ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามตั้งเป้ามีบรอดแบนด์มือถือตามทางหลวง-ทางด่วน-ทางรถไฟ 100% ปี 2568

ASEAN Roundup เวียดนามตั้งเป้ามีบรอดแบนด์มือถือตามทางหลวง-ทางด่วน-ทางรถไฟ 100% ปี 2568

21 กรกฎาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 14-20 กรกฎาคม 2567

  • เวียดนามตั้งเป้ามีบรอดแบนด์มือถือตามทางหลวง-ทางด่วน-ทางรถไฟ 100% ภายในปี 2568
  • เวียดนาม-ไทย ตลาดอีคอมเมิร์ซที่โตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ลาวเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% บนแพลตฟอร์มดิจิทัล 1 ส.ค.
  • จีนลงทุนกัมพูชาทะลุ 1.3 พันล้านดอลลาร์
  • จีนครองตำแหน่งผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา
  • อินโดนีเซียเชื่อมการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR code กับเกาหลี
  • ไทยเซ็น MOU ฟิลิปปินส์ร่วมมือกำกับการแข่งขันทางการค้า

    เวียดนามตั้งเป้ามีบรอดแบนด์มือถือตามทางหลวง-ทางด่วน-ทางรถไฟ 100% ภายในปี 2568

    ที่าภาพ:https://tuoitrenews.v n/news/business/20200905/vietnam-gears-up-to-deploy-commercial-5g-in-late-2020/56564.html

    ภายในปี 2568 เวียดนามตั้งเป้าที่จะให้มีเครือข่ายบรอดแบนด์มือถือครอบคลุมทางหลวง ทางด่วน และทางรถไฟแห่งชาติ 100% ภายใต้แผนการยกระดับคุณภาพของเครือข่ายโทรคมนาคมเคลื่อนที่ของประเทศ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร (Ministry of Information and Communications:MIC)

    ด้วยการมุ่งเน้นไปที่การใช้บริการ 5G อย่างมีประสิทธิผล แผนดังกล่าว จึงเน้นการยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้สำหรับทั้งบุคคลและธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

    หน่วยงานโทรคมนาคมเวียดนาม (Viet Nam Telecommunications Authority:VNTA) เปิดเผยว่า ร่างแผนงานได้ถูกส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน MIC รวมถึงสำนักงานสารสนเทศและการสื่อสารของจังหวัดและเมือง และบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ เช่น Viettel, Vietnam Post and Telecommunications Group (VNPT) และ MobiFone เพื่อรับฟังความเห็น

    แผนดังกล่าวยังตั้งเป้าที่จะให้บริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ครอบคลุมหมู่บ้านและหมู่บ้านห่างไกลทุกแห่งที่ไม่มีบริการในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่าจะครอบคลุมเส้นทางคมนาคมหลักได้อย่างต่อเนื่อง

    ภายใต้แผนดังกล่าว บริการเทคโนโลยี 2G จะสิ้นสุดลงในทุกพื้นที่ ยกเว้นหมู่เกาะเจื่องซา(Truong Sa)หรือ สแปรตลีย์ (Spratly ) และหมู่เกาะหวง ซา(Hoang Sa) หรือ พาราเซล (Paracel) และแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง

    ขณะเดียวกัน ภายในปี 2568 ทุกจังหวัดและเมืองต่างๆ คาดว่าจะมี 5G ที่ครอบคลุม ไปพร้อมๆกับโซนเทคโนโลยีขั้นสูง ศูนย์วิจัยและนวัตกรรม สวนอุตสาหกรรม สนามบิน และท่าเรือ

    ความเร็วในการดาวน์โหลดเฉลี่ยสำหรับบริการอินเทอร์เน็ต 5G คาดว่าจะอยู้ที่อย่างน้อย 100 Mbps

    VNTA ได้รับมอบหมายให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผน พร้อมทั้งกำหนดนโยบายขจัดอุปสรรคให้บริษัทโทรคมนาคมในการยกระดับคุณภาพโครงข่าย

    เวียดนาม-ไทย ตลาดอีคอมเมิร์ซที่โตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ที่มาภาพ: https://www.opengovasia.com/2024/07/18/vietnam-and-thailand-seas-fastest-growing-e-commerce-markets/

    เวียดนามและไทยเป็นสองตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากรายงานอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการก้าวขึ้นของเวียดนามแซงหน้าฟิลิปปินส์จนกลายเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค

    ในปี 2566 ยอดขายสินค้าออนไลน์รวม (Gross Merchandise Value:GMV) ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 8 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าถึง 114.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี แม้มีความท้าทายทางเศรษฐกิจมหภาค แต่ภาคอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า GMV ในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2563

    เวียดนามและไทยเป็นผู้นำในการเติบโต โดยมี GMV เพิ่มขึ้น 52.9% และ 34.1% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 16-30% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงที่สุดในโลก

    อินโดนีเซียยังคงเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยมีสัดส่วน 46.9% ของ GMV ของภูมิภาค ในตลาดที่มีพลวัตนี้ Shopee มีบทบาทหลักด้วยรายได้ GMV รวม 55.1 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ครองส่วนแบ่งตลาด 48% ส่วน TikTok Shop เติบโตขึ้นจนกลายเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากการเข้าซื้อกิจการ Tokopedia โดย GMV ของแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าในปี 2565 สูงถึง 16.3 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ในเวียดนาม TikTok Shop มีส่วนแบ่งการตลาดใหญ่ถึง 24% ทำให้เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประเทศ

    รายงานระบุถึงตัวขับเคลื่อนหลักที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคว่า อินฟลูเอนเซอร์หรือที่รู้จักกันในชื่อ KOLs(Key Opinion Leaders) มีบทบาทสำคัญในการนำทางตลาดอีคอมเมิร์ซในเวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย แม้แต่การสตรีมสดเพียงครั้งเดียวด้วย KOL ก็สร้างรายได้หลายล้านดอลลาร์ได้

    นอกจากนี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคกำลังนำแอปพลิเคชัน AI ที่เป็นนวัตกรรมมาใช้มากขึ้น เพื่อยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้และประสิทธิภาพการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ผู้ขายต้องเผชิญกับแรงกดดันจากแพลตฟอร์มการจัดหาบริการจัดส่งพัสดุ สะท้อนถึงความต้องการโซลูชั่นโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพในตลาดที่กำลังเติบโต

    จากที่ OpenGov Asia รายงาน เวียดนามกำลังดำเนินการเพิ่มเติมในการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ในฐานะตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยได้รับการสนับสนุนจากนโยบาย คำแนะนำ และโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมต่างๆ ภาคธุรกิจนี้กำลังขยายตัวในอัตราเร็วกว่าอีคอมเมิร์ซปกติถึง 2.3 เท่าระหว่างปี 2565 ถึง 2568 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 20% ต่อปีจนถึงปี 2569

    ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจของเวียดนามได้ขยายการเข้าถึงระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 300% และ SMEs จำนวนมากมีรายได้ต่อปีเกินกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    รัฐบาลเวียดนาม พร้อมด้วยกระทรวง ภาคส่วนต่างๆ ท้องถิ่น และชุมชนธุรกิจ กำลังส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีคอมเมิร์ซ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เน้นการขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และระบบนิเวศดิจิทัล โดยได้รับการสนับสนุนจากโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง

    สำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลกำลังปรับปรุงกรอบกฎหมาย ให้การสนับสนุนทางการเงิน ส่งเสริมการลงทุน และดูแลการปกป้องข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ การดำเนินการยังรวมถึงหลักสูตรการฝึกอบรมฟรีสำหรับ SMEs เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

    นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋ง ได้ออกคำสั่งเพื่อยกระดับการจัดการของรัฐในภาคอีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัล คำสั่งนี้เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงกรอบกฎหมาย ลดความซับซ้อนของขั้นตอนศุลกากร การบูรณาการฐานข้อมูลระดับชาติเพื่อปราบปรามการฉ้อโกงและการหลีกเลี่ยงภาษี และการพัฒนาโซลูชันทางเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบธุรกรรมดิจิทัล

    โครงการริเริ่มเหล่านี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเวียดนามในการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจให้ทันสมัย ​​โดยมีเป้าหมายเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในเศรษฐกิจดิจิทัล และยกระดับการเข้าถึงตลาดทั่วโลกของธุรกิจในเวียดนาม

    นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินงานเฉพาะด้านเพื่อแก้ปัญหาในการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ ตามการระบุของสำนักงานรัฐบาล

    เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม สำนักนายกรัฐมนตรีได้เผยแพร่ข้อสรุปของนายกรัฐมนตรีในการประชุมประเมินการผลักดันตามแนวทางของผู้นำรัฐบาล ในด้านโครงการพัฒนาข้อมูลที่อยู่อาศัย การระบุตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ และแอปพลิเคชันการตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของประเทศในช่วงปี 2565-2568 ที่วางวิสัยทัศน์ถึงปี 2030 และส่งเสริมการเชื่อมต่อข้อมูลและการแบ่งปันในบริการอีคอมเมิร์ซและการจัดการภาษี

    โดยได้ขอให้รัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยงานระดับรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเวียดนาม ประธานคณะกรรมการประชาชนของจังหวัด และเมืองที่บริหารโดยส่วนกลาง ทบทวนการดำเนินการบริการสาธารณะที่จำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา และยังได้รับคำสั่งให้จัดสรรทรัพยากรไปที่การเร่งการแปลงบันทึกเป็นดิจิทัลและการวางขั้นตอนการบริหารในทุกระดับ

    กระทรวงความมั่นคงสาธารณะได้รับมอบหมายให้ให้มีบริการสาธารณูปโภค 13 รายการบน VNelD ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการออกบัตรประวัติอาชญากรรมในกรุงฮานอยและจังหวัดเถื่อเทียน-เว้ ทางตอนกลาง ซึ่งจะเปิดตัวทั่วประเทศในเดือนนี้

    กระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้ส่งเสริมการจัดการภาษี ให้บริการภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และปรับใช้โซลูชันใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์สำหรับกิจกรรมอีคอมเมิร์ซและการขายผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

    นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาและเสนอแนวทางในการจัดการและพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศและข้ามพรมแดนอย่างยั่งยืน รวมถึงเสริมกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจกรรมอีคอมเมิร์ซและการไลฟ์

    ในขณะเดียวกัน ท้องถิ่นต่างๆ ได้รับมอบหมายให้ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ให้การสนับสนุนในแง่ของทรัพยากรบุคคลและเงินทุนเพื่อเปิดตัวโซลูชันการจัดการภาษีดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ปรับใช้ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมภาคการค้าปลีก และเสริมสร้างการตรวจสอบและการจัดการสถานประกอบการธุรกิจที่ละเมิด

    ลาวเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% บนแพลตฟอร์มดิจิทัล 1 ส.ค.

    ที่มาภาพ: https://unctad.org/news/restoring-competition-winner-took-all-digital-platform-markets
    ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น Google, Facebook และ Amazon จะต้องใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)ในอัตรา 10 % กับลูกค้าในลาว หลังจากที่ได้ปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศขึ้นจาก 7%

    ทั้งสามแพลตฟอร์มหลักได้แจ้งให้ผู้ใช้ทราบเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนที่กำลังจะเกิดขึ้น การปรับ VAT นี้จะส่งผลต่อบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อของลูกค้าบนแพลตฟอร์มเหล่านี้

    ก่อนที่การปรับเปลี่ยนจะมีผล ผู้ใช้จะต้องระบุหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของลาว (Tax Identification Number:TIN) เพื่ออัปเดตข้อมูล เมื่ออัปเดตแล้ว TIN ของแพลตฟอร์มจะแสดงในใบแจ้งหนี้

    การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งประกาศครั้งแรกในเดือนมีนาคม เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในวงกว้างในการเพิ่มรายได้งบประมาณของรัฐ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

    อัตราที่เพิ่มขึ้นนี้ยังใช้กับธุรกรรมต่างๆ รวมถึงการนำเข้า สินค้า บริการทั่วไป การนำเข้าและจัดหาแร่ และการใช้ไฟฟ้า

    ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ลาวคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% อย่างไรก็ตาม ด้วยความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก เสนอแนะให้กลับไปใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% เพื่อให้ความสำคัญในการจัดเก็บภาษีและเพิ่มงบประมาณของรัฐ

    หลังจากประสบกับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ลาวได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่กลับประสบผลสำเร็จไม่มากนัก

    เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ประธานประเทศ นายทองลุน สีสุลิด ได้สั่งการให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและการอ่อนค่าของเงินกีบลาวอย่างต่อเนื่อง โดยแนะนำให้เพิ่มทุนสำรองต่างประเทศ ระงับการนำเข้าที่ไม่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และเรียกร้องให้มีการติดตามหนี้และการประมูลสินทรัพย์เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือทางการเงิน

    จีนลงทุนกัมพูชาทะลุ 1.3 พันล้านดอลลาร์

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501526295/video-the-third-ring-road-officially-renamed-xi-jinping-blvd/
    จีนลงทุน 1.3 พันล้านดอลลาร์ในกัมพูชาในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คิดเป็น 42% ของเงินลงทุนทั้งหมดในประเทศ

    ตัวเลขดังกล่าวเผยแพร่โดย นายซุน จันทอล รองประธานคนที่หนึ่งของ สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา ( Council for the Development of Cambodia:CDC) ในงานพิธีเปิดป้ายชื่อ “ ถนนสี จิ้นผิง” วันที่ 20 กรกฎาคม ที่เขาเป็นประธานร่วมกับ นายหวัง เหวินปิน เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา

    นายจันทอลระบุว่า จีนเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการให้สินเชื่อแบบผ่อนปรนและความช่วยเหลือแก่กัมพูชาด้วยมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สำหรับการก่อสร้างถนนที่มีความยาวรวม 4,000 กิโลเมตร สะพานหลัก 16 แห่งที่มีความยาวรวม 14,000 เมตร และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ

    นายจันทอลระบุว่า การพัฒนาที่รวดเร็วของกัมพูชาในทุกภาคส่วนเป็นผลจากสันติภาพ และใช้โอกาสนี้ขอบคุณจีนและประชาชนของจีนสำหรับความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา

    จีนครองตำแหน่งผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา

    ที่มาภาพ:https://www.gnlm.com.mm/china-leads-myanmars-rice-imports-with-91000-tonnes-in-q1/

    จีนครองตำแหน่งผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเมียนมาด้วยปริมาณมากกว่า 91,500 ตันในไตรมาสแรก (เมษายน-มิถุนายน) ของปีงบประมาณปัจจุบัน 2567-2568 ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่นำเข้ามากกว่า 84,300 ตัน และเบลเยียมที่มากกว่า 53,200 ตัน จากข้อมูลของสหพันธ์ข้าวเมียนมา

    นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกมากกว่า 23,500 ตันไปยังสเปน และ 10,000 ตันไปยังอิตาลี

    เมียนมาส่งออกข้าวมากกว่า 345,467.3 ตันไปยังตลาดต่างประเทศในไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณนี้ สร้างรายได้ 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

    สหพันธ์ตั้งเป้าที่จะส่งออกข้าวมากกว่า 2.5 ล้านตันในปีงบประมาณ 2567-2568 (เมษายน-มีนาคม)

    กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกับสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา สมาพันธ์ข้าวเมียนมา สมาคมผู้ค้าถั่วพัลส์ ถั่ว ข้าวโพด และเมล็ดงา(Myanmar Pulses, Beans, Maize and Sesame Seeds Merchants Association) สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มแห่งเมียนมา สมาคมอุตสาหกรรมเมียนมา สมาคมชาวสวนยางและผู้ผลิตยางแห่งเมียนมา , สมาคมผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงและผู้ส่งออกเมียนมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งออกรายเดือนและอำนวยความสะดวกในการส่งออก

    สหพันธ์ตั้งเป้าหมายที่จะส่งออกข้าวให้ได้ 2.5 ล้านตันในปีงบประมาณ 2566-2567 ที่จะสร้างรายได้ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวไม่เป็นไปตามเป้าหมายโดยอยู่ที่ 1.6 ล้านตัน ทำรายได้ 845 ล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐ

    นโยบายการเงินของธนาคารกลางเมียนมาในการควบคุมรายได้จากการส่งออกเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกข้าว ซึ่งส่งผลกระทบทางการเงินแก่ผู้ส่งออก สภาพอากาศเอลนิโญก็ยังเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของการส่งออกข้าว ประธานสหพันธ์ข้าวเมียนมากล่าวย้ำ

    เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักจำนวน 2,261,203 ตันไปยังคู่ค้าต่างประเทศในปีงบประมาณ 2565-2566 (เมษายน 2565-มีนาคม 2566) โดยมีมูลค่าประมาณ 853.472 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

    อินโดนีเซียเชื่อมการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR code กับเกาหลี

    ที่มาภาพ: https://jakartaglobe.id/business/bis-qris-will-be-accepted-in-korea-soon

    นายเพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia:BI) และนาย รี ชาง-ยอง ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลี (Bank of Korea :BoK) ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการชำระเงินด้วย QR Code ระหว่างประเทศ เมื่อวัน 16 กรกฎาคม 2567

    นายวาร์จิโย ย้ำว่าความร่วมมือในการชำระเงินด้วย QR Code ระหว่าง BI และ BoK จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ความร่วมมือนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการดำเนินการตามแผนงาน G20 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินข้ามพรมแดน

    “การเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนต้องสอดคล้องกับแผนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมทวิภาคี เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคและเพิ่มประสิทธิภาพ” นายวาร์จิโยกล่าวในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ

    บันทึกความเข้าใจดังกล่าวคาดว่าจะสร้างระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ครอบคลุม และโปร่งใสมากขึ้นระหว่างอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ BI จะยังคงเสริมสร้างและขยายความร่วมมือระหว่างประเทศกับธนาคารกลางอื่นๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อการชำระเงินข้ามพรมแดน

    ความร่วมมือนี้จะสร้างกรอบการทำงานที่อำนวยความสะดวกในการชำระเงินด้วย QR Code ระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงผู้ให้บริการระบบการชำระเงินหรือผู้ให้บริการการชำระเงิน

    ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง BI และ BoK ในการใช้การเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR Code ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยความร่วมมือทางอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดในทั้งสองประเทศ ที่จะตามด้วยการพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายและระยะทดลองใช้ก่อนที่จะนำไปใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ

    ความร่วมมือดังกล่าวจะสนับสนุนการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและการเงินในอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ โดยมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากระหว่างทั้งสองประเทศ

    มาตรฐาน QR Code อินโดนีเซีย (Quick Response Code Indonesian Standard:QRIS) ใช้ได้แล้วในสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย

    ไทยเซ็น MOU ฟิลิปปินส์ร่วมมือกำกับการแข่งขันทางการค้า

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ;https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/86030

    ​“รัดเกล้า” เผย สขค. และ PCC จัดทำ MOU ด้านความร่วมมือในการกำกับการแข่งขันทางการค้า เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นธรรมสําหรับการค้าและการลงทุนไทย-ฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร

    วันนี้ (19 กรกฎาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า แห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (ฟิลิปปินส์) (Philippine Competition Commission : PCC) ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เกี่ยวกับการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ด้านความร่วมมือในการกำกับการแข่งขันทางการค้าระหว่าง สขค. และ PCC

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของแต่ละประเทศ ให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านความร่วมมือระหว่าง PCC และ สขค. ทั้งนี้ ความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือระหว่างกันจะต้องคำนึงถึงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทรัพยากรที่มีอยู่ตามความเหมาะสม และผลประโยชน์สำคัญของทั้งสององค์กร ตลอดจนต้องเคารพความเป็นอิสระในการดำเนินงานของทั้งสององค์กรตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ

    ซึ่งการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ เป็นประโยชน์ร่วมกันของไทยและฟิลิปปินส์ในการสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับการค้าและการลงทุนในทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงการลงทุนและการส่งออกสินค้าจากไทยไปฟิลิปปินส์ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต รวมถึงรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่กำหนดให้การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารเป็นวาระหลักของประเทศ ดังนั้น บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนของไทย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญและศักยภาพสูง