พิเศษ เสตเสถียร
ในตอนที่แล้ว เราได้พูดกันถึงการ “งดออกเสียง” ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเราก็จะเห็นได้ว่าในบางครั้งการงดออกเสียงนั้น ผู้ที่งดออกเสียงโดยคิดว่าจะไปตัดเสียงข้างมากได้ กลับกลายเป็นทำให้ฝ่ายที่ต้องการเสียงข้างมากใช้คะแนนเสียงน้อยลงไปอีก
ในตอนนี้ เราจะพูดถึงการงดออกเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการ เราลองมาดูกันว่าผลทางกฎหมายว่าอย่างไร
พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดได้บอกไว้ในมาตรา 80 ว่า
“ในการประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ามีรองประธานกรรมการ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธาน ถ้าไม่มีรองประธานกรรมการ หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน เว้นแต่กรรมการซึ่งมีส่วนได้เสียในเรื่องใดไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”
ในมาตรา 80 นี้อาจจะดูแปลกประหลาดมากกว่าการลงคะแนนเสียงในมาตราอื่น ๆ ที่กล่าวมา เพราะมาตรา 80 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า
“การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก”
คำถามอาจจะเกิดขึ้นได้ว่า “เสียงข้างมาก” ของอะไร? ของจำนวนกรรมการทั้งหมด หรือจำนวนกรรมการที่มาประชุม?
ถ้าจะว่าไปที่เป็นมาตรฐานก็เป็นเสียงข้างมากของกรรมการทั้งหมด แต่ขณะเดียวก็อาจจะเป็นเสียงข้างมากของกรรมการที่มาประชุมก็ได้ เพราะในวรรคแรกของมาตรา 80 ก็กำหนดไว้ว่า กรรมการมาครึ่งหนึ่งก็เป็นองค์ประชุมได้ เพราะฉะนั้น จึงน่าจะเป็นข้างมากของกรรมการที่มาประชุมมากกว่า
ในกรณีที่มีคนงดออกเสียงเช่น มีกรรมการ 7 คน คราวนี้ถ้ากรรมการงดออกเสียง 1 คน ก็คงจะไม่มีผลอะไร เพราะเสียงข้างมากใช้คะแนนเสียงจากกรรมการ 4 เสียง แต่ถ้ามีกรรมการมาประชุมแค่ 4 คน(ซึ่งครบเป็นองค์ประชุม) แล้วมีกรรมการงดออกเสียง 2 คน ตรงนี้คงจะเป็นปัญหาเพราะเสียงข้างมากจะต้องได้รับคะแนนเสียง 3 เสียง
ในมาตรา 75 บัญญัติไว้ว่า
“ภายใต้บังคับมาตรา 83 ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้คณะกรรมการเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 68 เข้าเป็นกรรมการแทนในการประชุมคณะกรรมการคราวถัดไป เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือน้อยกว่าสองเดือน
มติของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการที่ยังเหลืออยู่”
ถ้ามีตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนครบวาระ เช่น ถึงแก่กรรม หรือลาออกไปเป็นรัฐมนตรี บริษัทก็ต้องเลือกกรรมการคนใหม่แทนกรรมการคนที่ออกไป แต่การเลือกกรรมการคนใหม่นี้ กฎหมายบอกว่าไม่ต้องไปเรียกประชุมผู้ถือหุ้น ให้คณะกรรมการที่เหลืออยู่เลือกคนแทนได้เลย
ซึ่งการเลือกกรรมการในกรณีนี้ กฎหมายก็บอกว่า ต้องได้มติซึ่งประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการที่ยังเหลืออยู่ เพราะฉะนั้น ก็ต้องไปดูว่า “กรรมการที่เหลืออยู่” มีจำนวนเท่าใด จะเป็นมติได้ก็จะต้องสามในสี่ของจำนวนกรรมการที่เหลือนั้น เช่น คณะกรรมการมี 7 คน ลาออกเสีย 3 คน กรรมการที่เหลืออีก 4 คนก็จะทำหน้าที่ในการเลือกกรรมการเพิ่ม และเสียงข้างมากในกรณีนี้คือ 3 เสียง ถ้ามีกรรมการที่งดออกเสียงอีก 2 คน กรณีก็จะเหมือนกับตัวอย่างที่แล้วคือไม่สามารถมีมติเสียงข้างมากได้ ก็ต้องกลับไปหามติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นแทน
มีปัญหาที่น่าสนใจคือ มาตรา 90 บัญญัติว่า
“ห้ามมิให้บริษัทจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่กรรมการเว้นแต่จ่ายเป็น ค่าตอบแทนตามข้อบังคับของบริษัท
ในกรณีที่ข้อบังคับของบริษัทมิได้กำหนดไว้ การจ่ายค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม”
ในเรื่องการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นให้กับกรรมการ กฎหมายก็บอกว่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น ไม่ใช่คณะกรรมการ เพราะมิฉะนั้น จะกลายเป็นว่าคณะกรรมการอนุมัติเงินให้ตัวเอง
การอนุมัติโดยผู้ถือหุ้นในกรณีนี้ กฎหมายก็บอกว่า จะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม คือ นับจำนวนเสียงของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นทั้งหมด
ในกรณีอย่างนี้ ท่านผู้อ่านก็อาจจะสงสัยว่า ถ้ากรรมการเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ด้วยจะสามารถลงคะแนนเสียงได้หรือไม่? ก็ต้องตอบว่า ลงคะแนนเสียงด้วยไม่ได้ เพราะมาตรา 33 วรรคสองได้บัญญัติไว้ว่า
“ผู้จองหุ้นคนใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องใด ผู้จองหุ้นคนนั้นไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น นอกจากการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการ”
การอนุมัติเงินค่าตอบแทนให้แก่กรรมการ ย่อมเป็น “ส่วนได้เสียเป็นพิเศษ” ผู้ถือหุ้นที่เป็นกรรมการอยู่ด้วยจึงไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
ในมาตรา 33 วรรค 2 นี้ใช้คำว่า “ผู้จองหุ้น” เพราะเป็นบทบัญญัติในชั้นของการจัดตั้งบริษัท แต่ในมาตรา 102 บัญญัติให้เอามาตรานี้มาใช้ในการประชุมผู้ถือหุ้นด้วย