ThaiPublica > เกาะกระแส > เวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม ครั้งที่ 2 กลไกภาคประชาชนสำคัญต่อการขับเคลื่อนหลักนิติธรรมอย่างไร?

เวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม ครั้งที่ 2 กลไกภาคประชาชนสำคัญต่อการขับเคลื่อนหลักนิติธรรมอย่างไร?

21 เมษายน 2024


เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดเวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม (The Rule of Law Forum) ครั้งที่ 2 “From Abstract Theory to Tangible Actions: Strategies for Effective Rule of Law Reform” โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กลไกภาคประชาชนกับการขับเคลื่อนหลักนิติธรรม”

  • “กิตติพงษ์ กิตยารักษ์” ชี้ไทยสอบตกหลักนิติธรรม ปมใหญ่ ‘ความขัดแย้ง-การตกหล่มของประเทศที่ไปต่อไม่ได้’
  • กลางวันแสก ๆ “In Broad Daylight” คำถามที่คาใจ “หลักนิติธรรมไทย”
  • เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดเวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม (The Rule of Law Forum) ครั้งที่ 2 “From Abstract Theory to Tangible Actions: Strategies for Effective Rule of Law Reform” โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนหลักนิติธรรมในมิติต่างๆ มาอภิปรายใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

    1. บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการขับเคลื่อนหลักนิติธรรม 2. การพัฒนาข้อมูลเปิดภาครัฐสู่การสร้างรัฐบาลโปร่งใส (open government) 3. การปฏิรูปกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจของประเทศไทย (ease of doing business) และ 4. กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    หลักนิติธรรมที่เชื่อในประชาธิปไตยและมองคน “เท่ากัน”

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดประเด็นว่า พื้นฐานสำคัญของหลักนิติธรรมคือการเชื่อในเรื่องประชาธิปไตยและยอมรับว่าคนเท่ากัน ตราบใดที่ยังมีองค์กร สถาบัน หรือปัจเจก มองคนไม่เท่ากัน ถือว่าไม่ได้เป็นไปตามหลักนิติธรรม

    ดร.อรอรกล่าวว่า เคยมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า คนไทยไม่ได้มองว่าคนไทยเท่ากัน ขณะที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจหลายคนก็ไม่ได้มองว่าคนไทยเท่ากัน ถ้าคนเท่ากันจริง ต้องแตะได้ทุกเรื่อง แตะได้ทุกองค์กร แตะได้ทุกปัญหา แตะได้ทุกมาตราของกฎหมายทุกฉบับ และแตะได้ทุกคน นี่คือหลักนิติธรรมที่ประเทศไทยกำลังต้องการ

    “ไม่ได้ชี้มือว่าใคร แต่กำลังชี้กลับมาที่คนไทยทุกคนว่ามันฝังอยู่ในวัฒนธรรมเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำว่าชาวบ้าน คำว่าต่างจังหวัด คำว่าท้องถิ่น คำเหล่านี้แฝงไปด้วยนัยของการมองคนไม่เท่ากันที่แสดงออกมาในเชิงภาษา และสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่ประเทศไทยยังไปไม่ถึงในเรื่องของการยอมรับว่าทุกคนเท่ากัน”

    “ดังนั้น ถ้าเรายอมรับว่าทุกคนเท่ากัน จะทำให้เราเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งที่ไม่ใช่แค่เรื่องของมนุษย์กับมนุษย์ แต่ยังเชื่อมโยงมนุษย์กับระบบสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง” ดร.อรอร กล่าว

    “Open Data” กลไกสร้างรัฐบาลที่โปร่งใส

    นายวริทธิ์ อยู่สบาย นักวิเคราะห์อาวุโส สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา DGA มีความพยายามจะขับเคลื่อนให้ open data เป็นกลไกในการสร้างรัฐบาลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ประชาชนเข้าถึงภาครัฐผ่านการเปิดเผยข้อมูล

    ทั้งนี้ ได้เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์ม “data.go.th” ขึ้นมาเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานรัฐนำข้อมูลมาเปิดเผย ต่อมาได้พัฒนาระบบ “ภาษีไปไหน?” หรือ govspending.data.go.th ขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง โดยมุ่งเน้นไปที่การเปิดเผยข้อมูลสำคัญของประเทศ อย่างเช่น ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง, ข้อมูลงบประมาณภาครัฐ เป็นต้น

    อย่างไรก็ดี ช่วงแรกของการขับเคลื่อนทำได้ค่อนข้างยากจากอุปสรรคด้านกฎระเบียบและความไม่มั่นใจของเจ้าหน้าที่ในการนำข้อมูลมาเปิดเผย แต่ต่อมาหน่วยงานต่างๆ ก็ยินดีที่จะส่งข้อมูลให้เพื่อนำมาพัฒนาระบบ govspending ทำเป็น dashboard กราฟให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย

    ปัจจุบัน GDA ได้เข้าไปร่วมมือกับสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการกำหนดตัวชี้วัดขึ้นมาให้หน่วยงานรัฐมีระบบชุดข้อมูลใช้เป็นของตัวเอง โดยสามารถติดตั้งระบบบัญชีข้อมูล หรือ “data catalog” ของตัวเองได้ด้วย

    นอกจากนั้น ยังเสริมหลักการเรื่องธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ หรือ “data governance” เข้าไปช่วยขับเคลื่อน data catalog ทั้งในส่วนที่เป็น open data และ non-open data เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ มีธรรมาภิบาลและน่าเชื่อถือมากขึ้น พร้อมทั้งเน้นเรื่องการทำ “single source of truth” หรือการนำชุดข้อมูลที่เปิดเผยมาจากต้นทางหรือจากเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง

    นายวริทธิ์ระบุว่า ปัจจุบันมีข้อมูลที่ได้ทำการเชื่อมกับ data catalog ของหน่วยงานภาครัฐเปิดเผยอยู่บน data.go.th กว่า 11,000 ชุดข้อมูล โดยหลังจากนี้จะเพิ่มจำนวนชุดข้อมูลให้มากขึ้นจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งแปลงข้อมูลภาครัฐเชิงลึกที่น่าสนใจมาเปิดเผยในลักษณะ machine readable ให้ได้มากที่สุด

    “ข้อมูลเปิดภาครัฐ” จุดเริ่มต้นสร้างการมีส่วนร่วม-ต่อต้านคอร์รัปชัน

    นายณัฐภัทร เนียวกุล หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม บริษัท แฮนด์วิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวถึงประเด็นการใช้ข้อมูลเพื่อเป็นกลไกในการป้องกันคอร์รัปชันว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนและเอกชนมองเห็นปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจากดัชนีวัดระดับการรับรู้การคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index หรือ CPI) และดัชนีวัดระดับหลักนิติธรรม (Rule of Law Index หรือ RoL) ที่มีคะแนนและอันดับตกต่ำลง

    แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนการรับรู้ดังกล่าวได้มากกว่าแค่การสื่อสารเพื่อให้เกิดรัฐบาลที่โปร่งใส “…วันนี้ หากประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เขาทำอะไรได้บ้างนอกจากการร้องเรียน และเขาจะปลอดภัยแค่ไหนที่จะสามารถร้องเรียนได้” นายณัฐภัทรกล่าว

    นายณัฐภัทรกล่าวด้วยว่า หลักการสำคัญของการเป็นรัฐบาลที่โปร่งใส คือ ต้องมีความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และการรับผิดรับชอบ แต่อีกสิ่งสำคัญที่ประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมได้คือการมี “ข้อมูล” โดยเฉพาะข้อมูลภาครัฐที่หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยต่อสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ

    เนื่องจากรัฐไม่ได้สร้างข้อมูลนี้ขึ้นมาเอง แต่เป็นการเก็บรวบรวมจากประชาชนและสังคม ดังนั้น การมองข้อมูลข่าวสารของรัฐเป็นข้อมูลสาธารณะ ย่อมเปลี่ยนการรับรู้ของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลได้

    “ปัจจุบันเวลาเราจะขอข้อมูล รัฐจะบอกให้ทำจดหมายหรือหนังสือมาขอ พร้อมบอกเหตุผลมาด้วยว่าทำไมต้องเอาข้อมูลนั้นไปใช้ เพราะนั่นคือข้อมูลของรัฐ แต่ถ้าเรามองว่าข้อมูลเหล่านี้คือข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนสามารถนำไปทำอะไรก็ได้ นำไปใช้แบบไหนก็ได้ นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน” นายณัฐภัทรกล่าว

    “WeVis” พลังของคนธรรมดา กับการมีส่วนร่วมสร้างรัฐที่โปร่งใส ผ่านเทคโนโลยีและข้อมูลเปิด

    นางสาวธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง WeVis หนึ่งในกลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน หรือ “civic technology” ที่ทำงานเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเล่าว่า WeVis คือคนธรรมดาที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า open government คืออะไร และไม่เข้าใจว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมกับคำว่ารัฐที่โปร่งใสได้อย่างไร แต่จากความไม่รู้ ทำให้อยากรู้ และคิดหาคำตอบว่าจะทำอะไรได้บ้าง

    นางสาวธนิสรากล่าวว่า ปัจจุบัน WeVis ทำงานเปิดเผยข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบนักการเมือง รวมถึงการตรวจสอบรัฐสภา หนึ่งในโปรเจกต์ที่ทำคือ “parliment watch” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดช่องทางให้ประชาชนจับตาดูการทำงานของสมาชิกรัฐสภาทั้งในส่วน ส.ส. และ ส.ว.

    แต่จากประสบการณ์ทำงานช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พบปัญหาและความท้าทายในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล การมีส่วนร่วม และการเข้าไปทำงานกับภาครัฐ โดยเฉพาะความยากในการติดตามข้อมูลของทางรัฐสภา รวมถึงข้อมูลหน่วยงานราชการไทย ที่ค่อนข้างกระจัดกระจายอยู่พอสมควร

    ยกตัวอย่างเช่น หากจะติดตามผลโหวตการเสนอกฎหมายต่างๆ เข้าไปใสภา เราต้องเข้าไปอ่านไฟล์ PDF จำนวนมากตั้งแต่วันแรกที่เสนอร่างฯ ไปจนถึงวันออกบังคับใช้กฎหมาย โดยใช้เวลาสรุปข้อมูลอย่างต่ำ 100 กว่าวัน จึงไม่มีใครมานั่งตาม ยกเว้นเด็กๆ ใน WeVis ที่ตามอยู่ แล้วนำมาสรุปเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย

    เช่นเดียวกับชุดข้อมูลรัฐสภา ที่กว่าจะได้มาต้องยื่น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ แยกออกเป็นสองชุดเข้าไปที่สำนักเลขาฯ สส. และ สว. แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือแผ่นซีดี ต้องให้น้องวิ่งไปซื้อเครื่องเล่นซีดี พอเปิดออกมาก็เป็นไฟล์ภาพ ต้องให้โปรแกรมเมอร์ช่วย
    แปลงข้อมูลเป็นตาราง Excel แล้วถึงจะนำมาขึ้นเว็บไซต์ได้

    รวมไปถึงการติดปัญหาในประเด็น PDPA แต่ก็ได้พยายามอธิบายว่า PDPA ไม่ใช่การบอกให้ปิด แต่เปิดอย่างไรโดยไม่สร้างผลเสียหายกับเรื่องที่เป็นข้อมูลละเอียดอ่อนและหากจะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า data governance (ธรรมาภิบาลข้อมูล) ในองค์กร

    อย่างไรก็ดี กฎหมาย PDPA ออกบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2562 แต่เชื่อหรือไม่ว่ารัฐสภายังไม่มี data governance ขณะที่อีกหลายองค์กรรัฐก็ยังไม่มีเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราจะหวังให้เขาเปิดข้อมูลและเปิดแบบเป็นปกติอาจจะเป็นเรื่องยาก

    “ดังนั้น เราจึงทำแบบนี้มาตลอด 4 ปี ดูเหมือนง่ายแต่ก็ใช้เวลาพัฒนามาเรื่อยๆ โดยที่จริงๆ แล้วต้องบอกว่าประชาชนได้สิทธิ์น้อยกว่าที่คิดในการเข้าถึงข้อมูล” นางสาวธนิสรากล่าวพร้อมกับเสนอว่า ควรจะมีตัวกลางที่เชื่อมการทำงานระหว่างรัฐกับภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมที่อยากจะขับเคลื่อนสังคมเพื่อช่วยกันสร้างรัฐที่โปร่งใสไปในทางที่ดีขึ้น

    “WeVis ยังสนใจทำอีกหลายเรื่อง อยากรู้อยากเห็นอีกหลายอย่าง หวังว่าในอนาคต ถ้ามีภาคเอกชนหรือ TIJ ที่พอจะประสานสัมพันธ์ให้เรากับใครสักคนได้ ก็อาจจะทำให้พลังของประชาชนคนธรรมดา สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างรัฐที่โปร่งใสได้มากขึ้น”

    นางสาวอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

    ออกกฎหมายใหม่ อำนวยความสะดวกประชาชน

    นางสาวอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจว่า รัฐบาลปัจจุบันโดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (คปธ.) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน เพื่อแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน แบ่งเป็น 4 คณะอนุกรรมการฯ ทำงาน ประกอบด้วย

    คณะที่ 1 ด้านการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ มีศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ เป็นประธาน, คณะที่ 2 ด้านการพัฒนาระบบการอนุญาตหลัก (super license) มีนางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ เป็นประธาน, คณะที่ 3 ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ เป็นประธาน, และคณะที่ 4 ด้านการผลักดันพลังงานสะอาด (clean energy) มีนายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา เป็นประธาน

    ทั้งนี้ ในแต่ละคณะฯ จะมีวาระเร่งด่วนที่ตอบโจทย์จุดอ่อนของภาคเอกชน ยกตัวอย่างเช่น คณะที่ 2 ด้านการพัฒนาระบบการอนุญาตหลัก จะดูเรื่องการประกอบกิจการร้านอาหาร การทำธุรกิจโรงแรม การขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน โดยจะเลือกเรื่องที่ไม่ยากเกินไปและเป็นไปได้ขึ้นมาทำก่อน

    นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. … ตามที่ ก.พ.ร. เสนอ แทน พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อตอบโจทย์ ease of doing business (ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ) โดยมีนวัตกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายฉบับนี้

    เช่น การขยายขอบเขต พ.ร.บ.ฯ, การปรับลดจากใบอนุญาตเป็นจดทะเบียน ขึ้นทะเบียนจดแจ้ง, การจัดให้มีช่องทาง fast track, การชำระค่าธรรมเนียมแทนการต่ออายุใบอนุญาตโดยไม่ต้องขอเอกสารเพิ่ม, มีระบบการอนุญาตหลัก หรือ super license เป็นต้น

    นางสาวชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ

    กระบวนการแก้ไขฟื้นฟูและลดการกระทำผิดซ้ำ ที่มีคนเป็นศูนย์กลาง

    นางสาวชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ กล่าวถึงปัญหาเรือนจำไทยว่าคือหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐนำมาใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนในฐานะเป็นเครื่องมือการลงโทษ แต่คำถามใหญ่คือคุกสามารถลดการกระทำผิดซ้ำได้จริงไหม

    ทั้งนี้ งานวิจัยหลายประเทศระบุว่าคุกที่มีลักษณะเน้นการลงโทษ ไม่ได้ช่วยลดการกระทำผิดซ้ำได้ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยในอิตาลีซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้ต้องขังราว 2 หมื่นคนที่เคยผ่านเรือนจำที่มีสภาพความเป็นอยู่แออัดและมีคนตายสูง พบว่าเมื่อผู้ต้องขังออกมาแล้ว กลับทำผิดสูงกว่าเดิม ไม่ได้ช่วยแก้ไขคนได้

    ส่วนจำนวนผู้ต้องขังในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2010-2020) พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการกระทำผิดซ้ำในไทยก็มีตัวเลขที่สูงเช่นกัน โดยมีการกระทำผิดซ้ำเกิดขึ้นในหนึ่งปีกว่า 13% ขณะที่ตัวเลขล่าสุดจากกรมราชทัณฑ์ที่เปิดเผยออกมาในปี 2565 พบผู้กระทำผิดซ้ำในหนึ่งปีสูงกว่า 17% คำถามก็คือ การแก้ไขฟื้นฟูในปัจจุบันที่มีอยู่ในเรือนจำอาจจะต้องกลับมาทบทวนดูว่าทำได้ดีเพียงพอหรือยัง

    ที่น่าสนใจกว่านั้น จากจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีอยู่กว่า 280,000 คน เป็นผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดเป็นครั้งแรกสูงกว่า 40% ซึ่งผู้ต้องขังส่วนใหญ่ยังมาจากคดียาเสพติดกว่า 70%

    นายชลธิชกล่าวว่า การจะลดการกระทำผิดซ้ำได้ กระบวนการในเรือนจำต้องดี แต่กระบวนจะดีไม่ได้หากเรือนจำยังมีคนล้นอยู่แบบทุกวันนี้ ดังนั้นคำถามแรกคือ ใครคือคนที่ควรจะอยู่ในเรือนจำ “ใช้เรือนจำเท่าที่จำเป็น” ได้ไหม

    “วันนี้เรามีทั้งคนที่ทำผิดคดีเล็กน้อย แม้กระทั่งกลุ่มคนยาเสพติดก็เป็นคดีตัวเล็กๆ ขายยาเสพติดหรือมียาเสพติดไว้ในครอบครอง เรามีผู้ต้องขังที่มีความเห็นต่างทางการเมืองที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ซึ่งหลายประเทศพยายามส่งเสริมให้ยกเลิกลักษณะฐานความผิดเหล่านี้

    “หรือเรามีคนที่ไม่ได้เป็นภัยอันตรายต่อสังคม เช่น คนที่อายุมากแล้ว คนกลุ่มนี้ก็ยังอยู่ในเรือนจำอีกมากมาย ฉะนั้น เราใช้เรือนจำเฉพาะกรณีที่จำเป็นได้หรือเปล่า”

    ประการที่สองคือ สภาพแวดล้อมเรือนจำที่เอื้อต่อการแก้ไขฟื้นฟูควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร ในประเด็นนี้ TIJ พยายามจะเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่า ถ้าเรือนจำไม่ใช่ทัณฑสถาน เราจะทำให้เป็น “โอกาสสถาน” ได้หรือไม่

    การเพิ่มนิยามใหม่ การเปลี่ยนชื่อ การรีแบรนด์สถานที่ในการคุมขังให้ช่วยลดความน่ากลัว ลดความเป็นภาพของคุกที่โหดร้ายลง รวมไปถึงกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง และการเปิดพื้นที่สำหรับทางแก้ไขใหม่ๆ

    “สุดท้ายเราคงต้องมองหาวิธีการแก้ไขใหม่ๆ สิ่งเดิมๆ ที่เราเคยใช้อยู่ กระบวนการลงโทษแบบเดิมๆ การแก้ไขฟื้นฟูแบบเดิมๆ ถ้ามันไม่เวิร์กแล้วมันยังมีอะไรอีก เพราะฉะนั้น การเปิดใจหรือการมีพื้นที่สำหรับการทดลองอะไรใหม่ๆ ก็อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าจะทดลองดู”

  • จาก “นักโทษล้นคุก” ถึงวิกฤติหลักนิติธรรม กับ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล”
  • นายชลธิชกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ TIJ เวลาเราพูดถึงกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูและลดการกระทำผิดซ้ำ เรามักจะพูดถึงคอนเซ็ปต์เรื่องการมีคนเป็นศูนย์กลางซึ่งหมายถึง “ผู้กระทำผิด”, “เจ้าหน้าที่” รวมถึง “สังคมและชุมชน”

    สำหรับผู้กระทำผิด มันมีเส้นบางๆ ระหว่างความเป็นงานกับการเพิ่มทักษะที่เรายังแบ่งไม่ชัด แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเราไม่รู้ความต้องการของบุคคลจริงๆ ว่างานที่เราฝึกให้เขา เขาสามารถทำได้จริงไหม มันตอบโจทย์ตลาดแรงงานจริงหรือเปล่า หรือสะท้อนความต้องการและทักษะในชีวิตเขาจริงหรือเปล่า

    แต่กระนั้น การจะทำสิ่งใดๆ ให้กับผู้กระทำผิด คงทำได้ยากหากเจ้าหน้าที่ในเรือนจำยังมีภาระงานจำนวนมากหรือไม่มีเครื่องมือในการช่วยเหลือดูแล ดังนั้น TIJ จึงพยายามให้ความสำคัญว่าจะมีเครื่องมือ ตัวไหนเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในการใช้ข้อมูลของผู้ต้องขัง เพื่อประโยชน์ในการทำโปรแกรมการลงโทษที่เอาความต้องการเฉพาะบุคคลเป็นที่ตั้ง หรือ sentence plan

    ทั้งนี้ การทำดังกล่าวได้ต้องมาจากการเก็บข้อมูล และเป็นข้อมูลที่ไม่ตายตัว สามารถเห็นพัฒนาการของคนได้ และใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบโปรแกรม เพราะหากคนไม่พอ เทคโนโลยีก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้

    หรือแม้แต่การเสริมทัศนคติให้เจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจใหม่ ว่าความไม่เสมอกันของอำนาจระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขังมีอยู่เสมอ และสะท้อนออกมาในผลลัพธ์เชิงลบหลายมิติ ดังนั้นการเสริมทัศนคติและเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่เพิ่มเติม เป็นส่วนหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ

    ส่วนสุดท้ายคือการมองถึงผู้คนในสังคมและคนในชุมชนทั่วไปที่สามารถมีส่วนร่วมได้ เพราะการลดการกระทำผิดซ้ำไม่ใช่งานของกรมราชทัณฑ์เพียงฝ่ายเดียว แต่สิ่งที่ TIJ พยายามจะสร้างคือ social partnership model ผ่านแซนด์บ็อกซ์ที่เรียกว่า Restart Academy หรือ “โรงเรียนตั้งต้นดี” ซึ่งเป็นโรงเรียนเปลี่ยนชีวิตสำหรับผู้ที่ออกมาจากเรือนจำและอยากเริ่มต้นใหม่

    “ไอเดียการทำโรงเรียนตั้งต้นดี คือการทำ schooling model เพราะเรารู้สึกว่าการออกจากเรือนจำ บางคนอาจยังไม่มีความพร้อม หรือเรือนจำมันสร้างกำแพงในการกลับคืนสู่สังคมหลากหลายมิติ ดังนั้นหากมีการเสริมตรงนี้ก็น่าจะช่วยได้

    “ขณะเดียวกัน เรายังมีคนที่มาช่วยโครงการนี้เยอะมาก ทั้งนักจิตวิทยา นักออกแบบ นักนิเทศ นักสื่อสาร นักข้อมูลเรารู้สึกว่าคนเหล่านี้เขาไม่เคยทำงานกับเรือนจำ แต่รู้สึกว่าโปรเจกต์ลักษณะนี้สามารถดึงคนมาร่วมกันได้

    “และเราคิดว่า การทำงานโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง เราต้องฟังเสียงผู้ต้องขัง ฟังเสียงผู้พ้นโทษ โครงการนี้เราใช้ระบบ peer support ทุกคนมารวมกัน แล้วออกแบบกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน แล้วก็มองว่ากฎเกณฑ์ที่เวิร์คสำหรับเขาคืออะไร เพื่อสร้างแรงสนับสนุนซึ่งกันและกัน เอาประสบการณ์ของคนหนึ่งแชร์ให้อีกคนหนึ่ง”

    “เพราะสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผู้ต้องขังเวลากลับเข้าสู่สังคมคือ เขาไม่มีกลุ่มก้อน ไม่มีคนที่เป็น positive peer ที่จะดึงเขาออกจากวงจรการกระทำผิดซ้ำได้” นายชลธิชกล่าว