ThaiPublica > คนในข่าว > “กิตติพงษ์ กิตยารักษ์” ชี้ไทยสอบตกหลักนิติธรรม ปมใหญ่ ‘ความขัดแย้ง-การตกหล่มของประเทศที่ไปต่อไม่ได้’

“กิตติพงษ์ กิตยารักษ์” ชี้ไทยสอบตกหลักนิติธรรม ปมใหญ่ ‘ความขัดแย้ง-การตกหล่มของประเทศที่ไปต่อไม่ได้’

8 เมษายน 2024


ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดเวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม (The Rule of Law Forum) ครั้งที่ 2 “From Abstract Theory to Tangible Actions: Strategies for Effective Rule of Law Reform” โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กลไกภาคประชาชนกับการขับเคลื่อนหลักนิติธรรม” ดังนี้

“หลักนิติธรรม” (Rule of Law) เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีส่วนสำคัญที่นำมาสู่ความขัดแย้งของประเทศ มีส่วนสำคัญนำมาสู่การตกหล่มของประเทศที่ไม่สามารถจะเคลื่อนต่อไปได้แม้กระทั่งทุกวันนี้

ดร.กิตติพงษ์กล่าวว่า “ผมเคยมีส่วนร่วมอยู่ในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่มีท่านอาจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธาน เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงในความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการสูญเสียเมื่อสิบกว่าปีก่อน

ในตอนนั้นคณะกรรมการได้รับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย แต่สิ่งหนึ่งที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายพูดตรงกันก็คือ “ปัญหาของประเทศไทยคือเรื่องหลักนิติธรรม” แต่พอมองลึกลงไปในความขัดแย้งก็พบว่า คำจำกัดความหลักนิติธรรมของคู่ขัดแย้งนั้นแตกต่างกัน

คู่ขัดแย้งที่อยู่ในอำนาจก็จะบอกว่า ไม่ว่าใครก็ต้องอยู่ใต้กฎหมาย ไม่มีข้อยกเว้น ส่วนคนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อของอำนาจ ก็จะบอกว่ากฎหมายต้องไม่เลือกปฏิบัติ ต้องมีกระบวนการที่เป็นธรรม ใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติกับฉันคนเดียว

จะอย่างไรก็แล้วแต่ ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2450 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญเขียนไว้เลยว่าหลักนิติธรรมมีความสำคัญและตอกย้ำในรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าหลักนิติธรรมมีความสำคัญที่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

แต่ปัญหาก็คือ สิบกว่าปีที่ผ่านมาหลักนิติธรรมมันดีขึ้นหรือแย่ลง กลไกที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญถูกทำให้สอดคล้องตามหลักนิติธรรม หรือเป็นกลไกที่ทำให้ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมเสียเอง เหล่านี้เป็นประเด็นเปิดที่ต้องมาคลี่กันดูต่อไป

กลางวันแสกๆ “In Broad Daylight”? เรารู้กันอยู่ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ดร.กิตติพงษ์กล่าวว่า แต่ที่แน่ๆ นิทรรศการ “กลางวันแสกๆ” (In Broad Daylight) ที่ TIJ ได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ มันเกิดเหตุการณ์มากมาย ยกตัวอย่างเช่น วันนี้ใครติดตามข่าว เรายังไม่รู้เลยว่าจะได้ ผบ.ตร. คนใหม่เป็นยังไง ก็ยังงงๆ กันอยู่ เมื่อมีการกล่าวหาว่าฝ่ายหนึ่งรับส่วยจากการพนัน แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็กล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าก็รับเหมือนกัน ในที่สุดคู่ขัดแย้งก็ถูกให้ออกจากงานที่ตำรวจ ไปอยู่สำนักนายกฯ

แถมมีคนมาบอกว่า จริง ๆ เป็นเรื่องของเกมอำนาจ ถ้าตรวจสอบประวัติลึกๆ ทุกคนก็ต้องมีประวัติแบบนี้ ก็คือโน้มน้าวว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา รับราชการมายาวนาน ถ้าตรวจสอบประวัติเจออะไร ไม่ถูกต้อง มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งผมก็ยังงงๆ ว่า In Broad Daylight มันเป็นยังไงกันแน่

ไม่นับว่ามีผู้ต้องขังแหกคุก แล้วให้สัมภาษณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย จนมีคนเชื่อถือจำนวนมากกว่าเจ้าหน้าราชการที่ผู้ใช้กฎหมายเสียอีก คำถามก็คือ In Broad Daylight มันเกิดอะไรขึ้น

กลางวันแสกๆ “In Broad Daylight”?

เมื่อมาดูในส่วนที่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา อย่างเช่น เรื่องประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศ เมื่อแปดเก้าปีก่อนเรารู้สึกดีที่จะมีการสังคายนากฎระเบียบที่จะสร้างการแข่งขันให้มากขึ้น ลดการใช้ดุลพินิจของรัฐให้น้อยลง แต่เราก็รอมายาวนาน

เรื่องนี้พูดกันมาตั้งแต่สมัยผมเริ่มรับราชการว่า กฎระเบียบมันต้องสนองตอบหรืออำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชน ให้กับการลงทุน แต่วันนี้ผมไม่แน่ใจว่าใบอนุญาตในการตั้งโรงงานมันง่ายหรือยากขึ้นกว่าเดิม

แต่มีเพื่อนๆ ที่อยู่ในหลักสูตรสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา หรือ RoLD หลายท่านเคยอยู่องค์กรใหญ่ พอไปทำธุรกิจเอสเอ็มอีของตัวเองก็บอกว่า เบี้ยบ้ายรายทางเยอะเหลือเกิน ก็รู้สึกรับไม่ได้ จะชวนชาว RoLD ประท้วง

ตอนหลังก็กลัวว่าถ้าประท้วงแล้วจะเป็นเรื่องใหญ่ และอาจจะถูกเขี่ยออกจากระบบ เพราะมันเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องยอมรับ ตรงนี้คือ In Broad Daylight เราก็รู้กันอยู่ มันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

หรือล่าสุดมีเรื่องที่พรรคการเมืองอาจจะต้องถูกยุบอีกครั้งหนึ่ง โดยคณะบุคคลซึ่งไม่แน่ใจว่าเข้ามาโดยสอดคล้องตามหลักนิติธรรมหรือไม่ ก็มีข้อวิจารณ์ในเรื่องความถูกต้องของกระบวนการสรรหาเข้ามา ในขณะเดียวกัน ความเป็นเหตุเป็นผลของความผิดกับโทษที่จะลง มันสอดคล้องกันหรือไม่ ก็เป็นเรื่องดีเบตทางวิชาการ

  • กลางวันแสก ๆ “In Broad Daylight” คำถามที่คาใจ “หลักนิติธรรมไทย”
  • กลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก ว่าเรื่องไหนเป็นปัญหาของหลักนิติธรรม

    ดร.กิตติพงษ์กล่าวว่า สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดมันจะเกี่ยวข้องไหมกับหลักนิติธรรม ถ้าเราคลี่มันออกมาดู อย่างน้อยถ้าคิดแบบไม่ต้องใช้ทฤษฎีมาก

    สังคมที่มีหลักนิติธรรม คือ สังคมที่ต้องปกครองด้วยหลักกฎหมาย กฎหมายต้องเป็นใหญ่ แต่กฎหมายเป็นใหญ่หมายความว่ากฎหมายจะต้องใช้บังคับกับทุกคนอย่างเสมอภาค มีความเป็นธรรม มีที่มาโดยชอบ

    “แต่ทั้งหมดที่พูดมามันกลายเป็นว่า กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือของอำนาจ กฎหมายถูกใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคลหรือพรรคพวก กฎหมายถูกใช้โดยละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ที่สำคัญที่สุดก็คือ กฎหมายถูกใช้ในส่วนที่ไม่ส่งเสริมกับกติกาประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ”

    ฉะนั้นผมคิดว่าโจทย์ของเราที่มาคุยกันจึงค่อนข้างยาก จากเรื่องในชีวิตประจำวันของคน ไปจนถึงเรื่องการเลือกตั้ง ระบบการเมือง มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน พูดแล้วเข้าใจยาก

    แต่หน้าที่ของพวกเรา ถ้าเราเชื่อร่วมกันว่าปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ มันต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหามันเกิดจากอะไร แล้วค่อย ๆ คลี่ มันออกมา แล้วขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ แม้มันจะยาก แต่ก็น่าจะต้องมีการเริ่มต้นในการที่จะกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก แล้วช่วยกันบอกว่าเรื่องไหนเป็นปัญหาของหลักนิติธรรม

    ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ

    เมื่อเรามาดูถึงเรื่องทฤษฎีของหลักนิติธรรม ความจริงผมก็คิดว่าไม่ยาก แต่เราไปทำให้มันยากไปหรือเปล่าโดยนักกฎหมาย

    ดร.กิตติพงษ์กล่าวต่อว่า ถ้าคิดง่ายๆ ต้องเริ่มต้นว่าเราเชื่อในระบอบประชาธิปไตยไหมว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ถ้าเราเชื่อในระบอบประชาธิปไตย การที่ประชาชน ปัจเจกชน หรือคณะกลุ่มประชาชนมอบอำนาจให้กับผู้ปกครอง เขาก็ต้องแน่ใจว่ามันมีกรอบกติกาที่ทำให้การมอบอำนาจนั้นถูกใช้อย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์ของเขาเอง

    เพราะฉะนั้น กฎหมายคือสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อนำเอาปรัชญาแนวคิดของประชาชน ซึ่งมอบอำนาจให้กับผู้ปกครองไปใช้ ก็คือกฎหมายนั้นต้องเป็นองค์ประกอบนำไปสู่เป้าหมายนั้นได้

    แต่กฎหมายโดยรวมทั่วไป มันอาจจะไม่สามารถไปสู่จุดนั้นได้ ถ้ามันไม่อยู่ใต้กฎของกฎหมาย กติกาของกฎหมาย ในกติกาของกฎหมายมันคือเบสิคพื้นฐานสุด ที่จะต้องทำให้เป้าหมายใหญ่มันไปสู่จุดนั้นได้ ถ้าเรามองว่ากฎหมายอะไรออกมาใช้ได้หมด องค์กรที่มาจากไหนก็ตามบังคับใช้ได้หมด มันอาจจะไปทำลายเป้าหมายใหญ่ตั้งแต่ต้นหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น เป้าหมายใหญ่นั้นมีความสำคัญ และอาจจะต้องโยงไปด้วยว่าหัวใจใหญ่ๆ ของมันคืออะไร กฎหมายต้องเป็นกฎหมายที่เป็นธรรม ออกมาโดยชอบ (Just Law) กระบวนการของกฎหมายที่ออกมาโดยชอบ ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาของกฎหมายที่ออกมาโดยชอบด้วย

    เรื่องของกฎหมายที่ไปออกแบบกฎระเบียบ กติกา โครงสร้างการตรวจสอบถ่วงดุลให้การใช้อำนาจของรัฐเป็นไปโดยถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน นี่คือหัวใจหรือไม่

    ถ้าเราเชื่อว่า Rule of Law มันคือสิ่งนั้น มันเกี่ยวข้องหรือไม่กับเรื่องรัฐธรรมนูญที่เราจะออกแบบใหม่ ว่าเราควรจะต้องมีการตรวจสอบอำนาจรัฐ กำหนดโครงสร้างการใช้อำนาจรัฐอย่างไร แยกอำนาจให้เหมาะสมอย่างไร ตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรที่จะมาตรวจสอบคนอื่นอย่างไร จึงจะทำให้กลไกนี้ทำงานไปได้ ซึ่งในที่สุด สิทธิพื้นฐาน เสรีภาพประชาชน ก็จะได้ถูกตรวจสอบถ่วงดุลกันได้

    สิ่งเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ทฤษฎีมากมาย แนวคิดเรื่องกฎหมายเป็นใหญ่ แนวคิดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ แนวคิดการที่รัฐธรรมนูญจะต้องมาสถาปนาสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น แนวคิดการใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคกับคนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ แนวคิดที่คนจะเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาค

    สุดท้ายถ้าเรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้น มันก็จะนำไปสู่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือคุณค่า หรือ value ที่คนเห็นความสำคัญของหลักนิติธรรม ที่เรียกกันว่า “Culture of Lawfulness” แต่ไม่ได้หมายความว่า กฎระเบียบอะไรออกมา คุณจะต้องเชื่อถือปฏิบัติหมด

    แต่ถ้าเราเชื่อในความสำคัญของหลักนิติธรรม เชื่อว่าเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคล เชื่อว่ารัฐต้องอยู่ใต้การตรวจสอบ โดยกลไกและกระบวนการเหล่านี้ และทุกคนต้องอยู่ใต้ระบบนี้อย่างเสมอภาค มันก็จะนำมาสู่ ‘การสร้างคุณค่า’ ที่ทุกคนเชื่อในระบบกฎหมาย ศรัทธาในระบบกฎหมาย เชื่อในระบบยุติธรรม

    แต่ผมเองไม่แน่ใจว่าเวลาเราไปพูดแบบนี้มันดูเชยไหม เข้าใจยากไหม หรือหลุดไปจากสิ่งที่กำลังคุยในประเทศไทยหรือไม่ พอไปคุยในเวทีที่จะต้องทำโรดแมปเรื่องรัฐธรรมนูญ รู้สึกว่าเราไปกันคนละมุม

    “ผมจำไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญของเราฉบับที่เท่าไหร่ แต่ถ้าเราจะร่างใหม่ เราจะร่างเพื่อให้มันเป็นฉบับสุดท้ายหรือเปล่า จะร่างให้มันเป็นหลักประกันอย่างที่ผมพูดมาหรือเปล่า หรือเราจะปรับไปเรื่อยๆ พอการเมืองใหม่มา ก็ปรับใหม่ หรือจะอย่างไร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผมคิดว่าเราจะต้องนำมาคลี่ดูกัน”

    ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ

    ทำอย่างไรให้หลักนิติธรรมไม่เป็นแค่ Abstract Theory แต่ทำให้จับต้องได้ เกิดขึ้นได้จริง

    ดร.กิตติพงษ์กล่าวว่า จากสิ่งเหล่านี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเคลื่อนยังไง เพราะผมพูดเรื่องนี้มายาวนานมากแล้ว ผมรู้สึกเหมือนมันยังติดค้างอยู่ เพราะเราพยายามปฏิรูปมาตลอดชีวิต แต่รู้ว่ามันไม่สำเร็จ เพราะเราไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงและทำให้คนอื่นเห็นว่าสรรพสิ่งเหล่านี้มันเชื่อมโยงกัน

    “ไม่สามารถทำให้คนเห็นว่าประชาธิปไตยที่จะได้มานั้นมันจำเป็นต้องมีธรรมาภิบาลที่ดีอยู่ด้วย ไม่สามารถทำให้คนเห็นว่าธรรมาภิบาลที่ดี ถ้ามันไม่มีเขี้ยวเล็บจากหลักนิติธรรม ก็ไม่สามารถนำไปสู่การสร้างดุลยภาพของประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และ Rule of Law ได้”

    “อย่างไรก็ตาม ผมได้ชวนเพื่อนๆ เครือข่ายหลายท่านมาทำหลักสูตร RoLD โดยมีแนวคิดเรื่อง SDGs (Sustainable Development Goals) ที่จะครบรอบในปี 2030 เป็นพื้นฐาน ซึ่งมันมี SDGs ข้อ 16 ที่ให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรม เป็นการ Mainstream เรื่อง Rule of Law ว่าสำคัญไม่ใช่เฉพาะนักกฎหมาย”

    แต่หากจะไปอีกขั้นหนึ่ง ถ้าเรารู้ว่ามันสำคัญและถูก Mainstream แล้ว จะทำอย่างไรให้มันไม่เป็นแค่ Abstract Theory แต่ทำให้มันจับต้องได้ ทำให้เกิดขึ้นได้จริง

    ขณะนี้มีองค์กรที่ TIJ จับมือเพื่อจะเข้ามาทำเรื่องนี้กับเรา ก็คือ “World Justice Project” (WJP) ซึ่งเขาจัดกรอบเรื่องหลักนิติธรรมคล้ายกับสิ่งที่ผมพูด แต่อาจจะทำได้ดีกว่า

    WJP มองว่ามี 4 ข้อสำคัญที่จะทำให้ประชาชนมอบอำนาจให้รัฐไปปกครอง จะทำให้ผู้ปกครองปกครองโดยกฎหมาย แล้วนำไปสู่ความยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน นำมาสู่สังคมที่เป็นธรรม

    WJP บอกว่ามันต้องเริ่มต้นจาก

    1. “Accountability” กลไกการจัดโครงสร้างอำนาจรัฐ รัฐธรรมนูญทั้งหลาย กลไกตรวจสอบทั้งหลายมันต้องมี Accountability System ที่มันเหมาะสมถ่วงดุล ฉะนั้นมันเป็นเรื่องใหญ่มาก

    2. เรื่อง “Just Law” กระบวนการออกกฎหมายโดยชอบที่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

    3. จะต้องมีกระบวนการที่เป็น “Open Government” ทำให้เกิดความโปร่งใส มีข้อมูลเพียงพอมีคนเข้าไปตรวจสอบได้

    4. เรื่องของ “Accessible and Impartial Justice” มีกระบวนการ Enforce เข้าถึงได้กับคนทุกกลุ่ม นำไปสู่การใช้กฎกติกานั้นอย่างเป็นธรรม

    นอกจากนี้ ข้อที่เป็นบวกของ WJP เขายังแยกเป็น Factor ที่เป็น Outcome-based 8 ข้อ แล้วไปดูว่าสังคมที่เขามีหลักนิติธรรมเขาจะวัดยังไงว่ามันมีจริงไหม ก็ไปทำสำรวจถามผู้เชี่ยวชาญ ถามประชาชน

    เขาไม่ได้ไปดูว่า Definition มันคืออะไร แต่เขาไปวัดที่ผลเลยว่าในสังคมที่มีหลักนิติธรรมมันมีความโปร่งใสแค่ไหน, มีการคอร์รัปชันมากหรือน้อย, มี Fundamental Rights ได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่, รัฐถูกตรวจสอบกำกับควบคุมอำนาจอย่างเหมาะสมหรือเปล่า การเปลี่ยนผ่านอำนาจรัฐโดยกระบวนการประชาธิปไตยเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ เป็นต้น แน่นอนว่ามันอาจเป็นกลไกที่ไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ทำเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน และทำได้ในระดับหนึ่ง

    ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมประเทศไทยตกต่ำมาก และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

    ดังนั้น สิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นประโยชน์ที่จะทำตอนนี้ คือขณะนี้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยแล้ว ก็พยายามไปชวนไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ก็อยากให้เข้ามาทำเรื่องนี้

    เพราะว่าก่อนหน้านี้ความขัดแย้งมันเกิดขึ้นจากการเอากฎหมายไปใช้เป็นเครื่องมือแห่งอำนาจ โดยไม่ได้คำนึงถึงกลไกเหล่านี้ และเอาชนะคะคานกัน เมื่อเข้ามามีอำนาจ ไม่ว่าฝ่ายใดก็ทำเหมือนเดิม ทำเหมือนกัน ก็นำไปสู่วัฎจักรของความเลวร้ายที่ทำให้ประเทศเราตกหล่มลงไปเรื่อยๆ

    ผมก็หวังว่า 20 ปีที่ผ่านมาทุกฝ่ายจะเห็น แล้วช่วยกันถอยออกมาว่าเว้นไว้สักเรื่องได้ไหม แล้วมาช่วยกันทำให้ระบบความยุติธรรม ระบบนิติธรรมมันเติบโตพัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นความคิดที่หวังว่าจะเกิดขึ้นได้

    และด้วยความที่ปีนี้ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ของประเทศไทยตกต่ำที่สุดเลยตั้งแต่มีการวัดมา ตกต่ำลงไปมาก คะแนนดิ่งเหวลงไปเหลือ 0.49 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 1) และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

    ตรงนี้จึงทำให้เราไปคุยกับท่านนายกรัฐมนตรี ท่านก็บอกว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องของการช่วยขับเคลื่อนประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศได้ เรื่องนั้นก็เป็นมุมหนึ่ง

    “แต่ผมคิดไปไกลกว่านั้นว่ามันอาจจะเป็นกติกา ซึ่งถ้าทุกคนเห็นร่วมกัน อย่างน้อยมันจะทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น In Broad Daylight มันมีสาเหตุนะ มันไม่ใช่เรื่องปกตินะ เราเป็นกบถูกต้มอยู่ในอ่างซึ่งเราไม่รู้หรือเปล่า”

    คนอื่นเขามองมาจากข้างนอก ดูพฤติการณ์บางอย่างที่เรามองว่ามันปกติ เขาคงตกใจว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง แต่เราไม่รู้สึกอะไร พรุ่งนี้ถ้าจะเห็นข่าวในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเราก็ไม่ตื่นเต้นแล้ว เพราะมันไม่สามารถจะตื่นเต้นได้มากกว่านี้แล้ว

    แต่มันจะเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ หรือเปล่า เป็นคำถามที่ผมคิดว่าเราคงมาคุยกันสนุกๆ ไม่ได้ และถ้ามันเป็นเช่นนั้น เราจะปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ หรือเปล่า เราจะมาคลี่หรือจะไปบอกพวกเราว่าจะทำยังไง ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็อยากชวนพวกเรามาทำงาน

    ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ

    ความสัมพันธ์ของหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และประชาธิปไตย

    ดร.กิตติพงษ์กล่าวว่า จากประสบการณ์เห็นว่า ความสัมพันธ์ของหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และประชาธิปไตย เป็นสิ่งสำคัญ ตอนผมเริ่มงานเรื่องนี้ เราเป็นนักกฎหมาย พยายามที่จะแก้กฎหมายเพื่อไปกำกับอำนาจตำรวจ ทำให้กระบวนการมันดีขึ้น แต่พบว่ากฎหมายอย่างนั้นไม่มีทางถูกขับเคลื่อนได้เลยโดยระบบการเมืองของเรา

    เมื่อมีโอกาสเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็พยายามเอากลไกนี้ไปใส่ในรัฐธรรมนูญ ก็พบว่าปัญหามันซับซ้อนมากขึ้น เพราะโยงไปสู่เรื่อง Governance ของประเทศ โยงไปสู่เรื่องความไม่โปร่งใสสูงไปกว่าแค่กระบวนการยุติธรรม และโยงไปไกลถึงความขัดแย้งทางประชาธิปไตยเริ่มมีปัญหา

    เพราะฉะนั้นผมจึงรู้สึกโดยส่วนตัวว่า ถ้าจะไปตั้งกรอบว่าจะปฏิรูปตำรวจอย่างไร โจทย์ผิดตั้งแต่ต้น เพราะทำดียังไง ก็คงไม่สามารถไปใช้ได้จริง ฉะนั้นองค์ความรู้อาจไม่ใช่ประเด็น แต่อาจเป็นเรื่องอะไรก็ไม่รู้ที่มันไม่เกิด แต่ในมุมของผม เราต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เราอยากได้มันไม่สามารถแก้ได้ตรงๆ

    ทำไม Regulatory Guillotine ไม่เกิด มันไม่ใช่เรื่องไม่รู้หรือเปล่า มันเป็นเรื่องรู้ แต่ไม่อยากทำหรือเปล่า หรือมันเรื่องอะไร อาจจะไม่จำเป็นใช้ตัวอย่างประเทศเกาหลีมาดูด้วยซ้ำ ถ้าจะทำจริง เราก็ทำได้ เพียงแต่ว่า ไม่ทำเพราะอะไร ดุลพินิจยังสำคัญอยู่หรือเปล่า มันสำคัญเพราะอะไร

    เพราะฉะนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่โยงไปสู่เรื่องที่กว้างกว่าแค่เรื่องของกฎระเบียบหรือองค์ความรู้ มันอาจจะโยงไปสู่ระบบ Governance ใหญ่ของประเทศ อาจจะโยงไปสู่เรื่องความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของอำนาจ นี่คือบทเรียนที่ผมได้เรียนรู้

    ดังนั้นผมคิดความหวังของเราอยู่ที่ 4 ข้อสำคัญ คือ Transparency, Accountability, Participation, และ Collaboration ผมเชื่อว่าความโปร่งใสและการตรวจสอบคือหัวใจ ถ้าเราสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นโดยข้อมูลที่ประชาชาชนได้รับ โดยเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นของประชาชน โดยระบบการเข้าไปร่วมมือของประชาชนร่วมกัน มันจะนำไปสู่กระบวนการที่ดีขึ้นได้

    แม้มันจะไม่สามารถแยกเรื่องได้ แต่ผมเชื่อว่าแนวคิด 4 ข้อนี้ ไม่ว่าจะเป็น Transparency Accountability การมีส่วนร่วมของประชาชน และความร่วมมือกันของภาคประชาชนทุกภาคส่วน มันจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหายากๆ ทุกเรื่อง

    ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ

    ผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้จริง เพื่อไม่ให้เป็น Lost Century

    ดร.กิตติพงษ์กล่าวว่า ถ้าเวลา 100 ปีมันสั้น ผมยังมองในเชิงให้กำลังใจตัวเองว่าในบางประเทศ กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญมันเป็นตัวเร่งได้ มันมีเรื่องที่เป็น Affirmative Action ได้ เช่น ถ้าเราคิดว่าผู้หญิงไม่เท่าเทียมกัน แล้วก็ต้องเร่งปฏิกิริยาซึ่งมันเป็นมาหลายร้อยปีให้เร็วขึ้น มันก็มี Affirmative Action ได้

    ประเทศเกาหลีเขามี People Power หลังเราด้วยซ้ำ ทำไมรัฐธรรมนูญเขาสามารถจะทำให้อำนาจของประชาชนเปลี่ยนมาเป็นโครงสร้างซึ่งเร่งให้เกิดการต่อสู้ การเข้ามาคุ้มครองสิทธิประชาชน จนทำให้เขาก้าวหน้ามาได้

    “คือผมพยายามพูดให้เห็นว่า มันก็สามารถจะปักธงได้ว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า จะมีอะไรที่เป็นรูปธรรมมั้ย ที่จะทำให้ 100 ปี ไม่เป็น Lost Century เรามี Lost Decade มาเยอะแล้ว ถ้าเรามี Lost Century อีก มันก็น่าเสียดาย ดังนั้นมันน่าจะต้องทำอะไรมั้ย”

    ดร.กิตติพงษ์เล่าว่า ในช่วงที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ไปเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ผมก็สนใจเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ยังจำได้ว่าตอนนั้นไม่มีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเลย รัฐธรรมนูญปี 2540 พูดกันเฉพาะเรื่องของการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่พูดเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่พวกเราอยากทำกันเอง

    และยังจำได้ว่าท่านประธานกรรมาธิการยกร่างฯ คือท่านอานันท์ (ปันยารชุน) ท่านเก่งมาก ท่านมีความอดทนที่จะฟังคนนั้นคนนี้พูดคุยและสรุปประเด็นที่จะขับเคลื่อนต่อไป

    แต่วันหนึ่งท่านมาบอกกับกลุ่มพวกผมว่า ถ้าคุณไม่หยุดดีเบตเรื่องอำนาจสอบสวน ซึ่งทะเลาะกันมากมาย รัฐธรรมนนูญฉบับนี้จะไม่ผ่านนะ คุณดร็อปลงหน่อยได้ไหม เพราะว่าคนยังไม่เข้าใจการต่อสู้เรื่องอำนาจสอบสวน

    เพราะฉะนั้น มันไม่ได้เป็น Agenda อยู่ในความตั้งใจของการร่างแต่เบื้องต้น ถามว่าทำไม เพราะตอนนั้นแค่กระบวนการยุติธรรมมันก็ซับซ้อนมากที่จะเชื่อมโยงและเข้าใจว่ามันคืออะไร

    แต่ถ้า Fast Forward มาตอนนี้ ไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ผมอยากให้เรื่อง Rule of Law มันน่าจะเป็นหัวใจด้วยหรือไม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

    ว่าถ้าคุณต้องการรัฐธรรมนูญที่จะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามผู้มีอำนาจใหม่เข้ามา จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย มันน่าจะตั้งโจทย์มั้ยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องสถาปนาหลักนิติธรรมให้ได้

    ถ้าเป็นเช่นนั้น มันอาจจะไม่เป็นนามธรรมมากนัก ถ้าเรามาดูว่าอะไรที่สำคัญก่อน เช่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การจัดโครงสร้างที่เหมาะสม การถ่วงดุลที่ดีระหว่างกัน การมีองค์กรชี้ขาดซึ่งมีที่มายึดโยงกับประชาชน การปรับระบบผู้ที่เข้ามาเป็นนักกฎหมายและส่วนอื่นๆ ด้วย ให้เป็นนักยุติธรรมมากขึ้น ให้เข้าใจแนวคิดปรัชญาเหล่านี้มากขึ้น ฯลฯ ซึ่งมันมีอะไรหลากหลายที่ต้องทำ แม้มันอาจจะทำไม่ได้ในวันเดียว แต่ว่าถ้าเราไม่เข้าใจปัญหา ไม่เข้าใจสมมติฐานของปัญหาก่อน มันก็คงแก้ยาก

    แต่ถ้าเราเข้าใจว่ามันเป็นเพราะขาดหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญมันน่าจะเป็นหัวใจสำคัญหรือไม่ในการที่จะมาสถาปนาเรื่องนี้โดยเริ่มต้น แต่ถ้าเรามาคุยกันเรื่องรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ผมไม่เคยเห็นการคุยกันเลยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันจะมาทำให้ Rule of Law ดีขึ้นยังไง

    เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องมาคิดเรื่องของอะไรที่เป็นตัวเปลี่ยนแปลงจริง สมมติรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งเรื่อง หรือเรื่องการมี Open Government การเปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก ไม่เปิดเป็นข้อยกเว้น การมี Collaboration มี Participation ที่ดี มีเทคโนโลยีที่ดีเข้าไปตรวจสอบได้ เอาไปใช้ประโยชน์ได้ เราดันเรื่องนี้มั้ย ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้จริง เป็นต้น

    ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ

    หลักนิติธรรมที่ดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมกันทำเอง

    ดร.กิตติพงษ์มองว่าถ้าพวกเราจะไปสู่ Strategy ที่จะเป็น Effective อาจจะต้องค่อยๆ มาดูว่าเราทำอะไรได้บ้างในความเป็นจริง และไม่ท้อถอยที่จะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าต่อไป โดยมีเป้าหมายร่วมกัน

    ที่สำคัญผมมองว่า การที่มีคนอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่นักกฎหมายมาพูดเรื่องนิติธรรมเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะ TIJ มักพูดเสมอว่า Rule of Law ไม่ใช่ Rule by Lawyer เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนร่วมจะมาทำด้วยกัน

    “ผมคิดว่าตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ และไม่ใช่เป็นเรื่องของการไปฝากคนนั้นคนนี้ทำ เพราะในที่สุด ถ้าไปรอว่าเมื่อไหร่รัฐบาลไหนจะทำ เมื่อไหร่พรรคไหนจะทำ เมื่อไหร่องค์กรไหนจะทำ มันไม่เกิดหรอกครับ ผมว่าเราต้องเดินทำไปร่วมกัน”

    และหวังว่าวงมันจะขยายใหญ่ไปเรื่อยๆ เราก็จะตกผลึกร่วมกันมากขึ้นเรื่อยๆ และมีมุมมองที่จะไปเล่าเพื่อนๆ หรือเครือข่ายของเราเรื่อยๆ ว่าต้องมาร่วมกันทำแบบนี้ มันไปรอใครทำไม่ได้

    “จำได้ว่าสมัยร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ท่านก็เข้าไปเป็นหลักด้วย ท่านก็จะมีสโลแกนบอกว่ารัฐธรรมนูญที่ดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องร่วมสร้าง ผมก็พยายามมาปรับใช้ว่า “หลักนิติธรรมที่ดีก็ไม่มีขายเหมือนกัน อยากได้ต้องร่วมกันทำเอง” ดร.กิตติพงษ์กล่าวทิ้งท้าย