ThaiPublica > คอลัมน์ > มอง Libra ในแง่ของกฎหมาย

มอง Libra ในแง่ของกฎหมาย

5 กรกฎาคม 2019


พิเศษ เสตเสถียร

ที่มาภาพ : https://www.forbes.com/sites/francescoppola/2019/06/30/the-real-threat-from-facebooks-libra-coin/#3

การที่ Facebook ประกาศออกเงินดิจิทัลชื่อ Libra โดยหวังว่าจะให้เงิน Libra นี้เป็นเงินดิจิทัลของโลก (global currency) อย่างน้อยก็หวังว่าจะมีผู้ใช้ Facebook ซึ่งตอนนี้มีอยู่หลายพันล้านคนเป็นผู้ใช้เงินดิจิทัลนี้ โดยมีพันธมิตรที่ร่วมคิดการใหญ่เริ่มแรกที่เป็นบริษัทชั้นนำถึง 28 ราย เช่น Facebook, Mastercard, PayPal, Visa, eBay, Spotify, Uber, Lyft, Vodafone, กองทุน Andreessen Horowitz ฯลฯ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ผู้เขียนในฐานะที่เป็นนักกฎหมายก็ย่อมจะสนใจเป็นพิเศษในแง่กฎหมายว่ามีผลอย่างไร แต่ก็ยังไม่เจอข้อมูลที่ชัดเจนในทางกฎหมายว่าเป็นอย่างไร ก็เลยลองเอามาคิดเล่นดูว่า ถ้าเงินดิจิทัลนี้ออกมาจะมีผลในทางกฎหมายไทยอย่างไร ประกอบกับพอดีไปเจอบทความเรื่อง “Libra – One coin to rule them all?” ของคุณ Paschalis Lois แห่งสำนักงานกฎหมาย Burges Salmon ในประเทศอังกฤษ ที่พูดถึงประเด็นกฎหมายของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เลยเอามาเป็นข้อมูลประกอบการเขียน

Libra เป็นแขนงหนึ่งของบล็อกเชนที่เป็น open-source คือเปิดกว้างให้ใครก็ได้ไปพัฒนาต่อยอดได้โดยอาศัยสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) Libra นั้นมุ่งหวังที่จะเป็นเงินดิจิทัลของโลก ฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า Libra ย่อมจะเป็นเงินตราอิเล็กทรอนิกส์สกุลหนึ่งที่กฎหมายเรียกว่า cryptocurrency ซึ่งตามพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2562ได้บัญญัติว่า “คริปโทเคอร์เรนซี” หมายความว่า “หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด”

ถึงแม้ Libra จะเป็น open-source แต่การที่จะสามารถต่อบล็อกเชนเข้ากับบล็อกที่มีอยู่แล้วได้นั้นก็จะต้องมี “การรับรองรายการ” หรือ validate เสียก่อน ซึ่งในขณะนี้ผู้รับรองรายการก็คือผู้ร่วมก่อตั้งของ Libra ทั้ง 28 ราย บรรดาผู้รับรองรายการ (validators) ทั้งหลายนั้นจะเป็นเจ้าของโทเคนซึ่งมีชื่อว่า “Libra Investment Tokens” (LIT) ซึ่งเป็นผลตอบแทนของการลงทุนในบล็อกเชนดังกล่าว โทเคนนี้จะให้สิทธิออกเสียงในการรับรองรายการ รวมทั้งการกำหนดทิศทางของโครงการ นอกจากนี้ยังจะให้สิทธิในเงินปันผลแจกสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งหากการประกอบกิจการมีผลกำไร

ในพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ได้นิยามความหมายของ “โทเคนดิจิทัล” ไว้ว่าหมายถึง “หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

(1) กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ

(2) กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

ในบรรดาเงินดิจิทัลทั้งหลายนั้น จะมีวิธีการรับรองความถูกต้องของความมีอยู่ซึ่งเรียกว่า consensus protocol ซึ่งมีวิธีการที่แตกต่างกันอยู่หลายวิธี เช่น วิธีคำนวณแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ วิธีการลงคะแนนเสียง วิธีการเลือกให้มีผู้รับรองความถูกต้อง ฯลฯ ซึ่งแต่ละวิธีก็จะใช้เวลาและทรัพยากรที่แตกต่างกัน อย่างเช่น Bitcoin การรับรองความถูกต้องของเหรียญจะใช้ consensus protocol ที่เรียกว่า proof of work ต้องทำการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เมื่อได้คำตอบแล้วก็จะมีการประทับตราโดยเฉพาะให้บล็อกนั้น (เป็นการประทับตราทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่ถือตราเดินไปประทับนะครับ) และก็จะถือว่าบล็อกของเหรียญนั้นได้รับการรับรองความถูกต้องแล้ว แต่วิธีการ proof of work นี้จะมีต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการตอบปัญหาทางคณิตศาสตร์นั้นเป็นปริมาณหน่วยที่สูงมาก

ส่วน consensus protocol ของ Libra นั้นเรียกว่า LibraBFT ซึ่งคล้ายกับวิธีการของเหรียญ Ripple ซึ่งจะใช้วิธีคล้ายกับการลงคะแนนเสียงของผู้รับรอง จนกระทั่งได้คะแนนเสียงมากพอที่จะรับรองบล็อกเชนนั้น วิธีการนี้เรียกเป็นภาษาเทคนิคว่า Byzantine fault tolerance

Libra มีสถานะเป็นเงินดิจิทัลชนิดที่เรียกว่า stablecoin คือมีสินทรัพย์หนุนหลัง ซึ่งต่างจากเหรียญเงินดิจิทัลรุ่นแรก เช่น XRP, Bitcoin, Ether, หรือ Litecoin ที่ไม่มีอะไรหนุนหลังนอกจากความเชื่อถือของผู้ถือเงินดิจิทัลชนิดนี้ แต่ Libra มุ่งหวังที่จะเป็นเงินดิจิทัลของโลก ดังนั้นจึงต้องมีสินทรัพย์หนุนหลังเพื่อลดความผันผวนในค่าเงิน (ที่ไม่มีอะไรหนุนหลัง) ของเงินดิจิทัลเหล่านี้

stablecoin พูดอย่างง่ายๆ ก็คือเงินดิจิทัลที่กำหนดค่าไว้ตายตัวกับเงินตราที่ใช้กันอยู่จริง (fiat currency) หรือสินทรัพย์อย่างอื่น เงินที่เป็น stablecoin ถูกออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนเรื่องราคาที่มีในเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ ซึ่งมีราคาขึ้นลงตามความต้องการของตลาด การที่ stablecoin มีราคาที่คงตัวไม่ผันผวนมากนั้นทำให้ stablecoin ได้รับความนิยมแทนเงินสด สามารถเก็บรักษาในรูปแบบของเงินดิจิทัล และมีความรวดเร็วในการชำระราคา (settlement) เงิน stablecoin ที่เป็นที่รู้จักกันก็อย่างเช่น “MUFG Coin” ของกลุ่มธนาคาร Mitsubishi UFJ Financial Group ที่กำหนดค่าไว้ 1:1 กับเงินเยนของญี่ปุ่น หรือ “Circle USDC” ที่กำหนดค่าไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ ใครที่สนใจเรื่องของ Stablecoin ก็ไปดูได้ที่เอกสารของสำนักงานกฎหมาย Allen & Overy

Stablecoin ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยตรง ก็ถือเป็น “โทเคนดิจิทัล” อย่างหนึ่งตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลักษณะอย่างอื่นๆ ของ stablecoin ก็ถือเป็นข้อสัญญาที่ตกลงกันเองในระหว่างผู้ออกเหรียญกับผู้ถือเหรียญ

ที่มาภาพ : https://www.pymnts.com/cryptocurrency/2019/david-marcus-defends-libra-as-payments-champion-for-the-unbanked/

เพื่อให้ Libra เป็น stablecoin เหรียญ Libra แต่ละเหรียญก็จะมีเงินกองทุน (reserve) หนุนหลัง เงินกองทุนนี้แรกเริ่มจะประกอบด้วย (1) เงินทุนที่สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งได้ชำระเป็นค่า LIT รายละ 10 ล้านดอลลาร์ (Libra Association เป็นหน่วยงานที่จะหาผู้มาร่วมเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง (founding member) ซึ่งจะมีทั้งหมด 100 ราย Libra Association คาดว่าจะมีเงินเริ่มต้น 1,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท) (2) เงินตราที่นำมาแลกเปลี่ยนเป็นเหรียญ Libra ซึ่งเงินในเงินกองทุนทั้งหมดนี้จะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องแต่ให้ผลตอบแทนต่ำ (มิใช่นำไปหากำไร) เงินกองทุนนี้จะใช้ในกรณีที่มีผู้นำ Libra มาเปลี่ยนกลับเป็นเงินตราปกติ เป็นค่าใช้จ่ายของ Libra Association และจ่ายเป็นเงินปันผลแก่นักลงทุนรุ่นแรกในกรณีที่มีเงินเหลือ

มีคำถามว่า Libra เป็นตราสารการเงิน (financial instrument) ตามกฎหมายอังกฤษหรือไม่? คุณ Lois ก็บอกว่าน่าจะเป็น เพราะ Libra มีลักษณะเป็นหลักประกัน

สำหรับสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งนั้น โทเคน LIT จะให้สิทธิที่เป็นอำนาจในการตัดสินใจรวมทั้งสิทธิที่จะได้เงินปันผล แต่ทว่ากระบวนการดังกล่าวนั้นต้องผ่านขั้นตอนทางเทคนิคและธุรกิจมากมายหลายประการ เช่น จะต้องหาเงินกองทุนให้ได้ 1 พันล้านดอลลาร์เสียก่อน รวมทั้งยังต้องใช้บุคคลและอุปกรณ์ในการที่จะทำกระบวนการรับรองความถูกต้องอีกมากมาย เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการเสนอขายโทเคนนั้นจะเป็นการเสนอขายต่อนักลงทุนสถาบันมากกว่าต่อประชาชน

เมื่อนำเงิน Libra ออกมาขายให้คนซื้อก็อาจจะถูกถือว่าเป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนตามพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งผู้จะขายจะต้องปฏิบัติตามประกาศที่เกี่ยวข้อง คือ ต้องมาขออนุญาตจากสํานักงาน ก.ล.ต. และต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสํานักงาน ก.ล.ต.ด้วย ยกเว้นแต่ว่าเข้าข้อยกเว้น 3 ประการที่จะถือว่าเป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อบุคคลในวงจำกัด (private placement) คือ

(1) การเสนอขายต่อบุคคลที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

    (ก) ผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่
    (ข) นิติบุคคลร่วมลงทุนหรือกิจการเงินร่วมลงทุนตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน

(2) การเสนอขายต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 50 รายภายในรอบระยะเวลา 12 เดือน โดยผู้ลงทุนดังกล่าวเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ออกโทเคนดิจิทัล

(3) การเสนอขายที่มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20 ล้านบาทภายในรอบระยะเวลา 12 เดือน

นอกจากนี้คุณ Lois ยังมีความเห็นว่า Libra ยังมีลักษณะของโทเคนดิจิทัลเพื่อการชำระเงิน/การใช้ประโยชน์ (payment/utility token) มากยิ่งกว่าเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment) เพราะมีวัตถุประสงค์ที่จะอำนวยความสะดวกในการทำรายการหรือการโอนบนเครือข่ายการเงินของ Libra แต่ก็อาจจะมีการใช้ในลักษณะอื่นได้ตามที่คู่สัญญาจะตกลงกัน

ในขณะเดียวกัน Facebook ก็ได้เปิดบริษัทในเครือชื่อ Calibra (และเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งของ Libra ด้วย) ขึ้นมาเพื่อพัฒนากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (virtual wallet) สำหรับใส่เงิน Libra โดยมีวิธีการใช้ผ่านโปรแกรม Messenger ใน Facebook หรือผ่านโปรแกรม Whatsapp หรือโปรแกรมอิสระอย่างอื่น ความตกลงในเรื่องของ Calibra ก็จะเป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ ของการเป็นเจ้าของ wallet ซึ่งมีผลเป็นข้อสัญญาที่ตกลงกันเองในระหว่างคู่สัญญาเช่นกัน

แต่คุณ Lois ก็บอกว่า ยังมีความห่วงเรื่องข้อมูลการเงินบน Calibra ในเรื่องความเป็นส่วนตัว ว่าจะถูก Facebook ในฐานะเจ้าของระบบมาแอบดูหรือแอบใช้ข้อมูลดังกล่าวได้ ซึ่ง Facebook ก็ได้มายืนยันว่า “Calibra will not share account information or financial data with Facebook or any third party without customer consent” (Calibra จะไม่แบ่งปันข้อมูลของบัญชีหรือข้อมูลทางการเงินแก่ Facebook หรือบุคคลที่สามใดๆ โดยปราศจากความยินยอมของลูกค้า) ดังนั้น หัวใจของความสำเร็จจึงอยู่ที่ความเชื่อมั่นของผู้ใช้ ซึ่งในขณะนี้รัฐสภาของสหรัฐฯ ก็กำลังพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าวอยู่ (ตามข่าวล่าสุดแจ้งมาว่า รัฐสภาของสหรัฐมีหนังสือร้องปล่อยให้หยุดพัฒนา Libra ชั่วคราวเนื่องจากยังมีปัญหากฎหมายที่ไม่แจ้งชัดหลายประการรวมทั้งเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลนี้)

ที่มาภาพ : https://techcrunch.com/2019/07/03/facebook-libra-cryptocurrency/

ในบ้านเราก็มี พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่เพิ่งประกาศใช้ไป ถ้ามีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เวลาคนไปซื้อ Libra กันต้องกรอกข้อมูล วันเดือนปีเกิด อยู่ที่ไหนทำอะไร ฯลฯ แบบนี้เป็นข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายบัญญัติว่า “….จะกระทำการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้หากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนหรือในขณะนั้น” (มาตรา 19) ขณะเดียวกันก็ “..ให้เก็บรวบรวมได้เท่าที่จำเป็นภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมาย…” (มาตรา 22) เก็บแล้วก็ห้ามเอาไปเปิดเผยหรือเอาไปขาย ใครฝ่าฝืนก็ต้องมีโทษทางกฎหมายปรับทางปกครอง เรื่องความเป็นส่วนตัวนี้เป็นเรื่องใหม่ของบ้านเรา ผู้คนอาจจะยังไม่คุ้นเคยนัก แต่ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป (บทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวจะมีผลใช้บังคับวันที่ 28 พฤษภาคม 2563) จะมีปัญหากฎหมายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวให้เราได้เห็นกัน

ตอนนี้ Libra อาจจะยังไม่มีอะไรชัดเจนมากนักเพราะอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่คุณ Lois กล่าวว่า Libra ตั้งความหวังไว้สูงมากที่จะเติมเต็มช่องว่างของคนที่ไม่อาจเข้าถึงระบบสถาบันการเงิน ซึ่ง Libra ประมาณว่ามีอยู่ 31% ของประชากรในโลก เงินดิจิทัลที่เกี่ยวกับการเงินอย่างเช่น Ripple, JPM Coin และ World Wire ก็มุ่งเน้นไปใช้ในสถาบันการเงินมากกว่าเพื่อการชำระเงินทั่วไป ในขณะที่ Libra นั้นมีความเป็นมิตร สะดวกในการใช้มากกว่า

ในขณะเดียวกัน Libra กำลังพัฒนาภาษาที่ใช้ในโปรแกรม (programming language) ชื่อ Move เพื่อใช้บนสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) บนเครือข่ายของตนเอง ซึ่งมีศักยภาพเหนือกว่าสัญญาอัจฉริยะอื่นที่ใช้กันในบล็อกเชน

คุณ Lois ทิ้งท้ายว่า เราอาจจะได้เห็นต่อไปว่าสงครามของเงินดิจิทัล (cryptowar) มาถึงจุดสิ้นสุด และการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของตลาดอาจจะเกิดขึ้นแทน