ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สปป.ลาวเล็งเพิ่มส่งออกแรงงาน

ASEAN Roundup สปป.ลาวเล็งเพิ่มส่งออกแรงงาน

18 สิงหาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 11-17 สิงหาคม 2567

  • สปป.ลาวเล็งเพิ่มส่งออกแรงงาน
  • ลาวเปิดตัวเว็บไซต์หางานใหม่แก้ปัญหาตลาดแรงงาน
  • รัฐบาลเมียนมาบังคับใช้กฎให้แรงงานข้ามชาติต้องส่งเงิน 25% กลับประเทศ
  • การค้าจีน-อาเซียน 7 เดือนแรกพุ่ง 10.5%
  • การลงทุนด้านดิจิทัลของมาเลเซียกว่า 66.22 พันล้านริงกิตครึ่งปีแรก

    สปป.ลาวเล็งเพิ่มส่งออกแรงงาน

    ที่มาภาพ: https://kpl.gov.la/En/detail.aspx?id=85014

    รัฐบาลลาวร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศและพันธมิตรทางธุรกิจ จัดการประชุมเมื่อวันศุกร์(9 ส.ค.2567) ที่เวียงจันทน์เพื่อชี้แจงกฎหมายเกี่ยวกับการส่งออกแรงงานลาวไปต่างประเทศ โดยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ นางวันนี แก้วซะยะวง รองผู้อำนวยการกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม นายเวียงประสิด ทิพพะสุดา จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สปป.ลาว( International Labour Organization for the Lao PDR) และผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

    รัฐบาล สปป. ลาว มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมโอกาสการจ้างงานสำหรับแรงงานชาวลาวทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับตั้งแต่มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการส่งคนงานลาวไปต่างประเทศในปี พ.ศ. 2545 ผู้หางานได้เข้าถึงตลาดแรงงานระหว่างประเทศ ช่วยให้พวกเขามีรายได้และพัฒนาทักษะที่มีคุณค่า

    นโยบายนี้ได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างกว้างขวางและมีส่วนสำคัญในการหางานในต่างประเทศ

    การจัดสรรคนงานชาวลาวอยู่ภายต้การดูแลโดยหน่วยงานด้านเทคนิคของรัฐและบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาต จำนวนคนงานไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี จาก 49,441 คนในปี 2560 เป็น 120,360 คนในปี 2561 โดยจนถึงขณะนี้มีมากกว่า 60,000 คนในปีนี้

    ปัจจุบัน มีคนงานลาวมากกว่า 400,000 คนไปทำงานในต่างประเทศ โดยทำรายได้ประมาณ 52.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือ 625.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

    ความต้องการการจ้างงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเริ่มแรกมุ่งเน้นไปที่ประเทศไทย กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้จัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งคนงานไปยังประเทศไทย ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี โดยที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ก็มองหาโอกาสในลักษณะนี้เช่นกัน

    เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป กระทรวงฯได้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดหางาน ปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาในการส่งคนงานลาว และปรับปรุงกฎระเบียบที่ควบคุมสถานประกอบการจัดหางาน เพื่อให้มั่นใจว่ากรอบทางกฎหมายที่ครอบคลุมและปรับเปลี่ยนได้

    ลาวเปิดตัวเว็บไซต์หางานใหม่แก้ปัญหาตลาดแรงงาน


    เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ลาวได้เปิดตัวเว็บไซต์หางานใหม่ ซึ่งพัฒนาโดยกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ ILO-China Partnership Program โครงการริเริ่มนี้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2566 โดยเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ”Project to Strengthen Skills Development in Cambodia, Laos, and Myanmar through South-South and Tripartite Cooperation” และมีเป้าหมายเพื่อจัดการกับปัญหาในตลาดแรงงาน

    ลาวเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำ ตามไม่ทันอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หรือเงินกีบที่อ่อนค่าลงได้ แม้จะมีการปรับค่าจ้างไปไม่นานนี้ แต่ธุรกิจจำนวนมากก็ประสบปัญหาในการตอบสนองความต้องการค่าจ้างที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานและแรงงานออกไปหางานในต่างประเทศมากขึ้นต่อเนื่อง

    เพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ กระทรวงแรงงานฯร่วมมือกับพันธมิตรระดับองค์กร เปิดตัวเว็บไซต์ www.doe.gov.la เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน เว็บไซต์นี้จัดการโดยกรมการจัดหางาน โดยให้ข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับข้อบังคับเกี่ยวกับงาน บริการ กฎหมาย และโอกาสในการทำงานอิสระ ทำให้เว็บไซต์เป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณค่าสำหรับผู้หางาน

    การเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่มีภายหลังการจัดตลาดนัดแรงงานในเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่มีการลงโฆษณาตำแหน่งงาน 1,800 ตำแหน่งใน 56 บริษัท ซึ่งเน้นย้ำถึงความพยายามของประเทศในการรักษาแรงงานไว้ เว็บไซต์ใหม่ได้รับการออกแบบเพื่อให้เข้าถึงงานมากขึ้น โดยมีเครื่องมือและทรัพยากรสำหรับผู้ใช้ทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและท้องถิ่น

    ด้วยการยกระดับตำแหน่งงานและการให้เข้าถึงโอกาสทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเช่น ไทย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เว็บไซต์นี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    รัฐบาลเมียนมาบังคับใช้กฎให้แรงงานข้ามชาติต้องส่งเงิน 25% กลับประเทศ

    ที่มาภาพ: https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-junta-enforces-rule-requiring-migrant-workers-to-remit-25-of-pay.html
    เมื่อเร็วๆนี้กระทรวงแรงงานของรัฐบาลทหารเมียนมาเริ่มบังคับใช้กฎการโอนเงิน ซึ่งประกาศเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เพื่อบังคับให้แรงงานเมียนมาที่ทำงานในประเทศไทยส่งรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศกลับประเทศ

    กระทรวงฯ กล่าวว่า แรงงานเมียนมาที่ทำงานภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างรัฐบาลเมียนมากับรัฐบาลไทย จะต้องส่งเงินอย่างน้อย 25% ของรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศกลับประเทศเป็นเวลาสามเดือน ผ่านระบบธนาคารของประเทศใ หากพวกเขาต้องการ ต่ออายุใบอนุญาตทำงานหลังจากสัญญาสี่ปีเดิมสิ้นสุด

    โดยกระทรวงฯระบุว่าจะไม่ต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และไม่อนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยได้อีก 2 ปีภายใต้ระบบที่เรียกว่า “MoU U-turn” เว้นแต่ได้โอนเงิน 6,000 บาท (25% ของเงินเดือนพื้นฐานเป็นเวลาสามเดือน ไปยังธนาคารในเมียนมา

    ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ผู้ที่ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานที่สำนักงานรัฐบาลทหารสองแห่งในเมืองชายแดนเมียวดีในรัฐกะเหรี่ยงและเกาะสองในเขตตะนาวศรี จะต้องแสดงเอกสารที่พิสูจน์ว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของตนแล้ว หรือบัญชีธนาคารของญาติในเมียนมา

    เจ้าหน้าที่ของสมาพันธ์การจ้างงานในต่างประเทศของเมียนมา (Myanmar Overseas Employment Agencies Federation :MOEAF) กล่าวว่า “กระทรวงจะไม่ต่ออายุใบอนุญาตทำงาน หากพวกเขาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาได้ส่งเงิน 25% ของรายได้ไปแล้ว ในกรณีที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ แรงงานข้ามชาติจะไม่สามารถทำงานได้อีกสองปี คำสั่งดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม และมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม”

    แรงงานรายหนึ่งที่ทำงานภายใต้ MoU ซึ่งสัญญาเดิมสี่ปีกำลังจะหมดลงกล่าวว่า “เราใช้เพียง hundi เท่านั้น (กลไกการโอนเงินอย่างไม่เป็นทางการซึ่งแรงงานอพยพชาวเมียนมาใช้กันอย่างแพร่หลาย) ดังนั้นเราจะต้องเปิดบัญชีธนาคาร มันเป็นเรื่องยุ่งยาก”

    แรงงานที่ทำงานภายใต้ MoU จะต้องต่ออายุหนังสือเดินทางก่อน จึงจะยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้ หากพวกเขาไม่สามารถต่ออายุหนังสือเดินทางได้ พวกเขาจะต้องกลับไปยังเมียนมาหรือกลายเป็นแรงงานไร้เอกสาร เจ้าหน้าที่ของสำนักงานจัดหางานในต่างประเทศ กล่าว

    เขากล่าวว่า “รัฐบาลทหารได้ควบคุมทุกธุรกิจอย่างเข้มงวด แต่มาตรการทั้งหมดล้มเหลว และบอกว่ามีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ แต่ก็ไม่มี เป็นการขูดรีดแรงงานข้ามชาติ หากรัฐบาลจำกัดบันทึกความเข้าใจและแรงงานที่ถูกกฎหมาย คนจำนวนมากก็จะเลือกทำงานผิดกฎหมาย”

    นอกจากนี้ กระทรวงยังได้สั่งให้กระทรวงศึกษาธิการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวด้วย

    จากข้อมูลจากรัฐบาลไทย ในบรรดาแรงงานชาวเมียนมาที่ถูกกฎหมายในประเทศไทยประมาณ 4 ล้านคน มีประมาณ 1.5 ล้านคนเป็นแรงงานตาม MoU

    นอกจากนี้กระทรวงแรงงาน ยังแนะนำแรงงานที่จะไปทำงานในต่างประเทศให้ไปขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานที่ทำงานในต่างประเทศ(overseas worker)และขอบัตรประจำตัวแบบ Overseas Employment Worker Identification Cardหรือ OWIC

    กรมแรงงานแนะนำว่าทุกคนที่จะไปทำงานในต่างประเทศจะต้องลงทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวกับกระทรวงแรงงาน และรับบัตรประจำตัวคนงานทำงานในต่างประเทศ (OWIC) ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ

    ผู้ที่จะไปทำงานต่างประเทศจะต้องยื่นขอหนังสือเดินทางประเภททำงาน (Passport for Job:PJ) และต้องลงทะเบียนกับกระทรวงฯก่อนเดินทางออกจากประเทศเมียนมา

    ปัจจุบันผู้ที่ถือหนังสือเดินทางประเภทท่องเที่ยวหรือ Passport for Visit(PV) ที่ได้ยื่นขอวีซ่าทำงาน ซึ่งไม่ใช่วีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว และได้ทำงานในต่างประเทศ และหากเกิดปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นในต่างประเทศ การช่วยเหลือก็จะมีปัญหายุ่งยาก

    หากผู้ถือหนังสือเดินทางแบบ PV ถูกห้ามที่สนามบินขาออกและด่านชายแดน พวกเขาอาจประสบความสูญเสียโดยไม่จำเป็น และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ ก็ควรที่จะทำหนังสือเดินทางแบบ PJ ตั้งแต่ต้น ตามขั้นตอน ด้วยลงทะเบียนเป็นแรงงานในต่างประเทศ และขอรับ OWIC สำหรับการเดินทางออกอย่างเป็นทางการ

    ประเภทของหนังสือเดินทางได้แก่ หนังสือเดินทางเพื่อการเยี่ยมเยียนหรือท่องเที่ยว (PV), หนังสือเดินทางสำหรับงาน (PJ), หนังสือเดินทางเพื่อการศึกษา (Passport for Education:PE), หนังสือเดินทางสำหรับธุรกิจ (Passport for Business:PB), หนังสือเดินทางสำหรับผู้ที่อยู่ใต้ศาสนา (Passport for Religious:PR), หนังสือเดินทางสำหรับผู้อยู่ในอุปการะ (Passport for Dependent:PT) และหนังสือเดินทางสำหรับลูกเรือ (Passport for Seaman:PS ) มันบอกว่า

    การค้าจีน-อาเซียน 7 เดือนแรกพุ่ง 10.5%

    ที่มาภาพ: https://news.cgtn.com/news/2024-05-01/1st-China-Laos-Thailand-Malaysia-express-freight-train-leaves-Chengdu-1tfghK441Xi/p.html

    การค้าอาเซียนและจีนพุ่งขึ้นเป็น 546.6 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567

    ข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักงานศุลกากรจีน ( Chinese General Administration of Customs :GAC) พบว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ยังคงรักษาตำแหน่งคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีนไว้ได้ในรอบ 7 เดือนแรก ของปี 2567 โดยการค้าทวิภาคีมีมูลค่าถึง 3.92 ล้านล้านหยวนจีน (546.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 7 เดือนแรกซึ่งคิดเป็น 10.5% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วตาม

    การส่งออกของจีนไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนมีมูลค่า 2.36 ล้านล้านหยวน หรือเพิ่มขึ้น 13.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทำให้บทบาทของจีนในฐานะคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนแข็งแกร่งเป็นปีที่ 15 ติดต่อกัน ในขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของจีนเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน

    ในปี 2566 การค้าระหว่างจีนและอาเซียนคิดเป็น15.4% องมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีน ซึ่งเพิ่มขึ้นอีกเป็น 15.8% ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี 2567 โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของความร่วมมือทางเศรษฐกิจครั้งนี้

    ในบรรดา 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซียเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของจีนในช่วงเวลานี้ มูลค่าการค้ากับเวียดนามเพิ่มขึ้น 24.1% มาเลเซีย 13.7% และอินโดนีเซีย 4.1%

    การลงทุนด้านดิจิทัลของมาเลเซียกว่า 66.22 พันล้านริงกิต

    ที่มาภาพ: https://www.hinrichfoundation.com/research/wp/digital/malaysia/
    กระทรวงดิจิทัลเปิดเผยว่าการลงทุนด้านดิจิทัลของมาเลเซียเพิ่มขึ้นเป็น 66.22 พันล้านริงกิตในช่วงครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้นจาก 46.2 พันล้านริงกิตในปีที่แล้ว

    นายโกบินด์ สิงห์ ดีโอ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้ไม่เพียงแต่แซงหน้าปีที่แล้ว แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจดิจิทัลท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก

    นายเดโอ กล่าวว่า การลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการสร้างงานใหม่ 24,498 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่า 22,258 ตำแหน่งในปีที่แล้ว

    “ภาคดิจิทัลยังคงเป็นขุมพลังสำหรับการจ้างงานที่มีทักษะสูงและมีรายได้สูง” นายดีโอกล่าว

    ในด้านการส่งออกนายโกดินห์ กล่าวว่า มาเลเซียได้รับโอกาสในการส่งออกดิจิทัลมูลค่า 1.936 พันล้านริงกิตจากบริษัท 228 แห่งใน 11 ประเทศ รวมถึงอินโดนีเซีย สเปน ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ซึ่งเพิ่มขึ้นะ 43% จาก 1.353 พันล้านริงกิตในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เขากล่าว

    นอกจากนี้ ดาต้าเซ็นเตอร์และบริษัทที่ให้บริการคลาวด์ เป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อมูลค่าการลงทุนด้านดิจิทัล โดยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Infotech) และ Global Business Services (BGS) เป็นผู้นำในการสร้างงานดิจิทัล

    “ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีบริษัทเทคโนโลยีมาเลเซีย 451 แห่งได้รับสถานะโครงการริเริ่มด้านดิจิทัลมาเลเซีย (Malaysia Digital initiative) ซึ่งแซงหน้าบริษัท 256 แห่งเมื่อปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ โดย 39% เป็นบริษัทต่างชาติที่สนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในขณะที่ 61% เป็นบริษัทในประเทศ” ขากล่าวเสริม