ThaiPublica > เกาะกระแส > Open Data โดยประชาชนมีส่วนร่วม “เปิดเผยเป็นหลัก-ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” สร้างความเป็นธรรมในสังคม

Open Data โดยประชาชนมีส่วนร่วม “เปิดเผยเป็นหลัก-ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” สร้างความเป็นธรรมในสังคม

27 พฤศจิกายน 2018


เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ Change Fusion และภาคีเครือข่ายจัดเสวนาเรื่อง “Open Data และ AI เพื่อความยุติธรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วม”- ภาพ:สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

หนึ่งในเทรนด์ยุคปัจจุบันที่ถูกมองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเรื่องการพัฒนาความยุติธรรมในสังคมไทยและโลกได้ คือการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล หรือ “Open Data” ผ่านโซเชียลมีเดียหรือเทคโนโลยี ซึ่งจะเอื้อให้คนเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่ายุคแอนะล็อก

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ Change Fusion และภาคีเครือข่ายจัดเสวนาเรื่อง “Open Data และ AI เพื่อความยุติธรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วม” โดยชวนนักคิดและนักปฏิบัติจากหลายวงการในประเทศไทยมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ

เปิดเผย “ข้อมูล” เป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น

ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบัน TIJ ระบุว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ได้ผลจะต้องเรียนรู้จากความล้มเหลวเรื่องวิธีคิดคนในระบบยุติธรรมและคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเรียนรู้จากเรื่องธรรมาภิบาล (governance) เนื่องจากระบบยุติธรรมทำงานภายใต้ระบบธรรมาภิบาลและระบบการเมืองของประเทศ หากสองระบบดังกล่าวไม่อยู่ในสภาพที่ดี กระบวนการยุติธรรมจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ยาก

ทั้งนี้ การปฏิรูประบบยุติธรรมในปัจจุบันควรจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ โดยประชาชนสามารถรวมตัวกันขับเคลื่อนผ่านโซเชียลมีเดีย สร้างระบบเทคโนโลยีที่ดีขึ้นมาดูหรือตรวจสอบสังคมได้โดยไม่รอภาครัฐอย่างเดียว เช่น ตรวจสอบการใช้ภาษีในการบริหารราชการได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ภาครัฐต้องเปิดประตูให้คนเข้าไปดูการทำงานได้ ตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่ดี ซึ่งสามารถเป็นไปได้

“ถ้าเราสามารถทำให้ข้อมูลของภาครัฐสามารถเป็นสิ่งที่เปิดเผยได้เป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น ทำให้เป็น Open Data ที่ไม่ใช่ระบบแอนะล็อก และสามารถประมวลผลได้ จะนำไปสู่การตรวจสอบความโปร่งใสได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญและน่าจะมีโอกาสทำได้เพราะเทคโนโลยีขณะนี้พัฒนาก้าวไกลไปมาก แต่เราจะต้องช่วยกันคิดว่าจะทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร”

4 เทรนด์ Open Data สร้างความเป็นธรรมแบบมีส่วนร่วม

นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเทรนด์ที่จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาความยุติธรรมในสังคมโลกและไทยได้อย่างน้อย 4 เรื่อง ประกอบด้วย

1. Digital Democracy-Open Government: ประชาธิปไตยแบบดิจิทัลเชื่อมโยงกับรัฐเปิด  ตัวอย่างเช่น  vTaiwan.tw เป็นเว็บไซต์พัฒนานโยบายสาธารณะจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศไต้หวัน

2. Smart Transparency-Open Access: ความโปร่งใสที่จัดการได้โดยกึ่งอัตโนมัติ เช่น โครงการท่าอากาศยานในประเทศตุรกีที่มีการทำแผนภาพร่วมกับสื่อท้องถิ่นเป็น Open Data ว่าบริษัทใดได้สัมปทาน ใครเป็นกรรมการ ฯลฯ สามารถคลิกเข้าไปดูความเชื่อมโยงได้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

3. Predictive Management: การทำนายเพื่อการจัดการ เช่น การทำนายอุบัติเหตุจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถทำนายการเกิดอุบัติเหตุล่วงหน้าโดยเชื่อมโยงกับระบบกูเกิลแมป ช่วยลดอุบัติเหตุได้เฉลี่ยปีละประมาณ 5 %

4. Natural Language Interface: การใช้ภาษาธรรมชาติในการเชื่อมกับเทคโนโลยี คือทำให้คนกับเทคโนโลยีเชื่อมต่อกันได้ง่ายขึ้น โดยโยงกับความรู้สึกไม่ยุติธรรมของคน เช่น แชทบอท DoNotPay Bot แก้ปัญหาการเก็บค่าปรับการจอดรถที่ไม่เป็นธรรมผ่านระบบเอไอ สามารถคืนค่าปรับได้นับแสนราย

ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า หลายประเทศทั่วโลกมีกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศในด้านต่างๆ โดยนำเทคโนโลยีบางส่วนเข้ามาสนับสนุน เช่น เกาหลีใต้ อาร์เมเนีย มองโกเลีย ฯลฯ สำหรับประเทศไทยมองว่าเรื่องนี้ยังคิดและทำอยู่ในกรอบจำกัด  แต่ประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรให้มีพลังในการขยายผลให้เกิดขึ้นทั้งประเทศจากเครือข่ายและโครงการต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก

4 เรื่องที่หน่วยงานรัฐควรเปิดเผยข้อมูล

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ชี้ว่า ปัญหาสำคัญเรื่องการเปิดเผยข้อมูลไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นวิธีคิดเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ หากไม่สามารถทลายสองเรื่องนี้ได้ก็ไม่สามารถ Open Government ได้แน่นอน

อย่างไรก็ดีขอเสนอ  4 เรื่องที่หน่วยงานภาครัฐควรเปิดเผยข้อมูล คือ 1. ข้อมูลพื้นฐาน “การจัดซื้อจัดจ้าง” อย่างละเอียดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ 2. เปิดเผยข้อมูล “การเบิกจ่ายงบประมาณ” แบบเรียลไทม์ 3. เปิดเผยข้อมูล “ภาษี” อย่างโปร่งใสโดยเฉพาะภาษีทรัพย์สิน และ 4. เปิดเผยข้อมูล “กระบวนการยุติธรรม” โดยเฉพาะคดีสำคัญๆ เพื่อไม่ให้เรื่องเงียบหายไป

เสียงจากสื่อสังคมออนไลน์กับความยุติธรรม

นายกล้า ตั้งสุวรรณ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไวซ์ไซท์ จำกัด องค์กรจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียในประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ “ความยุติธรรมกับข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์” ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา พบว่าประชาชนกล่าวถึงเรื่องความยุติธรรมในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก เช่น คดีค้ามนุษย์, ประเทศกูมี, นักมวยเด็กเสียชีวิต, คดีโกงข้าวหมื่นกล่อง, เลือดข้นคนจาง เป็นต้น

นอกจากนี้ ประชาชนมักจะใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการเสนอความเห็นและรวมพลังกัน รวมทั้งเป็นพื้นที่ให้เกิดการขุดคุ้ยจนเกิดเพจประเภทนักสืบขึ้นมามากมาย อย่างไรก็ดี เมื่อถูกภาครัฐเรียกไปลงทะเบียน เพจเหล่านี้ก็ค่อยๆ ขุดคุ้ยน้อยลง

“โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่ประชาชนบางส่วนรู้สึกเจ็บแค้น เพราะเขามีส่วนร่วมและพยายามใช้พื้นที่นี้กระพือเรื่องต่างๆ ไว้ไม่ให้หายไปไหน เช่น กรณีทายาทกระทิงแดง สื่อโซเชียลมีเดียก็ช่วยกระพือข่าวอยู่เรื่อยๆ หรือกรณีคดีเสือดำก็มีการช่วยกระพือข่าวอยู่ต่อเนื่องเพื่อให้ยังอยู่ในสายตาสื่อและสังคมไปเรื่อยๆ”

นายกล้าสรุปว่า พื้นที่บนโซเชียลมีเดียหรือสื่อสังคมเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการ “ฟัง” และ “ปรับปรุง” แล้วดูว่าเรื่องต่างๆ ดีขึ้นหรือยัง แต่จะเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่จะให้ความสำคัญ แต่อย่างน้อยสะท้อนว่ามีข้อมูลอยู่ในสื่อสังคม เป็นพื้นที่เดียวกันในการฟังแล้วนำไปสู่การแก้ไขเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งโซเชียลมีเดียจะเป็นหนึ่งในวิธีการปลดล็อกให้ผู้บริหารนโยบายระดับประเทศสามารถฟังประชาชนได้เร็วขึ้น