ThaiPublica > สู่อาเซียน > ข้อมูล “เศรษฐกิจมหภาคลาว” จากที่ประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 7

ข้อมูล “เศรษฐกิจมหภาคลาว” จากที่ประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 7

26 มิถุนายน 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

การประชุมสภาแห่งชาติลาว สมัยสามัญครั้งที่ 7

ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2567 เป็นต้นมา มีการประชุมสภาแห่งชาติลาว สมัยสามัญครั้งที่ 7 โดยการเป็นประธานของไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ

การประชุมครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลลาว ได้กล่าวรายงานถึงภารกิจที่รับผิดชอบตลอดช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 รวมถึงชี้แจงและตอบข้อซักถามจากสมาชิกสภาแห่งชาติให้ที่ประชุมได้รับทราบ

เนื้อหาในการกล่าวรายงานและคำชี้แจงของรัฐมนตรีแต่ละคน โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์อยู่พอสมควร

เนื้อหาถัดจากนี้เป็นการสรุปเนื้อความบางส่วนจากคำกล่าวรายงานและการชี้แจงของรัฐมนตรีบางคน ที่มีนัยสำคัญต่อการมองภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาคของลาวปัจจุบัน…

(*ตัวเลขการเงินที่รายงานใช้หน่วยเป็นกีบ ปัจจุบันราคาตลาดของเงินกีบอยู่ที่ 700 กีบต่อ 1 บาท)

สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี

สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี
“ลาวไม่ใช่ประเทศที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้”

  • 6 เดือนแรกของปี 2567 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลาวอยู่ที่ 4.7% คาดว่าตลอดทั้งปี เศรษฐกิจลาวจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่สภาแห่งชาติกำหนดไว้ที่ 4.5%
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 6 เดือนแรกของปี 2567 จะบรรลุ 148,043 พันล้านกีบ หรือเท่ากับ 50.4% ของแผนการที่สภาแห่งชาติได้กำหนดให้ GDP รวมของลาวตลอดทั้งปี 2567 ต้องขึ้นไปถึง 293,786 พันล้านกีบ
  • อัตราเงินเฟ้อ 5 เดือนแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 25.1% เฉพาะเดือนพฤษภาคม อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 25.8% คาดว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 25% ขณะที่สภาแห่งชาติกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อของลาวต้องลดลงมาอยู่ที่ 9% หรือเป็นตัวเลข 1 หลัก ในปลายปี 2567
  • รัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาล ทั้งหนี้ที่เกิดภายในประเทศและหนี้เงินกู้จากต่างประเทศ ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งจากงบประมาณของรัฐ การระดมทุนจากตลาดเงินภายใน เพื่อชำระต้นทุนและดอกเบี้ยให้ได้ตามสัญญา โดยการแก้ไขหนี้โครงการลงทุนของรัฐด้วยรูปแบบพลิกหนี้ 3 มุม วงเงิน 8,000 พันล้านกีบ มาถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ออกพันธบัตรระดมทุนได้แล้ว 7,390 พันล้านกีบ เท่ากับ 92% ของแผนการ และจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลนำออกมาใช้ ได้รับประกันให้ทุกวันนี้ ลาวไม่ตกเป็นประเทศที่ไม่สามารถชำระหนี้สินได้
  • รัฐบาลได้เจรจากับบริษัทจำนวนหนึ่งที่ได้กู้เงินไปจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว (แบงก์ชาติลาว) ให้มาชำระเงินกู้คืนก่อนกำหนดตามสัญญา ปัจจุบันมีเงินกู้ประมาณ 30% ที่ได้รับการชำระคืนมาแล้ว รวมถึงการเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจจำนวนหนึ่ง จ่ายคืนเงินกู้และหนี้ค่าไฟฟ้าที่ได้ค้างเอาไว้
  • รัฐบาลกำหนด 5 นโยบายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในการขาดแคลนครู ใช้งบประมาณรวม 90 พันล้านกีบ และเริ่มใช้นโยบายนี้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 โดยใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 29 พันล้านกีบ ประกอบด้วย
    • 1. ต่ออายุครูที่ครบกำหนดเกษียณอายุแล้ว ให้ยังคงสอนหนังสือต่อไปได้ โดยได้รับเงินเดือนและสวัสดิการเท่าเดิม
      2. ให้ผู้ที่เคยเป็นครู แต่ได้ลาออกไปทำงานอื่น สามารถกลับมาเป็นครูได้โดยได้รับเงินเดือนและสวัสดิการเท่ากับอัตราที่ได้รับก่อนลาออก
      3. ให้เงินเดือนและสวัสดิการแก่ครูอาสาสมัครตามระดับการศึกษาของครู และจ่ายเงินตามชั่วโมงสอนเท่ากับครูที่เป็นรัฐกร
      4. ปรับครูอาสาให้เป็นรัฐกรครูในพื้นที่ซึ่งมีเงื่อนไข
      5. ใช้บุคลากรจากหน่วยงานอื่น เช่น ทหาร ตำรวจชายแดน มาทำหน้าที่ครู ในพื้นที่ซึ่งมีเงื่อนไข โดยคำนวณเงินเดือนให้ตามชั่วโมงสอนในอัตราที่รัฐกำหนด
    บุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว

    บุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว
    “เงินเฟ้อเป็นปัญหาที่ยากต่อการควบคุม เพราะยังมีตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรานอกระบบ”

  • ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จะดำเนินนโยบายเงินตราอย่างรัดกุม เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่คลังสำรองเงินตราต่างประเทศ ควบคุมเงินตราต่างประเทศให้เข้าสู่ระบบธนาคารมากขึ้น ควบคุมปริมาณเงินให้ขยายตัวอยู่ในจังหวะที่ไม่สูงเกินไป กำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง พัฒนาระบบการชำระเงินให้มีความทันสมัย สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาคให้มากขึ้น ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพดีขึ้น เร่งแก้ปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อเงินกีบ เพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนมาถือครองเงินกีบให้มากขึ้น
  • ปัจจุบัน สถานการณ์ด้านเงินตราของลาวยังไม่แข็งแรง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจและการผลิต ยังไม่สมดุลกับการบริโภค เงินสำรองในคลังยังอยู่ในระดับต่ำ ถ้าเทียบกับมาตรฐานความมั่นคงในการชำระค่าสินค้านำเข้า ยิ่งเมื่อเทียบกับพันธะในการชำระหนี้สินต่างประเทศ ก็ยิ่งต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้มแข็งให้ฐานะเงินตราของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ดุลชำระเงินตราต่างประเทศ ซึ่งก็คือการใช้เงินตราต่างประเทศกับการหาเงินตราต่างประเทศ ก็ยังขาดดุลอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจของลาวจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าถึง 60-70% จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้า
  • อัตราเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่ยากพอสมควรต่อการควบคุม เนื่องจากยังมีตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนอกระบบ แม้ว่าช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 การอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนยังอยู่ในจังหวะที่ช้ากว่าเมื่อปี 2566 แต่ปัญหาการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน M2 ก็ยังอยู่ในระดับที่สูง ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของลาว ยังอยู่ในระดับต่ำ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จะพยายามควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้มีเสถียรภาพมากกว่าเดิม เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง
  • ลาวต้องขยายการส่งออกสินค้าให้มากขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ ปัจจุบัน ในลาวมีบริษัทที่จดทะเบียนแล้วรวม 3,300 แห่ง ในนี้มีเพียง 1,178 แห่ง ที่ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบบัญชีเฉพาะ เพื่อให้ธนาคารแห่ง สปป.ลาว สามารถติดตามจำนวนเงินที่ใช้เพื่อการส่งออก-นำเข้าสินค้าได้ จึงจำเป็นต้องให้บริษัททั้ง 3,300 แห่ง เปลี่ยนมาใช้ระบบบัญชีเฉพาะได้ทั้งหมด
  • ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จะเพิ่มการควบคุมเงินตราต่างประเทศที่มาจากแหล่งอื่น เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งตามสถิติในปี 2566 การท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ให้แก่ลาวถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินของนักท่องเที่ยว จึงได้มีการพัฒนาระบบ QR Code ระหว่างลาว-ไทย ลาว-เวียดนาม และ ลาว-จีน โดยในวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 นี้ จะเปิดใช้ QR Code ไทยสแกนลาว เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้จ่ายเป็นเงินบาท จากนั้นในปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ก็จะเปิด QR Code เวียดนามสแกนลาว เพิ่มอีก
  • สันติพาบ พมวิหาน รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน

    สันติพาบ พมวิหาน รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน
    “6 เดือนแรกของปี 2567 รัฐบาลลาวจะมีรายรับ 28,005 พันล้านกีบ เท่ากับ 112% ของเป้าหมาย”

  • ต้นปี 2567 รายรับของรัฐบาลลาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน การเปิดปีท่องเที่ยวลาว การลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น กิจการหลายแห่งมีการขยายตัว รวมถึงการปฏิบัติมาตรการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ-การเงิน เงินตรา การอุดช่องว่างที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณ รวมถึงการนำระบบการจัดเก็บงบประมาณที่ทันสมัยมาใช้
  • 5 เดือนแรกของปี 2567 รัฐบาลลาวมีรายรับรวม 25,957 พันล้านกีบ เพิ่มขึ้น 64% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเท่ากับ 52% ของเป้าหมายในแผนจัดเก็บรายรับตลอดปี ในนี้เป็นรายรับจากภายใน 24,104 พันล้านกีบ เท่ากับ 54% ของเป้าหมาย แบ่งเป็นรายรับจากภาษีและส่วยสาอากร 21,333 พันล้านกีบ เท่ากับ 51.21% ของเป้าหมาย รายรับที่ไม่ใช่ภาษีและส่วยสาอากร 2,770 พันล้านกีบ เท่ากับ 81.15% ของเป้าหมาย และเป็นรายรับจากเงินช่วยเหลือ 1,854 พันล้านกีบ เท่ากับ 36.82% ของเป้าหมาย
  • รายรับส่วนใหญ่ได้จากแขนงพลังงานไฟฟ้ากับแขนงแร่ธาตุ และเมื่อแยกเป็นรายรับของแต่ละท้องถิ่น โดยเฉลี่ยทุกแขวงสามารถจัดเก็บรายรับได้ 70% ของเป้าหมาย โดยแขวงไซสมบูนสามารถจัดเก็บรายรับได้มากถึง 136% ของเป้าหมาย
  • คาดการณ์ 6 เดือนแรกของปี 2567 รัฐบาลลาวจะมีรายรับ 28,005 พันล้านกีบ เท่ากับ 112% ของเป้าหมายในแผนจัดเก็บรายรับครึ่งปีแรก และเท่ากับ 56% ของเป้าหมายในแผนจัดเก็บรายรับตลอดทั้งปี
  • โพไซ ไซยะสอน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่

    โพไซ ไซยะสอน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่
    “ปี 2566 การลงทุนกิจการเหมืองแร่มีมูลค่า 2,432 ล้านดอลลาร์ สร้างรายได้ให้รัฐบาล 322.6 ล้านดอลลาร์”

  • ปัจจุบัน มีบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตลงทุนในกิจการเหมืองแร่จากรัฐบาลรวมทั้งสิ้น 968 บริษัท แบ่งเป็นการให้ใบอนุญาตจากระดับแขวง 671 บริษัท ส่วนกลางเป็นผู้ให้ใบอนุญาต 297 บริษัท
  • โครงการส่วนใหญ่ที่ได้รับใบอนุญาตจากระดับแขวง เป็นสินแร่อโลหะ ยกเว้นแขวงไซสมบูนที่สามารถให้ใบอนุญาตทำเหมืองแร่โลหะได้
  • การให้ใบอนุญาตโดยส่วนกลาง ปัจจุบัน มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตในขั้นตอนสำรวจและขุดค้น 150 บริษัท อยู่ในขั้นตอนการศึกษาด้านเศรษฐกิจและเทคนิค 32 บริษัท และอยู่ในขั้นตอนที่มีการขุดค้นและแปรรูปแล้ว 115 บริษัท
  • มีแร่ธาตุ 19 ชนิดในลาวที่ได้มีการสำรวจและขุดค้นเชิงพาณิชย์ มีปริมาณทรัพยากรรวม 14,606 ล้านตัน ในนี้เป็นปริมาณสินแร่สะสม 7,987 ล้านตัน โดยแร่โปแตชมีปริมาณทรัพยากรมากที่สุดถึง 10,125 ล้านตัน รองลงมาเป็นถ่านหิน 845 ล้านตัน และทอง 201 ล้านตัน
  • ปี 2566 การลงทุนขุดค้นและแปรรูปเหมืองแร่ทั่วประเทศ มีมูลค่าถึง 2,432 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การจำหน่ายแร่ธาตุภายในประเทศ มีมูลค่ารวม 273.6 ล้านดอลลาร์ การขายออกไปยังต่างประเทศ มีมูลค่ารวม 2,604 ล้านดอลลาร์ มอบพันธะที่เป็นรายได้แก่รัฐบาลเป็นเงิน 322.6 ล้านดอลลาร์
  • ลาวได้ร่วมมือกับจีนและเวียดนามสำรวจข้อมูลทางธรณีวิทยาและแร่ธาตุภายในประเทศลาว และได้ทำแผนที่ธรณีวิทยาและแร่ธาตุ อัตราส่วน 1 : 200,000 โดยเหลือพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้สำรวจอีก 74,696 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับ 31.5% ของพื้นที่ทั่วประเทศที่ต้องเดินหน้าสำรวจต่อให้เสร็จ และจะทำแผนที่ธรณีวิทยาและแร่ธาตุ อัตราส่วน 1 : 50,000 ในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรแร่ที่มีศักยภาพ
  • ใบคำ ขัดทิยะ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

    ใบคำ ขัดทิยะ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
    “ปัจจุบัน แรงงานลาวที่ออกไปทำงานในต่างประเทศ ส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 52 ล้านดอลลาร์”

  • ปัจจุบัน มีแรงงานลาวออกไปทำงานในต่างประเทศแบบถูกต้องตามกฏหมาย 212,795 คน ไปทำงานแบบผิดกฏหมาย 203,161 คน ได้ส่งเงินกลับประเทศเดือนละ 52,110,961 ดอลลาร์สหรัฐ หรือปีละ 625,331,532 ดอลลาร์
  • ขณะที่คนลาวหลั่งไหลออกไปทำงานในต่างประเทศ แต่ความต้องการแรงงานในประเทศกลับเพิ่มสูงขึ้น จากการเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ พบว่า ระหว่างปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 องค์กรธุรกิจต่างๆ ในลาวมีความต้องการแรงงาน 36,269 คน แต่ในความเป็นจริงสูงกว่านี้ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังหาวิธีการแก้ไขปัญหานี้อยู่
  • …….

    การประชุมสภาแห่งชาติลาว สมัยสามัญ ครั้งที่ 7 จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567…