กางแผน AIS ฝ่าวิกฤติ Covid-19 ระลอก 3 ต่อยอด 5G สนับสนุนสาธารณสุขไทย ภายใต้แนวคิด “เชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อคนไทย”
เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ยิ่งทำให้ภาคสาธารณสุขไทยยิ่งบอบช้ำจากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ทำให้มีข้อกังวลจากหลายฝ่ายถึงกรอบเวลาในการรับมือ เพราะถ้าหากยืดเยื้ออาจสร้างผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ อีกมาก
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ AIS ผู้นำในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้ให้บริการดิจิทัลพร้อมเข้ามา “ช่วยเหลือ” โดยอาศัยองค์ความรู้และทรัพยากรที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็น เน็ตเวิร์ค นวัตกรรม บุคลากร เพื่อเสริมข้อจำกัดของภาคสาธารณสุขให้รับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศน่ากังวล ดังนั้นทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ต้องระดมสรรพกำลังสนับสนุนการรับมือวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ด้วยแนวคิด “เชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อคนไทย” เมื่อองค์กรขนาดใหญ่ช่วยเหลือองค์กรขนาดเล็กแล้ว ประชาชนจะสามารถรับมือและเดินหน้าต่อไปได้
นายสมชัยกล่าวต่อว่า “ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของภาวะการระบาด AIS มีปณิธานแรงกล้าที่จะนำความแข็งแกร่งของการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเข้ามาร่วมฟื้นฟูประเทศ เคียงข้างทุกภาคส่วน ผ่านโครงการ ‘AIS 5G สู้ภัย COVID-19’ โดยเป็นภาคเอกชนกลุ่มแรกที่นำพลังของ 5G เข้าสนับสนุนการทำงานของภาคสาธารณสุข”
นับตั้งแต่การล็อกดาวน์ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2563 นอกเหนือจากการช่วยเหลือทีมสาธารณสุข เอไอเอสได้เตรียมความพร้อมโดยนำเทคโนโลยี 5G ไปนำร่องทำงานกับภาคอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC เพื่อเดินด้านผลักดันเทคโนโลยีและการฟื้นฟูประเทศ
จากเหตุการณ์การระบาดในระลอกแรกนำมาสู่บทเรียนในระลอก 2 คือช่วงปลายปี 2563 โดย AIS เป็นผู้ให้บริการสื่อสารรายแรกที่สามารถลงพื้นที่ติดตั้งเครือข่ายสื่อสารสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลสนามแห่งแรก ณ จังหวัดสมุทรสาครได้สำเร็จ
และในครั้งนี้เกิดการแพร่ระบาดระลอก 3 เอไอเอสจึงสานต่อโครงการ “AIS 5G สู้ภัย COVID-19” พร้อมจัดทัพทั้งองคาพยพอีกครั้งในการสนับสนุนการทำงานของภาคสาธารณสุขที่เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการ ผ่านการทำงานด้วยเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัลเซอร์วิส ใน 4 มิติ ดังนี้
บทบาท 5G กับโรงพยาบาลสนามกว่า 31 แห่ง
เมื่อการระบาดของโควิด-19 ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากหลักสิบสู่หลักร้อยและหลักพันคนต่อวัน ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรับผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ จึงต้องมี ‘โรงพยาบาลสนาม’ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลายๆ พื้นที่ที่ถูกดัดแปลงให้เป็นโรงพยาบาลสนามอย่างเร่งด่วน ทำให้ไม่มีความพร้อมทั้งในด้านการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และด้านความสะดวกสบายของผู้เข้ารับการรักษา
เอไอเอสมองเห็นข้อจำกัดในจุดนี้ จึงเข้าไปติดตั้งเครือข่าย AIS 5G ,4G, Free Wifi ในโรงพยาบาลสนามหลักกว่า 31 แห่ง มากกว่า 10,000 เตียงทั่วประเทศ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อระบบ CCTV เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วย, การส่งต่อข้อมูลการแพทย์ ตลอดจนให้ผู้ป่วยที่กักตัวสามารถสื่อสาร ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวให้คลายความกังวล มีกำลังใจในการฟื้นฟูสุขภาพ
Telemedicine ลดสัมผัส-ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ
อีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับการทำงานในภาคสาธารณสุขคือการติดต่อสื่อสารกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากแพทย์-พยาบาลไม่สามารถสัมผัสหรือใกล้ชิดโดยตรงได้ ทำให้เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว
เอไอเอสได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “Me -More” ให้บริการในโรงพยาบาลสนามในเครือกรุงเทพมหานคร
นายกฤตชญา โกมลสิทธิ์เวช ผู้ร่วมก่อตั้ง และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไดเวอร์เจนท์ ติ้งกิ้ง จำกัด อธิบายว่า แอพพลิเคชั่นมีมอร์ถูกนำมาใช้กับโรงพยาบาลสนามในเรื่องวีดีโอคอล (VDO Conference) ลดภาระการทำงานของแพทย์และพยาบาล ลดความเสี่ยงจากการพบเจอ รวมถึงแจ้งเตือนและติดตามอาการของผู้ป่วย และยังสามารถวัดไข้โดยผู้ป่วยจะต้องกรอกข้อมูลลงในแอพพลิเคชั่น จากนั้นระบบจะเก็บผลการรักษาและเชื่อมต่อข้อมูลให้แพทย์
“เราออกแบบมาเพื่อลดการเจอกันระหว่างหมอกับคนไข้ แต่ยังสามารถพูดคุยกันเสมือนนั่งอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งช่วงเวลานี้ social distance เป็นสิ่งสำคัญมากๆ แอพพลิเคชั่นจึงตอบโจทย์ในจุดนี้” นายกฤตชญา
ดังนั้น การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เทคโนโลยีช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์และพยาบาลในการติดต่อสื่อสาร กับผู้ป่วย ที่ช่วยลดการสัมผัสและลดความแออัดได้ไม่มากก็น้อย
ทั้งนี้ ระบบ Telemedicine โดยเอไอเอส ใช้งานครั้งแรกที่โรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2
5G AI อัจฉริยะ ตัวช่วยแพทย์วินิจฉัยปอด
นอกจากนี้ เอไอเอสร่วมมือกับ ราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลเครือข่าย ได้แก่ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลร้อยเอ็ดและโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โดยนำ AI CT Scan ปอด เข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่อง ช่วยวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณจากการตรวจวินิจฉัยทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ปอดของผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อ COVID-19
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและโซลูชันปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) กับแพลตฟอร์มที่ได้รับการเทรนจากข้อมูลของผู้ป่วยจริงในประเทศจีน สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส ความแม่นยำสูงสุดในการวินิจฉัยสูงถึง 96%
นายสมชัย กล่าวว่า นวัตกรรมนี้จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัย ลดปริมาณการตรวจสารคัดหลั่ง ลดจำนวนชุดตรวจ COVID-19 ช่วยลดการใช้ PPE และแบ่งเบาภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และช่วยให้บุคลากรหลายๆ ท่านสามารถกระจายตัวไปดูแลเคสผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้อีกด้วย
เชื่อมต่อ อสม. สาธารณสุขภาคประชาชน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งเบื้องหลังความสำเร็จของสาธารณสุขไทยในหลายๆ ครั้งคืออสม. ซึ่งเอไอเอสเล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ตั้งแต่อดีตจึงพัฒนาแอพพลิเคชั่น ‘อสม.ออนไลน์’ เพื่อให้อสม.ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ทำงานได้ง่ายกว่าเดิม
จนถึงวันนี้ ‘อสม.ออนไลน์’ นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้อสม.ช่วยคัดกรองกลุ่มเสี่ยง โดยปัจจุบันมี อสม.มากกว่า 520,000 ราย ใช้เพื่อรายงาน คัดกรองและติดตามผลในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงสำรวจสุขภาพจิตจากความเครียดที่มาจากผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเดินทางของกลับบ้านของคนเมือง ยิ่งจะทำให้การทำงานของ อสม.ต้องยิ่งมีความเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม
นายสมชัย กล่าวเสริมว่า “AIS ในฐานะองค์กรขนาดใหญ่ เรามีมาตรการรัดกุมขั้นสูงสุดในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อในการให้บริการลูกค้าและดูแลสังคมไปพร้อมๆ กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้วันนี้พนักงานส่วนใหญ่จะทำงานแบบ WFH แต่สำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเครือข่ายและลูกค้า ก็พร้อมอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลูกค้าและคนไทย”
“ผมมองว่า COVID-19 ระลอกแรกสอนให้เรารู้จักเตรียมพร้อมกับทุกความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเตรียมพร้อมฝึกฝนขีดความสามารถใหม่ๆ สร้างรูปแบบการทำงานในโลกปกติใหม่ มีมุมมองแบบ Pro Active ส่งผลให้เราสามารถต่อสู้กับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่การให้บริการลูกค้า และส่งมอบความช่วยเหลือ”
นายสมชัย ทิ้งท้ายว่า “ผมขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศ องค์กรใดที่มีกำลังก็สนับสนุนองค์กรเล็กหรือผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้มีพลังที่จะเดินหน้าต่อ ผมเชื่อมั่นว่า หากเรานำบทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 มาใช้เพื่อ ‘เตรียมพร้อม ต่อสู้ ปรับตัว’ จะทำให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนตามบริบทของแต่ละอุตสาหกรรมหรือรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคน”