ThaiPublica > Native Ad > Advertorial > “TIJ – IGLP” จัด Workshop ระดับโลก สร้างเครือข่ายนักกฎหมาย – ผู้นำรุ่นใหม่ พัฒนาหลักนิติธรรมอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

“TIJ – IGLP” จัด Workshop ระดับโลก สร้างเครือข่ายนักกฎหมาย – ผู้นำรุ่นใหม่ พัฒนาหลักนิติธรรมอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

29 มกราคม 2019


TIJ ร่วมกับ IGLP แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จัดเวทีสัมมนาสาธารณะระดับนานาชาติว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 7 หัวข้อ “Innovation and Technology for Justice” เมื่อ 11 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา, ที่มาภาพ: TIJ

แม้ดัชนี “หลักนิติธรรม” ของประเทศไทยยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจมากนัก แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานได้พยายามช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาหลักนิติธรรม หรือ “Rule of  Law” เพื่อสร้างความเท่าเทียมและความยุติธรรมในสังคมให้เกิดขึ้นได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

อย่างไรก็ดี การที่สหประชาชาติกำหนดให้หลักนิติธรรมเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อที่ 16  ยิ่งสะท้อนว่าหลักนิติธรรมไม่ได้มีความสำคัญอยู่ในเฉพาะวงการกฎหมายหรือในไทยเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นประเด็นการพัฒนาของโลก ที่ต้องทำร่วมกันในทุกมิติของสังคม

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) มองเห็นความสำคัญและทำงานเรื่องนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนจะมี SDGs จากการที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะองค์ประธานที่ปรึกษา เมื่อครั้งทรงงานอยู่ที่สหประชาชาติ และเรียนรู้การทรงงานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเชื่อมโยงการพัฒนากับหลักกฎหมายเป็นกรณีศึกษาไว้หลายประการ ทำให้ไทยมีประสบการณ์และบทบาทไม่น้อยกว่าชาติอื่นๆ ในการผลักดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ Institute for Global Law and Policy (IGLP) แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จัดเวิร์กชอปอบรมด้านหลักนิติธรรมและนโยบาย ให้กับนักวิชาการกฎหมายและผู้นำรุ่นใหม่ในไทยและภูมิภาคจากหลากหลายสาขาทั่วโลก ภายใต้หลักสูตร   “TIJ-IGLP Workshop for Scholars and Emerging Leaders on the Rule of Law and Policy”  

การอบรมครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนงานส่งเสริมหลักนิติธรรมและการพัฒนาของสถาบันฯ มีวัตถุประสงค์ให้นักกฎหมายและนักนโยบายรุ่นใหม่ผู้ปฏิบัติงานจริง ได้มาร่วมกันระดมสมองเพื่อเกิดแนวคิดหรือไอเดียใหม่ๆ ในการช่วยแก้ปัญหาที่ยังคงมีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมหรือในด้านต่างๆ ผ่านมุมมองหลักนิติธรรมที่สอดแทรกอยู่ในทุกมิติของสังคม ซึ่งเป็นยุคที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาไปมาก สามารถที่จะนำไปช่วยพัฒนาสังคมให้เท่าเทียมและเป็นธรรมอย่างยั่งยืนต่อไปได้

โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 มีนักกฎหมายและผู้นำรุ่นใหม่เข้าร่วมอบรมกว่า 140 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก จุดเด่นของหลักสูตรเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ คือการให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรเรียนรู้จากประสบการณ์จริงและศึกษากรณีจริงจากผู้เชี่ยวชาญในวงการต่างๆ เพื่อสร้างเป็นสนามทดลอง (Problem Labs) มีส่วนร่วมในการอภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็น และเสนอทางแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต โดยหยิบยกประเด็นปัญหาสังคมที่น่าสนใจในภูมิภาคเอเชียมาหารือร่วมกัน

อาทิเช่น การเข้าถึงความยุติธรรม, ภัยคุกคามทางไซเบอร์,  ความเหลื่อมล้ำทางสังคม, การต่อต้านคอร์รัปชัน, การส่งเสริมพลังสตรีในสังคม เป็นต้น  จุดเด่นอีกข้อหนึ่งก็คือ การสอนหลักวิเคราะห์เชิงนโยบาย (Policy Analytical Tool) เพื่อเพิ่มทักษะในการคิด วิเคราะห์ปัญหา กำหนดทางเลือกในการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุม

นักกฎหมายและนักนโยบายรุ่นใหม่กว่า 140 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมอบรมหลักสูตร “TIJ-IGLP Workshop for Scholars and Emerging Leaders on the Rule of Law and Policy” จัดโดย TIJ ร่วมกับ IGLP แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อ 6-11 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ที่มาภาพ: TIJ

นอกจากนี้ ผู้เข้าอบรมยังมีโอกาสรับฟังบรรยายพิเศษในหัวข้อที่น่าสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บรรยายในหัวข้อ “Navigating a Changing Global Landscape”  รวมทั้ง “Dr.Radhika Coomaraswamy” อดีตรองเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ  บรรยายในหัวข้อ “The United Nations in the Field”

ไม่นับรวมนักวิชาการจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทั่วโลก ที่เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและนโยบายผ่านประเด็นร่วมสมัย อาทิ สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม, เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี blockchain ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นต้น

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า การจัดอบรมหลักสูตรเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อสามปีที่แล้ว เพราะสถาบันฯ เห็นว่าการพัฒนาหลักนิติธรรมไม่สามารถทำได้เฉพาะในวงการนักกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องทำร่วมกันอย่างมีกระบวนการในทุกมิติของสังคม โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นนักนโยบายผู้ปฏิบัติงานจริง

“ TIJ มองว่าแนวทางการพัฒนากฎหมาย กระบวนการนิติธรรม และหลักนิติธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ผูกขาดโดยนักกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการปฏิรูประบบยุติธรรมหรือหลักกฎหมายโดยนักกฎหมายไม่เคยประสบความสำเร็จ แต่มันมีความสำคัญเกินกว่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะเข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว”

“เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าการที่เราเอาคนที่เก่งที่สุด คนที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ มาสัมผัสถึงประเด็นกฎหมาย แล้วให้นักกฎหมายที่เก่งที่สุดที่เป็นอนาคตของประเทศ มาเข้าใจและทราบถึงความยุ่งยากของนโยบาย จะช่วยให้ความพยายามในการปรับกฎหมาย พัฒนาหลักนิติธรรม ไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคตได้”  ดร.กิตติพงษ์ กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ), ที่มาภาพ: TIJ

สำหรับหลักสูตรดังกล่าว จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Innovation and Technology for Justice” ซึ่งผู้เข้าอบรมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะสังคมโลกยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี จนทั่วโลกเรียกขานปรากฎการณ์ครั้งสำคัญนี้ว่า “disruptive innovation”

แน่นอนว่าปรากฎการณ์นี้ ได้ส่งผลกระทบในหลายด้าน ทั้งในเชิงบวก คือเป็นโอกาสในการสร้างสิ่งใหม่ ขณะเดียวกันก็เกิดผลกระทบเชิงลบในระดับทำลายล้างได้มากมายมหาศาล หากไม่เตรียมการให้พร้อมในทุกๆด้าน ไม่เว้นแม้แต่ด้านกระบวนการยุติธรรมหรือด้านกฎหมาย ซึ่งทั้งนักกฎหมาย นักนโยบาย นักวิชาการ รวมถึงนักเทคโนโลยี ที่เข้าร่วมการอบรม ได้หยิบยกประเด็นนี้ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างมีนัยสำคัญ

พร้อมกันนี้ TIJ และ IGLP ยังนำข้อมูลของผู้เข้าร่วมอบรมที่ผ่านการเรียนรู้ตลอด 5 วันเต็ม (6-11 มกราคม 2562) มาพูดคุยเพิ่มเติมผ่านการจัดเวทีสาธารณะระดับนานาชาติว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 7 โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เข้ากับการออกแบบนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

การบรรยายพิเศษในเวทีสาธารณะนี้ ได้ชี้ให้เห็นบทบาทสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักนิติธรรมและการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ความสมดุลระหว่างระบบเศรษฐกิจที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวนำกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงความสัมพันธ์ที่แยกกันไม่ขาดระหว่างกฎหมายกับเทคโนโลยี

ขณะเดียวกันยังได้เน้นย้ำว่า การจัดการกับปัญหาในโลกยุคใหม่ที่มีความซับซ้อน อาทิ  ภัยคุกคามไซเบอร์, ความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้าง, การทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ  ต้องอาศัยพลังของสมาชิกทุกฝ่ายในสังคม ไม่ใช่แค่นักกฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย  นอกจากนี้ยังต้องเน้นใช้วิธีการใหม่ๆ และต้องอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการออกแบบนโยบาย เพื่อช่วยให้หลักนิติธรรมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ให้มุมมองผ่านปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” ว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้เข้ามามีบทบาทช่วยให้กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทั้งในและต่างประเทศ  แต่ยังมีความท้าทายอีกมากมายที่สามารถยกระดับกระบวนการยุติธรรมนี้ให้ดีขึ้นได้ในอนาคต แต่ทุกคน ทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกัน

“เพราะอาชญากรทำงานกันเป็นเครือข่าย เราจึงต้องใช้เครือข่ายจัดการกับเครือข่าย และอาชญากรทำงานโดยใช้เทคโนโลยี เราจึงต้องใช้เทคโนโลยีจัดการกับเทคโนโลยีด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในยุคดิจิทัล ให้สามารถอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส เป็นธรรม และทันสมัย ซึ่งจะเป็นทิศทางหลักในการทำงานของเครือข่ายบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไทยและนานาชาติ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อเติมเต็มศักยภาพระหว่างกันทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติจริง พร้อมเป็นที่พึ่งและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน” นายชีพ กล่าว

นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” บนเวทีสาธารณะระดับนานาชาติว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 7 เมื่อ 11 มกราคม 2562, ที่มาภาพ: TIJ

ขณะที่ ศ.ดร.ชีล่า จาซานอฟ จาก Kennedy School of Government  มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ว่า “กฎหมายและเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่แตกต่างและย้อนแย้งกันโดยธรรมชาติ โดยทั่วไปคนมักเข้าใจว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่กฎหมายวางแนวทางไว้ แต่แท้จริงแล้วเทคโนโลยีไม่ได้นำหน้ากฎหมาย หากแต่ทำงานร่วมกันในการสร้างระเบียบสังคมที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวแปร”

และยังระบุว่า หน้าที่หลักของกฎหมายคือการกำหนดและปกป้องคุณค่าและสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ในบริบทของการเปลี่ยนแปลง ขณะที่เทคโนโลยีเป็นตัวทดสอบและปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานเดิมในสังคม และนำมาซึ่งความท้าทายใหม่ ๆ เช่น ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว เป็นต้น

“พวกเราควรจะตระหนักและเข้าใจศักยภาพในทางสร้างสรรค์ของกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี” ดร.ชีล่า กล่าวย้ำ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการเสวนาใน 3 หัวข้อสำคัญ ได้แก่  “ประสบการณ์ในระดับภูมิภาคด้านหลักนิติธรรมและนโยบาย” (Regional Experiences) ซึ่งได้หยิบยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจด้านหลักนิติธรรมในกลุ่มอาเซียนมานำเสนอ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย อาทิเช่น ประเด็นด้านสิทธิในที่ทำกิน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเสมอภาคทางเพศ และการต่อต้านการคอร์รัปชั่น

ถัดมาหัวข้อที่สองว่าด้วย “การสร้างเสริมความเท่าเทียมและความยุติธรรมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี” (Improving Equality and Justice through Innovation and Technology) ที่ประชุมได้อภิปรายเกี่ยวกับประเด็นด้านผู้กำกับดูแลเทคโนโลยี การย้ำเตือนถึงอันตรายจากการรวมอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในมือของรัฐบาลและกลุ่มธุรกิจต่างๆ ซึ่งผู้เสวนาต่างก็เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว และยังเห็นว่า เทคโนโลยีสามารถเข้ามาเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความโปร่งใส ความเสมอภาค และความยุติธรรมได้

ส่วนหัวข้อที่สามคือ “การนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อตอบโต้ข้อท้าทายของอาชญากรรมในโลกไร้พรมแดน” (Using Technology to Respond to Criminal Challenges in a Borderless World) มีการอภิปรายถึงคดีอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ทั่วโลกที่ก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถือเป็นความท้าทายที่หนักหนาและท้าทาย เมื่อโลกยังแบ่งแยกด้วยเขตพรมแดน แต่อาชญากรยังก่ออาชญากรรมอย่างไร้พรมแดน

ผู้ร่วมอภิปรายบางรายชี้ว่า การต่อสู้กับอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์เป็นเรื่องที่ “ยาก” เพราะใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง  อีกทั้งบุคลากรที่มีหน้าที่ในการต่อสู้กับอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ ยังมีความรู้และความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอ เช่น หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผู้เสวนาเห็นตรงกันว่า ทั่วโลกต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดนโยบายและข้อกำหนดต่างๆ ในการทำงาน ตลอดจนบทลงโทษทางกฎหมาย โดยระบุว่าการต่อสู้กับอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์จะสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัย “การประสานความร่วมมือกันและการแบ่งปันข้อมูลระหว่างรัฐบาล”

ดร.กิตติพงษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า เวทีดังกล่าวมีความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจเรื่องหลักนิติธรรมให้แผ่ขยายออกไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ที่มากกว่าแค่นักกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนส่งผลกระทบต่อชีวิต สังคม เศรษฐกิจ รวมถึงการทำงานในองค์กรต่างๆทั่วโลก

“บริบทเช่นนี้ยิ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นที่นักกฎหมาย นักนโยบาย นักเทคโนโลยี และนักปฏิบัติในทุกภาคส่วนของสังคม จะต้องมาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการยกระดับความยุติธรรมและหลักนิติธรรม  เพื่อให้ระบบยุติธรรมยังสามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริงนั้นในโลกที่เปลี่ยนไป และในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเช่นนี้  หัวใจของหลักนิติธรรมจะกลายเป็นหลักยึดที่สำคัญที่สุดในการขีดเส้นสมดุล เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีผู้ใดต้องถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง” ดร.กิตติพงษ์ กล่าว