ThaiPublica > Native Ad > AIS ลงทุน “Digital Infrastructure” ให้ประเทศ ชู 5G ผนึกพันธมิตร สร้าง Ecosystem ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

AIS ลงทุน “Digital Infrastructure” ให้ประเทศ ชู 5G ผนึกพันธมิตร สร้าง Ecosystem ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

1 กรกฎาคม 2020


การประกาศวิสัยทัศน์ครั้งใหญ่ในรูปแบบออนไลน์ 100% ผ่านโปรแกรม ZOOM ในวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ของบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ที่รู้จักในนาม “AIS” แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะกึ่งบีบบังคับให้รักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้การแถลงข่าวแบบออฟไลน์เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย แต่เอไอเอสได้ใช้ช่วงวิกฤตินี้เป็นโอกาสจัดแถลงข่าวออนไลน์ แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และสะท้อนความเป็นบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

วิสัยทัศน์ของเอไอเอสในปี 2563 คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (digital infrastructure) เพื่อรองรับอนาคต ที่สำคัญคือการนำ 5G มาต่อยอดให้ทุกอุตสาหกรรม ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เพราะโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลจะเป็นฐานที่แข็งแกร่งให้ประเทศไทยมีอำนาจต่อกรกับประเทศใหญ่ๆ ได้ ดังถ้อยแถลงหนึ่งของนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า

“เราอยากร่วมกับพาร์ตเนอร์ให้เกิด ecosystem ในฐานะที่เราเป็น digital service provider เราจะไม่ไปทำคอนเทนต์แข่งกับใคร เราจะไม่ทำแบงก์กิงแข่งกับใคร หรือเราจะไม่ทำเกมแข่งกับใคร แต่เราจะร่วมมือกับทุกคนให้เข้ามาช่วยกับเราในการทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม”

นายสมชัยชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะเติบโตลดลงโดยอ้างอิงประมาณการของ IMF ว่าจีดีพีไทยจะติดลบ 7% ขณะที่มูลค่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปี 2562 สูงถึง 447,000 ล้านบาท แต่ในปีนี้อาจลดลง 2-3% พร้อมย้ำว่าในช่วงวิกฤติคือโอกาสของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพราะนอกจากจะสามารถรองรับการใช้งานของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ยังหมายถึงการนำเทคโนโลยีศักยภาพสูงอย่าง “AIS 5G” เป็นโมเดลที่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทยได้ปรากฏการณ์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ในมุมมองของซีอีโอเอไอเอส แบ่งออกได้ 3 ช่วง ได้แก่ (1) ช่วง Fall ตกต่ำจากวิกฤติ (2) ช่วง Fight ต่อสู้เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤติไปให้ได้ และ (3) ช่วง Future สร้างอนาคตอย่างยั่งยืน

นายสมชัยกล่าวว่า ช่วงเวลาที่สำคัญคือช่วงการสร้างอนาคต โดยกำหนดเงินลงทุนเครือข่ายสำหรับปี 2563 จำนวน 35,000-45,000 ล้านบาท และปัจจุบันได้ขยายเครือข่ายบริการ 5G ไปครบทั้ง 77 จังหวัด มีตัวอย่างนวัตกรรม 5G ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกของโลกที่นำมาใช้งานจริง เพื่อประโยชน์ในการขยายขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม ได้แก่

  • 5G Dual Mode SA/NSA ประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยี SA — Stand Alone และ NSA – None Stand Alone Dual Mode ผสมผสานระหว่างเครือข่ายสำหรับ 5G โดยเฉพาะ และเครือข่าย 5G ที่ทำงานร่วมกับ 4G เพื่อรองรับการใช้งาน 5G ในอนาคตหลากหลายรูปแบบ เช่น Massive IoT และ Mission Critical
  • 5G Network Slicing กับเทคโนโลยี 5G Network Slicing ที่เสมือนมีหลากหลายเครือข่ายอยู่ในเครือข่ายเดียว (Multi Network In One Network) ทำให้ธุรกิจสามารถออกแบบเครือข่ายแต่ละชั้นได้อย่างสอดคล้องและยืดหยุ่นกับลักษณะของอุตสาหกรรมแต่ละรูปแบบ

“ตั้งแต่ยุค 3G เราช้ากว่านานาประเทศประมาณ 10 ปี พอมายุค 4G เรายังช้ากว่าทุกประเทศประมาณ 5 ปี แต่สำหรับยุค 5G ประเทศไทยไม่น้อยหน้าใคร เราอยู่กลุ่มเดียวกับประเทศชั้นนำอย่างญี่ปุ่น เกาหลีและอเมริกา…แต่เอไอเอสคนเดียวไม่สามารถฟื้นฟูประเทศไทยด้วย 5G ได้เพียงลำพัง เราต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล บริษัทต่างๆ รวมถึงประชาชน อยากให้เราใช้โอกาสในวิกฤติ จับมือกันให้แน่น ประสานมือร่วมแรงร่วมใจเพื่อประเทศของเรา”

5G ในมุมของรัฐบาล นำโดย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มองว่า 5G จะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ทั้งในด้านการติดต่อสื่อสารและธุรกิจ ส่วนระดับประเทศ 5G เป็นเทคโนโลยีที่สามารถผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้า ดึงดูดทั้งนักลงทุน นักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ และการเริ่มต้นผลักดัน 5G โดยเอไอเอสอย่างจริงจัง จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศกลุ่มแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทั้งประเทศ

เอไอเอสได้สร้างพันธมิตรกับธุรกิจในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นายวิกรม กรมดิษฐ์ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หวังให้ 5G ผลักดันให้ประเทศไทยทันกับการพัฒนาของโลก เพราะ 5G จะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยพลิกโฉมประเทศไทยสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจด้วยศักยภาพของ 5G

นายวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เสนอมุมมองถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและควบคุมต้นทุนสินค้าให้มีราคาต่ำลง ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับมุมมองจาก นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ที่เห็นตรงกันว่าแรงงานราคาถูกไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการแข่งขันอีกต่อไป เพราะการเข้ามาของ digital transformation และการเคลื่อนย้ายฐานทุนจากประเทศจีนไปยังประเทศต่างๆ ทำให้ต้องดึงดูดนักลงทุนด้วยวิธีใหม่คือเทคโนโลยี 5G และโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น robotic, AI หรือ IoT

ภาคท้องทะเลใน EEC ยังถูกพลิกโฉมแบบใหม่ผ่านความร่วมมือระหว่างเอไอเอสและการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดย นายเรืองศักดิ์ บำเหน็จพันธุ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่าเรือฯ สายวิศวกรรม วางเป้าหมายให้ท่าเรือในอีอีซีเป็น smart port โดยมี 5G เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสู่ world class port ในอนาคต ผ่านการจัดการ big data ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการขนส่งทางน้ำ และเชื่อมโยงกระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติโดยเฉพาะขั้นตอนเครื่องมือทุ่นแรงยกตู้สินค้าอย่างอัตโนมัติเมื่อเรือสินค้าเข้าเทียบท่า ส่วนภาคอากาศ นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ใช้ 5G ยกระดับสนามบินอู่ตะเภาสู่การเป็น smart airport โดยเฉพาะอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ช่วยลดเวลากระบวนการต่างๆ ภายในสนามบิน และผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

ยักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีกของประเทศไทย นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เห็นถึงโอกาสในการใช้ธุรกิจค้าปลีกผสมผสานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากกว่า 2 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศไทย และเมื่อนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้จะช่วยยกระดับศักยภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น smart mirror เทคโนโลยีกระจกดิจิทัลแสดงผลการซื้อสินค้า เช่น วัดขนาดตัว-เสื้อผ้าและเลือกไซส์โดยอัตโนมัติ, advance digital signet วิเคราะห์ข้อมูลใบหน้าเมื่อลูกค้าเดินเข้าศูนย์การค้าและแสดงโฆษณาตามความสนใจ

เทคโนโลยียังได้สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้วยรูปแบบ virtual reality เริ่มจากภาคการท่องเที่ยว นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งจะเพิ่มมิติใหม่ของการท่องเที่ยวทางออนไลน์จากการนำเทคโนโลยี 5G มาทำให้เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบ VR เพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสบรรยากาศจริงในอนาคต

ภาคการศึกษา เอไอเอสจับมือกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สร้างคอนเทนต์แห่งการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ในรูปแบบ VR สำหรับหลักสูตรการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา-มัธยมศึกษา รวมถึงพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ สร้างคอนเทนต์ให้ชมเครื่องบินในแต่ละรุ่นในรูปแบบ VR ให้ภาพเสมือนจริง นอกจากนี้ ได้ผนึกกำลังกับ ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่หยิบยกโครงการ SDG Lab แสดงให้เห็นว่าการศึกษาและ 5G เป็นสิ่งที่ต่อยอดซึ่งกันและกัน เนื่องจาก SDG Lab เป็นพื้นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน บนพื้นที่อาคารป๋วย 100 ปี เป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับปลูกผักออร์แกนิกลอยฟ้าสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย ดังนั้น 5G จะช่วยให้ SDG Lab สามารถบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม

ปิดท้ายด้วย นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด กลุ่มลูกค้าทั่วไป เล่าถึง แพลตฟอร์มการเรียนรู้ LearnDi for THAIs จาก AIS Academy เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการพัฒนาความรู้ให้ทุกภาคส่วนทุกองค์กรทั่วประเทศด้วยองค์ความรู้ที่หลากหลายภายในแพลตฟอร์ม เพื่อให้ความรู้เป็นตัวช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน

  • AIS ทุ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลปีนี้ 4.5 หมื่นล้าน ใช้ 5G ยกระดับอุตฯ-ฟื้นฟูประเทศ