1721955
เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นในงานศพท่านเจ้าสัวรุ่งโรจน์ แห่งตระกูล “เทวสถิตย์ไพศาล” ที่เพียงฉากเปิดเรื่องก็โชว์สกิลระดับเทพด้วยการถ่ายทำแบบลองเทค (Long take) ตั้งแต่ฉากกลางคืนในงานศพก่อนจะย้อนอดีตกลับไปเล่าเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นในฉากกลางวันด้วยการเคลื่อนกล้องเพียงครั้งเดียว อันเป็นการถ่ายทำที่ยากมากเพราะทั้งทีมนักแสดงหน้ากล้อง และทีมงานหลังกล้องต้องแม่นคิวกันเป๊ะมาก หนำซ้ำยังโชว์สกิลทั้งงานบท การแสดง และงานกำกับที่เพียงฉากเปิดทั้งหมดนี้สามารถเล่าความสัมพันธ์แบบแบ่งฝ่ายระหว่างนายกับบรรดาสาวใช้ ที่หนึ่งในนั้นเพิ่งจะถูกเลื่อนสถานะจากคนรับใช้ขึ้นมาเป็นเมียท่านเจ้าสัว ก่อนที่หนังจะค่อย ๆ คลี่ปมการตายของท่านเจ้าสัว พินัยกรรมมรดก และความสัมพันธ์อันบิดเบี้ยวภายในบ้านอลังการหลังนี้
ใช้ชีวิตหรูหรา…พี่น้องฆ่ากันเอง…เอากันเองในหมู่ญาติร่วมสายเลือด…กดขี่คนรับใช้เยี่ยงทาส…แต่งตั้งคนใช้เป็นเมีย…ติดเซ็กซ์เอาไม่เลือกหน้า…เลี้ยงหมาอย่างหรูบังคับให้คนกราบ…ทำแบรนด์เสื้อผ้าแต่ไม่มีเทสต์และไม่ได้ออกแบบเอง…ปลดเมียออกโดยไม่ให้อะไรติดตัวสักบาท…อุ้มฆ่าอุ้มหายทำชั่วโดยกฎหมายเอาผิดไม่ได้ ฯลฯ คือสิ่งที่เราจะได้พบในซีรีส์ 7 อีพีจบเรื่องนี้ สืบสันดาน (Master of the House) ผลงานกำกับล่าสุดของ กานต์-ศิวโรจน์ คงสกุล
“เรื่องสืบสันดาน น่าเกลียดที่สุด ทำออกมาได้ยังไง หนังXX ๆ ในเน็ตฟลิกซ์ไง เรื่องสืบสันดาน เขียนเนื้อเรื่องเลวสุด ๆ เดี๋ยวมันก็เดือดร้อน มันติดคุกแน่” คือคำด่าแรง ๆ จาก ลีน่า จังจรรจา ขณะที่สรยุทธ สุทัศนะจินดา นำมาถกกันถึงกระแสแบ่งขั้วของชาวเน็ตเรื่องความสุดโต่งในซีรีส์นี้ที่บ้างก็ว่าไม่น่าจะมีครอบครัวไหนสันดานชั่วได้เบอร์นี้ บ้างก็ว่าของจริงยิ่งกว่านี้ “ไม่มี๊ สังคมไทยไม่ใช่อย่างนี้หรอก ไม่ถึงขนาดนั้น สุดโต่งไป อันนี้ส่วนตัวนะ (ก่อนที่สรยุทธจะเหลือบไปอ่านคอมเม้นต์จากชาวเนต) …พี่ยุทธอยู่ทุ่งลาเวนเดอร์ เอ๊า แค่บอกว่าไม่มีเพราะรู้สึกว่ามันสุดโต่ง หาว่าผมอยู่ทุ่งลาเวนเดอร์ซะแล้ว”
ขณะที่เราอยากจะบอกว่าอันที่จริงความสุดโต่งในซีรีส์นี้อาจจะน้อยกว่าความเป็นจริงเสียด้วยซ้ำ ถ้าให้ยกตัวอย่างก็…เช่น ในสมัยยุคกลางช่วงศตวรรษที่ 14 เขาประหารชีวิตด้วยการเอาร่างคนเป็น ๆ ไปหักแขนหักขาแล้วพันกับซี่กงล้อเกวียน, ราวศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมานานกว่า 600 ปีต่อจากนั้น จีนนิยมให้นางสนมหรือนางรำรัดเท้าจนผิดรูปเป็นทรงดอกบัวทอง, มีอย่างน้อย 3 ชนชาติที่เอากันเองในหมู่ญาติเพื่อรักษาเชื้อสายของราชวงศ์ อาทิ อียิปต์ โรมัน และอังกฤษ, ซูสีไทเฮาผู้อู้ฟู่นิยมใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยเครื่องทองหรือเงิน สำรับอาหารแต่ละมื้อต้องประกอบด้วยของกิน 100 ชนิด และถึงขั้นให้นางสนมใช้ปากพ่นน้ำเพื่อชำระอวัยวะเบื้องล่างหลังอึฉี่, แล้วอย่านึกว่าเรื่องสุดโต่งทำนองนี้จะไม่มีในยุคปัจจุบัน เมื่อเพียง 5 ปีแรกของท่านผู้นำคิมจองอึนแห่งเกาหลีเหนือมีการสั่งประหารชีวิตมากถึง 340 รายโดยส่วนใหญ่เป็นคดีทางการเมือง เห็นต่าง และคนทั้งประเทศต้องเยินยอในความเหี้ยมหาญของท่านผู้นำเท่านั้น ฯลฯ
ในแง่ความสุดโต่ง เกินจริง หรือสมจริง มีอยู่จริงหรือไม่ ตรงนี้เราได้คำตอบจากผู้กำกับ กานต์ กลับว่า “ตอนถ่ายทำ สืบสันดาน อยู่ ผมรู้สึกว่าในบางประเด็นมันไม่ควรมีความเป็นไปได้เดียวในเรื่องราวแบบนี้ ภาพยนตร์เป็นสื่อที่มีภาษาสากล ผมอยากสะท้อนมุมมองให้กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรื่องราวแบบนี้ มีอยู่ในบทประพันธ์ประโลมโลกอันแสนโบราณที่เล่าต่อ ๆ กันมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีอยู่ในระบบชนชั้น การกดขี่ข่มเหงกันในสังคม ในประเทศ และในโลกใบนี้ มันทำให้มีการแบ่งความเป็นพวกพ้องและเผ่าพันธุ์ของตัวเอง แล้วเราก็จะสนับสนุนคนที่เหมือนกันกับเรา โดยที่ลืมไปว่าเรากำลังเผลอทำร้ายใครอยู่รึเปล่า เรื่องราวทำนองนี้มันแปลกตรงที่มันไม่เคยเปลี่ยนไปเลย ทุกอย่างมันคือบทละครแห่งชีวิต มันก็จะยังคงวนเวียนอยู่แบบนั้นเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง…สำหรับผม ผู้ชมทุกคนสามารถตีความได้หลากหลายมากจากประสบการณ์ส่วนตัว และมุมมองชีวิตในแบบที่ทุกคนเป็นกันอยู่ นั่นน่าจะเป็นก้อนความคิดสำคัญที่ผมอยากสื่อสารมากที่สุดครับ”
ผศ.สกุล บุณยทัต อดีตอาจารย์ประจำภาควิชานาฏยสังคีต คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนที่ 20 และกรรมการตัดสินรางวัลภาพยนตร์หลายเวทีให้ความเห็นต่อ สืบสันดาน ว่า “เมื่อใดที่เราเอาชีวิตความเป็นจริงของสังคมไทยมาตีแผ่ให้กับคนทั่วโลกดู ถ้าเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในระดับโลก ยังมีเรื่องราวในสังคมไทยอีกหลายมิติ เหมือนอย่างซีรีส์เกาหลี ที่พยายามทำและประสบความสำเร็จ”
ซึ่งก็ให้ปรากฏว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวฮือฮาจนกลายเป็นเทรนด์ฮิตบนเอ็กซ์ ก็คือการที่ ‘สืบสันดาน’ กลายเป็นซีรีส์ไทยเรื่องแรกที่ขึ้นแท่นยอดวิวอันดับสอง บนชาร์ตจากผู้ชมทั่วโลก (แปลว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีใครเข้ามาได้ถึงชาร์ตท็อป 10 จากทั่วโลกมาก่อนเลย) รวมถึงขึ้นอันดับ 1 ในประเทศไทย และอีก 7 ประเทศ คือ บาฮามาส, โดมินิกัน, เคนย่า, โปแลนด์, กาตาร์, โรมาเนีย และเวเนซูเอล่า ที่น่าสนใจคือทั้งชาร์ตซีรีส์รวมทั่วโลก และซีรีส์ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ต่างก็อยู่เหนือซีรีส์ฮิตเรื่องดัง ๆ อาทิ ซีรีส์อเมริกันอย่าง Vikings: Valhalla และซีรีส์เกาหลี Sweet Home 3 ที่สองเรื่องนี้เป็นซีซั่นที่สามแล้วและย่อมจะมีฐานแฟนตามติดอยู่อย่างเหนียวแน่น รวมถึง ซีรีส์เกาหลีสุดฮิต Miss Night and Day ที่สนุกตลกมากแถมยังได้นักแสดงอาจุมม่าคนเด่นจากหนังดัง “ครอบครัวปรสิต Parasite” ซึ่งเรื่องหลังสุดนี้กลายเป็นว่าซีรีส์ของไทยนำลิ่วแซงของเกาหลีไปเกือบแทบจะเท่าตัวอยู่แล้ว
กานต์-ศิวโรจน์ คงสกุล ผู้กำกับซีรีส์ สืบสันดาน จบมาด้านออกแบบนิเทศศิลป์ ก่อนจะไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับหนังสั้น สารคดี หนังโฆษณา และมิวสิควิดีโอ ซึ่งในช่วงปี 2002-2009 หนังสั้นหลายเรื่องของเขา มีอยู่ 2 เรื่องคือ Always และ Silencio ได้รับคัดเลือกฉายในเทศกาลหนังสั้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก Clermont-Ferrand ประเทศฝรั่งเศส
กระทั่งได้กำกับหนังยาวเรื่องแรก ที่รัก (Eternity-2011) ที่ได้รับเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน เกาหลีใต้, เทศกาลหนังสิงคโปร์, และคว้ารางวัลในระดับนานาชาติหลายรางวัล อาทิ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก เทศกาลหนังโดวิลล์ เอเชียน ฝรั่งเศส, รางวัลซิลเวอร์ดีวี อะวอร์ด จากเทศกาลหนังฮ่องกง และชนะไทเกอร์อะวอร์ด(ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสำหรับผู้กำกับหนังเรื่องแรก) จากเทศกาลร็อตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ และฉายตามเทศกาลภาพยนตร์มากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
ส่วนผลงานในบ้านเราเขาคือผู้กำกับซีรีส์เกาหลีรีเมคเรื่องดัง ๆ หลายเรื่อง อาทิ รักนี้ชั่วนิรันดร์ Autumn in my Heart (2015) คือเธอ Remember You (2021) และ 23:23 สัญญาสัญญาณ Signal (2023)
ในปี 2015 เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมโปรเจกต์หนัง 3 ชาติ Distance อันเป็นการกำกับร่วมกัน ระหว่างเขากับ ซินยู่คุน จากจีน (เจ้าของรางวัล Best Revelation จากเทศกาลหนังเวนิส เรื่อง The Coffin in the Mountain-2014) และ ตันชี่เจี๋ย จากสิงคโปร์ (ผู้เคยเข้าชิงรางวัลหนังสั้นจากเทศกาลหนังเวนิส เรื่อง For Two-2009) โดยมีโปรดิวเซอร์เจ้าของโปรเจกต์เป็นผู้กำกับชาวสิงคโปร์ แอนโธนี เฉิน (ผู้กำกับ Ilo Ilo -2013 ที่เคยชนะรางวัล Golden Camera จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และ Wet Season -2019 ที่คว้าบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังโตริโน่ อิตาลี) ซึ่ง Distance นำแสดงโดยพระเอกไต้หวันชื่อดัง เฉินป๋อหลิน (ที่บ้านเราหลงรักเขาจาก Blue Gate Crossing-2002) และหนังเรื่องนี้ฉายรอบปฐมทัศน์โลกในเทศกาลหนังม้าทองคำไทเป
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีกในปี 2011 กานต์ได้รับการสนับสนุนจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ให้เข้าร่วม Cannes Cinefondation Residency ครั้งที่ 22 เพื่อพำนักในปารีสเป็นเวลา 5 เดือนเพื่อพัฒนาโปรเจกต์หนังยาวเรื่องที่สองของเขา Regretfully at Dawn ก่อนที่หนังเรื่องนี้จะได้รับการสนับสนุนการผลิตจากกองทุน Hubert Bals ในร็อตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ซึ่งกานต์เล่าว่า “ตอนนี้มีหนังยาวเรื่องใหม่ อรุณกาล (Regretfully at Dawn) แรงบันดาลใจมาจากคุณตาผมที่เป็นอดีตทหารผ่านศึก แกใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายเป็นชาวสวน เรื่องราวช่วงสุดท้ายของแกงดงามมาก ผมเลยเริ่มเขียนบทเรื่องนี้ขึ้น ตอนนี้หนังกำลังจะฉายที่แรกที่สเปน เทศกาล San Sebastien ครับ ต่อจากนี้ก็มีหลาย ๆ เทศกาลติดต่อเข้ามาแล้วรอประกาศเป็นทางการครับ” ซึ่งเทศกาลหนังซานเซบาสเตียนที่กานต์ว่านี้เป็นหนึ่งในเทศกาลที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของโลก โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 72 แล้ว
ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาเขายังได้รับคัดเลือกให้กำกับหนังสั้น 2 เรื่องให้กับแบรนด์หรูระดับโลก Louis Vuitton Paris ซึ่งกานต์เล่าว่า “งานของ LV ผมได้กำกับไปสองชิ้น ชิ้นแรก I Dreamt of You ถ่ายทำในไทย ชิ้นสองที่สอง Towards A Dream in Chile ถ่ายทำที่ชิลี ทั้งสองชิ้นทำผ่านเอเจนซี่ที่อเมริกาชื่อ Begoodstudios กับ ลูกค้า LV ปารีส ครับ เริ่มต้นจากการที่เค้าเขียนเมลติดต่อมาโดยตรงว่าเคยดูผลงานเก่าของผมมาก่อน คุณสนใจร่วมงานกับเรามั้ย หลังจากนั้นการทำงานก็เกิดขึ้นง่ายมาก เค้าให้เกียรติความคิดเรามาก ๆ พร้อมซัพพอร์ตทุกเรื่องครับ แล้วงานทั้งสองชิ้นไฮบัดเจตมาก งานที่ชิลีได้ร่วมงานกับ Alexis Zabe ผู้กำกับภาพหนังฮอลลิวูดที่ถ่ายเรื่อง Florida project (2017 -หนังชิงออสการ์) และ Post Tenebras Lux (2012 -หนังรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากคานส์) ด้วยครับ เป็นงานที่สนุกมาก ถ่ายทำสองเมืองต่อเนื่องกัน ทั้งหิมะและทะเลทราย”
วกกลับมาที่ สืบสันดาน เมื่อเราถามถึงไอเดียตั้งต้นของซีรีส์เรื่องนี้ กานต์ ตอบเราว่า “สืบสันดาน สตอรี่ตั้งต้นมาจากกันตนานำไปเสนอเน็ตฟลิกซ์ แล้วบอกว่าผมจะกำกับ ทีมคุยกันจนเจอไอเดียที่ว่า ‘ดราม่า พรีเมี่ยม’ จุดเริ่มต้นจากตรงนั้น ส่วนตัวผมสนใจการกำกับแบบที่ไม่ต้องมีกรอบมากำหนดว่า หนัง ละคร ซีรีส์ ต้องเป็นแบบไหน เราปล่อยอารมณ์ ความรู้สึกไปกับมันให้เต็มที่”
“ผมเชื่อว่าหนังมีชีวิตของตัวของมันเอง มันเลยเกิดเป็น สืบสันดาน ในแง่ตัวละคร ผมสนใจเรื่องสถาบันครอบครัว การเลี้ยงดูจากพ่อแม่ มีผลให้ลูกสืบทอดสันดานดีเลวต่อยอดมาครับ”
ในส่วนของกันตนา ซึ่งมีหลายแผนกมาก โดยแผนกที่รับผิดชอบซีรีส์เรื่องนี้คือ กันตนาโมชั่นพิคเจอร์ ที่มีผู้อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารอำนวยการผลิต คือ เต็นท์-กัลป์ กัลย์จาฤก ผู้บริหารรุ่นที่ 3 แห่งตระกูล “กัลย์จาฤก” โดยผลงานอันโดดเด่นของค่ายนี้คือหนังเฮี้ยน ๆ อย่าง #อวสานโลกสวย (2016), ห้องหุ่น (2014) ที่ เต็นท์ กำกับและเขียนบทเอง, ซีรีส์รีเมค Gossip Girl Thailand (2015), ซีรีส์สุดสยอง ยายกะลา ตากะลี (2016), ไปจนถึงซีรีส์อิงประวัติศาสตร์แฝดสยาม Eng and Chang (2021) ที่ผลิตให้ค่ายดิสนีย์ อันเป็นงานกำกับของเต็นท์ด้วยเช่นกัน
กานต์ให้ความเห็นเกี่ยวกับกันตนาว่า “กันตนาเริ่มมีเรื่องมาก่อนครับ แล้วมาชวนผม แต่เราเคยทำงานร่วมงานกันมาก่อนหน้านี้แล้วเรื่อง 23 23 สัญญา สัญญาณ (รีเมคจากซีรีส์เกาหลี Signal) ของทรูซีเจ เราเลยรู้มือกันอยู่แล้วครับ ผมคิดว่ากันตนาเจเนอเรชั่นใหม่ คิดใหม่ทำใหม่หมดแล้ว พวกเค้าต้องพาประวัติศาสตร์บริษัทของเขาให้ไปต่อให้ได้ในอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ส่วนผสมของเน็ตฟลิกซ์ กันตนา และผมกับทีมงาน สามเหลี่ยมนี้มากกว่าครับที่ทำให้มันเกิดความเข้มข้นใน สืบสันดาน”
ในส่วนของงานแสดงได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะรุ่นใหญ่อย่าง บี๋-ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ ในบทเจ้าสัวรุ่งโรจน์, ชาย-ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ ในบทลูกชายคนโต, แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล ลูกชายคนรอง, คลาวเดีย-จักรพันธุ์ ณ อยุธยา บทสะใภ้รอง, นุส-นุสบา ปุณณกันต์ สะใภ้ใหญ่ และโย-ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ หัวหน้าแม่บ้าน ไปจนถึงรุ่นใหม่อย่าง ญดา-นริลญา กุลมงคลเพชร ในบทไข่มุกสาวใช้ตัวหลัก, พิม-ลัทธ์กมล ปินโรจน์กีรติ ในบทสาวใช้นักออกแบบ, ตุลย์- ณัฐนันท์ ขุนเพชร ในบทแก้วสาวใช้ผู้ผันตัวจากเซ็กซ์เวิร์คเกอร์, ตังโก้-ฐิตินันต์ รัตนฐิตินันต์ หลานชายของบ้าน, ท๊อป-ณฐกร ไตรกิศยเวช แฟนของแก้ว, แจ็ค-กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณา คนขับรถ และแพรว-นฤภรกมล ฉายแสง ในบทหลานสาว
กานต์เล่าว่า “ทีมแคสติ้งทางกันตนาเอามาให้ผมเลือกครับ สามคนนี้ (ญดา,พิมและตุลย์) มีเคมีที่ดี ทั้งสามคนมีความไร้เดียงสาแบบคนรุ่นใหม่ ในหัวของเขาบริสุทธ์ ไม่รกรุงรังด้วยข้อมูลของใคร ทั้งสามคนทำให้มีพลังของคนชนชั้นล่างที่บริสุทธ์มากครับ ตุลย์ที่แสดงเป็นแก้วเพิ่งเล่นเรื่องนี้เรื่องแรกเลยถ้าจำไม่ผิดครับ…โจทย์นึงที่ผมได้แชร์กับทีมงานคือ เราอยากเห็นแผงนักแสดงที่ไม่ซ้ำท้องตลาด ในแง่การตลาด เรามีความเชื่อว่านักแสดงละครมีความสามารถและประสบการณ์ที่มากพอจะปรับแต่งแบบไหนก้อได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักแสดงที่อยู่ในกระแสโซเชียลในยุคปัจจุบันอย่างเดียว และ…”
“วิธีทำงานของผมไม่ได้กำกับการแสดงอย่างเดียว ผมกำกับบรรยากาศกองถ่ายไปด้วย ทำให้ทุกคนเหมือนถูกละลายพฤติกรรมไปในตัว พอสบายตัว เมจิคทางการแสดง การรับส่งก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นครับ”
แต่ส่วนที่เราสนใจมาก ๆ คือเพลงประกอบ เพราะมันพิเศษมากในแต่ละช่วงตอน โดยเฉพาะ 4 เพลงที่เชื่อว่าทุกคนต้องจดจำคือ Hailstorms ของฮิวโก, ไม่ต้องทำอย่างนี้ เวอร์ชั่นของ ริค วชิรปิลันธิ์ (เวอร์ชั่นเดิมเป็นของวง Sofa), รักในสันดาน วง Mad Pack It กับสุดท้ายที่โดดเด่นมากคือ เย้ยฟ้าท้าดิน กานต์เล่าว่า “เต๊นท์ (กัลป์ กัลย์จาฤก) โซ่ (อภิภู ฮุนตระกูล) โพสท์ซูเปอไวเซอร์ และเคยเป็นคนตัดต่อ 23:23 สัญญาสัญญาณ ให้ผมมาก่อน ทั้งสองคนเข้าใจรสนิยมผมมากอยู่แล้ว เค้าโกยเลือกเพลงมาใส่ให้แล้วลงตัว ผมจำได้ว่าแก้เรื่องเพลงกันน้อยมาก มีปรับกันจากคัทติ้งแรกนิดหน่อย ทั้งสองคนรสนิยมดีมากเรื่องเพลง ผมไว้ใจได้เลย ผมชอบมากทุกเพลง หลายเพลงก้อเป็นเพลงโปรดผมอยู่แล้ว แต่บางทีเราลืมไปแล้วว่าเราเคยฟังบ่อย ๆ สมัยก่อน”
อันที่จริงคำถามเรื่องเพลงเป็นคำถามแรก ๆ ที่เราตั้งใจจะถามกานต์ เพราะเพลงที่เรารู้สึกทึ่งมาก และไม่รู้ว่าทางทีมงานเคยรู้มาก่อนหรือไม่เกี่ยวกับเพลง เย้ยฟ้าท้าดิน ที่ผ่านมาเราจะคุ้นกันในเวอร์ชั่นรักชาติเข้ม ๆ ของ สันติ ลุนเผ่ นักร้องประจำกองทัพไทย หรือไม่ก็ สุเทพ วงศ์กำแหง ผู้เคยมีตำแหน่งทางการทหารยศเรืออากาศตรี แต่เวอร์ชั่นในสืบสันดาน ใช้เสียงผู้หญิง คือ ชาร์ลี – ชนิสรา แมคเคย์ นักร้องนำ และ ดีน- ใจยุทธ เฮงวิชัย มือเบสจากวง Kalipse โดยในตำแหน่งผู้อำนวยการผลิตและเรียบเรียง เป็นชื่อของ ตุล ไวฑูรเกียรติ แห่งวง อพาร์ตเมนต์คุณป้า ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจ เคยขึ้นเวทีกปปส. แต่หลังจากนั้นก็กลับลำเปลี่ยนขั้ว ดังที่บทความหนึ่งในประชาไท ‘การเปลี่ยนข้างทางการเมือง: อนุรักษ์นิยมเปลี่ยนฝั่ง กับประชาธิปไตยใจแคบ’ เคยบันทึกเอาไว้โดย ภี อาภรณ์เอี่ยม เมื่อปี 2016 (สองปีหลังการรัฐประหารของคสช. ที่นำโดย ประยุทธ์ จันทร์โอชาเมื่อปี 2014) ความว่า
‘ช่วงนี้มีการพูดถึง และวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะเรื่องการเปลี่ยนข้างทางการเมือง อย่างเช่นกรณีโพสต์ของคุณตุล ไวฑูรเกียรติ นักร้องนำวงอพาร์ทเมนท์คุณป้า ที่ออกมาต่อต้านการอุ้มหายของทหารต้วยวลีที่ว่า “แต่ก่อนเด็กๆเคยจินตนาการว่าทำไงถึงหายตัวได้ ตอนนี้รู้แล้ว วิธีง่ายๆ แค่คิดต่างจากรัฐ” ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ต่อต้านการอุ้มหายของ คสช.ที่ผ่านมา เรื่องน่าสนใจคือความคิดเห็นครั้งนี้ดูขัดแย้งกับจุดยืนทางการเมืองของเขาก่อนการรัฐประหาร ที่มีการเรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจเสีย การแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับจุดยืนเดิมของเขาก็ทำให้เกิดการถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสังคมออนไลน์ เช่นการย้อนถึงประเด็นของจุดเดิมของคุณตุล อย่างเช่นความเห็นเฟซบุ๊กหนึ่งเห็นว่า “คือเวลาพูดแบบนี้มันก็ดูหล่อๆ ดีนะครับ แต่ก็ไม่อาจบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการเรียกร้องให้คนพวกนี้เข้ามามีอำนาจ” และมีการตั้งคำถามว่าควรมองการตั้งสเตตัสครั้งนี้ของคุณตุลว่าเป็นการเปลี่ยนฝั่งทางการเมืองจริงหรือไม่ ดังที่ผู้วิจารณ์คนหนึ่งเห็นว่า “การที่เค้าออกมาตั้ง 1 สเตตัส ย้ำว่า 1 สเตตัสนะครับ นี่มันทำให้เค้าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่สามารถเทียบได้กับนักวิชาการหรือคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อสู้ตอนนี้ได้เลยหรอครับ”
ขณะที่เมื่อปี 2020 ตุล ก็เคยให้สัมภาษณ์ตอบกรณีนี้ในช่องของ The People ด้วยว่า “คือตอนนี้คำที่เราโดนบอกว่าเป็นดาราสลิ่ม ดารา กปปส. ขึ้นเวทีไป สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เราก็ต้องยอมรับนะว่ามันเป็นสิ่งเหล่านั้นจริง ๆ ซึ่งสิ่งที่เราทำลงไปเนื่องจากบริบทอะไร ณ ตอนนั้น เราก็มีคำตอบให้เราเหมือนกัน”

และส่วนตัวที่เราสนใจเพลง เย้ยฟ้าท้าดิน เอามาก ๆ ก็เพราะว่า หากค้นไปในประวัติศาสตร์ เพลงนี้เป็นเพลงประจำตัวของผู้มีอำนาจจอมเผด็จการคนสำคัญของไทย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้สั่งการประหารชีวิต ครูครอง จันดาวงศ์ นักการเมืองผู้ใฝ่หาเสรีประชาธิปไตย ด้วยการยิงเป้าอย่างเหี้ยมโหดด้วยกระสุน 45 นัด ด้วยอำนาจตามกฎหมายจากจอมเผด็จการผู้นี้ในมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ที่ ทางเว็บ ilaw เผยว่า
‘มาตรา 17 ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร กวน หรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ (แปลว่าสั่งฆ่าก่อนได้แล้วค่อยรายงานในสภา-ผู้เขียนเพิ่มเติม)…มาตรา 17 เป็นฐานอำนาจของการออกคำสั่งประหารชีวิตประชาชนถึง 76 คน และสั่งจำคุกอีก 113 คน ในยุคของจอมพลสฤษดิ์’
และเรื่องหนึ่งที่ผู้คนรู้กัน และโจษจันกันไปทั่วตลาดคือ สฤษดิ์มีอนุภรรยารวม 81 คน บางแห่งให้ข้อมูลว่า มีอนุภรรยาทั้งหมด 171 คน เขาได้ฉายาว่า “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” หมายถึง เวลาจะมีเพศสัมพันธ์กับอนุภรรยามักโพกผ้าขาวม้าแดงไว้ที่เอว (ที่มา: คนข่าว. เบื้องหลังพินัยกรรมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์. พระนคร : ประจักษ์วิทยา, 2507, หน้า 471 และหนังสือ 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย โดย ส.คลองหลวง) ถึงกับเคยถูกวาดการ์ตูนล้อลงหนังสือพิมพ์ พิมพ์ประชาชน ฉบับปฐมฤกษ์ กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ว่าเป็น “ไอ้ลิงบ้ากาม อ้ายหน้าลิงกำลังฆ่าประชาธิปไตย”
เรื่องเหล่านี้ถือว่าสุดโต่งหรือไม่…เคยเกิดขึ้นจริง…ใช่ไหม….ในสังคมไทย
ในส่วนเรื่องของ เย้ยฟ้าท้าดิน เป็นเพลงประจำตัว สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น ผู้เขียนขออ้างอิงจากบทความ โดยคุณ เสมียนนารี ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ว่า
‘เย้ยฟ้าท้าดิน เป็นหนึ่งในเพลงโปรดหรือเป็นเพลงประจำตัวของหลายคน ซึ่งหากเจาะจงไปที่บรรดาผู้นำทางทหาร พลเอกเปรมเปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ. 2463-2562) นายกรัฐมนตรีคนที่ 16, ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ฯลฯ เป็นผู้หนึ่งที่มี “เพลงประจำตัว” สำหรับใช้ขับร้องในงานต่าง ๆ ที่ได้รับเชิญ เรียกว่าถ้าเห็นพลเอกเปรมถือไมค์ร้องเพลงเมื่อใด ก็หนีไม่พ้นเพลง “จากยอดดอย” พ.ต.ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช (ยศขณะนั้น) แต่งคำร้อง’
‘หากถ้อยหลังกลับไปดูในอดีต จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำอีกท่านที่มีเพลงประตัวเช่นกัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2451-2506) นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 11, ผู้บัญชาการทหารบก ฯลฯ เจ้าของคำพูดที่ว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” และ “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” เพลงประจำตัวที่ท่านใช้ขับร้องย่อมไม่นุ่มนวลแบบพลเอกเปรม ด้วยไม่เหมาะสมกับบุคลิกภาพ ซ้ำยังขัดแย้งกับภาพลักษณ์ท่านผู้นำอีกด้วย เพลงประจำตัวที่จอมพลสฤษดิ์ใช้ขับร้องเสมอ ๆ คือ เพลง เย้ยฟ้าท้าดิน’
‘ฟ้าหัวเราะเยาะข้าชะตาหรือ ดินนั้นถืออภิสิทธิ์ชีวิตข้า พรหมลิขิตขีดเส้นเกณฑ์ชะตา ฟ้าอินทร์พรหมยมพญาข้าหรือเกรง ขอหัวเราะเยาะเย้ยเหวย ๆ ฟ้า พสุธาอย่าครวญว่าข้าข่มเหง เย้ยทั้งฟ้าท้าทั้งดินสิ้นยำเกรง หรือใครเก่งเกินข้าฟ้าดินกลัว [สฤษดิ์ ดัดแปลงเนื้อร้องส่วนนี้เป็น “…หรือใครเก่งเกินข้าเชิญมาลอง…”]’
แต่หากถามว่าเพลงไหนที่สฤษดิ์เกลียดจนถึงขั้นสั่งแบน คนไกล วงนอก แห่ง นิตยสารศิลปวัฒนธรรมได้เผยว่าคือเพลงมึงมันชั่ว ร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์