ThaiPublica > คอลัมน์ > “งดออกเสียง” มีผลทางกฏหมายแค่ไหน

“งดออกเสียง” มีผลทางกฏหมายแค่ไหน

4 สิงหาคม 2024


พิเศษ เสตเสถียร

“งดออกเสียง” คำนี้เป็นคำหนึ่งที่เรามักจะได้ยินเวลามีการลงมติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ “งดออกเสียง” ที่เราจะพูดถึงกันวันนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง หากแค่เป็นการนับคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นหรือคณะกรรมการในบริษัทมหาชน

ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ที่ลงเงินมาในบริษัท เป็นเจ้าของบริษัทตามส่วนการลงทุนของตน ถือหุ้นมากก็เป็นเจ้าของมาก ถือหุ้นน้อยก็เป็นเจ้าของน้อย ดังนั้น เมื่อจะต้องตัดสินเรื่องใดในบริษัท ก็ต้องตัดสินกันด้วยคะแนนโหวตตามสัดส่วนของความเป็นเจ้าของ ซึ่งก็คือตามจำนวนหุ้นที่ถือนั่นเอง

ตามปกติของการลงคะแนนเสียงก็ตัดสินกันด้วยเสียงข้างมาก แต่เสียงข้างมากนั้นก็จะขึ้นอยู่กับว่า เป็นคะแนนเสียงข้างมากจากจำนวนเท่าใด เพราะกฎหมายจะกำหนดคะแนนเสียงข้างมากไว้แตกต่างกัน

เพราะฉะนั้น เสียงข้างมากในแต่ละกรณีจึงไม่เหมือนกัน และในกรณีที่มีคนงดออกเสียงลงคะแนน จะมีผลเป็นเช่นไร

ในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน มาตรา 107 บัญญัติว่า

“เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นนั้นให้ประกอบด้วยคะแนนเสียงดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีปกติ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและออกเสียงลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

(2) ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน”

สมมติว่า ในบริษัทมหาชนแห่งหนึ่งมีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แบ่งเป็น 100,000 หุ้น มีราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท ผู้ถือหุ้นก็จะมีคะแนนเสียงทั้งหมดอยู่ 100,000 เสียง

ตามมาตรา 107 นี้ได้กำหนดเรื่องการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นไว้ว่า

(1) ถ้าเป็นการลงคะแนนเสียงในกรณีปกติก็ให้ใช้คะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและออกเสียงลงคะแนน

จากตัวอย่างของเรา กรณีจะเป็นมติได้ก็ต้องได้ความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น 50,001 เสียง (สมมติว่าผู้ถือหุ้นมาประชุมครบ 100,000 เสียง)

คราวนี้ ถ้าหากในการประชุมวาระนั้นมีผู้ถือหุ้นงดออกเสียง (ด้วยเหตุอะไรก็ตามแต่) อยู่ 20,000 เสียง ทำให้ผู้ถือหุ้นที่ออกเสียงลงคะแนนเหลืออยู่ 80,000 เสียง

มาตรา 107 (1) ก็บอกว่า เสียงข้างมากคือ 40,001 เสียง เพราะถือเอาเสียงที่มาประชุมและออกเสียงเท่านั้น อีก 20,000 เสียงที่งดออกเสียงก็ถือว่าไม่ได้ออกเสียง

เพราะฉะนั้น ในกรณีเช่นนี้ ผู้ที่งดออกเสียงโดยคิดว่าจะไปตัดเสียงข้างมากได้ จะกลายเป็นทำให้ฝ่ายที่ต้องการเสียงข้างมากใช้คะแนนเสียงน้อยลงไปอีก

(2) กรณีตามมาตรา 107 (2) เป็นกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญกว่ากรณีมาตรา 107 (1) เช่น การขายหรือโอนกิจการของบริษัท กฎหมายก็เลยบอกว่า จะเป็นมติได้ก็ต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

จากตัวอย่างเดิม กรณีที่จะถือเป็นมติ ก็จะต้องเพิ่มเป็น 75,000 เสียง จากคะแนนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง ถึงแม้จะมีผู้ถือหุ้นบางคนงดออกเสียงก็ตาม

ทั้งนี้เพราะกฎหมายกำหนดว่า ต้องได้สามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน จึงไม่เกี่ยวกับว่ามีใครจะงดออกเสียงหรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถึงมีคนงดออกเสียงก็ไม่ได้มีผลอะไร แต่ผู้ที่ต้องการให้เกิดมติก็จะต้องไปหาคะแนนเสียงเห็นชอบมาเพิ่มเพื่อให้เป็นมติตามกฎหมาย

มาตรา 54/1 บัญญัติว่า

“บทบัญญัติมาตรา 54 วรรคสอง มิให้นำมาใช้บังคับกับกรณีที่บริษัทปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกหุ้นใหม่เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุนซึ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน”

มาตรา 54 วรรคสองบัญญัติไว้ว่า

“ในการชำระค่าหุ้น ผู้จองหุ้นหรือผู้ซื้อหุ้นจะขอหักกลบลบหนี้กับบริษัทไม่ได้”

หมายความว่า เวลาเราไปซื้อหุ้น เราต้องชำระค่าหุ้นเป็นเงินสดเสมอ (ยกเว้นบางกรณีที่ชำระด้วยสิ่งของ เช่น เครื่องจักร) แต่ถ้าบริษัทเป็นหนี้เราอยู่ เราจะบอกว่า เราขอเอาหนี้ชำระเป็นค่าหุ้น ให้บริษัทออกหุ้น (ที่ชำระด้วยหนี้) ให้เรามีมูลค่าเท่ากับหนี้ แล้วหนี้นั้นเป็นอันหักกลบลบไป เช่นนี้ไม่ได้ เพราะไม่งั้นอาจจะมีการสร้างหนี้ปลอมขึ้นมาแล้วเอาหักลบกัน ทำให้ผลสุดท้ายบริษัทไม่ได้มีเงินค่าหุ้นอยู่จริง

แต่ในมาตรา 54/1 ที่เพิ่มเข้ามาทีหลังก็บอกว่า ถ้าเป็นบริษัทมีโครงการแปลงหนี้เป็นทุนที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติแล้วว่า ให้ออกหุ้นใหม่ที่ชำระด้วยหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของบริษัทได้ ข้อสำคัญคือต้องเป็นโครงการแปลงหนี้เป็นทุนเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทกับเจ้าหนี้ทั้งหมด ไม่ใช่ทำกับเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง

โครงการแปลงหนี้เป็นทุนที่ว่านี้จะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

ดังนั้น ในการอนุมัติโครงการแปลงหนี้เป็นทุนตามมาตรา 54/1 นี้ ก็เช่นเดียวกันคือการงดออกเสียงไม่มีผลอะไรต่อคะแนนรวม แต่ผู้ที่ต้องการให้เกิดมติก็จะต้องไปหาคะแนนเสียงเห็นชอบมาเพิ่มเพื่อให้เป็นมติตามกฎหมาย

(ยังมีต่อ)