ThaiPublica > เกาะกระแส > ความพยายามใหม่กับ “People-centered” ผ่านกระบวนการยุติธรรเชิงสมานฉันท์-โครงการ Justice by Design

ความพยายามใหม่กับ “People-centered” ผ่านกระบวนการยุติธรรเชิงสมานฉันท์-โครงการ Justice by Design

6 สิงหาคม 2024


ความพยายามใหม่ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยผ่านมุมมองกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่มองผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลางเพื่อความยุติธรรม เน้น “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” กับโครงการ “Justice by Design”

แม้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice: RJ) จะมิใช่แนวคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น อย่างน้อยนับเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ได้ให้การรับรอง “หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” แต่กล่าวได้ว่าเป็นกระบวนทัศน์ที่ทันสมัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ยังมีช่องว่างทั้งในแง่ของการเข้าถึงและการตอบโจทย์ ความต้องการความยุติธรรมแก่ประชาชน

ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นกระบวนการทางเลือกที่ให้ความสำคัญกับการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย เน้นการชดใช้เยียวยาแก่ผู้เสียหายอย่างเหมาะสม พร้อมไปกับการสร้างความสำนึกผิดและความรับผิดชอบของผู้กระทำผิด โดยเปิดโอกาสให้ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด ครอบครัวหรือญาติพี่น้องของคู่กรณี รวมถึงผู้แทนชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้มีส่วนร่วมเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันและป้องกันการ กระทำผิดซ้ำ

ส่วนกระบวนการยุติธรรมที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง หรือ “People-centered Justice” เป็นความพยายามทำความเข้าใจปัญหา ภูมิหลัง และความต้องการด้านความยุติธรรมของคนในสังคม ที่มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อนำไปสู่การออกแบบวิธีการทำงานให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในฐานะผู้รับบริการความยุติธรรม ซึ่งเป็นทิศทางสากลที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ รวมทั้งมีความพยายามที่จะปรับการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่อยู่นอกกระบวนการยุติธรรมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น

จะเห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร่วมกำหนดผลลัพธ์ ซึ่งต่างจากกระบวนการแบบดั้งเดิมที่มุ่งลงโทษเป็นหลัก สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงได้นำหัวข้อ “Reimagine the Thai Criminal Justice through People-centered and Restorative Justice Lens” หรือ “จินตนาการใหม่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยผ่านมุมมองของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง” มาเป็นประเด็นหลักในการพูดคุยกัน ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นำเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567

กระบวนทัศน์ใหม่ของกระบวนการยุติธรรม

“ผมเคยเขียนหนังสือเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ : ทางเลือกใหม่สำหรับกระบวนการยุติธรรมไทย เมื่อ 20 กว่าปีก่อน แต่มีคนบอกว่ายังทันสมัยอยู่ เพราะถึงวันนี้แทบจะยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย รวมทั้งมีปัญหาใหม่ ๆ เกิดขึ้น ตอนนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการเปลี่ยนทัศนคติ จากกระบวนการยุติธรรมเชิงการใช้อำนาจ เป็นเชิงของการให้บริการประชาชน”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบัน TIJ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กระบวนทัศน์ใหม่ของกระบวนการยุติธรรม” พร้อมชี้ให้เห็นคุณลักษณะของระบบยุติธรรมที่พึงประสงค์ 5 ประการ ได้แก่ ค้นหาความจริงและควบคุมอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มครองสิทธิผู้กล่าวหาและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โปร่งใสและตรวจสอบได้ เข้าถึงและพึ่งพาได้อย่างทั่วถึง และยุติธรรมและได้รับความเชื่อถือ

ขณะที่หากมองสภาพปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย พบว่ามีหลายประเด็นที่เป็นปัญหาสะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อพิพาทเข้าสู่ระบบยุติธรรมมากเกินไปจนเกิดคดีล้นศาล เน้นลงโทษผู้กระทำผิด โดยไม่ให้ความสำคัญกับการเยียวยาผู้เสียหายเท่าที่ควร ใช้โทษจำคุกมากเกินไปจนทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก และผู้กระทำผิดไม่ได้รับการฟื้นฟูแก้ไขอย่างเหมาะสม รวมทั้งเป็นการผูกขาดโดยรัฐมากเกินไป ชุมชนและภาคประชาสังคมยังมีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย

หากวิเคราะห์สภาพปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย จะพบว่ามีปัญหาทั้งในเชิงระบบและโครงสร้าง ปัญหาเกี่ยวกับนโยบายและการบูรณาการ ปัญหาเชิงกระบวนทัศน์และทัศนคติ และที่สำคัญคือปัญหาการเชื่อมโยงกับหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และประชาธิปไตย

สำหรับแนวทางการเปลี่ยนแปลงสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ที่เคยเสนอไว้ในหนังสือดังกล่าวและยังคงใช้ได้ในปัจจุบัน ได้แก่ การเปลี่ยนมุมมองระบบยุติธรรมที่ยึดอำนาจเป็นศูนย์กลางมาเน้นการให้บริการประชาชน เน้นการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เน้นการป้องกันอาชญากรรมแทนการระงับเหตุ แสวงหาทางเลือกในการระงับข้อพิพาทแทนการนำคดีเข้าสู่ศาล มุ่งเน้นการฟื้นฟูและแก้ไขผู้กระทำผิดแทนการลงโทษ เน้นการเข้าถึงความยุติธรรมของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาเป็นทางเลือกในการอำนวยความยุติธรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ยังได้ชี้ให้เห็นสถิติการดำเนินคดีอาญาของประเทศไทย (ปี 2556) ว่า จำนวนคดีที่ตำรวจจับกุมและอัยการสั่งฟ้องมีความใกล้เคียงกัน โดยมีการสั่งฟ้องถึง 95% ไม่สั่งฟ้องเพียง 5% ตรงกันข้ามกับประเทศญี่ปุ่นที่อัยการสั่งฟ้องเพียง 8% ขณะที่ 25% เป็นการดำเนินคดีโดยรวบรัด และ 67% ไม่สั่งฟ้อง(ข้อมูลจาก White Paper on Crime 2018) ซึ่งนับเป็นสถิติที่น่าสนใจว่าทำไมถึงแตกต่างกันอย่างชัดเจน และที่สำคัญคือทำให้การบริหารจัดการคดีในญี่ปุ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มองความยุติธรรมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบัน TIJ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยากับมุมมองความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” โดยชี้ให้ความสำคัญกับการมองคนเป็นศูนย์กลางความยุติธรรมว่า เป็นเพราะสถานการณ์การเข้าไม่ถึงความยุติธรรมในบริบทโลก ข้อมูลจาก Justice for All, Report of the Task Force on Justice, 2019 ระบุว่า

2 ใน 3 ของประชากรโลกเข้าไม่ถึงความยุติธรรม โดยกว่า 253 ล้านคน ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะที่ไม่เป็นธรรมขั้นรุนแรง 1.5 พันล้านคน มีปัญหาด้านความยุติธรรมที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และ 4.5 พันล้านคน ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเหมาะสม

ข้อมูลจาก Not Just More Legal Advice and Access to Courts Article, HiiL ระบุว่าช่องว่างในการเข้าถึงความยุติธรรม 55% เป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

“ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเดือดร้อนและเข้าไม่ถึงการแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการยุติธรรม เราจึงไม่สามารถปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไปแบบเดิมอย่างเดียวได้ แต่มองว่าการลงทุนในกระบวนการยุติธรรมที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะได้ผลที่คุ้มค่าทั้งในแง่ของการให้บริการที่ดีขึ้นและความเชื่อมั่นต่อกฎกติกาของสังคม”

แม้ว่าแนวคิดนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ต่างไปจากเดิมคือ ปัจจุบันเริ่มมีความพร้อมขององค์ความรู้ การตกผลึก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีผู้เล่นในระดับนานาชาติเข้ามาให้สนใจเรื่องนี้มากขึ้น โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้นำเสนอองค์ประกอบสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ การออกแบบและการก่อให้เกิดบริการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อให้เกิดธรรมาภิบาล การเสริมสร้างพลังให้กับประชาชน และการวางแผน ติดตาม รวมไปถึงการรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติงาน

ผู้เสียหายเป็นคนกำหนดความยุติธรรมได้ด้วยตัวเอง

นายสุริยนตร์ โสตถิทัต ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ให้ข้อมูลในมิติของการมองเด็กเป็นศูนย์กลางเพื่อความยุติธรรม โดยการนำแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือ RJ มาใช้ในศาลเยาวชนและครอบครัวว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชน ในมาตรา 86 เป็นมาตรการพิเศษแทนการฟ้องดำเนินคดีกรณีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และมาตรา 90 ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้วในอัตราโทษไม่เกิน 20 ปี หากเด็กและเยาวชนไม่เคยต้องโทษจำคุกถึงที่สุดมาก่อน ต้องสำนึกในการกระทำและสามารถกลับตนเป็นคนดีได้ และเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุมเพื่อแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยมีนักจิตวิทยาและผู้พิพากษาสมทบเป็นผู้ดำเนินการ และล่าสุดมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อแนะนำและช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัวในคดีอาญา ตามปฏิญญาว่าด้วยหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมและการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้อง ค.ศ.1985 เพื่อช่วยสนับสนุนการนำคดีเข้าสู่มาตรา 90 มากขึ้น

กรณีตัวอย่างคดีที่นำแนวคิด RJ มาใช้ เช่น คดีเยาวชนลักทรัพย์เพื่อนบ้าน ซึ่งในกระบวนการให้คำปรึกษาทำให้ทราบสาเหตุว่าเด็กถูกพ่อสอนให้ไปลักทรัพย์ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ซึ่งสุดท้ายผู้เสียหายไม่เพียงได้รับของคืน แต่ยังช่วยหางานให้เด็กทำด้วยความเข้าใจและเห็นใจเด็ก รวมทั้งรู้สึกว่าศาลไม่ได้มุ่งช่วยเหลือแต่เด็กที่กระทำผิด แต่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายด้วย หรือคดีเยาวชนขับรถจักรยานยนต์ชนป้าได้รับบาดเจ็บสาหัส ในกระบวนการ ป้ารู้สึกเห็นใจเด็กว่าต้องรีบทำงานส่งของให้ทันเวลา กอปรกับเด็กมีข้อดีคือขับชนแล้วไม่หนีและรู้สึกผิด
จึงลดค่าเสียหายที่เรียกร้องและยินยอมให้ผ่อนชำระได้

สำหรับข้อท้าทายในการนำ RJ มาใช้ในศาลเยาวชนนั้น นายสุริยนตร์มองว่าเป็นเรื่องขององค์ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการนำกระบวนการดังกล่าวไปใช้ รวมถึงการที่ผู้เสียหายไม่ทราบถึงสิทธิ เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม และไม่เข้าร่วมการจัดทำแผนฯ มีผลทำให้ปริมาณคดีที่นำเข้าสู่มาตรา 90 มีจำนวนน้อย รวมถึงยังมีข้อจำกัดในการติดตามเด็กหรือเยาวชนหลังผ่านกระบวนการมิให้กระทำผิดซ้ำ

“หลายครั้งที่ผู้เสียหายไม่เข้าร่วมกระบวนการ เพราะมองว่าศาลมุ่งแต่จะช่วยเหลือเด็กให้ไม่ถูกจำคุก แต่แท้จริงแล้ว ผู้เสียหายเป็นคนกำหนดความยุติธรรมได้ด้วยตัวเอง ในสัดส่วนที่สอดคล้องกับการกระทำความผิด เพราะถ้าเรียกร้องมากไปก็อาจทำให้การชดใช้ไม่เกิดขึ้นจริง”

สำหรับวิธีการบรรเทาความท้าทายนั้น อาจทำได้โดยมีการจัดฝึกอบรมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวความคิด หลักการ ปรัชญา และทักษะที่จะนำ RJ ไปปรับใช้ในกระบวนการประชุมอย่างถูกต้องและถ่องแท้ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำคดีที่เข้าหลักเกณฑ์ RJ เข้าสู่กระบวนการเพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพ เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนศาลเยาวชนฯ เป็นประจำทุกปี ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ผู้เสียหายทราบถึงสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยสะดวก และอาจปรับแก้กฎหมายให้ศาลสามารถติดตามดูแลเด็กที่ผ่านกระบวนการได้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ

นายสุริยนตร์เน้นย้ำว่า RJ เป็นกระบวนการที่ “เน้นเยียวยาผู้เสียหาย” และปัจจัยความสำเร็จคือ “การขอโทษอย่างจริงใจ” ของผู้กระทำผิด

มองผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลางเพื่อความยุติธรรม ผ่าน “โครงการ Justice by Design”

นายไกรพล อรัญรัตน์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา ชี้ให้เห็นว่าในการรับรู้ของคนในสังคมเมื่อนึกถึงศาล มักมองว่าศาลมีงานหลักเดียวคือ “การตัดสินคดี”

แต่หากถอยกลับมามองให้กว้างขึ้นจะเห็นว่า แท้จริงแล้วศาลมีหน้าที่ให้บริการด้านความยุติธรรมแก่ประชาชน

ประสบการณ์ของประชาชนที่มีต่อศาลจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ได้รับหมายศาล เดินทางมาที่ศาล เข้ามาฟังการพิจารณาคดีจนสุดทาง ดังนั้น หากศาลมองจากเลนส์ของประชาชน ก็จะสามารถปรับปรุงพัฒนาการทำงานในเชิงของการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางได้มากขึ้น

“เราได้ยินคนพูดถึงศาลเยอะพอสมควรว่า แค่นึกถึงขั้นตอนการขึ้นศาล ต้นทุนที่จะเกิดขึ้น เวลาที่ต้องเสียไป และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ก็ยอมกลืนความอยุติธรรมดีกว่า เพราะรู้สึกว่าอาจเจ็บพอ ๆ กับการไปขึ้นศาล นี่เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับว่าการที่ประชาชนเลือกไม่ขึ้นศาล เป็นปัญหาเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม”

ในเชิงระบบงาน นำมาสู่คำถามว่าศาลควรปรับตัวอย่างไร ซึ่งทุกวันนี้ ศาลมีความพยายามสร้างการรับรู้ หรือวัฒนธรรมองค์กรใหม่ โดยประธานศาลฎีกาคนปัจจุบันได้ชูนโยบายเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นการทำงานรับใช้ประชาชน ซึ่งนำมาสู่ “โครงการ Justice by Design” ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยทดลองเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาส่งเสียงเพื่อสะท้อนประสบการณ์ในการใช้บริการศาล รวมทั้งช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์การให้บริการที่เป็นมิตรต่อประชาชนมากขึ้น

“สิ่งที่มีคุณค่ามาก ๆ จากโครงการนี้ ไม่ใช่เพียงแค่นวัตกรรมที่เกิดขึ้น แต่คือการทำให้ศาลได้เห็นตัวเองและได้รับข้อมูลที่อาจคาดไม่ถึง”

นายไกรพลกล่าวว่า “ยกตัวอย่างเมื่อถามความรู้สึกแรกหลังจากได้รับหมายศาล หลายคนคิดว่าประชาชนน่าจะรู้สึกตกใจหรือกลัว “แต่มีเสียงสะท้อนที่รู้สึกเซอร์ไพรส์ คือ อ่านหมายศาลแล้วทำให้รู้สึกว่าศาลเข้าข้างโจทก์ ซึ่งทำให้เราต้องกลับมามองว่าข้อความในหมายศาล Aggressive เกินไปไหม”

หรือที่พึ่งแรกของประชาชนเมื่อต้องไปขึ้นศาล หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นทนาย แต่คำตอบอันดับแรกคือเว็บไซต์ศาล เพราะคนอยากรู้ว่าไปศาลต้องแต่งตัวอย่างไร มีขั้นตอนต้องทำอะไรบ้าง แต่เมื่อเข้าไปแล้วไม่พบข้อมูลเหล่านี้ สุดท้ายก็จำเป็นต้องไปพึ่งเว็บไซต์พันทิปหรือต้องไปหาทนายในท้ายที่สุด

นายไกรพลกล่าวว่าโครงการนี้ ได้มีการนำข้อมูลเชิงลึกที่เกิดจากการทำความเข้าใจเสียงของประชาชนมาพัฒนาต่อยอด เช่น การปรับแก้ไขเว็บไซต์ของศาลให้เป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น และมีอีกหลายนวัตกรรม เช่น “มรดกพลัส” แพลตฟอร์มการจัดการมรดกง่าย ๆ ที่ช่วยลดขั้นตอน และดำเนินการได้เอง “หมายเป็นมิตร ศาลใกล้ชิดประชาชน” การอบรมพัฒนาศักยภาพของเจ้าพนักงานศาลผู้เดินหมาย หรือการปรับปรุงระบบบริการออนไลน์เพื่อลดเวลาดำเนินการในชั้นศาล เป็นต้น

“สุดท้ายอยากจะบอกว่า คนอาจจะมองว่าศาลเป็นองค์กรที่เข้าถึงยาก แต่การที่เราทำโครงการนี้ขึ้นมา เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าเราแคร์และมองการให้บริการประชาชนมากขึ้น”

มองผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางความยุติธรรม

นายอุกฤษฏ์ ศรพรหม หัวหน้าฝ่ายนโยบายและกิจการต่างประเทศด้านหลักนิติธรรมกับความยุติธรรมทางอาญา TIJ เปิดมุมมองการใช้เลนส์ตาของเหยื่อหรือผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางความยุติธรรม (Victims Center) โดยชี้ให้เห็นว่าทุกคนมีโอกาสเป็นเหยื่อได้ทั้งสิ้น ซึ่งหลายครั้งเหยื่อมักถูกกระทำซ้ำโดยกระบวนการยุติธรรมเสียเอง เช่น การสอบถามซ้ำ ๆ เรื่องเดิม ๆ ที่บั่นทอนความรู้สึก เป็นบาดแผลความบอบช้ำทางใจ

ดังนั้น เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น เหยื่อจึงควรได้รับความสำคัญอยู่แถวหน้าสุด โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ผลกระทบจากอาชญากรรม ภูมิหลังและอัตลักษณ์ ความรู้สึกและความต้องการ สิทธิของผู้เสียหาย และระบบที่เป็นมิตร และในกระบวนการต้องพิจารณาว่ามีใครเป็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง ทั้งทางตรง ทางอ้อม ชุมชนแวดล้อม และที่สำคัญคือ คนที่เป็น “เซฟโซน” ของผู้เสียหาย

“ปกติสิ่งที่ผู้เสียหายแสดงออกในเชิงพฤติกรรม มักมีสิ่งที่ซ่อนอยู่เสมอ โดยเฉพาะความต้องการซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ลึกที่สุด ไม่ใช่สิ่งที่แสดงออกมาโดยอัตโนมัติ แต่กระบวนการ RJ จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ค้นหาความต้องการความยุติธรรมที่แท้จริง”

ที่ผ่านมา TIJ ได้ดำเนินกิจกรรม RJ ทั้งบริบทในประเทศและในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งมีเสียงสะท้อนถึงความจำเป็นในการดำเนินกระบวนการ RJ ในสถานศึกษาเพื่อป้องกันความรุนแรงตั้งแต่ต้นทาง โดยในต่างประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา หรือประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีมาก ๆ ในยุโรป จะใช้กระบวนการแบบ “Whole School Approach” ครอบคลุมทุกองคาพยพที่อยู่ในโรงเรียน โดยคำนึงถึงเด็กเป็นศูนย์กลาง แล้วหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในด้านความรุนแรง เพื่อให้เด็กมีวิธีการจัดการหรือ สื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจโดยไม่ใช้ความรุนแรง

นวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการ TIJ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรม ฉายภาพเรื่องนวัตกรรมและกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางในสากลว่าเริ่มต้นที่ศาล เพราะหากศาลขยับ ห่วงโซ่อุปทานของการให้บริการความยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำก็จะขยับตัวได้ง่ายขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยได้เริ่มต้นมานั้นถือว่ามาถูกทางแล้ว

ในส่วนของ TIJ ได้มีการจัดทำงานวิจัยเรื่องความต้องการด้านความยุติธรรมของประชาชน (Justice Needs Survey) ในปี 2565 โดยเก็บกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ๆ กว่า 2,000 ตัวอย่าง พบว่า ปัญหาทางกฎหมายที่พบสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ฉ้อโกง ยาเสพติดและหนี้นอกระบบ ข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกิน ความรุนแรง และอาชญากรรมบนท้องถนน ตามลำดับ

ขณะที่ความหลากหลายทั้งในมิติด้านเพศ อายุ อาชีพ รายได้ ภูมิลำเนา ล้วนมีผลทำให้ประสบปัญหาความยุติธรรมแตกต่างกัน เช่น เพศชายจะเจอความรุนแรงนอกบ้านและยาเสพติดมากกว่า ขณะที่เพศหญิงมีคดีเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว วัยรุ่นเจอความรุนแรงทางร่างกาย ขณะที่วัยกลางคนมีปัญหาเรื่องทรัพย์สิน มรดก เป็นต้น

ส่วนอุปสรรคปัญหาในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบางคือ ขาดความรู้เรื่องสิทธิเบื้องต้นของตัวเองและวิธีการเก็บข้อมูลหลักฐาน ขาดแคลนทรัพยากรทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา เมื่อผนวกรวมกันทำให้เกิดความเครียด ความไม่ไว้วางใจในการเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และสะท้อนปรากฏการณ์ “ยุ่ง ยาก แพง” ที่ประชาชนมีต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.อณูวรรณย้ำว่า แนวคิดเรื่องประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อความยุติธรรมนั้นไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่ไม่เคยจับต้องได้และไม่เคยถูกทำให้อยู่ในระดับปฏิบัติการ แต่สิ่งที่แตกต่างไปในวันนี้คือ เกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก มีเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้มีช่องว่างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนแปลงได้ มีเครื่องมือหรือวิธีคิดใหม่ ๆ มีเครือข่ายความร่วมมือมากขึ้น

ที่สำคัญคือ มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบแล้ว จึงเป็นโอกาสใหม่ ๆ ให้เราทำเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยใช้นวัตกรรมได้มากขึ้น ตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ TIJ ร่วมกับพัธมิตรดำเนินการในเรื่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ “MYSISBOT” Chatbot ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นพี่สาวที่แสนดี ผู้ช่วยเหลือผู้หญิงและเยาวชนที่เผชิญความรุนแรง

อย่างไรก็ดี เมื่อทำได้ระยะหนึ่งก็ติดข้อจำกัด ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการพัฒนาประสิทธิภาพระบบให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้มากขึ้น “White Space Platform” โครงการเพิ่มพื้นที่สีขาวให้เด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงได้เข้ามาเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อลดโอกาสการเกิดอาชญากรรม โดยมีกลไกการจัดการกลางทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างความต้องการของเด็ก เข้ากับกิจกรรมทางเลือกเพื่อแก้พฤตินิสัยหรือหากเหง้าของปัญหาที่เหมาะกับเด็กแต่ละคน

สำหรับข้อเรียนรู้ที่รับจากการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สามารถสรุปได้ 3 ข้อเพื่อนำไปพัฒนาต่อ ได้แก่

1.Leverage point ของการทำกระบวนการยุติธรรมที่มีคนเป็นศูนย์กลางของกลุ่มเปราะบาง คือ ระบบป้องกันหรือการตรวจจับเบื้องต้น ซึ่งต้องอาศัยกลไกการจัดการกลางเพื่อสร้างให้เกิดความร่วมมือ

2.Ecosystem หรือระบบนิเวศที่ต้องพัฒนาให้สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันไม่มีตลาด ไม่มีเงินทุน และไม่มีนวัตกรทางสังคมที่เพียงพอ

3.ผู้ให้บริการในกระบวนการยุติธรรม เป็นหัวใจในการเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง แต่หน้างาน โครงสร้างการทํางาน และวัฒนธรรมองค์กรในปัจจุบันยังไม่เอื้อให้เกิดการปรับตัวได้ง่าย

ดร.อณูวรรณ กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไทยอยู่ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาของประชาชน การมองด้วยเลนส์ตาที่มีคนเป็นศูนย์กลางความยุติธรรม จะช่วยให้การทำงานของเราตอบโจทย์ประชาชนได้มากขึ้น และทุกคนทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรมสามารถเข้ามามีบทบาทช่วยทำให้ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคนได้