ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘พิชัย’ เคลียร์ ‘เศรษฐพุฒิ’ ยันไม่แตะดอกเบี้ยนโยบาย – จับมือช่วย ‘รายย่อย – SMEs’ เข้าถึงสินเชื่อ

‘พิชัย’ เคลียร์ ‘เศรษฐพุฒิ’ ยันไม่แตะดอกเบี้ยนโยบาย – จับมือช่วย ‘รายย่อย – SMEs’ เข้าถึงสินเชื่อ

16 พฤษภาคม 2024


เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชิญนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่กระทรวงการคลัง

‘พิชัย’ เคลียร์ ‘เศรษฐพุฒิ’ ยันไม่แตะนโยบายการเงิน – ดอกเบี้ย – กรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย จับมือ ธปท.แก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย – SMEs เข้าถึงสินเชื่อ

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชิญนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่กระทรวงการคลัง

ภายหลังการหารือนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วงเช้าของวันนี้ก็ได้มีการหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง โดยประเด็นหลักๆที่หารือกันมี 2 เรื่อง คือ ประเด็นแรก ทั้งกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีความเข้าใจตรงกันในเรื่องการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นหน้าที่ของ ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สามารถใช้วิจารณญาณ เครื่องมือ และผลการวิเคราะห์มาใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินอย่างอิสระ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตกลงกันไว้กับรัฐบาล ทั้งนี้ ในปัจจุบันกำหนดกรอบไว้ที่ 1-3% ซึ่งปกติก็จะมีการทบทวนกันทุกๆปี ตามกระบวนการนั้น ธปท.จะทำการวิเคราะห์แนวโน้มของเงินเฟ้อ ทั้งในระยะสั้น และระยะปานกลาง จากนั้น ก็จะนำผลการศึกษามาหารือกับกระทรวงการคลัง จนในที่สุดก็ได้กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ตรงกัน ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่ต้องดำเนินการไปตามปกติเหมือนทุก ๆปี

ประเด็นที่ 2 เราก็มีความเห็นตรงกัน คือ เรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ หรือ แหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจและประชาชน แม้อัตราดอกเบี้ยจะสูง หรือ ต่ำลงนิดหน่อย จริงๆแล้วการเข้าถึงสินเชื่อมีความสำคัญมากกว่า ซึ่งประเด็นนี้ผมก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ว่า ธปท.หลายประเด็น เพื่อหาทางช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน และก็เป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจรายใหญ่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งจากสถาบันการเงินและตลาดทุนได้ง่ายกลุ่มธุรกิจรายย่อย ๆ และธุรกิจ SMEs ส่วนภาคครัวเรือนก็มีปัญหาหนี้สิน ซึ่งกลุ่มนี้สามารถจำแนกออกไปได้อีกหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มที่มีปัญหาหนี้สินอยู่เดิม ต้องนี้ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ , กลุ่มลูกค้ารายใหม่จะเข้ามาขอสินเชื่อ , กลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลจะมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือแล้ว แต่ยังไม่เรียบร้อยดี ทั้งกระทรวงการคลังและ ธปท.ก็มีความเห็นตรงกัน ควรจะนำกลุ่มธุรกิจต่างๆเหล่านี้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อ หรือ ชำระหนี้กับสถาบันการเงินได้ และควรจะมีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานให้ชัดเจน ค่อย ๆทำไม่ได้ เพราะเวลาไม่คอยใคร

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงการคลังในฐานะที่กำกับดูแลแบงก์รัฐ ก็ได้เล่าให้ ธปท.รับทราบว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง แก้ไขปัญหาอะไรไปบ้าง ส่วน ธปท.ก็รายงานให้กระทรวงการคลังทราบว่า ที่ผ่านมา ธปท.ออกประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อะไรไปบ้าง ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงแข็งแรง BIS Ratio สูงกว่ามาตรฐานสากล ซึ่งจากการดำเนินงานของ ธปท.ในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีโอกาสที่เราจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อใหม่ ซึ่งในวันนี้ก็มีการหารือกันถึงเรื่องที่จะดึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีปัญหา ออกมาจากพอร์ตสินเชื่อของแต่ละธนาคารม เพื่อนำบริหารจัดการ หรือ ให้การช่วยเหลือ โดยแยกออกมาเป็นกลุ่มเฉพาะ หากเปรียบเทียบกับพอร์ตสินเชื่อของแต่ละธนาคารประมาณ 4 ล้านล้านบาทแล้ว ถือน้อยมาก ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อตามเกณฑ์ปกติของธนาคารแต่อย่างใด หากทำสำเร็จเชื่อว่า NPLs ของธนาคารจะลดลง

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“สรุปดอกเบี้ยจะขึ้นหรือลง ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่การเข้าถึงสินเชื่อมากกว่า ทุกวันนี้ผู้กู้ทุกคนก็อยากได้ดอกเบี้ยถูก แต่ถ้าเข้าถึงสินเชื่อยาก แม้อัตราดอกเบี้ยจะถูกกว่า 0.5% แต่ลูกค้าขอเลือกแบงก์ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแน่นอนไว้ก่อน ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนโยบายนั้นในความเห็นผมจะมีผลในแง่ของการส่งสัญญาณไปยังนักลงทุนในต่างประเทศ มองเข้ามายังเศรษฐกิจไทยว่ามีแนวโน้มดีขึ้นหรือไม่ ภาวะเงินเฟ้อเป็นอย่างไร ซึ่งผมยืนยันจะไม่เข้าไปแตะ แต่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ และ กนง.พิจารณาได้อย่างอิสระ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการหารือระหว่างกระทรวงการคลัง กับ ธปท.ในวันนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นหรือไม่

นายพิชัย ตอบว่า “จริง ๆผมเป็นคนที่พูดภาษาเดียวกันอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา เช่น ผู้ว่า ธปท.พูดมาผม ก็โต้แย้งไป ผู้ว่า ธปท.ก็บอกว่า ใช่ ส่วน ผู้ว่า ธปท.เสนอความเห็นมา ผมก็บอกว่าเรื่องนี้ก็ถูก ซึ่งผมเข้าใจบทบาทของผู้ว่า ธปท. ก็เพราะผมเคยเป็นกรรมการอยู่ที่ ธปท.มาก่อน จึงเข้าใจในวิธีการทำงานของแบงก์ชาติ หากดำเนินนโยบายเข้มงวดมากสถาบันการเงินก็เข้มแข็ง ซึ่งในความคิดผมก็อยากจะดึงธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาหนี้สินของลูกค้า แต่ต้องอยู่ภายใต้วินัยการเงินที่ดี หากช่วยให้ลูกค้าที่เป็นหนี้เสียฟื้นตัว กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ ก็จะทำให้สถาบันการเงินมีความมั่นคง แต่ถ้าปล่อยให้เป็นหนี้เสียต่อไป ไม่แก้ไข วันหนึ่งก็กลับมากระทบกับธนาคารอีก”

ถามว่า ธปท.จะมีการผ่อนกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อใหม่ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้นอย่างไร

นายพิชัย ตอบว่า ผมคิดว่า ธปท.คงจะมีวิธี แต่อย่าไปเรียกว่าผ่อนกฎเกณฑ์ดีกว่า ผมคิดว่าคงมีวิธีการที่จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นภายใต้กรอบของกฎหมายที่สามารถทำได้ และผู้ที่รู้ดีที่สุด คือ ธนาคารพาณิชย์ อย่างเช่น ลูกหนี้บางกลุ่มก็อยู่ในกรอบที่ธนาคารตัดสินใจแก้ปัญหาได้อยู่แล้ว ส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาต้องตั้งสำรองหนี้สูญไว้เต็มจำนวน ธนาคารพาณิชย์รู้ดีว่าต้องทำอย่างไร ตรงนี้ผมก็อยากจะให้ธนาคารพาณิชย์มาช่วยกันคิดว่าพอจะมีช่องทางให้ทำอะไรได้บ้าง แต่ที่สำคัญอย่างถูกต้องหลักเกณฑ์

ถามว่า กรอบเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ 1-3% มีความเหมาะสมหรือไม่

นายพิชัย ตอบว่า เป็นกรอบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อย่างที่ผมกล่าวไว้ในข้างต้น การกำหนดกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายจะมีการทบทวนกันทุกๆปี เชื่อว่าตอนนี้ ธปท.กำหนดพิจารณาทบทวนกันอยู่ แต่ต้องใช้เวลาพิจารณา ดูสถิติย้อนหลัง 6 เดือน และแนวโน้มข้างหน้า นำเข้าที่ประชุม ส่วนในทางปฏิบัติแล้วไม่เป็นไปตามกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่กำหนด ตรงนี้ก็ควรต้องมองไปอีก 6 เดือน หรือ 9 เดือน การบริหารนโยบายการเงินจะอยู่ภายใต้กรอบเงินเฟ้อหรือไม่ ซึ่ง ธปท.ก็มีทีมงานวิเคราะห์อย่างละเอียด ศึกษาเสร็จเมื่อไหร่ ก็มาหารือกัน

“แต่วันนี้ผม และ ผู้ว่า ธปท.ก็มีเห็นตรงกันเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ทั้ง ๆที่สภาพคล่องของประเทศมีเป็นจำนวนมาก แต่ทำไมผู้กู้รายย่อยไม่สามารถเข้าไม่ถึงแหล่งเงินได้ ปัญหาเกิดจากอะไร วันนี้ในฐานะที่กระทรวงการคลังกำกับดูแลแบงก์รัฐ ก็ได้ให้แบงก์รัฐลงไปพูดคุยกับลูกค้า ทราบแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น เดี๋ยวธปท.ก็จะไปหารือกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรู้เรื่องดีที่สุด วันนี้ผมจึงฝากให้กระทรวงการคลัง และ ธปท.กลับไปศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงิน และนำกลับมาหารือกันใหม่อีกครั้ง”

ถามว่าบรรยากาศการหารือในวันนี้เป็นอย่างไร?

นายพิชัย ตอบว่า “เป็นไปด้วยดี ผมก็รู้จักกับ ดร.เศรษฐพุฒิ มานานแล้ว ผมเคยนั่งเป็นกรรมการด้วยกันหลายแห่ง ยอมรับท่านเป็นคนหนุ่มที่เก่ง และเมื่อได้รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันแล้ว ก็เกิดความเข้าใจตรงกัน และก็รับปากว่าจะช่วยกันดูแลปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ อย่างเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ผู้ว่า ธปท.เสนอ ผมก็เห็นด้วย ซึ่งรัฐบาลก็กำลังเร่งดำเนินการอยู่ แต่เรื่องนี้ไม่สามารถให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ต้องใช้เวลา และ ทำต่อเนื่อง”

ถามว่าหลังจากการหารือกันในวันนี้แล้ว การดำเนินนโยบายการเงิน และการคลังจะสอดประสานกันมากขึ้นหรือไม่

นายพิชัย ตอบว่า ไม่ใช่แค่มากขึ้น แต่ต้องมากที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ ต้องกระจายอย่างทั่วถึง ไม่ใช่แค่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ อย่าง ภาคธุรกิจท่องเที่ยว หรือ อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ควรจะลงไปถึงพ่อค้ารถเข็น หาบเร่แผงลอยด้วย ทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจถึงมีสภาพคล่องเพียงพอ”