ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > IMF เตือนเงินเฟ้อหนืด ดอกเบี้ยสูงอีกนาน นโยบายการเงินการคลังต้องรอบคอบ

IMF เตือนเงินเฟ้อหนืด ดอกเบี้ยสูงอีกนาน นโยบายการเงินการคลังต้องรอบคอบ

17 กรกฎาคม 2024


ที่มาภาพ: https://www.saltwire.com/atlantic-canada/news/imf-pakistan-make-significant-progress-on-new-loan-imf-mission-says-100967609/

IMF คงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก และเตือนถึงอัตราเงินเฟ้อที่หนืดอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินและการคลังทั่วโลกเพิ่มขึ้น

วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ตามเวลาในสหรัฐ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund:IMF) เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับอัปเดต World Economic Outlook Update คงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ไว้ที่ 3.2% และคาดว่าปีหน้าจะขยายตัว 3.3% และเตือนว่า อัตราเงินเฟ้อภาคบริการที่กำลังทำให้เงินเฟ้อลดลงช้านั้น ทำให้การปรับนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ (monetary policy normalization)มีความยุ่งยาก

ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจึงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสมากที่อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงนานขึ้น ภายใต้ความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นและความไม่แน่นอนของนโยบายที่เพิ่มขึ้น การผสมผสานนโยบายจึงควรมีการจัดลำดับอย่างระมัดระวังเพื่อให้มีเสถียรภาพด้านราคาและเติมเต็มกันชนที่ลดลง

ในการแถลงข่าว โฆเซ ลุยส์ เดอ อาโร(Jose luis De Haro) จากฝ่ายสื่อสาร(Communications Department) กล่าวว่า รายงาน
ฉบับอัปเดตไม่ได้รวมทุกประเทศ ข้อมูลที่รวมทั้งหมดจะอยู่ใน World Economic Outlooks ที่เผยแพร่ในเดือนเมษายนและในการประชุมประจำปีในเดือนตุลาคมเท่านั้น ดังนั้นฉบับอัปเดตที่เผยแพร่ในเดือนมกราคมและกรกฎาคมจึงรวมเฉพาะบางประเทศเท่านั้น แต่ว่าได้รวมแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงต่อกรณีฐาน และแน่นอนว่ารวมถึงคำแนะนำด้านนโยบายด้วย

ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ (Pierre-Olivier Gourinchas) Economic Counselor and Director ฝ่ายวิจัย(Research Department) กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังคงทรงตัวที่ 3.2% ในปีนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในเดือนเมษายน และในปีหน้าจะสูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.3% แต่มีพัฒนาการที่เห็นได้ชัดในบางด้านตั้งแต่เดือนเมษายน

ประการแรก การเติบโตในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สำคัญๆ กำลังมีความสอดคล้องกันมากขึ้น เนื่องจาก output gaps( Output gap หมายถึง ส่วนต่างระหว่างผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง กับผลผลิตตามศักยภาพ (potential output) ที่ระบบเศรษฐกิจสามารถผลิตได้ในระยะยาว) หมดไป

ในสหรัฐอเมริกามีสัญญาณคลายความร้อนแรงเพิ่มขึ้น ส่วนในยูโรโซนการเติบโตกำลังฟื้นตัว ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักสำหรับเศรษฐกิจโลก การเติบโตในอินเดียและจีนได้ปรับให้สูงขึ้น และคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการเติบโตทั่วโลก แต่แนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้ายังคงอ่อนแอ การเติบโตในจีนคาดว่าจะอยู่ที่ 3.3% ภายในปี 2572 ซึ่งต่ำกว่าอัตราปัจจุบันมาก

ในเดือนเมษายน อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัวลงเหลือ 5.9% ในปีนี้ จาก 6.7% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการชะลอแบบ soft landing ในวงกว้าง แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วบางแห่ง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง(disinflation)ได้ชะลอลง ความเสี่ยงในวงกว้างยังคงมีความสมดุล แต่ความเสี่ยงด้านลบบางประการในระยะสั้นชัดขึ้น

โดยอาจเกิดการพลิกผันของแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอาจบีบให้ธนาคารกลาง รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ต้องคงต้นทุนการกู้ยืมให้สูงอีกนาน ซึ่งจะทำให้การเติบโตโดยรวมตกอยู่ในความเสี่ยง โดยกดดันค่าเงินดอลลาร์ให้สูงขึ้น และส่งผลเสียต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา หลักฐานเชิงประจักษ์ที่เพิ่มขึ้นชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากราคาพลังงานและอาหาร ที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นและการลดลงหลังจากนั้นในหลายประเทศ

แต่ข่าวดีก็คือว่า ภาวะเงินเฟ้อทั่วไปถดถอย อัตราเงินเฟ้อก็ลดลงโดยไม่มีการชะงักหรือถดถอย ข่าวร้ายก็คือ ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อของราคาพลังงานและอาหารเกือบจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดในหลายประเทศแล้ว แม้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมจะไม่ใช่เหตุผลหนึ่งตามที่ได้เน้นไปก่อนหน้านี้ นั่นคือราคาสินค้ายังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับบริการ แรงกดดันต่อราคาบริการและค่าจ้างอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมสูงกว่าที่ต้องการ เว้นแต่อัตราเงินเฟ้อของสินค้าจะลดลงอีก

กูรินชาส์ ตอบคำถามเรื่องเงินเฟ้อจากภาคบริการว่า สหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาและประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ยังคงมีภาวะเงินเฟ้อด้านบริการซึ่งเกี่ยวข้องกับความหนืดของอัตราเงินเฟ้อโดยรวม อัตราเงินเฟ้อด้านบริการยังคงอยู่ในระดับสูง เป็นผลจากการเติบโตของค่าจ้างในหลายประเทศค่อนข้างแข็งแกร่ง ปัจจุบันบางส่วนกำลังขึ้นตามรายได้จริงที่สูญเสียไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังช่วยสนับสนุนการบริโภคโดยรวมด้วย เนื่องจากจะช่วยยกระดับรายได้ที่แท้จริงของครัวเรือน และกำลังซื้อ และด้วยเหตุนี้จึงสนับสนุนอุปสงค์

ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อสถานการณ์ของ soft landing ซึ่งหมายความว่านโยบายการเงินจะต้องรอบคอบ หลีกเลี่ยงการผ่อนคลายก่อนเวลาอันควร โดยเฉพาะในกรณีที่เศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง แต่ต้องระวังไม่ให้ช้าเกินไปเมื่ออัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายอย่างชัดเจน

กูรินชาส์ ขยายความในการตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า เงินเฟ้อเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ระบุไว้ในรายงานอัปเดต เพราะมีความกังวลว่าแนวโน้มของภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศได้ชะลอตัวลงในช่วงแรกของปี มีข่าวดีในสหรัฐอเมริกาจากรายงาน CPI ประจำเดือนมิถุนายน ดูเหมือนว่าพลวัตของเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนไหว อย่างน้อยก็ในสหรัฐอเมริกา ในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ก็มีความไม่ราบรื่น ซึ่งอาจจะเห็นมากกว่าขึ้นและเงินเฟ้อจะลดลงช้ากว่าที่คาด

สำหรับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก ก็คือ เพื่อตอบสนองต่อเงินเฟ้อที่ลดลง ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องคงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปอีกระยะเมื่อย้อนกลับไปในเดือนมกราคมหรือเมษายน มีความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าที่เป็นอยู่ ในรายงานอัปเดต ได้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหนึ่งครั้งก่อนสิ้นปี 2567 และยิ่งการคงอัตราดอกเบี้ยนานขึ้น หรือเลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไป ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในสกุลเงินหลัก ก็สร้างแรงกดดันต่อค่าเงิน สร้างแรงกดดันต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และความกดดันนั้นส่งไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประเทศรายได้ปานกลาง และประเทศกำลังพัฒนา จึงเป็นข้อกังวลประการหนึ่งสำหรับเศรษฐกิจโลก

“ตอนนี้ ถามว่าเรากังวลหรือไม่ว่าการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางอาจนำไปสู่การฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้อ ขณะนี้ สิ่งที่เราเห็นคือการดำเนินการอย่างระมัดระวังในส่วนของธนาคารกลาง และระมัดระวังอย่างมากในการเริ่มวงจรการลดดอกเบี้ย ECB ซึ่งเป็นธนาคารกลางยุโรปได้เริ่มเริ่มการลดในรอบนี้เมื่อเดือนที่แล้วในเดือนมิถุนายน ธนาคารอื่นรอไปก่อน เช่น ธนาคารแห่งอังกฤษ และ ธนาคารกลางสหรัฐ ดังนั้นผมคิดว่าพวกเขากำลังพิจารณาข้อมูลทั้งหมดอย่างเหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าแนวโน้มเงินเฟ้อนี้มั่นคง ปลอดภัย และปลอดภัยที่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยจริงๆ” กูรินชาส์กล่าว

ประการที่สอง ความท้าทายทางการคลังจะต้องมีการจัดการโดยตรงมากขึ้น ในหลายประเทศ การคลังแย่ลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดโรคระบาด ทำให้มีความเปราะบางมากขึ้น การสร้างกันชน(buffer)ขึ้นใหม่และความน่าเชื่อถืออย่างค่อยเป็นค่อยไปในขณะที่ยังคงปกป้องกลุ่มที่เปราะบางที่สุดถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มทรัพยากรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือความมั่นคงของประเทศและความมั่นคงด้านพลังงาน

กันชนที่แข็งแกร่งขึ้นยังทำให้มีพื้นที่นโยบายที่จำเป็นในการจัดการกับแรงกระแทกที่ไม่คาดคิด แต่การรัดเข็มขัดทางการคลัง(fiscal consolidations)ที่คาดการณ์ไว้นั้นไม่เพียงพอในหลายประเทศ และยังขยายขอบเขตนโยบายและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น เป็นที่น่ากังวลว่าในขณะที่สหรัฐอเมริกามีการจ้างงานเต็มที่ และยังคงรักษาจุดยืนทางการคลังที่ผลักดันอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยเงินทุนระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจทั้งในประเทศและทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

รายงานWorld Economic Outlook Update ระบุว่า การที่ output gaps เริ่มปิดลงและอัตราเงินเฟ้อลดลง ผู้กำหนดนโยบายมีภารกิจสองด้าน คือ การทำให้มีเสถียรภาพด้านราคาและจัดการกับสิ่งที่ตกค้างจากวิกฤตการณ์ล่าสุด รวมถึงการเสริมสร้างกันชนที่สูญเสียไป และผลักดันการเติบโตให้สูงขึ้น ในระยะสั้น จะต้องมีการตรวจสอบและจัดลำดับการผสมผสานนโยบายอย่างรอบคอบ ในประเทศที่มีความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางภายนอก ธนาคารกลางไม่ควรผ่อนคลายเร็วเกินไป และต้องพร้อมที่จะกระชับให้เข้มงวดขึ้นหากจำเป็น ในกรณีที่ข้อมูลเงินเฟ้อส่งสัญญาณถึงการกลับมามีเสถียรภาพด้านราคาอย่างมั่นคง การผ่อนคลายนโยบายการเงินควรดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่สำหรับการรัดเข็มขัดทางการคลังไปพร้อมๆ กัน การออกนอกกรอบทางการคลังในปีที่ผ่านมาในบางประเทศอาจทำให้ต้องมีจุดยืนที่เข้มงวดกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก เนื่องจากพื้นที่สำหรับการดำเนินมาตรการทางการคลังลดลง ความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการรัดเข็มขัดทางการคลังควรปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยยึดกรอบการคลังที่ดีและการระดมทรัพยากร

ประการที่สาม ระบบการค้าพหุภาคีที่ค่อยๆล่มสลายเป็นข้อกังวลหลักอีกประการหนึ่ง ขณะนี้แต่ละประเทศจำนวนมากกำลังดำเนินการตามวิถีของตนเอง โดยกำหนดอัตราภาษีศุลกากรฝ่ายเดียวหรือมีมาตรการนโยบายอุตสาหกรรม ระบบการค้าที่ไม่สมบูรณ์ต้องมีการปรับปรุง แต่มาตรการฝ่ายเดียวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ไม่น่าที่จะทำให้โลกเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างยั่งยืนได้ การค้าและการจัดสรรทรัพยากรจะบิดเบือน กระตุ้นให้มีการตอบโต้ ทำให้การเติบโตอ่อนแอลง และทำให้ยากขึ้นในการประสานงานนโยบายที่จัดการกับความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กูรินชาส์ให้ข้อมูลในการตอบคำถามว่า ในปี 2566 ได้มีการนำมาตรการการค้ามาใช้กว่า 3,000 มาตรการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1,000 มาตรการในปี 2562 ซึ่ง 1,000 มาตรการในปี 2562 ก็ไม่ใช่ระดับต่ำ แต่เป็นตัวเลขที่สูงอยู่แล้ว จึงเป็นรูปแบบของข้อจำกัดในการส่งออก ซึ่งอยู่ในรูปแบบของมาตรการนโยบายอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีองค์ประกอบทางการค้า และแน่นอนว่าจะนำไปสู่การตอบโต้ โดยเห็นว่าเมื่อประเทศกำหนดมาตรการจำกัดการค้า ก็จะมีการตอบโต้จากคู่ค้ารายอื่นๆที่บังคับใช้ในระยะเวลาอันสั้น และที่ลดหรือส่งผลกระทบต่อการค้า การค้าทวิภาคีเป็นส่วนใหญ และอาจส่งผลกระทบต่อการแพร่กระจายของความรู้ การไหลของเงินทุน และเพิ่มความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก และทำให้ประเทศต่างๆ มีความเสี่ยงมากขึ้น

“ดังนั้นข้อกังวลประการหนึ่งที่เรามีก็คือ ในอนาคต สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทั่วโลก ผมย้ำว่าในรายงานของเรา สิ่งที่เราประเมินในปี 2568 คือ การเติบโตทางการค้าทั่วโลกที่แข็งแกร่งพอสมควร ดังนั้นการค้าโดยรวมไม่ได้แยกออกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่กระแสการค้ามีการปรับเปลี่ยนจากที่เห็นภายนอก เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็จะเริ่มกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ” กูรินชาส์กล่าว

สำหรับการเติบโตของประเทศหลักๆ รายงาน World Economic Outlook Update ระบุว่า

นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว การเติบโตคาดว่าจะมเป็นในทิศทางเดียวกันในไตรมาสต่อๆไป โดยในสหรัฐอเมริกา ได้ปรับลดคาดการณ์ลงเหลือ 2.6% ในปี 2567 (ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน 0.1%) สะท้อนถึงการชะลอตัวกว่าที่คาดไว้เมื่อต้นปี และการเติบโตคาดว่าจะชะลอตัวลงมาที่ 1.9% ในปี 2568 เนื่องจากตลาดแรงงานคลายความร้อนแรงและการบริโภคเติบโตปานกลาง โดยนโยบายการคลังเริ่มเข้มงวดขึ้นทีละน้อย ภายในสิ้นปี2568 การเติบโตคาดว่าจะลดลงมาที่ศักยภาพ และปิด output gap

ในยูโรโซน กิจกรรมทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว สอดคล้องกับการคาดการณ์ในเดือนเมษายน 2567 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.9% ในปี 2567 (มีการปรับเพิ่มขึ้น 0.1 จุด) โดยได้แรงหนุนจากแรงส่งที่แข็งแกร่งในด้านบริการและการส่งออกสุทธิที่สูงกว่าคาดในช่วงครึ่งแรกของปี การเติบโตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5% ในปี 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคที่แข็งแกร่งขึ้นจากค่าจ้างที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนที่สูงขึ้นจากสภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลาย ท่ามกลางการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้ ภาคการผลิตที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวซบเซามากขึ้นในประเทศต่างๆ เช่น เยอรมนี

ในญี่ปุ่น การตกลงในเรื่องค่าจ้างที่เพิ่มสูง คาดว่าจะสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนให้เริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่การคาดการณ์การเติบโตในปี 2567 ปรับลดลง 0.2 จุด ส่วนใหญ่สะท้อนถึงการหยุดชะงักชั่วคราวของอุปทานและการลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนแอในไตรมาสแรก

การคาดการณ์การเติบโตในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาได้ปรับให้สูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ การปรับขึ้นนี้ขับเคลื่อนโดยกิจกรรมที่แข็งแกร่งขึ้นในเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอินเดีย สำหรับประเทศจีนได้ปรับคาดการณ์การเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 5% ในปี 2567 หลักๆจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่แข็งแกร่งในไตรมาสแรก ส่วนในปี 2568 นั้นคาดว่า GDP จะชะลอตัวลงเหลือ 4.5% และจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลางเป็น 3.3% ภายในปี 2572 เนื่องจากปัญหาสังคมสูงวัยและผลิตภาพที่เติบโตลดลง

ในอินเดียการคาดการณ์การเติบโตก็ได้ปรับขึ้นเช่นกันเป็น 7.0% ในปีนี้ สะท้อนถึงการการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตปี 2566 ที่ต่อเนื่องและแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท

สำหรับประเทศไทย IMF ปรับคาดการณ์การเติบโตปี 2567 ขึ้นเป็น 2.9% จาก 2.7% ที่ประเมินไว้ในเดือนเมษายน และในปี 2568 จะขยายตัวเพิ่มอีก 0.2% เป็น 3.1%

ในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ความแตกต่างของนโยบายสะท้อนถึงความจำเป็น ในการจัดการความเสี่ยงของสกุลเงินและความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัจจัยหลักในการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ การตอบสนองที่เหมาะสมคือ ต้องยอมให้มีอัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวควบคู่ไปกับการใช้นโยบายการเงินเพื่อรักษาอัตราเงินเฟ้อให้เข้าใกล้เป้าหมาย

การใช้ทุนสำรองต่างประเทศควรมีความรอบคอบและเก็บไว้เพื่อรับมือกับการไหลออกที่อาจเลวร้ายยิ่งขึ้นในอนาคต และควรให้สอดคล้องกับ กรอบ Integrated Policy Framework (IPF) ของ IMF นโยบายดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพโดยรวม (macroprudential policies) จะลดความเปราะบางจากการที่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศจำนวนมาก

นอกเหนือจากความท้าทายในระยะสั้นแล้ว ผู้กำหนดนโยบายต้องดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้เพื่อฟื้นฟูการเติบโตในระยะปานกลางที่ลดลง
การที่แนวโน้มการผลิตในประเทศต่างๆ มีความแตกต่างกัน นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยบางอย่างไม่ใช่วัฏจักรและจำเป็นต้องมีการดำเนินการตามนโยบายที่เด็ดขาดเพื่อเพิ่มพลวัตทางธุรกิจและลดการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ถูกต้องเพื่อจัดการกับจุดอ่อน ส่งเสริมการจัดหาแรงงาน โดยเฉพาะโดยการบูรณาการสตรีและผู้อพยพให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มีส่วนช่วยในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้ว และจะช่วยลดแรงกดดันด้านประชากร เพิ่มศักยภาพในการเติบโต ในขณะที่การย้ายถิ่นฐานของประชากรรุ่นเยาว์และมีการศึกษาอาจมีผลกระทบต่อประเทศต้นทาง แต่ต้นทุนสามารถลดลงได้ อแนวทางที่เป็นไปได้ คือ นโยบายที่ช่วยในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพลัดถิ่น การใช้ประโยชน์จากเงินโอน และขยายโอกาสตลาดแรงงานในประเทศ