ThaiPublica > สู่อาเซียน > เมียนมาเป็นชาติที่ “ถูกแบ่งแยก” มากที่สุดของโลกแต่จะไม่พังทลายแบบอดีต “ยูโกสลาเวีย”

เมียนมาเป็นชาติที่ “ถูกแบ่งแยก” มากที่สุดของโลกแต่จะไม่พังทลายแบบอดีต “ยูโกสลาเวีย”

9 มิถุนายน 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.hrw.org/news/2023/12/21/myanmar-armed-group-abuses-shan-state

นับจากรัฐประหารในปี 2021 ที่ล้มรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง กองทัพเมียนมาต้องเผชิญกับการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ ของกองกำลังกบถของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีอยู่หลายกลุ่ม ที่เป็นตัวแทนของชนชาติส่วนน้อย และกองกำลังที่สนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตย ที่ถูกโค่นล้มไป

นักสังเกตการณ์จำนวนมากมักมองว่า กองกำลังต่อต้านรัฐบาลเหล่านี้ ไม่มีความหมายสำคัญแต่อย่างใด เพราะกลุ่มต่อต้านแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายและอ่อนแอเกินกว่าที่จะเป็นทางเลือกที่ชอบธรรม มาแทนคณะทหารของเมียนมา

แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สถานการณ์กำลังเปลี่ยนไป กองกำลังกบถประสบความสำเร็จจากการเป็นฝ่ายรุกในเขตรัฐฉานทางตอนเหนือ ที่มีพรมแดนติดกับจีน โดยเรียกปฏิบัติการรบครั้งนี้ว่า “ปฏิบัติการ 1027” เพราะเริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2023 ปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายกบถ นำโดยกลุ่มพันธมิตรของกองทหารชาติพันธุ์ต่างๆ เรียกว่า “พันธมิตรสามภราดรภาพ” (Three Brotherhood Alliance) ประกอบด้วยกองทัพอาระกัน (AA) กองทัพโกก้าง (MNDAA) และกองทัพตะอาง (TNLA)

ทำไมเกิดสงครามกลางเมืองเมียนมา

บทรายงานของ nytimes.com เรื่อง What’s Happening in Myanmar’s Civil War? อธิบายว่า สงครามกลางเมืองในเมียน เกิดจากรัฐประการปี 2021 ที่ประชาชนต่อต้านอย่างสันติอย่างกว้างขวาง ผู้นำทหาร คือนายพลมิน อ่องลาย หันไปใช้วิธีการรับมือแบบเก่าๆ คือการจับกุม ปราบปราม และสังหารประชาชนที่ประท้วง ทำให้กลุ่มพลังประชาธิปไตยหันจับอาวุธ และเข้าร่วมกับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ที่สู้รบกับรัฐบาลมาหลายปีแล้ว

นอกจากนี้ มีสาเหตุจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ เมียนมามีปัญหาความขัดแย้งภายใน นับตั้งแต่จากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 เป็นต้นมา เมียนมาถือเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งจากการต่อสู้ด้วยอาวุธ ที่ดำเนินมายาวนานที่สุดของโลก จุดที่มีการสู้รบปะทุและคุกรุ่นมาตลอดคือ บริเวณชายแดน ที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต้องการความเป็นอิสระบางส่วนจากรัฐบาลกลาง

ปี 1948 เมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษ ไม่นานต่อมาก็เกิดการกบถของชาติพันธุ์คนกลุ่มน้อย ปี 1962 เกิดรัฐประหาร ทำให้ทหารครองอำนาจมานานเกือบ 49 ปี (1962-2011) ในปี 1988 เกิดการประท้วงครั้งใหญ่เรียกร้องประชาธิปไตย ตามมาด้วยการปราบปราม ปี 1990 พรรคของออง ซานซูจี ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ทหารไม่ยอมรับ ปี 2011 ทหารเริ่มปฏิรูปการเมือง ในปี 2015 พรรคของ ออง ซานซูจี ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ปี 2020 พรรคออง ซานซูจี ได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง และปี 2021 เกิดรัฐประหาร

พื้นที่สีแดงอยู่ในการควบคุมของทหารเมียนมา สีเขียวโดยกลุ่มกบถ ที่มาภาพ : nytimes.com

ชาติที่ดินแดนถูกแบ่งแยกมากสุดของโลก

บทวิเคราะห์ของ ACLED (Armed Conflict Location & Event Data) องค์การรวบรวมข้อมูลความขัดแย้งบนโลก กล่าวว่า กองกำลังติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลเมียนมา ประกอบด้วยกองกำลังสนับสนุนประชาธิปไตย กองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างๆ และกองกำลังอาวุธท้องถิ่น กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารที่หลากหลายดังกล่าว ทำให้เมียนมาเป็นประเทศ ที่ดินแดนถูกแบ่งแยกออกเป็นหลายส่วนมากที่สุดของโลก

รายงานของ ACLED กล่าวอีกว่า แม้จะถูกปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ปลายปี 2023 กลุ่มต่อต้านที่คัดค้านรัฐประหาร 2021 ก็สามารถกลับมาฟื้นฟูการต่อสู้ด้วยอาวุธอีกครั้งหนึ่ง มีการประสานงานกันในหลายกลุ่ม ในการต่อสู้ด้วยอาวุธทั่วประเทศ เรียกว่า “ปฏิบัติการ 1027” การบุกเข้ายึดหลายเมือง รวมทั้งฐานที่มั่นทหารและป้อมทหารเมียนมา ทำให้การต่อสู้ของกลุ่มต่อต้าน สามารถรักษาพลังการต่อสู้ ให้สามารถดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปี 2024

พัฒนาการของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา สะท้อนจุดหักเหสำคัญของความขัดแย้งในเมียนมา ปฏิบัติการ 1027 เริ่มในรัฐฉาน ทางตอนเหนือ นำโดยพันธมิตรสามภราดรภาพ เป็นครั้งแรกที่กลุ่มพันธมิตรฯนี้ ร่วมมือทางทหารกับ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ National Unity Government (NUG) ที่ถูกโค่นล้มจากรัฐประหารปี 2021 ซึ่งแตกต่างจากกองกำลังของชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น กองทัพเอกราชคะฉิ่น กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง กองทัพกะเรนนี และกองกำลังชาติพันธุ์ชิน ที่ร่วมมือกับ NUG อยู่แล้ว

ปฏิบัติการทางทหารต่างๆของกลุ่มต่อต้าน ทำให้กองทัพเมียนมาเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ ทหารระดับกลางและล่างขวัญเสียจากการสู้รบ การทิ้งภาระหน้าที่ทำให้ทหารพม่า ต้องออกคำสั่งเรียกทหารเข้ามาประจำการ กองทัพเมียนมาพยายามโฆษณาว่า การพ่ายแพ้ของกองทัพคือ การพังทลายของประเทศ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆก็เน้นพันธะของกลุ่มตัวเองว่า ยังยึดมั่นในสหภาพเมียนมา

กองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆที่ยึดครองพื้นที่ในเมียนมา ที่มาภาพ : nytimes.com

สิ่งที่ต้องจับตามองในปี 2024

รายงานของ ACLED กล่าวว่า หลังจากปฏิบัติการ 1027 การโจมตีพลเรือนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในรัฐฉานและยะไข่ การปะทะทางทหารระหว่างกองทัพเมียนมากับฝ่ายกบถ จะตามมาด้วยการระดมยิงปืนใหญ่ในพื้นที่พลเรือน เดือนธันวาคม 2023 ในการประชุมระหว่างฝ่ายทหารกับพันธมิตรฯ ทหารเมียนมาขู่ว่าจะโจมตีทิ้งระเบิดเมือง และหมู่บ้านที่ยึดครองจากปฏิบัติการ 1027 ในต้นปี 2024 การยิงปืนใหญ่ตกไปยังดินแดนฝั่งจีน ทำให้พลเรือนชาวจีนได้รับบาดเจ็บ

ในปี 2024 การสู้รบทางทหาร ระหว่างกองทัพเมียนมากับฝ่ายต่อต้าน คงจะดำเนินต่อไป ยุทธศาสตร์ของ NUG คือ “ถนนทุกสายมุ่งสู่เนปิดอว์” จนทำให้ทหารเมียนมาเสริมการป้องกันเมืองหลวง พลังจากความสำเร็จของปฏิบัติการ 1027 จะทำให้ฝ่ายต่อต้านยังพยายามเข้ายึดเมือง แม้นักวิเคราะห์มองว่า ฝ่ายต่อต้านอาจมีข้อจำกัด คือการบริหารจัดการเมืองที่ยึดมา ฝ่ายต่อต้านอาจทำสิ่งนี้ได้ไม่ดีพอ แต่ในเรื่องการจัดการเมืองที่ยึดมา ความสำเร็จของฝ่ายต่อต้านก็แตกต่างกันไป นับจากต้นปี 2024 กองกำลังโกก้างเข้ายึดเมืองเล่าก์กาย ในรัฐฉาน หลังจากกองบัญชาการทหารภูมิภาคเมียนมายอมแพ้

รายงานของ ACLED วิเคราะห์ว่า จากการที่ฝ่ายต่อต้านประกอบด้วยกองกำลังหลายกลุ่ม เมื่อเกิดความคืบหน้าในการต่อสู้ด้วยอาวุธ อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่การต่อสู้ของกลุ่มต่อต้านที่หลากหลายกับกองทัพเมียนมา เนื่องจากรัฐประหาร ก็สะท้อนจุดแข็งอย่างหนึ่ง คือชุมชนท้องถิ่นถือเป็นความรับผิดชอบของตัวเอง ที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ แทนที่จะทำการต่อสู้ภายใต้ขบวนการหนึ่งเดียว สิ่งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายต่อต้านมีความเชื่อมโยงอย่างหนักแน่นกับท้องถิ่น มีความรู้ในภูมิประเทศอย่างดี และทุ่มเทให้กับเป้าหมายการต่อสู้ที่ตัวเองยึดถือ

จากข้อมูลของ ACLED ระบุว่า หลังรัฐประการปี 2021 เกิดการปะทะกันเองระหว่างกลุ่มต่อต้าน 16 ครั้ง แต่การโจมตีทหารเมียนมา ที่มาจากปฏิบัติการร่วมของกลุ่มต่อต้าน ก็มีมากขึ้น ดังนั้น การมีกลุ่มต่อต้านหลายกลุ่มทำให้เกิดปัญหาท้าทายเรื่องการประสานงานระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่กลุ่มเหล่านี้ก็มีพันธะหนักแน่นร่วมกัน ในการต่อสู้เอาชนะการปกครองโดยทหาร

ฝ่ายต่อต้านยังมีหารือเรื่องการพัฒนาวิสัยทัศน์ของประเทศ หลังสิ้นสุดยุคการปกครองโดยทหาร NUG คงจะใช้การจัดตั้ง “คณะปกครองของประชาชน” (People’s Administration Team) ในพื้นที่อยู่ภายใต้การควบคุม ส่วนพื้นที่ชายแดน กลุ่มต่อต้านได้ตั้งองค์กรปกครองขึ้นมา เช่น สภาดินแดนชิน (Chinland Council) รัฐชิน ทางตะวันตกเมียนมา หรือสภาปกครองชั่วคราวคะย่าห์ ตั้งอยู่ติดแม่ฮ่องสอน และอยู่ในระนาบเดียวกับเมืองเนปิดอว์

การหารือในกลุ่มต่อต้านต่างๆ ยังดำเนินไปในเรื่องรูปแบบการปกครอง หรือธรรมาภิบาลที่ดีที่สุด ต่อองค์กรการเมืองที่หลากหลาย ที่ประกอบขึ้นมาเป็นเมียนมา กุญแจสำคัญต่อเสถียรภาพในอนาคตของเมียนมาคือ การเจรจาระหว่างกลุ่มต่อต้านต่างๆ และประชาชนเมียนมา ที่จะสร้างระบบธรรมาภิบาล หรือการปกครอง ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม (inclusive governance)

เมียนมากำลังเป็นประเทศที่ดินแดนแบ่งแยกเป็นส่วนๆ ดินแดนที่เป็นพรมแดนระหว่างประเทศ อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ที่กำลังขยายดินแดนยึดครองออกไป แต่สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า เมียนมากำลังมุ่งไปสู่การล่มสลายของประเทศ เพราะเกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่มต่างๆ เหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ “ยูโกสลาเวีย” ในทศวรรษ 1990

เอกสารประกอบ
What’s Happening in Myanmar’s Civil War? April 20, 2024, nytimes.com
Myanmar: Resistance to the Military junta Gains Momentum, 17 January,
2024, acleddata.com