัยพิบัติ รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 50 หน่วยงานได้ร่วมกันกำหนดแนวทาง ค่าเป้าหมาย ตัวชี้วัด กลยุทธ์ แผนงานร่วมกัน เพื่อเป็นกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำของประเทศในระยะ 20 ปี ภายใต้กรอบการพัฒนาทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการ

    เปิดขาย ‘กองทุนรวมวายุภักษ์’ 1.5 แสนล้าน ก.ย.นี้

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ให้กับนักลงทุนทั่วไป ซึ่งเป็นการรายงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556 รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ ประสบความสำเร็จต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะกรรมการกำกับการดำเนินงานกองทุนรวมวายุภักษ์ ในการประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบหลักการการกำหนดรูปแบบ โครงสร้าง และเงื่อนไขในการดำเนินการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. และการแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดโครงการจัดการกองทุนฯ สรุปได้ ดังนี้

      1. มูลค่าการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. – ประมาณ 100,000 – 150,000 ล้านบาท

      2. ระยะเวลาการลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. – ไม่เกิน 10 ปี โดยกองทุนฯ อาจพิจารณาขยายระยะเวลาการลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. ดังกล่าวเมื่อครบกำหนด

      3. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. – นักลงทุนทั่วไป เช่น นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนภาครัฐ สหกรณ์มูลนิธิ และสมาคมต่าง ๆ เป็นต้น

      4. ผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก. – หน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนฯ แต่ไม่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ และไม่เกินกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูงที่กำหนดไว้ โดยมีกรอบแนวทางในการกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูง ดังนี้

        1) อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปีเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล และอาจมีการปรับปรุงส่วนต่างตามความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งจะมีการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นนักลงทุนกลุ่มเป้าหมาย เกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปี

        2) อัตราผลตอบแทนขั้นสูงต่อปีเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนจากผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงตราสารทุนและมีผลตอบแทนที่ไม่ผันผวน เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่จดทะเบียนใน ตลท. เป็นต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับฯ จะมีการพิจารณากำหนดอัตราผลตอบแทนดังกล่าวตามกรอบแนวทางข้างต้นต่อไป

      5. กลไกการคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. – การคุ้มครองเงินลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. กองทุนฯ จะบริหารความเสี่ยง โดยการกำหนดสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนฯ ต่อเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. (Asset Coverage Ratio) โดยในกรณีที่ Asset Coverage Ratio ลดลงเกินกว่าสัดส่วนขั้นต่ำที่กองทุนฯ กำหนด กองทุนฯ จะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมเพื่อคุ้มครองเงินลงทุนขอผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุน หรือ ได้รับเงินปันผล หาก NAV ของหน่วยลงทุนประเภท ข. ต่ำกว่า NAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่จะกำหนดโดยคณะกรรมการกำกับฯ ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก.ต่อไป

      6. การชำระคืนเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. – หน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนที่มีลักษณะเป็น Waterfall โดยเมื่อครบระยะเวลาการลงทุน กองทุนฯ จะรับชื่อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ตามแนวทางและวิธีที่กำหนด

      7. ตลาดรอง – หน่วยลงทุนประเภท ก. สามารถทำการซื้อขายผ่าน ตลท.

    ทั้งนี้ ภายหลังจากเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯ ให้กับนักลงทุนทั่วไป กองทุนฯ จะลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และเชิงรับ (Passive Investment) และยังคงลงทุนส่วนใหญ่ในตราสารทุนที่จดทะเบียนใน ตลท. โดยจะเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนดี มั่นคงในระยะยาว มีความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับฯ และคณะกรรมการการลงทุนของกองทุนฯ จะพิจารณากำหนดรายละเอียดในการลงทุนต่อไป

    ประโยชน์และผลกระทบ การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ ให้กับนักลงทุนทั่วไป จะเกิดประโยชน์ ดังนี้

      1. เพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้กับประชาชนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงเป็นการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

      2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนภายในประเทศมีส่วนร่วมในการลงทุนใน ตลท. ผ่านการลงทุนในกองทุนฯ ที่มีกลไกในการคุ้มครองผลตอบแทน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการลงทุน โดยมีมูลค่าการระดมทุนประมาณ 100,000 – 150,000 ล้านบาท อาจส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้นซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อการลงทุนใน ตลท. ทั้งนี้ การปรับตัวของ SET Index ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนผลประกอบการที่เติบโตขึ้นของบริษัทจดทะเบียน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงมาตรการอื่นใดที่เรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน

    ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับการกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ และอัตราผลตอบแทนขั้นสูง รวมทั้งเงื่อนไขการเสนอขายหน่วยลงทุนให้กับผู้ลงทุนแต่ละประเภทนั้น ทางกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการประชุมกันในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ เพื่อกำหนดรายละเอียดทั้งหมดลงในหนังสือชี้ชวน และคาดว่าจะเริ่มเปิดขายได้ในช่วงเดือนกันยายนนี้

  • ‘กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง’ เตรียมขาย 1-1.5 แสนลบ.ไตรมาส 3
  • โยก ‘นัทรียา’ นั่งปลัดท่องเที่ยว – ‘บุญสงค์’ ปลัดแรงงาน

    นายคารม กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงขงหน่วยงานรัฐมีรายละเอียด ดังนี้

    1.คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิจำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายณัฏฐา พาชัยยุทธ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการเชี่ยวชาญ) สำนักงาน ก.พ.ร. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ.ร. ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2566
      2. นายธนศักดิ์ มังกโรทัย ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองพัฒนาระบบบริหารงานส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น สำนักงาน ก.พ.ร. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ.ร. ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2567

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    2. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ รับโอนนางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    3. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงแรงงาน เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    4. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    5. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 13 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ สับเปลี่ยนหมุนเวียนและทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นางอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอนามัย
      2. นายสุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
      3. นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์
      4. นายภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมควบคุมโรค
      5. นายกิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสุขภาพจิต
      6. นายภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนับสนับสนุนบริการสุขภาพ
      7. นายสมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
      8. นายภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      9. นายมณเฑียร คณาสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      10. นายศักดา อัลภาชน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      11. นายวีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรรราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      12. นายปรีชา เปรมปรี สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      13. นางสาวสุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข (นักวิชาการอาหารและยาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    6. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา รวม 7 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้

      1. นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ
      2. ศาสตราจารย์พิเศษทศพร ศิริสัมพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      3. นายสุภัทร จำปาทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      4. ศาสตราจารย์พิริยะ ผลพิรุฬห์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      5. นายพิศณุ ศรีพล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      6. ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      7. ศาสตราจารย์สุรินทร์ คำฝอย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2567 เพิ่มเติม