1721955
ไม่น่าเชื่อว่าภายในปีเดียวกันนี้ 2024 จะมีงานซีรีส์ที่สร้างออกมาจากอีกหนึ่งสุดยอดของผู้รังสรรค์ผลงานมังงะที่กลายเป็นตำนานขึ้นหิ้งอย่าง ฮิโตชิ อิวาอากิ ออกมาให้ดูกันถึง 2 เรื่อง ทั้ง Parasyte: The Grey อันเป็นงานโปรดักชันจากเกาหลีผ่านทางช่องเน็ตฟลิกซ์ กับ Land of Tanabata อันเป็นโปรดักชันจากฝั่งญี่ปุ่นเองผ่านช่องดิสนีย์ ซึ่งออกมาดีงามทั้งคู่แต่รสชาติต้องเรียกว่าต่างกันสุดขั้วอยู่เหมือนกัน ในขณะที่ของเกาหลีจะเน้นความสมจริงมากกว่าเวอร์ชั่นก่อนๆ ที่เคยมี Parasyte ในแบบไลฟ์แอ็กชันมา คือเน้นไปทางดราม่าตามรสนิยมเกาหลี และพ่วงประเด็นสิ่งแวดล้อม ทว่าในฝั่งญี่ปุ่นกลับดิบกว่า และโหดในระดับที่แฟนคัลต์ (อย่างเรา) ต้องเป่าปากชม
ขณะเดียวกัน ขาเนิร์ด (อย่างเราอีกเช่นกัน) ก็ยิ่งปลื้มไปอีกเพราะเรื่องผูกโยงกับประวัติศาสตร์ที่มีอยู่จริง ซึ่งพอ Land of Tanabata พยายามจะโยงกับแง่มุมทางประวัติศาสตร์เราเลยอดไม่ได้จริงๆ ที่อยากจะเจาะลึกประเด็นเหล่านี้ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้ดูสนุกยิ่งขึ้น หรือจะยิ่งปวดหัวกว่าเดิมก็ไม่รู้
ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่า Land of Tanabata ดัดแปลงจากมังงะ 4 เล่มจบ เมื่อปี 1996-1999 (ขณะที่ Parasyte เก่ากว่าและยาวกว่านั้น เพราะมี 10 เล่มจบ และตีพิมพ์เมื่อปี 1989-1994)
Land of Tanabata เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระเอกโยจิ มินามิมารุ (คานาตะ โฮโซดะ) นักศึกษามหาลัยธรรมดาๆ จิตใจดีเป็นที่รักของคนรอบข้าง เขามีพลังเหนือธรรมชาติแต่ไร้ประโยชน์สิ้นดี นั่นก็คือสามารถเจาะรูเล็กๆ บนวัตถุทุกชนิดได้ ทว่าในเวลาไล่เลี่ยกันก็เกิดคดีประหลาด เป็นการฆาตกรรมที่ทำให้ร่างหรือวัตถุถูกตัดออกด้วยทรงกลมขนาดใหญ่ ประกอบกับมีอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งหายตัวไปหลังจากพยายามค้นคว้าเกี่ยวกับคลีนคัตทรงกลมนี้ ทำให้พระเอกและเพื่อนๆ กับอาจารย์ผู้ช่วยของอาจารย์คนที่หายตัว ต้องออกเดินทางเพื่อสืบหาความจริง
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามความเห็นส่วนตัวจากเรา เราชอบเรื่องนี้มากกว่า Parasyte ของเกาหลี แต่กว่าจะตัดสินใจกดดู Land of Tanabata ก็ใช้เวลานานอยู่ เพราะพอดูตัวอย่างก็ไม่ค่อยมีอะไรดึงดูดให้อยากดู แต่กลายเป็นว่าพอเริ่มดูเท่านันแหละ คำว่า “สนุกเฉยเลย” ก็ดังก้องอยู่ในหัวและดูอีพีต่อๆ ไปแบบหยุดไม่ได้จริงๆ สนุกเกินคาดไปมาก ทำถึงกว่าที่คิด ชวนติดตามในทุกช่วงตอนแทบไม่มีช่วงน่าเบื่อเลย
อย่าสับสนทานาบาตะกับโอบ้ง
เราเชื่อว่าถ้าไม่ใช่คนญี่ปุ่นมักจะงงหนักมากกับสองเทศกาลนี้ โอบ้งกับทานาบาตะ อย่างหลังถ้าให้จำง่ายๆ ก็อาจจะเหมือนในนิยายคู่กรรมของบ้านเราที่ว่าจะมาเจอกันที่ทางช้างเผือก เป็นเรื่องของเทพธิดาโอริฮิเมะกับฮิโกโบชิ บ้างก็เรียกว่าคนเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้าจะข้ามมาเจอกันปีละครั้ง แล้วหลังจากนั้นดวงดาวเวกากับอัลแตร์จะอยู่กันคนละฟากของทางช้างเผือก ก่อนจะวนกลับมาเจอกันใหม่ทุกปีดังที่ในซีรีส์ก็เล่า แต่ทีนี้ สิ่งที่เราอาจไม่รู้คือปัจจุบันการจัดงานทานาบาตะขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละจังหวัด โดยยึดตั้งแต่ปฏิทินแบบคริสต์ศักราชคือในวันที่ 7 เดือน 7 ไปจนถึงปฏิทินแบบจันทรคติเดิม ทำให้วันที่ 7 เดือน 7 ของแต่ละที่แต่ละปีมีความแตกต่างกันไป คือบางปีก็เลื่อนไปสิงหาคม บางปีก็กลายเป็นมิถุนายนเลยก็มี บางที่ก็ไม่แคร์แล้วฤกษ์ยุคเก่า ก็จัดตามปฏิทินฝรั่งนี่ล่ะ
ส่วนโอบ้ง ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือเช็งเม้งแบบญี่ปุ่นนั่นแหละ แต่ที่คนส่วนใหญ่จะสับสนก็เพราะโอบ้งจะจัดตามปฏิทินจันทรคติในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ดังนั้น พอเป็นเทศกาลในเดือนเดียวกันผู้คนเลยมักจะจำสับสนก็มี
เอโรคุ
ซีรีส์เปิดเรื่องย้อนไปในปีที่เจ็ดของยุคเอโรคุ ฟังดูไม่คุ้นหูเลยสักนิด คำถามคือ เอโรคุ (Eiroku) คือช่วงปี ค.ศ. ไหนในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ปฏิทินญี่ปุ่นเป็นอะไรที่งงงวยมาก แต่คนรุ่นเก่าในญี่ปุ่นถนัดจะจดจำเหตุการณ์ต่างๆ ตามปฏิทินญี่ปุ่นมากกว่า ซึ่งปัจจุบันชื่อศักราชในแต่ละยุคเปลี่ยนไปตามรัชสมัยของแต่ละจักรพรรดิ (ที่เราใช้คำว่าปัจจุบันเพราะในอดีตในบางยุคก็ไม่ได้เปลี่ยนตามรัชสมัย) อย่างในปัจจุบันเราอยู่กันในยุคเรวะ (นับตั้งแต่ 2019 เป็นต้นมา), ก่อนหน้านี้คือเฮเซย์ (1989-2019), โชวะ (1926-1989), ไทโช (1912-1926) และเมจิ (1868-1912) ตามลำดับ อันทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถูกนับเป็นยุคสมัยใหม่
ด้วยความที่ญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่าสามหมื่นปี และมีรายละเอียดยิบย่อยมากในแต่ละช่วงยุคสมัย เอาเป็นว่าโดยภาพรวมแล้วมันถูกแบ่งสมัยต่างๆ เป็นยุคหิน-ก่อนคริสต์ศักราช 10,500, ยุคโจมง-ประมาณคริสต์ศักราช 10,500, ยุคยาโยอิ-ประมาณคริสต์ศักราช 300, ยุคโคฟุน-คริสต์ศักราช 300-562 / ช่วงยุคคลาสสิกญี่ปุ่น ยุคอาสึกะ 552-645, ยุคนารา 710-784, ยุคเฮอัน 794-7785 / ช่วงยุคศักดินาญี่ปุ่น ยุคคามาคุระ 1192-1333, ยุคมุโรมาจิ (นัมโบกุกับเซ็นโงกุ) 1336-1573, ยุคอาสึจิ-โมยามะ 1573-1603, ยุคเอโดะ 1603-1868 และยุคสมัยใหม่ (เมจิ, ไทโช, โชวะ, เฮเซย์, เรวะ)
วกกลับไปที่คำตอบของคำถามข้างต้น เอโรคุอยู่ในช่วงยุคศักดินาญี่ปุ่น ในสมัยเซ็นโงกุของยุคมุโรมาจิอีกที ซึ่งถ้าจะให้ระบุเป็นปีคริสต์ศักราชก็คือ ค.ศ. 1558-1570 ภายใต้จักรพรรดิโองิมาชิ แต่ส่วนที่ในซีรีส์ไม่ได้เอ่ยถึงโดยตรง ซึ่งเราเข้าใจว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่น่าจะรู้กัน เพราะเป็นเหตุการณ์สำคัญมาก คือในปีที่ 7 ของยุคเอโรคุ หรือใน ค.ศ. 1564 คือปีที่โอดะ โนบุนางะ โจมตีปราสาทอินาบายามะอันเป็นฐานที่มั่นของตระกูลไซโต แต่โนบุนางะพ่ายแพ้จึงถูกขับออกจากมิโนะ (อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 1567 โนบุนางะสามารถเข้ายึดปราสาทอินาบายามะ แล้วเข้าครอบครองแคว้นมิโนะ แล้วเปลี่ยนชื่อปราสาทใหม่เป็น ปราสาทกิฟุ)
มารุคามิ
ต่อมาในช่วงเปิดเรื่องเล่าอีกว่า เหตุการณ์เกิดขึ้น ณ หมู่บ้านมารุคามิ คำถามคือ หมู่บ้านนี้อยู่ตรงไหน คำตอบคือมันเป็นหมู่บ้านสมมติที่ไม่มีอยู่จริง แต่ถ้าเราอนุมานจากอีพี 2 จะมีเหตุการณ์ที่ตัวละครแย้มว่า “แถบโทโฮคุนี้ไม่มีนกกางเขน ในญี่ปุ่นจะมีอยู่แค่ที่คิวชู” เราจึงอนุมานได้ว่า หมู่บ้านมารุคามิตั้งอยู่ในแถบโทโฮคุ อันหมายถึงทิศตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ก็คือภายในเขตจังหวัดอาโอโมริ, อิวาเตะ, มิยางิ, อากิตะ, ยามางาตะ และฟุกุชิมะ
แล้วหากย้อนกลับไปที่ฉากเปิด หมู่บ้านมารุคามินี้กำลังต่อสู้กับกองทัพโมงามิ ที่เราน่าจะอนุมานได้ว่าเป็นกองทัพของตระกูลที่เป็นใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ แม้ว่ามารุคามิไม่มีอยู่จริง แต่ตระกูลโมงามิมีจริง ตระกูลนี้เป็นผู้สร้างปราสาทโอกุนิในสมัยเอโดะ
ตระกูลโมงามิเป็นไดเมียวญี่ปุ่น เป็นสาขาหนึ่งของตระกูลอาชิคางะ ในสมัยเซ็นโงกุ ปกครองอยู่ในพื้นที่ที่เคยเรียกว่าจังหวัดเดวะซึ่งปัจจุบันอยู่ภายในเขตจังหวัดยามางาตะนั่นเอง และหนึ่งในคนจากตระกูลนี้คือ โมงามิ โยชิอากิ นายพลผู้เก่งกาจแห่งสมัยเซ็นโงกุ
หมู่บ้านลี้ลับ
อ่านเกี่ยวกับนินจาเพิ่มเติม
ในอีพี 5 มีตัวละครหนึ่งพูดเปรียบเทียบถึงหมู่บ้านมารุคามิที่มีพลังจิตว่าเป็นหมู่บ้านนินจา เราต้องทำความเข้าใจตรงนี้ว่า มันคือการเปรียบเทียบของเหตุการณ์ในยุคเดียวกันเพราะนินจาอยู่ในยุคเซ็งโงกุ ทว่า ถ้านับตามประวัติศาสตร์สมมติที่ซีรีส์นี้เขียนขึ้นมาจะพบว่า หมู่บ้านมารุคามิเกิดเหตุการณ์สำคัญดังฉากเปิดที่เล่าว่าสามารถต่อกรกับพวกผู้มีอำนาจได้ และเราระบุว่าเป็นปี ค.ศ. 1564 หากเทียบกับนินจาฮัตโตริ ฮันโซ ที่ปรากฏชื่อเสียงในการช่วยเหลือโตกุงาวะ อิเอยาสึ ให้รอดปลอดภัยหลังการเสียชีวิตของโอดะ โนบุนางะ แล้ว เหตุการณ์ของฮัตโตริเกิดขึ้นในปี 1582 อันเป็นการขิงด้วยว่าสิ่งที่หมู่บ้านมารุคามิกระทำในการสังหารคนทั้งกองทัพได้ด้วยพลังจิตมีความเก่าแก่กว่า เกิดขึ้นมาก่อน และมีพลานุภาพมากกว่าเป็นอย่างมาก แต่คนสองกลุ่มนี้ พวกนินจาและตระกูลมารุคามิ มีพฤติกรรมเหมือนกันคือเก็บตัวจากโลกภายนอก
แต่ความเชื่อมโยงอีกอย่างที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือ ขณะที่ฟากของพวกนินจาถือว่าเป็นสาขาของตระกูลซามูไรและรับใช้ราชสำนักเพราะช่วยเหลือโตกุงาวะ อิเอยาสึ ทว่าหมู่บ้านมารุคามิถือว่าเป็นศัตรูกับราชสำนักเพราะพวกเขาสังหารกองทัพของโมงามิ อันเป็นกองทัพที่อยู่ภายใต้ไดเมียวโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ซึ่งทั้งอิเอยาสึ และฮิเดโยชิในช่วงปี 1564 ต่างก็ยังรับใช้โอดะ โนบุนางะ ทั้งคู่ เพียงแต่ภายหลังการตายของโนบุนางะในปี 1582 ทั้งฝ่ายอิเอยาสึและฮิเดโตชิต่างก็ห้ำหั่นกันเอง
การตั้งชื่อศักราชญี่ปุ่น
เน็งโง หรือศักราชญี่ปุ่น ปัจจุบันเรารู้กันว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตามแต่ละรัชสมัย แต่จริงๆ แล้วมีหลักธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือมาอย่างยาวนานด้วย คือ 1. ต้องมีความหมายสอดคล้องต่ออุดมคติของประชาชน 2. ต้องประกอบด้วยตัวคันจิสองตัว 3. ต้องเป็นตัวอักษรที่เขียนได้ง่าย จดจำง่าย 4. อ่านออกง่าย 5. ไม่เคยถูกใช้มาก่อน 6. มีความหมายแฝง เช่น โชวะ มีความหมายว่า “น้ำหนึ่งใจเดียวสามัคคีร่วมใจ”, เฮเซย์ “มีความสุขทั้งภายนอกและภายใน ตั้งแต่ชั้นฟ้าจดผืนดินรากหญ้า”
และดังที่เรากล่าวไว้ว่ายุคสมัยใหม่ 4 สมัยก่อนหน้านี้ ได้แก่ เมจิ, ไทโช, โชวะ และเฮเซย์ ซึ่งมีตัวย่อตามอักษรโรมันดังนี้ M, T, S, H ดังนั้น อักษรโรมันตัวต่อไปต้องไม่ซ้ำกับศักราชก่อนหน้านี้ด้วยเช่นกัน แปลว่าหากจะตั้งศักราชใหม่ ต้องเป็นอักษรโรมันที่ไม่เคยใช้มาก่อนด้วยเช่นกัน ตรงนี้จึงกลายมาเป็นที่มาของยุคเรวะ (Reiwa) เร คือ มงคล หรือบริสุทธิ์ งดงาม, วะ คือ สงบ เรวะ รวมกันมีความหมายว่า “การเริ่มต้นความสงบสุขอันงดงาม” ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้อธิบายความหมายที่แฝงไว้ในชื่อนี้ว่า “วัฒนธรรมที่กำเนิดขึ้นท่ามกลางจิตใจอันดีงามของผู้คน”
ปฏิทินเกรกอเรียน
ในอีพี 5 มีการค้นพบว่าการจัดเทศกาลทานาบาตะ ภายในหมู่บ้านมารุคามิมีความแตกต่างจากช่วงทานาบาตะของจังหวัดอื่นๆ ก็เพราะว่าขณะที่จังหวัดอื่นยึดถือตามปฏิทินจันทรคติ (lunar calendar) แต่หมู่บ้านมารุคามิยึดวันเวลาตามปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian calendar) อันเป็นปฏิทินแบบคริสต์ศักราชอย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน
ทว่าความประหลาดดังที่เรื่องเล่าเอาไว้คือ ความเป็นจริงแล้วปฏิทินแบบเกรกอเรียนนี้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นในค.ศ.1582 (ตามประกาศ Inter Gravissimas ของ สมเด็จพระสันตะปาปา ที่ออกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13) แต่จากบันทึกในอดีตของหมู่บ้านแห่งนี้ได้ยืดถือวันตามปฏิทินเกรกอเรียนมาก่อนที่จะมีปฏิทินนี้กำเนิดขึ้นมาบนโลกเสียอีก ดังที่ในเรื่องเล่าว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเปิดฉากในปีที่ 7 ของยุคเอโรคุ หรือปี 1564
และหากอนุมานจากการที่ตัวละครหนึ่งพูดว่า “แกเป็นมนุษย์ต่างดาวหรือ” ตัวละครที่ถูกกล่าวหาได้โต้ตอบกลับไปว่า “เสียมารยาทจัง เห็นแบบนี้แต่ผมก็เป็นคนญี่ปุ่นนะ” ดังนั้น ความเป็นไปได้อีกอย่างที่เราเคยคิดว่าซีรีส์นี้จะเป็นไปในทางพลังจิต จอมคาถา ไสยศาสตร์ ความเชื่อพื้นบ้าน หรืออะไรก็แล้วแต่ จึงเป็นไปได้ว่าในช่วงครึ่งหลังมันจะกลายพลิกกลายเป็นแนวไซ-ไฟทะลุมิติอะไรนั่นเลย โดยเฉพาะเมื่อพฤติกรรมของพลังวิเศษให้ความรู้สึกถึงรูหนอน หลุมดำ หรือการหายไปยังมิติอื่น
ญี่ปุ่นกับแนวคิดเรื่องต่างดาว
ด้วยความที่ญี่ปุ่นนอกจากจะมีประวัติศาสตร์อันยาวนานแล้ว ยังมีเทคโนโลยีล้ำๆ อีกมากมาย แนวคิดเรื่องมนุษย์ต่างดาว อารยธรรมนอกโลก มีอยู่ในมังงะมาช้านาน ไม่ว่าเจ้าหนูสามตา (The Three-eyed One โดย โอซามุ เทะสึกะ 1974-1978), รถด่วนอวกาศ 999 (Galaxy Express 99 โดย เลอิจิ มัตซึโมโตะ 1977-1982) ไปจนถึงนิทานปรัมปราอย่างเจ้าหญิงดวงจันทร์ หรืออุราชิมะทาโร่ แท้จริงแล้วก็อาจจะเกี่ยวกับสิ่งประหลาดนอกโลกด้วยเช่นกัน ฯลฯ
อุตสึโระ-บุเนะ (เรือกลวง) เป็นวัตถุไม่ปรากฏที่มีและอ้างว่าเกยชายฝั่งด้านตะวันออกของญี่ปุ่นในเขตเมืองฮิตาชิเมื่อปี 1803 แล้วต่อมามันถูกอ้างอิงในตำราวิชาการ 4 เล่ม คือ Oushuku Zakki (1815), Toen Shosetsu (1825), Hyoryu Kishu (1835) และUme-no-chiri (1844)
โดยมีเรื่องเล่าว่าชาวประมงได้ช่วยชีวิตหญิงสาวอายุราว 18-20 ปี ออกมาจากเรือกลวงนี้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1803 แต่เธอไม่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ สุดท้ายพาเธอลงไปในวัตถุประหลาดนั้นอีกครั้งแล้วช่วยกันนำคืนสู่ทะเล นักประวัติศาสตร์ นักชาติพันธุ์วิทยา และนักฟิสิกส์ เช่น คาซูโอะ ทานากะ และยานางิตะ คุนิโอะ ได้กล่าวถึงตำนานนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่มีมายาวนาน เป็นตำนานเมืองเรื่องเล่าลือ ขณะที่ผู้ศึกษาด้านยูเอฟโอบางคนอ้างว่าเรื่องราวนี้เป็นหลักฐานของการเผชิญหน้าอย่างใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตนอกโลก
โดกุ
เป็นเครื่องปั้นดินเผาหน้าตาประหลาดที่พบว่าถูกปั้นขึ้นในยุคโจมง (14,000-300 ปีก่อน ค.ศ.) อันเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น แต่ไม่ปรากฏว่าถูกสร้างในยุคอื่นเลย พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่นประมาณว่าน่าจะมีทั้งหมดราวหมื่นห้าพันชิ้น ขณะที่เดอะเจแปนไทมส์ระบุว่าราวหมื่นแปดพันชิ้น โดกุพบปรากฏอยู่ทั่วญี่ปุ่นยกเว้นในโอกินาว่า ส่วนใหญ่พบทางตะวันออกและหาได้ยากในทางตะวันตกของญี่ปุ่น โดยไม่มีใครรู้จุดประสงค์ที่แน่ชัดว่ามันถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร
นักวิชาการเชื่อว่ามันเป็นหุ่นจำลองแทนคน หรือใช้ในทางคาถาอาคม ส่วนใหญ่ดูเป็นเพศหญิง ตาโต เอวคอด สะโพกผาย อาจเป็นเทพธิดา บ้างว่าอาจะเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การขอบุตร มีลูกยาก หรือให้คลอดอย่างปลอดภัย ไปจนถึงการเจริญพันธุ์ ลูกดก อายุยืน แต่ที่มันชวนขนลุกเพราะหน้าตามันดูล้ำสมัยเกินกว่าจะเป็นของมาจากหมื่นปีที่แล้ว
ครั้งหนึ่งฮิโตชิ อิวาอิวาอากิ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมชอบประวัติศาสตร์และเคยคิดที่จะเขียนมังงะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ผมก็ไม่เคยถึงขั้นส่งผลงานลงนิตยสารเชิงพาณิชย์เลย ดังนั้นหลังจากเรื่อง Parasyte ผมจึงแทรกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ลงไปใน Land of Tanabata แล้วเป็นงานที่ค่อนข้างยาก และมันมาถึงจุดที่ผมคิดว่าผมเกือบจะจบอาชีพนักวาดการ์ตูนเลยด้วยในตอนนั้น จนกระทั่งได้มาเขียนมังงะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จริงๆ ในอีกหลายปีต่อมา คือ ในปี 2003 จนถึงปัจจุบันนี้ในเรื่อง Historie (ยูเมเนส จอมคนพลิกโลก HISTORIE ปัจจุบันมี 11 เล่ม อันทำให้เขาคว้ารางวัลกรังด์ปรีซ์สูงสุดจาก Tezuka Osamu Cultural Prize และรางวัลกรังด์ปรีซ์อีกครั้งในงาน Japan Media Arts Festival ซึ่งทั้งสองกรังปรีซ์ได้รับในปี 2012) ซึ่งก็พูดตามตรงว่าผมเหมือนทุ่มเททุกสิ่งที่ยังมีเหลืออยู่ในตัวลงไปกับผลงานนี้ ซึ่งผมยอมรับว่าผมเป็นคนทำอะไรช้ามาก แล้วมันก็กินเวลาหลายปี”
หลังจากนั้นเขายังคงแต่งการ์ตูนแต่ไม่ได้วาดเองแล้ว ในเรื่อง Reiri (2015-2018) อันเป็นครั้งแรกที่เขาเจาะลึกลงไปในประวัติศาสตร์สมัยเซ็นโงกุอย่างจริงจัง เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงชาวบ้านผู้ต้องเอาตัวรอดท่ามกลางสงครามสู้รบของพวกผู้ชายบ้าอำนาจ และทำให้เขาคว้ารางวัล Saito Takao Award ในปี 2020
ฮิโตชิ อิวาอากิที่ปัจจุบันอยู่ในวัยคุณปู่อายุ 63 ปี ทิ้งท้ายว่า “ผมมักจะเลือกประเด็นที่คนอื่นเขาไม่ค่อยสนใจกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าผลงานทั้งหมดผมชอบเรื่องไหนที่สุด ก็คงต้องบอกว่า Land of Tanabata”