ThaiPublica > คอลัมน์ > มีเพื่อนน้อยผิดปกติมั้ย

มีเพื่อนน้อยผิดปกติมั้ย

28 มิถุนายน 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ดูเหมือนว่า ในยุคที่ต่างคนต่างอวดเพื่อนบนโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นเรื่องปกติ อาจกำลังสร้างคำถามชวนให้ขุ่นเคืองใจ คือ แล้วการมีเพื่อนน้อยนั้นผิดปกติหรือเป็นเรื่องน่าอายมั้ย และอะไรคือคุณค่าของการมีเพื่อนมากเพื่อนน้อย สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ผู้เขียนซึ่งมีเพื่อนจำนวนจำกัดครุ่นคิดเสมอมา

หลังการปรากฏตัวของโซเชียลมีเดีย วัฒนธรรมการเข้าสังคมของมนุษย์ก็เปลี่ยนไปชนิดไม่มีวันย้อนกลับ สิ่งที่เดิมเป็นเรื่องส่วนตัว กลายเป็นมูลค่าทางตัวตน ที่ทั้งไว้จัดประเภทให้เราอยู่ในแคตาล็อกหนึ่งสำหรับการยิงโฆษณาให้ถูกต้อง และทั้งช่วยขยายความสนใจเราให้กว้างไกลขึ้นโดยที่ยังเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับที่ระบบเชื่อว่าเราชอบ อีกนัยหนึ่งคือ เชื่อว่าเราจะซื้อสินค้าและบริการนั้น ๆ ตามมา นิยามของคำว่าเพื่อนก็เช่นกัน ความหมายคำนี้แตกต่างออกไปบนโซเชียลมีเดีย เดิมทีคำว่า เพื่อน นั้นก็มีความสลับซับซ้อนในตัว เช่น ในห้องเรียนเราอาจมีเพื่อน 40 คน แต่ในเพื่อน 40 คน เราก็อาจมีเพื่อนจริง ๆ แค่ 4 คน ในห้องเรียนจึงเป็นปกติที่จะมีเด็กหลาย ๆ กลุ่ม แต่ในโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อน ถูกทำให้กินความหมายในเชิงกว้าง ตั้งแต่หลักร้อยไปจนหลักพัน การมีเพื่อนเยอะยิ่งส่งผลให้คนเห็นสถานะตัวตนของกันและกันเยอะขึ้น นำไปซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและโอกาสในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นด้วย

และการรักษาความเป็นเพื่อนก่อนจะมีโซเชียลมีเดียนั้นก็มีท่าทีที่แตกต่างออกไปด้วย ที่ถ้าหากไม่นัดเจอ ก็อาจเป็นการโทรศัพท์ไปหา ซึ่งทั้งสองรูปแบบเอื้อให้เกิดกิจกรรมระยะยาว เช่น ถ้านัดเจอก็มักนัดเพื่อกินข้าว กินข้าวครั้งหนึ่งก็คงใช้เวลาร่วมกันเป็นชั่วโมง บางคนอาจไปร้องคาราโอเกะ หรือ ดูหนังกันต่อ ในขณะที่ถ้าโทรคุยกัน ก็มักกินเวลาร่วมหลายสิบนาที ซึ่งเพียงพอต่อการสนทนาที่กว้างไกลเกินกว่า สบายดีไหม

ต่างจากการปฏิสัมพันธ์ทั่วไปบนโซเชียลมีเดียผ่านข้อความ ที่มีจังหวะกระชับ เนื้อหาสั้นลง และรูปแบบฉับไวขึ้น ความหมายของเพื่อนจึงเคลื่อนย้ายจากเพื่อนที่มีสถานะเป็นตัวเป็นตนจับต้องได้ผ่านกิจกรรมที่เอื้อให้ใช้เวลาร่วมกัน สู่เพื่อนในความหมายที่สั้น กระชับ และฉับไว คือ ถ้าเห็นว่า ออนไลน์อยู่ ก็แปลว่า ยังอยู่นะ และถ้าเห็นเพื่อนคนนี้โพสต์ แชร์ อยู่ประจำ ก็ยิ่งแปลว่า สบายดี ราวกับเป็นการเดินผ่านประตูบ้านเพื่อนแล้วเห็นกิจวัตรประจำวัน โดยไม่ต้องนัดเจอเลย

การปฏิสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดียนี้จึงหมายรวมถึง การถูกจ้องมอง ยิ่งมีผู้จ้องมองประตูบ้านเราเยอะ เรายิ่งได้รับผลตอบแทนบางประการจากระบบโซเชียลมีเดีย เช่น ยอดไลค์ ยอดแชร์ และนำไปสู่รายได้อย่างการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ การมีเพื่อนมากบนโซเชียลมีเดีย นอกจากจะช่วยส่งเสริมกิจการออนไลน์ทั้งหลายที่ล้วนแล้วต้องพึ่งพาคนมีเพื่อนมาก เช่น อินฟลูเอนเซอร์ แล้ว ยังช่วยเสริมสร้างสถานะตัวตนและความมั่นใจบนโลกโซเชียลด้วย ผ่านความแน่นอนของปริมาณไลค์ หรือ การมีส่วนร่วมออนไลน์ โซเชียลมีเดียจึงมีระบบ Tag เพื่อน หรือ เพื่อนของเพื่อน เพื่อเพิ่มความแน่นอนของปริมาณผลตอบรับดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจของเรา

คน ๆ หนึ่งซึ่งบนเฟซบุ๊กมีเพื่อน 40 คนเท่านั้น และในชีวิตส่วนตัวก็มีเพื่อนที่พบเจอกันบ่อย ๆ เพียงแค่ 3 คน หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย และตัดสินใจไม่ทำงานประจำ หนำซ้ำงานปัจจุบันยังเป็นงานประเภททำที่ไหนก็ได้ ยิ่งมีโอกาสเจอเพื่อนได้น้อยลง ทั้งจากที่กล่าวไปข้างต้น และจากเวลาว่างที่ยืดหยุ่นกว่าของตัวผู้เขียน เมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ที่ต้องทำงานประจำ

วัฒนธรรมโซเชียลมีเดียสร้างความเข้าใจในการสะสมเพื่อนไว้อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่กลับสวนทางกับความเป็นจริงที่ว่า เราแต่ละคนล้วนแล้วมีปริมาณเพื่อนที่เราสบายใจ บางคนอาจชอบมีเพื่อนเยอะ ๆ ในขณะที่บางคนก็อุ่นใจกับเพื่อนไม่กี่คน หากแต่มาตรฐานเดียวบนโซเชียลมีเดียนี้ กลับทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกถูกลดคุณค่าลง

“เราแทบไม่มีเพื่อนเลย ไม่ว่าจะทำอะไร ก็เหมือนอยู่คนเดียว เรามีเพื่อนในเฟซบุ๊กเป็นพันๆ แต่ตัวตนเราในนั้นแทบไม่มี ไม่ว่าจะกลุ่มไลน์ ก็เปรียบเป็นอากาศของกลุ่ม จะออกไปไหนก็ไปคนเดียว กินข้าว ช็อปปิ้งก็ไปคนเดียว” ความเห็นหนึ่งสะท้อนความรู้สึกร่วมของใครหลายคนที่อาจมีปริมาณเพื่อนเยอะมากบนโซเชียลมีเดีย

“เราเห็น เพื่อนโพสต์ภาพไปเที่ยวกับเพื่อนคนนั้นคนนี้ทุกวัน ยิ่งดู บางทีก็ยิ่งเหงา ทั้งที่จริง ๆ เราก็มีเพื่อนน้อยมาตลอดนะ”

แม้ปริมาณจะเป็นคุณภาพในตัวมันเอง แต่คุณภาพที่ว่าก็มีความหลากหลาย ผู้เขียนเองพบหลังการได้พูดคุยกับคนมีเพื่อนน้อยและยังคงใช้ชีวิตบนโซเชียลมีเดียว่า พวกเขามีเพื่อนคุณภาพที่สามารถพูดคุยกันได้ทุกเมื่อ และในวงความสัมพันธ์ที่ไม่กว้างเกินไปนี้เอง ทำให้เขาแต่ละคนรู้สึกว่า มีเวลาส่วนตัวที่เพียงพอต่อการทำสิ่งที่ตนเองอยากทำ กิจกรรมสังสรรค์ทุกวันหยุดกลายเป็นเรื่องยืดหยุ่นขึ้น การขัดขืนต่อวัฒนธรรมโซเชียลมีเดียไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคน ๆ หนึ่ง แต่หากเรายอมรับมาตรฐานที่แตกต่างกันออกไปนี้ได้ เราจะรู้สึกเป็นอิสระต่อการตัดสินของวัฒนธรรมดังกล่าว