ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > “Green Energy Green Network for THAIs” 3 ประสาน ‘AIS-GULF-สวพส.’ ปูพรมระบบไฟฟ้า-อินเทอร์เน็ต ในพื้นที่ห่างไกล

“Green Energy Green Network for THAIs” 3 ประสาน ‘AIS-GULF-สวพส.’ ปูพรมระบบไฟฟ้า-อินเทอร์เน็ต ในพื้นที่ห่างไกล

14 มิถุนายน 2024


เปิดภารกิจ AIS ร่วมกับ GULF และ สวพส. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและโทรคมนาคม ให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา ต่อยอดสู่ความยั่งยืนมิติสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

บนพื้นที่สูง 54.97 ล้านไร่ ใน 20 จังหวัดที่อาจเรียกได้ว่า ‘ทุรกันดาร’ มีประชากรถึง 1,070,354 คนที่เข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไฟฟ้า สาธารณสุข การศึกษา ตลอดจนเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต (ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส.)

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการพัฒนาพื้นที่ตกสำรวจ ไม่ใช่แค่การใส่งบประมาณเข้าไป แต่สิ่งสำคัญคือการพัฒนาที่ตรงต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการให้โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าและระบบการสื่อสาร เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ต่อยอดสู่มิติอื่นๆ

ปัญหาข้างต้นทำให้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายดิจิทัลชั้นนำของไทย ร่วมกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ให้เข้าถึงบริการโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ส่งมอบพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่ผลิตโดยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แก่ชุมชน พร้อมติดตั้งสถานีฐานโดยใช้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์เชื่อมต่อระบบเครือข่ายสัญญาณดิจิทัลสำหรับชุมชน ภายใต้ “โครงการ Green Energy Green Network for THAIs” พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย

ไฮไลท์ของโครงการนี้คือ การทำงานร่วมกันของเอไอเอส, กัลฟ์ และสวพส. ซึ่งนำบทบาทหน้าที่และขีดความสามารถ ผ่านจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาประสานเป็นภารกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

โครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความร่วมมือและการทำงานบนเป้าหมายระยะยาว เพื่อขยายผลโครงการในพื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างการเติบโตร่วมกันของเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า เอไอเอสเชื่อว่าระบบสื่อสารโครงข่ายดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างโอกาสให้กับผู้คนให้เข้าถึงความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดการใช้ชีวิตเพื่อสร้างคุณค่าหลากหลายด้านได้อย่างมากมาย

“เราทลายข้อจำกัดในการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมการใช้งาน เพื่อสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้คนไทยทุกกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีและแหล่งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบสื่อสารเพื่อส่งมอบโครงข่ายดิจิทัลไปยังชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย เข้าถึงแหล่งความรู้และบริการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข รวมถึงสวัสดิการของภาครัฐ” นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อสังคมของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยที่ผ่านมาบริษัทในเครือของกัลฟ์ นำร่องติดตั้งชุดอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ทุรกันดารตั้งแต่ปี 2566 ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านห้วยน้ำไซ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก, เกาะทุ่งนางดำ อ.คุระบุรี จ.พังงา และบ้านดอกไม้สด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยปี 2567 ทางกัลฟ์ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้วใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ดอยมอโก้โพคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก บ้านแม่ตอละ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านผีปานเหนือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

หลังจากนั้น กัลฟ์จึงต่อยอดโครงการโดยชักชวนพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง AIS พร้อมด้วย สวพส. แล้วใช้องค์ความรู้และนำเสาสัญญาณมาติดตั้งไปพร้อมกับแผงโซลาร์เซลล์ โดยนำร่องใน 2 พื้นที่ห่างไกล ได้แก่ ชุมชนบ้านดอกไม้สด และชุมชนมอโก้โพคี ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

นางสาวธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

ด้าน นางสาวธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้ได้มอบโอกาสในการเข้าถึงพลังงานและเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข รวมถึงสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของกัลฟ์ในการขับเคลื่อนให้สังคมมุ่งสู่อนาคตคาร์บอนต่ำผ่านการใช้พลังงานสะอาดอีกด้วย

นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

ด้านนายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของ สวพส. คือ การช่วยให้ชุมชนบนพื้นที่สูง เข้าถึงบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงการ Green Energy Green Network for THAIs ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ GULF และ AIS ในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนบนพื้นที่สูงสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานทั้งไฟฟ้าและการสื่อสาร

อย่างไรก็ตาม การติดตั้งโซลาร์เซลล์และสถานีฐานไม่เพียงแต่ช่วยให้ชุมชนเข้าถึงไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือ การนำพลังงานไฟฟ้าไปใช้ต่อยอดในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาทักษะด้านอาชีพ รวมไปถึงการต่อยอดวัตถุดิบ-สินค้าชุมชน

ตัวอย่างเช่น ชุมชนมอโก้โพคี จากที่ชาวบ้านมอโก้โพคีประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดเป็นหลัก จึงมีการทำลายป่าเป็นวงกว้าง และทำลายสุขภาพผู้ปลูกเนื่องจากการใช้สารเคมี แต่เมื่อมีระบบไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต กัลฟ์จึงสร้างโรงเรือนแปรรูปเมล็ดกาแฟ ทำให้ชุมชนมีองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดกาแฟ พัฒนาการตลาดและจัดจำหน่าย สร้างรายได้ให้ชุมชน อีกทั้งเป็นการรักษาป่าควบคู่กันอย่างยั่งยืน ตลอดจนทำให้ประชาชนได้บริโภคน้ำที่สะอาดถูกสุขอนามัย เพราะเครื่องกรองน้ำระบบไฟฟ้า

ตัวอย่างถัดมาคือ ชุมชนบ้านดอกไม้สด ก็ได้ประโยชน์จากสถานีฐาน (อินเทอร์เน็ต) จากเดิมที่หมู่บ้านไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เวลาที่จะติดต่อสื่อสารจะต้องไปที่โรงเรียนเพื่อใช้สัญญาณซึ่งไม่เสถียร ซึ่งทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์เร่งด่วนก็จะไม่สามารถทำอะไรได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟฟ้ายังทำให้ รพสต.บ้านเรกะติ สามารถเก็บรักษายาและอุปกรณ์ในการรักษาได้

โครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย คือตัวอย่างของการประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริง และเป็นต้นแบบสำคัญของภาคธุรกิจไทยในการนำศักยภาพขององค์กรมาสร้างประโยชน์ที่จะช่วยดูแลด้านสิทธิมนุษยชน แก้ปัญหาทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทั้งองค์ความรู้ใหม่ๆ และบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สู่การเติบโตร่วมกันของผู้คน ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน