ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามมีปริมาณสำรองแร่หายากกว่า 30 ล้านตัน

ASEAN Roundup เวียดนามมีปริมาณสำรองแร่หายากกว่า 30 ล้านตัน

9 มิถุนายน 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 2-8 มิถุนายน 2567

  • เวียดนามมีปริมาณสำรองแร่หายากกว่า 30 ล้านตัน
  • เวียดนามติดอันดับ 5 อาเซียนใน Global Startup Ecosystem Index 2024
  • บริษัทเวียดนามหันเจาะตลาดเพื่อนบ้าน
  • กัมพูชาเปิดใช้ท่าเรือเอนกประสงค์กัมปอตชูประตูการค้านานาชาติ
  • ByteDance บริษัทแม่ TikTok เล็งลงทุน AI 2.1 พันล้านดอล์ในมาเลเซีย
  • Vanguard ลงทุน 7.8 พันล้านดอลล์สร้างโรงงานเวเฟอร์ในสิงคโปร์

    เวียดนามมีปริมาณสำรองแร่หายากกว่า 30 ล้านตัน

    รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดัง ก๊วก คานห์ ที่มาภาพ:https://hanoitimes.vn/vietnam-has-reserves-of-over-30-million-tons-of-rare-earths-327039.html
    รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดัง ก๊วก คานห์ เปิดเผยในระหว่างการซักถามที่สภาแห่งชาติวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ว่า ปริมาณสำรองแร่หายาก(rare earth) ของเวียดนามอาจสูงถึงเกือบ 30 ล้านตัน

    “เวียดนามครอบครองทรัพยากรแร่เชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญพร้อมปริมาณสำรองจำนวนมาก” นายคานห์กล่าวและว่า เวียดนามมีแร่บอกไซต์ประมาณ 5.8 พันล้านตัน และไทเทเนียม 600 ล้านตัน

    ในส่วนของแร่หายากนั้น รัฐมนตรีกล่าวว่า จนถึงขณะนี้กระทรวงฯได้ประเมินปริมาณสำรองแร่หายากแล้ว 2.7 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังมีแร่หายากที่ยังไม่ได้ประเมินอีกประมาณ 18 ล้านตัน ส่งผลให้มีทั้งหมดประมาณ 20.7 ล้านตัน

    “นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงฯดำเนินการประเมินปริมาณสำรองเหล่านี้อย่างครอบคลุม จากข้อมูลของเรา สินแร่หายากของเวียดนามมีจำนวนเกือบ 30 ล้านตัน” นายคานห์ กล่าว

    นอกจากนี้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังย้ำถึงความจำเป็นในการแปรรูปเชิงลึกและการสกัดแร่ที่สำคัญ อย่าง แร่หายากในเวียดนาม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในประเทศ “เรากำลังดึงดูดการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี การแปรรูปแร่หายากในเชิงลึกสามารถตอบสนองความต้องการของเราและอาจส่งออกได้”

    อย่างไรก็ตาม นายคานห์ยอมรับทราบถึงความท้าทาย โดยชี้ว่า เวียดนามยังไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปเชิงลึกที่ครอบคลุม ดังนั้นจำเป็นต้องดึงดูดการลงทุน การร่วมทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี

    นายคานห์ย้ำถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการสำรวจและประเมินปริมาณสำรอง และเรียกร้องจังหวัดที่มีศักยภาพเป็นแหล่งสะสมแร่หายาก เช่น ลายเจิว เอียนบ๊าย และ หล่าวกาย ให้ยกระดับการจัดการทรัพยากรเหล่านี้ “แหล่งแร่หายากสามารถพบได้ลึกใต้ดินหรือในแหล่งสะสมบนพื้นผิวขนาดเล็กที่กระจัดกระจาย เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะต้องป้องกันการสกัดและการค้าแร่หายากอย่างผิดกฎหมาย”

    แร่หายากประกอบด้วยแร่ 17 ชนิดที่มีความสำคัญต่อการผลิตอุปกรณ์ไฮเทค แบตเตอรี่ และแม่เหล็กถาวรสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า กังหันลม เครื่องบิน โทรศัพท์ และอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ จากรายงานของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ในปี 2565 จีนมีปริมาณสำรองแร่หายากที่ใหญ่ที่สุด 44 ล้านตัน ตามมาด้วยเวียดนาม 22 ล้านตัน และบราซิล 21 ล้านตัน

    ในเวียดนาม มีการสำรวจพบแร่หายากที่สำคัญในจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดหล่าวกาย เอียนบ๊าย และลายเจิว ซึ่งลายเจิว เป็นที่ตั้งของเหมืองแร่หายากที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม คือแหล่ง โดง เปา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 132 เฮกตาร์ ที่ยังมีเหมืองบั๊ก นาม เซ และ นาม นาม เซ

    ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ให้เห็นว่าแร่หายากมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานหมุนเวียน และการป้องกันประเทศ ด้วยเหตุนี้ การขุดลึกและการแปรรูปแร่หายากจึงสามารถช่วยให้เวียดนามพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์และส่งเสริมการส่งออกได้

    เวียดนามติดอันดับ 5 อาเซียนใน Global Startup Ecosystem Index 2024

    ที่มาภาพ: https://en.baochinhphu.vn/viet-nam-jumps-two-spots-in-global-startup-ecosystem-rankings-111240607155414807.htm

    อันดับระดับประเทศของเวียดนามในดัชนีระบบนิเวศสตาร์ทอัพขยับสูงเป็นผลจากการเติบโตเชิงบวกในปีนี้ ตามรายงาน ดัชนีระบบนิเวศสตาร์ทอัพระดับโลกปี 2567 หรือ Global Startup Ecosystem Index 2024 ของ StartupBlink

    ระบบนิเวศสตาร์ทอัพของเวียดนามยังคงครองอันดับที่ 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับที่ 12 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะเดียวกันยังอยู่ในอันดับที่ 31 ของโลกในแง่ของจำนวนสตาร์ทอัพ

    ระบบนิเวศสตาร์ทอัพของเวียดนามในช่วงเดือนแรกของปี 2567 ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยดึงดูดเงินทุนจำนวนมากในด้านต่างๆ ทั้งด้านอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีทางการเงิน เทคโนโลยีอาหาร โซลูชันทางธุรกิจ และบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ

    ในระดับเมือง ดานังที่อยู่ใจกลางประเทศติดในอันดับ 1,000 เมืองชั้นนำที่มีดัชนีระบบนิเวศสตาร์ทอัพสูงที่สุดในโลกเป็นครั้งแรก โดยอยู่ในอันดับที่ 896 ตามมาด้วยโฮจิมินห์ซิตี้ (อันดับที่ 111) และฮานอย (อันดับที่ 157)

    โฮจิมินห์ซิตี้และฮานอยยังคงอยู่ในอันดับที่ 6 และ 7 ตามลำดับ ขณะที่ดานังอยู่ในอันดับที่ 22 ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ โฮจิมินห์ซิตี้และฮานอยยังอยู่ใน 100 อันดับแรกของโลกในแง่ของดัชนีระบบนิเวศสตาร์ทอัพ

    ข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกยังช่วยส่งเสริมการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติของเวียดนามอีกด้วย เวียดนามสามารถใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบเหล่านี้เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคและระดับโลก รายงานระบุ

    ในเอชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ที่เลื่อนขึ้น 1 อันดับมาอยู่อันดับ 5 ในระดับประเทศ ขณะที่จีนตกลงไปหนึ่งอันดับไปอยู่ที่อันดับ 13 เกาหลีใต้ยังคงอันดับเดิมที่ 20 ซึ่งครองอันดับหนึ่งในปีก่อนตกไปอยู่อันดับสอง ญี่ปุ่นตก 3 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 21 ไต้หวันเลื่อนขึ้น 2 อันดับไปที่อันดับ 22 อินโดนีเซียเลื่อนขึ้น 5 อันดับไปที่ 36 มาเลเซียคงอันดับเดิมที่ 43 ไทยตกลง 2 อันดับมาที่ 54 เวียดนามขยับขึ้น 2 อันดับไปที่ 56 ฟิลิปปินส์ตกลง 2 อันดับมาอยู่ที่ 60 ซึ่งเป็นการตกลงติดต่อกันปีที่ 3

    มะนิลานำห้าเมืองของฟิลิปปินส์ในการจัดอันดับแยกกัน โดยขึ้นสู่อันดับที่ 101 จาก 1,000 เมืองทั่วโลก

    รายงานนี้จัดอันดับระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศและเมืองต่างๆ โดยพิจารณาจากปริมาณและคุณภาพของสตาร์ทอัพและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

    บริษัทเวียดนามหันเจาะตลาดเพื่อนบ้าน

    ที่มาภาพ: https://www.vietnam-briefing.com/news/vietnam-imports-exports.html/
    ธุรกิจเวียดนามบางรายได้หันมาให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีความสะดวกด้านโลจิสติกส์ และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดในการขนส่งที่อื่น

    บริษัทที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดในทะเลแดง ซึ่งทำให้สายการเดินเรือต้องเปลี่ยนเส้นทางเพื่อความปลอดภัย

    ธุรกิจระดับประเทศจำนวนมากได้รับคำสั่งซื้อสำหรับการส่งออกเพียงพอจนถึงสิ้นไตรมาสที่สาม จึงได้เจรจาหาคำสั่งซื้อเพิ่มเติมสำหรับไตรมาสที่สี่และมองหาตลาดอื่น

    ตลาดดั้งเดิมของบริษัท Ameii Vietnam Joint Stock Company ประกอบด้วยสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆนี้ บริษัทได้หันไปหาคำสั่งซื้อจากตลาดที่มีศักยภาพอื่นๆ โดยตั้งเป้าที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 50% ในปี 2567

    ขณะเดียวกัน ฝ่าม กวาง อั๊ญ ซีอีโอของบริษัท Dony Textile Company กล่าวว่า ตอนนี้เป็นช่วงโลว์ซีซั่นในตลาดแบบดั้งเดิม บริษัทจึงพิจารณาขยายเข้าสู่ตลาดกัมพูชา ซึ่งจัดส่งได้ง่ายแม้เป็นตลาดใหม่แต่อาจมีคำสั่งซื้อจำนวนมาก และคาดว่ายอดขายของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 15% ในปีนี้

    เดื่อง ทิ ทุย ผู้อำนวยการธุรกิจของ Huu Nghi Food Company กล่าวว่า จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ โดยมีรายได้คิดเป็น 30% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ดังนั้นเป้าหมายของบริษัทในปี 2567 คือการรักษาการเติบโตของการส่งออกให้สูงกว่า 130% ต่อเนื่อง และขยายไปยังมณฑลและเมืองอื่นๆ ในประเทศจีน

    เหงียน วัน ทู ประธานบริษัท GC Food Joint Stock Company กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี การส่งออกไปยังตลาดหลักเพิ่มขึ้น 50% นอกจากนี้ บริษัทจะขยายไปยังตลาดเพื่อนบ้าน เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

    ปัจจุบันบริษัทได้หยุดส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางและ หันไปยังตลาดที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น จีน และญี่ปุ่น

    ด้าน ดัง ฟุ๊ก เหงียน เลขาธิการสมาคมผักเวียดนาม กล่าวว่า จีน ไทย สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกผักที่สำคัญของเวียดนาม และคิดเป็น 98% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด

    ตลาดเหล่านี้นับว่าเป็นข้อได้เปรียบหลายด้านสำหรับผักของเวียดนาม เช่น เนื่องจากอยู่ใกล้ ทำให้สะดวกในแง่ของการขนส่ง ซึ่งหมายถึงระยะเวลาในการขนส่งที่รวดเร็วขึ้น และต้นทุนการขนส่งที่ลดลงและปลอดภัยยิ่งขึ้น

    จากข้อมูลของสำนักงานการค้าเวียดนามในมาเลเซีย บริษัทเวียดนามยังคงมีโอกาสในการผลักดันการเติบโตของการส่งออก และมาเลเซียมีกำลังซื้อสูง มีความต้องการที่หลากหลาย พร้อมด้วยวัฒนธรรมผู้บริโภคที่คล้ายคลึงกับเวียดนาม

    นอกจากนี้ เวียดนามและมาเลเซียได้ดำเนินการตั้งเป้ามูลค่าการค้าทวิภาคีไว้ที่ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 ดังนั้นจึงยังมีโอกาสอีกมาก

    การที่จะเข้าถึงตลาดมาเลเซียได้มากขึ้นนั้น สินค้าส่งออกของเวียดนามต้องได้มาตรฐานคุณภาพ ความปลอดภัยด้านอาหาร และสุขอนามัยของมาเลเซีย โดยเฉพาะมาตรฐานการรับรองฮาลาล

    กิจการต่างๆต้องเสริมสร้างกิจกรรมส่งเสริมการค้าเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปยังมาเลเซียผ่านงานแสดงสินค้าเฉพาะทางในตลาดนี้

    สำนักงานการค้ายังตั้งชี้ว่า ผู้ประกอบการส่งออกในประเทศควรอัพเดตข้อมูลการตลาดของมาเลเซียโดยเฉพาะและประเทศมุสลิมให้มากขึ้น จากนั้นค่อยวางแผนการขยายตลาดไปยังประเทศเหล่านั้น โดยการหาพันธมิตรทางธุรกิจและลงทุนที่นั่น

    ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระบุว่า ตลาดเพื่อนบ้านเป็นเป้าหมายการส่งออกที่สำคัญ ซึ่งสามารถลดการพึ่งพาตลาดแบบดั้งเดิมและเป็นตลาดที่มีอยู่แล้ว

    กัมพูชาเปิดใช้ท่าเรือเอนกประสงค์กัมปอตชูประตูการค้านานาชาติ

    ท่าเรืออเนกประสงค์กัมปอต กัมพูชา ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501501769/kampot-multipurpose-port-inaugurated-opens-new-intl-gateway-to-trade/
    เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 กัมพูชาได้เปิดใช้ท่าเรืออเนกประสงค์กัมปอตอย่างเป็นทางการหลังเสร็จสิ้นการพัฒนาในระยะแรก ซึ่งเป็นการเปิดโฉมใหม่ของภาคการขนส่งและการขนส่งทางทะเลของประเทศ และเปิดประตูใหม่สำหรับกัมพูชาสู่การค้าโลก

    ในพิธีเปิด นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต เน้นย้ำถึงบทบาทของท่าเรือในฐานะประตูระหว่างประเทศแห่งใหม่สำหรับกัมพูชา โดยกล่าวว่าการพัฒนาท่าเรือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับรัฐบาล

    ท่าเรืออเนกประสงค์ในจังหวัดกัมปอตถือเป็นบทใหม่ของภาคการขนส่งและการขนส่งทางทะเลของประเทศ นายกรัฐมนตรีกล่าว

    “ท่าเรืออเนกประสงค์กัมปอตจะเข้ามาเสริมท่าเรือสีหนุวิลล์และท่าเรือพนมเปญ” การขนส่งทางทะเลจากท่าเรือนี้ไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเรือ ยกเว้นการขนส่งไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    นายฮุน มาเนต กล่าวอีกว่า “ท่าเรือแห่งนี้จะมีส่วนช่วยในการเป็นประตูสำคัญอีกแห่งหนึ่งสำหรับการขนส่งทางทะเลของกัมพูชา และยกระดับปรุงกิจกรรมการค้า ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในจังหวัดกัมปอต และช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา”

    นายกรัฐมนตรียังได้ขอให้กระทรวง สถาบัน และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการบริการและการเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือในจังหวัดชายฝั่งทะเลเพื่อยกระดับการบริการท่าเรือให้ดีขึ้นและเป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้า

    ท่าเรือแห่งนี้อยู่ภายใต้โครงการลงทุนมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ของกลุ่มบริษัท Kampot Logistics and Port Company Limited ซึ่งมีกลุ่มบริษัทในประเทศที่เป็นบริษัทข้ามชาติเป็นเจ้าของ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองโบกอร์ จังหวัดกัมปอต มีท่าเรือน้ำลึกที่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ นายเพ็ง โพเนีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง กล่าวในระหว่างพิธีเปิดที่จัดขึ้นบริเวณท่าเรือ

    โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพหลักที่สร้างขึ้นในเฟสแรกประกอบด้วยท่าเทียบเรือยาว 450 เมตร และกว้าง 60 เมตร พื้นที่รวม 55,000 ตารางเมตร และพื้นที่จัดเก็บ 8,800 ตารางเมตร อาคารตรวจสอบ 1,330 ตารางเมตร และอาคารบริหาร

    ปัจจุบันกัมพูชามีท่าเรือ 10 แห่งร่วมท่าเรือท่องเที่ยวในจังหวัดชายฝั่ง อย่าง พระสีหนุ กัมปอต เกาะกง และเมืองแกบ

    Kampot Logistics and Port Company Limited ได้รับการยกย่องจากความมุ่งมั่นที่พัฒนาให้คืบหน้า

    นอกจากนี้ ยังมีแผนี่จะขยายโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือ โดยมีแผนจะสร้างระยะที่ 2 และ 3 โดยมีความลึกของน้ำสูงสุด 13 เมตร ซึ่งจะช่วยให้เรือขนาด 20,000 ตันเข้าและออกได้ รัฐมนตรีคมนาคมกล่าว

    เป้าหมายที่ตั้งไว้สูงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในระยะยาวของกัมพูชาในการพัฒนาตัวเองเป็นผู้เล่นหลักในภูมิทัศน์การค้าทางทะเลระดับโลก

    ผู้นำอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่วนต่างๆ เช่น การผลิตและการเกษตร เนื่องจากการเข้าถึงท่าเรือที่เพิ่มขึ้นและการเสนอสถานที่สำหรับการลงทุนใกล้กับท่าเรือ

    ByteDance บริษัทแม่ TikTok เล็งลงทุน AI 2.1 พันล้านดอล์ในมาเลเซีย

    ที่มาภาพ: https://www.caixinglobal.com/2021-02-23/in-depth-behind-bytedances-hiring-binge-101666298.html

    ByteDance ของจีน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอปโซเชียลมีเดีย TikTok วางแผนที่จะลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านริงกิต (2.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI)ในมาเลเซีย รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของมาเลเซียเปิดเผย เมื่อวันศุกร์(7 มิ.ย.)

    ส่วนหนึ่งของข้อตกลง ByteDanceซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกล่าสุดอีกรายที่ขยายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะขยายศูนย์ข้อมูลในรัฐยะโฮร์ของมาเลเซียด้วยการลงทุนเพิ่ม 1.5 พันล้านริงกิต เต็งกู ซาฟรุล อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้าและอุตสาหกรรมกล่าว

    “การลงทุนเพิ่มโดย ByteDance นี้จะช่วยให้มาเลเซียบรรลุเป้าหมายขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีสัดส่วน 22.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของมาเลเซียภายในปี 2568 อย่างแน่นอน”เต็งกู ซาฟรุลโพสต์บน X

    การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากการลงทุนขนาดใหญ่ในลักษณะเดียวในมาเลเซียจากยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายอื่นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

    เมื่อเดือนที่แล้ว Google กล่าวว่า กำลังวางแผนลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลแห่งแรกและ Google Cloud region ในมาเลเซีย ส่วน Microsoft กล่าวว่าจะลงทุน 2.2 พันล้านดอลลาร์เพื่อขยายบริการคลาวด์และ AI

    Vanguard ลงทุน 7.8 พันล้านดอลล์สร้างโรงงานเวเฟอร์ในสิงคโปร์

    ที่มาภาพ: https://www.cnbc.com/2024/06/06/tsmc-affiliate-vanguard-to-build-7point8-billion-singapore-wafer-with-nxp.html
    แวนการ์ด อินเตอร์เนชันแนล เซมิคอนดักเตอร์ คอปอเรชัน(Vanguard International Semiconductor Corporation:VSMC) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.(TSMC) และบริษัท NXP เซมิคอนดักเตอร์ (NXP Semiconductors
    :NXP) ของเนเธอร์แลนด์ จะสร้างโรงงานเวเฟอร์ในสิงคโปร์มูลค่า 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    VSMC จะถือหุ้น 60% ในกิจการร่วมค้า VisionPower Semiconductor Manufacturing Company ในขณะที่ NXP จะถือหุ้น 40% จากการเปิดเผยในแถลงการณ์ร่วมที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ(5 มิ.ย.)

    โรงงาน VSMC จะผลิตเวเฟอร์สำหรับตลาดยานยนต์ อุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค และอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดย TSMC จะให้สิทธิเทคโนโลยีการผลิตที่จำเป็นสำหรับโครงการให้กับ VSMC

    โรงงานแห่งใหม่นี้ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 และจะจัดส่งเวเฟอร์ให้กับลูกค้าในปี 2570 คาดว่าจะสร้างงานได้ประมาณ 1,500 ตำแหน่งในสิงคโปร์ แถลงการณ์ร่วมระบุ

    เวเฟอร์เป็นวัสดุเซมิคอนดักเตอร์ชิ้นบางๆ ที่ใช้สร้างไมโครชิป

    NXP จะลงทุน 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโรงงานในสิงคโปร์ ในขณะที่ Vanguard วางแผนที่จะลงทุน 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้บริษัทจะจัดหาเงินเพิ่มเติม 1.9 พันล้านดอลลาสหรัฐเพื่อสนับสนุนกำลังการผลิตระยะยาวของโรงงาน โดยส่วนที่เหลือจะได้รับเงินทุนจากบุคคลที่สาม

    “NXP ยังคงดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้แน่ใจว่ามีฐานการผลิตที่ให้ต้นทุนที่แข่งขันได้ การควบคุมอุปทาน และความยืดหยุ่นทางภูมิศาสตร์ เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์การเติบโตในระยะยาวของเรา” Kurt Sievers ประธานและซีอีโอของ NXP กล่าว

    Vanguard ซึ่งซื้อกิจการโรงงานเวเฟอร์ที่ใช้เทคโนทันสมัยเดิมในสิงคโปร์มูลค่า 236 ล้านดอลลาร์จาก GlobalFoundries ผู้ผลิตชิปตามสัญญาในนิวยอร์กในปี 2562 กล่าวว่า โรงงานแห่งใหม่นี้จะช่วยกระจายการดำเนินงานการผลิต

    สิงคโปร์ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเซมิคอนดักเตอร์หลายแห่ง โดยเป็นผลจากสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ

    GlobalFoundries เปิดโรงงานผลิตชิปมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ในสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว โดยประธานของบริษัทยกย่องนโยบายอุตสาหกรรมของรัฐบาล ในปี 2565 บริษัท United Microelectronics Corp ของไต้หวันลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์ในโรงงานไมโครชิปในสิงคโปร์

    ประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซียยังเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยการลงทุนจากบริษัทชิปยักษ์ใหญ่ของอเมริกาอย่าง Intel และ GlobalFoundries บริษัทอื่นๆ ยังได้วางแผนที่จะเริ่มดำเนินการในประเทศด้วย

    TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้สร้างโรงงานใหม่ในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากลูกค้าของบริษัทพยายามลดความเสี่ยงจากไต้หวัน ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อปีที่แล้ว NXP ได้ลงทุนในโรงงานชิปแห่งแรกของ TSMC ในเมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกของ TSMC ในยุโรป