ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup การส่งออกผลไม้ของเวียดนามเฟื่องฟู

ASEAN Roundup การส่งออกผลไม้ของเวียดนามเฟื่องฟู

2 มิถุนายน 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2567

  • การส่งออกผลไม้ของเวียดนามเฟื่องฟู
  • ราคาส่งออกข้าวเวียดนามตกจากที่เคยสูงสุดในโลก
  • นายกฯเวียดนามสั่งฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจเดิม ส่งเสริมเครื่องยนต์ใหม่
  • กัมพูชาเล็งตลาดข้าวในแอฟริกา-ตะวันออกกลาง
  • กัมพูชา-ลาว-สิงคโปร์ตั้งคณะทำงานอำนวยความสะดวกการค้าไฟฟ้าข้ามแดน
  • บริษัทไฟฟ้าน้ำเทิน 2 หนุนรายได้รัฐบาลลาวจากเงินภาษี
  • FedEx วางแผนขยายธุรกิจในมาเลเซีย

    การส่งออกผลไม้ของเวียดนามเฟื่องฟู

  • เวียดนามส่งออกผลไม้เพิ่มขึ้นกว่า 28% ใน 5 เดือนแรก
    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/fruit-exports-increase-over-28-4752717.html
    การส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามกำลังเฟื่องฟู โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 28.1% ต่อปีเป็น 2.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งทุเรียน แก้วมังกร ขนุน และกล้วยยังคงเป็นผลไม้หลักที่สร้างรายได้เงินตราต่างประเทศหลัก จากการเปิดเผยของ เหงียน แทงห์ บินห์ ประธานสมาคมผักและผลไม้เวียดนาม

    เหงียน แทงห์ บินห์คาดการณ์ว่า แนวโน้มเชิงบวกจะยังคงมีต่อเนื่อง โดยชี้ไปที่อุปทานภายในประเทศที่อุดมสมบูรณ์และความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั้งตลาดดั้งเดิมและตลาดเกิดใหม่

    อย่างไรก็ตาม เหงียน นู เกือง อธิบดีกรมการผลิตพืชผลของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น

    สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้การคาดการณ์เบื้องต้นสำหรับการผลิตลิ้นจี่ในปี 2567 ลดลงอย่างมาก โดยการคาดการณ์ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 200,000 ตัน ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2566

    จังหวัดบั๊กซางทางตอนเหนือซึ่งเป็นผู้ผลิตลิ้นจี่รายใหญ่เป็นตัวอย่างของความท้าทายนี้ สำนักงานวิชาการเกษตรและพัฒนาชนบทประจำจังหวัดประเมินผลผลิตลิ้นจี่ไว้ที่มากกว่า 100,000 ตันจากพื้นที่ 29,700 เฮกตาร์ ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของความสำเร็จในปี 2566 ทางจังหวัดคาดว่าการส่งออกลิ้นจี่จะอยู่ที่ประมาณ 70,000 ตันในปีนี้ คิดเป็น 70% ของผลผลิตทั้งหมด

  • ไทยกลายเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่อันดับ 2 ของเวียดนาม

    ประเทศไทยนำเข้าทุเรียนเวียดนามมูลค่า 22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน เพิ่มขึ้น 82% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่อันดับสองของเวียดนาม

    ดัง ฟุก เหงียน เลขาธิการสมาคมผักและผลไม้เวียดนาม (Vietnam Fruit and Vegetable Association:Vinafruit) กล่าวว่า การนำเข้าทุเรียนของไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากภัยแล้งอย่างรุนแรงซึ่งทำให้อุปทานทุเรียนในประเทศไทยลดลง

    แม้จะเป็นผู้ส่งออกชั้นนำ แต่ประเทศไทยก็ต้องนำเข้าทุเรียนเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศและนักท่องเที่ยว เหงียนกล่าว

    สภาพอากาศสุดขั้วอาจทำให้การผลิตทุเรียนของไทยลดลง 42% หรือประมาณ 540,000 ตัน จากการรายงานของ The Nation ที่อ้าง อรรถ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศและที่ปรึกษา Intelligent Research Consultancy

    เหงียน แทงห์ บินห์ ประธานVinafruit กล่าวว่า แม้จีนยังคงเป็นผู้นำเข้าทุเรียนสดเวียดนามรายใหญ่ที่สุด แต่ไทยก็เป็นผู้นำเข้าทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม เนื่องจากราคาที่แข่งขันได้

    ทุเรียนแช่แข็งที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่จะถูกส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีน เนื่องจากเวียดนามไม่สามารถส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปยังจีนได้โดยตรง

    ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ จีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม นำเข้าทุเรียนเวียดนามมูลค่า 432 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 168% จากปีก่อนหน้า

    ในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว จีนใช้เงิน 204 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการซื้อทุเรียนเวียดนาม เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีที่แล้ว ตามการระบุของสมาคมผักและผลไม้เวียดนาม (Vinafruit)

    ฮ่องกงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 3 โดยทุ่มเงิน 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อทุเรียนเวียดนามระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน แวดวงธุรกิจเวียดนามหวังว่าจะมีข้อตกลงพิธีสารเบื้องต้นระหว่างเวียดนามและจีน ที่จะช่วยปรับปรุงการส่งออกให้คล่องตัวและเป็นประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

    ในเดือนเมษายน เวียดนามมีรายได้ 217 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการส่งออกทุเรียน เพิ่มขึ้น 487% จากปีที่แล้ว ยอดรวมในช่วง 4 เดือนแรกสูงถึง 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 146% เมื่อเทียบเป็นรายปี

  • จีนนำเข้าทุเรียนเวียดนามเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่า

    จีนใช้เงิน 204 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อทุเรียนเวียดนามในเดือนเมษายน เเพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    ในช่วง 4 เดือนแรก จีนซื้อทุเรียนเวียดนามมูลค่า 432 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 168% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามข้อมูลของสมาคมผักและผลไม้เวียดนาม (Vinafruit) ซึ่งหมายความว่าจีนซื้อทุเรียนในสัดส่วน 92% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของเวียดนาม

    เวียดนามส่งออกทุเรียนโดยเฉลี่ยที่ 4,207 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วง 4 เดือนแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้วราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 5.6%

    ดัง ฟุก เหงียน เลขาธิการสมาคมผักและผลไม้เวียดนาม กล่าวว่า ทุเรียนเวียดนามกำลังเข้าสู่ฤดูกาล ดังนั้นอุปทานจึงมีสูง

    ปัจจุบันต้นทุนการขนส่งไปจีนต่ำ ขณะที่มีการแข่งขันน้อยลงจากผู้ส่งออกไทย เนื่องจากภัยแล้งและคลื่นความร้อนทำให้การผลิตในประเทศไทยลดลง

    ผู้ส่งออกไทยปชี้ว่าอุณหภูมิสูงในเดือนเมษายน อาจทำให้เปลือกทุเรียนแตกร้าว และเกษตรกรต้องขายผลไม้ที่เจออากาศร้อนเกินไปต่ำกว่าอัตราตลาด

    ขณะนี้จีนได้เพิ่มจำนวนสวนของเวียดนามที่ได้รับการอนุมัติให้ส่งออกเป็น 2 เท่า ซึ่งทำให้อุปทานเพิ่มขึ้น ผู้ส่งออกของเวียดนามกล่าวว่าคุณภาพทุเรียนกำลังดีขึ้น ขณะที่ราคาค่อยๆ ลดลง ทำให้ส่งออกได้ง่ายขึ้น

    อย่างไรก็ตาม สวนบางแห่งยังคงใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นการควบคุมคุณภาพจึงจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้ทุเรียนเวียดนามแซงหน้าไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกไปยังประเทศจีนมายาวนาน

    เหงียนกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เกษตรกรในภาคใต้ประสบความสำเร็จในการใช้เทคนิคใหม่ในการปลูกทุเรียน

    “ทุเรียนเป็นข้อได้เปรียบอย่างมากสำหรับเวียดนามในการแข่งขันเพื่อชิงตลาดจีน มีหลายครั้งที่ผู้ขายชาวเวียดนามเป็นผู้ขายเพียงกลุ่มเดียวที่มีทุเรียนในมือ”

    ปีที่แล้วจีนซื้อทุเรียนมูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากเวียดนาม แต่ตัวเลขอาจสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้

    ราคาส่งออกข้าวเวียดนามตกจากที่เคยสูงสุดในโลก

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/rice-export-prices-dip-no-longer-world-s-highest-4753089.html
    ราคาข้าวเวียดนามซึ่งเคยเป็นราคาสูงสุดในตลาดโลก ตอนนี้ลดลงมาอยู่อันดับที่ 6 แล้ว โดยข้าวหัก 5% ของเวียดนามสามารถหาซื้อในราคา 574 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในวันที่ 30 พฤษภาคม ซึ่งต่ำกว่าข้าวของสหรัฐอเมริกา ไทย ปากีสถาน เมียนมา และอินเดีย ตามข้อมูลของสมาคมอาหารเวียดนาม(Vietnam Food Association)

    ราคาข้าวเวียดนามลดลง 13.5% จากจุดสูงสุดระดับประวัติศาสตร์ในเดือนธันวาคม และตอนนี้ต่ำกว่าคู่แข่งอย่างไทยถึง 7.4%

    ดินห์ หง็อก ถัม รองซีอีโอของบริษัทผู้ส่งออก Co May กล่าวว่า บริษัทของเขายังคงมีสินค้าคงคลังจำนวนมาก ดังนั้นจึงขายในราคาที่ลดลง

    เหงียน เวียด แองห์ ซีอีโอของบริษัทผู้ส่งออกข้าว Orico กล่าวว่า อุปทานในเวียดนามอยู่ในระดับสูง และราคาจึงลดลงหลังจากอยู่ในระดับสูงมาเป็นเวลานาน

    ผู้ส่งออกรายอื่นๆ กล่าวว่าราคาข้าวก็กำลังลดลงในหลายประเทศเช่นกัน และจะลดลงอีกหากอินเดียกลับมาส่งออกอีกครั้ง

    จากการคาดการณ์ของสหรัฐฯ อุปทานข้าวจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก

    เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าออกคำสั่งให้สมาคมอาหารเวียดนามพิจารณาการส่งออกไปยังอินโดนีเซียด้วย โดยเตือนว่าราคาที่ต่ำเกินไปอาจเป็นการละเมิดกฎหมายการแข่งขัน

    กลุ่ม Loc Troi ของเวียดนามชนะการประมูลเพื่อจัดหาข้าวให้กับ Perum Bulog ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซียในราคา 563 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

    การส่งออกข้าวของเวียดนามเพิ่มขึ้น 34.8% เมื่อเทียบเป็นรายปีรวมมูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567

    นายกฯเวียดนามสั่งฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจเดิม ส่งเสริมเครื่องยนต์ใหม่

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/pm-orders-traditional-growth-drivers-be-renewed-new-ones-promoted-post287890.vnp

    นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนาม สั่งการให้มีการลงทุนเพื่อฟื้นฟูปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตแบบเดิมๆและส่งเสริมสิ่งใหม่ๆ อย่างแข็งขัน ในขณะที่เป็นประธานการประชุมรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน เพื่อทบทวนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในเดือนพฤษภาคมและรอบ 5 เดือนแรกของปี 2567 และหารือเกี่ยวกับภารกิจหลักในเดือนมิถุนายนและในระยะต่อๆ ไป

    นายกฯฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมเดือนพฤษภาคมยังคงมีแนวโน้มเชิงบวกและได้ดีกว่าเดือนก่อน สถานการณ์ในช่วง 5 เดือนยังดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในหลายพื้นที่

    ในทั้งสามภาคส่วน ได้แก่ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ มีการเติบโต ส่วนเศรษฐกิจมหภาคยังคงมีเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม และรักษาสมดุลหลักๆ ได้
    .
    ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 4.03% เมื่อเทียบรายปี รายรับงบประมาณของรัฐเทียบเท่ากับ 52.8% ของเป้าหมายในปีนี้ และเพิ่มขึ้น 14.8% จากปีก่อนหน้า มูลค่าการค้าต่างประเทศขยายตัว 16.6% โดยเกินดุลการค้า 8.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่าสูงถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2% ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น 64.9%

    องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งยังได้เผยแพร่การคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2567

    นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมด้านวัฒนธรรมและสังคม การเสริมสร้างสถาบัน การต่อสู้กับการทุจริตและปรากฏการณ์เชิงลบ การป้องกันประเทศ ความมั่นคง และความสัมพันธ์ภายนอก คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ชื่อเสียงและสถานะของเวียดนามในโลกก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ กล่าว

    อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ชี้ว่า ยังมีข้อบกพร่อง ปัญหา ความยากลำบากและความท้าทาย เช่น แรงกดดันสูงต่ออัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน การเข้าถึงสินเชื่อได้ยากในตลาดอสังหาริมทรัพย์ การตอบสนองนโยบายที่ช้าในบางพื้นที่ ประกอบกับปัญหาอาหารเป็นพิษที่ซับซ้อน ไฟไหม้ และสถานการณ์อาชญากรรม

    ผู้นำรัฐบาลกล่าวถึงภารกิจหลักบางด้านในช่วงเวลาอันใกล้นี้ และขอให้ดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุก ยืดหยุ่น ทันเวลา และมีประสิทธิภาพต่อไป โดยประสานอย่างกลมกลืนและเข้มแข็งกับนโยบายการคลังที่ผ่อนคลายและมุ่งเน้นอย่างสมเหตุสมผล

    กระทรวง ภาคส่วน และท้องถิ่นต้องทำงานหนักขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กิจการและประชาชนในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อให้สินเชื่อเติบโตประมาณ 5% ในครึ่งปีแรกและ 15% ตลอดทั้งปี และควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อีก 1-2% โดยเฉพาะธนาคารแห่งรัฐเวียดนาม (SBV) และกระทรวงการก่อสร้างต้องใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมทันทีเพื่อเร่งการเบิกจ่ายแพ็กเกจสินเชื่อมูลค่า 120 ล้านล้านด่องเวียดนาม (4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการพัฒนาบ้านเอื้ออาทร

    การดำเนินการที่เข้มแข็งมีความจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดทองคำ เพิ่มรายได้งบประมาณของรัฐ และลดการใช้จ่าย ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และยังคงยกเว้นหรือลดภาษี ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการกับอุปสรรคด้านการผลิตและทางธุรกิจ นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรักษาตลาดและราคาให้คงที่ โดยเฉพาะ น้ำมัน สินค้าจำเป็น ที่อยู่อาศัย และอาหาร

    นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ได้ขอให้มีการื้นฟูเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตแบบเดิมและส่งเสริมเครื่องยนต์ตัวใหม่อย่างแข็งขัน โดยกล่าวว่ามีความจำเป็นต้องเร่งโครงการลงทุนภาครัฐ กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ดึงดูด FDI อย่างเฉพาะเจาะจง ผสานตลาดดั้งเดิมและสำรวจตลาดใหม่ กระตุ้นการบริโภคในประเทศอย่างแข็งขัน และอำนวยความสะดวกด้านอีคอมเมิร์ซและการชำระเงินแบบไร้เงินสด

    กลไกและนโยบายที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพยังเป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมการเติบโตใหม่ ๆ พัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและเมือง และส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน และเศรษฐกิจบนฐานความรู้ ตลอดจนสาขาใหม่ ๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์

    นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือต้องคว้าโอกาสในการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร เพิ่มการดำเนินการเพื่อยกเลิกคำเตือน “ใบเหลือง” เกี่ยวกับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ให้เร็วขึ้น ดูแลให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตร การผลิตไฟฟ้า และความเป็นอยู่องประชาชน และการป้องกันไฟป่าให้ดีขึ้น

    ในด้านบริการ นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ขอให้มีการพัฒนาภาคส่วนที่มีศักยภาพอย่างเข้มแข็ง เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว และบริหารจัดการคุณภาพและราคาการท่องเที่ยวอย่างเข้มงวดรองรับการท่องเที่ยวฤดูร้อนที่ำลังจะเริ่มขึ้น

    ในการประชุม นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ยังได้เรียกร้องให้กระทรวง ภาคส่วน หน่วยงาน และท้องถิ่นดูแลความมั่นคงทางสังคมและชีวิตของประชาชน เตรียมการปฏิรูปเงินเดือน เสริมสร้างการป้องกันประเทศและการรักษาความมั่นคง ต่อสู้กับอาชญากรรมและการคอร์รัปชัน ตลอดจนปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และข้อตกลงที่เวียดนามเป็นภาคี

    กัมพูชาเล็งตลาดข้าวในแอฟริกา-ตะวันออกกลาง

    ข้าวคุณภาพกัมพูชาที่โชว์ในงาน Saudi Food Expo ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501497760/cambodian-rice-seeks-markets-in-africa-middle-east/

    สหพันธ์ข้าวกัมพูชา ( Cambodia Rice Federation) มีมุมมองเชิงบวกในการขยายตลาดข้าว หลังจากการเข้าร่วมงาน Saudi Food Expo ที่จัดขึ้นในกรุงริยาดประสบผลสำเร็จ โดยได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ซื้อที่มีศักยภาพทั่วตะวันออกกลางและแอฟริกา

    คณะผู้แทนของ CRF ประกอบด้วยโรงสีข้าวและผู้ส่งออกชั้นนำ 4 ราย จัดแสดงข้าวพันธุ์พรีเมี่ยมของกัมพูชา ข้าวกัมพูชาคุณภาพสูงและรสชาติที่แตกต่างสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน โดยมีผู้ซื้อจากต่างประเทศจำนวนมากแสดงความสนใจอย่างมากในการสร้างความร่วมมือ นาย LunYeng เลขาธิการ CRF กล่าว

    “พาวิเลียนของสหพันธ์ข้าวกัมพูชาได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าชมมืออาชีพ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นข้าวของกัมพูชาในงานอาหารนานาชาติครั้งนี้ การเข้าร่วมงาน Saudi Food Expo จะช่วยให้ข้าวกัมพูชามีศักยภาพมากขึ้นในการขยายตลาดส่งออกข้าว เรามั่นใจว่างานแสดงสินค้าครั้งนี้ได้เปิดประตูสู่ตลาดใหม่สำหรับข้าวกัมพูชาในตะวันออกกลางและแอฟริกา” Yeng กล่าว

    การมีส่วนร่วมของ CRF ในงาน Saudi Food Expo สอดคล้องกับความคิดริเริ่มของรัฐบาลกัมพูชาในการกระจายตลาดส่งออกข้าว

    การส่งออกข้าวของกัมพูชากระจุกตัวอย่างมากในประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม จีน และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและ CRF ได้ส่งเสริมข้าวกัมพูชาในภูมิภาคใหม่ๆ อย่างแข็งขัน

    ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโตและเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับข้าวกัมพูชา อาจมีบทบาทสำคัญในการขยายตลาดสำหรับตะวันออกกลางและแอฟริกา

    “ตลาดนี้มีความต้องการข้าวคุณภาพสูงเพิ่มมากขึ้น และกัมพูชาก็อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะตอบสนองความต้องการดังกล่าว” Yeng กล่าว

    ตลาดในทั้งสองภูมิภาคมีการเติบโตอย่างมาก การส่งออกข้าวไปยังตลาดตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นจาก 1,398 ตันในปี 2558 เป็น 7,521 ตันในปี 2566 และการส่งออกไปยังตลาดแอฟริกาเพิ่มขึ้นจาก 4,284 ตันในปี 2558 เป็น 52,828 ตันภายในปี 2566

    กัมพูชาส่งออกข้าวสารจำนวน 656,323 ตันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    กัมพูชามีรายได้รวม 466 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยข้าวของกัมพูชาได้ส่งออกไปยัง 61 ประเทศและภูมิภาค

    กัมพูชา-ลาว-สิงคโปร์ตั้งคณะทำงานอำนวยความสะดวกการค้าไฟฟ้าข้ามแดน

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501498374/cambodia-laos-and-singapore-form-a-working-group-to-facilitate-cross-border-electricity-trade/
    กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ และกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของ สปป.ลาว ได้ร่วมจัดตั้ง คณะทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดนเพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์โครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน(ASEAN Power Grid)

    เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่หลังการประชุมแสดงให้เห็นว่าคณะทำงานมีเป้าหมายที่จะบรรลุผลลัพธ์หลัก 3 ประการ

    ประการแรก จะสร้างกรอบการอำนวยความสะดวกในการพัฒนาโครงการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนในอาเซียน โดยเริ่มจากโครงการระหว่าง สปป.ลาว กัมพูชา และสิงคโปร์

    ประการที่สอง คณะทำงานจะอำนวยความสะดวกในการอนุมัติตามกฎระเบียบและใบอนุญาตสำหรับการผลิต การส่งออก และการนำเข้าไฟฟ้า นอกจากนี้ยังจะพัฒนาหลักการและกรอบการทำงานเพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้พัฒนาโครงการผ่านการสมัครและกระบวนการอนุญาตสำหรับการสำรวจใต้ทะเลและการติดตั้งสายเคเบิลใต้ทะเลข้ามพรมแดน

    ประการที่สาม คณะทำงานจะสำรวจวิธีการอำนวยความสะดวกในการเตรียมการเชิงพาณิชย์ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตและสายส่ง เพื่อให้สามารถซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนระหว่างทั้งสามประเทศได้

    การประชุมคณะทำงานครั้งแรก ซึ่งมี ดร.ตัน ซี เล้ง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ เป็นประธานร่วมกับ นายแก้ว รัตนะ รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา และดร.จันสะแหวง บันจง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป. ลาว

    ในการประชุม นายแก้ว รัตนะ กล่าวว่า กัมพูชายินดีที่ได้ร่วมมือกับสิงคโปร์และ สปป. ลาว เพื่อพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน

    “การดำเนินการร่วมกันของเราในการบูรณาการพลังงานในภูมิภาคให้ลึกยิ่งขึ้นและแบ่งปันพลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เราหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะสนับสนุนให้ประเทศอาเซียนอื่นๆ เข้าร่วมกับเราในการสร้างเครือข่ายพลังงานที่เชื่อมโยงถึงกันที่ยั่งยืนสำหรับภูมิภาค”นายแก้วกล่าว

    ดร.จันสะแหวง บันจงกล่าวว่า โครงการนี้เป็นก้าวสำคัญสำหรับลาวในการบรรลุเป้าหมายของโครงการโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน และลาวรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นส่วนสำคัญของเป้าหมายระดับภูมิภาคด้านการเชื่อมโยงโครงข่าย

    “นอกจากนี้ จะสร้างโอกาสให้สปป. ลาวในการเพิ่มทรัพยากรอันล้ำค่าในด้านพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้ภูมิภาคบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงพลังงานสะอาดและเป้าหมายสุทธิการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เราหวังว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการลงทุนด้านพลังงานทดแทนใน สปป. ลาว และภูมิภาคอาเซียนเพิ่มเติม” ดร.จันสะแหวง บันจงกล่าว

    ดร.ตัน ซี เล้ง ในฐานะเจ้าภาพการประชุมกล่าวว่า “เราหวังว่าจะสร้างกรอบความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกในโครงการการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดนและประสานงานประเด็นสาเคเบิลใต้ทะเลในอาเซียนผ่านคณะทำงาน สิงคโปร์มีความยินดีที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับลาวและกัมพูชา ซึ่งเรามีวิสัยทัศน์ร่วมกันเกี่ยวกับระบบส่งไฟฟ้าของอาเซียน นอกจากนี้เรายังสนับสนุนให้พันธมิตรระดับภูมิภาคเข้าร่วมกับเราในการดำเนินการนี้”

    บริษัทไฟฟ้าน้ำเทิน 2 หนุนรายได้รัฐบาลลาวจากเงินภาษี

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2024/05/30/nam-theun-2-power-company-boosts-lao-government-revenue-with-significant-tax-contribution/

    บริษัทไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ส่งมอบเงินภาษีเงินได้จากการผลิตไฟฟ้าของบริษัทมากกว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 ให้กับรัฐบาลลาว นอกจากนี้ บริษัทยังได้ชำระภาษีล่วงหน้าในจำนวนมากกว่า 3.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับไตรมาสแรกของปี 2567

    พิธีส่งมอบเงินภาษีจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม โดยมี มาร์ก อ็องตวน-รัปป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทไฟฟ้าน้ำเทิน 2 และวันไซ พงสะหวันเจ้าแขวงคำม่วนเข้าร่วม

    รัปป์ย้ำว่า การจ่ายเงินภาษีครั้งนี้ถือเป็นการมีส่วนสำคัญครั้งแรกระหว่างแขวงคำม่วนและบริษัทไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ในช่วงระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี ตั้งแต่ปี 2553 ถึง2578 โดยคาดว่าในช่วงระยะเวลาสัมปทาน น้ำเทิน 2 จะมีส่วนร่วมประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐกับรัฐบาลลาวผ่านการชำระภาษี ต้นทุนเงินทุน และเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นลาว

    เจ้าแขวงวันไซได้กล่าวขอบคุณน้ำเทิน 2 โดยเน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของบริษัทในการสนับสนุนงบประมาณของแขวงคำม่วน และมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาว

    โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 มีกำลังการผลิต 1,080 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2553 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รัฐบาลลาวผ่านรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว (Lao Holding State Enterprise-LHSE) ถือหุ้น 25% ในโครงการนี้ ส่วนที่เหลือถือหุ้นโดยบริษัทไฟฟ้าฝรั่งเศส (Electricité De France-EDF) 40% และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) 35%

    น้ำเทิน 2 ผลิตไฟฟ้าได้ 6,000 กิกะวัตต์ต่อปี ในจำนวนนี้ 5% จัดสรรให้กับลาว ในขณะที่อีก 95% ที่เหลือให้กับโครงข่ายไฟฟ้าของไทย ตามรายงานของสื่อของรัฐ

    การก่อสร้างโครงการน้ำเทิน 2 ทำให้ประชาชนประมาณ 6,300 คนต้องตั้งถิ่นฐานใหม่จาก 15 หมู่บ้านในที่ราบสูงนากาย แขวงคำม่วน เพื่อเป็นการดูแลประชาชน โครงการได้จัดเตรียมที่อยู่อาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชน และโปรแกรมการดำรงชีพในภาคส่วนต่างๆ เช่น การประมง เกษตรกรรม ปศุสัตว์ ป่าไม้ และธุรกิจขนาดเล็กให้กับชุมชนตั้งถิ่นฐานใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้

    FedEx วางแผนขยายธุรกิจในมาเลเซีย

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/news/nation/2024/05/30/fedex-plans-to-expand-business-in-malaysia-says-anwar
    FedEx บริษัทขนส่งด่วนข้ามชาติ วางแผนที่จะขยายธุรกิจในมาเลเซียโดยใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ในสนามบินหลายแห่ง นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม เปิดเผย

    ในโพสต์บน Facebook นายกอันวาร์กล่าวว่า มีการเปิดเผยแผนนี้ระหว่างการประชุมกับประธานบริษัท FedEx Corp และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสายการบินและระหว่างประเทศริชาร์ด สมิท ซึ่งได้เข้าเยี่ยมคารวะที่ทำเนียบรัฐฐาลในเมืองปุตราจายาเมื่อวันพฤหัสบดี (30 พฤษภาคม)

    “ปัจจุบัน FedEx ให้บริการเที่ยวบิน 30 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในมาเลเซีย ซึ่งเชื่อมโยงอุตสาหกรรมในประเทศเข้ากับเครือข่ายทั่วโลกใน 220 ประเทศและเขตปกครอง” นายกอันวาร์กล่าว

    นายกอันวาร์กล่าวว่าในระหว่างการประชุม ยังได้รับการตอบรับเชิงบวกเกี่ยวกับแนวทางของรัฐบาลเกี่ยวกับวแผนเศรษฐกิจ MADANI

    “เหนือสิ่งอื่นใด FedEx มองว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ (JS-SEZ) ที่เตรียมการเป็นความร่วมมือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคตที่ควรใช้ประโยชน์” นายกอันวาร์กล่าว

    FedEx เป็นบริษัทข้ามชาติที่ก่อตั้งขึ้นในมาเลเซียตั้งแต่ปี 2526 ในด้านการขนส่ง อีคอมเมิร์ซ และบริการทางธุรกิจ