ThaiPublica > คอลัมน์ > Big Four กับการรุกคืบเข้าสู่วงการกฎหมาย

Big Four กับการรุกคืบเข้าสู่วงการกฎหมาย

26 เมษายน 2019


พิเศษ เสตเสถียร

ที่มาภาพ : https://www.ft.com/content/4219750e-612a-11e9-a27a-fdd51850994c

เป็นที่ทราบกันดีว่าการแข่งขันระหว่างสำนักงานกฎหมายใหญ่ของโลกนี้คือ การแข่งขันระหว่างค่ายประเทศสหรัฐอเมริกาและค่ายประเทศอังกฤษ สำนักงานกฎหมายระดับ Top Ten ของโลกก็จะมีแต่สำนักกฎหมายจาก 2 ค่ายใหญ่นี้ แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีคู่แข่งกระโดดเข้ามาในสนามอีกหนึ่งค่ายและกำลังรุกคืบหน้าชนิดที่ใครอยู่ในตลาดมาก่อนก็จะต้องจับตามอง คู่แข่งที่เข้ามาใหม่นั้นก็คือ คู่แข่งจากค่าย Big Four

Big Four หมายถึงสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ 4 แห่งซึ่งได้แก่ PwC, Deloitte, EY และ KPMG ซึ่งเราท่านรู้จักกันดีเพราะทั้ง 4 สำนักงานนี้รับตรวจสอบบัญชีให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกินครึ่ง แต่ทั้ง 4 แห่งนี้ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจที่ปรึกษามากกว่าธุรกิจการสอบบัญชี

ในปัจจุบัน Big Four เป็นกลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำรายได้รวมกันราว 150,000 ล้านดอลลาร์คิดเป็น 40% ของตลาดรวมทั้งหมด หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานว่า รายได้ด้านที่ปรึกษาของ Big Four สูงขึ้น 44% ตั้งแต่ปี 2555 ในขณะที่รายได้ด้านการสอบบัญชีสูงขึ้นเพียง 3%

อันที่จริง Big Four ทำธุรกิจด้านกฎหมายมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่ได้เป็นจริงเป็นจังนัก ส่วนใหญ่ก็คงเน้นอยู่ที่งานด้านภาษีอากร และงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับงานสอบบัญชีเช่น จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท การขอใบอนุญาตทำงานคนต่างด้าว เป็นต้น แต่ตอนนี้ Big Four กำลังขยับขยายขอบเขตของการทำธุรกิจกฎหมายมาในด้านที่คล้ายกับสำนักงานกฎหมายมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

เริ่มด้วยเมื่อเดือนกันยายน 2560 PwC ก็เปิดสำนักงานงานกฎหมายชื่อ ILC Legal ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อช่วยลูกค้าชาวอเมริกันในเรื่องที่เกี่ยวกับต่างประเทศ ในเดือนกรกฎาคมปีถัดมา Deloitte ก็ซื้อกิจการด้านต่างประเทศของสำนักงานกฎหมาย Berry Appleman & Leiden ซึ่งมีสำนักงานทั้งหมด 9 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา

ต่อมาในเดือนสิงหาคม EY ก็เข้าซื้อสำนักงานกฎหมายชื่อ Riverview Law ในเมือง Manchester ประเทศอังกฤษ ที่เป็นที่ฮือฮากันมากก็คือ Riverview Law เป็นเจ้าของระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการให้บริการทางกฎหมาย และโดยแพลตฟอร์ม AI นี้ทำให้ EY จะเป็น disruptor ของวงการกฎหมายโดยการก้าวกระโดดจากธุรกิจกฎหมายที่ใช้คนเป็นหลักมาเป็นปัญญาประดิษฐ์

ในเดือนกันยายนปี PwC ก็เข้าเป็นพันธมิตรกับสำนักงานกฎหมาย Fragomen ซึ่งทำงานเกี่ยวกับกฎหมายคนเข้าเมืองของสหรัฐอเมริกา และมีสำนักงานสาขากว่า 50 แห่งในทุกทวีปของโลก

ขณะเดียวกัน KPMG ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสำนักงาน Fidal สำนักงานกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส แต่พึ่งมายุติการเป็นพันธมิตรกันเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 แล้ว KPMG ก็ดึงนักกฎหมายจาก Fidal ให้ออกมาอยู่กับตนถึง 130 คน ทาง Fidal คงจะยัวะจัดก็เตรียมจะฟ้อง KPMG ด้วยข้อหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม(unfair competition)

ทางฝ่าย Deloitte ก็ว่าจ้างนาย Michael Castle ซึ่งเป็น partner และเป็นอดีตผู้เข้าแข่งขันเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของสำนักกฎหมาย Allen & Overy (ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าสำนักงานชั้นนำที่ในวงการกฎหมายอังกฤษเรียกว่า Magic Circle) ให้มาเป็นหัวหน้าของสำนักงานกฎหมาย Deloitte ในประเทศอังกฤษ

ในตอนนี้ การแข่งขันของ Big Four ย้ายมาที่ทวีปเอเซีย เริ่มด้วย PwC ที่เปิดสำนักงานกฎหมาย Tiang & Co. ในฮ่องกงเมื่อปี 2560 แล้วก็ระดมการจ้างทนายความจาก law firm ใหญ่ ๆ เช่น King & Wood Mallesons, Mayer Brown JSM’s, Jones Day และ O’Melveny & Myers ในสิงคโปร์ PwC ก็ไปดึงทนายความจาก Wong Partnership

ข้างฝ่าย EY ก็ไม่น้อยหน้า เมื่อกลางปี 2561 ก็เปิด Atlas Asia Law Corporation ในสิงคโปร์ ขณะที่ในฮ่องกง EY ก็มีสำนักงาน LC Lawyers (Lin & Associates) โดยดึงทนายความมา 6 คนจากสำนักงาน Troutman Sanders ขณะที่ Deloitte ก็เปิดสำนักงาน Deloitte Legal International ในสิงคโปร์เช่นกัน ส่วนในประเทศไทยนั้น การแข่งขันทางด้านกฎหมายของ Big Four ยังปรากฏไม่ค่อยเด่นชัด

ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน EY ก็ได้ประกาศการซื้อบริษัท Pangea3 Legal Managed Services (LMS) จากบริษัท Thomson Reuters ซึ่งเป็นบริษัทขายข้อมูลชื่อดัง Pangea3 เป็นบริษัทผู้นำในธุรกิจการจัดการ(management)และการ outsouce ทางกฎหมายเช่น การ outsouce งานกฎหมายมายังประเทศอินเดีย ให้นักกฎหมายที่อินเดียทำซึ่งมีค่าแรงถูกกว่าการให้นักกฎหมายในอเมริกาหรือยุโรปทำ Pangea3 มีนักกฎหมายทำงานอยู่ด้วยถึงกว่า 1,000 คนและมีสำนักงานอยู่ 8 แห่งใน 3 ทวีป

นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา EY ก็ซื้อบริษัท Luminance ซึ่งเป็นบริษัท AI ที่ใช้ระบบ pattern recognition และ machine learning algorithms เพื่ออ่านเอกสารทางกฎหมายทำให้การตรวจสอบสัญญาและเอกสารทางกฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่ง EY จะใช้แพลตฟอร์มนี้สำหรับการตรวจสอบเอกสารทางกฎหมายขนาดใหญ่เช่น การทำ due diligence ในการซื้อกิจการ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า Big Four กำลังขยับตัวเข้าสู่วงการกฎหมายอย่างขนานใหญ่ และที่แตกต่างจากสำนักงานกฎหมายแบบดั้งเดิมก็คือ การให้บริการทางกฎหมายด้วยเทคโนโลยี

ในโลกปัจจุบันของวงการกฎหมาย มีธุรกิจที่เรียกว่า Alternative Legal Service Provider หรือ ALSP ที่ให้บริการงานที่เกี่ยวข้องกับงานกฎหมายเช่น

  • งานสนับสนุนการสืบสวนและฟ้องคดี
  • งานค้นคว้าทางกฎหมาย
  • งานตรวจสอบเอกสาร
  • งานสืบค้นประเภท eDiscovery
  • งานด้านกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตาม (Regulatory Risk and Compliance)

งานพวกนี้ บรรดาสำนักงานกฎหมายทั้งหลายก็ทำอยู่ แต่ทว่าสำนักงานกฎหมายนั้นมีต้นทุนซึ่งสูงขึ้นทุกวัน ทำให้ค่าธรรมเนียมที่คิดในการทำงานเหล่านี้สูงตามไปด้วย ลูกความจึงหันมาใช้บริการของ ALSP ซึ่งถูกกว่าแทน

ธุรกิจ ALSP ในปัจจุบันมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ จาก 8.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2558 เป็น 10.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2560 คิดเป็นอัตราความเจริญเติบโตของธุรกิจถึงปีละ 12.9%

ในรายงานเรื่อง ALTERNATIVE LEGAL SERVICE PROVIDERS 2019 ซึ่งจัดทำโดยบริษัท Thomson Reuters ได้กล่าวว่า กลุ่มที่ให้บริการ ALSP ที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดคือกลุ่มของ Big Four ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 23% ของสำนักงานกฎหมายขนาดใหญ่ได้แข่งขันและสูญเสียธุรกิจให้กับ Big Four ไปในปีที่ผ่านมา

นักกฎหมายของ Big Four กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปลายปี 2561 หนังสือพิมพ์ Financial Times รายงานว่า PwC มีนักกฎหมายประมาณ 3,600 คนใน 98 ประเทศ EY มีประมาณ 2,200 คนใน 81 ประเทศ KPMG มีประมาณ 1,800 คนใน 75 ประเทศ และ Deloitte มีนักกฎหมายมากกว่า 2,400 คน(ไม่ปรากฏว่าตัวเลขว่ามีสำนักงานอยู่เป็นจำนวนกี่ประเทศ)

การรุกคืบของ Big Four ในวงการกฎหมายจะเป็นสิ่งที่คนในวงการต้องจับตามองและประมาทมิได้ ต่อไปใครจะรู้ สำนักงานกฎหมายที่ติด Top Ten ของโลกอาจจะเป็นของสำนักงานบัญชีก็ได้